สำหรับผมและเพื่อนพ้อง “คนเดือนตุลา” จำนวนหนึ่ง รัฐประหาร ๒๒ พ.ค. ที่ผ่านมาเป็นเรื่องน่าเศร้าเสียใจยิ่ง
ไม่คิดว่าหลังผ่านเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงรุนแรงทางการเมืองต่าง ๆ ในชีวิตมา ไม่ว่า ๑๔ ตุลาฯ ๒๕๑๖และ ๖ ตุลาฯ ๒๕๑๙, สงครามประชาชนในเขตชนบทป่าเขา, พฤษภามหาโหด ๒๕๓๕, เมษา-พฤษภาอำมหิต ๒๕๕๓..... บาดแผลร่องรอยความเจ็บปวดสูญเสียระเกะระกะเกลื่อนกลาดสั่งสมทับซ้อนอยู่ในความทรงจำ มากมาย ประเทศไทยอันเป็นที่รักยังต้องเผชิญพบรัฐประหารอีกครั้งหนึ่งในวัยบั้นปลายร่วงโรยของพวกเรา นี่จะเป็นครั้งสุดท้ายในช่วงชีวิตเราไหม? ข้างหน้านี้ เราจะไปไหนกัน?
บางขณะจิต ผมก็เหลือบเห็นความสมเหตุสมผลของอารมณ์หลักซึ่งป่าวร้องสนับสนุนโดยโธมัส ฮ๊อบส์ นักปรัชญาการเมืองชาวอังกฤษ (ค.ศ. ๑๕๘๘ – ๑๖๗๙) ผู้ยึดถือหลักปัจเจกนิยมเสรีสุดโต่ง เกลียด สงครามกลางเมืองจนพร้อมหันไปสนับสนุนรัฏฐาธิปัตย์สัมบูรณาญาสิทธิ์หรือ Leviathan เพื่อให้บ้านเมืองสงบ ที่ว่า:
“รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี”, “บ้านเมืองไม่ใช่ของกูคนเดียว”, และ “ใครรักชาติมาก คนนั้นตายก่อน เพื่อน” แต่เผอิญทำใจไม่ได้ นึกละอายผีเพื่อนและสหายที่เสียสละไป
ระหว่างอึด ๆ อัด ๆ เหงา ๆ เคว้ง ๆ ผมหยิบนิยายสืบสวนสอบสวนชุดที่เพื่อนนักวิชาการชาวเยอรมันผู้เชี่ยวชาญเวียดนามแนะนำให้รู้จักนานแล้วมาอ่านแก้เซ็ง มันเขียนโดยโคลิน คอตเตอริล ครูและนักเขียนนักวาด การ์ตูนชาวอังกฤษที่ย้ายมาตั้งหลักแหล่งอยู่เมืองไทย ที่น่าสนใจคือเขาสมมุตินามตามท้องเรื่องให้ตัวเอก ดร. สิริ ไพบูลย์ เป็นหมอปฏิวัติชาวลาวเรียนจบฝรั่งเศส ที่หลังขบวนการปะเทดลาว “ปลดปล่อย” ราชอาณาจักรลาวได้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ แล้ว เขาก็รับหน้าที่เป็นหมอชันสูตรพลิกศพคนเดียวที่เหลืออยู่ของระบอบใหม่ (เพราะ บรรดาหมอและนักเทคนิควิชาชีพทั้งหลายพากันเผ่นหนีข้ามแม่น้ำโขงไปฝั่งไทยเกือบหมด) และเล่นบทเป็น Jules Maigret สารวัตรนักสืบสวนสอบสวนไขปมคดีฆาตกรรมชาวฝรั่งเศสในนิยายชื่อดังของ Georges Simenon ไปด้วย นิยายชุดนี้อ่านสนุกตรงฉากและท้องเรื่องที่เกิดในลาว ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ การเมืองภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์เกิดใหม่ที่สะท้อนออกมาในนิยาย และบุคลิกภาพอันโดดเด่นของ ดร.