Skip to main content


เจนจิรา สุ


ก่อนเปิดบันทึก

ต้นหว้าแสนรัก,บันทึกเล่มนี้นี้แม่ตั้งใจจะบันทึกถึงเจ้า น้องคนเล็กของพี่และลูกสาวคนเล็กของแม่ดั่งที่แม่เคยได้บันทึกถึงพี่ชายของเจ้า “สาละวิน” ในหนังสือ “บันทึกถึงลูกผู้มาจากดาวดวงอื่น” ที่กำลังตีพิมพ์เร็วๆนี้ อันเป็นความฝันส่วนหนึ่งที่สำเร็จลง เมื่อครั้งที่แม่ตั้งใจเขียนบอกเล่าความเป็นมาแห่งวิถีชีวิตแห่งพ่อและแม่ที่เกิดมาจากต่างวัฒนธรรมเรียกได้มาจากคนละดวงดาวเลยก็ว่าได้ด้วยพ่อที่เติบโตในชุมชนที่เรียกว่าหมู่บ้านกระเหรียงคอยาวเพื่อการท่องเที่ยว  ส่วนแม่นั้นเป็นเพียงคนในสังคมทั่วไปที่มีโอกาสไปเที่ยวหมู่บ้านของพ่อ ได้พบรักและแต่งงานจนกระทั่งมีลูกที่แม่รักและภูมิใจถึงสองคน  แต่แม่ก็ได้ใช้ชีวิตที่หมู่บ้านของพ่อจนกระทั่งจนกระทั่ง พือพือ (ย่ามะโน)เสียชีวิตลง แม่จึงได้ย้ายออกมาอยู่บ้านที่ปลูกสร้างไว้ใกล้ชานเมืองเพื่อความสะดวกในหลายๆอย่างกระนั้นแม่ก็ยังมีเรื่องเล่ามากมายที่อยากเล่าให้ลูกทั้งสองฟัง

ในบันทึกเล่มนี้แม่เลือกที่จะเล่าถึงลูกต้นหว้า ด้วยว่า ความเข้าใจในตัวตนของลูกนั้นมีน้อยมากกว่าพี่ชายเจ้านักที่เกิดในชุมชนอันแตกต่างกัน “สาละวิน” มีโอกาสได้ใช้ชีวิตในวัฒนธรรมของพ่อเจ้า ส่วนตัวเจ้านั้นไม่ได้สัมผัสอยู่อาศัยในชุมชนของพือพืออีกเลยนับตั้งแต่แม่ย้ายออกมาก่อนที่เจ้าจะคลอดออกมา

เมื่อแม่รับยาย(แม่ของแม่)มาอยู่ด้วยก็ยิ่งต้องบันทึกถึงต้นหว้าที่เป็นที่รักของคนในบ้านจนมีคำติดปากว่า”ต้นหว้าสีชมพู”เพราะยายเจ้านั้นนึกให้เป็นจริงว่าสีชมพูคือสีแห่งความรักขอให้มีคนรักเจ้ามากมายดังสมญานามที่ให้ ซึ่งมันเป็นจริงดังว่า ลูกกลายมาเป็นที่รักของพ่อของยายของพี่วินและแม่จนบางครั้งดูเหมือนแม่ลำเอียงความรักมาหาเจ้า จนแม่กลัวว่าเจ้าจะหลงระเริงกับความรักจนกลายเป็นคนเอาแต่ใจตัวเอง จนไม่รู้จักแบ่งปันความรักให้ผู้คนอื่น

ต้นหว้าแสนรักของแม่จำต้องถูกปลูกฝังวัฒนธรรมแห่งความรักให้ถูกต้อง ด้วยเจ้านั้นเกิดเป็นหญิงโดยวัฒนธรรมที่เสียเปรียบเพศชายทำให้แม่นึกห่วงเจ้ามากมายเสียยิ่งกว่าพี่ชายของเจ้า ไม่ต่างจากที่แม่ได้พลาดพลั้งไปกับการดำเนินชีวิตที่ผ่านมา ที่ได้กลายมาเป็นบทเรียนในชีวิตที่แม่ไม่อาจจะยอมให้เกิดกับลูกซ้ำสองโดยเด็ดขาด

แม่ได้เพียงแต่หวังว่าบันทึกเล่มนี้เมื่อเจ้าเติบใหญ่ได้อ่านมัน จะทำให้เจ้านึกรักตัวเอง รักผู้คนอื่นในโลกใบนี้ ไม่ว่าเขาจะยากดีมีจน สูงส่งด้วยเงินตราฐานะ หรืออยู่ในชนชั้นใดในสังคมก็ตามล้วนเกิดมาเป็นคนเสมอกันไม่อาจดูถูกใครได้ว่าต่ำต้อยกว่าเรา และไม่มีใครยิ่งใหญ่ไปกว่าเราเหนือการทำดีได้หรอกลูก  ยิ่งความรักเฉกเช่นหนุ่มสาวด้วยแล้วหากรู้จักรัก ความรักนั้นจะเป็นสิ่งสวยงามชโลมใจลูก หากรักไม่เป็นความรักจะย้อนมาทิ่มแทงลูกดั่งอสรพิษร้ายเลยทีเดียว

