Skip to main content

อาการตบะแตกกับนักข่าว/คอลัมนิสต์ ของนายก ฯ สมัคร  สุนทรเวช เป็นเรื่องที่เข้าใจได้และไม่ใช่อะไรที่น่าตื่นเต้นตกใจแต่อย่างใด  แต่บรรดานักข่าวและผู้อยู่ในแวดวงออกอาการตระหนกตกใจราวกับสาวแรกรุ่นที่กำลังจะโดนข่มขืนเป็นครั้งแรก โดยไม่ตระหนักเลยว่า ที่ผ่านมานักข่าว/คอลัมนิสต์ กระทำการข่มขืนคนอื่นอยู่ตลอดเวลา หรือในทางกลับกันก็ถูกอำนาจที่เหนือกว่าข่มขืนหลายครั้ง

การคุกคามข่มขืนสื่อมวลชนในยุคเผด็จการทหารครองเมือง เทียบไม่ได้แม้แต่นิดเดียวกับปัจจุบัน สื่อบางแขนงชิงข่มขืนตัวเองเสียก่อนที่จะถูกเผด็จการทหารที่นำโดยพลเอกสนธิ  บุณยรัตนกลิน จัดการข่มขืน (เราควรย้ำถึงชื่อของพลเอกสนธิ  บุณยรัตนกลินในฐานะผู้ทำลายประชาธิปไตยให้บ่อย)

อำนาจจากปากกระบอกปืนภายใต้บรรยากาศรัฐประหาร แม้อาจไม่ขู่เข็ญกันตรง ๆ  แต่ก็ทำให้นักข่าว/คอลัมนิสต์ ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์หรือทำการเซ็นเซอร์ตัวเอง เคยมีสักครั้งไหมเล่าที่สื่อมวลชนอย่างเครือเนชั่น มติชน หรือไทยโพสต์ รวมตัวกันออกแถลงการณ์เพื่อประณามการแทรกแซงและคุกคามสื่อแบบเดียวกับที่ทำรัฐบาลประชาธิปไตยอย่างรัฐบาลทักษิณ หรือรัฐบาลสมัคร (ช่างเป็นสื่อที่คงเส้นคงวาเสียจริงๆ)

จะว่าไป นายกฯ สมัคร  สุนทรเวช ตอบโต้นักข่าว/คอลัมนิสต์ เบาเกินไปด้วยซ้ำ   สื่อมวลชนเหล่านี้สมควรโดนด่าเยอะ ๆ ทั้งนี้เพราะว่าสื่อมวลชนของไทยยังไม่มีวุฒิภาวะมากพอที่จะใช้เสรีภาพโดยปราศจากการถูกตรวจสอบหรือตั้งคำถาม เราไม่ควรปล่อยให้บรรดานักข่าว/คอลัมนิสต์ยกฐานันดรหรือสถาปนาบรรดาศักดิ์ให้ตัวเองลอยอยู่เหนือการตรวจสอบ

การที่นักข่าว/คอลัมนิสต์โดนด่าเยอะ ๆ จึงน่าจะเป็นสิ่งที่ดี เป็นตัวบ่งชี้ของความเป็นประชาธิปไตยด้วยซ้ำไป  

หากลองปรายตามองไปที่หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ก็จะได้พบถึงความไร้วุฒิภาวะอย่างร้ายแรง การเขียนพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ไม่ต่างอะไรเลยจากใบปลิวหรือข่าวโคมลอยที่ซุบซิบกันปากต่อปาก-อันที่จริง ด้วยความหยาบคายเหลือรับ ผมไม่อ่านหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์มาหลายปีแล้ว แต่ที่เห็นข่าวพาดหัวก็เพราะพ่อค้านำหนังสือพิมพ์หลากยี่ห้อมาโชว์โดดเด่นที่ป้ายรถเมล์ตอนเช้า

“กลบไต๋ฟอกผิดลูกกรอกโยนสภาชำเรารธน./'ชัย'นั่งปธ.รัฐสภา” (8 พ.ค. 2551)
ชั่วครองเมือง'ธีรยุทธ'ตั้งฉายารบ.'ลูกกรอก1'นำสู่วัฏจักรวิบัติ (2 พ.ค. 2551)
พรรคร่วมขบถกังขารธน.จัญไรหมกเม็ด'ชท.'รับอาจไม่ร่วมลงชื่อ (29 เม.ย. 2551)
พรรคร่วมระส่ำแทงกั๊กชำเรารธน.'พปช. ฝืนยัดเข้าสภาสิ้นเมษา (23 เม.ย. 2551)