สิริตัวเอก ซึ่งแก่หง่อมอายุร่วม ๗๐ ปีแล้ว แต่มีจิตใจอิสระและอารมณ์ขัน กล้าคิดกล้าทำแบบแหกคอกสร้างสรรค์ ไม่ก้มหัวให้อำนาจ บาตรใหญ่ ที่ฉ้อฉลอวดเบ่งข่มเหงรังแก ออกจะเสรีตามอารมณ์ แต่ก็มีมนุษยธรรมและน้ำใจให้ผู้ยากไร้อ่อนแอ เป็นซ้าย อิสระที่รักชาติในพรรค ตื่นรู้จากมายาคติของลัทธิอุดมการณ์ อกหักกับความเสื่อมถอยหลงอำนาจกลายเป็น ระบบราชการเหินห่างมวลชนและอ่อนข้อให้มหาอำนาจคอมมิวนิสต์ต่างชาติของพรรค แต่ก็ตัดใจทิ้งพรรค ทิ้ง ประเทศชาติและมวลชนคนลาวไม่ลง
โคลิน คอตเตอริล นักเขียนนิยายสืบสวนสอบสวนและนักวาดการ์ตูนชาวอังกฤษผู้ตั้งภูมิลำเนาอยู่ในไทย กับนิยายเรื่อง “อนาธิปไตยกับหมาแก่” (ค.ศ. ๒๐๐๗) ในชุด ดร. สิริ ไพบูลย์ ของเขา
ในบทที่ ๑๖ ของนิยายชุด ดร. สิริ ไพบูลย์ เล่มที่ ๔ เรื่อง “อนาธิปไตยกับหมาแก่” ชื่อบทว่า “ลืมดาวเคราะห์ซะ กู้สวนดีกว่า” มีบทสนทนาฉากหนึ่งระหว่าง ดร.สิริ กับ แดง อดีตสหายหญิงใต้การนำของเขาที่กลาย มาเป็นแม่ค้าก๋วยเตี๋ยวรสแซบหลังปลดปล่อยว่า.....
“ฉัน... เธอ... พวกเราทั้งหมดล้วนเป็นฟอสซิลเก่าแก่ ถูกเอาไปเดินขบวนพาเหรดในวันผู้รักชาติ มี เหรียญตราติดเต็มเครื่องแบบผุเปื่อยโกโรโกโสของเรา”
“อ๋อ เข้าใจแล้วค่ะ”
“เธอเข้าใจเหรอ? งั้นอย่างน้อยฉันก็ไม่ได้พร่ำเพ้ออยู่คนเดียว”
“คุณหมอพร่ำเพ้ออยู่คนเดียวนะคะ หนูไม่ได้คิดสงสารตัวเองแบบนั้นเลยค่ะ หนูก็มีเรื่องจะเล่าให้ฟัง เหมือนกันและมันดีกว่าเรื่องที่หมอเล่ามาก มีเด็กหญิงคนหนึ่งมาช่วยหนูขายก๋วยเตี๋ยวเป็นครั้งคราว ตอนแรก มาเธออายุได้สักสิบขวบ พวกเขาไม่ยอมให้เธอเรียนหนังสือต่อเพราะมีระเบียบว่าห้ามตกซ้ำชั้นป. ๑ เกิน ๓ ครั้ง พวกเขาเห็นตรงกันว่าเธอปัญญาอ่อน สุดท้ายเธอก็เลยลงเอยเตร็ดเตร่ไปมาไม่ได้ทำอะไรอยู่หลายปี ผู้คนพากันไม่ ใส่ใจไยดีเธอ เธอก็เป็นแค่เด็กน่ารักคนหนึ่งที่ไม่มีอะไรทำน่ะแหละ ตอนแรกที่เธอมาที่แผงก๋วยเตี๋ยวนี่ หนูก็ให้ เธอช่วยเสิร์ฟก๋วยเตี๋ยว เลี้ยงดูเธอแล้วเอาเสื้อผ้าใหม่ ๆ ให้ เธอก็เลยกลับมาทุกวัน หนูเฝ้าดูเธอทำงาน ว่าเธอ พยายามจัดเรียงถ้วยพริกน้ำตาลให้เป็นแถวเป็นแนวและปัดกวาดเช็ดถูผ้าพลาสติกปูโต๊ะอย่างไร แล้วหนูก็เลยคิด ขึ้นมาว่าหนูน่าจะสอนเธอให้อ่านหนังสือออกได้
