Skip to main content
ฝันสลายของคนชั้นกลางอเมริกัน = ฝันสลายของตลาดส่งออกใหญ่ของเอเชียตะวันออกรวมทั้งไทย = ฝันสลายของตัวแบบเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก (EAEM - East Asian Economic Model) รวมทั้งไทยด้วย
เกษียร เตชะพีระ(19/7/56)
 
ความฝันของอเมริกันชนที่ชูใจพวกเขามานานปีว่านี่เป็นดินแดนแห่งโอกาส ไม่ว่าคุณเป็นใครมาจากไหน ถ้ามุมานะขยันทำงานริเริ่มสร้างสรรค์ไต่เต้าก็จะรวยหรือกระทั่งมีสิทธิ์เป็นประธานาธิบดีได้ ชักไม่เป็นจริงเสียแล้วสำหรับครัวเรือนคนชั้นกลางอเมริกันจำนวนมาก บ้างก็ทำท่าฝันหลุดมือ บ้างก็สลายวับไปเลยทีเดียว
 
กลุ่มอาการฝันคนชั้นกลางอเมริกันสลายได้แก่: เสียงานมั่นคงรายได้ดีไป, หาได้แต่งานที่ชั่วโมงทำงานยาวนานและไม่ค่อยมั่นคง รายได้และสิทธิประโยชน์ต่ำลง, เริ่มติดหนี้พอกพูน, ครอบครัวเครียดขึ้งแตกแยก ฯลฯ
 
นี่ย่อมส่งผลกระทบสืบเนื่องต่อมาถึงอุตสาหกรรมส่งออกของเอเชียตะวันออกรวมทั้งไทยแน่นอน
 
1) ค่าจ้างต่ำลง
 
รายได้ของคนชั้นกลางอเมริกันต่ำลง ๘.๕% นับแต่ปีค.ศ. ๒๐๐๐ เป็นต้นมา ทั้งที่ทศวรรษก่อนหน้านั้นเคยเพิ่มขึ้นอย่างคงเส้นคงวามาตลอด ในปี ๒๐๑๑ รายได้เฉลี่ยของครัวเรือน ๖๐% ที่เป็นคนชั้นกลางอเมริกันตกราว ๕๓,๐๔๒ US$/ปี จากเดิมเคยอยู่ที่ ๕๘,๐๐๙ US$/ปี เมื่อปี ๒๐๐๐
(ภาพประกอบ: รายได้เฉลี่ยของคนชั้นกลางอเมริกันจากปี ค.ศ. ๑๙๘๐ - ๒๐๑๑)
 
2) ส่วนแบ่งรายได้ของคนชั้นกลางต่ำลง
 
ส่วนหนึ่งเนื่องจากได้ค่าจ้างต่ำลง ส่วนแบ่งของคนชั้นกลางในรายได้ประชาชาติโดยรวมก็ตกต่ำลงด้วยในปี ค.ศ. ๑๙๘๐ ครัวเรือน ๖๐% ที่เป็นคนชั้นกลางมีรายได้คิดเป็น ๕๑.๗% ของรายได้ประชาชาติอเมริกัน แต่พอถึงปี ค.ศ. ๒๐๑๑ มันก็ลดลงเหลือไม่ถึงครึ่งหนึ่งของรายได้ประชาชาติ ขณะเดียวกันครัวเรือนอเมริกันที่รวยที่สุด ๒๐% แรกกลับมีรายได้เพิ่มขึ้น ๑๖% ในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้ส่วนแบ่งในรายได้ประชาชาติของพวกเขาเพิ่มขึ้นจาก ๔๔.๑% เป็น ๕๑.๑%
(ภาพประกอบ: การกระจายรายได้ในสหรัฐฯของผู้มีรายได้สูงสุด ๒๐% แรกและคนชั้นกลาง นับแต่คริสตทศวรรษ ๑๙๘๐ เป็นต้นมา)
 
3) ตำแหน่งงานที่อิงสหภาพแรงงานหดตัวลง
 
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้รายได้คนชั้นกลางอเมริกันลดน้อยถอยลงคือการหดลดลงของจำนวนคนงานที่กินอัตราเงินเดือนซึ่งสหภาพแรงงานต่อรองกับนายจ้างมาได้ ในปี ค.ศ. ๒๐๑๒ เงินเดือนมัธยฐาน(median) สำหรับคนงานสังกัดสหภาพแรงงานตกประมาณ ๔๙,๐๐๐ US$/ปี ขณะที่เงินเดือนมัธยฐานสำหรับคนงานไม่สังกัดสหภาพแรงงานอยู่ที่เกือบ ๓๙,๐๐๐ US$/ปี เท่านั้น อย่างไรก็ตาม นับแต่ปี ๑๙๘๓ เป็นต้นมา สัดส่วนประชากรที่สังกัดสหภาพแรงงานก็หดตัวลงจาก ๑ คนในคนงานทุก ๕ คน เหลือแค่มากกว่า ๑ คนในคนงานทุก ๑๐ คนเพียงเล็กน้อย
(ภาพประกอบ: สัดส่วนร้อยละของสมาชิกสหภาพแรงงานในกำลังแรงงานทั้งหมดนับแต่ปี ๑๙๘๓ -๒๐๑๒ และเปรียบเทียบรายได้เฉลี่ย/ปีของคนงานสังกัดกับไม่สังกัดสหภาพแรงงานในปี ๒๐๑๒)
 
