Skip to main content


  

มีใครเคยใช้ชีวิตในบ้านนอกโดยเฉพาะทางภาคอีสาน เมื่อประมาณสัก 20 ปีก่อน อาจจะมีความทรงจำเกี่ยวกับวัดที่แตกต่างจากปัจจุบัน ฉันจำได้ว่าเมื่อครั้งยังเด็ก เราแทบจะก้มลงกราบที่เท้าพระ เมื่อท่านเดินผ่านด้วยความศรัทธาอย่างแท้จริง ซึ่งปัจจุบันเป็นไปได้ยาก

ฉันเป็นชาวพุทธมาแต่อ้อนแต่ออก ด้วยหมู่บ้านที่มีวัดป่า พระเณรเพียงไม่กี่รูปหนึ่งในนั้นเป็นลูกพี่ลูกน้องฉันเอง เราจึงเที่ยวเล่นแวะเวียนมาที่วัดทุกครั้งที่มีโอกาส

ฉันยังจำไม่ลืมที่พระหลวงพี่ จับเราพี่น้องนั่งเรียงแถวทำสมาธิ เทศน์สอนประวัติความเป็นมาของพุทธเจ้าให้ฟัง ความที่ท่านบวชตั้งแต่อายุยังน้อย ตอนนี้ท่านจึงกลายเป็นเจ้าอาวาสไปแล้ว

โตขึ้นฉันจึงมักสวดมนต์ทำสมาธิ เมื่อรู้สึกว่าจิตใจกำลังย่ำแย่กับปัญหา แม้มันไม่ใช่ทางแก้แต่ก็ช่วยให้เราคลายความทุกข์ลงไปได้มากทีเดียว

เมื่อตอนใช้ชีวิตอยู่เมืองใหญ่ ฉันยอมรับว่าห่างไกลวัดวาไปมาก จะมีโอกาสไปวัดก็ต่อเมื่อไปถวายสังฆทานและเวียนเทียนในโอกาสวันสำคัญ ส่วนศีลห้านั้น ฉันยอมรับว่ามีน้อยวันนักที่จะปฏิบัติได้ครบทั้งห้าข้อ

เมื่อมาอยู่หมู่บ้านห่วงสีทอง ฉันพบว่าการประสมประสานศาสนาระหว่างพุทธกับผีเป็นไปอย่างลงตัว บ้านทุกหลังที่นับถือศาสนาที่สอง จะมีหิ้งพระขนาดใหญ่ตั้งอยู่ชิดฝาบ้านด้านใดด้านหนึ่ง

บนหิ้งจะมีพระประธานขนาดใหญ่ ประดับด้วยแจกันดอกไม้สามอัน และเชิงเทียนที่มีสามฐาน ซึ่งฉันเองก็ไม่แน่ใจว่าทำไมชาวกระยันจึงไม่นิยมจุดธูป แต่จะจุดเทียนเพียงสามเล่มเท่านั้น

ชาวกระยันจะไม่นิยมไปทำบุญที่วัด จะมีเพียงปีละครั้งที่มีงานดับไฟเทียนซึ่งเป็นประเพณีของที่นี่จึงจะแห่ต้นผ้าป่าเข้าวัดทำบุญร่วมกันกับชาวกระเหรี่ยงแดง ที่อาศัยอยู่หมู่บ้านใกล้เคียง

หากวันใดที่มีพระมาบิณฑบาต แม่เฒ่ากระยันก็จะถวายเพียงข้าวสาร หรือไม่ก็เป็นอาหารแห้ง ซึ่งสาเหตุอาจจะมาจากความสะดวกและความเคยชิน

ในขณะที่เด็กหนุ่มในหมู่บ้าน ไม่เคยบวชเณรหรืออุปสมบทเมื่ออายุครบเช่นชาวพุทธทั่วไป จึงไม่มีใครที่จะสามารถสวดมนต์ได้มากไปกว่าบทที่สอนกันในโรงเรียน

