ปรากฏการณ์หน้ากากกายฟอว์กส์ขับไล่รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรในอินเตอร์เน็ต เมื่อช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาได้กลายเป็นหัวข้อสนทนาที่น่าสนใจอย่างยิ่งในวงการการเมืองของประเทศไทย เนื่องจากนี่เป็นครั้งแรกที่หน้ากากกายฟอว์กส์จากภาพยนตร์เรื่อง V for vendetta ภาพยนตร์ชื่อดังของบริษัทวอร์เนอร์ บาเธอร์เข้ามามีบทบาทในการเมืองของประเทศไทย ซึ่งน่าสนใจว่า ในต่างประเทศนั้นหน้ากากชิ้นนี้ได้ถูกใช้กันในการประท้วงครั้งต่าง ๆ และโดยเฉพาะการประท้วงของกลุ่ม Occupy Wall Street เมื่อปีที่แล้วที่ใช้หน้ากากนี่ด้านสัญยะเพื่อสะท้อนให้เห็นการกดขี่ของนายทุนที่มีต่อประชาชนไม่ได้ต่างกับสิ่งที่เผด็จการในหนังได้ทำลงไปเลยแม้แต่น้อย
ลูอิส คอลล์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียโพลีเทคนิค ในเมืองซานหลุยส์ โอบิสโป กล่าวว่า “หน้ากากที่กลุ่มผู้ประท้วงนำมาใช้นั้นเป็นสัญลักษณ์อันทรงพลังที่มีความหมายเปลี่ยนแปลงไปหลังจากผ่านมาหลายศตวรรษ” (เสกขภูมิ วรรณปก : มติชนออนไลน์ 11 พฤศจิกายน 2554) ครั้งหนึ่งมันถูกใช้เพื่อขับไล่เผด็จการ ครั้งหนึ่งมันถูกใช้เพื่อต่อต้านระบอบทุนนิยมที่กดขี่ และปัจจุบันถูกนำมาใช้เพื่อขับไล่รัฐบาล
แน่นอนว่า มีหลายคนแสดงทัศนะที่เกี่ยวกับตัวหน้ากากอันนี้ไปมากมาย ซึ่งมีมิตรสหายท่านหนึ่งได้กล่าวเอาไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า บริบทของหน้ากากนั้นมันไหลไปได้เรื่อย ไม่ตายตัว เห็นพ้องกับ ลูอิส คอลล์ที่ว่า "ในช่วงที่ผ่านมาหลายทศวรรษ ความหมายของกาย ฟอว์กส์เปลี่ยนไปอย่างมาก ชื่อเสียงของฟอว์กส์เริ่มกลับคืนมา ก่อนหน้านี้เขาถูกมองเป็นผู้ก่อการร้ายที่พยายามจะทำลายอังกฤษ แต่ทุกวันนี้เขาถูกมองเป็นนักต่อสู้เพื่อสันติภาพมากกว่า นักต่อสู้เพื่อสิทธิขั้นพื้นฐานของปัจเจกต่อระบอบการปกครองที่กดขี่ ความหมายทางการเมืองของหน้ากากนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป"(เสกขภูมิ วรรณปก : มติชนออนไลน์ 11 พฤศจิกายน 2554)
ขณะที่หากเรามองย้อนไปยังตัวภาพยนตร์เรื่องนี้ที่นับจากวันที่มันออกฉายในปี 2005 นั้นเป็นเวลาเกือบสิบปีที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังถูกนำมาพูดถึงอยู่เสมอในฐานะภาพยนตร์ที่พูดถึงการต่อสู้กับเผด็จการผ่านเรื่องราวแบบซุปเปอร์ฮีโร่ที่เป็นฉากหน้าของเรื่องนี้
