สิ่งที่ล้มเหลวคือระบบอาจารย์ที่ปรึกษาทั้งระบบต่างหาก

8 December, 2014 - 17:49 -- kasian

อ่านรายละเอียดที่ Voice TV

ผมเห็นใจทั้งนักศึกษาและอาจารย์สองฝ่ายนะครับ และคิดว่าแก่นเรื่องนี้ไม่ใช่การสะกดผิดของนักศึกษา (นั่นเป็นปัญหาแน่ แต่ไม่ใช่เรื่องหลักในประเด็นนี้) หรือการใช้น้ำเสียงตำหนิโทษอาจารย์ของนักศึกษา (ก็พอเข้าใจได้ และอีกนั่นแหละไม่ใช่เรื่องหลักในประเด็นนี้) แต่คือความล้มเหลวของระบบอาจารย์ที่ปรึกษาทั้งระบบ
 
ผมพูดจากประสบการณ์สอนหนังสือที่ธรรมศาสตร์มาร่วมสามสิบปี แน่นอนว่าท่านอื่นอาจมีประสบการณ์และข้อสรุปต่างกันไป
 
ระบบอาจารย์ที่ปรึกษาไม่ work เพราะทั้งสองฝ่ายไม่ได้เตรียมพร้อมหรือมีคุณสมบัติที่จะทำงานร่วมกัน
 
นักศึกษาไม่ได้ต้องการให้อาจารย์แนะนำอะไรมาก ถ้าเขาสงสัยอะไร เพื่อนนักศึกษาด้วยกันแนะนำได้ใกล้ชิดตรงความต้องการ/สงสัยกว่า และเจ้าหน้าที่ธุรการคณะก็แม่นยำกฎระเบียบกว่า
 
ฝ่ายอาจารย์ก็ไม่แม่นกฎระเบียบ พูดตรง ๆ คือก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเรื่องนี้ทำได้ไหม อนุญาตได้ไหม พอสงสัยก็ต้องยกหูโทรฯถามเจ้าหน้าที่ และ office hours มีอยู่ แต่นักศึกษาก็มักไม่มาตอนนั้น ข้างอาจารย์ก็นัดเจอยากเย็น ยิ่งอยู่กัน ๒ campuses แบบธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์/รังสิต ยิ่งแล้วใหญ่ นักศึกษาก็จะรู้สึกหาตัวอาจารย์ยาก เหมือนถูกตัดหางปล่อยวัดหรือปล่อยเกาะ การจะเจอต้องใช้วิธีซุ่มโจมตี ดักพบที่ห้องสอนประจำก่อน/หลังเลิกชั้น หรือที่ห้องพักอาจารย์ระหว่างทานเที่ยง เป็นต้น
 
ในที่สุดความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์ที่ปรึกษากับนักศึกษาก็เป็นแบบแผนพิธีกรรมล้วน ๆ mere formalities ไม่มีเนื้อหาการแนะนำอะไรจริงจังลึกซึ้ง ต่างฝ่ายต่างเป็นคนแปลกหน้าต่อกันนั่นแหละ ที่ยังติดต่อกันอยู่ (ทั้งที่ไม่ได้อยากจะเจอกันเท่าไหร่ทั้งสองฝ่าย) ก็เพราะ "ลายเซ็น" ตัวเดียวที่กฎบีบคั้นบังคับคาไว้
 
