(เนื้อหาในบทความนี้อาจจะบอกความลับของหนัง)
ครั้งหนึ่งเมื่อภาพยนตร์เรื่อง เฉือน ของผู้กำกับก้องเกียรติ โขมศิริ ได้ลงโรงฉายชนกับภาพยนตร์รัก Feel Good อย่างรถไฟฟ้ามาหานะเธอนั้นหลายคนที่ไปชมเรื่องนี้ต่างอึ้งกับภาพความโหดร้ายของฆาตกรต่อเนื่องของไทยที่คาดว่าจะเป็นภาพยนตร์ฆาตกรต่อเนื่องที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง และมีคำถามขึ้นมาว่า
ทำไมฆาตกรถึงดูไม่น่ากลัวแบบในหนังฮอลลีวู้ด
ครับ คำถามนี้เป็นอะไรที่น่าสนใจมากเพราะหลายคนไม่คิดว่าฆาตกรในชีวิตจริงนั้นจะเป็นคนธรรมดาอย่างเราๆท่านๆนี่ล่ะ บางคนใส่สูทผูกไทด์เสียด้วยซ้ำ บางคนหน้าตาหล่อเหลาจนไม่น่าเชื่อว่า เขาเหล่านี้จะเป็นฆาตกรสุดโหดได้ ซึ่งต้องโทษภาพจำจากภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดที่สร้างภาพของตัวละครเหล่านี้ให้เราชินชาว่า ฆาตกรต่อเนื่องจะต้องเป็น ชายร่างยักษ์ใหญ่ ใส่หน้ากากบ้างล่ะ หน้าโหดๆบ้างล่ะแบบนี้ อิทธิพลของภาพยนตร์ก็ครอบคลุมทุกอย่างไปเกือบหมดแม้แต่เวลาจับผู้ร้ายมาแถลงข่าวได้และเห็นหน้าตาอ่อนๆราวกับนักร้องเพลงเกาหลีก็พลางให้คิดว่า จับแพะมาหรือเปล่า
การตั้งคำถามเช่นนี้ทำให้ผมนึกถึงภาพยนตร์ของเกาหลีเรื่องหนึ่งที่น่าจะเป็นการเปิดศักราชใหม่ของวงการภาพยนตร์เกาหลีสายโหดยุคใหม่ภายหลังหมดยุคของไตรภาคการล้างแค้นอย่าง Old boy ของผู้กำกับปัก ชาน วุค
เรื่องราวของจุงโฮ แมงดาอดีตตำรวจคนหนึ่งที่ออกจากราชการมาทำงานส่งผู้หญิงไปขายบริการทางเพศให้แก่คนที่ต้องการใช้บริการ ทว่าในช่วงเดือนที่ผ่านมาเขาพบว่าเด็กของเขาหลายคนหายไป ซึ่งในคราวแรกเขาเชื่อว่า เด็กพวกนั้นหนีตามแขกไปทำให้เด็กไม่พอจนต้องไปตามหญิงสาวอีกคนหนึ่งที่กำลังไม่สบายให้ไปทำงานแล้วพบว่า คนที่เรียกไปใช้บริการนั้นเป็นคนคนเดียวกับที่พาหญิงคนอื่นไปด้วยความเชื่อว่า ไอ้หมอนี่เอาเด็กของเขาไปขายต่อ จุงโฮจึงวางแผนให้หญิงบริการคนนี้เป็นนกต่อสืบที่อยู่ของหมอนี่ทว่า เธอก็หายไปเช่นกัน หลังจากนั้นไม่นานจุงโฮได้พบกับชายหนุ่มคนนี้อีกครั้งก่อนจะจับตัวเขาได้และส่งให้ตำรวจไป ทว่าเขาก็เปิดปากสิ่งที่น่าตกตะลึงออกมานั้นก็คือ ผู้หญิงที่หายไปเขาไม่ได้เอาไปขายแต่เอาไปฆ่าทิ้งต่างหากและน่าจะมีถึง 12 ศพด้วยซ้ำ คำพูดอันน่าตกตะลึงและไม่สะทกสะท้านของชายคนนี้ทำให้ตำรวจต้องเข้ามายุ่งกับคดีนี้ ทว่า นอกจากปากคำของคนร้ายแล้วก็ไม่มีหลักฐานอื่นๆอีกซึ่งอาจจะทำให้ตำรวจต้องปล่อยตัวของเขาออกไปในช่วงเที่ยงวันของวันต่อมา ความหวังเดียวคือ จุงโฮต้องหาตัวของหญิงสาวที่เขาส่งไปให้เจอเพื่อใช้มัดตัวฆาตกรรายนี้
ภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงมาจากแฟ้มคดีจริงของฆาตกรต่อเนื่องในเกาหลีที่ปัจจุบันถูกประหารชีวิตไปแล้ว ทว่าการกระทำของเขานั้นยังคงสั่นประสาทหลอนชาวเกาหลีใต้ทุกคนเสมือนแจ็ค เดอะ ริปเปอร์ กลับชาติมาเกิด (น่าสังเกตว่าเหยื่อของเขาที่เป็นการสังหารด้วยตัวเองนั้นเป็นโสเภณี) ซึ่งแน่นอนว่า ตัวหนังนั้นอุดมไปด้วยความรุนแรงแบบเต็มขั้นทั้งการฆ่าที่เลือดเย็นและอำมหิตผิดมนุษย์ (แต่ก็ไม่มีฉากฆ่าใดเห็นจะๆที่ยิ่งส่งเสริมให้หนังสร้างจินตนาการกับคนดูให้มากไปอีก) ถึงจะเป็นเช่นนั้นหนังก็มีความแตกต่างกับไตรภาคของปักชานวุคอย่างสิ้นเชิง เพราะแทนจะพูดถึงการแก้แค้นของแมงดาจุงโฮนั้น หนังกลับพูดถึงความล้มเหลวของระบบยุติธรรมเกาหลีได้อย่างถึงแก่น
