Skip to main content

เครือผู้จัดการมีสื่ออยู่ในมือหลากหลายครบครัน ทั้งเคเบิลทีวี สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุและเวบไซต์ อันทำให้การโฆษณาชวนเชื่อที่เหลวไหลของพวกเขาเป็นไปอย่างครอบคลุมกว้างขวาง เกิดประสิทธิภาพไม่น้อย

พวกเขา (เครือผู้จัดการ) สถาปนาตัวเองตามแต่ใจต้องการโดยที่ไม่ต้องรอให้ใครมาเลือกตั้งหรือแต่งตั้งด้วยบทบาทหลากหลายเหลือเชื่อคือเป็นตั้งแต่ “ยาม” ไปจนถึง “ผู้จัดการ”

“ยาม” และ “ผู้จัดการ” นั้นอยู่กันคนละชนชั้นหรือพูดด้วยภาษาแบบหมอประเวศ วะสี ก็คืออยู่กันคนละ “ภาคส่วน” แต่บทบาทหน้าที่ทั้งหมดนี้พุ่งไปที่จุดประสงค์เดียวกัน

สำหรับ “ยาม” ภาพลักษณ์ที่ตายตัวคือเป็นคนระดับล่างของสังคม เป็นผู้ใช้แรงงานหรือใช้กำลัง มีสัญลักษณ์เป็น “กระบอง”  ห้อยติดตัวอยู่ตลอดเวลา อำนาจของเขาอยู่ที่ “กระบอง” ที่เอาไว้ “ทุบคนที่น่าสงสัย”

ในขณะที่ “ผู้จัดการ” จัดเป็นพวกคนชั้นกลางหรือสูงก็ได้แล้วแต่ว่าเป็นผู้จัดการบริษัทอะไร หน้าที่การงานของผู้จัดการคือการเป็นผู้บริหาร คอยวางนโยบาย วางแผนว่าทำอย่างไรจึงได้เลื่อนตำแหน่ง และชี้นิ้วสั่งการซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้สมองหรือสติปัญญา

สื่อในเครือผู้จัดการสามารถ “กวาด” เอาบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกันเหล่านี้มารวมเข้าด้วยกันได้อย่างไม่เคอะเขิน เครือผู้จัดการจึงสามารถ “เล่นบทอะไรก็ได้” ตั้งแต่ระดับล่างเป็นจนถึงระดับสูง

เมื่อเวลาที่ต้องการสื่อสารกับคนระดับล่างหรือสื่อถึงความหวงแหนรักแผ่นดิน เครือผู้จัดการ ก็จะเล่นบทเป็น “ยามเฝ้าแผ่นดิน” แต่จะ “เฝ้าแผ่นดิน” ได้นั้นต้องแสดงให้เห็นเสียก่อนว่ามีบางคนหรือบางกลุ่ม “เป็นภัยต่อแผ่นดิน”  

โดยไม่รอช้า บรรดาสื่อที่มีอยู่ในมือทั้งหมดจึงพากันสร้างข้อกล่าวหาที่ไร้หลักฐาน เป็นต้นว่า “ปฏิญญาฟินแลนด์” อันบัดซบ “ทุบพระพรหมเพื่อเลี่ยงขาลง”  ฯลฯ (เป็นที่ชัดเจนแจ่มแจ้งในเวลาต่อมาเมื่อผู้คนกลับมามีสติปกติว่า “ข้อกล่าวหาจากยาม” ล้วนเป็นเท็จ)

การใช้เส้นสายกระจายข่าวของเครือผู้จัดการนับว่าได้ผลอย่างยิ่ง ยกตัวอย่างเช่น คนระดับสมาชิกวุฒิสภาและเคยได้รับรางวัลแมกไซไซ อย่างโสภณ  สุภาพงษ์ นำเรื่อง “ปฏิญญาฟินแลนด์” มาขยายขายต่ออย่างเป็นเรื่องเป็นราวโดยไม่เอะใจแม้แต่น้อยว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน อันทำให้รางวัลแมกไซไซที่เขาได้รับสูญค่าลงทันที

