Skip to main content


  

มีใครเคยใช้ชีวิตในบ้านนอกโดยเฉพาะทางภาคอีสาน เมื่อประมาณสัก 20 ปีก่อน อาจจะมีความทรงจำเกี่ยวกับวัดที่แตกต่างจากปัจจุบัน ฉันจำได้ว่าเมื่อครั้งยังเด็ก เราแทบจะก้มลงกราบที่เท้าพระ เมื่อท่านเดินผ่านด้วยความศรัทธาอย่างแท้จริง ซึ่งปัจจุบันเป็นไปได้ยาก

ฉันเป็นชาวพุทธมาแต่อ้อนแต่ออก ด้วยหมู่บ้านที่มีวัดป่า พระเณรเพียงไม่กี่รูปหนึ่งในนั้นเป็นลูกพี่ลูกน้องฉันเอง เราจึงเที่ยวเล่นแวะเวียนมาที่วัดทุกครั้งที่มีโอกาส

ฉันยังจำไม่ลืมที่พระหลวงพี่ จับเราพี่น้องนั่งเรียงแถวทำสมาธิ เทศน์สอนประวัติความเป็นมาของพุทธเจ้าให้ฟัง ความที่ท่านบวชตั้งแต่อายุยังน้อย ตอนนี้ท่านจึงกลายเป็นเจ้าอาวาสไปแล้ว

โตขึ้นฉันจึงมักสวดมนต์ทำสมาธิ เมื่อรู้สึกว่าจิตใจกำลังย่ำแย่กับปัญหา แม้มันไม่ใช่ทางแก้แต่ก็ช่วยให้เราคลายความทุกข์ลงไปได้มากทีเดียว

เมื่อตอนใช้ชีวิตอยู่เมืองใหญ่ ฉันยอมรับว่าห่างไกลวัดวาไปมาก จะมีโอกาสไปวัดก็ต่อเมื่อไปถวายสังฆทานและเวียนเทียนในโอกาสวันสำคัญ ส่วนศีลห้านั้น ฉันยอมรับว่ามีน้อยวันนักที่จะปฏิบัติได้ครบทั้งห้าข้อ

เมื่อมาอยู่หมู่บ้านห่วงสีทอง ฉันพบว่าการประสมประสานศาสนาระหว่างพุทธกับผีเป็นไปอย่างลงตัว บ้านทุกหลังที่นับถือศาสนาที่สอง จะมีหิ้งพระขนาดใหญ่ตั้งอยู่ชิดฝาบ้านด้านใดด้านหนึ่ง

บนหิ้งจะมีพระประธานขนาดใหญ่ ประดับด้วยแจกันดอกไม้สามอัน และเชิงเทียนที่มีสามฐาน ซึ่งฉันเองก็ไม่แน่ใจว่าทำไมชาวกระยันจึงไม่นิยมจุดธูป แต่จะจุดเทียนเพียงสามเล่มเท่านั้น

ชาวกระยันจะไม่นิยมไปทำบุญที่วัด จะมีเพียงปีละครั้งที่มีงานดับไฟเทียนซึ่งเป็นประเพณีของที่นี่จึงจะแห่ต้นผ้าป่าเข้าวัดทำบุญร่วมกันกับชาวกระเหรี่ยงแดง ที่อาศัยอยู่หมู่บ้านใกล้เคียง

หากวันใดที่มีพระมาบิณฑบาต แม่เฒ่ากระยันก็จะถวายเพียงข้าวสาร หรือไม่ก็เป็นอาหารแห้ง ซึ่งสาเหตุอาจจะมาจากความสะดวกและความเคยชิน

ในขณะที่เด็กหนุ่มในหมู่บ้าน ไม่เคยบวชเณรหรืออุปสมบทเมื่ออายุครบเช่นชาวพุทธทั่วไป จึงไม่มีใครที่จะสามารถสวดมนต์ได้มากไปกว่าบทที่สอนกันในโรงเรียน

ฉันเคยถามสามีว่า เคยคิดอยากจะไปบวชเป็นพระเณรที่วัดกับเขาบ้างไหม ในเมื่อคิดว่าตัวเองก็เป็นชาวพุทธคนหนึ่ง สามีตอบฉันว่า มันขึ้นอยู่กับโอกาส ที่ผ่านมายังไม่เคยมีชาวกระยันที่มาอาศัยในประเทศไทยได้บวชในวัดไทยสักครั้ง แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าต้องทำยังไง