แม่เองก็ถือโอกาสเล่าเรื่องราวหลายอย่างผ่านบันทึกถึงลูกเล่มนี้ เพื่อเป็นคติเตือนใจให้แม่และลูกได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันหากวันหนึ่งลูกได้อ่านมันจะรู้ได้ว่าแม่รักลูกเพียงใดต้นหว้าแสนรักและรักที่ยิ่งใหญ่คือรักที่ไม่หวังผลตอบแทนแห่งรักนั้นเอง.

รัก

แม่



 

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
  สาละวิน,ลูกรัก เมื่อครั้งที่แม่มาจังหวัดเชียงใหม่ครั้งแรกนั้น แม่อายุได้ 18 ปี เชียงใหม่ในความรู้สึกของแม่มันช่างกว้างใหญ่สวยงาม  แม่เป็นเพียงเด็กบ้านนอกจนๆ ที่มีเพียงเงินค่ารถติดตัวไม่กี่บาท ที่เหลือก็เป็นค่าลงทะเบียนสอบเอ็นทรานซ์ แม่มองเห็นพระธาตุดอยสุเทพจากวิวนอกเมืองยามรถแล่นผ่าน  แม่อธิษฐานในใจว่า หากมีบุญที่จะได้มาอยู่เชียงใหม่  ก็จะขึ้นไปนมัสการพระธาตุฯ ให้ได้
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก แม่ได้เล่าถึงพิธีกรรมในการเรียกขวัญลูกในบทบันทึกที่ผ่านมา แม่ก็นึกขึ้นมาได้ว่ายังมีพิธีกรรมเกี่ยวกับแม่ ซึ่งเป็นประสบการณ์ใหม่ของแม่เช่นกัน
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก พ่อกับแม่ต่างเกิดขึ้นมาในวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอย่างริบลับ แม่นั้นแม้จะเกิดที่ภาคอีสานของประเทศ แต่ก็ซึมซับวัฒนธรรมอีสานได้เพียงน้อยนิด ก็ต้องมาใช้ชีวิตและเติบโตที่ภาคเหนือจนกระทั่งเมื่อเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย ก็ดูเหมือนจะตัดขาดกับฐานวัฒนธรรมของตัวเอง เพราะอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่สังคมชั้นกลางเป็นกระแสหลักอยู่รายล้อม
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก เช้าวันที่สองของการไปคลอด ในมือของแม่ยังคงว่างเปล่า ทั้งที่ทุกคนในห้องหลังคลอดต่างมีห่อของขวัญอยู่ในมือกันคนละห่อ พ่อของลูกเทียวไปมาระหว่างห้องหลังคลอด ซึ่งอยู่ชั้นบนของห้องรอคลอด กับห้องพักเด็กอ่อน ที่อยู่ไกลออกไปอีกหนึ่งช่วงตึก ที่นั่นมีห่อของขวัญของแม่นอนอยู่ในตู้อบเล็กๆ ขนาดเท่ากับตัวลูก
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก ในเช้าที่แม่ต้องเดินทางไปคลอดลูกที่โรงพยาบาลในเมือง เป็นเช้าสุดท้ายที่แม่ได้นอนตื่นสายเช่นที่แม่เคยเป็นมาตั้งแต่ไหนแต่ไร หลังจากมีสาละวินแล้ว แม่ก็ไม่ได้ตื่นสายอีกเลย มันเป็นเช้าปกติที่แม่ตื่นขึ้นมาพบว่าอุ้มท้องลูกได้เก้าเดือนแล้ว และวันนี้หมอนัดให้แม่ไปคลอดลูกที่โรงพยาบาล
เจนจิรา สุ
 สาละวิน,ลูกรัก  ลูกมักตื่นแต่เช้า เช้าที่เรียกว่าไก่โห่เลยที่เดียว  มีคนเคยพูดไว้ว่า มีเด็กทารก กับคนแก่ที่มีพฤติกรรมคล้ายกัน คือตื่นเช้ามากๆ  แต่จุดประสงค์ของการตื่นเช้าของคนต่างวัยกลับต่างกัน เด็กทารกนั้น ตื่นเต้นกับโลกใหม่ที่ไม่คุ้นเคย และหลับมานานในท้องแม่จนกระตือรือร้นที่จะตื่นมาเรียนรู้โลกใบกว้าง  ในขณะที่คนแก่ซึ่งอยู่บนโลกมานานรู้ว่าจะเหลือเวลาอยู่ดูโลกนี้ได้อีกไม่นาน  จึงไม่อยากจะเสียเวลาไปกับการนอน
เจนจิรา สุ
