Skip to main content

ผมรู้สึกประหลาดใจ คาดไม่ถึง เหลือเชื่อ รับไม่ได้ ต่อบทความของศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันจันทร์ ที่ 25 พฤศจิกายน 2550  ผมอ่านอย่างตั้งใจทีคำ ทีละประโยค  เมื่ออ่านจบแล้ว ได้แต่ส่ายหัว บ่นงึมงัมอยู่คนเดียวว่านิธิ เอียวศรีวงศ์ได้เขียนอย่างที่เขียนไปแล้วได้อย่างไร

เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า นิธิ  เอียวศรีวงศ์ ในวัยชรา ได้ทำลายตัวเองด้วยการเขียนบทความอันน่าสะอิดสะเอียนเพื่อชื่นชม คุณอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อย่างหน้ามืดตามัว เขาเขียนว่า

“คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะแสดงความเหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป (ภายใต้สภาวการณ์ดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้ คือภายใต้ระบบราชการซึ่งมีกองทัพเป็นผู้นำ) มาอย่างน้อยสามเรื่องแล้ว คุณอภิสิทธิ์เสนอให้ยกเลิกกฎอัยการศึกเสีย เมื่อจะจัดให้มีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม,คุณอภิสิทธิ์คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงและสัญญาว่าจะแก้ไขเมื่อได้เป็นรัฐบาล และไม่กี่วันมานี้ คุณอภิสิทธิ์แสดงความไม่เห็นด้วยกับ กกต.ที่แนะนำมิให้นักการเมืองใช้ 111 อดีตผู้บริหาร ทรท.เป็นสื่อในการหาเสียง”

นิธิ  เอียวศรีวงศ์ เชื่อจริงๆ หรือว่า ทั้งสามเรื่องข้างต้นอันเป็นการแสดงถึง ความสง่างามและความเหมาะสมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นิธิ  เอียวศรีวงศ์ไม่ถามตัวเองเลยหรือว่าทั้งสามเรื่องข้างต้นนั้นเป็น “ความตั้งใจ” ของอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ จริง ๆ  หรือเป็นแค่โวหารประชาธิปไตยเพื่อเรียกคะแนนชื่นชมเท่านั้น ?  

นอกจากให้สัมภาษณ์ไปตามเรื่องตามราวตามแผนการตลาดแล้ว ที่ผ่าน ๆ มา นิธิ  เอียวศรีวงศ์ เคยเห็นคนอย่างอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ เคลื่อนไหวเรียกร้องอะไรเพื่อประชาธิปไตยมาก่อนบ้างหรือไม่ ?

นิธิ  เอียวศรีวงศ์ ลืมไปแล้วว่าพรรคประชาธิปัตย์เคยสร้างผลงานอะไรไว้หรือไม่เคยสร้างผลงานอะไรไว้บ้างในอดีต นิธิ เอียวศรีวงศ์ จำไม่ได้หรือว่า คนอย่างอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ นั้นเคยให้การสนับสนุนการยึดอำนาจของทหารจากรัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้ง เป็นผู้สนับสนุนมาตรา 7  ที่เปิดโอกาสให้คนนอกเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี และสนับสนุนรัฐธรรมนูญปี 2550 อันเป็นรัฐธรรมนูญบัดซบที่นิธิ  เอียวศรีวงศ์ ได้คัดค้านอย่างแข็งขัน!

อย่างไม่ปิดบัง นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนบทความชิ้นนี้ออกมาก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 23 ธันวาคม 2550  เขาแสดงจุดยืนของเขาออกมาแล้วว่าต้องการให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีหรือพรรคใดควรจะเป็นรัฐบาล

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าบทความชิ้นนี้ถูกเขียนด้วยรสนิยมทางการเมืองที่แย่เอามาก ๆ และทำลายหลักการอย่างร้ายแรงไม่ต่างอะไรกับที่พรรคประชาธิปัตย์และคมช.กระทำต่อประชาธิปไตย

