Skip to main content

 

             ระหว่างที่ผมกำลังนั่งพิมพ์ต้นฉบับอยู่นี้นั้น ภาพยนตร์ซอมบี้ทุนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์อย่าง World war Z ก็กำลังโกยเงินขึ้นหลัก 300 ล้านอยู่รอมร่อ ยิ่งช่วยยกสถานะของซอมบี้จากหนังสยองขวัญทุนต่ำกลายเป็นหนังฮอลลีวู้ดบล็อกบัสเตอรชั้นดีได้อย่างเต็มภาคภูมิเช่นเดียวกับที่ แวมไพร์ และ มนุษย์หมาป่า เคยทำมาแล้วเมื่อครั้งในอดีต ที่น่าสนใจอย่างก็คือ ซอมบี้ในเรื่องนี้นอกจากออกล่าเหยื่อกันเป็นฝูงเหมือนพวกปลวก เราเห็นฉากพวกมันรวมตัวเป็นเหมือนกับก้อนเดียวกับปืนกำแพงในหนังตัวอย่างได้ด้วยซ้ำไป เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ไม่นานที่เราได้เห็นหนังซอมบี้แปลกรสอย่าง Worm Bodies ที่เปลี่ยนซอมบี้ผู้น่ารังเกียจให้กลายเป็นหนุ่มที่พยายามจะกลับมามีชีวิตอีกครั้งเมื่อได้พบกับหญิงสาวคนหนึ่งเข้า นี่ยิ่งทำให้เราได้มองเห็นพัฒนาการของซอมบี้ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาว่า มันได้เปลี่ยนไปในทางใดบ้าง ทั้งในประเด็นของหนังและพัฒนาของซอมบี้ที่จากซากศพถูกปลุกขึ้นด้วยวิชาวูดู กลายเป็นซอมบี้ที่ฟื้นขึ้นด้วยไวรัสไล่กินมนุษย์ จากซอมบี้เดินช้าเหมือนเต่า กลายเป็นซอมบี้ติดจรวดเหมือนในปัจจุบัน แน่นอนว่า ตอนนี้ซอมบี้ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องราวสยองขวัญราคาถูกอีกแล้ว แต่เป็นเหมือนภาพสะท้อนในแง่มุมต่าง ๆ ผ่านหนังของพวกมันได้อย่างน่าสนใจเลยทีเดียว

          Zombie in War

          คงไม่มีเหตุการณ์ใดเป็นตราบาปในจิตใจของผู้คนทั่วโลกไปได้เท่ากับสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้นในปี 1939 จนถึงปี 1945 รวมเวลากว่า 6 ปี และมีผู้เสียชีวิตจากสงครามครั้งนี้หลายล้านคน นี่เองที่เป็นเสมือนภาพความทรงจำอันเจ็บปวดของผู้คนที่ต้องเผชิญหน้ากับสงครามพวกนี้อย่างไม่มีจบสิ้น แน่นอนว่า ความเจ็บปวดนี้ได้ถูกสั่งสอนใครหลายคนไว้ว่า อย่าให้มันเกิดขึ้นอีก ซึ่งแน่นอนว่า หนังซอมบี้ก็ได้แตะประเด็นเรื่องความเจ็บปวดของสงครามนี้ด้วยเช่นกันผ่านภาพยนตร์อย่าง Shock Waves (มันอยู่ในน้ำ) , Zombie Lake (ทะเลสาบสยอง) และ Dead Snow ที่ซอมบี้ในหนังเรื่องนี้ล้วนแล้วเป็นนาซีแทบทั้งสิ้น

          ตรงนี้เองเราสามารถมองได้ว่า หนังทั้งสามเรื่องนี้เป็นตัวแทนภาพความเจ็บปวดของสงครามที่เกิดขึ้นเมื่อมนุษย์พยายามฆ่ามนุษย์ด้วยกันเอง หรือกระทั่งพยายามจะแสวงหาพลังอำนาจที่จะทำให้ตัวเองชนะในสงครามจนส่งผลให้มีการทดลองอันเลวร้ายขึ้น จนละเมิดกระทั่งความตายที่ทำให้พวกเขาเป็นผีดิบที่ไล่ฆ่าคนทุกคนกระทั่งพรรคพวกตัวเอง นี่สะท้อนให้เห็นว่า พวกนาซีนั้นเป็นพวกเลวร้ายที่ไม่มีความเป็นคนเหลืออยู่ พวกนี้สนใจแค่จะฆ่าฆ่าและก็ฆ่าเท่านั้นเอง

          ตรงนี้ไปย่ำเตือนข้อสนับสนุนของผู้กำกับ Dead Snow ที่เล่าเรื่องพวกนักท่องเที่ยวดวงซวยที่ไปเจอการโจมตีของพวกซอมบี้นาซีที่ฝังตัวอยู่ในหิมะและคืนชีพขึ้นมาว่า “เพราะนาซีคือ วายร้ายที่ชั่วช้าที่สุดในหนัง พอเอาซอมบี้มาผสม คุณก็จะได้บางอย่างที่ไม่มีใครเห็นใจแล้ว เราต้องฆ่าพวกมันให้ได้ไม่ว่ามีวิธีใดก็ตาม”

          แน่นอนว่า คนไทยอาจจะไม่เข้าใจความแค้นฝังลึกของผู้คนในยุโรปเสียเท่าไหร่นักในเรื่องนาซี เพราะเราอยู่ห่างไกลจากความโหดร้ายของพวกเขานักในช่วงสงครามโลก ถ้าจะให้เปรียบเทียบก็ไม่ต่างกับคนจีนเกลียดชังญี่ปุ่นเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในสงครามโลกหรอกนะ และสิ่งที่เราต้องรู้ก็คือ ทางตอนเหนือของนอร์เวย์เคยมีการสู้รบครั้งใหญ่กับนาซีมาก่อนและที่สำคัญนาซีก็เคยครองนอร์เวย์ในช่วงหนึ่งมาแล้ว นี่เองที่ทำให้เรารู้เลยว่า Dead Snow เป็นภาพสะท้อนความหวาดกลัวของนาซีที่เคยสร้างความเจ็บปวดให้ประเทศของพวกเขามาแล้วในอดีต ซอมบี้จึงมีค่าเพียงแค่เชื้อชั่วไม่ยอมตายที่ต้องฆ่าให้ตายเท่านั้นโดยไม่มีความเห็นใจใด ๆ เลย