แม่มองย้อนกลับไปในวัยเด็ก อุปนิสัยก้าวร้าวรุนแรง ที่เคยแสดงออกทางกายภาพนั้นมันยังคงซ่อนอยู่ในจิตใจและแสดงออกมาในรูปแบบอื่นเมื่อเราโตขึ้น เช่น เมื่อก่อนที่แม่จะมีลูก แม่เป็นนักดื่มตัวยงคนหนึ่ง เมื่อเมาจนได้ที่ ความก้าวร้าวรุนแรงก็จะปรากฏให้เห็นอยู่เป็นระยะ จนบางครั้งเพื่อนฝูงต่างก็เอือมระอา 
คนที่ขาดพื้นฐานความรักความอบอุ่นจากครอบครัวเช่นแม่นั้น ย่อมมีผลต่อพฤติกรรมจากเด็กจนถึงผู้ใหญ่และอาจติดตัวไปตลอดชีวิตเลยก็เป็นได้ หากแม่ไม่มองย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นและไล่เรียงสิ่งผิดพลาดในชีวิตที่ผ่านมา เพื่อเป็นอุทาหรณ์และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น เพราะหากแม่มัวแต่โทษว่าสิ่งที่ตัวเองทำผิดต่างๆ…
เจนจิรา สุ
สาละวิน, ลูกรัก ในวันที่แม่เริ่มจับปากกาเขียนถึงลูก สาละวินอายุได้หนึ่งเดือนกับสิบแปดวัน แม่นั่งอยู่ข้างๆ เบาะเล็กๆสีชมพู ซึ่งลูกอาจจะแปลกใจที่แม่เลือกซื้อข้าวของเครื่องใช้เป็นสีชมพูนั้น แม่ยอมรับว่าในใจตอนแรกของแม่ก็หวังจะให้ลูกคนแรกเป็นผู้หญิง
เจนจิรา สุ
นักท่องเที่ยวต่างชาติยอมจ่ายค่าตั๋วอย่างต่ำหนึ่งร้อยถึงสองร้อยห้าสิบบาทเป็นค่าเข้าชม วิถีชีวิตที่จำลองขึ้นของชาวกระยันที่ถูกเรียกขานเสียใหม่เพื่อดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวว่า "กะเหรี่ยงคอยาว" และนับเป็นความสำเร็จของกลุ่มนายทุนและการโปรโมทการท่องเที่ยวของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ทำให้คนทั่วประเทศหลั่งไหลเข้ามาชมกระเหรี่ยงคอยาว จนเป็นที่รับรู้กันว่าหากจะมาดูชนเผ่าที่มหัศจรรย์ที่สุดต้องมาที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนแห่งนี้
เจนจิรา สุ
สาละวิน, ลูกรัก ลูกลืมตาดูโลกในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ.2550 ในตอนค่ำเวลา 19.21 น. ตรงกับวันขึ้น 12 ค่ำเดือน 4 ปีกุน แม่ให้ชื่อลูกไว้ตั้งแต่ยังไม่เกิดว่า "สาละวิน" ชึ่งหมายถึงชื่อของแม่น้ำพรมแดนกั้นระหว่างไทยกับพม่า สาละวินของแม่ถือกำเนิดมาจากแม่ซึ่งเป็นคนไทยและพ่อที่อพยพมาจากพม่า ชื่อของลูกที่เปรียบเทียบได้กับแม่น้ำพรมแดนเชื่อมสายสัมพันธ์ให้เราสองคนอยู่เคียงข้างกันตลอดไปดังเช่นไทยและพม่า
เจนจิรา สุ
มะโนตัดสินใจอยู่นานกว่าสองวันหลังจากที่หญิงกระยันร่างกายผอมบางอายุ 52 ปี สะดุดล้มในห้องน้ำจนทำให้ให้เกิดอาการบวมที่ท้องด้านขวา เมื่อทนการรบเร้าจากคนรอบข้างไม่ไหวให้ไปหาหมอ เธอจึงเปิดหีบใบใหญ่ที่ใส่ข้าวของเงินทองที่มีอยู่รวมไปถึงเอกสารประจำตัวต่างๆ เพื่อค้นใบเล็กๆ สีเขียว มันเป็นบัตรเข้ารับการบริการที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด แต่จนแล้วจนรอดก็หาไม่พบ
เจนจิรา สุ
จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นอีกจังหวัดหนึ่งในประเทศไทยที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินึกถึงเมื่อเดินทางมาเยือนภาคเหนือของไทยแม้หนทางที่มุ่งสู่จังหวัดแม่ฮ่องสอนจากจังหวัดเชียงใหม่   จะคดโค้งลาดชันน่าหวาดเสียวจนขึ้นชื่อว่า   หากใครเดินทางมาถึงแม่ฮ่องสอนจะเป็นดั่งผู้พิชิตจำนวนโค้งมากที่สุดถึง 1,864 โค้งเลยทีเดียว