อันที่จริงการแสดงจุดยืนหรือรสนิยมทางการเมืองของตัวเองออกมาเป็นเรื่องธรรมดา ถือเป็นเรื่องที่ดีด้วยซ้ำ แต่การเชียร์อย่างมืดบอดแบบนี้ของนิธิ  เอียวศรีวงศ์ นับเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจกระทั่งสมควรประณาม และเมื่อคิดว่านิธิ  เอียวศรีวงศ์เป็นนักวิชาการอันดับต้น  ๆ ของประเทศ ที่พูดหรือเขียนมีคนฟังคนอ่านและคนคล้อยตาม เป็นนักวิชาการที่ถูกคาดหวังว่ามีความเป็นกลางหรืออย่างน้อยก็ยึดควรหลักการ ไม่โอนเอียงไปฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่ง แต่แล้วนิธิ  เอียวศรีวงศ์ ก็แสดงตัวตนออกมาไม่ต่างอะไรจากนักการเมือง

มากไปกว่าการแสดงจุดยืนแบบปัจเจกชนของนิธิ  เอียวศรีวงศ์ การเขียนบทความผ่านสื่อ คือการโน้มน้าวชักจูงใจ(อาจเรียกได้ว่าหลอก)คนอ่าน ตลอดจนศิษยานุศิษย์ของเขาให้คล้อยตามเห็นดีเห็นงามไปกับเขาว่าคุณอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ มีความเหมาะสมกว่าใครอื่นในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

นิธิ  เอียวศรีวงศ์ ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องหิริโอตตัปปะเลยสักนิดเดียว ดังนั้นเขาจึงดั้นด้นเขียนต่อไปว่า

“นายกรัฐมนตรีคนใหม่ต้องกล้าเผชิญกับแรงกดดันจากกองทัพ รวมทั้งแรงกดดันจากองค์กรอิสระอีกมากที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้น อย่างอาจหาญและมีศักดิ์ศรีด้วย ดังที่คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้แสดงให้เห็นอย่างนุ่มนวล แต่สง่างามในครั้งนี้ความนุ่มนวลก็มีความสำคัญ”

คำกล่าวข้างต้นอาจทำให้ผู้อ่านสำรอกได้เลยทีเดียว เพราะนิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เสกคาถาให้คุณอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ กลายเป็นบุคคลที่ “อาจหาญและมีศักดิ์ศรี” กับ “นุ่มนวลแต่สง่างาม” แบบไม่ต้องคิดมากไปแล้วในพริบตา  

อันที่จริงหากจะมองหาความดีของใครสักคนแล้วนำมายกย่องเทิดทูนนั้น คนทุกคนสามารถที่จะถูกยกย่องได้หมด  เพราะคนทุกคนย่อมมีทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดีในชีวิตปะปนกันไป ไม่เว้นแม้แต่โจร ไม่เว้นแม้แต่คุณทักษิณ  ชินวัตร และคุณอภิทธิ์  เวชชาชีวะ การที่นิธิ  เอียวศรีวงศ์มองเห็นแต่ความดีของอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  และมองเห็นแต่ความไม่ดีของคุณทักษิณ  ชินวัตร นั้นหมายความว่าอย่างไร?

มันคงไม่ได้หมายความว่าอย่างไร นอกจากหมายความว่านิธิ  เอียวศรีวงศ์ ชอบอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลก็เท่านั้นเอง  แม้ว่าจะต้องเขียนบทความเชียร์ที่เต็มไปด้วยอคติอย่างน่าเกลียด เขาก็ยอมทำ

ในท้ายยบทความ นิธิ  เอียวศรีวงศ์ ชื่นชมคุณ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และแขวะคู่แข่งอย่างคุณสมัคร สุนทรเวชไปพร้อมกันว่า

“แม้ว่าการปลดปล่อยการเมืองไทยออกจากระบบราชการ และกองทัพเป็นภารกิจเร่งด่วนและสำคัญสุดยอด แต่เราควรหลีกเลี่ยงการปะทะนองเลือดกับกองทัพอย่างที่เคยเกิดมาแล้วในเหตุการณ์ 14 ตุลาและพฤษภาทมิฬ ทั้งสองครั้งที่ผ่านมาล้วนอยู่ภายใต้นายกรัฐมนตรีที่เป็นคนของกองทัพเอง ซึ่งทำให้หลีกเลี่ยงการปะทะได้ยากขึ้น ความนุ่มนวลแต่แกร่งกล้าของคุณอภิสิทธิ์อาจช่วยให้คุณอภิสิทธิ์สามารถนำทหารกลับกรมกองโดยสงบ และสร้างระบบราชการให้เป็นเครื่องมือที่ซื่อสัตย์และมีประสิทธิภาพ เพื่อสนองนโยบายที่ประชาชนสร้างขึ้นผ่านกระบวนการทางการเมืองได้ และนี่เป็นข้อได้เปรียบของคุณอภิสิทธิ์เหนือคู่แข่งที่แสดงอาการแข็งกร้าวหยาบคาย เพราะโอกาสที่เราจะดันทหารกลับกรมกองโดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อนั้นมีอยู่”