ฉันเคยถามสามีว่า เคยคิดอยากจะไปบวชเป็นพระเณรที่วัดกับเขาบ้างไหม ในเมื่อคิดว่าตัวเองก็เป็นชาวพุทธคนหนึ่ง สามีตอบฉันว่า มันขึ้นอยู่กับโอกาส ที่ผ่านมายังไม่เคยมีชาวกระยันที่มาอาศัยในประเทศไทยได้บวชในวัดไทยสักครั้ง แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าต้องทำยังไง

ฉันคิดว่าพิธีกรรมคงขึ้นอยู่กับสังคมเป็นตัวกำหนด ชาวกระยันจะจุดเทียนสามเล่มทุกเช้าเมื่อฟ้าสาง และทุกเย็นเมื่อตะวันลับฟ้า แม้จะไม่ท่องบทสวดใดๆ แต่ก็มีศรัทธายิ่งต่อพุทธเจ้าจึงกราบไหว้บูชาด้วยเทียนสามเล่มเป็นประจำ

เมื่อวันมาฆบูชาที่ผ่านมา เราสามคนพ่อแม่ลูก เตรียมดอกไม้ธูปเทียนเพื่อไปเวียนเทียนที่วัดใกล้บ้าน เรากะเวลาสักประมาณหนึ่งทุ่มตรงซึ่งเป็นเวลาปกติที่พระทำวัดเย็นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สามีฉันค่อนข้างตื่นเต้นเพราะเป็นครั้งแรกที่เขาจะได้ไปเวียนเทียนที่วัด ถึงขั้นสะอึกไม่หยุด ในขณะที่เจ้าลูกชายตัวเล็กก็ตื่นเต้นไม่แพ้กับครั้งแรกในชีวิตเช่นกัน

แต่เมื่อเราไปถึงวัด ฉันค่อนข้างแปลกใจที่บริเวณวัดไม่ได้เปิดไฟฟ้าสว่างไสว และไม่พบใครสักคนมาเวียนเทียนอย่างที่ฉันคาดเอาไว้ มีเพียงไฟประดับยอดพระเจดีย์ ที่เปิดเป็นประจำทุกวันพระเท่านั้น เรามองหาพระเณรไม่พบแม้แต่องค์เดียว

สามีทำท่าถอดใจ ถามว่าเขาเวียนกันวันนี้แน่หรือ แล้วทันใดนั้นเราก็เห็นคนพ่อเฒ่าคนหนึ่งเดินลงมาจากกุฏิ พูดภาษาไทยใหญ่ที่เราพอจะเข้าใจเลาๆว่า เจ้าอาวาสไม่อยู่ อยู่เพียงพระลูกวัดรูปหนึ่งบนศาลา

ฉันเข้าใจว่าพ่อเฒ่าคงจะอาศัยอยู่ในวัดคอยดูแลกุฏิและบริเวณวัดที่กว้างขวาง ซึ่งมีพระประจำอยู่ที่วัดเพียงแค่ 2 รูป ในวันนั้นเราจึงไม่ได้เวียนเทียนแต่เปลี่ยนเป็นสักการะพระธาตุแทน

เมื่อเรากลับถึงบ้าน สามีฉันหายสะอึกเป็นปลิดทิ้ง แล้วเริ่มพิธีกรรมทางผีด้วยการจุดเทียนไว้ตามมุมบ้านและหว่านข้าวสารไปทั่วบ้าน จากนั้นก็ไปจุดเทียนสามเล่มบนหิ้งพระ ส่วนฉันก็ไปจุดธูปเทียนที่ศาลพระภูมิซึ่งปฏิบัติอยู่เป็นประจำ

