Skip to main content

"..ทุกสังคมมีพลังฝ่ายขวา ผมอยากให้เขาอยู่และรวมกลุ่มต่อสู้รณรงค์ในระบอบรัฐสภาครับ ถึงตอนนั้นเป็นไปได้ว่าเขาจะมีข้อเสนอเชิงนโยบายที่เข้มแข็งกว่านี้ แต่ตอนนี้เขากลายเป็น outlet สำหรับสารพัดความอึดอัดไม่พอใจรัฐบาล แต่ไม่รู้จะสู้ในระบบอย่างไร.."

"เสธ.อ้าย" พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ประธานองค์การพิทักษ์สยาม

Kasian Tejapira(18/11/55)

อนุสนธิจากกระทู้และความเห็นของคุณ Pipob Udomittipong ผมนำคำตอบมาปรับแต่งเพื่อเสนอความเห็นบางอย่างเกี่ยวกับพลังการเมืองฝ่ายขวาไทยในปัจจุบัน.....

๑) เสธ.อ้าย(พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์)และพรรคพวกที่ล้อมรอบเขาไม่คิดตั้งพรรค ลงเลือกตั้งครับ ตัวเสธ.อ้ายมีบทบาทแค่หัวโขน ความคิดการเมืองก็ระดับของความเป็นไทยแบบราชาชาตินิยมและประชาธิปไตยแบบ ไทย ๆ สิ่งที่เรียกว่าองค์การพิทักษ์สยาม เป็น "ร่ม" ของเครือข่ายกลุ่มการเมืองอนุรักษ์นิยม กษัตริย์นิยม หลากหลายกลุ่มที่หาที่ตั้งอำนาจในระบบเลือกตั้งไม่พบ

๒) จุดแข็งของพวกเขาไม่ใช่แนวนโยบายการเมืองที่เป็นระบบ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมไม่คิดไปไหน คิดจะอยู่กับที่ ดังนั้นการสร้างวิชั่นโมเดลที่เป็นระบบ ไม่ใช่ภาระหน้าที่หลัก จุดแข็งของพวกเขาคือฐานวัฒนธรรมการเมืองเดิมต่างหาก ซึ่งเขาตักตวงมาใช้จนชักฝืดและร่อยหรอลงเรื่อย ๆ

๓) ปัญหาหลักของพวกเขา ที่ควรจะสู้ด้วย จึงไม่ใช่แนวนโยบาย เท่ากับวิถีทางต่อสู้เพื่อไปสู่เป้าหมายการเมือง นี่คือจุดบอดที่ทำให้พวกเขาเสื่อมถอย ถ้าไม่หันมาปรับตัวเดินในแนวทางเลือกตั้งและระบอบรัฐสภา

ส่วนเรื่อง "ล้อเลียน" ก็เป็นเครื่องจิ้มของเกมการเมืองวัฒนธรรมแบบไทยเสมอมา ผมเห็นด้วยและเคยเสนอว่าวิธีสู้กับฝ่ายขวาจัดต่อต้านประชาธิปไตย ไม่ใช่ปราบปรามกดขี่ให้พวกเขาเป็นวีรชน แต่ล้อเลียนให้พวกเขาเป็นตัวตลกในประเด็นวิธีการขวางโลกของเขามากกว่า ซึ่งท่าทีของพวกเขาก็ออกมาเป๊ะ ๆ อย่างไม่นัดหมาย คือเสนอ "แช่แข็ง" ประเทศ ยังกับหาวัตถุดิบมาป้อนให้ล้อเลยทีเดียว

การสู้เชิงแนวนโยบายที่ serious ผมคิดว่าต้องสู้กับพวก TDRI และ กยน./กยอ. ต่างหาก พวกนั้นแหละครับที่เราน่าจะชวนทะเลาะด้วยเรื่องรัฐสวัสดิการ และความเท่าเทียมในสังคม มากกว่าฝ่ายขวาจัดซึ่งมักจะออกอาการ The Poverty of Policy อยู่เสมอ ขอให้นึกถึงสมัยรัฐบาลสุรยุทธ์เป็นตัวอย่าง เรื่องเด่นไม่ใช่นโยบายเศรษฐกิจสังคมซึ่งเป็นในเชิงประคับประคองรับ แต่เป็นนโยบายขยายอำนาจและงบประมาณกองทัพและกระชับอำนาจโครงสร้างราชการ

