Skip to main content

นิตยสาร “ราหูอมจันทร์” เกิดขึ้นท่ามกลางความซบเซาทั้งทางด้านการเขียน การอ่านและการวิจารณ์ของแวดวงเรื่องสั้นไทย

ราหูอมจันทร์ เป็นนิตยสารรายครึ่งปีหรือที่ทางผู้จัดทำเรียกว่ารายฤดูกาล เป็นการคัดสรรเรื่องสั้นที่มีผู้ส่งไปจากทั่วสารทิศเพื่อรวมพิมพ์เป็นเล่ม

บรรดาคอเรื่องสั้น ต่างวาดหวังว่าการมาถึงของราหูอมจันทร์อาจช่วยให้วงการคึกคักขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อย   อย่างไรก็ตาม เมื่อได้อ่านแล้ว ต้องกล่าวตามตรงว่าราหูอมจันทร์ Vol. 3 “วันปลดปล่อยผีเสื้อ” นั้นมีระดับคุณภาพที่น่าผิดหวังไม่น้อย ทางผู้จัดทำนิตยสารนี้คือกองทุน “กนกพงศ์  สงสมพันธุ์” ก็ยอมรับว่า

“ราหูอมจันทร์ Vol. 3 แม้ว่าระดับความพอใจในคุณภาพจะยังขาดเกินส่วนผสมบางอย่าง แต่จากเรื่องสั้นทั้งหมด 76 เรื่องซึ่งเลือกเฟ้นออกมาได้ 12 เรื่อง คงจะพอร้องแรกแหกกระเชอไล่ราหูได้”

เรื่องสั้นที่ถูกนำมาเป็นชื่อหนังสือคือ “13 กุมภาพันธ์ วันปลดปล่อยผีเสื้อ”  นั้น ผมไม่ค่อยเข้าใจนัก ไม่เข้าใจว่าทำไมวันแห่งการจากไปของ “ฮีโร่” ซึ่งเป็นนักรบจากอเมริกาใต้และเป็นศัตรูตัวฉกาจของมหาอำนาจอเมริกา กับความตายของ “จิมมี่” เพื่อนนักดนตรี จึงกลายเป็นวันปลดปล่อยผีเสื้อไปได้ หรือทั้งคู่เปรียบเหมือนผีเสื้อที่ได้รับการปลดปล่อยด้วยความตาย ? ผมคงอ่านเรื่องสั้นชิ้นนี้ไม่แตกจึงไม่เกิดความรู้สึกประทับใจ

เรื่องสั้น “บักหัวแดง” ของ “ไพฑูรย์  ธัญญา” อ่านสนุกด้วยลีลาภาษาพื้นบ้านอีสาน ประเด็นที่น่าสนใจของเรื่องสั้นนี้ก็คือการชี้ให้เห็นว่าการแต่งงานของผู้หญิงอีสานกับฝรั่ง แล้วอาศัยตั้งรกรากที่อีสานบ้านเกิดฝ่ายหญิงนั้น คนที่เป็นฝ่ายเสียเปรียบไม่ใช่ผู้หญิงแต่กลับเป็นฝรั่งพลัดถิ่นที่แทบไม่มีอำนาจต่อรอง เมื่อถูกฝ่ายหญิงและญาติสูบเงินไปหมดแล้ว ฝรั่งก็ไม่มีความหมายอะไรอีก เรื่องสั้นนี้ชวนให้มองความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงไทยกับฝรั่งเสียใหม่ หลังจากที่เรื่องสั้นจำนวนไม่น้อยก่อนหน้านี้เอาแต่คร่ำครวญถึงความทุกข์ยากของคนอีสาน