“เอาเข้าจริงหนูไม่เคยสอนใครอ่านหนังสือมาก่อนแล้วเธอเองก็หัวช้าเหลือเกิน เธอจะใช้เวลาเป็นเดือน กว่าจะเรียนรู้อักษรได้ตัวหนึ่ง แล้วเธอก็ลืมมันอีก แต่เราก็ยืนหยัดทำมันไปเรื่อย ๆ ไม่รีบร้อนอะไร อักษรตัวหนึ่ง แล้วก็อีกตัวหนึ่งแล้วก็อีกตัว เราเริ่มเรียนกันแบบนี้เมื่อ ๑๖ ปีก่อนและเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเธอก็ได้อ่านหนังสือเล่ม แรกของเธอ มันเป็นแบบเรียน ป.๒ แต่มันก็เป็นหนังสือที่มีปกและเนื้อใน ๑๐ หน้า คืนนั้นเธอร้องไห้จนตาบวม นอนไม่หลับ และอ่านมันซ้ำไปมาอยู่ ๑๐ เที่ยว ในที่สุดเธอก็อ่านมันจนหมดสติไปเมื่อตอนพระอาทิตย์ขึ้น”
“น่าประทับใจมาก”
“โอ๊ย มันยิ่งกว่าน่าประทับใจเยอะทีเดียวนะคะหมอสิริ มันไม่ได้เปลี่ยนโลกอะไรหรอก มันก็คงไม่ทำให้ เธอได้งานเป็นผู้อ่านข่าวทางสถานีโฆษณาชวนเชื่ออะไรด้วย เธอก็ยังคงเสิร์ฟก๋วยเตี๋ยวและเช็ดโต๊ะอยู่เหมือนเดิม นั่นแหละค่ะ แต่ตอนนี้ข้างในเธอเปลี่ยนไปแล้ว เธอมีความรักใหม่ในชีวิต และหนูเป็นคนให้ความรักนั้นกับเธอ หนูนี่แหละค่ะ หนูทำทั้งหมดนั้นเอง และหนูก็ภาคภูมิใจกับมันพอ ๆ กับอะไรก็ตามแต่ที่หนูเคยทำสมัยอยู่ ขบวนการต่อต้านเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส
“เอาล่ะค่ะ หนูจะบอกให้ว่าเรื่องเล่าเรื่องนี้สอนให้รู้ปรัชญาอะไร คุณหมอจะเลิกราวางมือไปก็ได้นะคะ แต่หนูอยากแนะให้หมอทนต่อไปให้ถึงที่สุด หมอต้องไม่วัดความสำเร็จของหมอด้วยขนาดหรือปริมาณของ ผลลัพธ์ที่หมอทำให้เกิดขึ้น หมอต้องคาดประเมินมันจากความแตกต่างที่หมอทำให้เกิดขึ้นกับคนที่หมอทำงาน ด้วย การนำกองทัพไปชนะสงครามน่ะมันน่าพึงพอใจกว่าการสอนเด็กสี่ขวบให้ขี่จักรยานเป็นขนาดนั้นจริง ๆ เลยหรือคะ? อายุปูนอย่างเรานี้ หมอควรเลือกทำสิ่งเล็ก ๆ และทำมันให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้มากกว่าค่ะ”
-----
หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชน สุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 17 - 23 ต.ค.2557 คอลัมน์การเมืองวัฒนธรรม “ลืมดาวเคราะห์ซะ กู้สวนดีกว่า” โดย เกษียร เตชะพีระ