          นอกจากนี้สงครามที่แทบจะเป็นตราบาปครั้งใหญ่ของผองชนชาวอเมริกันย่อมหนีไม่พ้นสงครามเวียดนาม ที่เกิดขึ้นในปี 1968 ที่ส่งผลให้มีการรับสมัครคนหนุ่มสาวจำนวนมากให้ไปตายในสงครามครั้งนี้ แน่นอนว่า ความอืมครึมของสงครามและความหวาดกลัวต่อคอมมิวนิสต์ในยุคนี้ได้ส่งผลให้เหล่าผู้กำกับบุบผาชนยุคใหม่ลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างขึ้น นั่นก็คือ การทำหนังที่สะท้อนภาพวุ่นวายในยุคนั้นออกมากันอย่างมากมายตั้งแต่ ภาพความโหดเหี้ยมของมนุษย์ที่มีมนุษย์ด้วยกันเองใน Texas Chainsaw Massacre การล่มสลายของอเมริกันดรีมใน The Last House on the left หรือกระทั่งหนังซอมบี้อย่าง Night Of Living Dead ของผู้กำกับหน้าใหม่ในตอนนั้นอย่าง จอร์จ เอ โรเมโร่ ก็เป็นอีกเรื่องสะท้อนภาพความอืมครึมของชาวอเมริกันที่มีต่อสงครามเวียดนามและคอมมิวนิสต์

          Night of Living dead กล่าวถึงคน 7 คนที่วิ่งหนีเหล่าศพคืนชีพไปรวมตัวกันอยู่ในบ้านร้างท่ามกลางเหล่าซากศพที่ต่างล้อมบ้านหลังนี้เอาไว้และพยายามจะเข้ามาในนี้ สิ่งที่เรารู้ว่า หนังมันสะท้อนความอืมครึมของสงครามเวียดนามและสังคมยุคนั้นก็คือ ฉากที่ตัวละครในบ้านนั่งฟังวิทยุที่มีนักวิทยาศาสตร์กับเจ้าหน้าที่มานั่งโต้เถียงกันในวิทยุที่พวกผู้รอดชีวิตคุยกันอยู่ ซึ่งสุดท้ายก็ไม่ได้ข้อสรุปใด ๆ โรเมโร่กล่าวว่า ที่ให้เป็นแบบนั้นเพราะ สังคมจริง ๆ นั้น เราไม่มีทางรู้ความจริงได้ง่าย ๆ เหมือนกับในหนังหรอก

          นอกจากนี้ซอมบี้ยังเป็นภาพสะท้อนของคนที่เป็นคอมมิวนิสต์ในสายตาของชาวอเมริกันได้อย่างน่าสนใจ ตามรูปแบบการเป่าหูของ สมาชิกวุฒิสภานามว่า โจเซฟ แม็คคาธีย์ ที่ชอบพูดว่า คนพวกนี้เหมือนพวกนี้เหมือนเรา คนพวกนี้ไม่นับถือพระเจ้า ไร้วิญญาณและต้องการทำลายอเมริกัน ซอมบี้ในเรื่องจึงทำกับคอมมิวนิสต์ที่เหมือนคน แต่สามารถแผ่เชื้อได้และทำให้คนอื่นกลายเป็นแบบเดียวกัน ที่สำคัญต้องฆ่าสถานเดียว

          นอกจาก Night of Living Dead แล้ว The Crazies หนังคนบ้าติดเชื้ออีกเรื่องของโรเมโร่ก็สะท้อนภาพสงครามเวียดนามออกมาได้น่าสนใจเช่นกัน โดยเฉพาะการที่รัฐบาลนั้นพยายามปิดบังข่าวสารและให้เสพข้อมูลแต่เพียงด้านเดียวส่งผลให้คนที่รับสารนั้นเกิดอาการที่เรียกว่า คลั่ง และไล่ล่าคนเห็นต่างอย่างอัตโนมัติ ซึ่งสะท้อนภาพความหวาดกลัวที่เกิดขึ้นเพราะ รัฐบาลหรือกระทั่งกองทัพที่พยายามปลุกปั่นความกลัวของผู้คนให้เป็นไปตามที่ตัวเองต้องการเสมอ ๆ

          ใน Day of the dead ภาพยนตร์ซอมบี้อีกเรื่อง จอร์จ เอ โรเมโร่เองก็แสดงให้เห็นภาพของความสับสนในโลกที่เต็มไปด้วยเหล่าผีดิบ เราจะมองว่า ในฐานทัพใต้ดินแห่งหนึ่งนั้น พวกทหารที่คุมอยู่ที่นี่ต่างทำท่าวางกล้าม ข่มขู่คนอื่นที่เห็นต่างสารพัด ด้วยเหตุผลว่า พวกเขามีปืน และ ปืนคือ อำนาจเดียวของพวกเขาในโลกที่ไร้ขื่อแปนี้ จะว่าไปแล้ว ทหารน่าจะเป็นหน่วยงานที่ไร้ประโยชน์ที่สุดในบรรดาหนังซอมบี้ เนื่องจากพวกเขานั้นเป็นตัวแทนของอำนาจนิยมแบบเต็มตัว ดังนั้นจึงไม่แปลกใจหากทหารหรือกองทัพจะเป็นต้นเหตุหรือตัวร้ายที่น่ากลัวกว่าซอมบี้เสมอ ๆ

          เราลองนึกถึงทหารบ้าอำนาจใน Diary of the dead ที่บุกขึ้นปล้นเอาอาหารของพวกผู้รอดชีวิตไปจนหมด หรือกระทั่งทหารใน 28 Day later ที่สุดท้ายแล้วพวกเขาก็ไม่ต่างไปจากสัตว์ป่าหื่นกระหายที่พร้อมจะกดขี่คนอื่นที่อ่อนแอกว่า และเราต้องไม่ลืมว่า เหตุการณ์ความซวยใน The Returns of the living dead (ผีลืมหลุม) นั้นก็เกิดขึ้นจากสารพิษที่ทหารดันทิ้งเอาไว้นั่นเอง

