“พายเรือในอ่างที่กำลังรั่ว”: วิพากษ์ข้อเสนอหลักของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

29 December, 2014 - 15:44 -- kasian

ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ให้นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสังกัดพรรคการเมือง, ส.ส. มาจากระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม คือเป็นส.ส.แบ่งเขต ๒๕๐ คน และส.ส.แบบสัดส่วน ๒๐๐ คนโดยให้มีเขตเลือกตั้งสำหรับ ส.ส. แบบสัดส่วนเป็น ๘ กลุ่มจังหวัดตามภูมิภาค, และส.ว.ไม่เกิน ๒๐๐ คนมาจากการแต่งตั้งและคัดสรร ไม่ใช่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง นั้น

อุปมาอุปไมยได้ดั่ง “พายเรือในอ่างที่กำลังรั่ว” และสะท้อนวิกฤตจินตนาการทางการเมืองของตัวแทนชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม/ปฏิกิริยาของไทย

สรุปก็คือไม่มีอะไรใหม่ ไม่ได้ไปเกินกว่าที่เคยพยายามทำมาแล้วตามรัฐธรรมนูญ คสช. พ.ศ. ๒๕๕๐ และระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบเมื่อสามสิบปีก่อน

เนื้อแท้ของข้อเสนอเหล่านี้คืออะไร? ผมคิดว่ามี ๓ ประการด้วยกัน กล่าวคือ

๑) ทำให้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารอ่อนแอลง เพราะตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนี่แหละที่เป็นหัวหาดของการเข้ายึดและควบคุมอำนาจรัฐจากพลังที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเสียงข้างมาก

๒) ด้วยการทำให้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตกเป็นตัวประกันทางอำนาจต่อรองกำกับควบคุมของบรรดาสถาบันและองค์การทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากเสียงข้างมากทั้งหลาย (non-majoritarian institutions) หรือที่เรียกกันว่า “อำมาตย์”

๓) และบ่อนเบียนจำกัดโอกาสความเป็นไปได้ในการสร้างแกนนำทางการเมืองระดับชาติอันเป็นทางเลือกที่อาจมาจากพรรคการเมือง และต่างหากออกไปจากระบบราชการประจำ

หลัก ๆ แล้วเป้าหมายทั้งหมดมีแค่นี้ ซึ่งล้วนแต่พิสูจน์ตัวมันเองว่าล้มเหลวในการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองของสังคมไทยในระยะสิบปีที่ผ่านมาแล้วทั้งสิ้น และไม่ได้เป็นที่ยอมรับนับถือของกลุ่มพลังยุทธศาสตร์ใหม่ที่ปรากฎตัวขึ้น

ชะตากรรมเบื้องหน้าของร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “พายเรือในอ่างที่กำลังรั่ว” จึงเป็นที่คาดเดาได้

อันที่จริง ผมไม่คิดว่าเป็นภาระของผมที่ควรจะมาถกเสนออะไรเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีปัญหาความชอบธรรมแต่ต้น เพราะอำนาจปฐมสถาปนาในการร่างรัฐธรรมนูญ (pourvoir constituant originaire) ที่ชอบธรรมต้องมาจากประชาชนแหล่งเดียวเท่านั้น ไม่ใช่แหล่งอื่น อย่างไรก็ตาม ถ้าจะถามถึงเกณฑ์ประเมิน (benchmark) ของผมในการหาทางออกเรื่องกฎกติกาบ้านเมืองเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งในสังคมการเมืองไทยและปกป้องระบอบเสรีประชาธิปไตยไว้แล้ว ผมคิดว่ามีหลัก ๔ ประการคือ:

๑) ธำรงรักษาและขยายพื้นที่สิทธิเสรีภาพ

๒) ธำรงรักษาและขยายพื้นที่ประชาธิปไตย

๓) ไม่ดึงเอาสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาเกี่ยวพันกับความขัดแย้งทางการเมือง

๔) ไม่ดึงสถาบันกองทัพแห่งชาติเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง

สรุปก็คือถือรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๔๐ เป็นหลักหมาย ไม่ถอยหลังไปกว่านั้นในแง่ต่าง ๆ ทั้ง ๔ ที่กล่าวมา แล้วหาทางปรับปรุงติดตั้งกลไกสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยทางตรงต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการฉวยใช้อำนาจเสียงข้างมากที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาไปในทางมิชอบ (เช่น ร่างพรบ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง) และปัญหาการเคลื่อนไหวอนาธิปไตยนอกระบบสถาบันการเมืองของเสียงข้างน้อย (เช่น กปปส.)

 

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเฟซบุ๊ก ‘Kasian Tejapira’ 28 ธ.ค.2557

ดาวดินเกรดไม่ดี

6 July, 2015 - 15:49 -- kasian

ปม ‘พล.ท.นันทเดช’ นำเสนอเกรดของ 7 นักศึกษา 'ดาวดิน' ระบุเกรดไม่ดี จวกไม่เคยคิดเรียน ‘เกษียร’ สวนชกเด็กใต้เข็มขัด ชี้ไม่ควรลืมว่า ‘Steve Jobs’ ก็เรียนไม่จบ ระบุสำหรับนักศึกษาที่ทำกิจกรรม การเรียนย่อมได้รับผลกระทบบ้างเป็นธรรมดา

สรุปรายงาน Freedom in the World 2015 โดยภาพรวม

1 February, 2015 - 13:21 -- kasian

รายงานของ Freedom House ชี้ ปี 2014 เป็น “ปีที่หม่นหมองเป็นพิเศษ” เกิดการปะทุของการก่อการร้ายรุนแรงและยุทธวิธีที่ก้าวร้าวทั่วโลก ระบุตะวันออกกลางสูญเสียเสรีภาพชัดเจนสุด พร้อมฟันธงว่าความผิดพลาดใหญ่ที่สุดที่ระบอบประชาธิปไตยจะทำลงไปคือการยอมรับความคิดว่าไม่มีปัญญาจะทำอะไรได้เมื่อเผชิญกับจอมเผด็จการที่ใช้กำลังหรือข่มขู่คุกคาม กลับเป็นปุถุชนพลเมืองสามัญต่างหากผู้พร้อมจะลุกขึ้นมาท้าทายผู้ปกครองเหล่านี้

เนื้อแท้ของร่างพรบ.คอมพิวเตอร์ใหม่ในมุมมองหลักนิติธรรม

17 January, 2015 - 17:13 -- kasian

"มาตรา 10 ของ ร่าง พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ ขยายอำนาจการดักจับ แฮ็กบัญชี ยึดคอมพิวเตอร์ แฮ็กระบบ อันนี้คือขยายอำนาจของเจ้าหน้าที่ จากที่เคยต้องขอหมายศาล พรบ. แก้ใหม่ ไม่ต้องขอหมายศาล ทำได้เลย แล้วคนพวกนี้เป็นใคร ไม่รู้" จอห์น วิญญู กล่าวในรายงานเจาะข่าวตื้น ผมเห็นด้วยกับคุณจอห์น วิญญู และชอสนับสนุนด้วยข้อถกเถียงจากมุมมองหลักนิติธรรม (the rule of law)