แม้ผลการตัดสินคดียึดทรัพย์เป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้อยู่แล้ว แต่คนเสื้อแดงหลายคนยังรู้สึกเจ็บปวด บางคนถึงขั้นหลั่งน้ำตาทั้งที่เงินนั้นไม่ใช่เงินของตนเอง พวกอำมาตย์ พรรคประชาธิปัตย์และคนเสื้อเหลืองไม่มีทางเข้าใจได้เลยว่าที่คนเสื้อแดงหลั่งน้ำตานั้นไม่ใช่เพราะเสียดายเงินของอดีตนายก ฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกยึดไปอย่างไม่เป็นธรรม แต่เป็นเพราะรู้สึกเจ็บปวดที่ตนเองทำอะไรไม่ได้เมื่อเห็นความอยุติธรรมบังเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาครั้งแล้วครั้งเล่า
สมมติเราเห็นเด็กหญิงถูกรุมโทรมโดยแก๊งขี้ยาต่อหน้าต่อตาเราโดยที่เราช่วยอะไรไม่ได้เลย เราจะรู้สึกอย่างไร?
บางคนอาจบอกว่าเฉย ๆ
แล้วถ้าสมมติว่าเด็กหญิงที่ถูกรุมโทรมนั้นเป็นลูกสาวของเราเอง เราจะรู้สึกอย่างไร ?
ทำนองเดียวกันอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร กำลังถูกรุมโทรม(เราอาจจะเรียกว่ารุมกินโต๊ะก็ได้) หากจิตใจเราไม่บอดใบ้จนเกินไป หากความเป็นมนุษย์ของเราอยู่ครบ แม้จะไม่ถึงกับเจ็บแค้นแต่อย่างน้อยที่สุดเราคงรู้สึกแย่ สะเทือนใจ ไม่เห็นด้วย แม้แต่คนที่ไม่ชอบคนเสื้อแดงหลายคนยังรับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้
เราอาจเฉย ๆ กับเงินของคนอื่น เราอาจเฉย ๆ ถ้ามันเป็นเรื่องของคนอื่นจริง ๆ โดยที่ไม่มีอะไรเกี่ยวกับเรา แต่นี่ไม่ใช่
การยึดอำนาจรัฐบาลเลือกตั้งเมื่อกันยายนปี 49 การยุบพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงจากประชาชนมากที่สุดถึงสองครั้งอย่างไร้เหตุผล การโฆษณาชวนเชื่อใส่ร้ายคนเสื้อแดงทางสื่อต่าง ๆ การหลอกกันซึ่งหน้าในหลายกรณี เหล่านี้จะบอกว่าไม่เกี่ยวข้องกับเราเลยคงไม่ได้ อย่างน้อยที่สุดมันขัดแยังกับสำนึกพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ซึ่งรู้จักคำว่าเหตุผลและความถูกต้อง
การกระทำทางการเมืองของฝ่ายอำมาตย์ที่มีต่อประชาชนและตัวแทนประชาชนในระยะเกือบครึ่งทศวรรษที่ผ่านมานั้น มากเกินจะรับได้แล้วจริง ๆ การปะทุออกของความแค้นซึ่งอาจแปรเป็นความรุนแรงจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้และเข้าใจได้ซึ่งถ้าว่าไปแล้วดูเหมือนเป็นหนทางเดียวเท่านั้นในการเอาคืนฝ่ายอำมาตย์ที่แม้นจะใช้ความรุนแรงกำราบประชาชนเสมอ แต่อำมาตย์จะหวาดแสยงต่อความรุนแรงที่จะเกิดกับตัวเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ผมลองคิดคำนึงถึงวิธีที่เป็นไปได้ต่าง ๆ ที่จะทำให้ตนเองสามารถดำรงอยู่ในสังคมนี้ได้แม้จะไม่ค่อยสุขใจมากนัก แต่ก็ไม่ทุกข์จนถึงขั้นทำให้คลั่งหรือหมดความอดทนขนาดขับรถแท็กซี่ชนรถถังแบบคุณนวมทอง ไพรวัลย์ หรือปราศรัยในที่สาธารณะโดยไม่แคร์หน้าอินทร์หน้าพรหมแบบคุณดา ตอร์ปิโด ฯลฯ
วิธีการในการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมที่อับจนปัญญาเพราะถูกครอบงำด้วยปีกแห่งเงามืดของเหล่าอำมาตย์ มีดังนี้
วิธีที่ 1 ปล่อยวาง!
