Skip to main content
 

เป็นการพังทลายลงของสถาบันตุลาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของความน่าเชื่อถือ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญพิพากษายุบพรรคการเมืองซีกรัฐบาลรวดเดียว 3 พรรค อย่างรวบรัดตัดความ เร่งร้อนลนลานและผิด ๆ ถูก ๆ


นักวิชาการผู้เคารพในหลักการ และคอการเมืองทั้งหลายพากันวิพากษ์วิจารณ์กันขรมถึงสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ทำลงไป เริ่มตั้งแต่ประเด็นเรื่องคุณสมบัติของตุลาการผู้เอาตัวรอดด้วยการท่องคาถาคุณธรรม จริยธรรม เป็นนิจสิน อย่างนายจรัล ภักดีธนากุล ไปจนถึงการย้ายสถานที่พิจารณาตัดสินคดีอย่างปุบปับ รวมไปถึงการนำทหารป่าหวายเข้ามาอารักขาตุลาการ แทนที่จะหยุดยั้งเหล่ามารพันธมิตร


บางคนต่อรองไว้ว่าร้อยนึงเอาบาทเดียว ทายว่าพรรคการเมืองจะต้องโดนยุบแน่ ๆ เพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้นซึ่งผลก็ออกมาดังที่รู้กัน


ก่อนหน้าการตัดสินยุบพรรค คุณจาตุรนต์ ฉายแสง ได้เสนออย่างแหลมคมให้นายกรัฐมนตรีลาออกเพื่อตั้งรัฐบาลใหม่หากมีการยุบพรรคเกิดขึ้นก็จะไม่กระทบกระเทือนต่อรัฐบาลมากนัก อย่างไรก็ตาม การแก้เกมในแบบของคุณจาตุรนต์ ฉายแสงก็ไม่ได้รับการขานรับ


ผมลองคิดเล่น ๆ หลังการตัดสินยุบพรรคของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า อยากให้พรรคซีกรัฐบาลเมินเฉยต่อคำตัดสิน ไม่ต้องสนใจต่อคำพิพากษายุบพรรค ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปราวกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นโดยยกเอาความไม่ชอบธรรมต่างๆ ในการพิจารณาคดีตั้งแต่คุณสมบัติของตุลาการ การรวบรัดข้ามขั้นตอน การย้ายสถานที่อย่างปุบปับ ความผิดพลาดของคำวินิจฉัยในขณะที่อ่านจนต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนอันแสดงให้เห็นถึงความไม่รอบคอบ ตลอดจนยกเอากรณีต่าง ๆ ของลัทธิพันธมิตร ฯ ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลมาเทียบเคียง ฯลฯ


เพราะอย่างไรเสียในทางหลักการตลอดจนการวิพากษ์วิจารณ์ในแง่มุมต่าง ๆ พรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลต่างก็ไม่ยอมรับนับถือตุลาการ และคำตัดสินของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว


ถึงวินาทีนี้ ผมคิดว่าไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องไปกลัวศาลหรือต้องปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลอีกต่อไปเพราะครั้งแล้วครั้งเล่า ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นกลาง การเลือกปฏิบัติ การแสดงออกซึ่งความเป็นปรปักษ์ การไม่ยึดหลักการ การรับใช้ฝ่ายการเมืองอย่างออกนอกหน้า


การขัดขืนต่อคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ น่าจะช่วยให้เกิดการทบทวนกระบวนการยุติธรรมเสียใหม่ ว่าที่จริงศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่น่านับถือมาแต่ต้นเพราะแต่งตั้งตามอำเภอใจจากคณะรัฐประหาร ดังนั้นจะเป็นไรไปถ้ารัฐบาล นักการเมืองจะเพิกเฉยต่อคำวินิจฉัยของตุลาการ น่าเสียดายที่พรรคการเมืองซีกรัฐบาลไม่ลอง "ขัดขืน" อย่างมีอารยะต่อการ "ข่มขืน" ด้วยคำตัดสินของบรรดาตุลาการ


