กล้องถ่ายรูป นอกจากจะเป็นเครื่องมือสำหรับเก็บภาพแล้วยังสามารถเป็นอาวุธไปได้พร้อมกัน หลายคนที่สันหลังหวะและกำลังจะหวะจึงมักกลัวกล้องเพราะมันจะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ฟ้องด้วยภาพ” ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่าคำบรรยายเป็นไหน ๆ และในรายที่ความผิดปรากฏชัดแล้ว กล้องก็สามารถทำให้เกิดปรากฏการณ์ “ประจานด้วยภาพ” ได้อีกด้วย
นักการเมืองหรือดาราหรือกระทั่งคนธรรมดาเวลาทำผิดจึงมักจะหลบกล้อง เช่น อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ให้นักศึกษาอมนกเขาแลกเกรดก็พยายามเลี่ยงหลบกล้องโดยเอาปี๊บคลุมหัว หรือนักการเมืองบางรายลงทุนพรางตัวเพื่อไม่ให้กล้องจับภาพได้ขณะที่เข้าพบป๋าเป็นการส่วนตัว นี่ยังไม่รวมถึงดาราที่ต้องปะทะกับพวกปาปาราซซี่อยู่บ่อย ๆ ในเรื่องกล้อง บางรายถึงขนาดชูนิ้วกลางให้กล้องหรือแย่งเอาฟิล์มมาทำลาย ดังนั้น ในบางสถานการณ์อานุภาพของกล้องจึงร้ายแรงไม่แพ้อาวุธอื่น
เหตุผลประการหนึ่ง ที่ทำให้บางคนขยาดกล้องก็เพราะกล้องถ่ายรูป (ของบรรดานักข่าว) นำไปสู่การทำลายความเป็นส่วนตัว พื้นที่ส่วนตัวอันเป็นพื้นที่หวงแหนต้องห้ามที่ไม่อนุญาตให้คนแปลกหน้าเข้ามายุ่มย่ามเพราะความเป็นส่วนตัวบางเรื่องนั้นเป็น “ความลับ” หรือ “ลับเฉพาะ” ที่ไม่สามารถเผยแพร่สู่วงกว้างได้
แต่ความเป็นส่วนตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งของบุคคลสาธารณะเป็นสิ่งที่สามารถขายได้ขายดีเป็นที่นิยม ความเป็นส่วนตัวที่ขายได้ขายดีก็คงจะหนีไม่พ้นความเป็นส่วนตัวประเภทนุ่งน้อยห่มน้อย, การลักลอบคบชู้, การเป็นมือที่สาม, การแอบไปเที่ยวกับเสี่ย, การหาลำไพ่พิเศษ พูดง่าย ๆ ก็คือเรื่องที่วน ๆ อยู่แถว ๆ ใต้สะดือ หรือถ้าจะให้มีระดับขึ้นมาหน่อยก็อาจจะเป็นความเป็นส่วนตัวประเภทไปพักผ่อนกับคู่รักตามชายหาดสวยงามที่ไหนสักแห่ง
การขายความเป็นส่วนตัวในโลกยุคปัจจุบันนั้นเรียกได้ว่าเป็นอุตสาหกรรม ซึ่งนำไปสู่ธุรกิจมากมายซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น “ธุรกิจเรื่องส่วนตัว” ไม่ว่าจะเป็นหนังสือประเภทซุบซิบ, รายการประเภท Gossip, คอลัมน์เกี่ยวกับใต้สะดือ อย่างเช่น ซ้อเจ็ด แห่งค่ายผู้จัดการ ที่ถึงแม้จะเลวทรามอย่างไรก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีเรตติ้งสูงมาก นี่ยังไม่รวมถึงผู้ทำธุรกิจเกี่ยวกับการ “ขโมยถ่าย” ที่กำลังแพร่ระบาดทั้งโดยมืออาชีพและมือสมัครเล่น
เมื่อพูดถึงธุรกิจ “ขโมยถ่าย” นั้นอาจกล่าวได้ว่าเป็นธุรกิจที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากมายเหมือนธุรกิจอื่น ๆ มีเพียงกล้องถ่ายรูปตัวเดียวพกติดตัวไปไหนมาไหนอยู่ตลอดเวลาเท่านั้นก็พอ อย่างไรก็ตาม การ “ขโมยถ่าย” อาจจะต้องสุ่มเสี่ยงต่อการเจ็บตัวบ้างในบางโอกาสหรืออาจเสี่ยงต่อการที่กล้องถ่ายรูปจะถูกทำลาย
