Skip to main content
ถาม-ตอบกับคำถามประเมินความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้แค่ไหนอย่างไร, อะไรคือเงื่อนไขการเมืองที่รองรับการจัดการลักษณะนี้, จะมีรัฐประหารไหม และ แนะนำอะไรได้บ้างในสถานการณ์เฉพาะหน้านี้
ภาพประกอบจาก Anuthee Dejthevaporn
 
ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความเห็นกับอาจารย์ที่เคารพรักท่านหนึ่งเมื่อคืน คิดว่ามีประโยชน์จะมาเล่าสู่กันฟังบางประเด็นในรูปถาม-ตอบสมมุติ เพื่อง่ายแก่การประมวลประเด็น
 
๑) ประเมินความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้แค่ไหนอย่างไร?
- หากผู้ชุมนุมเคลื่อนตัวจากสวนลุมฯเข้าเขตประกาศใช้พรบ.มั่นคง อาจมีการใช้กำลังตำรวจเข้ายับยั้งในลักษณะตั้งรับขัดขวางไม่ให้เข้าเขตเหล่านั้นอย่างเหนียวแน่นเด็ดขาด ระดับความรุนแรงคงใกล้เคียงกับที่ตำรวจใช้กับม็อบเสธ.อ้ายเมื่อปีก่อน คือแก๊สน้ำตา โล่ห์ กระบอง ประมาณนั้น แล้วก็แจ้งข้อหาต่าง ๆ กับแกนนำการชุมนุมเพื่อสร้างเงื่อนไขกดดันและอาจนำไปสู่การจับกุมตัว แต่จะไม่เลยเถิดไปถึงขั้นที่เกิดขึ้นภายใต้ศอฉ.และรัฐบาลอภิสิทธิ์สมัยสลายการชุมนุมของนปช.ปี ๒๕๕๓ แน่นอน เพราะเงื่อนไขแตกต่างและต่างฝ่ายต่างก็เห็นและสรุปบทเรียนนั้นมา อย่างไรก็ตาม ฝ่ายผู้ชุมนุมก็คงเห็นตัวอย่าง คาดการณ์และเตรียมรับมือความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ระดับนั้นมาเช่นกัน นี่คือปัจจัยความเสี่ยงที่อาจเกิดเหตุเหนือคาดหมายได้
 
๒) อะไรคือเงื่อนไขการเมืองที่รองรับการจัดการลักษณะนี้?
- ความเห็นพ้องยอมรับของกลุ่มทุนธุรกิจต่าง ๆ และประชาชนทั่วไปที่เหนื่อยหน่ายเสียหายจากความขัดแย้งรุนแรงทางการเมืองหลายปีที่ผ่านมาไม่เลิกราไม่จบสักที รวมทั้งกลัวพลาดโอกาสการลงทุนขยายกิจการขนานใหญ่ที่จะมาพร้อมกับโครงการเมกะโปรเจคต์ลอจิสติกส์ ๒ ล้านล้านบาทของรัฐบาล เมื่อประกอบกับท่าทีของกลุ่มผู้ชุมนุมที่นับวันเรียกร้องอย่างสุดโต่งดื้อรั้น และใช้วิธีการอนาธิปไตยเดิม ๆ เพื่อนำไปสู่ความไม่มั่นคงทางการเมือง การแทรกแซงของอำนาจนอกระบบ/กองทัพ การล้มรัฐบาล โครงการลงทุนสะดุด ฯลฯ โดยเฉพาะการฉวยใช้วาทกรรมและสัญลักษณ์กองทัพ สงครามและคอมมิวนิสต์เดิมอย่างมักง่ายและข่มขวัญคุกคาม เหล่านี้เป็นฐานการยอมรับของกลุ่มพลังที่สำคัญในสังคมให้รัฐบาลยุติปัญหาดังกล่าวแม้จะด้วยกำลังในระดับหนึ่ง (consensual coercion)
 
ข้อเสนอสภาปฏิรูปการเมืองประเทศของรัฐบาลจึงอาจไม่สำคัญในแง่ประสิทธิผลหรือความคาดหวังบั้นปลายว่าจะนำไปสู่ข้อตกลงหรือแผนการอะไรใหญ่โตมากนัก ไม่ต่างจากข้อเสนอทำนองเดียวกันของรัฐบาลชุดอื่นก่อนหน้านี้ที่ไม่ค่อยผลิตการรอมชอมประนีประนอมจริงจังอะไรได้ นอกจากรายงานข้อเสนอแนะชุดเดียวที่เอาไว้อ่านแต่ไม่ค่อยมีใครหยิบไปทำอะไร ยิ่งกลุ่มการเมืองสำคัญบางกลุ่มไม่แสดงท่าทีอยากร่วมสังฆกรรมด้วย เช่น พธม., ประชาธิปัตย์ ก็ยิ่งเป็น futile exercise และ gesture มากกว่าอื่น
 
