-1-
พรรคประชาธิปัตย์หาเสียงเพื่อการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง โดยชูคำขวัญที่ฟังดูดัดจริตและกินไม่ได้ว่า “ประชาชนต้องมาก่อน”
ผมได้ยินหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปล่งคำนี้ออกมาแล้วก็ให้นึกสงสัยว่าจะมีใครซักกี่คนในโลกนี้เชื่อในสิ่งที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พูดออกมา
พรรคประชาธิปัตย์ฉวยโอกาส เอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น ๆ ตามสไตล์ถนัดด้วยการโฆษณาหาเสียงก่อนใครเพื่อน ในขณะที่พรรคคู่แข่งอย่างพรรคพลังประชาชนนั้นต้องเจอกับอำนาจชั่วที่คอยการสกัดกั้นทุกรูปแบบ
-2-
ต้องรอดูกันต่อไปว่า พรรคพลังประชาชนจะฝ่าต้านแรงสกัดจากอำนาจชั่วได้มากน้อยแค่ไหน การตัดทอนกำลังพรรคพลังประชาชนด้วยรูปแบบวิธีการต่าง ๆ จะทำให้พรรคพลังประชาชนอ่อนกำลังลงไปได้มากน้อยเพียงใด หรือว่าจะยิ่งทำให้พรรคการเมืองพรรคนี้เติบโตมากขึ้น ความศรัทธาเชื่อถือจากประชาชนจะช่วยให้เอาชนะฝ่ายตรงข้ามได้หรือไม่
ผมเชื่อว่า หากแม้นเมื่อใดที่ประเทศนี้สามารถปกครองด้วยหลักการของเสียงข้างมากจริงๆ ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ต้องการทหาร เมื่อนั้นพรรคพลังประชาชนจะต้องได้จัดตั้งรัฐบาลอย่างแน่นอน เพราะประชาชนเสียงข้างมากของประเทศ ยังคงสนับสนุนพรรคไทยรักไทยที่กลายร่างเป็นพรรคพลังประชาชนภายใต้การนำของสมัคร สุนทรเวช หรืออย่างน้อยก็มีจำนวนมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์อย่างแน่นอน
บางคนชอบพรรคพลังประชาชนเพราะนโยบายต่าง ๆ ในอดีตที่ให้ความสำคัญแก่คนระดับล่าง (จะมีคนบางจำพวกแย้งในทันทีว่านโยบายของพรรคไทยรักไทยเดิม และของพรรคพลังประชาชนเป็นนโยบายประชานิยมที่ทำให้คนเป็นหนี้ ทำให้ประชาชนไม่รู้จักพึ่งตนเอง! ทั้งที่ประชาชนอยู่มาได้เป็นร้อยปีก่อนที่จะมีพรรคการเมืองด้วยซ้ำ)
บางคนชอบพรรคพลังประชาชน เพราะความสามารถของนักการเมืองในพื้นที่และความผูกพันภักดีที่มีต่อกัน ซึ่งความผูกพันภักดีที่ว่านี้คนชั้นกลางจะไม่มีทางเข้าใจได้เลยในชีวิตนี้ว่ามีความหมายความสำคัญอย่างไร
วันก่อน เจ้าหน้าที่คนหนึ่งในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าให้ฟังว่าจะอย่างไรก็ยังเลือกพรรคพลังประชาชนแม้ว่าจะไม่ได้เป็นพรรคที่จัดตั้งรัฐบาลก็ตาม เขาให้เหตุผลหลายข้อว่าทำไมจึงยังเลือกพรรคนี้
(แล้วเจ้าหน้าที่คนนี้ก็เล่าให้ฟังถึงข่าวอื้อฉาวเรื่องบ้านราคาสามสิบล้านของอธิการบดีสุรพล นิติไกรพจน์ ซึ่งผมไม่รู้ว่าจริงเท็จมากน้อยเพียงใด ใครที่มีพลังอำนาจช่วยเข้าไปตรวจสอบให้ทีเถิดว่าอธิการบดี ม.7 ท่านนี้ เอาเงินมากมายมาจากไหน มาจาก ”ผลประโยชน์ทับซ้อน” จากตำแหน่งอธิการบดีหรือเปล่า!)
นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยที่จะชี้ให้เห็นว่าประชาชนยังคงเชื่อมั่นศรัทธาในพรรคไทยรักไทยที่ถึงแม้นว่าจะเปลี่ยนชื่อไปแล้วก็ตาม
-3-
คำว่า “ประชาชนต้องมาก่อน” ของพรรคประชาธิปัตย์นั้น ทำให้ผมต้องใช้จินตนาการขนาดหนัก เพราะนึกไม่ออกเลยจริง ๆ ว่าคนอย่างชวน หลีกภัย, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือเทพเทือก นั้นจะปล่อยให้ประชาชนมาก่อนได้อย่างไร
คิดไปคิดมา คำว่า “ประชาชนต้องมาก่อน” จึงน่าจะหมายถึงว่า “ประชาชนต้องมาซวย” ก่อนพรรคประชาธิปัตย์นั่นเอง ผมขอยกตัวอย่างง่าย ๆ ถึงรัฐประหารที่ผ่านมา
หากติดตามประวัติศาสตร์การเมืองบ้าง ก็จะพบได้ไม่ยากว่าพรรคประชาธิปัตย์จะ “โชคดี” ได้จัดตั้งรัฐบาลเสมอหลังเกิดการรัฐประหารแล้วมีการเลือกตั้ง จนอาจกล่าวได้ว่า “รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์กับรัฐประหารเป็นของคู่กัน”
รัฐประหารครั้งที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์สามารถ “สืบทอดอดีต” ของตัวเองได้อย่างดีโดยเล่นเป็น “ลูกคู่” คอยรับและส่งบทให้เข้ากับคณะรัฐประหารอย่างไม่ประดักประเดิดหรือละอายแก่ใจ บางคนจึงเรียกพรรคประชาธิปัตย์ว่าเป็น “อะไหล่ธิปัตย์” คือช่วยสนับสนุน ซ่อมแซม อำนวยความสะดวกแก่กลุ่มที่ยึดอำนาจ
การที่พรรคประชาธิปัตย์ปล่อยให้เกิดรัฐประหารกระทั่งเห็นพ้องด้วย การที่พรรคประชาธิปัตย์ปล่อยให้รัฐบาลเถื่อนทำงานไปโดยคอยเป็น “ลูกคู่” หรือเป็น “อะไหล่” นั้น ไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากปล่อยประชาชนให้ซวยนั่นเอง
เป็นที่ตระหนักกันดีว่าสภาวะเศรษฐกิจหลังรัฐประหารนั้นตกต่ำ ประชาชนเดือดร้อน ค่ารถเมล์ขึ้น ค่าครองชีพเพิ่ม ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นความซวยหลังรัฐประหารต่อเนื่องมาถึงก่อนการเลือกตั้ง เป็นความซวยของประชาชนที่ “เกิดขึ้นก่อน” ที่พรรคประชาธิปัตย์จะได้เป็นรัฐบาล
ดังนั้น คำขวัญที่ว่า “ประชาชนต้องมาก่อน” นั้นเป็นคำขวัญที่ยัง “กล่าวไม่หมดความ” คำขวัญที่ถูกต้องของพรรคประชาธิปัตย์ต้องเป็นว่า “ประชาชนต้องซวยก่อน”
แล้วพอประชาชนรับความซวยไปแล้ว พรรคประชาธิปัตย์ก็จะได้เป็นรัฐบาลบริหารเงินงบประมาณเป็นล้านล้าน สบายใจ.