ถาม-ตอบกับคำถามประเมินความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้แค่ไหนอย่างไร, อะไรคือเงื่อนไขการเมืองที่รองรับการจัดการลักษณะนี้, จะมีรัฐประหารไหม และ แนะนำอะไรได้บ้างในสถานการณ์เฉพาะหน้านี้
ภาพประกอบจาก Anuthee Dejthevaporn
ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความเห็นกับอาจารย์ที่เคารพรักท่านหนึ่งเมื่อคืน คิดว่ามีประโยชน์จะมาเล่าสู่กันฟังบางประเด็นในรูปถาม-ตอบสมมุติ เพื่อง่ายแก่การประมวลประเด็น
๑) ประเมินความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้แค่ไหนอย่างไร?
- หากผู้ชุมนุมเคลื่อนตัวจากสวนลุมฯเข้าเขตประกาศใช้พรบ.มั่นคง อาจมีการใช้กำลังตำรวจเข้ายับยั้งในลักษณะตั้งรับขัดขวางไม่ให้เข้าเขตเหล่านั้นอย่างเหนียวแน่นเด็ดขาด ระดับความรุนแรงคงใกล้เคียงกับที่ตำรวจใช้กับม็อบเสธ.อ้ายเมื่อปีก่อน คือแก๊สน้ำตา โล่ห์ กระบอง ประมาณนั้น แล้วก็แจ้งข้อหาต่าง ๆ กับแกนนำการชุมนุมเพื่อสร้างเงื่อนไขกดดันและอาจนำไปสู่การจับกุมตัว แต่จะไม่เลยเถิดไปถึงขั้นที่เกิดขึ้นภายใต้ศอฉ.และรัฐบาลอภิสิทธิ์สมัยสลายการชุมนุมของนปช.ปี ๒๕๕๓ แน่นอน เพราะเงื่อนไขแตกต่างและต่างฝ่ายต่างก็เห็นและสรุปบทเรียนนั้นมา อย่างไรก็ตาม ฝ่ายผู้ชุมนุมก็คงเห็นตัวอย่าง คาดการณ์และเตรียมรับมือความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ระดับนั้นมาเช่นกัน นี่คือปัจจัยความเสี่ยงที่อาจเกิดเหตุเหนือคาดหมายได้
๒) อะไรคือเงื่อนไขการเมืองที่รองรับการจัดการลักษณะนี้?
- ความเห็นพ้องยอมรับของกลุ่มทุนธุรกิจต่าง ๆ และประชาชนทั่วไปที่เหนื่อยหน่ายเสียหายจากความขัดแย้งรุนแรงทางการเมืองหลายปีที่ผ่านมาไม่เลิกราไม่จบสักที รวมทั้งกลัวพลาดโอกาสการลงทุนขยายกิจการขนานใหญ่ที่จะมาพร้อมกับโครงการเมกะโปรเจคต์ลอจิสติกส์ ๒ ล้านล้านบาทของรัฐบาล เมื่อประกอบกับท่าทีของกลุ่มผู้ชุมนุมที่นับวันเรียกร้องอย่างสุดโต่งดื้อรั้น และใช้วิธีการอนาธิปไตยเดิม ๆ เพื่อนำไปสู่ความไม่มั่นคงทางการเมือง การแทรกแซงของอำนาจนอกระบบ/กองทัพ การล้มรัฐบาล โครงการลงทุนสะดุด ฯลฯ โดยเฉพาะการฉวยใช้วาทกรรมและสัญลักษณ์กองทัพ สงครามและคอมมิวนิสต์เดิมอย่างมักง่ายและข่มขวัญคุกคาม เหล่านี้เป็นฐานการยอมรับของกลุ่มพลังที่สำคัญในสังคมให้รัฐบาลยุติปัญหาดังกล่าวแม้จะด้วยกำลังในระดับหนึ่ง (consensual coercion)
ข้อเสนอสภาปฏิรูปการเมืองประเทศของรัฐบาลจึงอาจไม่สำคัญในแง่ประสิทธิผลหรือความคาดหวังบั้นปลายว่าจะนำไปสู่ข้อตกลงหรือแผนการอะไรใหญ่โตมากนัก ไม่ต่างจากข้อเสนอทำนองเดียวกันของรัฐบาลชุดอื่นก่อนหน้านี้ที่ไม่ค่อยผลิตการรอมชอมประนีประนอมจริงจังอะไรได้ นอกจากรายงานข้อเสนอแนะชุดเดียวที่เอาไว้อ่านแต่ไม่ค่อยมีใครหยิบไปทำอะไร ยิ่งกลุ่มการเมืองสำคัญบางกลุ่มไม่แสดงท่าทีอยากร่วมสังฆกรรมด้วย เช่น พธม., ประชาธิปัตย์ ก็ยิ่งเป็น futile exercise และ gesture มากกว่าอื่น