ถ้าคุณยังคิดว่านักวิชาการเป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ และน่าเชื่อถือศรัทธา อ่านบทความของนิธิ  เอียวศรีวงศ์ ชิ้นนี้แล้วคุณจะรู้ว่าความคิด ความเชื่อในเรื่องนี้นั้นไม่ถูกต้องเอาเสียเลย ตรงกันข้ามทีเดียว นักวิชาการเป็นกลุ่มที่สมควรประณามเป็นอันดับต้น ๆ ในบางกรณีนั้นสมควรถูกประณามมากกว่านักการเมืองเสียอีก.

 

บล็อกของ เมธัส บัวชุม

เมธัส บัวชุม
-1-พรรคประชาธิปัตย์หาเสียงเพื่อการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง โดยชูคำขวัญที่ฟังดูดัดจริตและกินไม่ได้ว่า “ประชาชนต้องมาก่อน”ผมได้ยินหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปล่งคำนี้ออกมาแล้วก็ให้นึกสงสัยว่าจะมีใครซักกี่คนในโลกนี้เชื่อในสิ่งที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ พูดออกมาพรรคประชาธิปัตย์ฉวยโอกาส เอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น ๆ ตามสไตล์ถนัดด้วยการโฆษณาหาเสียงก่อนใครเพื่อน  ในขณะที่พรรคคู่แข่งอย่างพรรคพลังประชาชนนั้นต้องเจอกับอำนาจชั่วที่คอยการสกัดกั้นทุกรูปแบบ-2-ต้องรอดูกันต่อไปว่า พรรคพลังประชาชนจะฝ่าต้านแรงสกัดจากอำนาจชั่วได้มากน้อยแค่ไหน…
เมธัส บัวชุม
อันที่จริง ผมตั้งใจจะหยุดเขียนบทความการเมืองสักระยะด้วยรู้สึกระอากับความวิปริตทางปัญญาของสังคมไทย ผมยังรู้สึกหลอนไม่หายกับการยึดอำนาจของทหารท่ามกลางความดีอกดีใจของพวก “ทาสที่ปล่อยไม่ไป” และพวกที่กลุ้มรุมทึ้งแย่งผลประโยชน์ “แห่งชาติ” ที่ไม่ได้ “เหลือแต่กระดูก” หลังการจากไปของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตรกลุ่มคนเหล่านี้ที่เข้ามายึดกุมอำนาจหลังรัฐประหาร ไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับการสร้างประชาธิปไตยหรือปฏิรูปการเมือง  รัฐบาลเถื่อนของนายกรัฐมนตรีสุรยุทธ์ จุลานนท์ กับ คมช. คตส. กกต. ที่ผ่านมาได้ทำอะไรบ้างที่เป็นสร้างเสริมประชาธิปไตย หรือปฏิรูปการเมืองไปสู่ครรลองประชาธิปไตยนอกจากสมคบคิดกันกวาดล้างกลุ่ม…
เมธัส บัวชุม
นิตยสาร “ราหูอมจันทร์” เกิดขึ้นท่ามกลางความซบเซาทั้งทางด้านการเขียน การอ่านและการวิจารณ์ของแวดวงเรื่องสั้นไทย ราหูอมจันทร์ เป็นนิตยสารรายครึ่งปีหรือที่ทางผู้จัดทำเรียกว่ารายฤดูกาล เป็นการคัดสรรเรื่องสั้นที่มีผู้ส่งไปจากทั่วสารทิศเพื่อรวมพิมพ์เป็นเล่มบรรดาคอเรื่องสั้น ต่างวาดหวังว่าการมาถึงของราหูอมจันทร์อาจช่วยให้วงการคึกคักขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อย   อย่างไรก็ตาม เมื่อได้อ่านแล้ว ต้องกล่าวตามตรงว่าราหูอมจันทร์ Vol. 3 “วันปลดปล่อยผีเสื้อ” นั้นมีระดับคุณภาพที่น่าผิดหวังไม่น้อย ทางผู้จัดทำนิตยสารนี้คือกองทุน “กนกพงศ์  สงสมพันธุ์” ก็ยอมรับว่า“ราหูอมจันทร์ Vol. 3…