“ผัวฝรั่งนำความมั่งคั่งมาสู่นางเอกและแม่ผัว พวกหล่อนโก้หรูฟู่ฟ่า เปลี่ยนจากเถียงนามาอยู่คฤหาสน์หลังใหญ่ เปลี่ยนจากนั่งมอเตอร์ไซค์มานั่งโตโยต้าวีโก้ แต่เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก ความรักที่เคยหวานชื่นก็แปรมาเป็นขมขื่น อีหล่าเริ่มออกแววน้ำเน่า แม่ยายก็ออกลายขี้งก ปล่อยให้พระเอกของเราคอตกเพราะถูกเมียและแม่ยายช่วยกันทำเรื่อง“ (หน้า22-23)

“สีของดอกไม้” ของ “ประชาคม ลุนาชัย” เบาหวิวเกินไป ฉากและอารมณ์ดูจะซ้ำกับนวนิยายเรื่องก่อนหน้าของเขาคือ “เขียนฝันด้วยชีวิต” ดูเหมือนว่างานบางชิ้นของเขาจะซ้ำไปซ้ำมา

ผมอ่านเรื่องสั้นทั้งหมดอย่างรวดเร็ว เรื่องไหนที่ไม่หยุดตรึงให้อ่าน  ผมก็จะผ่านไป และผมก็ผ่านไปหลายเรื่อง เรื่องสั้น “ขอบคุณแรมโบ้” ของชิด  ชยากร นั้น เป็นตัวอย่าง

“ขอบคุณแรมโบ้” กล่าวถึงการชกมวยระหว่าง “แรมโบ้” กับ “ไอ้เลือดเหล็ก”  ผู้เขียนบรรยายการชกไปทีละยก ๆ เหมือนกับกำลังดูโทรทัศน์ ก่อนจะหักมุมว่าทั้งหมดคือการนึกถึงเรื่องหวาดเสียวในระหว่างการถอนฟันของตัวละครเท่านั้นเอง

“ระฆังยกแรกดังขึ้น... พอกรรมการสับมือลงเป็นสัญญาณให้ชกได้ ทั้งแรมโบ้และและไอ้เลือดเหล็กทะยานเข้าหากันทันที...” (หน้า60)

“พอระฆังยกสองเริ่ม พงษ์ศิริปราดเข้ามายืนคอยถึงมุมน้ำเงินของไพโรจน์...” (หน้า 62)

“ยกสามเริ่ม ต่างฝ่ายต่างไม่รีรอเดินอัดกันในทันที...” (หน้า 63)

ผู้เขียนบรรยายเรื่อยไปจนครบยกที่ห้า  อ่านไปเหนื่อยไปกับการติดตามการต่อสู้ของนักมวยที่ไม่เห็นจะน่าสนใจตรงไหน

เรื่องสั้นของอัศศิริ  ธรรมโชติ เรื่อง “ปีหมูของคน”  นั้นน่าผิดหวังอย่างแรง งานเขียนของอัศศิริ  ธรรมโชติ เคยเป็นแรงดลใจให้ผมสมัยย่างเข้าวัยหนุ่ม ด้วยภาษาที่สวยงามราวร้อยกรอง เนื้อหาที่สะเทือนใจ แต่เรื่องสั้นชิ้นนี้สร้างความผิดหวังสำหรับคนรอคอยงานใหม่ ๆ ของอัศศิริ ธรรมโชติ มันเหมือนงานเขียนลงหนังสือพิมพ์รายวันมากกว่า

เรื่องสั้นเริ่มต้นด้วยการนึกถึงวัยเด็กของตัวละครที่เกิดปีกุน แล้วตัดเข้าสู่ยุคปัจจุบันอันเป็นปีที่ตรงกับปีกุน หมอดูทำนายว่าปีกุน 2550 เป็นปีที่น่ากลัว จะเป็นปีหมูไฟที่เผาผลาญบ้านเรือนให้มีแต่ความเดือดร้อน