แต่นัยทางการเมืองเฉพาะหน้าของมันสำคัญ มันแปลว่ารัฐบาลกำลังพยายามดึง elites กลุ่มอื่นให้มาสนทนาหาทางออกทางการเมืองกัน เพื่อสร้างฉันทมติ (เสริมฉันทมติที่กะปลกกะเปลี้ยไปเพราะการบริหารจัดการผิดพลาดหลายเรื่องของรัฐบาลที่ผ่านมา) ให้แข็งแรงพอจะรองรับการผลักเศรษฐกิจครั้งใหญ่ด้วยโครงการเมกะโปรเจคต์ลอจิสติกส์และบริหารจัดการน้ำซึ่งสำคัญขั้นยุทธศาสตร์สำหรับรัฐบาลต่อไป และโดยวิธีการนั้นก็โดดเดี่ยวพวกหัวรั้นค้านไม่เลิกสุดโต่งบางกลุ่ม ให้ห่างออกมา เด่นชัดขึ้นมา เพื่อจัดการให้หยุดเสียที
 
บางทีแทนที่จะคาดหวังกับสภาปฏิรูปเพื่อวางแผนทางออกการเมืองใหญ่โตระดับประเทศ สิ่งที่กลุ่มพลังทางการเมืองต่าง ๆ ควรคุยกันเพื่อหาทางออกคือประเด็นรูปธรรมเฉพาะหน้าชัด ๆ เช่น หาทางเอาผู้ต้องหาการเมืองออกจากคุกดีไหมอย่างไร? จะให้กระบวนการหาความจริงและความยุติธรรมทางกฎหมายดำเนินไปอย่างไรโดยแฟร์กับทุกฝ่าย ไม่ยกเว้นวงเล็บความจริงและความยุติธรรมแก่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง? เป็นต้น
 
๓) จะมีรัฐประหารไหม?
- ไม่มีเงื่อนไข ไม่มีใครพร้อมทำ คนอยากให้มีหรือคิดจะสร้างเงื่อนไขให้มี ก็คงมีอยู่ เพราะกำลังอยู่ในสภาพ desperate ว่าหนทางเปลี่ยนการเมืองด้วยวิธีการนอกระบบงวดตัวปิดแคบลงทุกทีแล้ว และไม่เห็นมุขอื่น นอกจากชุมนุมแบบวางกรอบใหญ่โตแต่มวลชนและเงื่อนไขไม่พร้อม แล้วหวังผลักดันให้เกิดเงื่อนไขสุ่มเสี่ยงของการปะทะ เพื่อให้ “ทหารออกมา” ข้อที่น่าห่วงคือยิ่ง desperate มากขึ้น ก็จะยิ่งสุ่มเสี่ยงมากขึ้น คำนึงถึงชีวิตสวัสดิภาพของผู้ชุมนุมน้อยลงหรือเป็นรองเป้าหมายการเมืองใหญ่ เห็นพวกเขาเป็นไพร่พลที่คงต้องมีการเสียสละบ้าง (ในทางการรบ ทุกครั้งที่เข้าสมรภูมิคณะเสนาธิการจะแทงบัญชีว่าทหารอาจเสียไปได้สักเท่านั้น ๆ เปอร์เซนต์เสมอ เพื่อ “ชาติ” และ “ชัยชนะ”) จากนี้การตัดสินใจที่จะหลีกเลี่ยงเงื่อนไขสุ่มเสี่ยงที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมก็อาจไม่เกิดขึ้น
 
