-1-
ครั้งที่แล้ว ผมเขียนแสดงความคิดเห็นต่อบทความของศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งเขียนยกย่องว่า คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความสง่างามออกมาสามเรื่องจนทำให้เหมาะกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
แต่ถึงเวลานี้ไม่ทราบว่าศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ จะยังเห็นว่าคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังมีความสง่างามอยู่อีกหรือไม่เพราะหลังจากที่พ่ายแพ้ต่อพรรคพลังประชาชนแล้ว เขาก็ออกอาการที่เรียกได้ว่า "ขี้แพ้ชวนตั้งพรรค"
ด้วยแรงหนุนจากบุคคลบางกลุ่ม และองค์กรบางองค์กร ตลอดจนการได้รับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตในกรุงเทพมหานครที่มีชัยเหนือพรรคพลังประชาชนพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้รับคะแนนเป็นอันดับสอง มีคะแนนห่างจากอันดับแรกอยู่เกือบ 70 เสียง จึงขี้ขลาด ไม่กล้ายอมรับความพ่ายแพ้ในครั้งนี้
การให้สัมภาษณ์ของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ สุเทพ เทือกสุบรรณ หลังจากทราบผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการในคืนวันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม 255 สะท้อนให้เห็นถึงการผิดวิสัยของสุภาพบุรุษ การไม่ยอมรับกติกาการเลือกตั้ง ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ที่เห็น ๆ กันอยู่อย่างทนโท่
คุณอภิสิทธ์ บอกว่า "ในต่างประเทศ เขาก็ถือว่าใครรวบรวมเสียงข้างมากในระบบรัฐสภาได้ก็จัดตั้งรัฐบาลได้" (มติชนรายวัน. 24 ธันวาคม 2550)
ในขณะที่คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ กล่าวว่า "พูดตั้งแต่คะแนนยังไม่ออกแล้วว่าถ้าพรรคพลังประชาชน ได้เสียงเกินครึ่งแสดงว่าประชาชนต้องการให้เป็นรัฐบาล ถ้าเสียงได้ไม่ถึงครึ่งก็แสดงว่าไม่ต้องการให้เป็นรัฐบาล ซึ่งวินาทีนี้ก็ยังเชื่อแบบนั้นและก็มีคนคิดแบบตนจำนวนมาก" (มติชนรายวัน. 25 ธันวาคม 2550)
ตรรกะวิปริตแบบนี้ไม่มีทางได้ยิน ได้ฟังจากที่ไหนในโลกนี้นอกจากนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น!
หลายคนที่เฝ้าจับตาดูการเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยของไทย เมื่อได้เห็นได้ฟังการให้สัมภาษณ์ของหัวหน้าและเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ แล้วคงรู้สึกผิดหวังกับนักการเมืองพรรคนี้ที่คอยฉวยแต่จะหาโอกาสเล่นนอกกติกาเพื่อให้ได้ขึ้นสู่อำนาจ
การเคลื่อนไหวของบรรดาแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อหาโอกาสจัดตั้งรัฐบาลแข่งกับพรรคพลังประชาชนตอกย้ำบุคลิกลักษณะของพรรคการเมืองพรรคนี้ ที่เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้นมาตลอดไม่เคยเปลี่ยนแปลงคือ "ไม่ยอมรับความจริง" พยายามที่จะบิดผันความจริงให้กลายเป็นเรื่องเท็จ ตลอดจนสร้างเรื่องเท็จขึ้นมาครั้งแล้วครั้งเล่า (คงจำกันได้ถึงโศกนาฏกรรมการอภิปรายล้มรัฐบาลพรรคชาติไทยของนายบรรหาร ศิลปอาชา)