แต่นัยทางการเมืองเฉพาะหน้าของมันสำคัญ มันแปลว่ารัฐบาลกำลังพยายามดึง elites กลุ่มอื่นให้มาสนทนาหาทางออกทางการเมืองกัน เพื่อสร้างฉันทมติ (เสริมฉันทมติที่กะปลกกะเปลี้ยไปเพราะการบริหารจัดการผิดพลาดหลายเรื่องของรัฐบาลที่ผ่านมา) ให้แข็งแรงพอจะรองรับการผลักเศรษฐกิจครั้งใหญ่ด้วยโครงการเมกะโปรเจคต์ลอจิสติกส์และบริหารจัดการน้ำซึ่งสำคัญขั้นยุทธศาสตร์สำหรับรัฐบาลต่อไป และโดยวิธีการนั้นก็โดดเดี่ยวพวกหัวรั้นค้านไม่เลิกสุดโต่งบางกลุ่ม ให้ห่างออกมา เด่นชัดขึ้นมา เพื่อจัดการให้หยุดเสียที
บางทีแทนที่จะคาดหวังกับสภาปฏิรูปเพื่อวางแผนทางออกการเมืองใหญ่โตระดับประเทศ สิ่งที่กลุ่มพลังทางการเมืองต่าง ๆ ควรคุยกันเพื่อหาทางออกคือประเด็นรูปธรรมเฉพาะหน้าชัด ๆ เช่น หาทางเอาผู้ต้องหาการเมืองออกจากคุกดีไหมอย่างไร? จะให้กระบวนการหาความจริงและความยุติธรรมทางกฎหมายดำเนินไปอย่างไรโดยแฟร์กับทุกฝ่าย ไม่ยกเว้นวงเล็บความจริงและความยุติธรรมแก่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง? เป็นต้น
๓) จะมีรัฐประหารไหม?
- ไม่มีเงื่อนไข ไม่มีใครพร้อมทำ คนอยากให้มีหรือคิดจะสร้างเงื่อนไขให้มี ก็คงมีอยู่ เพราะกำลังอยู่ในสภาพ desperate ว่าหนทางเปลี่ยนการเมืองด้วยวิธีการนอกระบบงวดตัวปิดแคบลงทุกทีแล้ว และไม่เห็นมุขอื่น นอกจากชุมนุมแบบวางกรอบใหญ่โตแต่มวลชนและเงื่อนไขไม่พร้อม แล้วหวังผลักดันให้เกิดเงื่อนไขสุ่มเสี่ยงของการปะทะ เพื่อให้ “ทหารออกมา” ข้อที่น่าห่วงคือยิ่ง desperate มากขึ้น ก็จะยิ่งสุ่มเสี่ยงมากขึ้น คำนึงถึงชีวิตสวัสดิภาพของผู้ชุมนุมน้อยลงหรือเป็นรองเป้าหมายการเมืองใหญ่ เห็นพวกเขาเป็นไพร่พลที่คงต้องมีการเสียสละบ้าง (ในทางการรบ ทุกครั้งที่เข้าสมรภูมิคณะเสนาธิการจะแทงบัญชีว่าทหารอาจเสียไปได้สักเท่านั้น ๆ เปอร์เซนต์เสมอ เพื่อ “ชาติ” และ “ชัยชนะ”) จากนี้การตัดสินใจที่จะหลีกเลี่ยงเงื่อนไขสุ่มเสี่ยงที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมก็อาจไม่เกิดขึ้น
ในกระบวนการนี้ทั้งหมด การออกมาปลุกระดมด้วยถ้อยคำดุเดือดเลือดพล่านของแกนนำพรรคฝ่ายค้านในสภาน่าผิดหวังและอนาถใจที่สุด การผลักดันเรียกร้องให้ผู้คนไปสู้นอกสภา จากพรรคการเมืองที่เพิ่งก้าวลงจากการเป็นรัฐบาลที่มีการถูกเข่นฆ่าบาดเจ็บล้มตายของผู้ชุมนุมในการสลายการชุมนุมด้วยกำลังทหารติดอาวุธสงครามจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยไม่ยอมแสดงความรับผิดชอบใด ๆ ทางการเมือง นับว่าอัปลักษณ์ในทางการเมืองและศีลธรรมที่สุดแล้ว ในบรรดาคนทั้งหลายที่จะออกมาพูดชักชวนแบบนี้อย่างนี้ พวกเขามีสิทธิ์พูดน้อยที่สุด เพราะเพิ่งสั่งปราบปรามผู้คนจนตายกันเป็นเบือบนท้องถนนในนามการปกครองระบอบรัฐสภา แล้วก็มากลืนน้ำลายตัวเอง พร้อมจะปลุกคนไปสู้บนท้องถนนนอกสภาทั้งที่เพิ่งสั่งปราบการต่อสู้บนท้องถนนด้วยมือและปากตัวเองมา อันนี้เป็นการตกต่ำที่สุดทางการเมืองและจริยธรรมของพรรคการเมืองไทยแล้ว
๔) จะแนะนำอะไรได้บ้างในสถานการณ์เฉพาะหน้านี้?