อย่างไรก็ตาม ในสายตาประชาชนอย่างน้อยก็คนเสื้อแดง ความศักดิ์สิทธิ์ของศาลรัฐธรรมนูญนั้นไม่มีเหลือแล้ว ผมเชื่อว่าหากตุลาการอย่างนายจรัล ภักดีธนากุล เกิดพลัดหลงเดินเข้าไปในซอยใดซอยหนึ่งที่ไม่คุ้นเคยและมีคนเสื้อแดงจำได้ นายจรัล ภักดีธนากุลจะโดนสหบาทาโดยไม่ต้องสงสัย แบบเดียวกับที่นักศึกษาหัวก้าวหน้ามีอารมณ์โมโหเมื่อเห็นอธิการบดีปากถือศีลอย่างนายสุรพล นิติไกรพจน์ หรือเห็นนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ ข้าช่วงใช้เผด็จการ เดินลอยหน้าลอยตาผ่านไป


ประชาชนต้องจัดการกับองค์กรอิสระที่ตรวจสอบไม่ได้ ไม่มีพลังอะไรอีกแล้วที่จะจัดการกับองค์กรอิสระอย่างกกต. กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญได้นอกจากพลังของประชาชนเท่านั้น จะไปหวังพึ่งเทวดา พึ่งฟ้า พึ่งฝนก็คงไม่ได้เพราะเทวดาฟ้าฝนนั้นเป็นสิ่งที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ ที่สำคัญคือไม่มีเหตุมีผลเอาเสียเลย


ก็ในเมื่อศาลไม่น่าเคารพ เราก็ไม่จำเป็นต้องเคารพ ทำไมนักการเมืองและประชาชนเป็นหมื่นเป็นล้านต้องยอมรับชะตากรรมอันอยุติธรรมจากการตัดสินของคนไม่กี่คน ทำไมเราต้องเชื่อฟังคำวินิจฉัยของคนที่ไม่น่ายอมรับนับถือด้วยเล่า


นอกจากจะจัดการกับองค์กรอิสระที่ตรวจสอบไม่ได้แล้ว พลังประชาชนต้องหาทางลดทอนอำนาจของสถาบันตุลาการลงหรือกันออกไปจากการเมืองให้มากที่สุด เพราะที่ผ่านมาชัดเจนแล้วว่าสถาบันตุลาการนั้นนอกจากจะไม่ยึดโยงกับเสียงของประชาชนแล้ว ยังเป็นปฏิปักษ์ต่อความเป็นนิติรัฐ ปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยด้วย


กองทัพก็เป็นสถาบันหนึ่งที่แตะต้องไม่ได้ อำนาจของกองทัพนั้นแปรผกผันกับความก้าวหน้าของระบอบประชาธิปไตย ต้องช่วยกันหาทางลดบทบาทอำนาจของกองทัพลงให้ได้เช่นกัน


แม้ว่าประชาชนเสื้อแดงจะไม่รุนแรงก้าวร้าว หรือมีพฤติกรรมอันธพาลแบบพวกก่อการร้ายพันธมิตร แต่ในระยะยาวแล้ว ประชาชนเสื้อแดงนี่แหละที่จะเป็นผู้ชนะ พระเอกอาจต้องยอมเจ็บหรือกลืนเลือดบ้าง นั่นเป็นเรื่องธรรมดาของการเป็นพระเอก รวมถึงการที่พระเอกจำยอมให้นางอิจฉาได้จัดตั้งรัฐบาลบ้าง เพื่อที่ว่านางอิจฉาจะได้ไม่ต้องตามอาฆาตมาดร้ายพระเอกไปตลอดชีวิต แต่เชื่อว่าเถิดว่านางอิจฉาต้องตายเพราะแรงอิจฉาและความต่ำช้าตนเอง และพระเอกก็คือพระเอกอยู่วันยังค่ำ


อาจท้อแท้ผิดหวังกระทั่งเจ็บปวดกันบ้าง แต่พลังประชาชนไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องก้าวต่อไป ไม่มีก้าวซ้าย ก้าวขวา นอกจากก้าวไปข้างหน้าเท่านั้น ก้าวไปข้างหน้าเท่านั้นเอง.