          แน่นอนว่า ประเด็นความหวาดกลัวนี้ได้กระโดดข้ามมาสู่ยุคสงครามก่อการร้ายภายหลังเหตุการณ์ 9/11 ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2001 ที่ส่งผลให้เกิดสงครามต่อต้านก่อการร้ายขึ้นอีกครั้ง โดยครั้งนี้ซอมบี้มีการพัฒนาไปมากโดยเฉพาะ การตั้งคำถามเกี่ยวกับสังคมที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

          The Crazies ถูกนำมารีเมคอีกครั้งโดย เบรค ไอส์เนอร์ ที่ให้ความเห็นว่า “ตอนสมัยของโรเมโร่ เขาเอาประเด็นของสงครามเวียดนามมาใช้ เป็นช่วงเวลาที่อยู่ในภาวะสงครามและเศรษฐกิจล้มเหลว ผมว่า ในปัจจุบันก็ไม่ได้ต่างกันเท่าไหร่ เราอยู่ในยุคหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน แหม่...หนังเรื่องนี้ก็มาอยู่ในช่วงถูกเวลาอีกแล้วภายใต้ความรุนแรงทางการเมืองของบุช เกี่ยวกับอิรักและอัฟกานิสถาน ความรุนแรงของโลกใบนี้เกิดขึ้นในหนังเรื่องนี้”

          แน่นอนว่า หนังมันยังคงพูดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสงครามเหมือนเคยเพียงแต่เปลี่ยนภาพเป็นสงครามก่อการร้ายในยุคของจอร์จ ดับเบิลยู บุช ก็เท่านั้นเองที่หลายคนมองว่า ยุคนี้ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากยุคสงครามเวียดนามเสียเท่าไหร่ เรายังคงอยู่ด้วยความหวาดระแวงเหมือนเช่นเคย แต่ครั้งนี้ไม่ใช่คอมมิวนิสต์แต่เป็นการก่อการร้าย

          แน่นอนว่า ความผิดปกติในสังคมนี้ได้ทำให้จอร์จ เอ โรเมโร่สร้างหนังซอมบี้ขึ้นมาอีกเรื่อง ซึ่งอาจจะเป็นเพราะความสำเร็จของ Resident Evil ภาคหนังและ Dawn of the dead ฉบับรีเมคด้วยก็ตาม แต่หนังของซอมบี้ของโรเมโร่เรื่องนี้ก็ไปไกลกว่าหนังสองเรื่องนี้ด้วยประเด็นที่คมคายยิ่งกว่าหนังซอมบี้หลายเรื่องจนตอนนี้กลายเป็นจุดขายในหนังซอมบี้ของเขาไปเรียบร้อยแล้ว

          โลกใน Land of the dead นั้นเป็นโลกที่ผีดิบครองโลกไปจนเกือบหมดแล้ว ยกเว้นเพียงคนกลุ่มหนึ่งที่หนีรอดไปได้และสร้างเมืองอยู่ร่วมกันโดยมีกำแพงสูงชะลูดขึ้นป้องกันไม่ให้ซอมบี้เข้ามา ขณะที่ภายในคนยังคงเป็นคนแบบเดิม ที่ตอนนี้มีทั้งการแบ่งชนชั้นโดนคนชนชั้นสูงจะอยู่บนตึกสูงโอ่อ่า ส่วนคนจนจะอยู่รอบนอกใกล้กับกำแพง ซึ่งยิ่งบอกว่า ในโลกที่เต็มด้วยความหวาดกลัว เราเองก็ยังไม่เลิกที่จะแบ่งชนชั้นกัน

          “ฉากหลังของ Land of the dead คือโลกที่ถูกทำลาย ไม่มีไฟฟ้าใช้ ยกเว้นเพียงบางแห่งที่พวกเขาพยายามจะใช้ชีวิตกันปกติ แต่พวกเขาคิดผิด มันสะท้อนถึงการเพิกเฉยต่อปัญหาการก่อการร้ายและปัญหาอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นนอกประตูบ้าน พวกเขาคิดว่า เราจะปลอดภัยถ้าไม่สนใจซะอย่าง และพยายามใช้ชีวิตกันปกติ โดยไม่รู้ว่าข้างนอกเกิดอะไรขึ้น มันคือ แก่นที่ผมวางเอาไว้” จอร์จ เอ โรเมโร่กล่าวถึงแก่นของ Land of the dead ที่จะว่าไปแล้วมันคือ ภาคต่อของ Day of the dead ที่พูดถึงมนุษย์ผู้รอดชีวิตอยู่ในอาณาจักรแห่งความตายว่า พวกเขาจะมีชีวิตกันอย่างไร แน่นอนว่า หนังมันสะท้อนภาพให้เห็นว่า คนอเมริกันไม่ได้สนใจเรื่องสงครามอะไรนอกจากใช้ชีวิตกันปกติ เพราะคิดว่า กำแพงจะเอาอยู่ หรือ ไม่ก็นั่งสั่งสอนตัวเองว่า ซอมบี้ไม่ฉลาดหรอก โดยไม่รู้ว่า วันดีคืนดีพวกซอมบี้จะวิ่งมาอยู่ข้างกำแพงได้แบบนั้น

          จะว่าไปแล้วถ้าพูดถึงซอมบี้ในเชิงทฤษฏี Orientalism (ลัทธิบูรพานิยม) ของนักวิชาการนามว่า เอ็ดเวิร์ด ซาอิด แล้ว ซอมบี้ก็เป็นตัวแทนภาพของผู้ก่อการร้ายในสายตาคนอเมริกันที่มักจะดูแคลนว่า พวกนี้มันโง่ คิดไม่เป็น โดยไม่คิดว่า พวกนี้มันพัฒนาตัวเองขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าย้อนไปดูในหนังภาคก่อน ๆ ของ โรเมโร่ เราจะพบว่า ซอมบี้ของเขาก็มีการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ใน Dawn of the dead ฉบับออริจิน่อลของเขาจะมีฉากซอมบี้ตัวหนึ่งหัดใช้ปืน พอมา Day of the dead เจ้า บัก ซอมบี้ที่ถูกฝึกขึ้นมาจนฉลาดก็สามารถใช้ปืนเล็งยิงใส่ศัตรูได้ ในขณะที่ Land of the dead พวกมันฉลาดขึ้นจนสามารถเดินข้ามแม่น้ำมาขึ้นอีกฝั่งของกำแพง อันเป็นสถานที่เปราะบางที่สุดของกำแพงไฟฟ้าได้ในที่สุด ส่งผลให้เมืองแห่งนี้เกิดความหายนะขึ้นจนได้