จะเห็นได้ว่าข้อเสนอทางการเมืองของเสธ.อ้าย & Co. สูตรเดียวกับพันธมิตรฯและกลุ่มหมอตุลย์สืบเนื่องกันมา คือเรื่องจุดอ่อนของระบบเลือกตั้ง นักการเมืองและคอร์รัปชั่น ถ้าเราไปชวนเขาดีเบตเรื่องรัฐสวัสดิการอะไร คงยากอยู่ ผมกลับคิดว่าชวนเขาดีเบตเรื่องทำไมพวกท่านไม่สู้ในหนทางระบอบรัฐสภาประชาธิปไตยแบบไม่ต้องใช้อำนาจพิเศษของทหารและอ้างสถาบันกษัตริย์ล่ะ? ผมคิดว่าเรื่องเดียวที่พอฟังขึ้นคือข้อวิจารณ์หวั่นเกรงทุนนิยม(สามานย์)ของ พวกเขา แต่ก็แค่วิจารณ์นะครับ ไม่ได้เสนออะไรว่าจะต่อต้านอย่างไร ดูเหมือนจะเชื่อว่ายึดอำนาจรัฐด้วยการรัฐประหารแล้วใช้อำนาจรัฐไปสู้ทุนอีกที ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่ได้เรื่องอย่างสมัยสุรยุทธ์อย่างที่บอกแล้ว (ข้อเสนอของผมคือ จะสู้ทุน ต้องขยายสิทธิประชาธิปไตย ให้ประชาธิปไตยใหญ่กว่าทุน อาศัยประชาธิปไตยไปสู้ทุน)

ทุกสังคมมีพลังฝ่ายขวา ผมอยากให้เขาอยู่และรวมกลุ่มต่อสู้รณรงค์ในระบอบรัฐสภาครับ ถึงตอนนั้นเป็นไปได้ว่าเขาจะมีข้อเสนอเชิงนโยบายที่เข้มแข็งกว่านี้ แต่ตอนนี้เขากลายเป็น outlet สำหรับสารพัดความอึดอัดไม่พอใจรัฐบาล แต่ไม่รู้จะสู้ในระบบอย่างไร เช่น ไม่เห็นด้วยกับจำนำข้าว ก็ไปอิงใช้ช่องทางเวทีพวกเขา, ไม่เห็นด้วยกับนโยบายหวยออนไลน์หรือร่างกฎหมายให้กำนันผู้ใหญ่บ้านต้องมีวาระลงเลือกตั้ง ก็ไปร่วมกับพวกเขา คือจะรัฐประหารเพื่อเป็นเครื่องมือทางนโยบายแบบนี้ก็คงยุ่งตายห่าแหละครับ สำหรับเสถียรภาพของชีวิตผู้คนในสังคม

ผมคิดว่ากระบวนการนโยบายสาธารณะของเรามีปัญหา คือ somehow มันหลุดจากระบบราชการ/เทคโนแครตแต่ก่อน แล้วมาหล่นตุ้บในหน้าตักนักการเมืองจากการเลือกตั้ง แล้วพวกเขา(รัฐบาล/รัฐสภาเสียงข้างมาก) ก็ใช้อำนาจเลือกตั้งผูกขาดมันพอควร ทำให้กระบวนการนโยบายเป็นแบบอำนาจนิยม ไม่เปิดกว้างออกให้แก่สังคมที่ประกอบไปด้วยกลุ่มฝ่ายต่าง ๆ อันหลากหลายแล้ว อันนี้ยุ่งมาก ทำให้กลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ กลายเป็นแนวร่วม/ยืมมือฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยขวาจัด by default และไปวิ่งใช้ช่องทางอื่นซึ่งสับสนอลหม่านไปหมด คือดึงสถาบันการเมืองและรัฐธรรมนูญที่ไม่เกี่ยวกับนโยบายโดยตรง มาเป็นเครื่องมือเวทีต่อสู้เชิงนโยบาย เช่น ยื่นฟ้องเรื่องจำนำข้าวกับศาลปกครอง, ยื่นฟ้องเรื่อง 3G กับศาลรัฐธรรมนูญ ฯลฯ อันนี้ไม่เหมาะ เพราะมันทำให้ระบบป่วน แทนที่ศาลจะทำงานตุลาการ ศาลต่าง ๆ ดันกลายเป็นสถาบันวีโต้นโยบายฝ่ายบริหารไปเสียฉิบ

ผมคิดว่าในระยะยาวแล้วต้องปรับใหม่หาทางเปิดกว้างกระบวนการนโยบายให้หลากหลายกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น จะใช้อำนาจเลือกตั้งเสียงข้างมากเขี่ยกลุ่มอื่นออกหมด มันไม่ดี ยุ่ง, ศาลจะได้ไปทำเรื่อง "สิทธิ" ซึ่งร้อนแรงและสำคัญ แทนที่ดันมากลายเป็นศาลสถิตนโยบายของกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ครับ