“ยามเฝ้าแผ่นดิน” ประสบความสำเร็จในการ “ติดป้าย” ให้แก่บางคนหรือบางกลุ่มกลายเป็นพวกไม่หวังดีต่อแผ่นดิน อันทำให้บทบาทของการเป็น “ยาม” โดดเด่นเป็นสง่าขึ้น สอดรับกับการเคลื่อนไหวของผู้จัดการที่หาแนวร่วมโดยเน้นตลาดบน ตลาดของคนดีมีศีลธรรม ทำให้แนวร่วมเครือข่ายของเครือผู้จัดการเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง

อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าวัฒนธรรมของ “ยาม” นั้นพึ่งพาพึ่งพิงผู้อยู่อาศัยหรือเจ้าของบ้านหรือเจ้าของตึกหรือจากลูกค้า นอกจากเงินเดือนที่ยามได้รับจากบริษัทแล้ว ที่มากไปกว่านั้นคือ “ค่าทิป” ที่อาจจะเป็นกระทิงแดงสักขวด บุหรี่สักซอง เหล้าสักกลม เงินสักร้อยหรือมากกว่านั้น นี่ต่างหากที่เป็น   “รายได้หลัก” ของยาม

ลูกค้าคนไหนที่ไม่ค่อยให้ทิป ยามก็จะไม่ใส่ใจบริการกระทั่งเพิกเฉยต่อหน้าที่ แต่หากลูกค้าคนไหนให้ทิปงามๆ ยามก็จะกุลีกุจอบริการ บางกรณียามแกล้งทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ต่อพฤติกรรมเสียหายหรือผิดกฎหมายของลูกค้า หรือบางทีก็ยอมพูดโกหกเพื่อปกป้องลูกค้าหรือไปไกลถึงขั้นเสแสร้งเล่นตลกหรือเล่นจำอวดก็ได้    นี่คือวัฒนธรรมของยามที่พบเห็นได้เสมอแม้จะไม่ทุกคนก็ตาม

การเป็นยามได้อะไรมากกว่าเงินเดือน การเป็น “ยามเฝ้าแผ่นดิน” จึงน่าจะได้อะไรมากกว่าการได้ ”เฝ้าแผ่นดิน” เฉย ๆ เพราะถ้าไม่ได้อะไรแล้วก็คงไม่มีใครเสนอตัว “อยากเฝ้า”

สำหรับการเล่นเป็น “ผู้จัดการ” นั้นทำท่าว่าจะไปได้ดีแต่สุดท้ายล้มเหลว ได้เป็นเพียงผู้จัดการกำมะลอเป็นเจ้าของโรงน้ำแข็งเล็ก ๆ คอย “ปั้นน้ำเป็นตัว”  กินกันเองในเครือไม่กี่คน

กระนั้นก็ตาม กล่าวได้ว่าความสามารถในการ “ปั้นน้ำเป็นตัว” ทำให้ “ผู้จัดการ” โด่งดังอย่างมากและเกือบจะเป็นผู้จัดการที่ประสบความสำเร็จสูงสุด แต่ด้วย “โทษลักษณะ” บางอย่างในตัวเองสุดท้ายก็เป็นได้แค่เจ้าของโรงน้ำแข็งเล็ก ๆ ที่ไม่สามารถขยายให้ใหญ่โต หรือส่งออกน้ำแข็งได้เพราะ “น้ำแข็งละลายระหว่างทาง”

นอกจากการเล่นบทบาทสมมุติเป็น “ยาม” และ” ผู้จัดการ” แล้ว บางครั้งไปไกลถึงขั้นเล่นเป็นผู้เชี่ยวชาญทางธรรมอีกด้วย สมาชิกในเครือบางรายลงทุนถึงขั้นโกนศีรษะและห่มเหลือง (บวชนั่นแหละ) กล่าวได้ว่านี่เป็นวิธีการสร้างแนวร่วมที่ชาญฉลาดแต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนักเพราะ “คนบาปที่ห่มผ้าเหลืองก็ยังเป็นคนบาปอยู่วันยังค่ำ”

