Skip to main content
ชัยชนะที่ได้มาด้วยการฉ้อฉลของพรรคประชาธิปัตย์ แม้จะมีผลลัพธ์ออกมาเป็นรูปธรรมด้วยการจัดตั้งรัฐบาลสมความมุ่งมาดปรารถนาที่รอคอยมาเกือบสิบปี แต่ก็ด่างพร้อยอย่างยิ่ง ไม่มีความสง่างามแม้แต่นิดเดียว ล่อนจ้อนน่าละอาย ผิดกติกามารยาทรวมไปถึงผิดกฏหมาย กระทั่งก่อให้เกิดความระอาเกลียดชัง


บทบาทพฤติกรรมของพรรคประชาธิปัตย์ที่ก่อให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกข้างต้น ทำให้หลายคนตั้งฉายา สร้างวาทกรรมในการใช้เรียกขานพรรคประชาธิปัตย์ไปต่าง ๆ  นานาซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นไปในแง่ลบ

ฉายาที่ 1
"รัฐบาลต่างตอบแทน" ตอบแทนกระทรวงกลาโหมให้กองทัพที่ยืนหยัดช่วยเหลือทั้งทางตรงทางอ้อมแก่พรรคประชาธิปัตย์มาโดยตลอด ไม่มีการสลายม็อบยึดสนามบินที่แกนนำเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ ตอบแทนกระทรวงต่างประเทศให้แก่กลุ่มก่อการร้ายพันธมิตรที่ช่วยกันปิดสนามบินสุวรรณภูมิอย่างสนุกสนาน

ฉายาที่ 2
"ครม.ไอ้ห้อยไอ้โหน" ฉายาไอ้โหนไอ้ห้อย ไม่ได้ชวนให้นึกถึงใครเลยนอกจากนึกถึงนักการเมือง "งูเห่า" จากบุรีรัมย์ที่ผละจากนายเก่าเข้าร่วมเรียงเคียงหมอนผสมพันธุ์กับพรรคประชาธิปัตย์ แล้วดันวงศาคณาญาติ ทั้งพ่อทั้งน้อง และพรรคพวกเข้าไปกวาดตำแหน่งสำคัญ ๆ ได้สำเร็จ

ฉายาที่ 3
"รัฐบาลแบล็กเมล์" ความสามารถในการแบล็กเมล์ของพรรคประชาธิปัตย์นั้นเรียกได้ว่าเข้า "ขั้นเทพ" ขยันวิ่งเต้นเข้าหาผู้มีอำนาจบารมีนอกและในรัฐธรรมนูญอย่างไม่รู้จักเหนื่อย สนับสนุนรัฐประหารล้มรัฐบาลเลือกตั้ง สมคบคิดกับพันธมิตรปิดสนามบิน เล่นการเมืองนอกกติกามารยาท

ฉายาที่ 4
"รัฐบาลไฮแจ๊ค" เสนาะ เทียนทอง ผู้ซึ่งพลาดหวังจากการขายไอเดีย "รัฐบาลแห่งชาติ"   ที่ไม่มีใครเขาเอาด้วย ตั้งฉายานี้ให้กับพรรคประชาธิปัตย์

เสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราชที่หาที่ยืนไม่ได้ บอกว่า "ไม่อยากวิจารณ์รัฐบาลชุดใหม่ แต่บอกคำเดียวว่าเป็นรัฐบาลที่ไปปล้นเขามา ปล้นกลางอากาศ หรือไฮแจ็ค โดยไม่เกรงใจและไม่คำนึงถึงความรู้สึกของประชาชน เป็นยุคที่บ้านเมืองตกต่ำสุดๆ ยุคที่นักการเมืองกับผู้มีอำนาจหลายฝ่ายรวมหัวปู้ยี่ปู้ยำประเทศอย่างกับไม่ใช่คนไทย เพียงเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งเพื่อเป็นนายกฯ ขอเตือนว่าที่นี่ประเทศไทย ไม่ใช่บ้านของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ หรือของใครที่ชอบเอาสถาบันมาบังหน้า เพื่อให้ได้สิ่งที่ตัวเองและพวกพ้องต้องการ" (ไทยรัฐ, 25 ธ.ค.51) http://www.thairath.com/news.php?section=politics&content=116101