จากนั้นก็เป็นการรายงานข่าวถึงสิ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นตั้งแต่เรื่องไข้หวัดนก หมูราคาตกต่ำจนต้องฆ่าทิ้ง รวมทั้งระเบิดส่งท้ายปีเก่า แล้วก็รำพึงว่า “คนเอ๋ย หมูเอ๋ย” แล้วก็รำพึงต่อไปราวกับไม่มีอะไรให้เขียน ก่อนจะสรุปถึงเหตุการณ์ระเบิดส่งท้ายปีเก่าที่ทำให้คนบริสุทธิ์ตายฟรี แล้วทิ้งท้ายว่า

“โอ้... คนเอ๋ย” ผมไม่รู้ว่าบรรณาธิการคิดยังไงจึงปล่อยเรื่องสั้นชิ้นนี้ออกมา ส่วนเรื่อง ”เซโดชา” ของ สุวิชานนท์  รัตนภิมล นั้นบรรยากาศแปลกดี จุดเด่นของเรื่องสั้นเรื่องนี้คือความรู้เกี่ยวกับป่าของผู้เขียน อย่างไรก็ตาม ความลี้ลับที่ผู้เขียนวาดไว้ทำให้อ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง

ได้แต่หวังว่าราหูอมจันทร์เล่มต่อไปจะเข้มข้นกว่านี้ คงจะมีเรื่องสั้นชั้นดีให้กองบรรณาธิการได้คัดเลือกมากกว่านี้.