นิยายลวงโลกกำลังถูกตีแผ่  การกุข่าวอย่างไม่สำนึกจะกลายเป็นเรื่องขำขันที่ได้รับแต่เสียงหัวเราะเยาะ  การโกหกอย่างไม่ละอายจะส่งผลย้อนกลับทำลายตัวเอง บทเรียนที่ผ่านมาทำให้ผู้คนฉลาดขึ้น อย่างน้อยก็ฉลาดพอที่จะรู้ทันและรู้จักระมัดระวัง

สุดท้าย สำหรับ “ยาม” และ “ผู้จัดการ” จึงเป็นได้แค่เพียง “จำอวดไร้คนดู” และ “เจ้าของโรงน้ำแข็งกำมะลอที่ปั้นน้ำเป็นตัวกินกันเอง” เท่านั้น                                     
                                
   

บล็อกของ เมธัส บัวชุม

เมธัส บัวชุม
-1-พรรคประชาธิปัตย์หาเสียงเพื่อการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง โดยชูคำขวัญที่ฟังดูดัดจริตและกินไม่ได้ว่า “ประชาชนต้องมาก่อน”ผมได้ยินหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปล่งคำนี้ออกมาแล้วก็ให้นึกสงสัยว่าจะมีใครซักกี่คนในโลกนี้เชื่อในสิ่งที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ พูดออกมาพรรคประชาธิปัตย์ฉวยโอกาส เอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น ๆ ตามสไตล์ถนัดด้วยการโฆษณาหาเสียงก่อนใครเพื่อน  ในขณะที่พรรคคู่แข่งอย่างพรรคพลังประชาชนนั้นต้องเจอกับอำนาจชั่วที่คอยการสกัดกั้นทุกรูปแบบ-2-ต้องรอดูกันต่อไปว่า พรรคพลังประชาชนจะฝ่าต้านแรงสกัดจากอำนาจชั่วได้มากน้อยแค่ไหน…
เมธัส บัวชุม
อันที่จริง ผมตั้งใจจะหยุดเขียนบทความการเมืองสักระยะด้วยรู้สึกระอากับความวิปริตทางปัญญาของสังคมไทย ผมยังรู้สึกหลอนไม่หายกับการยึดอำนาจของทหารท่ามกลางความดีอกดีใจของพวก “ทาสที่ปล่อยไม่ไป” และพวกที่กลุ้มรุมทึ้งแย่งผลประโยชน์ “แห่งชาติ” ที่ไม่ได้ “เหลือแต่กระดูก” หลังการจากไปของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตรกลุ่มคนเหล่านี้ที่เข้ามายึดกุมอำนาจหลังรัฐประหาร ไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับการสร้างประชาธิปไตยหรือปฏิรูปการเมือง  รัฐบาลเถื่อนของนายกรัฐมนตรีสุรยุทธ์ จุลานนท์ กับ คมช. คตส. กกต. ที่ผ่านมาได้ทำอะไรบ้างที่เป็นสร้างเสริมประชาธิปไตย หรือปฏิรูปการเมืองไปสู่ครรลองประชาธิปไตยนอกจากสมคบคิดกันกวาดล้างกลุ่ม…
เมธัส บัวชุม
นิตยสาร “ราหูอมจันทร์” เกิดขึ้นท่ามกลางความซบเซาทั้งทางด้านการเขียน การอ่านและการวิจารณ์ของแวดวงเรื่องสั้นไทย ราหูอมจันทร์ เป็นนิตยสารรายครึ่งปีหรือที่ทางผู้จัดทำเรียกว่ารายฤดูกาล เป็นการคัดสรรเรื่องสั้นที่มีผู้ส่งไปจากทั่วสารทิศเพื่อรวมพิมพ์เป็นเล่มบรรดาคอเรื่องสั้น ต่างวาดหวังว่าการมาถึงของราหูอมจันทร์อาจช่วยให้วงการคึกคักขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อย   อย่างไรก็ตาม เมื่อได้อ่านแล้ว ต้องกล่าวตามตรงว่าราหูอมจันทร์ Vol. 3 “วันปลดปล่อยผีเสื้อ” นั้นมีระดับคุณภาพที่น่าผิดหวังไม่น้อย ทางผู้จัดทำนิตยสารนี้คือกองทุน “กนกพงศ์  สงสมพันธุ์” ก็ยอมรับว่า“ราหูอมจันทร์ Vol. 3…