          และความที่ซอมบี้มีการพัฒนาขึ้นทำให้เราได้เห็นซอมบี้ต่อตัวกันปีนกำแพงใน World war Z ในปีนี้ที่ช่วยตอกย้ำให้เรารู้ว่า ซอมบี้ไม่ใช่สัญลักษณ์ของความโง่เง่าอีกต่อไปแล้ว

          แน่นอนความสุกงอมของสงครามก่อการร้ายได้ขยายออกไปทั่วโลกส่งผลให้หนังซอมบี้ในประเทศต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย อาทิ Rec และ Rec 2 ของสเปน ที่พูดถึงการแพร่ระบาดของซอมบี้ในตึกแห่งหนึ่งที่ตอนแรกหนังพูดถึงไวรัสบางอย่างที่เกิดขึ้นพร้อมกับรัฐบาลที่เข้ามาดูแลไม่ให้ใครออกมาจากตึกได้ จนกระทั่งมาเฉลยให้เรารู้ไวรัสเกิดขึ้นจาก ปีศาจของศาสนจักรนั่นย่อมหมายถึงว่า เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับศาสนาด้วย นี่ทำให้เรามองได้ว่า นอกจากรัฐไม่อาจจะเป็นที่ดึ่งให้ประชาชนได้แล้ว แม้แต่ศาสนายังไม่อาจจะเป็นคำตอบให้ประชาชนด้วยเช่นกัน แถมยังเป็นตัวการที่ทำให้ทุกอย่างเกิดขึ้นเสียอีก นี่ก็สะท้อนให้เห็นของผู้คนในสเปนที่มีต่อเหตุการณ์รถไฟระเบิดที่กรุงมาดริดนั่นเอง

          แต่ที่หนังซอมบี้อีกเรื่องที่น่าสนใจย่อมไม่พ้นหนังซอมบี้เรื่อง Homecoming (หนีหลุมไปเลือกตั้ง) หนึ่งในมินิซีรีย์ชุด Master of Horror ที่พูดถึงเหตุการณ์ประหลาดที่เกิดขึ้นระหว่างการเลือกตั้งของประธานาธิบดีสหรัฐครั้งใหม่ระหว่าง ประธานธิบดีคนเดิม (ซึ่งเราก็รู้ว่า คือใคร) กับผู้ท้าชิง ซึ่งขณะที่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นนั้นเอง จู่ ๆ พวกทหารที่ตายในสงครามครั้งก่อน ๆ ก็ต่างลุกขึ้นมาจากหลุมเดินทางไปเลือกตั้งกัน ท่ามกลางความประหลาดของใครหลายคนทั้งฝ่ายรัฐบาลที่ต่างอุ้มชูการคืนชีพของเหล่าทหาร เพราะคิดว่า พวกเขาจะลุกขึ้นมาขอบคุณและลงคะแนนเสียงให้กับพวกเขา แต่เมื่อพวกผีดิบทหารต่างลุกขึ้นแสดงจุดยืนของตัวเองว่า พวกตูลุกขึ้นมาเพื่อบอกพวกรัฐบาลที่ส่งพวกเขาไปตายว่า

          พวกคุณส่งพวกเราไปตายทำไม (เวรแล้วไงล่ะ)

          แน่นอนว่า ตรงนี้ทำให้ฝ่ายรัฐบาลไม่พอใจมากและออกข่าวโจมตีพวกทหารที่ลุกขึ้นมาเหล่านี้กันรายวันว่า พวกนี้เป็นผีดิบชั่วร้าย ไม่มีสมอง เป็นแค่ศพ พวกนี้สมควรตาย ต้องกำจัดทิ้งให้หมด โดยลืมไปว่า ก่อนหน้านี้พวกคุณพูดเอาไว้ว่ายังไง

          ซึ่งตรงนี้เองหนังบอกเราว่า นี่คือภาพความไม่พอใจของผู้คนที่เกิดขึ้นหลังการชนะเลือกตั้งแบบหน้ากังขาของ จอร์จ ดับเบิล ยู บุช จนทำให้ บุช ได้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 อย่างน่ากังขา

          ตรงนี้เองที่หนังได้เสียดสีและบอกว่า สงครามที่พวกเขาสร้างขึ้นนั้นเป็นแค่เรื่องหลอกลวง และคนตายก็ไม่ได้มีความสุข หากจะต้องมีคนไปตายเพิ่มอีกเพราะ การหลอกลวงนั้น

          ส่งผลให้พวกเขาต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงประเทศด้วยการเลือกตั้ง

          ทว่าหนังก็บอกเราว่า ประธานาธิบดีคนเก่าชนะด้วยวิธีการในการคัดชื่อของพวกทหารที่ตายไปแล้วออกส่งผลให้พวกเขาโกรธแค้นและลุกขึ้นมาปฏิวัติยึดอำนาจประธานาธิบดีจนต้องหนีไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นแทน ขณะที่พวกทหารผีดิบที่ยึดรัฐบาลอยู่นั้นกลับได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนอย่างมาก

          หรือว่า นี่คือการระบายความคับข้องใจของสงครามที่ผู้กำกับเองกันม

          Marginalization in Zombie (ซอมบี้กับคนชายขอบ)