หากพรรคประชาธิปัตย์แทรกเข้ามาจัดตั้งรัฐบาล การจัดการเลือกตั้งครั้งนี้จะกลายเป็นปาหี่ทางการเมืองไปทันที เพราะคำถามที่ตามมาคือ ถ้าพรรคที่ได้รับคะแนนเกือบถึงครึ่งไม่อาจจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว ก็ไม่รู้จะว่าจะจัดการเลือกตั้งไปทำไม
และนี่จะเป็นการทำลายการเมือง การปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาอย่างร้ายแรงอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ทำมาแล้วหลายต่อหลายครั้งในรอบสองปีที่ผ่านมา (คงจำกันได้ถึงการบอยคอตไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง)
อันที่จริง สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ ควรทำเป็นอันดับแรกหลังจากทราบผลการเลือกตั้งไม่ใช่การคิดตั้งรัฐบาลแข่ง แต่คือการแสดงความยินดีกับพรรคพลังประชาชนที่ได้รับชัยชนะ แสดงความมีน้ำใจแบบนักกีฬา ด้วยการ "รู้แพ้ รู้ชนะ" และ "รู้อภัย" และปล่อยให้พรรคที่ได้รับคะแนนเป็นอันดับหนึ่งตั้งรัฐบาล ไปโดยไม่สกัดขัดขวางหรือขอความช่วยเหลือจากอำนาจเถื่อน
-2-
ผลการเลือกตั้งทั่วไปที่พรรคพลังประชาชน ได้รับชัยชนะอย่างขาดลอยแม้จะไม่ถึงกึ่งหนึ่ง นอกจากจะแสดงให้เห็นว่าประชาชน "ส่วนใหญ่" ก็ยังเป็นปัจจัยชี้วัดได้ว่าการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 นั้นล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า ไม่เป็นที่ต้องการของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูประเทศจากความแตกแยก การปฏิรูปการเมือง หรือการบริหารจัดการในเรื่องเศรษฐกิจ
อันที่จริง แม้แต่หัวขบวนของกลุ่ม "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ที่สนับสนุนการรัฐประหารอย่างนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ซึ่งถูกศาลตัดสินจำคุก 3 ปี โดยไม่รอลงอาญามาหมาด ๆ ในข้อหาหมิ่นประมาทอดีตนายก ฯ ทักษิณ ชินวัตร ก็เคยพูดหลายครั้งหลายหนเมื่อรู้สึกผิดหวังว่า รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นั้นเกิดจากเหตุผลและผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าเป็นเรื่องของการทำเพื่อส่วนรวม
ดังนั้นเมื่อผลเลือกตั้งออกมาเช่นนี้ อันเป็นการแสดงออกให้เห็นถึงการไม่รับรัฐประหาร 19กันยายน 2549 สิ่งที่พลเอกสนธิ บุณยรัตยกลิน และบรรดาสมาชิก คมช.ควรทำก็คือการออกมาขอโทษประชาชน ออกมาขอโทษที่ใช้ประชาชน ชาติ และสถาบันพระมหากษัตริย์มาแอบอ้างเพื่อจุดมุ่งหมายแคบ ๆ แค่เพียงเรื่องของส่วนตัวและพรรคพวกไม่กี่คน
ชัยชนะของพรรคพลังประชาชนในครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะที่น่าภาคภูมิใจเป็นพิเศษ เพราะการเลือกตั้งเกิดขึ้นท่ามกลางเงื่อนไขของการสกัดกั้นทั้งปิดบัง และเปิดเผยจากพลังของระบบราชการที่นำโดยทหารและพลังนอกรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ต้องการเห็นพรรคพลังประชาชนจัดตั้งรัฐบาล เป็นชัยชนะที่สง่างาม ในขณะที่พรรคคู่แข่งอย่างพรรคประชาธิปัตย์ นอกจากจะพ่ายแพ้แล้วยังแสดงความทุเรศออกมาอย่างน่าเกลียด ซึ่งการทำเช่นนี้มีแต่จะทำให้พรรคพลังประชาชนที่ประชาชนส่วนใหญ่เลือกเข้ามายิ่งสง่างามมากขึ้นไปอีก. ไม่เอาพรรคประชาธิปัตย์แล้ว