วันต่อมาฉันจึงเข้าใจว่าชาวไทยใหญ่ซึ่งเป็นศรัทธาส่วนใหญ่ของวัดแห่งนี้ ไม่นิยมเวียนเทียนในวันสำคัญเช่นทำเนียมชาวพุทธทั่วไป แต่จะกวนข้าวยาคูมาทำบุญที่วัดในตอนเช้า แล้วแจกจ่ายข้าวยาคูที่เหลือให้กับเพื่อนบ้านเป็นการทำบุญ

ฉันเองเป็นบ้านหลังสุดท้ายไกลสุด ก็ยังมีโอกาสได้ชิมข้าวยาคูที่ว่า ซึ่งทำจากข้าวเหนียวกวนน้ำกะทิ มีส่วนผสมของน้ำตาล น้ำผึ้ง งาดำ และถั่วลิสง รสชาติหวานกลมกล่อม

ศาสนาพุทธในหมู่บ้านแปลกหน้าคงมีอะไรให้ฉันได้เรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์อีกมากมาย แม้วิถีวัฒนธรรมจะแตกต่างกันในรูปแบบ แต่ยังดำรงอยู่บนพื้นฐานของความศรัทธาที่เหนียวแน่นต่อพุทธเจ้าองค์เดียวกัน.

 