          ต้นกำเนิดจริง ๆ ของซอมบี้นั้นเอาเข้าจริงแล้ว ซอมบี้เป็นความเชื่อดั่งเดิมของทางไสยศาสตร์ของพวกอโฟร แคริเบียน โดยเชื่อว่า ซอมบี้นั้นเป็นศพที่ถูกควบคุมโดยหมอผีในลัทธิวูดูให้ฟื้นขึ้นมาเป็นสมุนรับใช้หรือข้ารับใช้ของตน ซึ่งเรื่องของซอมบี้ได้เป็นที่รู้จักกันไปทั่วทั้งประเทศอเมริกาเมื่อ นักผจญภัยนามว่า วิลเลี่ยม ซีบรู๊คได้นำเรื่องราวของพ่อมดหมอผีและพวกมนต์ดำที่พวกเขาเจอในประเทศเฮติมาเขียนในชื่อว่า The Magic Island โดยเอ่ยถึงซอมบี้ หรือ คนตายที่ถูกหมอผีปลุกขึ้นมาเป็นคนงานในไร่อ้อย ส่งผลให้เกิดหนังเรื่อง White Zombie ที่แสดงนำโดย นักแสดงในตำนานอย่าง เบลล่า โลกุชี่ ที่นำเรื่องราวของซอมบี้ขึ้นจอใหญ่เป็นครั้งแรก และซอมบี้แบบวูดูก็พาเหรดขึ้นจอหนังกันเป็นว่าเล่นตั้งแต่ปี 1932 เป็นต้นมา

          แน่นอนว่า สิ่งที่น่าสนใจก็ยังคงไม่พ้นการที่หนังของอเมริกันหลายเรื่องสร้างภาพของเวทย์มนต์วูดูให้เป็นสิ่งที่น่ากลัวน่ารังเกียจและเป็นความชั่วร้ายที่จะต้องกำจัดไปให้ได้ ตรงนี้เองเราจะมองเห็นภาพของการทำลายเชิงศาสนา เมื่อเจ้าอาณานิคมเข้าไปยึดครองประเทศที่มีความแตกต่างออกไป พวกเขาจะนำทั้งวัฒนธรรมและศาสนาของตัวเองเข้าไปเผยแพร่ด้วยเพื่อเปลี่ยนคนให้มาศรัทธาสิ่งเดียวกับพวกเขา ซึ่งแน่นอนว่า ประเทศในแทบแคริเบียนหรือแอฟริกานั้นล้วนแล้วแต่มีการนับถือศาสนาหรือความเชื่อเดิมอยู่แล้ว พวกเขามีเทพเจ้าของตัวเองกันหมด แน่นอนว่า ตรงนี้เป็นเรื่องการเมืองที่ทางรัฐอาณานิคมมิอาจจะให้ฝ่ายผู้ถูกปกครองนับถือความเชื่อเดิมของตนต่อไปได้ จึงมีการสร้างวัฒนธรรมอาทิ การดึงเอาเทพเจ้าของศาสนาอื่นเข้าไปและแปรเปลี่ยนเป็นผู้ชั่วร้าย การสร้างภาพของนอกศาสนาให้เป็นปีศาจ เพื่อทำลายความเชื่อเดิมทิ้งไปจนกระทั่งในที่สุดศาสนาเดิมก็ถูกทำลายไปในที่สุด ตรงนี้เราจึงมองเห็นว่า ครั้งหนึ่งศาสนาของเจ้าอาณานิคมทั้งหลายอย่าง ศาสนาคริสต์นั้นเคยสร้างการเข่นฆ่าที่โหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์อย่าง การล่าแม่มดในยุคกลางมาแล้วก็เพราะ ความหวาดกลัวในศาสนาหรือความเชื่ออื่นนั่นเอง

          แน่นอนด้วยเหตุนี้ วูดู ที่เป็นศาสนาของชาวเกาะจึงถูกสร้างภาพเป็นความชั่วร้ายของคนผิวขาวเสมอ ๆ

          แต่ก็ไม่แน่เสมอไป เพราะเราจะเห็นว่า พวกคนขาวทั้งหลายในเรื่องก็ต่างเป็นตัวการที่วิ่งเข้าไปหาเวทย์มนต์พวกนี้ในทันทีเพื่อหาผลประโยชน์ของตัวเองได้เหมือนกัน

          พ้นจากยุคของซอมบี้วูดู นัยยะเกี่ยวกับคนชายขอบยังคงเกาะกินอยู่กับซอมบี้ เมื่อ Night Of Living dead ของ จอร์จ เอ โรเมโร่นั้นก็มีนัยยะทางด้านคนชายขอบอยู่สูงโดยเฉพาะคนผิวสีด้วยเหตุผลในบริบทสมัยนั้นมีการเหยียดผิวเกิดขึ้นอย่างรุนแรงส่งผลให้ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ถูกยิงเสียชีวิตจนส่งผลให้เกิดการจลาจลหลายแห่งในช่วงเวลานั้น แน่นอนว่า หลายคนมองว่า หนังของโรเมโร่มีนัยยะทางเรื่องนี้เพราะ ตัวเอกผู้รอดชีวิตคนสุดท้ายอย่าง เบน นั้นเป็นคนผิวสีที่กล้าหาญ ฉลาด และเป็นผู้รอดชีวิตคนสุดท้ายของเรื่อง ทว่าเขากลับต้องถูกยิงตายด้วยฝีมือของคนขาว ซึ่งเป็นนายอำเภอและพรรคพวกนักล่าผีดิบ

          แต่แน่นอนว่า โรเมโร่ปฏิเสธโดยสิ้นเชิงเพราะ หนังพึ่งปรินส์ฟิลม์เสร็จและกำลังหาที่ฉายอยู่พอดี ขณะที่ข่าวเรื่องมาร์ติน ลูเธอร์ คิง ถูกสังหารเสียชีวิตแพร่ไปทั่วในตอนนั้นพอดี

          และนั่นเองที่ทำให้ซอมบี้กลายเป็นภาพตัวแทนของเหล่าคนชายขอบทั้งหลายเป็นอย่างดี แน่นอนว่าคำว่า คนชายขอบ ย่อมหมายถึง คนที่สังคมส่วนใหญ่ไม่สนใจและอาจจะมองเป็นเพียงชนกลุ่มน้อยในสังคมอาทิ คนผิวสี คนเอเชีย คนต่างด้าวชาวอเมริกาใต้ คนข้ามเพศ (เกย์ เลสเบี้ยน ทอม กระเทย) จนกระทั่งสามารถตีความคำว่า คนชายขอบได้ว่า กลุ่มคนชนชั้นล่างในสังคม ซึ่งนั้นหมายถึงคนจนทั้งหลายได้อีกด้วย