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
ปม ‘พล.ท.นันทเดช’ นำเสนอเกรดของ 7 นักศึกษา 'ดาวดิน' ระบุเกรดไม่ดี จวกไม่เคยคิดเรียน ‘เกษียร’ สวนชกเด็กใต้เข็มขัด ชี้ไม่ควรลืมว่า ‘Steve Jobs’ ก็เรียนไม่จบ ระบุสำหรับนักศึกษาที่ทำกิจกรรม การเรียนย่อมได้รับผลกระทบบ้างเป็นธรรมดา
เกษียร เตชะพีระ
ตอบกระทู้พันทิป หลังมีผู้เรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกการให้ทุนการศึกษาต่างประเทศสำหรับคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ โดยยกตัวอย่าง ‘สมศักดิ์-วรเจตน์’
เกษียร เตชะพีระ
รายงานของ Freedom House ชี้ ปี 2014 เป็น “ปีที่หม่นหมองเป็นพิเศษ” เกิดการปะทุของการก่อการร้ายรุนแรงและยุทธวิธีที่ก้าวร้าวทั่วโลก ระบุตะวันออกกลางสูญเสียเสรีภาพชัดเจนสุด พร้อมฟันธงว่าความผิดพลาดใหญ่ที่สุดที่ระบอบประชาธิปไตยจะทำลงไปคือการยอมรับความคิดว่าไม่มีปัญญาจะทำอะไรได้เมื่อเผชิญกับจอมเผด็จการที่ใช้กำลังหรือข่มขู่คุกคาม กลับเป็นปุถุชนพลเมืองสามัญต่างหากผู้พร้อมจะลุกขึ้นมาท้าทายผู้ปกครองเหล่านี้
เกษียร เตชะพีระ
"มาตรา 10 ของ ร่าง พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ ขยายอำนาจการดักจับ แฮ็กบัญชี ยึดคอมพิวเตอร์ แฮ็กระบบ อันนี้คือขยายอำนาจของเจ้าหน้าที่ จากที่เคยต้องขอหมายศาล พรบ. แก้ใหม่ ไม่ต้องขอหมายศาล ทำได้เลย แล้วคนพวกนี้เป็นใคร ไม่รู้" จอห์น วิญญู กล่าวในรายงานเจาะข่าวตื้น ผมเห็นด้วยกับคุณจอห์น วิญญู และชอสนับสนุนด้วยข้อถกเถียงจากมุมมองหลักนิติธรรม (the rule of law) 
เกษียร เตชะพีระ
พม่าเปลี่ยนแปลงไปหลายอย่างในไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ผ่อนคลายการจำกัดปิดกั้นสื่อมวลชนลง และปล่อยตัวนักโทษการเมือง การลงทุนต่างชาติเพิ่มพูนขึ้น แต่กลับมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากในกองทัพพม่า ปัจจุบันพม่ากำลังเตรียมการเลือกตั้งในปีใหม่นี้ (ค.ศ. ๒๐๑๕) ทว่าน่าวิตกว่ากระบวนการปฏิรูปกำลังตกอยู่ในสภาพล่อแหลมต่ออันตราย
เกษียร เตชะพีระ
วิพากษ์ข้อเสนอหลักของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยนายกฯ ไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส.หรือสังกัดพรรคการเมือง, ส.ส. มาจากระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม และส.ว.ไม่เกิน ๒๐๐ คนมาจากการแต่งตั้งและคัดสรร ไม่ใช่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ฯลฯ
เกษียร เตชะพีระ
รายงานล่าสุด ILO ชี้ค่าแรงยังต่ำ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในโลกยิ่งเพิ่ม, ค่าจ้างประเทศรวยสูงกว่าประเทศจน 3 เท่า, การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่ทำให้คนตกงานเว้ยเฮ้ย! 
เกษียร เตชะพีระ
ความคิดเห็นต่อเนื่องจากกรณีที่เกิดกระเเสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ ถึงกรณีที่มีนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเขียนโน้ตถึงอาจารย์ที่ปรึกษาให้ติดต่อกลับ  โดยระบุถึงสิ่งที่สำคัญมากกว่าในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น คือ ...
เกษียร เตชะพีระ
ในฐานะที่ "รัฐ" ตามคำนิยามของเวเบอร์ 1. สิทธิผูกขาดเหนือการใช้กำลังทางกายภาพหรือนัยหนึ่งการใช้ความรุนแรง 2. โดยชอบธรรม และ 3 ภายในอาณาเขตหนึ่งๆ
เกษียร เตชะพีระ
ข้อแนะนำถึงคสช.และรัฐบาล. คืนความปกติให้สังคมเศรษฐกิจไทยมากที่สุด ลดมาตรการใช้อำนาจผิดปกติให้เหลือต่ำสุด ความแตกต่างขัดแย้งทางความคิดเห็นและผลประโยชน์ในสังคมพหุนิยมที่มีความแตกต่างหลากหลายเป็นเรื่องปกติ
เกษียร เตชะพีระ
สำหรับผมและเพื่อนพ้อง “คนเดือนตุลา” จำนวนหนึ่ง รัฐประหาร ๒๒ พ.ค. ที่ผ่านมาเป็นเรื่องน่าเศร้าเสียใจยิ่ง