ไทยโพสต์ใช้คำว่า “ชำเรา” สำหรับการแก้รัฐธรรมนูญของรัฐบาลสมัคร และใช้คำว่า ”จัญไร” เรียกรัฐธรรมนูญที่กำลังจะแก้ ผมสงสัยความกล้าหาญของหนังสือพิมพ์นี้เสียจริงว่าเคยใช้คำแบบนี้กับการฉีกรัฐธรรมนูญของเผด็จการทหารบ้างหรือไม่ ?

แล้วเมื่อนำภาษาปากของนายก ฯ สมัคร สุนทรเวช มาเปรียบเทียบกับคำพาดหัวที่เป็นภาษาเขียนของไทยโพสต์อย่างคำว่า “จัญไร” “ชำเรา” “ฝืนยัด” “ชั่วครองเมือง” แล้วจะเห็นได้ถึงระดับความรุนแรงก้าวร้าวที่เทียบกันไม่ติด คำว่า “ชำเรา” กับ “ฝืนยัด” ให้ภาพของการกระทำทางเพศชัดเจนมาก สื่อดัดจริตที่หูหนวกตาบอดควรจะตระหนักถึงพิษภัยของสื่อด้วยกันเองก่อนที่จะออกแถลงการณ์บ้องตื้นปกป้องพวกเดียวกัน

ผมคิดว่าผมคงเข้าใจไม่ผิด หากจะบอกว่าหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์สนับสนุนให้เกิดการรัฐประหารขึ้นอีกครั้ง

'กลิ่นคาวปฏิวัติ!'ผบ.สส.'ไม่รับประกัน หมออาวุโสชี้นองเลือด (7 พ.ค. 51)
จ่อ'รัฐประหาร'!ครป.ชี้เสี่ยงกว่า19กย.ศก.-รธน.-ฟอกทักษิณ (5 พ.ค. 2551)
ผู้ใหญ่สกัดวิกฤติ ผบ.ทร.เปิดแผนยุติโยงสถาบัน-ไม่รับประกันปฏิวัติ! (1 พ.ค. 2551)

การพาดหัวของไทยโพสต์แบบที่ผมยกมาให้เห็นข้างต้นเรียกได้ว่า “เลว” ไม่อาจตีความเป็นอื่นได้เลยนอกจากตีความว่าไทยโพสต์อยากให้ทหารทำการยึดอำนาจ ทำลายประชาธิปไตยของประชาชนอีกครั้ง อันที่จริงหากเคารพในวิชาชีพของตนเอง หนังสือพิมพ์ต้องต่อต้านยับยั้งการสร้างเงื่อนไขให้เกิดรัฐประหารด้วยซ้ำ โดยชี้ให้เห็นว่ามันเลวร้ายอย่างไร ไม่ใช่นิ่งเฉยกระทั่งสนับสนุนแบบที่ไทยโพสต์ทำ

หากไทยโพสต์ยังเห็นว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ดีที่สุด ในฐานะสื่อการพาดหัวแบบนี้ถือว่าผิดอย่างร้ายแรงเหมือนคนขาดวุฒิภาวะที่เอาแต่ใจตนเอง ในความรู้สึกนึกคิดมีแต่ทิฐิมานะ มีแต่ความโกรธเกลียดเคียดแค้นและพลอยทำให้คนอ่านไร้เหตุผลไปด้วย การยุยงส่งเสริมหรือสนับสนุนไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมให้เกิดรัฐประหารสมควรถูกประณามดัง ๆ

ไทยโพสต์อาจไม่ชอบอดีตฯ นายก ทักษิณ ชินวัตร หรือไม่ชอบ นายกฯ สมัคร สุนทรเวช แต่ก็มีวิธีการและช่องทางการแสดงออกมากมายในการวิพากษ์วิจารณ์ ในการตรวจสอบตั้งคำถามโดยไม่จำเป็นต้องชี้นำให้เกิดการล้มรัฐบาลโดยการรัฐประหาร ไทยโพสต์น่าจะตระหนักสักนิดว่าเป้าหมายของสื่อไม่ใช่การล้มรัฐบาลเพื่อให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง หรือเพื่อล้มรัฐบาลให้ได้แล้วค่อยไปคิดกันข้างหน้าหรือด่าเพื่อความเมามันสะใจ ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดการเรียนรู้อะไรขึ้นมาเลย