          ใน Land Of the dead นั้น เราจะพบว่า ศูนย์กลางของเมืองท่ามกลางกำแพงที่ล้อมเอาไว้นั้นเป็นตึกสูงชะลูดขึ้นไปจนบนฟ้า คนรวยจะอาศัยอยู่ที่นั้นท่ามกลางทรัพยากรที่ตัวเองใช้จ่ายกันอย่างฟุ่มเฟือย ขณะที่คนจนกลับต้องอาศัยอยู่นอกตึกใกล้กำแพง ใช้ชีวิตแบบแร้นแค้น ไม่มีไฟฟ้า ต้องหาอาหารกินกันตามยถากรรม ต่างจากคนในตึกสูงที่มีอาหารกิน มีเสื้อผ้าดี ๆ ใส่ ใช้ชีวิตกันสุขสบายและห่างไกลจากอันตราย ขณะที่พวกเขาเป็นพลเมืองชั้นสองที่หากซอมบี้บุกเข้ามาก็ตายสถานเดียว

          แน่นอนซอมบี้ในเรื่องนี้นอกจากเป็นผู้ก่อการร้ายในสายตาของคนในตอนนั้นแล้ว ยังสามารถแทนพวกเขาเป็นคนต่างด้าว หรือกระทั่งชนชั้นล่างที่ต่อสู้กับคนรวยที่เอาเปรียบได้น่าสนใจ เพราะจะเห็นว่าซอมบี้โรเมโร่ในเรื่องนั้นต่างแต่งตัวเป็นชุดทำงานอย่าง เด็กปั้มบ้าง พ่อครัวบ้าง หรือกระทั่งวัยรุ่นที่เป็นชนชั้นล่างที่สังคมไม่ค่อยสนใจและถูกเอาเปรียบ ฉากการหือในช่วงท้ายจึงเปรียบเหมือนชนชั้นล่างที่ทนไม่ไหวแล้วกับการเอาเปรียบของนายทุนแล้วทำลายมันเสีย แน่นอนเราสามารถนึกถึง บัค ใน Day of the dead ที่ใช้ปืนเป็นและลงความเห็นได้ว่า คนชนชั้นล่างไม่ได้โง่เสมอไปหรอกนะ

          และเมื่อคนชนชั้นล่างไม่ได้โง่ พวกเขาก็กลายพันธุ์ไปเป็นสิ่งที่รัฐกลัวที่สุดไปจนได้

                ซอมบี้พันธุ์ไทยอย่าง Backpacker หนังสั้นตอนหนึ่งจากภาพยนตร์เรื่อง ห้าแพร่ง ก็มีความน่าสนใจในเชิงชายขอบ เพราะตัวละครในเรื่องก็ไม่ใช่คนในกระแสหลักตั้งแต่ คนขับรถบรรทุก และ เด็กติดตาม นักท่องเที่ยวต่างชาติสองคนที่โบกมือขอติดรถไปด้วย รวมทั้ง เหล่าซอมบี้ที่ครั้งหนึ่งพวกเขาคือ คนต่างด้าวที่ลับลอบเข้ามาเมืองพร้อมกับซุกยาเสพติดเอาไว้ในท้องของพวกเขาด้วย และ ยาเสพติดนี้เองที่ทำให้พวกเขากลายพันธุ์เป็นซอมบี้ไล่ฆ่าคน ซึ่งจะเห็นว่าหนังหยิบคนชายขอบทั้งสามส่วนมาเจอกันและให้ทั้งหมดต้องเผชิญหน้ากัน เมื่อชายขอบหนึ่งลุกขึ้นไล่ฆ่าคนที่ทำให้เขาเป็นแบบนี้ด้วยยาเสพติดร้ายที่ส่งผลให้การระบาดเกิดขึ้นไปทั่วในช่วงท้าย หนังจึงตั้งคำถามว่า ความชั่วร้ายนี้กำลังครอบคลุมไปทุกส่วนหรือไม่ แม้กระทั่งพระที่ตัวแทนของศาสนายังไม่รอดไปได้เลยด้วยซ้ำ

          อย่างใน Homecoming นัยยะของหนังในเชิงคนชายขอบก็น่าสนใจ เมื่อทหารที่ลุกขึ้นมานั้นได้ถอดสถานภาพของตัวเองออกจากพวกอำนาจนิยมกลายเป็น คนชายขอบอย่างสมบูรณ์เมื่อรัฐทำท่าไม่ต้องการและรังเกียจพวกเขาส่งผลให้พวกเขาต้องลุกขึ้นต่อต้านการกระทำนี้ด้วยการเลือกตั้งที่อย่างน้อยก็ยังให้ยืนยันได้ว่า พวกเขามีสิทธิเสียงทัดเทียมคนทั่วไปที่ยังมีชีวิตอยู่หรือนัยยะหนึ่งที่บอกว่า คนชายขอบทั้งหลายก็มีสิทธิที่จะเลือกตั้งเช่นกัน แต่พวกรัฐบาลไม่ต้องการเพราะ รู้ว่า ถ้าซอมบี้ทหารพวกนี้ได้เลือกตั้ง พวกเขาจะทำให้ประธานาธิบดีแพ้แน่ เขาเลยใช้กลโกงไม่นับคะแนนของพวกเขาเสียเลย แถมยังไล่ฆ่าพวกเขาทั้ง ๆ ที่พวกเขาเพียงแค่มาเลือกตั้งเท่านั้น

          และเมื่อผลคะแนนออกมาก็ทำให้ซอมบี้ทั้งหลายไม่พอใจและลุกขึ้นปฏิวัติประเทศในที่สุด

          ดังนั้นสิ่งที่รัฐกลัวที่สุดจึงไม่ใช่ซอมบี้

          แต่เป็นคนชนชั้นล่างที่พวกเขาปรามาสไว้ว่า โง่ ดันฉลาดขึ้นต่างหาก ที่พวกเขากลัว

ดังนั้นซอมบี้จึงเป็นภาพสะท้อนของคนชายขอบที่น่าสนใจ แถมงานอย่าง Zombie L.A ของ บรูซ ลา บรูซ ผู้กำกับหนังเกย์โป้ชื่อดังก็สร้างภาพซอมบี้ใหม่ออกให้เป็นซอมบี้หุ่นล้ำที่ออกไล่ล่าหนุ่ม ๆ ไปกินอย่างหิวกระหาย ซึ่งแสดงภาพของซอมบี้ในภาพของคนชายขอบอีกนัยยะหนึ่งได้น่าสนใจอย่างยิ่ง