หากเริ่มจากความเป็นจริง ก็คงต้องบอกว่า นักศึกษาเอาตัวรอดจากปัญหาการเรียนและกฎระเบียบยุ่งยากวุ่นวายมาได้ เพราะ ๑) เพื่อน/รุ่นพี่/รุ่นน้องนักศึกษาด้วยกันแนะนำ ๒) เจ้าหน้าที่ธุรการให้ข้อมูลคำปรึกษาเรื่องกฎระเบียบว่าอะไรทำได้ทำไม่ได้ หรือมีทางทำอย่างไร และ ๓) อาจารย์บางท่านที่อาจเพราะรับผิดชอบบริหารงานปริญญาตรีหรือเพราะมีมุทิตาจิตของความเป็นครูสูงได้กรุณาเสียสละผลัดเวรกันมาให้คำปรึกษาแก่นักศึกษาที่หน้ามืดจนแต้ม ตามหาล่าลายเซ็นไม่ได้แล้ว เป็นต้น ๔) ขณะที่อาจารย์แต่ละท่านรู้จักมักคุ้นและให้คำแนะนำปรึกษาจริง ๆ กับนักศึกษาที่เรียนวิชาของตัวต่อเนื่องกันสองสามตัวจนพอคุ้นเคยและกลายเป็นลักษณะครูกับคณะลูกศิษย์เป็นกลุ่มก้อนที่ติดต่อใกล้ชิดมักคุ้นกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลให้คำปรึกษาแนะนำกันอย่างได้ผลทั้งการเรียน การแก้ไขปัญหาจุกจิก การใช้ชีวิต อนาคตการงาน ฯลฯ
 
ผมคิดว่าอย่าไปฝันเพ้ออุดมคติกับระบบอาจารย์ที่ปรึกษาเลยครับ เลิกเสียเหอะ มันไม่ทำงาน ใช้การไม่ได้แล้ว แต่สร้างระบบใหม่ขึ้นมาที่อิงความเป็นจริง ๔ ข้อนี้ที่มันทำงานได้ ให้คำปรึกษา แนะนำช่วยเหลือนักศึกษา และมีลายเซ็นให้พวกเขาได้อย่างทันเวลาเป็นระบบ
 
หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกใน 'Kasian Tejapira' 8 ธ.ค. 2557

ดาวดินเกรดไม่ดี

6 July, 2015 - 15:49 -- kasian

ปม ‘พล.ท.นันทเดช’ นำเสนอเกรดของ 7 นักศึกษา 'ดาวดิน' ระบุเกรดไม่ดี จวกไม่เคยคิดเรียน ‘เกษียร’ สวนชกเด็กใต้เข็มขัด ชี้ไม่ควรลืมว่า ‘Steve Jobs’ ก็เรียนไม่จบ ระบุสำหรับนักศึกษาที่ทำกิจกรรม การเรียนย่อมได้รับผลกระทบบ้างเป็นธรรมดา

สรุปรายงาน Freedom in the World 2015 โดยภาพรวม

1 February, 2015 - 13:21 -- kasian

รายงานของ Freedom House ชี้ ปี 2014 เป็น “ปีที่หม่นหมองเป็นพิเศษ” เกิดการปะทุของการก่อการร้ายรุนแรงและยุทธวิธีที่ก้าวร้าวทั่วโลก ระบุตะวันออกกลางสูญเสียเสรีภาพชัดเจนสุด พร้อมฟันธงว่าความผิดพลาดใหญ่ที่สุดที่ระบอบประชาธิปไตยจะทำลงไปคือการยอมรับความคิดว่าไม่มีปัญญาจะทำอะไรได้เมื่อเผชิญกับจอมเผด็จการที่ใช้กำลังหรือข่มขู่คุกคาม กลับเป็นปุถุชนพลเมืองสามัญต่างหากผู้พร้อมจะลุกขึ้นมาท้าทายผู้ปกครองเหล่านี้

เนื้อแท้ของร่างพรบ.คอมพิวเตอร์ใหม่ในมุมมองหลักนิติธรรม

17 January, 2015 - 17:13 -- kasian

"มาตรา 10 ของ ร่าง พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ ขยายอำนาจการดักจับ แฮ็กบัญชี ยึดคอมพิวเตอร์ แฮ็กระบบ อันนี้คือขยายอำนาจของเจ้าหน้าที่ จากที่เคยต้องขอหมายศาล พรบ. แก้ใหม่ ไม่ต้องขอหมายศาล ทำได้เลย แล้วคนพวกนี้เป็นใคร ไม่รู้" จอห์น วิญญู กล่าวในรายงานเจาะข่าวตื้น ผมเห็นด้วยกับคุณจอห์น วิญญู และชอสนับสนุนด้วยข้อถกเถียงจากมุมมองหลักนิติธรรม (the rule of law)