Skip to main content

อาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ เพื่อนโทรมาชวนผมไปฟังการสัมมนาที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่จัดขึ้นเนื่องในงานธรรมศาสตร์วิชาการ เรื่อง “ก้าวต่อไปของการเมืองภาคประชาชนไทยหลังการเลือกตั้งทั่วไป 2550” เพื่อนบอกว่ามีคุณจาตุรนต์ ฉายแสง คุณจอน อึ๊งภากรณ์ คุณศิโรฒม์ คล้ามไพบูลย์ นพ.เหวง โตจิราการ คุณรสนา โตสิตระกูล

ผมได้ยินรายชื่อแล้วรู้สึกสนใจโดยเฉพาะคุณจาตุรนต์ ฉายแสง นักการเมืองคุณภาพที่หาได้ยากยิ่งในแวดวงการเมืองไทยปัจจุบัน แต่สุดท้ายแล้ว ผมก็ผิดหวัง คุณจาตุรนต์ ฉายแสง ไม่มาร่วมวงสัมมนาแต่อย่างใด

คุณศิโรฒม์ คล้ามไพบูลย์ นำเสนอการวิเคราะห์อย่างเป็นวิชาการ อย่างไรก็ตาม ฟังแล้วรู้สึกเหมือนเป็นการ “หลอกด่า” ขบวนการภาคประชาชน เช่น ความคิดเรื่องการรับเหมาทำแทน การที่บรรดา “เอ็นจีโอ” สถาปนาเป็น “ตัวแทน” ของภาคประชาชนอย่างอัตโนมัติโดยที่ไม่ต้องรอให้ใครเลือกตั้ง การอ้างอิงชนชั้นล่างแต่ประเด็นที่ใช้ในการเคลื่อนไหวกลับเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของคนชั้นกลาง การปิดกั้นผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มไว้ในนามของผลประโยชน์แห่งชาติ

คุณหมอเหวง โตจิราการ นับวันยิ่งเข้มข้นหนักหน่วง นับวันยิ่งเป็น “ซ้าย” ขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งผมคิดว่าดี ผมอยากให้มีคนแบบคุณหมอเหวง โตจิราการ เยอะ ๆ เพราะจะได้ช่วยเพิ่มพลังแห่งการวิพากษ์วิจารณ์แบบถอนรากถอนโคนที่กำลังขาดแคลน

ตอนหนึ่งคุณหมอเหวง โตจิราการ พูดถึงทีวีสาธารณะว่ามันไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายใต้รัฐบาลรัฐประหารที่แทรกแซงสื่อมาโดยตลอด ทั้งคนที่ได้รับการแต่งตั้งให้เข้ามาดูแลจัดการก็เป็น “คนของรัฐประหาร” ที่ไม่ได้รับการยอมรับซึ่งไม่มีทางจะทำให้คลื่นโทรทัศน์กลายเป็นผลประโยชน์สาธารณะได้

ผมเห็นด้วยว่า ทีวีสาธารณะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ มันเป็นโกหกคำโตของนักวิชาการที่นำเสนอเรื่องนี้ขึ้นมาโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ และไม่คำนึงถึงพร้อม และความเป็นไปได้ ใคร ๆ ก็รู้ว่าทีวีสาธารณะเป็นเกมการต่อสู้ทางการเมืองอีกเกมหนึ่ง ที่มีนักวิชาการคอยกำกับให้อยู่ในวาทกรรมว่าด้วยผลประโยชน์สาธารณะ

คุณรสนา โตสิตระกูล เอ็นจีโอชนชั้นกลางซึ่งรับเหมาเคลื่อนไหวทั่วราชอาณาจักรและรับเหมาเคลื่อนไหวประเด็นที่กำลังอยู่ในกระแสนั้นเสนอความเห็นตอบโต้การ “หลอกด่า” ของคุณศิโรตน์ คล้ามไพบูลย์ ไปแบบข้างๆ คูๆ

