Skip to main content


เจนจิรา สุ


ก่อนเปิดบันทึก

ต้นหว้าแสนรัก,บันทึกเล่มนี้นี้แม่ตั้งใจจะบันทึกถึงเจ้า น้องคนเล็กของพี่และลูกสาวคนเล็กของแม่ดั่งที่แม่เคยได้บันทึกถึงพี่ชายของเจ้า “สาละวิน” ในหนังสือ “บันทึกถึงลูกผู้มาจากดาวดวงอื่น” ที่กำลังตีพิมพ์เร็วๆนี้ อันเป็นความฝันส่วนหนึ่งที่สำเร็จลง เมื่อครั้งที่แม่ตั้งใจเขียนบอกเล่าความเป็นมาแห่งวิถีชีวิตแห่งพ่อและแม่ที่เกิดมาจากต่างวัฒนธรรมเรียกได้มาจากคนละดวงดาวเลยก็ว่าได้ด้วยพ่อที่เติบโตในชุมชนที่เรียกว่าหมู่บ้านกระเหรียงคอยาวเพื่อการท่องเที่ยว  ส่วนแม่นั้นเป็นเพียงคนในสังคมทั่วไปที่มีโอกาสไปเที่ยวหมู่บ้านของพ่อ ได้พบรักและแต่งงานจนกระทั่งมีลูกที่แม่รักและภูมิใจถึงสองคน  แต่แม่ก็ได้ใช้ชีวิตที่หมู่บ้านของพ่อจนกระทั่งจนกระทั่ง พือพือ (ย่ามะโน)เสียชีวิตลง แม่จึงได้ย้ายออกมาอยู่บ้านที่ปลูกสร้างไว้ใกล้ชานเมืองเพื่อความสะดวกในหลายๆอย่างกระนั้นแม่ก็ยังมีเรื่องเล่ามากมายที่อยากเล่าให้ลูกทั้งสองฟัง

ในบันทึกเล่มนี้แม่เลือกที่จะเล่าถึงลูกต้นหว้า ด้วยว่า ความเข้าใจในตัวตนของลูกนั้นมีน้อยมากกว่าพี่ชายเจ้านักที่เกิดในชุมชนอันแตกต่างกัน “สาละวิน” มีโอกาสได้ใช้ชีวิตในวัฒนธรรมของพ่อเจ้า ส่วนตัวเจ้านั้นไม่ได้สัมผัสอยู่อาศัยในชุมชนของพือพืออีกเลยนับตั้งแต่แม่ย้ายออกมาก่อนที่เจ้าจะคลอดออกมา

เมื่อแม่รับยาย(แม่ของแม่)มาอยู่ด้วยก็ยิ่งต้องบันทึกถึงต้นหว้าที่เป็นที่รักของคนในบ้านจนมีคำติดปากว่า”ต้นหว้าสีชมพู”เพราะยายเจ้านั้นนึกให้เป็นจริงว่าสีชมพูคือสีแห่งความรักขอให้มีคนรักเจ้ามากมายดังสมญานามที่ให้ ซึ่งมันเป็นจริงดังว่า ลูกกลายมาเป็นที่รักของพ่อของยายของพี่วินและแม่จนบางครั้งดูเหมือนแม่ลำเอียงความรักมาหาเจ้า จนแม่กลัวว่าเจ้าจะหลงระเริงกับความรักจนกลายเป็นคนเอาแต่ใจตัวเอง จนไม่รู้จักแบ่งปันความรักให้ผู้คนอื่น

ต้นหว้าแสนรักของแม่จำต้องถูกปลูกฝังวัฒนธรรมแห่งความรักให้ถูกต้อง ด้วยเจ้านั้นเกิดเป็นหญิงโดยวัฒนธรรมที่เสียเปรียบเพศชายทำให้แม่นึกห่วงเจ้ามากมายเสียยิ่งกว่าพี่ชายของเจ้า ไม่ต่างจากที่แม่ได้พลาดพลั้งไปกับการดำเนินชีวิตที่ผ่านมา ที่ได้กลายมาเป็นบทเรียนในชีวิตที่แม่ไม่อาจจะยอมให้เกิดกับลูกซ้ำสองโดยเด็ดขาด