นอกจากฉายาข้างต้นแล้ว ยังมีฉายาอื่น ๆ ที่ความหมายใกล้เคียงกันอีก เช่น "รัฐบาลอุปถัมภ์" "รัฐบาลมีเส้น"  "รัฐบาลนอกรัฐธรรมนูญ"

ในที่นี้จะขอเพิ่มฉายาให้รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อีกฉายาหนึ่งว่า
"รัฐบาลนางอิจฉา"  

เท่าที่เกิดทันและจำความได้ ได้เห็น ได้อ่าน ได้พบว่าพรรคประชาธิปัตย์ทำตัวเป็นผู้ร้ายมาตลอดประวัติศาสตร์ เอาดีใส่ตัวไปพร้อมกับที่คอยให้ร้ายคนอื่น ทำแม้กระทั่งสร้างหลักฐานปลอมหลอกคนทั้งประเทศ

น่าแปลกที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ชอบเล่นเป็นพระเอกหรือนางเอก หากจ้องแต่จะเล่นบทนางอิจฉา!

พรรคประชาธิปัตย์คงรู้สึกสนุกสะใจในบทของนางอิจฉาที่ได้หาเรื่องตบตีนางเอก ยุให้นางเอกเลิกกับพระเอก จ้างนักเลงมาฉุดคร่าข่มขืนนางเอก หรือสาดน้ำกรดให้นางเอกเสียโฉมเพราะอิจฉาที่สวยกว่า ฯลฯ 

แผนการณ์ต่าง ๆ ของนางอิจฉาในการทำลายนางเอกนั้นมีต้นทุนที่ต้องจ่าย บางทีเมื่อเข้าตาจน นางอิจฉาต้องแปลงร่างกายของตนเองให้เป็นทุนในปฏิบัติการทำร้ายนางเอก ขอให้ความปรารถนาประสบความสำเร็จ นางอิจฉายอมทำทุกอย่าง ขอให้ได้เป็นรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ยินยอมทำทุกอย่าง

ถ้าเป็นละครหลังข่าว นางอิจฉาอาจประสบความสำเร็จในการทำให้พระเอกกับนางเอกเข้าใจผิดกันแต่ก็เป็นเพียงชั่วครู่ชั่วคราวเท่านั้น ท้ายที่สุด พระเอก นางเอกก็จะกลับมาคืนดี แต่งงานอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข

นางอิจฉาอาจได้เป็นฝ่ายตบตีนางเอกจนร้องไห้ขี้มูกโป่ง กลั่นแกล้งนางเอกแสนดีที่ไม่ถนัดในการตบตีหรือตอบโต้คนอื่นเขา บางครั้งนางเอกอาจเกือบถูกนักเลงที่จ้างมาข่มขืน แต่กระนั้นก็เอาตัวรอดได้เสมอ

อันที่จริง นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีตั้งนานแล้วหากไม่มัวหมกมุ่นกับการเล่นบทเป็นนางอิจฉา อาศัยช่วงที่การเมืองวุ่นวาย หากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซื้อใจชาวเสื้อแดงโดยการเล่นบท(สร้างภาพให้คนเชื่อว่า) เป็นพระเอก หาทางลง เสนอทางออกที่เป็นไปได้(แต่ไม่ต้องทำจริง) ให้อดีตนายก ฯ ทักษิณ  ชินวัตร

หากนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ รับบทเป็นพระเอกและตีบทให้แตก ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ได้มาคงงามสง่าและไม่ตามมาด้วยความโกรธเกลียดมากขนาดนี้ แต่โดยประวัติศาสตร์และความเป็นจริง พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยเล่นบทอะไรเลยนอกจากบทนางอิจฉา  

