-1-
การยึดอำนาจโดยกลุ่มทหาร ที่เรียกตัวเองด้วยชื่อที่ฟังดูคุ้นหูสำหรับคนที่พบเห็นหรือศึกษาเกี่ยวกับการรัฐประหารมาบ้างว่า “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” (คปค.) ในวันที่ 19 กันยายน 2549 นั้นถือเป็นฝันร้ายยาวนานสำหรับสังคมการเมืองไทย และเชื่อว่าจะตามหลอกตามหลอนประวัติศาสตร์ของประชาธิปไตยไปตลอด
คณะทหารที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ในเวลาต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเรียกตัวเองเสียใหม่แต่ก็ยังฟังดูคุ้น ๆ อยู่ดีว่า “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ” (คมช.) บัดนี้คำว่า “ความมั่นคง” ปรากฏขึ้นอย่างเป็นทางการแล้วในรูปของชื่อเรียก
และนับจากนี้เป็นต้นไป วาทกรรม “ความมั่นคง” ก็ได้หวนกลับมาหลอกหลอนสังคมการเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง ไม่ว่าในรูปของ “กฏหมายความมั่นคง” ซึ่งฝ่ายทหารกำลังผลักดันกันอย่างหนัก หรือการแทรกแซงกิจกรรมของพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามภายใต้คำว่า “ความมั่นคง” หรือการคงกฏอัยการศึกไว้ในบางจังหวัดด้วยข้ออ้าง ”ความมั่นคง” ฯลฯ
เราได้ยิน ได้ฟังพลเอกสนธิ บุณยรัตนกลิน อดีต ประธาน คปค.และคมช. ประธาน ครส. เอ่ยคำว่า “ความมั่นคง” โดยไม่ละอายปากบ่อยครั้งมาก จนทำให้เกิดความสงสัยว่าประเทศไทยอาจตกอยู่ภายใต้ ”ความไม่มั่นคง” ดังที่ทหารนายนี้บอก ?
แต่จะมีใครที่ไหนที่จะเชื่อคำกล่าวอ้างเรื่อง “ความมั่นคง” ของทหารที่ริอาจคิดการณ์ใหญ่รายนี้
-2-
พลเอกสนธิ บุณยรัตนกลินซึ่งมัก “ตีหน้าเศร้า” อยู่ในเป็นนิจเวลาให้สัมภาษณ์สื่อ พูดถึงเรื่องความมั่นคงและเรื่องอื่น ซึ่งเราอาจจัดแบ่งวาทกรรม “ความมั่นคง” ที่พลเอกสนธิ บุณยรัตนกลิน “ใช้เป็นอาวุธ” ได้ตามการใช้งานเป็น 2 ประเภทอย่างกว้าง ๆ คือ “ความมั่นคงเพื่อทำร้ายผู้อื่น” และ “ความมั่นคงเพื่อปกป้องตนเอง” หรืออาจเรียกรวม ๆ ว่า “ความมั่นคงที่จะนำไปสู่อำนาจ” หรือ “ความมั่นคงในการรักษาอำนาจไว้”
คำว่า “ความมั่นคง” จึงไม่ได้เป็นแค่คำซื่อ ๆ ที่มีความหมายตรงไปตรงมาตามพจนานุกรม หากแต่เป็นอาวุธที่นายทหารรายนี้ใช้และกลุ่มทหารก็ใช้อยู่เสมอเวลายึดอำนาจ เป็นข้ออ้างในการสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำของตนเอง และพรรคพวกหลังจากทำประเทศเสียหายอย่างไม่อาจย้อนคืนแก้ไข
ผมถามตนเองเล่น ๆ ว่าพลเอกสนธิ บุณยรัตนกลิน รู้อยู่แก่ใจหรือเปล่าว่าตนเองกำลังพูดเท็จหรือว่าเชื่อในสิ่งที่ตนเองพูดจริง ๆ ? เชื่อจริง ๆ ว่าประเทศไทยต้องการความมั่นคงเร่งด่วนเพราะกำลังตกอยู่ในความไม่มั่นคงในรูปแบบต่าง ๆ ? เชื่อจริง ๆ หรือว่าปัญหายาเสพติดหรือการหลบหนีเข้าประเทศไทยของคนต่างด้าวเป็นปัญหา “ความมั่นคง” ที่สั่นคลอนเสถียรภาพความเป็นอยู่ของคนไทย ? พลเอกสนธิ บุณยรัตนกลิน ไม่ละอายแก่ใจหรือเกรงกลัวต่อบาปเลยหรือไรในยามที่เปล่งคำว่า “ความมั่นคง” ออกมา ?