V For Vendetta ดัดแปลงมาจากการ์ตูนคอมมิคของอลัน มัวร์ นักเขียนการ์ตูนชาวอังกฤษ ผู้สรรสร้างผลงานการ์ตูนดัง ๆ หลายเรื่องตั้งแต่ The league of extraordinary gentlemen , Batman The Killing Joke และรวมไปถึงผลงานการ์ตูนซุปเปอร์ฮีโร่ที่ดีที่สุดอย่าง Watchmen ซึ่งตัวคอมมิคของ V นั้นเป็นหนึ่งในคอมมิคหรือนิยายภาพชั้นเยี่ยมที่หลายคนยังคงกล่าวขวัญถึงทุกวันนี้
อลัน มัวร์ให้สัมภาษณ์ว่า เขาเขียนการ์ตูนเรื่องนี้เพื่อวิจารณ์การบริหารงานของนายกหญิงของอังกฤษในขณะนั้นได้แก่ นางมากาเร็ต แทตเชอร์ที่ดำเนินการปกครองประเทศด้วยอำนาจที่แข็งกร้าวจนเกือบจะเป็นเผด็จการอยู่แล้วนั่นเอง
แน่นอนว่า เมื่อนำมาใช้ในหนังก็มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดต่าง ๆ ออกไปมากมายเพื่อให้ทันยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมในยุค 80
เรื่องราวของ V เกิดขึ้นในโลกอนาคตในยุคที่อังกฤษถูกปกครองด้วยอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จโดย อดัม ซัทเลอร์ อดีตนายพลและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมที่ได้ใช้อำนาจเผด็จการควบคุมประชาชนให้อยู่ในความต้องการของเขาผ่านโฆษณาชวนเชื่อตลอด 24 ชั่วโมงที่มีทั้งรายการ ทั้งพิธีกรที่สนับสนุนเขา ทั้งข่าวสารโกหกบิดเบือนเพื่อปกปิดประชาชน และการสอดแนมความเป็นส่วนตัวของประชาชนส่งผลให้ประชาชนในอังกฤษมีสภาพง่อยเปลี้ยหูหนวกตาบอดไม่กล้าที่จะคิดต่อกรกับอำนาจเผด็จการนี้ และในจำนวนของประชากรชาวอังกฤษนั้นมีหญิงสาวพนักงานประจำสถานีโทรทัศน์คนหนึ่งที่ชื่อว่า อีวี่ เธอที่พึ่งออกมาจากบ้านหลังเคอร์ฟิวส์ก็ถูกพวกตำรวจลับของซัทเลอร์จับตัวหวังทำมิดีมิร้ายเธอและนั่นเองที่ทำให้เธอได้พบกับชายสวมหน้ากากกายฟอว์กส์นามว่า วี ผู้ที่กำลังจะก้าวเข้ามาเปลี่ยนตัวของเธอและประเทศนี้นั่นเอง
วีรบุรุษหรือคนบ้า ฆาตกรหรือผู้ปลดปล่อย นั่นคือสิ่งที่หนังได้ตั้งคำถามเราเอาไว้ว่า ชายผู้สวมหน้ากากคนนี้นั้นมีตัวตนเป็นสิ่งใดกันแน่
