Skip to main content

ว่าด้วย "ระบอบทักษิณ" ในสถานการณ์ปฏิวัติโค่นล้ม "ระบอบทักษิณ" ของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.)

 
แน่นอนว่าคำว่า "ระบอบทักษิณ" ถูกใช้จนเละ ผมในฐานะผู้มีส่วนริเริ่มนิยามศัพท์ตัวนี้ขึ้นมา ก็คงมีส่วนต้องรับผิดชอบด้วย (ดู ระบอบทักษิณ บันทึกเรื่องราวของคำสร้างคำหนึ่ง โดยเกษียร เตชะพีระ ๒๕๕๐ http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q3/2007june08p6.htm)
(เปิดอ่านได้ที่ ระบอบทักษิณ บันทึกเรื่องราวของคำสร้างคำหนึ่ง โดยเกษียร เตชะพีระ ๒๕๕๐ http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q3/2007june08p6.htm )
 
ในทางวิชาการ ผมคิดว่ามีเรื่องที่สามารถถกเถียงกันต่อไปได้ว่า "ระบอบทักษิณ" มีจริงหรือไม่? อย่างไร? หรือเป็นแค่มายาการเหลวไหลที่นักวิชาการอย่างผมสร้างขึ้น? อย่างไรก็ตาม นี่คงไม่ใช่ประเด็นเร่งด่วนเฉพาะหน้าตอนนี้
 
ผมคิดว่าประเด็นเร่งด่วนเฉพาะหน้าตอนนี้คือการใช้คำว่า "ระบอบทักษิณ" เป็นเครื่องมือให้ความชอบธรรมทางการเมืองวัฒนธรรมแก่การลุกฮือโค่นระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยของกปปส.
 
มองในแง่หลังด้านการเมืองวัฒนธรรมนี้แล้ว ผมเห็นว่า "ระบอบทักษิณ" ถูกนิยามให้เป็นอะไรก็แล้วแต่ที่อยู่นอกเหนือ เป็นด้านตรงข้าม ด้านกลับ ด้านที่ไม่ใช่ของ "ความเป็นไทย"
 
จะบอกว่า "ระบอบทักษิณ" คือเขตห้ามเข้าทางความคิดของป้ายจราจร "ความเป็นไทย" ก็ได้
"ความเป็นไทย" ที่ใช้กันทางการเมืองวัฒนธรรมเอาเข้าจริงคือป้ายจราจรทางความคิดป้ายหนึ่ง ที่ระบุชี้ว่าเกินจากป้ายนี้ไปเป็น "เขตห้ามเข้า/ต้องห้ามทางความคิด" อย่าได้เข้าไปเด็ดขาด (ธงชัย วินิจจะกูลใช้คำว่า negative identification of Thainess)
 
ตัวป้าย "ความเป็นไทย" นั้นเองจับให้นิ่งได้ยาก ความหมายที่แน่นอนของมันพูดให้ถึงที่สุดในทางเป็นจริง ไม่มี ความรู้เกี่ยวกับตัวมันความหมายของมันมีลักษณะสัมพัทธ์ พลิกไหวหมุนเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ (epistemologically relative and dynamic) แต่ผู้คนทั่วไปเชื่อฝังใจหัวปักหัวปำว่ามี "ความเป็นไทย" อยู่จริงแท้แน่นอนสัมบูรณ์แบบ ห้ามสงสัยความมีอยู่ดำรงอยู่จริงของมันโดยเด็ดขาด (ontologically absolute) ในทำนอง "ผีมีจริง แต่มันเป็นไง ไม่รู้ว่ะ เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ"
 
การปักป้าย "ความเป็นไทย" เพื่อบ่งชี้เขตห้ามเข้า/ต้องห้ามทางความคิดนอก "ความเป็นไทย" ออกไป มีลักษณะขยายได้ไร้ขอบเขต ปรับเปลี่ยนได้ไร้ขีดจำกัด เพดานแห่งเขตพื้นที่ต้องห้ามทางความคิดนี้ต้องมี แต่ตัวป้ายเองยักย้ายไปได้เรื่อย ๆ เพื่อจัดวางระเบียบทางความคิดให้เกิดขึ้นจงได้ไง
 
