Skip to main content

นายแพทย์ประเวศ วะสี ผู้ซึ่งรู้จักกันโดยทั่วไปภายใต้โลโก้ “ราษฎรอาวุโส” เป็น “ผู้ใหญ่” ที่ใครต่อใครรู้จักกันดี เพราะคำพูดคำอ่านหรือแนวคิดของท่าน ตกเป็นข่าวพาดหัวอยู่เสมอทางหน้าหนังสือพิมพ์และได้รับการขานรับจากกลุ่มคนน้อยใหญ่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ นักเคลื่อนไหว นักกิจกรรม แม้กระทั่งข้าราชการ


บทบาทของนายแพทย์ประเวศ วะสี ในหลาย ๆ วาระและโอกาส มีความสำคัญและมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมการเมืองไทยอย่างสูง จนคว้ารางวัลต่างๆ มามากมาย ไม่ว่าจะเป็นรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น บุคคลดีเด่นของชาติ รางวัลแมกไซไซ รางวัลจากยูเนสโก เหรียญเชิดชูเกียรติจาก WHO


เป็นที่ยอมรับโดยไม่มีข้อกังขาว่า นายแพทย์ประเวศ วะสี เป็น “ผู้ใหญ่” ที่มีความเป็นห่วงเป็นใยในบ้านเมืองอย่างลึกซึ้ง พอมีเหตุอะไรที่อาจส่งผลกระทบให้บ้านเมืองเสียหาย นายแพทย์ประเวศ วะสี เป็นคนแรกๆ ที่ออกมา “เตือนสติ” หรือ “ชี้ทางออก” ให้แก่สังคมซึ่งโดยทั่วไปแล้วสามารถจุดประเด็นได้เป็นที่น่าสนใจ


เป็นธรรมดาที่บ้านเมืองซึ่งประกอบด้วยผู้คนมากหลายจะต้องมีเหตุนั่น เหตุนี่ ให้ต้องคอยห่วงใยกันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางการเมือง การปฏิรูปทางการเมือง วิกฤติ 3 จังหวัดชายแดนใต้ วิกฤติทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นตรงนั้นตรงนี้ ปัญหาเกี่ยวกับคนจนถูกเอารัดเอาเปรียบ ปัญหาเรื่องบริโภคนิยม ฯลฯ


การ “เตือนสติ” เพื่อนำไปสู่การ “ชี้ทางออก” ให้แก่สังคมที่กำลังเตลิด บางครั้งจำเป็นต้อง “วาดภาพ” ให้ดูน่ากลัวเกินจริง ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องปรามไม่ให้เกิดขึ้นตามภาพที่วาดไว้ แบบเดียวกับที่วัดบางแห่งจำลองขุมนรกโลกันต์เพื่อขู่ให้มนุษย์หวาดกลัว ไม่กล้าทำผิด ซึ่งอาจใช้ได้ผลสำหรับบางคน


คำว่า “วิกฤติ” หรือ “นองเลือด” จึงมักจะมาควบคู่กับคำ “เตือนสติ” เพื่อ “ชี้ทางออก” ของนายแพทย์ประเวศ วะสี บ่อยครั้ง จนโดนค่อนขอดจากนักวิชาการบางรายว่าเป็น “หมอกลัวเลือด” หรือกระทั่ง “เซลแมนขายวิกฤติ”


คำค่อนขอดต่าง ๆ ไม่ได้ทำให้ความปรารถนาที่จะเห็นสังคมไทยมีสันติสุขเสมอหน้ากัน ในทุก “ภาคส่วน” สะดุดหยุดลงได้ นายแพทย์ประเวศ วะสี ยังคงทำงานทางความคิดอย่างต่อเนื่องและมีเว็บไซต์ของตนเองในการเผยแพร่ความคิดสู่สาธารณชน


ในเว็บไซต์ http://www.prawase.com นายแพทย์ประเวศ วะสี ได้เผยแพร่บทความของตนเองที่เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน เรื่อง “การเมืองเก่าเน่าหนอนชอนไช การเมืองใหม่อารยะประชาธิปไตย” ท่านเขียนไว้ว่า