บล็อกของ เมธัส บัวชุม

เมธัส บัวชุม
บทความเรื่อง "แรงฤทธิ์ แต่อ่อนผล" ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในมติชนรายวันhttp://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01act01020352&sectionid=0130&day=2009-03-02 (วันที่ 02 มีนาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11314) มีหลายประโยค หลายวลี หลายคำที่อ่านแล้วต้องส่ายหัวด้วยความอิดหนาระอาใจกับอคติและภูมิปัญญาของเขา แต่มีอยู่ประโยคหนึ่งที่อ่านแล้วทำให้ผมสะดุดหยุดกึกในทันทีคือประโยคที่ว่า "ไม่ผิดอะไรที่จะรักทักษิณ แต่รักทักษิณและรักประชาธิปไตยพร้อมกันไม่ได้เพราะสองอย่างนี้ขัดแย้งกันเอง"
เมธัส บัวชุม
ผมได้มีโอกาสดูหนังเรื่อง "ผู้หญิง 5 บาป" เพราะเคเบิลทีวีเอามาฉายซ้ำแล้วซ้ำอีก อันที่จริงหนังเกรดต่ำแบบนี้ไม่เคยอยู่ในความคิดอยากจะดูเลย แต่ผมก็เหมือนคนอื่น ๆ คือฉากรักร้อน ๆ ดิบ ๆ ที่ปรากฏอยู่มากมายสะกดให้ต้องหยุดดู หนังเรื่องนี้เหมือนหนังโป๊ะที่ดูแล้ว ถึงจุดออกัสซั่มแล้ว ไม่ควรจะมีอะไรให้พูดถึงอีกหรือหากอยากจะพูดถึงก็คงเป็นเรื่องความไม่เอาไหนของคนทำหนังที่อุตส่าห์ขนดาราและนักแสดงรับเชิญมาเพียบ แต่ทำได้เพียงแค่หลอกขายฉาก "เอากัน" เท่านั้น โดยให้ผู้หญิง 5 คนผลัดกันมาเล่าประสบการณ์ทางเพศที่โลดโผนโจนทะยาน (มีอะไรกับลูกศิษย์ตัวเอง โดนยามข่มขืน ได้กับวินมอไซค์)
เมธัส บัวชุม
31 มกราคมที่ผ่านมา ทีมงานความจริงวันนี้ สร้างปรากฏการณ์ "แดงทั้งแผ่นดิน- Red in The Land" ที่ท้องสนามหลวงด้วยประชาชนหลายหมื่น คนรวยคนจน นักวิชาการหัวก้าวหน้า นักปฏิวัติ คนรุ่นใหม่รุ่นเก่ามากันพร้อมหน้า บรรยากาศฮึกเหิมคึกคัก ส่งสัญญาณความไม่พอใจที่ล้นอกไปยังเหล่าศักดินา เขย่าขวัญพวกอมาตยาธิปไตยให้หยุดสำเหนียกให้มากก่อนจะกระทำการใด อันที่จริงการสำแดงพลังที่รัชมังคลาภิเษกเมื่อวันที่ 1 พ.ย.51 ที่ประชาชนเข้าร่วมงานอย่างอุ่นหนาฝาคั่งนั้นน่าพรั่นพรึงและเป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่แล้วว่าชาว “แดง” พร้อมชนกับซากเดนของระบอบศักดินาเพียงขอให้มีเงื่อนไขที่เอื้อหรือสถานการณ์สุกงอมพอเท่านั้น…
เมธัส บัวชุม
  ผมชอบดูและเล่นฟุตบอลแม้ว่าจะเล่นไม่ดีเลยก็ตาม  มันเป็นความบันเทิงและกีฬาที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเหมือนเข้าฟิตเนส  แต่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันผมไม่เคยชอบดูฟุตบอลไทยเลย อาจจะเปิดโทรทัศน์ไปเจอโดยบังเอิญ หยุดดูสักครึ่งนาที พอได้ยินเสียงพากย์ของนักพากย์กีฬาช่อง 7 ซึ่งไม่พากย์ไปตามเกมกีฬา หากแต่จ้องจะเข้าข้างทีมไทยท่าเดียวทำให้เสียอารมณ์จนต้องรีบเปลี่ยนช่องยิ่งเมื่อได้เห็นภาพข่าวนักฟุตบอลไทย แสดงอาการกักขฬะมีเรื่องวิวาทกับนักเตะต่างชาติอยู่บ่อย ๆ ด้วยแล้ว ผมยิ่งรู้สึกสมน้ำหน้า รู้สึกสมน้ำหน้ามากขึ้นเมื่อนักพากย์กีฬา…