ในกระบวนการนี้ทั้งหมด การออกมาปลุกระดมด้วยถ้อยคำดุเดือดเลือดพล่านของแกนนำพรรคฝ่ายค้านในสภาน่าผิดหวังและอนาถใจที่สุด การผลักดันเรียกร้องให้ผู้คนไปสู้นอกสภา จากพรรคการเมืองที่เพิ่งก้าวลงจากการเป็นรัฐบาลที่มีการถูกเข่นฆ่าบาดเจ็บล้มตายของผู้ชุมนุมในการสลายการชุมนุมด้วยกำลังทหารติดอาวุธสงครามจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยไม่ยอมแสดงความรับผิดชอบใด ๆ ทางการเมือง นับว่าอัปลักษณ์ในทางการเมืองและศีลธรรมที่สุดแล้ว ในบรรดาคนทั้งหลายที่จะออกมาพูดชักชวนแบบนี้อย่างนี้ พวกเขามีสิทธิ์พูดน้อยที่สุด เพราะเพิ่งสั่งปราบปรามผู้คนจนตายกันเป็นเบือบนท้องถนนในนามการปกครองระบอบรัฐสภา แล้วก็มากลืนน้ำลายตัวเอง พร้อมจะปลุกคนไปสู้บนท้องถนนนอกสภาทั้งที่เพิ่งสั่งปราบการต่อสู้บนท้องถนนด้วยมือและปากตัวเองมา อันนี้เป็นการตกต่ำที่สุดทางการเมืองและจริยธรรมของพรรคการเมืองไทยแล้ว
 
๔) จะแนะนำอะไรได้บ้างในสถานการณ์เฉพาะหน้านี้?
- มีเหลือให้แนะนำน้อยมากเพราะตัวละครหน้าเก่าไม่สรุปบทเรียนที่ควรสรุป ดื้อรั้นทำซ้ำความผิดพลาดกันอีกเพื่อหวังชัยชนะของตนท่าเดียว โดยไม่แคร์ชีวิตผู้คน
 
แต่คงจะดีถ้า ๑) ต่อสู้กันในกรอบแนวทางรัฐสภาเป็นหลัก มากกว่าวิธีการอื่น และ ๒) เลิกใช้ชีวิตคนอื่นเป็นเครื่องมือในทางการเมืองเสียที ไม่ว่าเพื่อแย่งชิงอำนาจด้วยวิธีการนอกระบบ หรือรักษาอำนาจไว้ก็ตาม คนไทยตายกันมามากเกินพอแล้วหลายปีหลังนี้ แล้วแกนนำการชุมนุมทุกคนทุกครั้งรอดตัวทุกที ไม่แปลกใจหรือ?