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
12 ตุลาคม 2550 ยามสายของวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่สนามบินแตกตื่นไปกับผู้คนที่เดินทางไปรับผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนคนใหม่ โดยเฉพาะเมื่อเห็นหญิงกระยันสวมห่วงทองเหลืองที่ขัดจนแวววาว เดินอย่างเป็นระเบียบมาเข้าแถวต้อนรับผู้ว่าฯ คนใหม่อย่างพร้อมเพียงบางคนที่มารอขึ้นเครื่องเข้ามากดชัตเตอร์ขอถ่ายรูปพวกเธอที่แต่งชุดกระยันเต็มยศ ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส มะลิ เด็กสาวกระยันคนหนึ่งถูกเลือกให้กล่าวคำต้อนรับท่านผู้ว่าฯ ด้วยเหตุผลที่เธอสามารถอ่านหนังสือภาษาไทยได้ชัดเจนที่สุด แม้ว่าเธอจะประหม่าบ้างกับกล้องถ่ายรูป ผู้คน และภารกิจที่เธอจะต้องทำ แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปด้วยดี…
เจนจิรา สุ
25 กันยายน 2550 หมู่บ้านใหม่ค่อนข้างจะคึกคักตกเย็นมีเสียงดีดสีตีเป่าร้องรำทำเพลงเป็นเพลงพื้นบ้าน  เสียงซึงประสานเสียงโม่งสอดรับกับท่วงทำนองเนื้อร้องของแม่เฒ่า เอื้อนไต่บันไดเสียงคลอปี่ไม้ไผ่ผิวหวิวไหวขึ้นลง ไล่เลียงไปไม่ทันสุดบันไดเสียงก็โยนกลับไป-มาเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้ฉันรู้สึกราวกับว่าตกอยู่ในหมู่บ้านลี้ลับกลางป่าเปลี่ยวดึกดำบรรพ์ที่ไหนสักแห่งที่เคยอยู่อาศัยเมื่อนานมาแล้ว ต่างจากหมู่บ้านเดิมลิบลับ ที่นี่ไม่มีแบตเตอรี่พอเพียงสำหรับเปิดเพลงจากซีดี ไม่มีทีวีให้รุมดู แต่มีกาน้ำชาอุ่นบนกองไฟที่ล้อมวงไปด้วยเด็กๆ หนุ่มสาว จนถึงคนเฒ่าคนแก่ ปรึกษาหารือถึงวิถีชีวิตของวันพรุ่งนี้…
เจนจิรา สุ
20 กันยายน 2550 เจ้าเขียวสะอื้น (มอเตอร์ไซค์คู่ชีพ) ส่งเสียงครางกระหึ่มอุ่นเครื่องอยู่ใต้ถุนบ้าน ก่อนที่มันจะต้องเดินทางไกลในเส้นทางที่ฟ้าสวยแต่พื้นดินแสนขรุขระตรงกันข้าม สามีฉันจึงจัดแจงเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เช็คเครื่อง และเพิ่มตะกร้าหลังให้มันเพื่อบรรทุกสัมภาระที่ขนย้ายไปไม่หมด  ชาวบ้านหลายครอบครัวได้ย้ายไปดำเนินชีวิตที่หมู่บ้านใหม่ก่อนหน้าฉันหลายวันแล้ว แต่ฉันติดตรงที่ต้องพาลูกไปฉีดวัคซีนตามที่หมอนัด จึงยังอาศัยอยู่ที่บ้านแม่สามีไปพลางก่อนเช้านี้เราจึงตัดสินใจจะเดินทางไปหมูบ้านใหม่กัน สำหรับฉันค่อนข้างจะตื่นเต้นเพราะยังไม่เคยเห็นบ้านใหม่ของตัวเองสักที …
เจนจิรา สุ
12 กันยายน 2550 และแล้วก็มาถึงวันที่ทุกคนรอคอย เมื่อวันที่ย้ายต้องเลื่อนออกมาจากกำหนดเดิมอีกสองวัน แสงแดดดูเหมือนจะเป็นใจสาดส่องให้ถนนเส้นทางสายห้วยเดื่อ- ห้วยปูแกงที่เคยชื้นแฉะและเป็นหลุมบ่อจากน้ำฝนแห้งสนิท
เจนจิรา สุ
5 กันยายน 2550 ยามเช้า,ตื่นขึ้นด้วยเสียงเลื่อยไม้, เสียงค้อนตอกตะปู,เสียงสังกะสีกระทบพื้นดังโครมคราม ไก่หลายตัวที่เคยขันปลุกทุกเช้า ถูกเชือดเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงคนที่มาช่วยลงแขกรื้อบ้านตั้งแต่เมื่อวานและเช้านี้ บ้านหลายหลังพังพาบเป็นกองไม้ รอวันขนย้ายไปที่แห่งใหม่ เด็กๆ วิ่งตึงตังในห้องกลางเพราะต้องมานอนรวมแออัดกันที่บ้านย่า ก็คือบ้านสามีของฉัน แม่บ้านและเด็กสาววุ่นวายอยู่ในครัว เหตุการณ์ชุลมนเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อหลายวันก่อน ชาวบ้านมาขอคำปรึกษาเรื่องบ้าน ฉันจึงตัดสินใจกดหมายเลขโทรศัพท์ต่อสายพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับปลัดหนุ่มที่ดูแลพื้นที่“ปลัดฯหรือคะ คือฉันมีเรื่องรบกวนจะเรียนถาม…
เจนจิรา สุ
31สิงหาคม2550 22.40 น.ฉันลุกขึ้นเปิดดวงไฟจากแบตเตอรี่อีกครั้ง หลังจากที่ลุกขึ้นมาโทรศัพท์สนทนากับเพื่อนที่เชียงใหม่ ระบายความกลัดกลุ้มด้วยคำพูดแต่ดูเหมือนเมื่อปิดไฟลง ดวงตาก็เบิกโพลงไปกับความคิดฉันจึงปล่อยความคิดโลดแล่นไปกับปลายปากกานับถอยหลังไปอีกสิบวัน หมู่บ้านที่ฉันอาศัยอยู่นี้ก็จะถูกย้ายไปที่แห่งใหม่ ตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยให้ไปรวมกับหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ไกลออกไปติดชายแดนไทย-พม่าทางฝั่งทิศตะวันตก    เนื่องจากชาวบ้านที่นี่อาศัยอยู่กับนายทุนมานานกว่า 12 ปี ด้วยสัญลักษณ์ที่พิเศษแตกต่างกว่าชนเผ่าอื่น “กะยัน” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่ากะเหรี่ยงคอยาว…