10 พฤศจิกายน 2550
ฉันว่างเว้นจากการเขียนบันทึกไปนานด้วยทั้งภารกิจส่วนตัวที่ต้องยุ่งวุ่นวายกับเจ้าตัวน้อยที่อยู่ในวัยที่ต้องการการเอาใจใส่อย่างสูง และภารกิจของชุมชนที่ต้องเขียนโครงการเพื่อของบประมาณจากหน่วยงานราชการ ทั้งงานประสานงาน งานประชุม ส่วนเวลาที่เหลือฉันก็ยกให้กับการคิดในเรื่องต่างๆ
ฉัน สามี และลูกต้องเดินทางทุกๆ 3-5 วัน จากบ้านของตนเองที่สร้างไว้ใกล้เมืองไปบ้านห้วยเสือเฒ่าและบ้านใหม่ห้วยปูแกง การพักอาศัยที่บ้านของตัวเองที่สร้างไว้ใกล้เมืองนั้นก็ด้วยเหตุผลเดียวคือความสะดวกสบาย ไม่ว่าจะการเดินทาง อยู่ใกล้โรงพยาบาล มีไฟฟ้าใช้สำหรับทำงาน หรือพักผ่อนด้วยการดูทีวี ติดตามข่าวสารโลกภายนอก
การเดินทางเข้าบ้านห้วยเสือเฒ่าก็เพื่อดูแลแม่ของสามีที่ต้องการใกล้ชิดกับลูกหลานโดยเฉพาะหลานที่แกได้เลี้ยงดูแลมาตั้งแต่เกิด
ส่วนหมู่บ้านใหม่นั้นฉันต้องเข้าไปให้กำลังใจชาวบ้าน ดูแลทุกข์สุข แม้ว่าจะทำอะไรไม่ได้มากมายนักแต่ก็คอยประสานงานกับทางอำเภออยู่ข้างนอก
รวมๆ แล้วเป็นความวุ่นวายทั้งกาย-ใจ ที่เกินพอดีจนไม่อาจจะจับปากกานิ่งๆ เพื่อเขียนอะไรสักอย่างได้เป็นชิ้นเป็นอัน
ดูเหมือนหมู่บ้านใหม่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น หน่วยงานราชการสนใจเข้ามาเยี่ยมงานสม่ำเสมอ ผักไม้ที่ปลูกหว่านไว้ได้เก็บเกี่ยวเป็นกับข้าวแล้วหลายมื้อ ลูกไก่ที่ได้รับแจกมาจากทางจังหวัดเติบโตขึ้นตามวันเวลา ชาวบ้านปรึกษาหารือกันบ่อยขึ้นแม้ว่าฉันจะไม่ได้เข้าไปจัดวงประชุมเหมือนที่ผ่านมา
ทางอำเภอเข้ามาปรับปรุงถนนเชื่อมต่อระหว่างบ้านเก่ากับบ้านใหม่ เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวบ้านเก่าสามารถเดินเข้ามาเที่ยวที่บ้านใหม่ได้สะดวกขึ้น พวกเราได้เห็นความจริงใจของข้าราชการหลายคน ที่ทุ่มเทให้กับการพัฒนาหมู่บ้าน และชาวบ้านสองหมู่บ้านได้เชื่อมโยงน้ำใจซึ่งกันและกันจากการทำงานร่วมกัน
นักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางเข้ามาเที่ยวในหมู่บ้านมากขึ้น แต่ก็มีจำนวนน้อยเท่านั้นที่จะเข้าไปถึงหมู่บ้านใหม่ ชาวบ้านบ้านเก่าจึงแบ่งที่ทางร้านขายของให้คนบ้านใหม่ได้วางขายของที่ระลึกช่วยให้คนบ้านใหม่ได้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกทาง
กลับมาที่บ้านห้วยเสือเฒ่า หมู่บ้านที่เคยมีถนนสองสายตั้งแต่สะพานจนถึงท้ายหมู่บ้าน บัดนี้ถูกยุบรวมให้เหลือสายเดียว อีกสายถูกปล่อยร้างเพราะกระยอต้องย้ายบ้านลงมาสร้างรวมกับกระยันเพื่อทดแทนบ้านหลังก่อนที่ถูกรื้อย้ายไป
แม้บ้านที่สร้างขึ้นใหม่จะดูกลมกลืนจนนักท่องเที่ยวที่เคยมาหนแรกไม่เอะใจในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แต่ในความรู้สึกของชาวบ้านเองต่างก็รู้ว่าต้องใช้เวลาในการปรับตัวสำหรับที่ทางบ้านใหม่
นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในหมู่บ้านตั้งแต่เช้าตรู่ กว่าที่กลุ่มสุดท้ายจะออกจากหมู่บ้านก็มืดค่ำ บางวันชาวบ้านต้องจุดเทียนไขให้ความสว่างอยู่หน้าร้านขายของ