4) คนงานที่หาได้แต่งาน part-time ทำไปไหนไม่รอดมีจำนวนเพิ่มขึ้น
 
ปัจจัยที่สองซึ่งถ่วงค่าจ้างไว้ไม่ให้เพิ่มขึ้นได้แก่การที่จำนวนชาวอเมริกันที่หาได้แต่งาน part-time ทำไปไหนไม่รอดมีจำนวนสูงขึ้น ในปี ค.ศ. ๒๐๑๒ คนอเมริกันกว่า ๒.๕ ล้านคนทำงาน part-time เพราะหาตำแหน่งงานเต็มเวลาไม่ได้ ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดนับแต่ปี ค.ศ. ๑๙๙๓ เป็นต้นมา
(ภาพประกอบ: จำนวนคนงานอเมริกันที่หาได้แต่งาน part-time ในช่วงปี ๑๙๘๐ - ๒๐๑๒ แถบสีจางบ่งบอกช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย)
 
5) บรรษัทข้ามชาติสัญชาติอเมริกันมีตำแหน่งงานให้ทำน้อยลง
 
ปัญหาที่ท้าทายผู้หางานทำในสหรัฐฯส่วนหนึ่งก็คือบรรษัทข้ามชาติสัญชาติอเมริกันจ้างงานคนในประเทศบ้านเกิดน้อยลงมาระยะหนึ่งแล้ว บริษัทใหญ่ยี่ห้อดังเหล่านี้จ้างคนงานอเมริกันราว ๑ ใน ๕ ของทั้งหมด แต่จากปี ค.ศ. ๑๙๙๙ - ๒๐๐๘ บริษัทเหล่านี้กลับพากันปลดลดคนงานในสหรัฐฯทิ้งไปราว ๒.๑ ล้านตำแหน่งขณะที่จ้างคนงานเพิ่มขึ้น ๒.๒ ล้านตำแหน่งในต่างประเทศที่ไปลงทุน
(ภาพประกอบ: ตำแหน่งงานที่สร้างโดยบรรษัทข้ามชาติอเมริกันเปรียบเทียบระหว่างในสหรัฐอเมริกากับต่างแดนระหว่างปีค.ศ. ๑๙๙๙ - ๒๐๐๘)
 
6) หนี้สินพอกพูน
 
ย่อมคาดเดาได้ว่าแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่เผชิญหน้าคนชั้นกลางอเมริกันดังกล่าวมาจะส่งผลให้ครัวเรือนของพวกเขาจมปลักหนี้สินดิ่งลึกลงไปอีก ในปี ค.ศ. ๑๙๙๒ ระดับหนี้มัธยฐานของครัวเรือนอเมริกัน ๑ ใน ๓ ที่มีฐานะปานกลางอยู่ที่ ๓๒,๒๐๐ US$ ทว่าพอถึงปี ค.ศ. ๒๐๑๐ ตัวเลขนั้นก็โป่งพองไปเป็น ๘๔,๐๐๐ US$ หรือเพิ่มขึ้นราว ๑๖๑%
(ภาพประกอบ: หนี้คนชั้นกลางอเมริกันจากปี ค.ศ. ๑๙๘๙ - ๒๐๑๐)
 
7) เงินออมครัวเรือนลดน้อยถอยลง
 
หนี้สินที่เพิ่มขึ้นย่อมหมายความว่าครัวเรือนน้อยลงมีปัญญาจะเก็บหอมรอมริบเงินไว้ใช้สำหรับยามเกษียณอายุหรือเป็นค่าเล่าเรียนของลูก ในปี ค.ศ. ๒๐๐๑ กว่า ๒ ใน ๓ ของครัวเรือนคนชั้นกลางอเมริกันแจ้งว่าพวกเขาสามารถออมเงินไว้ได้ในปีก่อนหน้านั้น ปรากฏว่าถึงปี ค.ศ. ๒๐๑๐ ตัวเลขดังกล่าวตกลงเหลือไม่ถึง ๕๕%
(ภาพประกอบ: ครัวเรือนมากน้อยแค่ไหนที่มีปัญญาออมเงิน? จากปีค.ศ. ๑๙๙๒ - ๒๐๑๐)
 