เมื่อมองย้อนกลับไปจะพบว่า “ความมั่นคง” เป็นวาทกรรมเก่าแก่ยาวนานซึ่งผมเคยได้ยินได้ฟังจากหน่วยงานราชการทหารมาตั้งแต่ยังเด็ก และคิดว่าคงจะตายจากไปและใช้ไม่ได้อีก
แต่โดยไม่คาดคิด ใครหลายคนก็คงไม่คาดคิดเช่นเดียวกับผม “ความมั่นคง” ได้ย้อนกลับคืนมาอีกหนในบรรยากาศที่คนไทยกำลังสับสนวิปริตทางปัญญาอย่างหนัก สับสนจนไม่อาจพิเคราะห์ได้ว่า “ความมั่นคง” จะเป็นชนวนระเบิดทำลายประชาธิปไตย ทำลายความสงบสุขในอนาคตข้างหน้า
ค่าที่ได้ยินคำว่า “ความมั่นคง” ครั้งแล้วครั้งเล่า ผมก็อดสงสัยไม่ได้ว่านายทหารที่ยึดอำนาจและต้องการเถลิงอำนาจต่อไปนั้น “หมดมุก” แล้วหรือไรที่ไป “ปลุกผีความมั่นคง” หรือ “ปลุกผีคอมมิวนิสต์” ให้ฟื้นขึ้นมา
นายทหารที่ยึดอำนาจไม่มีปัญญาจะคิด “มุกใหม่” ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในยุคโลกาภิวัฒน์และฟังดูเข้าท่าน่าซื้อกว่าเรื่อง “ความมั่นคง” ?
ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ไม่ว่าใครก็คงไม่เชื่อเรื่อง “ความมั่นคง” แต่ที่ “ความมั่นคง” ยังใช้การได้นั้นเกิดจากกระแส “ไม่เอาทักษิณ” ต่างหาก หาได้เกิดจากความเชื่อในเรื่อง “ความไม่มั่นคง” ที่คุกคามประเทศไทยไม่
พลเอกสนธิ บุณยรัตนกลิน คงจะพ่นเรื่อง “ความมั่นคง” ไปเรื่อย ๆ ตราบใดที่คิดว่ามันยังขายได้ เมื่อจวนตัวเรื่องเอกสารลับซึ่งระบุชัดเจนจนไม่ต้องตีความว่าต้องการทำลายพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม สิ่งที่หลุดออกมาจากปากของทหารรายนี้ก็คือ “ความมั่นคง” หรือ “นำประเด็นเรื่องความมั่นคงพิจารณาร่วมด้วย”
ผมไม่อาจเข้าใจและไม่อาจเชื่อแม้แต่น้อยว่า “ความมั่นคง” ที่พลเอกสนธิ บุณยรัตนกลิน เอ่ยอ้างถึงนั้นเป็นความมั่นคงของประเทศชาติ เพราะไม่เห็นเหตุอะไรที่ต้องเชื่อ แต่วาทกรรม “ความมั่นคง” นั้นน่าจะหมายถึง “ความมั่นคงของพลเอกสนธิ บุณยรัตนกลิน” ซึ่งตกเป็นเป้าแห่งความเกลียดชังอย่างไม่ปิดบังของคนจำนวนมาก
ได้แต่หวังว่า หน้ากากที่เรียกว่า “ความมั่นคง” ของพลเอกสนธิ บุณยรัตนกลิน จะถูกถอดออก และได้พบธาตุแท้ของทหารที่ “เสพติดความมั่นคง” รายนี้