- มีเหลือให้แนะนำน้อยมากเพราะตัวละครหน้าเก่าไม่สรุปบทเรียนที่ควรสรุป ดื้อรั้นทำซ้ำความผิดพลาดกันอีกเพื่อหวังชัยชนะของตนท่าเดียว โดยไม่แคร์ชีวิตผู้คน
แต่คงจะดีถ้า ๑) ต่อสู้กันในกรอบแนวทางรัฐสภาเป็นหลัก มากกว่าวิธีการอื่น และ ๒) เลิกใช้ชีวิตคนอื่นเป็นเครื่องมือในทางการเมืองเสียที ไม่ว่าเพื่อแย่งชิงอำนาจด้วยวิธีการนอกระบบ หรือรักษาอำนาจไว้ก็ตาม คนไทยตายกันมามากเกินพอแล้วหลายปีหลังนี้ แล้วแกนนำการชุมนุมทุกคนทุกครั้งรอดตัวทุกที ไม่แปลกใจหรือ?
บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ
เกษียร เตชะพีระ
"ในฐานะผู้เคยทำการปฏิวัติด้วยความรุนแรง ผมใคร่บอกว่าเราต้องหาทางเจือผสมการปฏิวัติด้วยความไม่รุนแรงให้มากที่สุด เพราะเหตุใดน่ะหรือ? ก็เพราะว่าบรรดาไพร่ทาสราษฎรสามัญชนโดยทั่วไปนั้นหาได้มีอาวุธสงครามในมือเหมือนกลไกรัฐภายใต้การบังคับควบคุมของชนชั้นปกครองไม่.."
เกษียร เตชะพีระ
กระบวนการเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์ดังที่เป็นอยู่ จึงก่อผลสำคัญด้านความเหลื่อมล้ำทางโภคทรัพย์ที่เป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย ไม่ใช่อุดหนุนเกื้อกูล, พลังประชาธิปไตยบนฐานอำนาจเสียงข้างมากของคนที่ขาดด้อยโภคทรัพย์ต้องหาทางคะคานถ่วงดุลอำนาจทุนมหาศาลของคนมั่งมีโภคทรัพย์เสียงข้างน้อยไว้ มิฉะนั้นประชาธิปไตยก็จะหมดความหมายในทางเป็นจริงไปในที่สุด
เกษียร เตชะพีระ
เฉพาะหนึ่งปีที่ผ่านมา รถยนต์ที่ขายในประเทศร่ำรวย อาทิ ญี่ปุ่นและอเมริกา กลับมียอดแซงหน้าในประเทศตลาดเกิดใหม่ จีนไม่ใช่ประเทศที่มีอัตรายอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นสูงสุดอีกต่อไป หากกลับเป็นไทย (ที่ ๖๐%!) และอินโดนีเซีย (ที่ ๓๕%) ในรอบปีที่ผ่านมา
เกษียร เตชะพีระ
ก้องกังวานสะท้านฟ้ามหาสมุทร ด้วยคลั่งแค้นแสนสุดประกาศกล้า เป็นแสนเสียงล้านเสียงมหาประชา สยบขวัญสั่นอุราเผด็จการ...
เกษียร เตชะพีระ
"ประชานิยม" "คนชั้นกลางนิยม" "คนรวยนิยม" "อำมาตย์นิยม" "ประชาธิปัตย์นิยม" "ม.๑๑๒ นิยม" "ราชบัณฑิตนิยม" "ยิ่งลักษณ์นิยม" "ทักษิณนิยม" "พันธมิตรนิยม" "นิติราษฎร์นิยม" "นิด้านิยม"