อลัน มัวร์ได้รับแรงบันดาลใจในการแต่งการ์ตูนเรื่องนี้มาจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่ถูกเรียกว่า The Gunpowder Plot หรือที่รู้จักกันในชื่อ แผนดินปืนหรือ กบฏดินปืนนั้นเอง ซึ่งเป็นกบฏที่เกิดขึ้นเนื่องจากกายฟอว์กส์และพรรคพวกชาวคาทอลิกจำนวนหนึ่งต้องการเสรีภาพในการนับถือศาสนานิกายคาทอลิกมากขึ้น รวมทั้งเกิดขึ้นเพราะ พระเจ้าเจมส์ที่ 1 ในขณะนั้นเป็นกษัตริย์เผด็จการที่สั่งขังคนเป็นว่าเล่น โดยเฉพาะชาวคาทอริคที่เป็นศัตรูกับชาวโปรแตสเตนท์ ซึ่งพระองค์นับถือนิกายนี้ด้วย นอกจากมีการบริหารบ้านเมืองล้มเหลวจนเกิดความเดือดร้อนไปทั่ว (ซึ่งตรงนี้น่าสนใจ มีหลายคนแสดงทัศนะว่า ฟอว์กส์อาจจะวางแผนที่จะกำจัดพระเจ้าเจมส์ทิ้งเพราะ ต้องการตั้งกษัตริย์ที่อาจจะมีตัวเองหนุนหลังอยู่ และต้องเป็นคาทอลิกแทน) โดยแผนการก็คือการเอาดินปืนจำนวน 36 ถังไปซุกไว้ในห้องใต้ถุนของรัฐสภาในวันที่ 5 พฤศจิกายน 1605 ทว่าแผนการดันรั่วเสียก่อนส่งผลให้กาย ฟอว์กส์และพรรคพวกทั้งหมดถูกนำไปแขวนคอท่ามกลางเสียงตะโกนด่าทอของผู้คนในยุคนั้น แต่เรื่องราวของเขาไม่ได้ถูกลืมเลือน มีการฉลองให้เขาในวันที่ 5 พฤศจิกายนของทุกปีเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์นี้
นั่นเองที่ทำให้อลัน มัวร์นำเรื่องราวของเขามาเขียนเพื่อตั้งคำถามว่า จะเกิดอะไรหากอังกฤษตกอยู่ภายใต้ผู้นำเผด็จการที่ชั่วร้าย และประชาชนยอมรับสภาพนกในกรงทอง และเรื่องราวของวันที่ 5 พฤศจิกายนได้ถูกลืมเลือนไปในความทรงจำของผู้คน
จนกระทั่งมีคนสวมหน้ากากปรากฏตัวขึ้นสร้างความปั่นป่วนให้กับรัฐบาล และเขากลับกลายเป็นแรงบันดาลใจของผู้คน
นี่คือ เรื่องราวของ V
เรื่องราวของ V ถูกถ่ายทอดผ่านจากสายตาของหญิงสาวธรรมดาที่ชื่อว่า อีวี่ที่นับจากได้วีช่วยชีวิตเอาไว้ชีวิตของเธอก็เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิงทันที
อีวี่เป็นตัวละครที่เรียกได้ว่า ถูกสร้างมาเพื่อเป็นตัวแทนประชาชนชาวอังกฤษที่แม้ว่าจะโหยหาอิสรภาพมากเพียงใด โหยหาความจริงมากเพียงใด แต่พวกเธอก็ทำได้แค่กร่นด่ารัฐบาล ด่าสื่อที่เข้าข้างรัฐบาลในบ้านตัวเองเท่านั้นเพราะพวกเขานั้นกลัวว่า หากเสนอตัวหรือทำตัวต่อต้านขึ้นมาอาจจะไม่รอดพ้นสายตาของรัฐบาลไปได้ พวกเขาจึงเลือกจะอยู่เงียบ ๆ เท่านั้น กระทั่งวีได้เข้ามาใช้ชีวิตและเปลี่ยนเธอทีล่ะน้อย