ฉันคิดว่าพิธีกรรมคงขึ้นอยู่กับสังคมเป็นตัวกำหนด ชาวกระยันจะจุดเทียนสามเล่มทุกเช้าเมื่อฟ้าสาง และทุกเย็นเมื่อตะวันลับฟ้า แม้จะไม่ท่องบทสวดใดๆ แต่ก็มีศรัทธายิ่งต่อพุทธเจ้าจึงกราบไหว้บูชาด้วยเทียนสามเล่มเป็นประจำ

เมื่อวันมาฆบูชาที่ผ่านมา เราสามคนพ่อแม่ลูก เตรียมดอกไม้ธูปเทียนเพื่อไปเวียนเทียนที่วัดใกล้บ้าน เรากะเวลาสักประมาณหนึ่งทุ่มตรงซึ่งเป็นเวลาปกติที่พระทำวัดเย็นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สามีฉันค่อนข้างตื่นเต้นเพราะเป็นครั้งแรกที่เขาจะได้ไปเวียนเทียนที่วัด ถึงขั้นสะอึกไม่หยุด ในขณะที่เจ้าลูกชายตัวเล็กก็ตื่นเต้นไม่แพ้กับครั้งแรกในชีวิตเช่นกัน

แต่เมื่อเราไปถึงวัด ฉันค่อนข้างแปลกใจที่บริเวณวัดไม่ได้เปิดไฟฟ้าสว่างไสว และไม่พบใครสักคนมาเวียนเทียนอย่างที่ฉันคาดเอาไว้ มีเพียงไฟประดับยอดพระเจดีย์ ที่เปิดเป็นประจำทุกวันพระเท่านั้น เรามองหาพระเณรไม่พบแม้แต่องค์เดียว

สามีทำท่าถอดใจ ถามว่าเขาเวียนกันวันนี้แน่หรือ แล้วทันใดนั้นเราก็เห็นคนพ่อเฒ่าคนหนึ่งเดินลงมาจากกุฏิ พูดภาษาไทยใหญ่ที่เราพอจะเข้าใจเลาๆว่า เจ้าอาวาสไม่อยู่ อยู่เพียงพระลูกวัดรูปหนึ่งบนศาลา

ฉันเข้าใจว่าพ่อเฒ่าคงจะอาศัยอยู่ในวัดคอยดูแลกุฏิและบริเวณวัดที่กว้างขวาง ซึ่งมีพระประจำอยู่ที่วัดเพียงแค่ 2 รูป ในวันนั้นเราจึงไม่ได้เวียนเทียนแต่เปลี่ยนเป็นสักการะพระธาตุแทน

เมื่อเรากลับถึงบ้าน สามีฉันหายสะอึกเป็นปลิดทิ้ง แล้วเริ่มพิธีกรรมทางผีด้วยการจุดเทียนไว้ตามมุมบ้านและหว่านข้าวสารไปทั่วบ้าน จากนั้นก็ไปจุดเทียนสามเล่มบนหิ้งพระ ส่วนฉันก็ไปจุดธูปเทียนที่ศาลพระภูมิซึ่งปฏิบัติอยู่เป็นประจำ

วันต่อมาฉันจึงเข้าใจว่าชาวไทยใหญ่ซึ่งเป็นศรัทธาส่วนใหญ่ของวัดแห่งนี้ ไม่นิยมเวียนเทียนในวันสำคัญเช่นทำเนียมชาวพุทธทั่วไป แต่จะกวนข้าวยาคูมาทำบุญที่วัดในตอนเช้า แล้วแจกจ่ายข้าวยาคูที่เหลือให้กับเพื่อนบ้านเป็นการทำบุญ

ฉันเองเป็นบ้านหลังสุดท้ายไกลสุด ก็ยังมีโอกาสได้ชิมข้าวยาคูที่ว่า ซึ่งทำจากข้าวเหนียวกวนน้ำกะทิ มีส่วนผสมของน้ำตาล น้ำผึ้ง งาดำ และถั่วลิสง รสชาติหวานกลมกล่อม

ศาสนาพุทธในหมู่บ้านแปลกหน้าคงมีอะไรให้ฉันได้เรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์อีกมากมาย แม้วิถีวัฒนธรรมจะแตกต่างกันในรูปแบบ แต่ยังดำรงอยู่บนพื้นฐานของความศรัทธาที่เหนียวแน่นต่อพุทธเจ้าองค์เดียวกัน.