เอ็นจีโออย่างคุณรสนา โตสิตระกูล แสดงให้สาธารณชนเห็นแล้วว่า เธอนั้นไม่รังเกียจรัฐประหารแต่ประการใด โชคดีหรือโชคร้ายของคุณรสนา ก็ไม่รู้ที่ชื่อของเธอถูกตัดออกจากการเป็นสนช.ในวินาทีสุดท้าย

พอคุณรสนา โตสิตระกูล เริ่มพูด ผมก็เดินจากห้องสัมมนานั่งดื่มกาแฟกับเพื่อนที่ไม่ได้เจอกันนาน

ผมยอมรับว่าวิกฤติการเมืองสมัยทักษิณ ทำให้มองภาคประชาชนในแง่ลบอย่างมาก นอกจากคำจำกัดความของ “การเมืองภาคประชาชน” ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้แล้ว เห็นได้ชัดว่าภาคประชาชน ที่เคลื่อนไหวต่อสู้ในประเด็นทางการเมืองระดับชาติเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกับการสร้างประชาธิปไตย

กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เป็นประจักษ์พยานแห่งความล้มเหลวระดับชาติของขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน (หากนับกลุ่มนี้เป็นภาคประชาชนด้วย) เพราะมันเป็นการเคลื่อนไหวที่สอดรับกับการรัฐประหาร เป็นการเคลื่อนไหวที่ทำให้เกิดรัฐประหารอย่างปฏิเสธไม่ได้ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

อันที่จริงภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวในประเด็นย่อย ๆ ที่กระทบต่อวิถีชีวิตเฉพาะกลุ่มนั้นอาจนับได้ว่า เป็นกลุ่มก้าวหน้า เช่น กลุ่มที่เคลื่อนไหวในเรื่องเอดส์ สิทธิสตรี เด็ก รักร่วมเพศ สิทธิของชนกลุ่มน้อย การปกป้องคุ้มครองผู้บริโภค แต่พอขยับมาเป็นการเมืองระดับชาติซึ่งเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของคนหลายกลุ่ม หลายชนชั้นแล้ว ขบวนการภาคประชาชนกลับมีลักษณะล้าหลังอย่างมาก

การเคลื่อนไหวของคุณจอน อึ๊งภากรณ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ผู้ร่วมเสวนาด้วยนั้น เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนความล้าหลังของสิ่งที่เรียกว่า “ภาคประชาชน”

ในเวทีสัมมนาวันนั้น คุณจอน เปิดฉากด้วยการบอกว่ารัฐบาลทักษิณ เป็นเผด็จการ การใช้คำระคายหูโดยไม่ระวังของคุณจอนทำให้หญิงคนหนึ่งลุกขึ้นมาโต้เถียงด้วยความเหลืออด

คุณจอนคงจะตาบอดข้างเดียว จนมองไม่เห็นว่าการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเพื่อขับไล่รัฐบาลทักษิณ ตลอดจนการเคลื่อนไหวที่มาจากผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเผด็จการเสียยิ่งกว่ารัฐบาลทักษิณหลายเท่า คุณจอนคงจะตาบอดข้างเดียวจนมองไม่เห็นว่าการทำรัฐประหารนั้นเป็นการใช้อำนาจเผด็จการอย่างซึ่งหน้า การเอ่ยปากว่าทักษิณเป็นเผด็จการโดยขาดความรอบคอบนั้นรังแต่จะทำให้คุณจอนกลายเป็นตัวตลก

และคุณจอน ก็กลายเป็นตัวตลกไปจริง ๆ เมื่อนำประชาชนบุกปีนเข้าไปในทำเนียบเพื่อยับยั้งการออกกฎหมายของสนช.

