จาก "บทอาเศียรวาทของมติชน" ถึง "กาแฟลวกมือของ "ทราย เจริญปุระ" สู้ "การิทัตผจญภัย" นิยายปรัชญาการเมืองที่ตอนหนึ่งกล่าวถึงลักษณะของชุมชนนครหนึ่ง ที่ "เจตนาของผู้พูดผู้แต่งไม่สำคัญ ยึดเอาการตีความของผู้อ่านผู้ฟังเป็นสรณะ แล้วตัดสินวินิจฉัยตามนั้นเลย"
ข่าวคราววันสองวันนี้ทำให้ผมนึกถึงตอนหนึ่งของนิยายปรัชญาการเมืองเรื่องการิทัตผจญภัย.....
การิทัตตั้งข้อสังเกตหลังจากออกจากประโยชน์นคร (ซึ่งเน้นหลักประโยชน์สุขสูงสุดของคนจำนวนมากที่สุด) มาแล้วไปได้กลิ่น อาหารนานาชาติบนท้องถนนชุมชนนครว่า ประโยชน์นครนั้นปลอดกลิ่น เพราะทำแต่อาหารบำรุงสุขภาพแต่กลิ่นรสไม่เอาไหน เช่น สลัดผักเซเลรี่และขนมปังโฮลวีต
ทว่าหากดูจากประสบการณ์ที่เขาเผชิญต่อมาในชุมชนนครอันเต็มไปด้วยเอกลักษณ์ชุมชนหลายหลากมากมาย แต่ละเอกลักษณ์ก็ถือหลัก "ของใครของมัน" และ "เคารพกันและกัน" และ "ห้ามก้าวร้าวล่วงเกิน" แต่ละชุมชนคอยหวาดระแวงตลอดเวลาว่าใครจะมาดูหมิ่นเอกลักษณ์ของตัว รวมทั้งถือสาเรื่องลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ขนาด "ริบเอกลักษณ์ทางสังคมและร่างกายกัน" เลยแล้ว
ก็คงต้องสรุปว่าชุมชนนครนั้นปลอดเสียง ไม่มีใครกล้าเอ่ยปากสนทนาปราศรัยกับใครมากความ มิพักต้องพูดถึงการวิพากษ์วิจารณ์ เพราะกลัวจะผิด "ประมวลกฎการพูด" หรือไปก้าวร้าวล่วงเกินลบหลู่ดูหมิ่นเอกลักษณ์ใครเข้าโดยไม่เจตนา
และในชุมชนนครนั้น เจตนาของผู้พูดผู้แต่งไม่สำคัญ ยึดเอาการตีความของผู้อ่านผู้ฟังเป็นสรณะ แล้วตัดสินวินิจฉัยตามนั้นเลย!