แน่นอนว่า อีวี่เป็นตัวแทนของคนชนชั้นกลางที่สุดท้ายก็ยอมที่จะอยู่ในกรงมากกว่าจะแหกกรงออกไป นี่เองที่ทำให้ตอนที่วีให้เธอร่วมงานกับเขาด้วยการไปหลอกล่อบิช๊อบคนหนึ่ง เธอกลับบอกความจริงเขาจนหมดเพราะ กลัว กลัวว่า ตัวเองจะต้องเดือดร้อน กลัวว่า ถ้าแผนการของวีล้มเหลว เธออาจจะซวยไปด้วย นั่นเองที่ทำให้เธอยอมหักหลังเขาด้วยเหตุผลที่ว่า ยอมอยู่ในกรงดีกว่าตายเพราะ อิสรภาพที่ไม่เคยเห็น
เราจึงเห็นในช่วงต้นเรื่องว่า อีวี่แสดงภาพของคนที่กลัวอำนาจรัฐ กลัวซัทเลอร์จนแทบสติแตกทั้ง ๆ ที่เอาจริงหลายอย่างเป็นแค่จินตนาการที่รัฐฝังใส่หัวของเธอว่า อย่างนี้ผิด การคิดแบบนี้ผิด
เพราะกลัวนั่นเอง
ส่งผลให้ V ต้องเอ่ยคำพูดคลาสสิคคนหนึ่งในโลกภาพยนตร์ขึ้นมาได้แก่
“ประชาชนไม่ควรกลัวรัฐบาล แต่รัฐบาลต่างหากที่ควรจะกลัวประชาชน”
แน่ล่ะคำพูดนี้ไม่ได้เข้าหูตัวอีวี่เลยแม้แต่น้อย เธอกลับครุ่นคิดว่า ชายคนนี้ต้องสติไม่ดีแน่ ๆ ที่ทำแบบนี้ส่งผลให้เธอนั้นทำเรื่องโง่ ๆ ออกมา
จนทำให้คนรอบข้างเธอได้รับผลกระทบไปด้วย
กระทั่งวีได้เข้ามาเปลี่ยนความคิดของเธอได้ในที่สุด
หากเรามองไปยังทรงผมของเธอที่ปรากฏในเรื่องนั้นจะพบว่า จากทรงผมสวย ๆ ของเธอที่แสดงให้เห็นถึงสติปัญญาอันสับสนของเธอเอง (อย่างน้อยก็เห็นเธอเปลี่ยนทรงผมบ่อย ๆ ในเรื่อง) กลายเป็นทรงผมสกินเฮดที่ดูน่ารังเกียจ แต่เอาจริงแล้ว ทรงผมสกินเฮดของอีวี่นั้นมีความหมายเสมือนการขบถต่อกฎเกณฑ์ต่าง ๆ นั่นเอง
หากมองย้อนไปในหนังเรื่องต่าง ๆ เราจะเห็นตัวละครที่ไว้ทรงผมนี้นั้นจะมีลักษณะของความเป็นขบฏไม่อยู่ในกฎเกณฑ์ใด ๆ อาทิตัวละครของ เอ็ดเวิร์ด นอร์ตันใน American History X ตัวละครของวิน ดีเซล ใน Fast And Furious เป็นต้น
ตรงนี้เองสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของอีวี่ที่ได้กลายเป็นผู้สานต่อเจตนารมณ์ V ไปแล้วในช่วงท้าย
อีกหนึ่งตัวละครสำคัญในเรื่องนี้คงไม่พ้น สารวัตร ฟรินท์ ตำรวจมากประสบการณ์ที่ได้รับคำสั่งให้จับตัวของ V และอีวี่ไว้ให้ได้ แต่ทว่ายิ่งสืบเรื่องราวของ V มากแค่ไหนก็ยิ่งรู้สึกว่า รัฐบาลต่างหากที่เป็นคนสร้าง V ขึ้นมาเพราะ เหตุการณ์ในอดีตนั่นเองที่ทำให้เขาได้รู้แล้วว่า
คนที่เขารัก เขาศรัทธานั้นเป็นผู้อยู่เบื้องหลังหายนะและการตายของผู้คนนับแสนเลยทีเดียว
แถมเรื่องที่พวกเขารู้มาตลอดก็เป็นเรื่องหลอกลวงเท่านั้น