จะว่าไป กล้องถ่ายรูปคงไม่อาจทำลายความเป็นส่วนตัวได้หากภาพที่จับได้ไม่ถูกนำไปเผยแพร่ ดังนั้นไม่ใช่กล้องถ่ายรูปเพียงอย่างเดียวเท่านั้น มันต้องมีการเผยแพร่หรือเจตนาที่จะเผยแพร่เข้ามาร่วมด้วย
เมื่อพูดถึงกล้องถ่ายรูปสิ่งที่หลายคนนึกถึงต่อไปก็คือบรรดาปาปาราชชี่หรือนักข่าว ดังนั้นคงจะเป็นเรื่องแปลกหากบรรดาปาปาราชชี่หรือนักข่าวจะกลัวกล้องหรือกลัวที่จะถูกคนอื่นถ่ายรูป เหตุการณ์การปะทะกันระหว่างการแถลงข่าวของกลุ่มนปก. กับนักข่าวกลัวกล้องที่เกิดขึ้นเมื่อหลายวันก่อนที่รัฐสภาแม้นจะไม่สลักสำคัญนัก แต่ก็เป็นเรื่องน่าสนใจที่ควรจะบันทึกเอาไว้
ผมค้นหาข่าวนี้จากสื่อหลายแหล่งจนในที่สุดก็พบว่าหนังสือพิมพ์ออนไลน์ไทยโพสต์ให้รายละเอียดมากกว่าใครเพื่อน เป็นรายละเอียดแฝงความคิดเห็นที่เรียกได้ว่าเกินความจำเป็นในการนำเสนออันเป็นเรื่องที่สื่อดี ๆ ไม่กระทำ ไทยโพสต์ออนไลน์เขียนว่า
“ที่ห้องแถลงข่าวรัฐสภา แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ประกอบด้วย นายจรัล ดิษฐาอภิชัย นพ.เหวง โตจิราการ โดยมีนายสุชาติ นาคบางไทร แกนนำกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ ซึ่งก่อเหตุปะทะกับกลุ่มพันธมิตรฯ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันอาทิตย์รวมอยู่ด้วย บรรยากาศการแถลงข่าวเป็นไปอย่างดุเดือด เมื่อผู้สื่อข่าวได้สอบถามว่า ในฐานะที่เป็นแกนนำทราบหรือไม่ว่าในกลุ่มต่อต้านนั้นมีการพกพาอาวุธหลายชนิด ทั้งมีดและไม้หน้าสาม เพื่อโจมตีกลุ่มพันธมิตรฯ แต่นายสุชาติย้อนถามผู้สื่อข่าวด้วยความไม่พอใจว่า ตนไม่เห็นอาวุธใดๆ เลย ถ้ามีจริงให้เอาภาพถ่ายมายืนยัน ก่อนจะถามกลับว่า คุณเห็นอะไรที่พันธมิตรฯ บ้างหรือไม่ ผู้สื่อข่าวจึงตอบไปว่า ได้ทำข่าวการชุมนุมของกลุ่ม นปช.จึงเห็นความเคลื่อนไหวตลอด และช่วงหนึ่งมวลชนของ นปช.เองได้มาขอร้องให้ตนช่วยถือไม้ไปตีพันธมิตรฯ ด้วย นายสุชาติโต้ทันทีว่า แสดงว่าคุณก็ใช้ความรุนแรง แต่ผู้สื่อข่าวบอกกลับไปว่ากลุ่มของ นปช.มาขอให้ถือ
ต่อมานายสุชาตินำกล้องส่วนตัวขึ้นมาถ่ายรูปผู้สื่อข่าวหลายคนที่ตั้งคำถามต่อเนื่อง จนผู้สื่อข่าวต่างรุมถามว่าถ่ายรูปไปทำไม ได้รับคำตอบว่า "แค่ถ่ายรูปแค่นี้ คุณก็กลัวแล้วหรือ ผมแค่ถ่ายรูปเพื่อดูหน้าพวกคุณคือใคร ผมจะได้ไปศึกษาท่าน"
ก่อนเหตุการณ์บานปลาย ผู้สื่อข่าวได้ขอให้นายจรัลช่วยลบภาพดังกล่าว แต่นายจรัลนิ่งเงียบ จากนั้นผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ในฐานะเป็นอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คิดอย่างไรกับประเด็นสิทธิเสรีภาพ และท่าทีของการคุกคามสื่อเช่นนี้ นายจรัลตอบโต้อย่างมีอารมณ์ว่า พวกคุณชอบใช้คำว่าคุกคาม และผมก็เลิกนับถือสื่อมวลชนมานานแล้ว ก่อนจะตบไมค์ลงกับโต๊ะด้วยความไม่พอใจ พร้อมบอกว่า "เลิกโว้ย" แล้วลุกไปทันที