ไทยโพสต์กลายเป็นสื่อไร้เหตุผล ขาดความรับผิดชอบต่อข้อเขียนและขาดความเคารพในวิชาชีพของตัวเอง ไม่ต่างอะไรจากการปั้นน้ำเป็นตัวของสื่อในเครือผู้จัดการ

สิ่งที่เราทุกคนทำได้ก็คือเลิกเสพ เลิกซื้อมันเสีย  มันไม่เหมาะกับคนอย่างเรา

บล็อกของ เมธัส บัวชุม

เมธัส บัวชุม
-1-พรรคประชาธิปัตย์หาเสียงเพื่อการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง โดยชูคำขวัญที่ฟังดูดัดจริตและกินไม่ได้ว่า “ประชาชนต้องมาก่อน”ผมได้ยินหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปล่งคำนี้ออกมาแล้วก็ให้นึกสงสัยว่าจะมีใครซักกี่คนในโลกนี้เชื่อในสิ่งที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ พูดออกมาพรรคประชาธิปัตย์ฉวยโอกาส เอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น ๆ ตามสไตล์ถนัดด้วยการโฆษณาหาเสียงก่อนใครเพื่อน  ในขณะที่พรรคคู่แข่งอย่างพรรคพลังประชาชนนั้นต้องเจอกับอำนาจชั่วที่คอยการสกัดกั้นทุกรูปแบบ-2-ต้องรอดูกันต่อไปว่า พรรคพลังประชาชนจะฝ่าต้านแรงสกัดจากอำนาจชั่วได้มากน้อยแค่ไหน…
เมธัส บัวชุม
อันที่จริง ผมตั้งใจจะหยุดเขียนบทความการเมืองสักระยะด้วยรู้สึกระอากับความวิปริตทางปัญญาของสังคมไทย ผมยังรู้สึกหลอนไม่หายกับการยึดอำนาจของทหารท่ามกลางความดีอกดีใจของพวก “ทาสที่ปล่อยไม่ไป” และพวกที่กลุ้มรุมทึ้งแย่งผลประโยชน์ “แห่งชาติ” ที่ไม่ได้ “เหลือแต่กระดูก” หลังการจากไปของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตรกลุ่มคนเหล่านี้ที่เข้ามายึดกุมอำนาจหลังรัฐประหาร ไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับการสร้างประชาธิปไตยหรือปฏิรูปการเมือง  รัฐบาลเถื่อนของนายกรัฐมนตรีสุรยุทธ์ จุลานนท์ กับ คมช. คตส. กกต. ที่ผ่านมาได้ทำอะไรบ้างที่เป็นสร้างเสริมประชาธิปไตย หรือปฏิรูปการเมืองไปสู่ครรลองประชาธิปไตยนอกจากสมคบคิดกันกวาดล้างกลุ่ม…
เมธัส บัวชุม
นิตยสาร “ราหูอมจันทร์” เกิดขึ้นท่ามกลางความซบเซาทั้งทางด้านการเขียน การอ่านและการวิจารณ์ของแวดวงเรื่องสั้นไทย ราหูอมจันทร์ เป็นนิตยสารรายครึ่งปีหรือที่ทางผู้จัดทำเรียกว่ารายฤดูกาล เป็นการคัดสรรเรื่องสั้นที่มีผู้ส่งไปจากทั่วสารทิศเพื่อรวมพิมพ์เป็นเล่มบรรดาคอเรื่องสั้น ต่างวาดหวังว่าการมาถึงของราหูอมจันทร์อาจช่วยให้วงการคึกคักขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อย   อย่างไรก็ตาม เมื่อได้อ่านแล้ว ต้องกล่าวตามตรงว่าราหูอมจันทร์ Vol. 3 “วันปลดปล่อยผีเสื้อ” นั้นมีระดับคุณภาพที่น่าผิดหวังไม่น้อย ทางผู้จัดทำนิตยสารนี้คือกองทุน “กนกพงศ์  สงสมพันธุ์” ก็ยอมรับว่า“ราหูอมจันทร์ Vol. 3…