นี่เองที่ทำให้สารวัตรฟรินท์เป็นตัวละครประเภทตาสว่างแต่ไม่ปากสว่างของแท้เลยทีเดียว
ภาวะสับสนของเขาที่ไม่รู้ว่า เขาควรจะทำอย่างไรปรากฏขึ้นตลอดการสืบสวนทั้งเรื่อง ความเชื่อที่เขาคิดมาตลอดยี่สิบปีถูกทำลายลงจนหมดสิ้นด้วยการสืบตัวของชายคนนี้
ที่ทำให้เขาได้รู้ทุกอย่าง
“จะเกิดอะไรขึ้นถ้ารัฐบาลจะต้องรับผิดชอบกับการตายของคนนับแสน” นี่คือสิ่งที่เขาตั้งคำถามกับลูกน้องของเขาท่ามกลางสายตากังขาของลูกน้องว่า เขาจะทำอย่างไรต่อไป
เมื่อสิ่งที่เขาศรัทธาได้พังทลายลงไปหมดสิ้นพร้อมกับอนาคตที่ไม่แน่นอนหลังการล่มสลายของรัฐบาล
ถ้าพูดถึงหนัง ถ้าไม่พูดถึงท่านผู้นำซัทเลอร์ก็คงเป็นเรื่องเลวร้ายนัก เพราะเขาเป็นตัวละครสำคัญที่น่าสนใจอีกคนในเรื่องนี้เลยทีเดียว
อดัม ซัทเลอร์ เป็นผู้นำเผด็จการที่มาจากเลือกตั้งนะครับ (หลายคนคิดว่า มาจากทหาร) แต่ทว่าเขานั้นเป็นรัฐมนตรีกลาโหมในรัฐบาลเก่ามาก่อน และจากนั้นก็ลงสมัครเลือกตั้งด้วยนโยบายแข็งกร้าวโดยใช้เรื่องราวไวรัสที่รัฐบาลทดลองขึ้นเองทำให้ผู้คนเกิดความหวาดกลัวและเลือกตั้งให้พรรคของเขาชนะถล่มทลาย
โดยไม่คิดว่านั่นคือ จุดจบของสิ่งที่เรียกว่าเสรีภาพ
อังกฤษในยุคของซัทเลอร์นั้นมีสภาพเป็นรัฐเผด็จการสมบูรณ์แบบทั้งการประกาศเคอร์ฟิวส์ห้ามคนออกจากบ้านยามวิกาล โดยมีตำรวจของซัทเลอร์คอยตรวจตราบ้างก็ใช้อำนาจหน้าที่ในการข่มเหงประชาชนแบบที่อีวี่ได้เจอในช่วงตอนต้น การดักฟังโทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต และ การพูดคุยกันในบ้านที่ละเมิดสิทธิประชาชนโดยอ้างว่า เป็นการทำให้ประชาชนปลอดภัยจากผู้ก่อการร้ายไม่มีตัวตน การนำเสนอข่าวสารที่รัฐบาลกลั่นกรองเอาไว้จนหมดแล้วทำให้แทบไม่เหลือความจริงออกให้ประชาชนได้รับรู้ และแน่นอนว่าห้ามคิดต่างเป็นอันขาด
เราจึงเห็นว่า รายการโชว์ของเดทริช คนรู้จักอีวี่ที่เอา V และซัทเลอร์มาล้อเลียนนั้นอาจจะถูกใจประชาชนแต่ไม่ถูกใจซัทเลอร์และกลุ่มคนที่สนับสนุนรัฐบาลส่งผลให้เดทริชถูกจับและสังหารในที่สุดในฐานะคนคิดต่าง
นอกจากนี้อังกฤษของซัทเลอร์ยังมีนโยบายกำจัดคนรักร่วมเพศอย่างเป็นบ้าเป็นหลัง ทั้งเกย์ ทอม เลสเบี้ยน ต่างถูกจับตัวไปขังไว้ในค่ายกักกันที่ไม่ต่างอะไรเลยกับค่ายทหารของนาซี แน่นอนว่า ทั้งหน่วยลับของซัทเลอร์ สัญลักษณ์พรรคและภาพลักษณ์เวลากล่าวปราศรัยของซัทเลอร์ก็มีส่วนคล้ายคลึงกับฮิตเลอร์ไม่มากก็น้อยเลยทีเดียว ซึ่งหลายคนมองว่า ฮิตเลอร์คือ ต้นแบบของเผด็จการที่เราสามารถมองเห็นได้ในบัดดลว่า