เมธัส บัวชุม
ข่าวการตัดสินจำคุกชาวต่างชาติ “แฮร์รี่ นิโคไลเดส” ชาวออสเตรเลีย ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นนอกจากจะน่าอนาถใจไทยแลนด์แล้ว ยังสร้างแรงสะเทือนต่อสิ่งที่เรียกว่า “เสรีภาพ” อยู่ไม่น้อยผมเคยคิดว่าไทยเป็นประเทศที่มี “เสรีภาพ” มากพอสมควร ถึงตอนนี้ก็ยังคิดเช่นนั้นอยู่ เพียงแต่ว่า “เสรีภาพ” ในไทยนั้นมี “เพดาน” กั้น มี “ขีด” ที่ข้ามไปไม่ได้ เราไม่อาจใช้เสรีภาพไปวิพากษ์วิจารณ์บางคนหรือบางองค์กรหรือเข้าไปตรวจสอบความโปร่งใสได้ เช่น องคมนตรี ศาล กองทัพ เสรีภาพที่เรามีอยู่จึงเป็น “เสรีภาพแบบพอเพียง”
เมธัส บัวชุม
การเมืองหลังการเข้ามาของอดีตนายก ฯ ทักษิณ ชินวัตร คือการแข่งขันกันนำเสนอด้านนโยบายที่ตอบสนองความต้องการสิ่งอันเป็นปัจจัยพื้นฐานของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนระดับรากหญ้าซึ่งถูกละเลยมาตลอด ผลงานของอดีตนายก ฯ ทักษิณ ชินวัตร ผู้ยิ่งยงและพรรคไทยรักไทยที่ได้ทำไว้ในเรื่องการกำหนดนโยบายสำหรับคนยากคนจน และผลักดันสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมนั้นประสบความสำเร็จอย่างสูงกระทั่งใครต่อใครพรรคประชาธิปัตย์ปากว่าตาขยิบลอกมาหน้าตาเฉย แม้แต่พรรคภูมิใจของเนวิน ชิดชอบที่เพิ่งเปิดตัวไปก็ชูเรื่องประชานิยมเป็นม็อตโตของพรรค
เมธัส บัวชุม
-1-เมื่อกลุ่มก่อการร้ายพันธมิตร ฯ แยกย้ายสลายตัว เดินลงจากเวทีหลังจากสร้างความยับเยินสาธารณะจนสาแก่ใจ แล้วส่งพรรคประชาธิปัตย์วิ่งราวเข้าไปเป็นฝ่ายรัฐบาลโดยผนวกรวมกลุ่มงูเห่าของพวกเนวิน ชิดชอบ เข้าไปด้วยแล้ว การเมืองก็หมดสีสันลงอย่างมากเหมือนกับละครน้ำเน่าที่ตัวอิจฉาหายไปจากจอ ยอมรับนะครับ ว่ากลุ่มก่อการร้ายพันธมิตรที่เป็นม็อบมีเส้นนั้นดึงดูดกระแสความสนใจการเมืองขึ้นไปจนถึงจุดสูงสุด แม้แต่คนที่ร้อยวันพันปีไม่เคยใส่ใจเรื่องการเมืองเลยนั้นก็หันไปใส่เสื้อเหลือง เสื้อแดงกับเขาด้วย บางคนใส่ได้ทั้งเสื้อแดง เสื้อเหลืองแล้วแต่ว่ากระแสความนิยมของฝ่ายใดจะมาแรงกว่า
เมธัส บัวชุม
ชัยชนะที่ได้มาด้วยการฉ้อฉลของพรรคประชาธิปัตย์ แม้จะมีผลลัพธ์ออกมาเป็นรูปธรรมด้วยการจัดตั้งรัฐบาลสมความมุ่งมาดปรารถนาที่รอคอยมาเกือบสิบปี แต่ก็ด่างพร้อยอย่างยิ่ง ไม่มีความสง่างามแม้แต่นิดเดียว ล่อนจ้อนน่าละอาย ผิดกติกามารยาทรวมไปถึงผิดกฏหมาย กระทั่งก่อให้เกิดความระอาเกลียดชัง บทบาทพฤติกรรมของพรรคประชาธิปัตย์ที่ก่อให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกข้างต้น ทำให้หลายคนตั้งฉายา สร้างวาทกรรมในการใช้เรียกขานพรรคประชาธิปัตย์ไปต่าง ๆ  นานาซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นไปในแง่ลบฉายาที่ 1 "รัฐบาลต่างตอบแทน" ตอบแทนกระทรวงกลาโหมให้กองทัพที่ยืนหยัดช่วยเหลือทั้งทางตรงทางอ้อมแก่พรรคประชาธิปัตย์มาโดยตลอด…
เมธัส บัวชุม
