Skip to main content
๓ ขั้นตอน ของ ลัทธิช็อก ประชาชนถูกช็อกด้วยวิกฤต, ประชาชนถูกช็อกด้วยนโยบายเสรีนิยมใหม่ที่ผลักดันผ่านออกมา และ ในความเป็นจริง ประชาชนผู้ต่อต้านคัดค้านนโยบายดังกล่าวยังมักจะถูกรัฐบาลกวาดล้างจับกุมไปทรมานด้วยวิธีการต่าง ๆ นานาโดยเฉพาะการช็อกด้วยไฟฟ้า 
หนังสือ The Shock Doctrine: The Rise of Disaster Capitalism
 
 
Naomi Klein นักเขียน นักหนังสือพิมพ์และนักกิจกรรมหญิงชื่อดังผู้ต่อต้านโลกาภิวัตน์แบบเสรีนิยมใหม่ชาวแคนาดาได้วิเคราะห์ไว้ในหนังสือขายดีเรื่อง The Shock Doctrine: The Rise of Disaster Capitalism (ค.ศ. ๒๐๐๗) ว่าหลักการของมิลตัน ฟรีดแมนในการทำการตลาดแนวคิดเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ในแวดวงการเมืองได้แก่ the Shock Doctrine หรือลัทธิช็อก หมายถึงการฉวยใช้วิกฤตผลักดันนโยบายที่เอื้อประโยชน์แก่บรรษัทเอกชนแต่ประชาชนไม่นิยมให้ผ่านออกมาเพื่อรัฐบาลนำไปใช้ในทางปฏิบัติ วิกฤตนั้นอาจเป็นทางเศรษฐกิจ, การเมือง, สงคราม, ภัยธรรมชาติ ฯลฯ
Naomi Klein 
 
การที่เธอเรียกมันว่า “ลัทธิช็อก” เพราะปกติมันจะประกอบไปด้วยอาการที่ประชาชนถูกช็อก ๓ ขั้นตอน ได้แก่ 
๑) ประชาชนถูกช็อกด้วยวิกฤต 
๒) ประชาชนถูกช็อกด้วยนโยบายเสรีนิยมใหม่ที่ผลักดันผ่านออกมา 
๓) ในความเป็นจริง ประชาชนผู้ต่อต้านคัดค้านนโยบายดังกล่าวยังมักจะถูกรัฐบาลกวาดล้างจับกุมไปทรมานด้วยวิธีการต่าง ๆ นานาโดยเฉพาะการช็อกด้วยไฟฟ้า 
 
ดังที่มิลตัน ฟรีดแมนเองสาธยายแนวทรรศนะ “ลัทธิช็อก” ดังกล่าวไว้ในงานเขียนชิ้นต่าง ๆ ของเขาว่า: ‐
 
“มีแต่วิกฤตเท่านั้น – ไม่ว่าวิกฤตจริงหรือถูกเห็นเป็นวิกฤตก็ตามที – ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงได้
“เมื่อวิกฤตที่ว่านั้นเกิดขึ้น ปฏิบัติการที่คนเรากระทำจะขึ้นกับความคิดที่เรียงรายล้อมรอบอยู่
“ผมเชื่อว่านั่นแหละคือหน้าที่พื้นฐานของเรากล่าวคือ: พัฒนาทางเลือกต่างหากไปจากนโยบายที่ดำรงอยู่ ประคับประคองมันให้ยืนยงเผื่อไว้จนกว่าสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ทางการเมืองกลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ทางการเมือง”
(คำนำ, Capitalism and Freedom, ค.ศ. ๑๙๘๒)
 
“รัฐบาลใหม่มีเวลาราว ๖ – ๙ เดือนเพื่อบรรลุการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่
“ถ้ารัฐบาลไม่ช่วงชิงโอกาสกระทำการอย่างเด็ดขาดในช่วงที่ว่านั้น ก็จะไม่มีโอกาสอย่างนั้นอีกเลย”
(Tyranny of the Status Quo, ค.ศ. ๑๙๘๔)
 
กล่าวโดยสรุป มิลตัน ฟรีดแมนเสนอว่าพลันที่เกิดวิกฤต ผู้นำที่สมาทานแนวนโยบายเสรีนิยมใหม่จำต้องกระทำการอย่างเด็ดขาดฉับไว ยัดเยียดการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและมิอาจเปลี่ยนกลับคืนได้ลงไปก่อนที่สังคมซึ่งย่อยยับจากวิกฤตจะลื่นไถลกลับสู่ “ทรราชแห่งสถานะเดิม” อีก
 