มันคือการปกครองที่เลวร้ายและไร้เสรีภาพอย่างที่สุด
แน่นอนว่า ภาพของหนังสร้างซัทเลอร์ให้เป็นเผด็จการจอมวายร้ายที่หลายคนกลัว แต่เอาเข้าจริงแล้วในช่วงสุดท้ายของหนัง เขากลับเป็นเพียงชายธรรมดาไร้พิษสงที่แสดงสีหน้าหวาดวิตกออกมาเมื่อถูกนำตัวออกมาจากที่ซ่อน เพราะความหวาดกลัวนั่นเอง
เราจึงได้เห็นวาระสุดท้ายของจอมเผด็จการอย่างซัทเลอร์ว่า สุดท้ายเขาก็ไม่ได้อยู่ค้ำฟ้าและต้องตายด้วยกระสุนปืนของลูกน้องตัวเอง
ถามว่า หนังวิพากษ์อะไรให้เราเห็นกันแน่
แม้ว่า อลัน มัวร์จะเขียนเรื่องนี้ขึ้นเพื่อวิพากษ์มาร์กาเร็ต แท็ชเชอร์ในยุคของมันก็ตาม แต่ในบริบทของหนังนั้น มันได้วิพากษ์ประธานาธิบดีสหรัฐอย่าง จอร์จ ดับเบิล ยู บุชได้อย่างน่าสนใจโดยเฉพาะการตั้งคำถามเรื่องการสร้างความหวาดกลัวต่อประชาชนต่อสิ่งที่เรียกอาวุธภัยก่อการร้าย และ เชื้อโรค ส่งผลให้เขาได้รับการเลือกตั้งเพราะความกลัวที่ว่าโดยประชาชนอย่างถล่มทลายและส่งผลให้เขาเปลี่ยนระบอบการปกครองประเทศเป็นระบบเผด็จการอย่างเบ็ดเสร็จในที่สุด
หนังจะบอกเราว่า อาวุธชีวภาพที่ใช้เป็นจุดเริ่มต้นนั้นถูกสร้างขึ้นเพื่อให้รัฐบาลชนะเพราะเอาความกลัวของคนเป็นที่ตั้ง แต่หารู้ไม่ว่า รัฐบาลนั้นล่ะที่สร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาพร้อมกับการโกหกทางข่าวสารที่ทำให้คนหลายคนเกิดอาการตื่นกลัวส่งผลให้รัฐบาลซัทเลอร์ได้รับชัยชนะ
แต่สิ่งที่ประชาชนไม่ได้รู้ก็คือ ผลประโยชน์อันมหาศาลของรัฐบาลที่ได้รับจากนั้นทั้งยาเสพติด ทั้งวัคซีนต้านเชื้อโรคและอื่นมากมายที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นได้ทำให้คนในรัฐบาลจำนวนมากได้ตั้งตวงผลประโยชน์อย่างมหาศาล
จะต่างอะไรกับอเมริกาที่แม้ว่าจะสูญเสียไปมากมาย แต่พวกเขาตักตวงผลประโยชน์กลับมาจากน้ำมันมหาศาลในอิรัก หรือ ทรัพยากรอื่น ๆ อีกมากมายจนคุ้มค่าหลายคนรวยจากวิกฤตครั้งนี้
และเพราะ สงครามความหวาดกลัวนี่เองที่ทำให้รัฐบาลสามารถออกกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพออกมาได้มากมาย จนกระทั่งประชาชนไม่เหลือสิทธิกระทั่งจะคิดเห็นอย่างไรได้อีกเลย