 

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
เจนจิรา สุ
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก เมื่อคืนเรานั่งดูรูปถ่ายเก่าๆ ที่เราไปเที่ยวกันมา นับตั้งแต่ครั้งแรกที่แม่พาลูกเดินทางไกล จากแม่ฮ่องสอนไปเชียงใหม่ ตอนนั้นลูกเพิ่งอายุได้เจ็ดเดือนเศษ  มีรูปตอนไปเที่ยวสวนสัตว์และเที่ยวงานพืชสวนโลก 2008 ที่เชียงใหม่เป็นเจ้าภาพ สวยราวกับภาพถ่ายต่างเมืองที่ไหนสักแห่งที่ไม่ใช่เมืองไทย
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก   เมื่อคืนลูกมีไข้ขึ้นสูง แม้เช้านี้อาการไข้ของลูกจะลดลงแล้วแต่ตัวลูกก็ยังอุ่นๆ เหมือนเครื่องอบที่เพิ่งทำงานเสร็จใหม่ๆ แม่จึงตัดสินใจให้ลูกขาดโรงเรียนอีกหนึ่งวัน
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก หากมีคำถามจากใครสักคนถามแม่ว่า เดือนไหนของปีที่รู้สึกว่ายาวนานกว่าเดือนอื่นๆ คำตอบของแม่อาจจะแตกต่างออกไปจากคนอื่นๆ เพราะแม่คิดว่าเดือนที่มีจำนวนวันน้อยที่สุดเป็นเดือนที่แม่รู้สึกว่ายาวนานกว่าทุกๆเดือน
เจนจิรา สุ
สาละวิน, ลูกรัก  นานแล้วที่แม่ไม่ได้หอมกลิ่นดอกเหงื่อ จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้เราได้ลงทุนครั้งใหญ่เพื่อติดตั้งน้ำประปาหลวง ทำให้บ้านของเราที่เคยแห้งแล้งกลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง ดอกเหงื่อที่เกิดจากการจับจอบเสียมเพื่อขึ้นแปลงผักและปลูกต้นไม้เล็กๆน้อยๆ ทำให้แม่มีความสุข เจริญอาหาร และอารมณ์ดีขึ้นไม่น้อย
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก   สิ่งที่ลูกต้องเรียนรู้ในชีวิตอีกบทหนึ่งก็คือ เมื่อมีพบก็ต้องมีการลาจาก และบางครั้งลูกก็อาจจะต้องเจอกับการพลัดพลาดจากบางสิ่ง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก สิ่งที่แม่เป็นกังวลใจมาตลอดในความเข้าใจถึง “ตัวตน” ของลูกเริ่มก่อแววให้เห็นขึ้นเรื่อยๆ ถึงตอนนี้ลูกอายุได้เกือบสามขวบแล้ว ซึ่งทุกวันแม่จะได้รับคำถามจากลูกมากมาย เช่น ทำไมแม่ไม่ใส่ห่วงที่คอ ทำไมกระเม (หมายถึงแขกที่มาเที่ยว) มาบ้านเราล่ะแม่ ฯลฯ
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก  ในยามเช้าที่สายหมอกยังไม่ทันจาง เราตื่นขึ้นด้วยเสียงเอะอะมะเทิ่งของนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ ที่เข้ามาในหมู่บ้านตั้งแต่ฟ้ายังไม่ทันสาง พวกเขาเดินมาพลางร้องเรียกไปพลาง เพื่อจะดูชาวกะเหรี่ยงคอยาวที่เขาหมายมั่นมาดู
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่แม่อยากจะเล่าให้ฟัง โดยเฉพาะเรื่องความรักระหว่างพ่อกับแม่ ที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องที่แปลกแตกต่างไปจากคนอื่นๆในสังคม
เจนจิรา สุ
เชียงใหม่ยามเช้าที่อาเขต พลุกพล่านไปด้วยผู้คนที่เดินทางมาและกำลังจะจากเมืองใหญ่ที่เป็นเสมือนศูนย์กลางความเจริญในภาคเหนือของประเทศ