"จรัล" ห่ามจะชกนักข่าว
จากนั้นนายสุชาติได้เดินไปพูดคุยกับนายนิสิต สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคพลังประชาชน อดีตประธานกลุ่มคนรักทักษิณ ซึ่งร่วมชุมนุมอยู่ด้วยในคืนเกิดเหตุ และเป็นผู้นำคณะมาแถลงข่าวว่า "ผมต้องกลับก่อน อยู่ต่อเดี๋ยวอดใจไม่ไหว เดี๋ยวชกเอา" ต่อมาตัวแทนคณะผู้สื่อข่าวรัฐสภาได้เข้าไปแจ้งกับนายนิสิต ถึงพฤติกรรมการข่มขู่ผู้สื่อข่าวด้วยวาจาและการถ่ายภาพดังกล่าว และขอให้นายนิสิตรับรองว่า ถ้าจะมีการแจ้งความ นายนิสิตต้องเป็นพยานว่าเป็นคนที่พาคนเหล่านี้มาจริง ซึ่งนายนิสิตรับปากว่าพร้อมไปให้การกับตำรวจ หลังจากนั้นผู้สื่อข่าวทั้งหมดได้หารือร่วมกันและมีมติร่วมกันว่า จะดำเนินการแจ้งความไว้ที่ สน.ดุสิต เพื่อเป็นหลักฐานว่ามีเจตนาจะคุกคามผู้สื่อข่าว
นพ.ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า นายจรัลมักจะมีท่าทีคุกคามสื่อมวลชนและผู้อื่นเสมอ ตั้งแต่บุกบ้าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ อย่างกรณีเดียวกันนี้เขามาทำกับสื่อ กระแทกไมค์ใส่หน้าสื่อในห้องแถลงข่าวก็สามารถเอาผิดได้ และตนถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง ผู้สื่อข่าวน่าจะมาฟ้องร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนด้วย เพราะผมมองว่ามันเป็นการข่มขู่ และไม่ให้เกียรติ โดยเฉพาะการคว้ากล้องถ่ายรูปมาถ่ายรูปของนายสุชาติ อาจจะทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงได้เช่นกัน นพ.ประดิษฐ์กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้นายจรัลยังคงเข้าไปทำงานในคณะกรรมการสิทธิฯ ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการสิทธิฯ เหลือเพียง 9 คนเท่านั้น เนื่องจากตนได้ออกจากคณะกรรมการสิทธิฯ ชุดนี้แล้ว
(http://www.thaipost.net/index.aspbk=thaipost&iDate=27/May/2551&news_id=159086&cat_id=501) (27 พ.ค. 51)
ในกรณีข้างต้นเป็นอะไรที่น่าสนใจ เพราะนอกจากแสดงให้เห็นว่านักข่าวกลัวกล้องแล้วมันยังแสดงให้เห็นถึงการเป็นอภิสิทธิ์ชนของนักข่าวที่สามารถคุกคามคนอื่นด้วยการเป็น “ฝ่ายกระทำ” ด้วยการถ่ายรูปอยู่เพียงฝ่ายเดียวซึ่งต่อไปจะขอเรียกว่าเป็น “สื่อคุกคาม” ซึ่งถ้าว่าหากสังคมไทยมีนักข่าวแบบนี้มากก็จะกลายเป็นสังคมแห่งความคุกคามโดยสื่อ
ส่วนการให้ความเห็นเชิงป้ายสีอย่างเกินเลยของไทยโพสต์อย่างคำว่า “จรัลห่ามจะชกนักข่าว” นั้นก็เป็นอะไรที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงแม้แต่น้อย อีกทั้งการเขียนข่าวก็อ่านไม่รู้เรื่องเหมือนลอกคนอื่นมาแบบผิด ๆ ถูก ๆ ซึ่งผมจะค่อยวิพากษ์วิจารณ์หนังสือพิมพ์ยี่ห้อนี้ในโอกาสต่อ ๆ ไป.