  เป็นการพังทลายลงของสถาบันตุลาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของความน่าเชื่อถือ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญพิพากษายุบพรรคการเมืองซีกรัฐบาลรวดเดียว 3 พรรค อย่างรวบรัดตัดความ เร่งร้อนลนลานและผิด ๆ ถูก ๆ นักวิชาการผู้เคารพในหลักการ และคอการเมืองทั้งหลายพากันวิพากษ์วิจารณ์กันขรมถึงสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ทำลงไป เริ่มตั้งแต่ประเด็นเรื่องคุณสมบัติของตุลาการผู้เอาตัวรอดด้วยการท่องคาถาคุณธรรม จริยธรรม เป็นนิจสิน อย่างนายจรัล ภักดีธนากุล ไปจนถึงการย้ายสถานที่พิจารณาตัดสินคดีอย่างปุบปับ รวมไปถึงการนำทหารป่าหวายเข้ามาอารักขาตุลาการ แทนที่จะหยุดยั้งเหล่ามารพันธมิตร บางคนต่อรองไว้ว่าร้อยนึงเอาบาทเดียว…
เมธัส บัวชุม
ไม่กี่วันที่ผ่านมาเราคงได้เห็นกันแล้วว่าลัทธิพันธมิตรสามารถทำอะไรได้บ้าง ลัทธิพันธมิตรทำอะไรก็ได้ทั้งนั้นถ้าอยากทำ ตั้งแต่การปิดสี่แยกเพื่อให้การจราจรเป็นอัมพาต ยึดรถเมล์ ล้อมรัฐสภา ทำลายทรัพย์สินสาธารณะ ไปจนถึงการปิดสนามบินเพื่อทำให้ผู้อื่น-ชาวต่างชาติ เดือดร้อนอย่างจงใจบัดนี้ ใครที่ยังเชื่อว่าลัทธิพันธมิตรชุมนุมแบบอหิงสาอันหมายความว่าไม่เบียดเบียนผู้อื่นนั้นคงจะปัญญาอ่อนเต็มที ใครที่ยังเห็นว่าลัทธิพันธมิตรเป็นการเมืองภาคประชาชนในระบอบประชาธิปไตยคงจะเป็นคนโง่ดักดาน และดังนั้นเพื่อชีวิตจะได้กลับสู่ความปกติ จึงควรหยุดให้ท้ายลัทธิพันธมิตรในทุกทาง…
เมธัส บัวชุม
อัสนี วสันต์ ในเพลง "ก็เคยสัญญา" เคยแหกปากตะโกนประโยคที่ว่า "เวลาเปลี่ยน ใจคนเปลี่ยน"  อันหมายถึงความรักที่แปรผันตามวันเวลาที่ผ่านพ้น   แม้ว่าจะสัญญากันไว้หนักแน่นก็ตาม ประโยคนี้ถูกตอกย้ำให้ฮือฮาอีกครั้งจากปาก แอ๊ด คาราบาว ผู้ซึ่งสวมบทนักร้อง นักดนตรี "เพื่อชีวิต"  วิพากษ์วิจารณ์เครื่องดื่มบำรุงกำลังที่โฆษณามอมเมาให้คนซื้อทั้งที่ไม่มีคุณค่าสารอาหารแต่ประการใด แต่ในเวลาต่อมา แอ๊ด คาราบาว กลับมาทำธุรกิจเครื่องดื่มบำรุงกำลัง "คาราบาวแดง" อย่างที่รู้กัน เมื่อมีคนถาม แอ๊ด คาราบาว บอกง่าย ๆ ว่า "เวลาเปลี่ยน ใจคนเปลี่ยน"
เมธัส บัวชุม
เพราะว่าในนามของความถูกต้อง จะทำผิดอย่างไรก็ได้ ดังนั้นม็อบพันธมิตร ฯ จึงพากันทำผิดร้อยแปดพันเก้าประการ การกระทำทั้งร้อยแปดพันเก้าประการนั้นแม้จะเลวร้ายอย่างไรก็ไม่สำคัญนักเพราะถูกฉาบเคลือบไว้ในนามของความถูกต้อง เช่นนี้เองที่เป็นเหตุนำไปสู่คือปัญหาความขัดแย้งยุ่งเหยิงและความรุนแรงในทุก ๆ ทาง การหลบอยู่หลังวาทกรรมประเภท “กู้ชาติ” “พิทักษ์สถาบัน” ฯลฯ การหลงว่าตนเองหรือกลุ่มตนเองเป็นฝ่ายถูก เป็นฝ่ายจงรักภักดี รักชาติ ทำถูกกฏหมาย ตีตราฝ่ายตรงข้ามเป็นฝ่ายผิด ขายชาติ ไม่จงรักภักดี ไม่เคารพกระบวนการยุติธรรม เลว ดังนั้นในนามของความถูกต้อง จำเป็นต้องกำจัดให้หายไปไม่ว่าจะใช้วิธีการใดก็ตาม