นาโอมิ ไคลน์ ได้ประมวลกรณีการฉวยใช้วิกฤตที่ทำให้ประชาชนอยู่ในอาการช็อกมาผลักดันยัดเยียดแนวนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ในประเทศต่าง ๆ ไว้ พอจะเรียบเรียงเป็นตารางได้ข้างล่างนี้ (ดูภาพประกอบ)
 
ในทางกลับกัน หากสังคมไม่อยู่ในภาวะช็อก ถึงแม้ผู้นำรัฐบาลจะพยายามผลักดันยัดเยียดแนวนโยบายเสรีนิยมใหม่ที่เอื้อประโยชน์แก่บรรษัทเอกชนแต่ประชาชนไม่นิยมมาให้ ก็มักไม่สำเร็จเต็มที่ตามเป้าหมาย อาทิ ในสหรัฐอเมริกา เมื่อโรนัลด์ เรแกนชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีปี ค.ศ. ๑๙๘๑ หรือในฝรั่งเศสเมื่อนิโกลาส ซาร์โคซี ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีปี ค.ศ. ๒๐๐๗ ปรากฏว่าแนวนโยบายเสรีนิยมใหม่ของทั้งสองเจอแรงต่อต้านจากประชาชนจนต้องผ่อนเพลาลง
 
หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ คัดมาจาก เกษียร เตชะพีระ, เศรษฐกิจโลกถดถอยครั้งใหญ่: ความรุ่งเรืองและล่มจมของเสรีนิยมใหม่/โลกาภิวัตน์, openbooks, 2555

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
"ในฐานะผู้เคยทำการปฏิวัติด้วยความรุนแรง ผมใคร่บอกว่าเราต้องหาทางเจือผสมการปฏิวัติด้วยความไม่รุนแรงให้มากที่สุด เพราะเหตุใดน่ะหรือ? ก็เพราะว่าบรรดาไพร่ทาสราษฎรสามัญชนโดยทั่วไปนั้นหาได้มีอาวุธสงครามในมือเหมือนกลไกรัฐภายใต้การบังคับควบคุมของชนชั้นปกครองไม่.."    
เกษียร เตชะพีระ
กระบวนการเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์ดังที่เป็นอยู่ จึงก่อผลสำคัญด้านความเหลื่อมล้ำทางโภคทรัพย์ที่เป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย ไม่ใช่อุดหนุนเกื้อกูล, พลังประชาธิปไตยบนฐานอำนาจเสียงข้างมากของคนที่ขาดด้อยโภคทรัพย์ต้องหาทางคะคานถ่วงดุลอำนาจทุนมหาศาลของคนมั่งมีโภคทรัพย์เสียงข้างน้อยไว้ มิฉะนั้นประชาธิปไตยก็จะหมดความหมายในทางเป็นจริงไปในที่สุด
เกษียร เตชะพีระ
เฉพาะหนึ่งปีที่ผ่านมา รถยนต์ที่ขายในประเทศร่ำรวย อาทิ ญี่ปุ่นและอเมริกา กลับมียอดแซงหน้าในประเทศตลาดเกิดใหม่ จีนไม่ใช่ประเทศที่มีอัตรายอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นสูงสุดอีกต่อไป หากกลับเป็นไทย (ที่ ๖๐%!) และอินโดนีเซีย (ที่ ๓๕%) ในรอบปีที่ผ่านมา
เกษียร เตชะพีระ
ก้องกังวานสะท้านฟ้ามหาสมุทร ด้วยคลั่งแค้นแสนสุดประกาศกล้า เป็นแสนเสียงล้านเสียงมหาประชา สยบขวัญสั่นอุราเผด็จการ...
เกษียร เตชะพีระ
"ประชานิยม" "คนชั้นกลางนิยม" "คนรวยนิยม" "อำมาตย์นิยม" "ประชาธิปัตย์นิยม" "ม.๑๑๒ นิยม" "ราชบัณฑิตนิยม" "ยิ่งลักษณ์นิยม" "ทักษิณนิยม" "พันธมิตรนิยม" "นิติราษฎร์นิยม" "นิด้านิยม"