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
จาก "บทอาเศียรวาทของมติชน" ถึง "กาแฟลวกมือของ "ทราย เจริญปุระ" สู้ "การิทัตผจญภัย" นิยายปรัชญาการเมืองที่ตอนหนึ่งกล่าวถึงลักษณะของชุมชนนครหนึ่ง ที่ "เจตนาของผู้พูดผู้แต่งไม่สำคัญ ยึดเอาการตีความของผู้อ่านผู้ฟังเป็นสรณะ แล้วตัดสินวินิจฉัยตามนั้นเลย"
เกษียร เตชะพีระ
คำอธิบายของสายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิคกรณีดำเนินการกับพนักงานที่โพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดีย: ประเด็นไม่ใช่สีไหน แต่คือกระทำอะไร (Professionalism, not ideology, is the issue.) และตรรกะเบื้องหลังวิธีคิดและการกระทำสุดโต่งทางการเมือง
เกษียร เตชะพีระ
ข้ออ้างคำโตแค่ว่าตลาดข้าวหรือตลาดสินค้า/บริการด้านใดด้านหนึ่งเป็นระเบียบศักดิ์สิทธิ์ ห้ามรัฐยุ่งเกี่ยวแตะต้องสภาพดังที่เป็นอยู่ อันเป็นข้อถกเถียงแบบฉบับของเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมกระแสหลักที่ระแวงการเมือง เกลียดรัฐแทรกแซง แบบตายตัวบ้องตื้นนั้น ฟังไม่ขึ้น มิพักต้องยกมากรอกหูอีกต่อไป
เกษียร เตชะพีระ
ไม่มีประชาธิปไตยแน่ ๆ คือสภาตรายางและการเลือกตั้งที่มีเก๊ทั้งนั้น หลังฉากจัดตั้งของพรรคคุมเข้มตลอด, ประชาชนลำบากเดือดร้อนก็หาทางประท้วงต่อต้านนโยบายรัฐลำบาก การรอนสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนของประชาชนหนักข้อมาก และไม่มีหลักนิติรัฐครับ ยืนยันได้ว่าไม่มี เพราะพรรคอยู่เหนือศาลและอยู่เหนือความพร้อมรับผิดทางการเมืองและกฎหมาย
เกษียร เตชะพีระ
ความสัมพันธ์อันมั่นคงยืนนานตั้งอยู่บนความรักโดยสมัครใจ ซึ่งกว่าจะได้มาก็ใช้เวลายาวนานในการปลูกสร้างสั่งสมจนเชื่อมั่นไว้วางใจกัน เพราะได้ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเกื้อกูลอุปถัมภ์กันในยามยากและยามคับขัน ให้อภัยกันในยามหลุดปากพลั้งมือผิดพลาดต่อกัน ต่างฝ่ายต่างเข้าใจว่าเราตั้งใจจะคงความสัมพันธ์นี้ต่อไปและเราจะอยู่ด้วยกันอย่างยาวนานได้ก็ด้วยการปฏิบัติต่อกันเยี่ยงนี้
เกษียร เตชะพีระ
"..ทุกสังคมมีพลังฝ่ายขวา ผมอยากให้เขาอยู่และรวมกลุ่มต่อสู้รณรงค์ในระบอบรัฐสภาครับ ถึงตอนนั้นเป็นไปได้ว่าเขาจะมีข้อเสนอเชิงนโยบายที่เข้มแข็งกว่านี้ แต่ตอนนี้เขากลายเป็น outlet สำหรับสารพัดความอึดอัดไม่พอใจรัฐบาล แต่ไม่รู้จะสู้ในระบบอย่างไร.."
เกษียร เตชะพีระ
วิธีคิดที่เหมารวมการวิพากษ์วิจารณ์ทุกอย่างว่าเป็น hate speech นั้นไม่ต่างจากวิธีคิดของคนจำนวนมากในสังคมไทยต่อกฎหมายม. ๑๑๒ คือไม่สามารถแยกแยะระหว่าง วิพากษ์วิจารณ์ กับ ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย เลย ถ้าเราเริ่มคิดแบบนั้น เราก็กำลังเดินตรรกะเดียวกับผู้จงรักภักดีที่ไม่อาจแยกแยะแบบนั้นได้ น่าแปลกใจไหมครับ?
เกษียร เตชะพีระ
ตกลงประชาชนมีดุลพินิจถ่องแท้เที่ยงธรรม หรือ อ่อนเปราะพลิ้วไหวถูกคนอื่นชักจูงให้รังแกข่มเหงคนอื่นด้วยอคติกันแน่?
เกษียร เตชะพีระ
บางทีที่น่ากลัวที่สุดไม่เพียงแต่เป็น hate speech แต่รวมทั้ง love speech ด้วย อะไรที่สุดโต่งและไม่ฟังไม่ยับยั้งชั่งใจ คิดว่า สิ่งนี้ สำคัญ กว่าชีวิตคน น่ากลัวทั้งนั้น ไม่ว่ามันจะมาในนามอะไร? ความจงรักภักดี, สิทธิเสรีภาพ, ประชาธิปไตย, สิ่งศักดิ์สิทธิ์ คำเหล่านี้ใช้เป่าคาถาฆ่าคนมาแล้วทั้งนั้น ไม่มีคำไหนไม่เปื้อนเลือด คำถามจึงไม่ใช่แค่กำจัดคำ แต่จะทำอย่างไรให้เงื่อนไขการใช้คำฆ่าคน น้อยลง
เกษียร เตชะพีระ
..ในสังคมสาธารณ์ที่ความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ถูกบ่อนทำลายลงจากความรู้สมัยใหม่ทางวิทยาศาสตร์ทุกวี่วัน พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์กลับเพิ่มพูนขยายตัวออกไปเรื่อย ๆ และในทางกลับกัน พื้นที่เหล่านั้นก็กลับสาธารณ์หรือเสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ลงทุกทีเหมือนกัน..
เกษียร เตชะพีระ
คนเพิ่งอพยพจากชนบทเข้าเมืองไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนสำมะโนครัวประชากรทางการ ทำให้เข้าถึงบริการพื้นฐานของรัฐ เช่น น้ำประปา, สาธารณสุข, โรงเรียน ยาก คนที่รายได้ไม่เข้าเกณฑ์ทางการ (ต่ำไม่พอ) ทำให้ไม่มีสิทธิ์ลงชื่อในทะเบียนคนจน ก็เลยพลอยไม่ได้สวัสดิการสำหรับคนจนของรัฐไปด้วย
เกษียร เตชะพีระ
...สันติวิธีหรือปฏิบัติการไม่รุนแรงเป็นวิธีการต่อสู้ที่มีประสิทธิภาพไม่น้อยกว่าความรุนแรง และมีคุณค่าทางจริยธรรมในตัว สมควรได้รับการพิจารณาสำหรับผู้ต้องการต่อสู้ทางการเมือง ไม่ว่าเพื่อเป้าหมายใดก็ตาม