ชีวิตที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมายของคุณจอน ไม่เพียงพอที่จะทำให้คุณจอนตระหนักหรือว่า “รัฐประหารทำอะไรก็ได้”

รัฐประหารตั้งองค์กรเถื่อนกี่องค์กรก็ได้ รัฐประหารออกกฎหมายเถื่อนกี่ฉบับก็ได้ “รัฐประหารทำอะไรก็ได้”

การที่คุณจอนยอมรับรัฐประหารอย่างเงียบ ๆ ก็เป็นการยอมรับกฎหมายที่ออกมาจากการรัฐประหารอยู่แล้ว ดังนั้นนอกจากจะตาบอดข้างเดียวแล้ว คุณจอนยังสายตาสั้นอีกด้วย

ผมรู้สึกสะใจที่หญิงชาวบ้านลุกขึ้นตอบโต้คุณจอน จนต้องตบมือให้.




บล็อกของ เมธัส บัวชุม

เมธัส บัวชุม
-1-พรรคประชาธิปัตย์หาเสียงเพื่อการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง โดยชูคำขวัญที่ฟังดูดัดจริตและกินไม่ได้ว่า “ประชาชนต้องมาก่อน”ผมได้ยินหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปล่งคำนี้ออกมาแล้วก็ให้นึกสงสัยว่าจะมีใครซักกี่คนในโลกนี้เชื่อในสิ่งที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ พูดออกมาพรรคประชาธิปัตย์ฉวยโอกาส เอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น ๆ ตามสไตล์ถนัดด้วยการโฆษณาหาเสียงก่อนใครเพื่อน  ในขณะที่พรรคคู่แข่งอย่างพรรคพลังประชาชนนั้นต้องเจอกับอำนาจชั่วที่คอยการสกัดกั้นทุกรูปแบบ-2-ต้องรอดูกันต่อไปว่า พรรคพลังประชาชนจะฝ่าต้านแรงสกัดจากอำนาจชั่วได้มากน้อยแค่ไหน…
เมธัส บัวชุม
อันที่จริง ผมตั้งใจจะหยุดเขียนบทความการเมืองสักระยะด้วยรู้สึกระอากับความวิปริตทางปัญญาของสังคมไทย ผมยังรู้สึกหลอนไม่หายกับการยึดอำนาจของทหารท่ามกลางความดีอกดีใจของพวก “ทาสที่ปล่อยไม่ไป” และพวกที่กลุ้มรุมทึ้งแย่งผลประโยชน์ “แห่งชาติ” ที่ไม่ได้ “เหลือแต่กระดูก” หลังการจากไปของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตรกลุ่มคนเหล่านี้ที่เข้ามายึดกุมอำนาจหลังรัฐประหาร ไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับการสร้างประชาธิปไตยหรือปฏิรูปการเมือง  รัฐบาลเถื่อนของนายกรัฐมนตรีสุรยุทธ์ จุลานนท์ กับ คมช. คตส. กกต. ที่ผ่านมาได้ทำอะไรบ้างที่เป็นสร้างเสริมประชาธิปไตย หรือปฏิรูปการเมืองไปสู่ครรลองประชาธิปไตยนอกจากสมคบคิดกันกวาดล้างกลุ่ม…
เมธัส บัวชุม
นิตยสาร “ราหูอมจันทร์” เกิดขึ้นท่ามกลางความซบเซาทั้งทางด้านการเขียน การอ่านและการวิจารณ์ของแวดวงเรื่องสั้นไทย ราหูอมจันทร์ เป็นนิตยสารรายครึ่งปีหรือที่ทางผู้จัดทำเรียกว่ารายฤดูกาล เป็นการคัดสรรเรื่องสั้นที่มีผู้ส่งไปจากทั่วสารทิศเพื่อรวมพิมพ์เป็นเล่มบรรดาคอเรื่องสั้น ต่างวาดหวังว่าการมาถึงของราหูอมจันทร์อาจช่วยให้วงการคึกคักขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อย   อย่างไรก็ตาม เมื่อได้อ่านแล้ว ต้องกล่าวตามตรงว่าราหูอมจันทร์ Vol. 3 “วันปลดปล่อยผีเสื้อ” นั้นมีระดับคุณภาพที่น่าผิดหวังไม่น้อย ทางผู้จัดทำนิตยสารนี้คือกองทุน “กนกพงศ์  สงสมพันธุ์” ก็ยอมรับว่า“ราหูอมจันทร์ Vol. 3…