ทำไมรัฐต้องปิดปากประชาชน ด้วยคำตอบที่ง่ายว่า รู้มากก็ยิ่งปกครองได้ยาก เขาจึงเลือกปิดหูปิดตาเพราะประชาชนจะเชื่อสิ่งที่พวกเขาบอกเล่าไว้อย่างง่ายดาย
ขณะที่ประชาชนผู้เห็นต่างถูกฆ่า บางคนรู้ว่าผิดก็ยอมสวามิภักดิ์ บางคนเลือกเงียบปาก บางคนถูกกำจัด นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในอังกฤษตอนนั้น
และเป็นเวลาเดียวกับที่ V ปรากฏตัวขึ้น
แน่นอนว่า V เป็นตัวแทนของบุคคลที่มีความแค้นส่วนตัวกับรัฐบาลโดยเฉพาะ เขาใช้สิ่งที่เรียกว่า เสรีภาพหลังการล้มรัฐบาลมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อให้แผนแก้แค้นของตนเองสำเร็จจนเราสงสัยขึ้นมาว่า เอาจริงแล้ว V เป็นคนที่รักประชาธิปไตยรักเสรีภาพจริง ๆ หรือเปล่า
หรือเขาจะเป็นแค่บุรุษที่คลั่งแค้นกันแน่
ในหนังจะบอกว่า V นั้นเป็นคนที่จับตัวอยู่ในค่ายกักกันคนคิดต่าง คนที่แตกต่างและรอดชีวิตมาได้ เขาเป็นชายถูกทรมานจนไม่หลงเหลือความอยากจะมีชีวิตอยู่ต่อไปแล้วยกเว้นก็เพียงแค่จดหมายดาราหญิงที่อยู่ห้องข้าง ๆ เท่านั้นที่เป็นกำลังใจให้เขารอดชีวิตออกไปจนกระทั่งวันที่เกิดระเบิดขึ้นในค่ายกักกันและทำให้เขาหลุดออกมาได้ในที่สุด
พร้อมกับความแค้น
หน้ากากในหนังเรื่องนี้จึงมีสภาพอุปมาอุปมัยถึงการซ่อนความจริงที่อยู่ด้านใน เพราะในหนังฮีโร่แทบทุกเรื่องหน้ากากนั่นมีความหมายในเชิงอุปมาอุปมัยในบริบทต่าง ๆ อย่างเรื่องนี้เป็นการเปรียบเทียบถึงการเล่นละครหลอกกันไปมาโดยไม่เผยความจริงให้ได้รู้
V จึงมีสภาพเป็นตัวละครที่ใช้อุดมคติผสมไปกับความแค้นที่ทำให้ตัวเองยังคงมีชีวิตเพื่อการนี้โดยเฉพาะ
พร้อม ๆ กับที่เขาได้พบว่า ชีวิตของเขาค่อย ๆ เปลี่ยนไปเมื่อได้พบกับอีวี่ ตัวตนของเขาที่เกิดจากความแค้นนั้นจึงมีท่าทีสับสนขึ้น และเริ่มรู้สึกรักแก่ผู้หญิงคนนี้ขึ้นมาจนได้
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจหากตอนที่อีวี่บอกให้เขาหนีไปกับเธอ เขาจะแสดงอาการสับสนออกมาเพราะ เอาจริงแล้วเขาก็เริ่มรู้สึกแล้วว่า เขาอยากจะใช้ชีวิตร่วมกับเธอคนนี้ต่อไป
ความแค้นไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกแล้ว เพราะเขาเริ่มรู้สึกว่าอยากจะอยู่เคียงข้างเธอต่อไป
แต่เขากลับทำไม่ได้
เพราะ V เกิดได้เพราะความแค้น เขาอยู่เพื่อรอวันนี้ต่างหาก
