ก่อนอื่นคงต้องขอยอมรับในความสามารถของชัย ราชวัตร ที่สามารถตรึงใจผู้อ่านคอลัมน์ “ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน” ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐมายาวนานหลายปีจนกระทั่งถึงปัจจุบันและดูเหมือนว่าสามารถสร้างแฟนการ์ตูนรุ่นใหม่ ๆ ได้ไม่น้อย
ความน่าสนใจประการหนึ่งของการ์ตูนคอลัมน์ “ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน” อยู่ที่การสร้างบทสนทนาระหว่างตัวการ์ตูนเพียงไม่กี่ประโยค แต่สื่อความหมายได้มากมายเสียยิ่งกว่าบทความที่ยาวเต็มหน้ากระดาษ
ชัย ราชวัตร ใช้วาจาสั้น ๆ ในการเสียดสีหรือวิพากษ์วิจารณ์ถึงสถานการณ์ปัจจุบันหรือบางครั้งเป็นการกล่าวหาใส่ความเกินจริง โดยที่เขาตัวเขาเองไม่ต้องรับผลอันใดจากการกระทำของตนเอง ตัวอย่างเช่น
ไทยรัฐ, 26 กุมภาพันธ์, 51.
รัฐมนตรีขี้เหร่หรือการเกะกะระรานกระบวนการยุติธรรมนั้นล้วนเป็นการ “กล่าวหา” ลอยๆ การจะระบุว่ารัฐมนตรีคนใดขี้เหร่นั้นคงต้องดูที่ผลงานซึ่งกาลเวลาจะช่วยพิสูจน์ ส่วนการเกะกะระรานกระบวนการยุติธรรมนั้นเพียงแค่ย้ายข้าราชการคนสองคนคงไม่อาจบอกได้ว่าเป็นการเกะกะระราน
เราลองมาดูการ์ตูนคอลัมน์ “ขาประจำ” ที่เขียนโดย “ขวด” ของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์กันบ้างว่ามีทัศนคติต่อการโยกย้ายข้าราชการอย่างไร
เดลินิวส์, 27 กุมภาพันธ์ 51
“ขวด” มีทัศนคติที่ถูกต้องมากกว่าเมื่อนำเสนอว่าข้าราชการที่ถูกย้ายนั้นได้ตำแหน่งมาตอนรัฐประหาร ดังนั้นที่มาของตำแหน่งนั้น ๆ จึงไม่ชอบธรรมและดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าตกอกตกใจแต่อย่างใดหากจะถูกย้ายออกไปในเมื่อคณะรัฐประหารก็ออกไปแล้ว
วรรณกรรมการ์ตูนของชัย ราชวัตร อาจเทียบเคียงได้กับละครหลังข่าว ประโยชน์ประการหนึ่งที่ผู้อ่านหรือผู้ชมจะได้รับนั่นคือความบันเทิง นี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมบางคนจึงพลิกไปอ่านการ์ตูนของเขาก่อนคอลัมน์อื่น ๆ
ผมอยากจะเรียกวรรณกรรมของชัย ราชวัตรว่า เป็น “ละครหลังข่าวการเมือง” ซึ่งตอกย้ำและขับเคลื่อนค่านิยมซ้ำซาก เข้าใจง่าย ไม่มีความซับซ้อนแบบเดียวกับละครหลังข่าวในโทรทัศน์ช่องต่าง ๆ เราลองมาดูว่าการ์ตูนของเขา “ง่าย” อย่างไร
ไทยรัฐ, 23 กุมภาพันธ์ 51
ชัย ราชวัตร โจมตีบรรดา “คนเดือนตุลา” (ในซีกรัฐบาล) ต่อกรณีที่นายก ฯ สมัคร สุนทรเวช บอกว่าในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 มีคนตายแค่คนเดียวซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและ “คนเดือนตุลา” พากันเงียบเฉย
การใช้ภาษาของชัย ราชวัตร รุนแรง (ชวนให้นึกถึงบทตบตีระหว่างนางเอกกับนางร้ายหรือนางร้ายกับนางร้ายในละครหลังข่าว) แต่สนุกและสะใจ อย่างไรก็ตาม อยากจะถามกลับไปว่าตัวการ์ตูนของชัย ราชวัตรและตัว ชัย ราชวัตร เองก็คงนั่งอมสากอยู่เช่นเดียวกันต่อกรณีการเข้ามาของคณะรัฐประหารซึ่งมีการบิดเบือนใส่ไคล้กันอย่างมโหฬาร
เราลองมาดูอารมณ์ขันของ “ขวด” แห่งเดลินิวส์กันบ้างว่าตรงกันข้ามกับ ชัย ราชวัตร ขนาดไหน
เดลินิวส์, 29 กุมภาพันธ์ 51
ดูเหมือนว่าความเห็นของ “ขวด” จะใช้ได้กว่า ชัย ราชวัตร เพราะเขาระมัดระวังไม่ปรักปรำใครง่าย ๆ แบบคอลัมนิสต์กระแสหลัก
น่าเสียดายอย่างมากที่ “จิตสำนึกอันผิดพลาด” ของ ชัย ราชวัตร ทำให้ความคิดสร้างสรรค์ของเขาถูกใช้ไปในทางที่ผิดและไร้ประโยชน์ต่อพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย.