Skip to main content

Kasian Tejapira(27/3/56)

ผมอยากชวนคุยเรื่องนี้โดยแยกต่างหากจากปัญหาว่า พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะผ่านสภาผู้แทนราษฎรในปลายเดือนมีนาคมนี้หรือไม่ เพราะไม่ว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน ข้อสังเกตเหล่านี้ก็ยังเป็นเรื่องที่เราควรคำนึงอยู่ ไม่ว่าจะเพื่อบริหารจัดการเมกะโปรเจคต์ลอจิสติกส์อย่างรู้เท่าทันผลกระทบสืบเนื่องเชิงเศรษฐกิจ-นิเวศวิทยาที่เป็นไปได้ของมัน หรือเพื่อแสวงหาทางเลือกใหม่อื่น ๆ โดยตระหนักถึงเหล่าผลกระทบสืบเนื่องที่อาจเกิดขึ้นได้..... แม้ว่าเอาเข้าจริง ผมค่อนข้างเชื่อว่า พ.ร.บ.เงินกู้ฯ จะผ่าน เครือข่ายอนุรักษ์นิยมขวาจัดจะไม่สามารถหยุดยั้งรั้งมันไว้ได้ เพราะเงินเดิมพันเบ็ดเสร็จสูงลิบถึง 4 ล้านล้านบาท (กู้กึ่งหนึ่ง งบฯหน่วยราชการสมทบอีกกึ่งหนึ่ง) และ “มีเงินซะอย่างก็ใช้ผีโม่แป้งได้” ดังที่ภาษิตจีนว่าไว้.....

 

นายกฯยิ่งลักษณ์ขึ้นเฟซบุ๊กโฆษณาคุณประโยชน์ทางเศรษฐกิจของเมกะโปรเจคต์ลอจิสติกส์มูลค่า 4 ล้านล้านบาทไว้เป็นตัวเลขน่าประทับใจตอนท้ายว่า:

 

“ตัวเลขเศรษฐกิจที่เป็นผลลัพธ์ที่เห็นเป็นรูปธรรมที่จะได้ค่าขนส่งที่ลดลง 2% ในช่วงของการลงทุนมูลค่า GDP เพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยประมาณ 1% ต่อปี และการจ้างงานประมาณ 500,000 อัตรา (ต่อปี) ซึ่งจะส่งผลทั้งความแข็งแรง การหมุนเวียนเศรษฐกิจในประเทศอย่างเข้มแข็งต่อไปในอนาคต” ( http://www.dailynews.co.th/politics/192965)

 

ทว่าในทางกลับกัน รถไฟความเร็วสูงก็จะมาพร้อมกับการใช้พลังงานไฟฟ้าที่สิ้นเปลืองอีกมาก จนน่ากังวลว่าจะหามาจากแหล่งไหน? จะพอไหม? ดังที่ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธาน กยอ. ชี้ว่า:

 

“โครงการพัฒนาระบบการขนส่งทางบกของเรา ไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่งทางราง เช่น รถไฟความเร็วสูง หรือระบบรถไฟรางคู่ การขยายท่าเรือน้ำลึก การยกระดับระบบการขนส่งทางบก ทางอากาศ ทางน้ำ ล้วนแต่เป็นโครงการที่จะต้องใช้ไฟฟ้าในปริมาณที่มากขึ้นอย่างมหาศาลในอนาคต

 

“การที่จะต้องเร่งพัฒนาแหล่งผลิตไฟฟ้าให้ทันกับความต้องการของประเทศก็ยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้นเท่านั้น แต่การจะพัฒนาแหล่งผลิตไฟฟ้าภายในประเทศก็มีข้อจำกัดหลายอย่าง เป็นต้นว่า การลงทุนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็คงจะเป็นไปไม่ได้ ใครขืนยกขึ้นมาในตอนนี้ก็คงจะถูกต่อต้านอย่างรุนแรง การจะคิดสร้างโรงไฟฟ้าโดยใช้ถ่านหิน ซึ่งน่าจะเป็นเชื้อเพลิงที่ถูกที่สุดรองลงมาจากการใช้เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ก็คงจะถูกต่อต้านทั้ง ๆ ที่ปัจจุบันเทคโนโลยีในเรื่องการขจัดมลภาวะจากการผลิตไฟฟ้าด้วย ถ่านหินก็ก้าวหน้าไปมากจนเกือบจะไม่มีปัญหาแล้ว