บางตอน บางฉาก ดูเหมือนว่านางอิจฉาจะได้รับชัยชนะแต่เป็นชัยชนะที่ผู้ชมทางบ้านไม่เห็นด้วย เช่นเดียวกับที่พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดตั้งรัฐบาลที่ทำให้ผู้ชมทางบ้านไม่พอใจ แต่ตามขนบของนิยายแล้ว นางอิจฉาจะต้องพ่ายแพ้โดยที่พระเอกนางเอกไม่ต้องทำอะไร ความอิจฉาจะทำลายตัวมันเอง เพียงแต่จะพ่ายแพ้ในรูปแบบใด, อกแตกตาย, ธรณีสูบ, โดนรุมประชาทัณฑ์, สถาบันล่มสลาย โปรดคอยรอดู

บล็อกของ เมธัส บัวชุม

เมธัส บัวชุม
-1-พรรคประชาธิปัตย์หาเสียงเพื่อการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง โดยชูคำขวัญที่ฟังดูดัดจริตและกินไม่ได้ว่า “ประชาชนต้องมาก่อน”ผมได้ยินหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปล่งคำนี้ออกมาแล้วก็ให้นึกสงสัยว่าจะมีใครซักกี่คนในโลกนี้เชื่อในสิ่งที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ พูดออกมาพรรคประชาธิปัตย์ฉวยโอกาส เอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น ๆ ตามสไตล์ถนัดด้วยการโฆษณาหาเสียงก่อนใครเพื่อน  ในขณะที่พรรคคู่แข่งอย่างพรรคพลังประชาชนนั้นต้องเจอกับอำนาจชั่วที่คอยการสกัดกั้นทุกรูปแบบ-2-ต้องรอดูกันต่อไปว่า พรรคพลังประชาชนจะฝ่าต้านแรงสกัดจากอำนาจชั่วได้มากน้อยแค่ไหน…
เมธัส บัวชุม
อันที่จริง ผมตั้งใจจะหยุดเขียนบทความการเมืองสักระยะด้วยรู้สึกระอากับความวิปริตทางปัญญาของสังคมไทย ผมยังรู้สึกหลอนไม่หายกับการยึดอำนาจของทหารท่ามกลางความดีอกดีใจของพวก “ทาสที่ปล่อยไม่ไป” และพวกที่กลุ้มรุมทึ้งแย่งผลประโยชน์ “แห่งชาติ” ที่ไม่ได้ “เหลือแต่กระดูก” หลังการจากไปของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตรกลุ่มคนเหล่านี้ที่เข้ามายึดกุมอำนาจหลังรัฐประหาร ไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับการสร้างประชาธิปไตยหรือปฏิรูปการเมือง  รัฐบาลเถื่อนของนายกรัฐมนตรีสุรยุทธ์ จุลานนท์ กับ คมช. คตส. กกต. ที่ผ่านมาได้ทำอะไรบ้างที่เป็นสร้างเสริมประชาธิปไตย หรือปฏิรูปการเมืองไปสู่ครรลองประชาธิปไตยนอกจากสมคบคิดกันกวาดล้างกลุ่ม…
เมธัส บัวชุม
นิตยสาร “ราหูอมจันทร์” เกิดขึ้นท่ามกลางความซบเซาทั้งทางด้านการเขียน การอ่านและการวิจารณ์ของแวดวงเรื่องสั้นไทย ราหูอมจันทร์ เป็นนิตยสารรายครึ่งปีหรือที่ทางผู้จัดทำเรียกว่ารายฤดูกาล เป็นการคัดสรรเรื่องสั้นที่มีผู้ส่งไปจากทั่วสารทิศเพื่อรวมพิมพ์เป็นเล่มบรรดาคอเรื่องสั้น ต่างวาดหวังว่าการมาถึงของราหูอมจันทร์อาจช่วยให้วงการคึกคักขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อย   อย่างไรก็ตาม เมื่อได้อ่านแล้ว ต้องกล่าวตามตรงว่าราหูอมจันทร์ Vol. 3 “วันปลดปล่อยผีเสื้อ” นั้นมีระดับคุณภาพที่น่าผิดหวังไม่น้อย ทางผู้จัดทำนิตยสารนี้คือกองทุน “กนกพงศ์  สงสมพันธุ์” ก็ยอมรับว่า“ราหูอมจันทร์ Vol. 3…