8) มูลค่าความมั่งคั่งสุทธิตกต่ำลง
 
ผลกระทบทั้งหมดทั้งมวลต่อมูลค่าความมั่งคั่งสุทธิของครัวเรือน (หรือนัยหนึ่งจำนวนสินทรัพย์ที่มากกว่าหนี้สินของครัวเรือน) เป็นที่ปวดร้าวยิ่ง ในปี ค.ศ. ๒๐๐๗ มูลค่าความมั่งคั่งสุทธิมัธยฐานของครัวเรือนอเมริกันถึบตัวขึ้นสูงสุดถึง ๑๒๐,๖๐๐ US$ และแล้วก็เกิดวิกฤตการเงินซับไพรม์ซึ่งส่งผลให้ชาวอเมริกันหลายล้านตกงานหรือถูกยึดบ้าน ถึงปี ค.ศ. ๒๐๑๐ มูลค่าความมั่งคั่งสุทธิมัธยฐานของครัวเรือนอเมริกันก็ตกต่ำลงถึง ๓๖% เหลือแค่ ๗๗,๓๐๐ US$
 
ลูกค้าผู้บริโภคที่จู่ ๆ ก็จนลง ๑ ใน ๓ หรือถดถอยกลับไปราวสิบปี อีกทั้งอาจตกงานและไร้บ้านของตัวเอง จะมีปัญญาซื้อสินค้าส่งออกจากเอเชียและไทยสักกี่มากน้อยกัน?
 
ฝันสลายของคนชั้นกลางอเมริกัน จึงย่อมเท่ากับฝันสลายของตลาดส่งออกใหญ่ของเอเชียและไทยรวมทั้งฝันสลายของตัวแบบเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก (East Asian Economic Model - EAEM) ที่ใช้การส่งออกเป็นพลังขับดันด้วย ฤๅมิใช่?
(ภาพประกอบ: มูลค่าความมั่งคั่งสุทธิของครัวเรือนอเมริกัน จากปีค.ศ. ๑๙๘๙ - ๒๐๑๐)
 
 

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
"ในฐานะผู้เคยทำการปฏิวัติด้วยความรุนแรง ผมใคร่บอกว่าเราต้องหาทางเจือผสมการปฏิวัติด้วยความไม่รุนแรงให้มากที่สุด เพราะเหตุใดน่ะหรือ? ก็เพราะว่าบรรดาไพร่ทาสราษฎรสามัญชนโดยทั่วไปนั้นหาได้มีอาวุธสงครามในมือเหมือนกลไกรัฐภายใต้การบังคับควบคุมของชนชั้นปกครองไม่.."    
เกษียร เตชะพีระ
กระบวนการเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์ดังที่เป็นอยู่ จึงก่อผลสำคัญด้านความเหลื่อมล้ำทางโภคทรัพย์ที่เป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย ไม่ใช่อุดหนุนเกื้อกูล, พลังประชาธิปไตยบนฐานอำนาจเสียงข้างมากของคนที่ขาดด้อยโภคทรัพย์ต้องหาทางคะคานถ่วงดุลอำนาจทุนมหาศาลของคนมั่งมีโภคทรัพย์เสียงข้างน้อยไว้ มิฉะนั้นประชาธิปไตยก็จะหมดความหมายในทางเป็นจริงไปในที่สุด
เกษียร เตชะพีระ
เฉพาะหนึ่งปีที่ผ่านมา รถยนต์ที่ขายในประเทศร่ำรวย อาทิ ญี่ปุ่นและอเมริกา กลับมียอดแซงหน้าในประเทศตลาดเกิดใหม่ จีนไม่ใช่ประเทศที่มีอัตรายอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นสูงสุดอีกต่อไป หากกลับเป็นไทย (ที่ ๖๐%!) และอินโดนีเซีย (ที่ ๓๕%) ในรอบปีที่ผ่านมา
เกษียร เตชะพีระ
ก้องกังวานสะท้านฟ้ามหาสมุทร ด้วยคลั่งแค้นแสนสุดประกาศกล้า เป็นแสนเสียงล้านเสียงมหาประชา สยบขวัญสั่นอุราเผด็จการ...
เกษียร เตชะพีระ
"ประชานิยม" "คนชั้นกลางนิยม" "คนรวยนิยม" "อำมาตย์นิยม" "ประชาธิปัตย์นิยม" "ม.๑๑๒ นิยม" "ราชบัณฑิตนิยม" "ยิ่งลักษณ์นิยม" "ทักษิณนิยม" "พันธมิตรนิยม" "นิติราษฎร์นิยม" "นิด้านิยม"