 

“แหล่งที่จะสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าภายในประเทศก็หมดแล้ว ถ้าจะมีเหลือก็คงมีปัญหาเรื่องการอพยพโยกย้ายผู้คนซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเสียแล้ว ตกลงการที่จะตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าในประเทศไม่ว่าจะใช้เชื้อเพลิงอะไรผลิตอย่างเป็นเรื่องเป็นราวก็คงจะเป็นไปได้ยาก หรือเป็นไปไม่ได้แล้ว

 

“จะมีเหลือก็คือไปลงทุนหาแหล่งผลิตไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้าน แล้วส่งไฟฟ้าเข้ามาขายให้ประเทศไทย ประเทศที่มีศักยภาพที่จะเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าทั้งจากพลังน้ำ หรือเป็นที่ตั้งสำหรับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ใช้เชื้อเพลิงอย่างอื่น เช่น ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ หรือแม้แต่นิวเคลียร์ ก็เห็นจะมีอยู่เพียง 2-3 ประเทศ คือ พม่า ลาว และจีน.....

 

“โครงการสนับสนุนให้เอกชนผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กทั่วไป ก็คงจะไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นตามการพัฒนาประเทศในระยะต่อไป

 

“ปัญหาเรื่องความมั่นคงทางด้านพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของแหล่งผลิตไฟฟ้า จึงเป็นเรื่องที่เราจะต้องให้ความสนใจให้มากขึ้นกว่านี้อีกมาก.....” (http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1361723116)

ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธาน กยอ.

สรุปก็คือค่าขนส่งที่จะถูกลง, GDP และการจ้างงานที่จะเพิ่มขึ้น ไม่ใช่จะได้มาด้วยเงินกู้ + งบประมาณอย่างเดียว หากต้องแลกด้วยพลังงานไฟฟ้าอีกมหาศาลซึ่งไทยเราไม่มีปัญญาหรือความเป็นไปได้ทางสังคมการเมืองที่จะผลิตเอง ต้องขอซื้อเอาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่องตราบที่รถไฟความเร็วสูงยังวิ่งอยู่ ผลกระทบทางนิเวศวิทยาจากการผลิตไฟฟ้ามหาศาลดังกล่าวย่อมเกิดขึ้นแน่ และผลกระทบทางนิเวศนั้นไม่มีพรมแดน

Wolfgang Sachs

ผมอยากเสริมด้วยข้อคิดของ Wolfgang Sachs อาจารย์และนักวิจัยด้านสังคมวิทยาสิ่งแวดล้อมและการศึกษาการพัฒนาและโลกาภิวัตน์ชาวเยอรมันแห่งสถาบัน Wuppertal Institute for Climate, Environment and Energy เจ้าของผลงานเด่น ๆ อย่าง The Development Dictionary (บรรณาธิการ, ค.ศ. 1992), และ Planet Dialectics: Explorations in Environment and Development (ค.ศ. 1999) ที่ชี้ให้เห็นถึง: -

 

- the growth effects : กล่าวคือการเพิ่มประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ เช่น เพิ่มประสิทธิภาพระบบลอจิสติกส์ เพื่อส่งเสริมโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจนั้น แม้จะช่วยประหยัดต้นทุนด้านเศรษฐกิจ (การขนส่ง) ลงจริงต่อการขนส่งแต่ละครั้ง (ดังที่รัฐบาลอ้าง) แต่ผลลัพธ์รวมของมันคือ มันจะส่งผลกระตุ้นกิจกรรมเศรษฐกิจและการขนส่งให้เพิ่มขยายจำนวนและถี่กระชั้นขึ้นตามต้นทุนที่ถูกลงนั้นอย่างมากมายมหาศาล (the growth effects) ส่งผลให้ในที่สุดการเพิ่มประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจและลดทอนประหยัดต้นทุน กลับไม่ได้ช่วยลดระดับปริมาณการใช้สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติลงแต่อย่างใด หากกระตุ้นให้ใช้เพิ่มขึ้นหนักขึ้นด้วยซ้ำ

 