การเมืองเก่าเน่าหนอนชอนไชเป็นที่เอือมระอาน่ารังเกียจเบื่อหน่ายแก่ผู้รู้เห็นทั้งแผ่นดิน จึงพากันพูดถึงการเมืองใหม่ คนไทยทุกภาคส่วน ทุกองค์กร ควรเคลื่อนไหวทำความเข้าใจว่าการเมืองใหม่ที่เป็นอารยะประชาธิปไตยนั้นเป็นอย่างไร ในการมองระบบการเมืองเก่าและใหม่ควรมองทั้งระบบเหมือนมองคนทั้งคน จะไปมองเฉพาะอวัยวะอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่ได้ การมองทั้งระบบ ต้องมองทั้งที่เป็นนามธรรม (จิต) รูปธรรม รูปลักษณ์ การทำหน้าที่และผลลัพธ์”


นายแพทย์ประเวศ วะสี ได้ทำเป็นตารางเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนว่าการเมืองเก่ากับใหม่นั้นต่างกันอย่างไร ท่านบอกว่าจิตสำนึกของการเมืองเก่านั้นเป็นแบบ “หีนจิต” ส่วนการเมืองใหม่ นั้นเป็น จิตสำนึกแห่งความเป็นคน ส่วนองค์กรทางการเมืองของการเมืองเก่ามีลักษณะ “อัปลักษณ์” ส่วนการเมืองใหม่เป็น “ศุภลักษณ์” ดูรายละเอียดใน (http://www.prawase.com/article/154.pdf)


สุ้มเสียงและศัพท์แสงของนายแพทย์ประเวศ วะสี แยกไม่ออกจากหลักธรรมในศาสนาพุทธ โลกทัศน์ทางการเมืองก็เช่นเดียวกันคือไม่อาจแยกออกหลักศาสนาและศีลธรรมได้ ท่านพูดอย่างชัดเจนว่า


ในสัจจะที่สุด มนุษย์ทุกคนมีคุณค่าเท่ากัน ไม่แตกต่างกันแม้จะมีตำแหน่งหน้าที่การงานต่างกันก็ตาม มายาคติที่ไม่เคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียมกันทำให้ไม่เกิดระบอบประชาธิปไตย ประชาธิปไตยที่ไร้ศีลธรรมพื้นฐานเช่นนี้จะกลายเป็นกลโกง เพราะประชาธิปไตยคือความเสมอภาคและภราดรภาพ ถ้าไม่มีศีลธรรมประชาธิปไตยก็เป็นแค่กลโกง สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ ไม่เสมอภาค ก็จะไม่เกิดภราดรภาพ ถ้าบางคนมีเงินแสนล้านกับอีกคนไม่มีเลย จะเกิดภราดรภาพได้อย่างไร(http://www.prachatai.com/05web/th/home/13856)


การทำความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ผ่านเลนส์ศาสนาทำให้เห็นโลกเป็นขาว-ดำ (นักการเมืองมี 2 ประเภทเท่านั้นคือ ถ้าไม่ดีก็เลว, แต่ส่วนใหญ่จะเลวและคนก็มีเพียง 2 ประเภทด้วยเช่นกัน) การมองสังคมการเมืองแบบนี้จะไม่เห็นความซับซ้อนของโลกสมัยใหม่ที่ไม่อาจตัดสินถูกผิดดีชั่วได้ง่าย ๆ โลกสมัยใหม่ที่(ต้อง)แยกศาสนาออกจากการเมือง การเมืองที่ไม่ใช่เรื่องถูกหรือผิด ไม่ใช่เรื่องของคนดีและคนเลว


การเรียกร้องให้นักการเมืองเป็นคนดีอาจเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ในบริบทแบบไทย ๆ แต่มันไม่ได้ต่างอะไรกับการเรียกร้องให้สามัญชนเป็นเทวดาหรือเรียกร้องให้พุทธศาสนิกชนบรรลุนิพพาน เป็นข้อเรียกร้องที่เกิดจากการไม่เข้าใจและรู้จักชีวิตดีพอ เป็นการเรียกร้องที่ไม่อยู่บนฐานความจริงของชีวิต


การวิพากษ์วิจารณ์สิ่งต่าง ๆ โดยใช้หลักศีลธรรมอาจน่าสนใจและพูดอย่างไรก็ไม่มีทางผิดแต่ที่จริงแล้วไร้ประโยชน์ เมื่อนายแพทย์ประเวศ วะสี บอกว่า “ถ้าไม่มีศีลธรรม ประชาธิปไตยก็เป็นแค่กลโกง” แต่หากฉุกคิดสักหน่อย เราจะพบว่าความพยายามที่จะยัดเยียดศีลธรรมลงไปในประชาธิปไตยนั้นที่จริงแล้วก็เป็นกลโกงอีกแบบหนึ่งของพวกศักดินาที่ต้องการบ่อนเซาะทำลายประชาธิปไตย.