นั้นเองที่ทำให้เรารับรู้ว่า ชายที่ชื่อ V นั้นไม่ได้มีอุดมการณ์อะไรเลย คำพูดสวยหรู หนังสือเป็นกองโตที่เขาพูดในช่วงแรกและทำให้เรารู้สึกศรัทธากลับเป็นเพียงหน้ากากหนึ่งที่เขาสร้างหลอกเราว่า เขามีอุดมการณ์ เขาต้องการประชาธิปไตย แต่เอาจริงแล้วเขาก็แค่ปีศาจแห่งความคลั่งแค้นที่มีชีวิตอยู่เพื่อการนี้เท่านั้น
ดังนั้นหน้ากากอันเย้ยหยันของกาย ฟอว์สก์ที่เขาสวมจึงมีลักษณะของความเจ้าเล่ห์ ไม่น่าวางใจ เป็นเพียงเครื่องมือปกปิดอย่างหนึ่งเท่านั้น
แบบเดียวกับที่นักการเมืองในเรื่องสวมหน้ากากบอกว่าทำเพื่อประชาชน แต่เอาเข้าจริงแล้ว พวกเขากลับโกบโกยหาผลประโยชน์ใส่ตัวเองและพวกพ้อง โดยลืมประชาชนหมดสิ้น
ประชาชนหลายคนต้องทำตัวศรัทธาในซัทเลอร์ แต่ที่จริงแล้วหลับหลังพวกเขากลับด่าทอ ต่อว่า แต่ไม่กล้าเสนอตัว
และเพราะเช่นนี้หลังจากแก้แค้นคนที่ทำให้เขาเป็นปีศาจได้ V จึงตาย และเป็นหน้าที่ของอีวี่ที่อยู่เบื้องหลังว่า จะเลือกทำตามอุดมคติที่ V พูดไว้หรือไม่
และเธอก็ทำตามนั้น
ดังนั้นคำว่า V จึงไม่ใช่เพียงอักษรโรมันที่มีความหมายว่า 5 ตามตู้ที่ V รอดชีวิตมาเท่านั้น แต่จริงแล้วมันมีนัยยะถึงบทกลอนในห้อง V และภาษาอ่านของมันอ่านว่า “วี”
วี สามารถเขียนได้ว่า WE ที่แปลว่า เรา
เป็นนัยยะที่แยบยลและคู่ขนานกับเรื่องราวได้ดี เพราะขณะที่เรากำลังซาบซึ้งไปกับอุดมการณ์ของ V หนังกลับลักลั่นให้เราเห็นว่า V เป็นแค่คนที่คลั่งแค้นที่เอาอุดมคติสวยหรูมาหลอกเราเท่านั้น
สมดังคำถามว่า เขาคือวีรบุรุษหรือคนบ้า เขาคือผู้ปลดปล่อยหรือฆาตกร เขาคืออะไรกันแน่ นี่คือ Theme ของหนังที่ตั้งคำถามกับมุมมองของเราว่า
สุดท้าย V คืออะไรกันแน่
V จะเป็นใครไม่สำคัญอีกแล้ว แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การที่ประชาชนรู้จักลุกขึ้นยืน ต่อสู้ คิด และสงสัย เพราะถ้าเพียงคุณสงสัยในตัวของ V หรือสิ่งรอบตัวแล้ว
นั่นย่อมบอกว่า คุณกำลังเริ่มที่จะเห็นแสงสว่างของความจริงที่ปลายอุโมงค์แล้วนั่นเอง
และปลายอุโมงค์นั่นคือ อะไร
อยู่ที่ประชาชนอย่างเราต่างหากที่จะตัดสิน
นั่นคือ หัวใจหลักของประชาธิปไตยมิใช่หรือ
เราเลือกผู้นำที่เราต้องการ เราเลือกที่จะฟัง จะดู จะอ่าน จะพูด จะเขียน อย่างไรก็ตาม
เพราะนี่คือ เสรีภาพอันมีค่าของมนุษย์น่ะเอง