- the expansion effects : การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (Foreign Direct Investment) ซึ่งเกิดตามการขยายระบบลอจิสติกส์มา & the transport effects: การที่ระยะห่างของการเดินทางระหว่างประเทศเสมือนหนึ่งหดสั้นลงเพราะระบบขนส่งคมนาคมดีขึ้น กระตุ้นให้ผู้คนเดินทางและสินค้าถูกขนส่งมากขึ้น --> จะทำให้ใช้พลังงานและทรัพยากรสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมทั้งผลิตมลภาวะตามออกมาอีกมาก (http://www.worldsummit2002.org/publications/sachsglobal.pdf)

 

สรุปคือภาพรวมของ the growth effects + the expansion effects + the transport effects เหล่านี้ จะไม่ถูกบันทึกนับรวมไว้ใน EIA ฉบับของโครงการย่อยใด ๆ เพราะเอาเข้าจริงมันเป็นผลที่คาดหวังให้เกิดขึ้นของโครงการเมกะโปรเจคต์ลอจิสติกส์ทั้งหมด (อยากให้เกิดไง ทั้ง economic growth, expansion of production & increase in transportation) ด้วยซ้ำ ทว่ามันจะทำให้ไทยและเพื่อนบ้านและ ASEAN ใช้พลังงานและทรัพยากรจากสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล น่าเชื่อว่า Carbon Footprint หรือรอยเท้าคาร์บอนของคนไทยและคน ASEAN จะขยายใหญ่ออกไปอีกบานเบอะ (ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่คนเราปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศเนื่องจากเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อใช้พลังงานในชีวิตปกติประจำวัน ดูภาพประกอบด้านล่าง)

คลิกดูภาพขนาดใหญ่

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
"ในฐานะผู้เคยทำการปฏิวัติด้วยความรุนแรง ผมใคร่บอกว่าเราต้องหาทางเจือผสมการปฏิวัติด้วยความไม่รุนแรงให้มากที่สุด เพราะเหตุใดน่ะหรือ? ก็เพราะว่าบรรดาไพร่ทาสราษฎรสามัญชนโดยทั่วไปนั้นหาได้มีอาวุธสงครามในมือเหมือนกลไกรัฐภายใต้การบังคับควบคุมของชนชั้นปกครองไม่.."    
เกษียร เตชะพีระ
กระบวนการเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์ดังที่เป็นอยู่ จึงก่อผลสำคัญด้านความเหลื่อมล้ำทางโภคทรัพย์ที่เป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย ไม่ใช่อุดหนุนเกื้อกูล, พลังประชาธิปไตยบนฐานอำนาจเสียงข้างมากของคนที่ขาดด้อยโภคทรัพย์ต้องหาทางคะคานถ่วงดุลอำนาจทุนมหาศาลของคนมั่งมีโภคทรัพย์เสียงข้างน้อยไว้ มิฉะนั้นประชาธิปไตยก็จะหมดความหมายในทางเป็นจริงไปในที่สุด
เกษียร เตชะพีระ
เฉพาะหนึ่งปีที่ผ่านมา รถยนต์ที่ขายในประเทศร่ำรวย อาทิ ญี่ปุ่นและอเมริกา กลับมียอดแซงหน้าในประเทศตลาดเกิดใหม่ จีนไม่ใช่ประเทศที่มีอัตรายอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นสูงสุดอีกต่อไป หากกลับเป็นไทย (ที่ ๖๐%!) และอินโดนีเซีย (ที่ ๓๕%) ในรอบปีที่ผ่านมา
เกษียร เตชะพีระ
ก้องกังวานสะท้านฟ้ามหาสมุทร ด้วยคลั่งแค้นแสนสุดประกาศกล้า เป็นแสนเสียงล้านเสียงมหาประชา สยบขวัญสั่นอุราเผด็จการ...
เกษียร เตชะพีระ
"ประชานิยม" "คนชั้นกลางนิยม" "คนรวยนิยม" "อำมาตย์นิยม" "ประชาธิปัตย์นิยม" "ม.๑๑๒ นิยม" "ราชบัณฑิตนิยม" "ยิ่งลักษณ์นิยม" "ทักษิณนิยม" "พันธมิตรนิยม" "นิติราษฎร์นิยม" "นิด้านิยม"