บล็อกของ เมธัส บัวชุม

เมธัส บัวชุม
-1-พรรคประชาธิปัตย์หาเสียงเพื่อการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง โดยชูคำขวัญที่ฟังดูดัดจริตและกินไม่ได้ว่า “ประชาชนต้องมาก่อน”ผมได้ยินหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปล่งคำนี้ออกมาแล้วก็ให้นึกสงสัยว่าจะมีใครซักกี่คนในโลกนี้เชื่อในสิ่งที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ พูดออกมาพรรคประชาธิปัตย์ฉวยโอกาส เอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น ๆ ตามสไตล์ถนัดด้วยการโฆษณาหาเสียงก่อนใครเพื่อน  ในขณะที่พรรคคู่แข่งอย่างพรรคพลังประชาชนนั้นต้องเจอกับอำนาจชั่วที่คอยการสกัดกั้นทุกรูปแบบ-2-ต้องรอดูกันต่อไปว่า พรรคพลังประชาชนจะฝ่าต้านแรงสกัดจากอำนาจชั่วได้มากน้อยแค่ไหน…
เมธัส บัวชุม
อันที่จริง ผมตั้งใจจะหยุดเขียนบทความการเมืองสักระยะด้วยรู้สึกระอากับความวิปริตทางปัญญาของสังคมไทย ผมยังรู้สึกหลอนไม่หายกับการยึดอำนาจของทหารท่ามกลางความดีอกดีใจของพวก “ทาสที่ปล่อยไม่ไป” และพวกที่กลุ้มรุมทึ้งแย่งผลประโยชน์ “แห่งชาติ” ที่ไม่ได้ “เหลือแต่กระดูก” หลังการจากไปของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตรกลุ่มคนเหล่านี้ที่เข้ามายึดกุมอำนาจหลังรัฐประหาร ไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับการสร้างประชาธิปไตยหรือปฏิรูปการเมือง  รัฐบาลเถื่อนของนายกรัฐมนตรีสุรยุทธ์ จุลานนท์ กับ คมช. คตส. กกต. ที่ผ่านมาได้ทำอะไรบ้างที่เป็นสร้างเสริมประชาธิปไตย หรือปฏิรูปการเมืองไปสู่ครรลองประชาธิปไตยนอกจากสมคบคิดกันกวาดล้างกลุ่ม…
เมธัส บัวชุม
นิตยสาร “ราหูอมจันทร์” เกิดขึ้นท่ามกลางความซบเซาทั้งทางด้านการเขียน การอ่านและการวิจารณ์ของแวดวงเรื่องสั้นไทย ราหูอมจันทร์ เป็นนิตยสารรายครึ่งปีหรือที่ทางผู้จัดทำเรียกว่ารายฤดูกาล เป็นการคัดสรรเรื่องสั้นที่มีผู้ส่งไปจากทั่วสารทิศเพื่อรวมพิมพ์เป็นเล่มบรรดาคอเรื่องสั้น ต่างวาดหวังว่าการมาถึงของราหูอมจันทร์อาจช่วยให้วงการคึกคักขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อย   อย่างไรก็ตาม เมื่อได้อ่านแล้ว ต้องกล่าวตามตรงว่าราหูอมจันทร์ Vol. 3 “วันปลดปล่อยผีเสื้อ” นั้นมีระดับคุณภาพที่น่าผิดหวังไม่น้อย ทางผู้จัดทำนิตยสารนี้คือกองทุน “กนกพงศ์  สงสมพันธุ์” ก็ยอมรับว่า“ราหูอมจันทร์ Vol. 3…