สิ่งที่เป็นผู้ร้ายตัวจริงของหนังกลับไม่ใช่ตัวฆาตกรที่เลือดเย็นแต่เป็นระบบยุติธรรมที่เต็มไปด้วยช่องโหว่ของกฎหมายเต็มไปหมดจนส่งผลให้เกิดการฆ่าในศพต่อมาอีก ซึ่งสิ่งที่บ่งบอกถึงความง่อยเปลี้ยของระบบยุติธรรมนั้นก็มีหลายอย่างเช่น การที่เราได้เห็นว่า ฆาตกรสารภาพไปแล้วก็น่าจะใช้ในการควบคุมตัวไว้ได้ ทว่าสิ่งที่น่าสนใจก็คือ ระบบยุติธรรมนี้ต้องการหลักฐานมากกว่าจนทำให้ต้องปล่อยฆาตกรไป(และเกิดการฆ่าขึ้นอีก) ยังไม่รวมการสร้างภาพของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์อย่างตำรวจให้ดูไร้ความสามารถที่ประชาชนจะพึ่งพาได้ หนังฉายให้เห็นถึงหน้าที่ตำรวจที่ดูแล้วได้แต่ส่ายหัวอย่างการไปนั่งเฝ้าคุ้มครองนักการเมืองที่มีพฤติกรรมเลวๆจนถูกอึปาใส่หน้า การไม่สนใจฟังเหตุผลใดๆและถือตัวเองมีอำนาจทางกฎหมายและเบียดเบียนประชาชน พฤติการณ์รับสินบน รวมไปถึงภาพที่แสนจะน่าเวทนาของตำรวจที่นอนหลับในขณะลาดตระเวนตรวจตราจนไม่ได้ยินเสียงโทรศัพท์จากหญิงสาวที่โทรขอความช่วยเหลือ พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นการฉายให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบนี้ ระบบนี้ทำให้ตำรวจสืบสวนคนหนึ่งอย่าง จุงโฮ ต้องกลายเป็นแมงดาไป(ซึ่งสาเหตุของการกลายพันธุ์มาเป็นแมงดานั้นหนังไม่ได้เล่าให้ฟัง)ยิ่งเราดูพฤติกรรมของตำรวจยิ่งทำให้ต้องส่ายหน้าทั้งการสืบสวนที่แสนล่าช้าและไม่มีเซ็นต์ทางการสืบสวนยิ่งทำให้เราไม่อาจจะฝากความหวังกับพวกเขาได้ในการเอาตัวคนร้ายที่นั่งอยู่ตรงหน้ามาลงโทษ ผลคือ เราเทสายตามองไปยัง จุงโฮ แมงดาหนุ่มให้คลี่คลายคดีนี้ทั้งที่เขาไม่ใช่ตำรวจอีกแล้ว แต่เรากลับไปหวังพึ่งพิงเขา
ดังนั้นคำว่า คนจับฆาตกรไม่ใช่ผู้รักษากฎหมาย จึงเป็นคำที่เสียดแทงลงไปกลางใจของระบบตำรวจเกาหลีได้เป็นอย่างดี เพราะนิยามของตำรวจ อาชีพที่มีไว้ปกป้องประชาชนหรือคำที่เรียกพวกเขาว่า ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์นั้น ทว่าในภาพยนตร์เรื่องนี้พวกเขาก็เป็นได้สุนัขรับใช้นักการเมืองที่มีหน้าที่คอยดูแลพวกนั้นและปล่อยชาวบ้านตาดำๆไว้โดยไม่สนใจว่า พวกเขาจะเป็นตายร้ายดีอะไรต้องช่วยนักการเมืองก่อนเสมอ ในขณะที่ประชาชนโดนสับไปแล้ว ซึ่งต้องมานั่งคิดว่า ฉากที่สารวัตรถูกนักการเมืองบีบให้ปล่อยตัวคนร้ายนั้นก็แสดงภาพอำนาจอันน้อยของตำรวจในเมืองของนักการเมืองอยู่แล้ว (จนคิดว่าการที่คนร้ายหลุดออกไปและฆ่าคนบริสุทธิ์อีกนั้น นักการเมืองคนนั้นจะต้องรับผิดชอบหรือไม่) แน่นอนมันสะท้อนไปถึงฉากจบของเรื่องว่า ถ้าจุงโฮไม่มาซัดกับคนร้ายก่อน ตำรวจที่มาช้าแบบนี้จะทำจับฆาตกรได้หรือไม่
ช่างดูแล้วหดหู่กับระบบจริงๆนะครับ
ทว่าท่ามกลางความมืดมิดของยามค่ำคืนนั้นก็ยังมีแสงสว่างอ่อนเริ่มสาดแสงมา จุงโฮได้พบแสงสว่างเหล่านั้นในเด็กผู้หญิงที่เป็นลูกของโสเภณีคนนั้นที่พอจะทำให้เขายังพอมีความหวังต่อโลกสีเทาอันนี้ ภาพที่เขาไปนั่งอยู่ข้างเตียงของเด็กคนนี้พร้อมๆกับที่แสงอาทิตย์ยามเช้ากำลังจะสาดส่องมาถึงได้บอกให้เขารับรู้และเชื่อในความหวังอีกครั้งหนึ่ง
ภายหลังจากศรัทธาได้สูญสิ้นไปนานแล้ว