สมัยหนึ่ง ป้าย "ความเป็นไทย" ถูกใช้บอกเขตต้องห้ามทางความคิดว่าได้แก่ "ประชาธิปตัย" (republic) สมัย ร.๖, "คอมมิวนิสต์" สมัยสงครามเย็น เป็นต้น
 
"ระบอบทักษิณ" ก็คือเขตห้ามเข้า/ต้องห้ามทางความคิดของป้าย "ความเป็นไทย" ในปัจจุบัน 
 
ในความหมายทางการเมืองวัฒนธรรมนี้ เนื้อหาของ "ระบอบทักษิณ" จึงพลิกไหวต่อเติมตัดตอน edit ไปได้เรื่อย ๆ แล้วแต่สถานการณ์เฉพาะหน้า ดุลกำลังและข้อต่อรองตกลงทางการเมืองระหว่างอำนาจระเบียบเก่ากับกลุ่มอำนาจใหม่ที่เข้ามาท้าทายแย่งชิง
 
แต่ถ้าจะให้หาร่องรอยใกล้เคียงที่สุดของเขตห้ามเข้านี้ในปัจจุบัน น่าจะได้แก่
 
"อำนาจนำของกลุ่มทุนธุรกิจใหญ่เหนือระเบียบการเมืองแบบเลือกตั้งประชาธิปไตย ที่เบียดขับอำนาจนำเก่าที่ไม่ได้มาจากเสียงข้างมากออกไป"
 
นี่แหละคือสิ่งที่กปปส.ต้องการทำลาย และพวกเขาเลือกวิธีการที่จะต่อสู้และทำลายสิ่งนี้ด้วยการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยในความหมาย "เมื่อคนเราเท่ากัน อำนาจย่อมเกิดจากตัวเลข" ลงไปด้วยพร้อมกัน
 
 
 

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
"ในฐานะผู้เคยทำการปฏิวัติด้วยความรุนแรง ผมใคร่บอกว่าเราต้องหาทางเจือผสมการปฏิวัติด้วยความไม่รุนแรงให้มากที่สุด เพราะเหตุใดน่ะหรือ? ก็เพราะว่าบรรดาไพร่ทาสราษฎรสามัญชนโดยทั่วไปนั้นหาได้มีอาวุธสงครามในมือเหมือนกลไกรัฐภายใต้การบังคับควบคุมของชนชั้นปกครองไม่.."    
เกษียร เตชะพีระ
กระบวนการเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์ดังที่เป็นอยู่ จึงก่อผลสำคัญด้านความเหลื่อมล้ำทางโภคทรัพย์ที่เป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย ไม่ใช่อุดหนุนเกื้อกูล, พลังประชาธิปไตยบนฐานอำนาจเสียงข้างมากของคนที่ขาดด้อยโภคทรัพย์ต้องหาทางคะคานถ่วงดุลอำนาจทุนมหาศาลของคนมั่งมีโภคทรัพย์เสียงข้างน้อยไว้ มิฉะนั้นประชาธิปไตยก็จะหมดความหมายในทางเป็นจริงไปในที่สุด
เกษียร เตชะพีระ
เฉพาะหนึ่งปีที่ผ่านมา รถยนต์ที่ขายในประเทศร่ำรวย อาทิ ญี่ปุ่นและอเมริกา กลับมียอดแซงหน้าในประเทศตลาดเกิดใหม่ จีนไม่ใช่ประเทศที่มีอัตรายอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นสูงสุดอีกต่อไป หากกลับเป็นไทย (ที่ ๖๐%!) และอินโดนีเซีย (ที่ ๓๕%) ในรอบปีที่ผ่านมา
เกษียร เตชะพีระ
ก้องกังวานสะท้านฟ้ามหาสมุทร ด้วยคลั่งแค้นแสนสุดประกาศกล้า เป็นแสนเสียงล้านเสียงมหาประชา สยบขวัญสั่นอุราเผด็จการ...
เกษียร เตชะพีระ
"ประชานิยม" "คนชั้นกลางนิยม" "คนรวยนิยม" "อำมาตย์นิยม" "ประชาธิปัตย์นิยม" "ม.๑๑๒ นิยม" "ราชบัณฑิตนิยม" "ยิ่งลักษณ์นิยม" "ทักษิณนิยม" "พันธมิตรนิยม" "นิติราษฎร์นิยม" "นิด้านิยม"