แม่ได้เพียงแต่หวังว่าบันทึกเล่มนี้เมื่อเจ้าเติบใหญ่ได้อ่านมัน จะทำให้เจ้านึกรักตัวเอง รักผู้คนอื่นในโลกใบนี้ ไม่ว่าเขาจะยากดีมีจน สูงส่งด้วยเงินตราฐานะ หรืออยู่ในชนชั้นใดในสังคมก็ตามล้วนเกิดมาเป็นคนเสมอกันไม่อาจดูถูกใครได้ว่าต่ำต้อยกว่าเรา และไม่มีใครยิ่งใหญ่ไปกว่าเราเหนือการทำดีได้หรอกลูก  ยิ่งความรักเฉกเช่นหนุ่มสาวด้วยแล้วหากรู้จักรัก ความรักนั้นจะเป็นสิ่งสวยงามชโลมใจลูก หากรักไม่เป็นความรักจะย้อนมาทิ่มแทงลูกดั่งอสรพิษร้ายเลยทีเดียว

แม่เองก็ถือโอกาสเล่าเรื่องราวหลายอย่างผ่านบันทึกถึงลูกเล่มนี้ เพื่อเป็นคติเตือนใจให้แม่และลูกได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันหากวันหนึ่งลูกได้อ่านมันจะรู้ได้ว่าแม่รักลูกเพียงใดต้นหว้าแสนรักและรักที่ยิ่งใหญ่คือรักที่ไม่หวังผลตอบแทนแห่งรักนั้นเอง.

รัก

แม่



 