รายได้จากการขายของที่ระลึกของชาวบ้านห้วยเสือเฒ่าดูเหมือนจะได้เป็นกอบเป็นกำ มากกว่าอีกสองหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ไกลเมืองมากกว่า แต่ฉันก็ได้ยินชาวบ้านหลายคนบ่นว่ารายได้จากการขายของปีนี้ลดลงมากกว่าปีก่อนๆ
ฉันนึกถึงความเป็นอยู่ของคนที่ย้ายไปซึ่งหากนับจำนวนรายได้ที่เคยได้รับในทุกๆ ปี พวกเขาย่อมรู้สึกอัตคัดกว่าเดิมเป็นหลายเท่าตัว แต่ในความอัตคัดนั้นฉันก็หวังว่าพวกเขาจะคิดถึงในส่วนที่พวกเขาได้ร่ำรวยมากกว่าคนที่นี่
ความร่ำรวยนั้นก็คืออิสรเสรีภาพแห่งการดำเนินชีวิต หากไม่ถือคติเสียว่า “เงิน” ซื้อได้ในทุกสิ่งเสียแล้ว การพออยู่พอกินด้วยการทำการเกษตรแม้จะเป็นการยากที่จะละความเคยชินจากการแค่ยืนอยู่หน้าร้านขายของและมีคนมายื่นเงินให้ถึงบ้านแล้วละก็ หยาดเหงื่อนั้นแหละที่จะมีกลิ่นหอมเสียยิ่งกว่าข้าวของเงินทองที่ได้มาโดยง่าย
แต่การที่พวกเธอถูกนายทุนทำให้เป็นสินค้า ห่วงทองเหลืองมีค่าดุจทองคำ ซึ่งต่างจากชาวเขาเผ่าอื่นที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนทำมาหากินจากหยาดเหงื่อแรงงาน พวกเธอที่สวมห่วงทองคำเหล่านั้นจึงดูเหมือนฝากความหวังไว้กับการท่องเที่ยว มากกว่าการทำการเกษตรหรืออาชีพอื่นที่ต่างออกไปจากเดิม
ฉันไม่แปลกใจที่ทุกครั้งที่เข้าไปในหมู่บ้านคำถามที่จะได้ยินทุกครั้งคือเรื่อง “ถนน” ในมุมมองของชาวบ้านจึงหวังพึ่งเพียงให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเพื่อจะได้มีรายได้เหมือนเช่นเคยด้วยความเคยชิน
สิ่งที่จะเปลี่ยนความเคยชินของชาวบ้านได้จึงต้องมีการคิดหาลู่ทางในการหารายได้รูปแบบอื่นๆ ซึ่งหน่วยงานราชการต้องมาสนับสนุนในด้านความรู้ เช่นการปลูกผักเพื่อขาย หรือส่งเสริมในเรื่องการทำหัตกรรม เป็นต้น
แม้ว่าการปลูกผักสวนครัวทำการเกษตรเล็กๆ น้อยๆ ที่ทางเกษตรอำเภอมาสนับสนุนจะพอแบ่งเบาค่ากับข้าวของชาวบ้านไปได้ในบางส่วน แต่รายจ่ายในส่วนอื่นๆ เช่นค่าข้าวสาร ค่าลูกไปโรงเรียน ค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ จำต้องจ่ายเป็นตัวเงินแทบทั้งสิ้น
หากฉันเป็นชาวบ้านเองก็คงมองไม่เห็นหนทางหารายได้ที่รวดเร็ว ลงทุนน้อย และได้กำไรงามไปกว่าการหารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นแน่
สิ่งที่ยากไปกว่านั้นก็คือ ความคิดเรื่องความพอเพียงในตรรกะของราชการที่มีต่อชาวบ้านนั้น สำหรับชาวบ้านแล้วเป็นความพอเพียงหรืออัตคัต?
เพราะถ้าการปลูกผักไม้กินเป็นอาหารได้แล้วราชการมองว่า เป็นความพอเพียง ไม่ต้องมีรายได้จากการท่องเที่ยวก็ได้ ชาวบ้านก็จะสะท้อนความจริงว่า พวกเขายังมีรายจ่ายอะไรอีกบ้างในชีวิต
ในวันที่ห่วงทองคำสีซีดจางลง ท้องของพวกเขาก็หิวโหยมากขึ้น อะไรจะอยู่ตรงกลางเป็นความพอเพียงที่แท้จริง เป็นคำถามที่ใครต้องเป็นผู้ขบคิด.