          Economy of Zombie (เศรษฐกิจกับซอมบี้)

          ปรากฏการณ์ซอมบี้สามารถอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในเชิงเศรษฐกิจได้ด้วย แต่ถูกนำมาพูดถึงหลายครั้งแล้ว แต่ครั้งที่มันถูกนำมาถกกันเป็นวงกว้างนั้นย่อมไม่พ้น Dawn of the dead ของ จอร์จ เอ โรเมโร่ ที่เขาได้ใช้หนังซอมบี้เรื่องนี้วิพากษ์ลัทธิบริโภคนิยม (Consumerism) อย่างถึงพริกถึงขิง เมื่อหนังซอมบี้ภาคต่อของ Night of living dead เรื่องนี้จงใจพาผู้รอดชีวิตไปหลบซ่อนในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง โดยมีซอมบี้จำนวนมากเดินมาที่ห้างทีล่ะตัวสองตัวจนกระทั่งมากมายมหาศาลท่ามกลางความสงสัยของคนที่รอดชีวิตว่า พวกมันมาที่นี่ทำไม ตัวละครในหนังก็บอกมาว่า พวกมันแค่มาเดินห้าง

                “เขา (ดาริโอ้ อาร์เจนโต้ ผู้กำกับชาวอิตาลีชื่อดัง) พาผมมาเดินห้าง ดูห้องไอน้ำ จนมาถึงห้องใต้หลังคาขนาดใหญ่ที่อัดแน่นไปด้วยถุงยังชีพเผื่อว่าจะเกิดภัยธรรมชาติ มันทำให้ผมเกิดความคิดว่า พระเจ้า นอกจากที่นี่จะเป็นโบสถ์ของพวกบริโภคนิยมแล้ว ยังเป็นที่หลบภัยในยามวิกกฤตได้ด้วย”จอร์จ เอ โรเมโร่กล่าวถึงเรื่องนี้ขณะที่เขากำลังมองหาโลเคชั่นถ่ายหนังเรื่องใหม่ของเขากับดาริโอ้ อาร์เจนโต้ ผู้กำกับหนังสยองขวัญอิตาลีชื่อดังที่ได้สร้างแรงบันดาลหนึ่งให้กับโรเมโร่โดยเฉพาะหนังซอมบี้เรื่องต่อไปของเขานี้ ที่หันวิพากษ์กัดกินสังคมอย่างเจ็บแสบยิ่ง

                ถ้าเราสังเกตหนังซอมบี้ของโรเมโร่ที่เป็นตัวออริจิน่อลดังเดิมแล้ว เราจะพบว่า ซอมบี้ของเขานั่นเดินเอื่อยเฉื่อยโซเซ เหมือนกับคนถูกสะกดจิตแบบไม่รู้ตัว ซึ่งจะว่าไปแล้วซอมบี้ของเขาก็คล้ายกับคนที่ในโลกทุนนิยมที่ต้องทำงานกันหามรุ่งหามค่ำตัวเป็นเกลียวเพื่อหาเงินมาซื้อของกินของใช้กันราวกับเป็นโปรแกรมที่ทำให้คนต้องทำเช่นนั้น และ วัตถุพวกนี้ก็ค่อย ๆ กัดกินวิญญาณของคนคนนั้นไปเรื่อยจนกระทั่งไม่ต่างอะไรกับผีดิบไปในที่สุด

                แน่นอนว่า สำหรับคำอธิบายว่า ทำไมซอมบี้พวกนี้มาเดินห้างนั้น ต้องพูดว่า เมื่อครั้งมีชีวิตอยู่คนที่เป็นซอมบี้เหล่านี้ต่างมาจับจ่ายใช้สอยที่นี่กันตลอดเวลา ห้างสรรพสินค้าจึงเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจในวันที่ได้หยุด พวกเขาต่างมองที่นี่เป็นเหมือนบ้านหลังที่สองที่ทำให้พวกเขาปลดเปลืองตัวเองให้พ้นไปจากภาระอันน่าเหนื่อยใจ และสำนึกในใจว่า ถ้าเกิดเรื่องขึ้น ห้างเป็นสถานที่ปลอดภัย เพราะมีทั้งอาหาร และ ของต่าง ๆ จนหลายคนคิดว่า ห้างคือสถานที่ปลอดภัยที่สุด และสำนึกของพวกผีดิบก็คือ

                ที่นี่มีอาหาร

                นั่นเองที่อธิบายการมาของซอมบี้พวกนี้ได้ดีที่สุด รวมทั้งตีแสกหน้าคนดูชนชั้นกลางทั้งหลายว่า พวกเขาเองก็ไม่ต่างกับซอมบี้ที่ถูกลัทธิบริโภคนิยมเข้ากัดกินและกร่อนจิตใจจนไม่ต่างกับซอมบี้ไปเรียบร้อย

                ถ้าซอมบี้ยังอยากจะกินไม่สิ้นสุด เราเองก็ยังมีความอยากได้อยู่ไม่สิ้นสุดเช่นเดียวกัน

          ยิ่งซอมบี้ภาครีเมคของ Dawn of the dead ที่กลายเป็นซอมบี้วิ่งเร็วไปแล้วก็ยิ่งตอกย้ำสถานะภาพนักสวาปามของมนุษย์ไว้ว่า พวกเขาปรารถนาจะกิน และ กิน ต่อไปอย่างหิวโหย ผ่านภาพของผีดิบวิ่งเร็วในยุคปัจจุบันที่ทุกคนต้องแย่งกันกิน แย่งกันใช้ในสังคมทุนนิยมนี่น่ะเอง