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
12 ตุลาคม 2550 ยามสายของวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่สนามบินแตกตื่นไปกับผู้คนที่เดินทางไปรับผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนคนใหม่ โดยเฉพาะเมื่อเห็นหญิงกระยันสวมห่วงทองเหลืองที่ขัดจนแวววาว เดินอย่างเป็นระเบียบมาเข้าแถวต้อนรับผู้ว่าฯ คนใหม่อย่างพร้อมเพียงบางคนที่มารอขึ้นเครื่องเข้ามากดชัตเตอร์ขอถ่ายรูปพวกเธอที่แต่งชุดกระยันเต็มยศ ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส มะลิ เด็กสาวกระยันคนหนึ่งถูกเลือกให้กล่าวคำต้อนรับท่านผู้ว่าฯ ด้วยเหตุผลที่เธอสามารถอ่านหนังสือภาษาไทยได้ชัดเจนที่สุด แม้ว่าเธอจะประหม่าบ้างกับกล้องถ่ายรูป ผู้คน และภารกิจที่เธอจะต้องทำ แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปด้วยดี…
เจนจิรา สุ
25 กันยายน 2550 หมู่บ้านใหม่ค่อนข้างจะคึกคักตกเย็นมีเสียงดีดสีตีเป่าร้องรำทำเพลงเป็นเพลงพื้นบ้าน  เสียงซึงประสานเสียงโม่งสอดรับกับท่วงทำนองเนื้อร้องของแม่เฒ่า เอื้อนไต่บันไดเสียงคลอปี่ไม้ไผ่ผิวหวิวไหวขึ้นลง ไล่เลียงไปไม่ทันสุดบันไดเสียงก็โยนกลับไป-มาเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้ฉันรู้สึกราวกับว่าตกอยู่ในหมู่บ้านลี้ลับกลางป่าเปลี่ยวดึกดำบรรพ์ที่ไหนสักแห่งที่เคยอยู่อาศัยเมื่อนานมาแล้ว ต่างจากหมู่บ้านเดิมลิบลับ ที่นี่ไม่มีแบตเตอรี่พอเพียงสำหรับเปิดเพลงจากซีดี ไม่มีทีวีให้รุมดู แต่มีกาน้ำชาอุ่นบนกองไฟที่ล้อมวงไปด้วยเด็กๆ หนุ่มสาว จนถึงคนเฒ่าคนแก่ ปรึกษาหารือถึงวิถีชีวิตของวันพรุ่งนี้…
เจนจิรา สุ
20 กันยายน 2550 เจ้าเขียวสะอื้น (มอเตอร์ไซค์คู่ชีพ) ส่งเสียงครางกระหึ่มอุ่นเครื่องอยู่ใต้ถุนบ้าน ก่อนที่มันจะต้องเดินทางไกลในเส้นทางที่ฟ้าสวยแต่พื้นดินแสนขรุขระตรงกันข้าม สามีฉันจึงจัดแจงเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เช็คเครื่อง และเพิ่มตะกร้าหลังให้มันเพื่อบรรทุกสัมภาระที่ขนย้ายไปไม่หมด  ชาวบ้านหลายครอบครัวได้ย้ายไปดำเนินชีวิตที่หมู่บ้านใหม่ก่อนหน้าฉันหลายวันแล้ว แต่ฉันติดตรงที่ต้องพาลูกไปฉีดวัคซีนตามที่หมอนัด จึงยังอาศัยอยู่ที่บ้านแม่สามีไปพลางก่อนเช้านี้เราจึงตัดสินใจจะเดินทางไปหมูบ้านใหม่กัน สำหรับฉันค่อนข้างจะตื่นเต้นเพราะยังไม่เคยเห็นบ้านใหม่ของตัวเองสักที …
เจนจิรา สุ
12 กันยายน 2550 และแล้วก็มาถึงวันที่ทุกคนรอคอย เมื่อวันที่ย้ายต้องเลื่อนออกมาจากกำหนดเดิมอีกสองวัน แสงแดดดูเหมือนจะเป็นใจสาดส่องให้ถนนเส้นทางสายห้วยเดื่อ- ห้วยปูแกงที่เคยชื้นแฉะและเป็นหลุมบ่อจากน้ำฝนแห้งสนิท
เจนจิรา สุ
5 กันยายน 2550 ยามเช้า,ตื่นขึ้นด้วยเสียงเลื่อยไม้, เสียงค้อนตอกตะปู,เสียงสังกะสีกระทบพื้นดังโครมคราม ไก่หลายตัวที่เคยขันปลุกทุกเช้า ถูกเชือดเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงคนที่มาช่วยลงแขกรื้อบ้านตั้งแต่เมื่อวานและเช้านี้ บ้านหลายหลังพังพาบเป็นกองไม้ รอวันขนย้ายไปที่แห่งใหม่ เด็กๆ วิ่งตึงตังในห้องกลางเพราะต้องมานอนรวมแออัดกันที่บ้านย่า ก็คือบ้านสามีของฉัน แม่บ้านและเด็กสาววุ่นวายอยู่ในครัว เหตุการณ์ชุลมนเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อหลายวันก่อน ชาวบ้านมาขอคำปรึกษาเรื่องบ้าน ฉันจึงตัดสินใจกดหมายเลขโทรศัพท์ต่อสายพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับปลัดหนุ่มที่ดูแลพื้นที่“ปลัดฯหรือคะ คือฉันมีเรื่องรบกวนจะเรียนถาม…
เจนจิรา สุ
31สิงหาคม2550 22.40 น.ฉันลุกขึ้นเปิดดวงไฟจากแบตเตอรี่อีกครั้ง หลังจากที่ลุกขึ้นมาโทรศัพท์สนทนากับเพื่อนที่เชียงใหม่ ระบายความกลัดกลุ้มด้วยคำพูดแต่ดูเหมือนเมื่อปิดไฟลง ดวงตาก็เบิกโพลงไปกับความคิดฉันจึงปล่อยความคิดโลดแล่นไปกับปลายปากกานับถอยหลังไปอีกสิบวัน หมู่บ้านที่ฉันอาศัยอยู่นี้ก็จะถูกย้ายไปที่แห่งใหม่ ตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยให้ไปรวมกับหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ไกลออกไปติดชายแดนไทย-พม่าทางฝั่งทิศตะวันตก    เนื่องจากชาวบ้านที่นี่อาศัยอยู่กับนายทุนมานานกว่า 12 ปี ด้วยสัญลักษณ์ที่พิเศษแตกต่างกว่าชนเผ่าอื่น “กะยัน” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่ากะเหรี่ยงคอยาว…