ใช้หลักศาสนาเข้าข่มจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นไตรลักษณ์, ขันธ์ 5, อริยสัจ 4 ให้คิดเสียว่าสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม คนทำดีย่อมได้ดี เพียงแต่ว่าในบางกรณีผลกรรมดีอาจเดินทางมาถึงช้าทั้งนี้เป็นเพราะกรรมชั่วเก่าก่อนที่เคยทำไว้ ชดใช้กรรมชั่วหมดแล้ว สิ่งดี ๆ จะมาหาเอง ส่วนคนที่ทำชั่วย่อมหนีผลชั่วไปไม่พ้น
วิธีที่ 2 ให้ความสำคัญกับการเมืองน้อยลง
คือทำเป็นเฉย ๆ กับเรื่องราวทางการเมือง ให้คิดเสียว่าแม้การเมืองจะเกี่ยวข้องกับชีวิตแต่ไม่ทั้งหมด ชีวิตยังมีมิติด้านอื่น ๆ ที่สำคัญไม่แพ้กัน ติดตามข่าวการเมืองให้น้อยลง อ่านหนังสือพิมพ์ ดูโทรทัศน์ให้น้อยลง พบปะเพื่อนฝูงที่เป็นคอการเมืองให้น้อยลงเช่นกัน ไม่เฉียดเข้าไปใกล้วงกาแฟ เดินหนีเมื่อมีใครชวนคุยการเมือง หลีกเลี่ยงการฟังการสัมมนาทางการเมือง ตัดใจไม่เข้าไปในเวบไซต์การเมืองที่เคยเข้าไปประจำ
วิธีที่ 3 เบี่ยงเบนความสนใจ
มองหาสิ่งที่จะมาทดแทนความสนใจในเรื่องการเมือง คิดเสียว่าโลกและชีวิตมีสิ่งสวยงามและความบันเทิงเริงรมย์มากมายให้ลิ้มลองสัมผัส เดินทางท่องเที่ยว ชื่นชมธรรมชาติอันสวยงาม ไปในที่ที่ไม่เคยไป ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ เอาการเอางานในเรื่องเซ็กส์ให้มากขึ้นหรือไม่ก็คิดอะไรที่เป็นนามธรรมมาก ๆ อาจทำตัวเป็นนักปรัชญาที่หลุดลอยจากโลกจริงก็ได้
วิธีที่ 4 วางตัวเป็นนักวิชาการ
วิธีนี้สามารถติดตามเรื่องราวทางการเมืองได้เหมือนเดิม เพียงแต่ยกระดับการวิเคราะห์วิจารณ์ปรากฏการณ์ทางการเมืองโดยไม่เอาความรู้สึกหรือความเห็นของตนเองเข้าไปเกี่ยวข้อง มองการเมืองอย่างเป็นหลักวิชา ต้องไม่แสดงจุดยืนให้เป็นที่ปรากฏ เมื่อมีใครถามก็ให้บอกว่าตนเองเป็นกลาง วิธีนี้ดัดจริตที่สุดแต่ก็ใช้ได้ผล คนที่ผมเคยรู้จักหลายคนเป็นแบบนี้
วิธีที่ 5 จะไปยากอะไร
ประกาศว่าตนเองเป็นคนเสื้อแดงให้รู้แล้ว รู้รอด เข้าร่วมการชุมนุมใหญ่ ต่อสู้กับพวกอำมาตย์อย่างถึงที่สุด อาจระบายความอัดอั้นโกรธแค้นด้วยการปาขี้ใส่รูปนายกรัฐมนตรีหรือใช้วิธีการใด ๆ ก็สุดแท้แต่จะคิดค้นกันขึ้นมา ให้ท่องในใจว่า “กูไม่กลัวมึง! พวกอำมาตย์!”
บทความเรื่อง "แรงฤทธิ์ แต่อ่อนผล" ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในมติชนรายวันhttp://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01act01020352§ionid=0130&day=2009-03-02 (วันที่ 02 มีนาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11314) มีหลายประโยค หลายวลี หลายคำที่อ่านแล้วต้องส่ายหัวด้วยความอิดหนาระอาใจกับอคติและภูมิปัญญาของเขา แต่มีอยู่ประโยคหนึ่งที่อ่านแล้วทำให้ผมสะดุดหยุดกึกในทันทีคือประโยคที่ว่า "ไม่ผิดอะไรที่จะรักทักษิณ แต่รักทักษิณและรักประชาธิปไตยพร้อมกันไม่ได้เพราะสองอย่างนี้ขัดแย้งกันเอง"