บล็อกของ เมธัส บัวชุม

เมธัส บัวชุม
-1-พรรคประชาธิปัตย์หาเสียงเพื่อการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง โดยชูคำขวัญที่ฟังดูดัดจริตและกินไม่ได้ว่า “ประชาชนต้องมาก่อน”ผมได้ยินหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปล่งคำนี้ออกมาแล้วก็ให้นึกสงสัยว่าจะมีใครซักกี่คนในโลกนี้เชื่อในสิ่งที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ พูดออกมาพรรคประชาธิปัตย์ฉวยโอกาส เอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น ๆ ตามสไตล์ถนัดด้วยการโฆษณาหาเสียงก่อนใครเพื่อน  ในขณะที่พรรคคู่แข่งอย่างพรรคพลังประชาชนนั้นต้องเจอกับอำนาจชั่วที่คอยการสกัดกั้นทุกรูปแบบ-2-ต้องรอดูกันต่อไปว่า พรรคพลังประชาชนจะฝ่าต้านแรงสกัดจากอำนาจชั่วได้มากน้อยแค่ไหน…
เมธัส บัวชุม
อันที่จริง ผมตั้งใจจะหยุดเขียนบทความการเมืองสักระยะด้วยรู้สึกระอากับความวิปริตทางปัญญาของสังคมไทย ผมยังรู้สึกหลอนไม่หายกับการยึดอำนาจของทหารท่ามกลางความดีอกดีใจของพวก “ทาสที่ปล่อยไม่ไป” และพวกที่กลุ้มรุมทึ้งแย่งผลประโยชน์ “แห่งชาติ” ที่ไม่ได้ “เหลือแต่กระดูก” หลังการจากไปของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตรกลุ่มคนเหล่านี้ที่เข้ามายึดกุมอำนาจหลังรัฐประหาร ไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับการสร้างประชาธิปไตยหรือปฏิรูปการเมือง  รัฐบาลเถื่อนของนายกรัฐมนตรีสุรยุทธ์ จุลานนท์ กับ คมช. คตส. กกต. ที่ผ่านมาได้ทำอะไรบ้างที่เป็นสร้างเสริมประชาธิปไตย หรือปฏิรูปการเมืองไปสู่ครรลองประชาธิปไตยนอกจากสมคบคิดกันกวาดล้างกลุ่ม…
เมธัส บัวชุม
นิตยสาร “ราหูอมจันทร์” เกิดขึ้นท่ามกลางความซบเซาทั้งทางด้านการเขียน การอ่านและการวิจารณ์ของแวดวงเรื่องสั้นไทย ราหูอมจันทร์ เป็นนิตยสารรายครึ่งปีหรือที่ทางผู้จัดทำเรียกว่ารายฤดูกาล เป็นการคัดสรรเรื่องสั้นที่มีผู้ส่งไปจากทั่วสารทิศเพื่อรวมพิมพ์เป็นเล่มบรรดาคอเรื่องสั้น ต่างวาดหวังว่าการมาถึงของราหูอมจันทร์อาจช่วยให้วงการคึกคักขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อย   อย่างไรก็ตาม เมื่อได้อ่านแล้ว ต้องกล่าวตามตรงว่าราหูอมจันทร์ Vol. 3 “วันปลดปล่อยผีเสื้อ” นั้นมีระดับคุณภาพที่น่าผิดหวังไม่น้อย ทางผู้จัดทำนิตยสารนี้คือกองทุน “กนกพงศ์  สงสมพันธุ์” ก็ยอมรับว่า“ราหูอมจันทร์ Vol. 3…