          Land of the dead ผลงานเรื่องหลังของโรเมโร่เองก็ตอกย้ำเรื่องนี้ด้วยการให้คนรวยใช้ชีวิตอยู่ในตึกหรูที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสารพัด ขณะที่คนจนอยู่ด้านนอก หนังฉายภาพของคนรวยมีเงินที่ใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือยกับสิ่งของต่าง ๆ โดยไม่สนใจว่า ใครจะเป็นใครจะตาย พวกเขาหวังแค่ว่าตัวเองจะกอบโกยความสุขนี้ไปวัน ๆ ทั้ง ๆ ที่พวกเขาก็ไม่รู้ว่า นอกกำแพงนั้นกำลังเกิดอะไรขึ้น เราจึงเห็นภาพนรกแตกที่ตึกแห่งนี้และคนรวยถูกซอมบี้ที่เป็นภาพสะท้อนของคนชายขอบกัดกินจนตายอย่างสะใจคนดูที่รู้สึกเอียนกับพวกซากดิบที่หลงใหลในวัตถุเหล่านี้ ประเด็นเรื่องนายทุนนี้ได้ถูกขยายไปสู่ Resident Evil 2 ที่กลุ่มทหารของบริษัทยาอัมเบลล่าที่ทุกคนก็รู้กันดีว่า พวกเขาเป็นคนที่สร้างไวรัสมรณะขึ้นมาได้พบว่า การแพร่ระบาดของเชื้อในเมืองได้ลุกลามมากเกินไปจนทำให้พวกเขาต้องใช้แผนที่เลวร้ายที่สุดนั่นคือ การกราดกระสุนใส่ผู้คนที่มาขอความช่วยเหลือที่หน้าประตูพร้อมกับปิดประตูเมืองไม่ให้ใครออกไป เพียงเพราะ พวกเขาต้องปิดบังไม่ให้ข่าวสารเรื่องความผิดพลาดของพวกเขารั่วไหลออกไปพร้อมกับไวรัสก็เพียงเพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทของพวกเขาล่มในตลาดหุ้นของวันต่อก็เท่านั้นเอง

                Shaun of the dead หนังซอมบี้ของผู้กำกับเอ็ดการ์ ไรท์ ก็เป็นหนังซอมบี้อีกเรื่องที่วิพากษ์เกี่ยวกับชนชั้นและเศรษฐกิจของอังกฤษได้น่าสนใจ สิ่งที่เขาพูดในหนังก็คือ สภาพสังคมของอังกฤษเป็นสังคมที่เร่งรีบและไร้ซึ่งจิตวิญญาณยิ่ง ซึ่งตรงนี้ได้ถูกบอกเล่าภาพฉากที่พระเอกของเรื่องที่นำแสดงโดย ไซมอน เพกก์ เดินไปทำงานทุกเช้าอย่างไม่สนใจอะไรแม้กระทั่งว่า คนทั้งเมืองเป็นซอมบี้ไปหมดแล้วก็ตามที เขาก็ยังชีวิตเหมือนเดิมเหมือนปกติที่กว่าจะรู้ก็ล่อไปตั้งนานแล้ว ยิ่งทำให้เรารู้ว่า ความเร่งรีบทางสังคมและเศรษฐกิจได้แปรเปลี่ยนให้คนกลายเป็นอย่างอื่นไปเสียแล้ว ถ้าซอมบี้คือ ผีดิบไล่กินคนแล้วล่ะก็ พวกมนุษย์ที่รอดอยู่นั้นก็เป็นพวก Living dead นั่นเอง อย่างที่เพกก์อธิบายว่า “ในลอนดอน คุณอาจจะเดินผ่านใครสักคนที่กำลังจะตายอยู่ข้างทาง แต่คุณก็เดินผ่านไป ในบางแง่ซอมบี้เป็นเช่นนี้” ตรงนี้ได้สนับสนุนให้เราเห็นว่า บางครั้งซอมบี้ก็เป็นภาพของคนที่กัดกร่อนด้วยระบบทุนนิยมและบริโภคนิยมจนกระทั่งไม่หลงเหลือกระทั่งจิตใจของความเป็นคนกลายเป็นซากคนที่มีชีวิตก็แค่นั้น

                แน่นอนว่า Worm Bodies หนังซอมบี้รักโรแมนติกก็มีฉากที่วิพากษ์เรื่องลัทธิทุนนิยมและบริโภคนิยมที่กลืนกินเราอยู่ได้น่าสนใจ นั่นก็คือ ฉากเปิดของเรื่องที่ อาร์ พระเอกของเรื่องที่เป็นซอมบี้พาเราเดินไปตามทางและเห็นเหล่าซอมบี้ทั้งหลายกำลังใช้ชีวิตประจำวันกันเหมือนมีชีวิต บางคนทำความสะอาดพื้นอยู่ตรงนั้น บางคนตรวจคนผ่านประตูบ้าง บางคนนั่งรอใครไม่รู้อยู่ที่เดิมบ้าง ในสนามบินจึงมีคนมากมายที่ทุกคนต่างไม่อาจจะหลุดพ้นไปจากทุนนิยมได้ แม้ว่าจะตายไปแล้ว แต่สำนึกของพวกเขาก็ยังสั่งอัตโนมัติว่า พวกเขาต้องทำงานนะ พวกเขาถึงจะได้กิน ดังนั้นการที่ซอมบี้บุกโจมตีหาเหยื่อนั้นก็ไม่ได้ต่างกับการทำงานแล้วเอาเงินไปซื้อของกินเสียเมื่อไหร่กัน และการที่อาร์ยังขวนขวายหาของมาสะสม โดยที่ไม่รู้ว่า มันคืออะไร ใช้ยังไงก็ไม่ต่างกับพวกคนทั่วไปที่ชอบซื้อของกลับมาแต่งบ้าน หรือมาเก็บ โดยไม่รู้ว่า ของที่ว่านั้นจำเป็นกับชีวิตหรือไม่อยู่ดี

                นั่นทำให้อนุมานได้ว่า อาร์เองก็คนที่ยังถูกสิ่งที่เรียกทุนนิยมกลืนกินจนถอนตัวไม่ขึ้นอยู่ดี

                และนั่นเองที่ทำให้เขาและคนที่อยู่ในกำแพงที่กั่นไว้อย่างมีอะไรเหมือนกันบ้าง อย่างน้อยก็ความอยากไม่สิ้นสุดในการทุนนิยมที่แหละที่ทำให้พวกเขายังคงคลิกกันได้

                Media in Zombie

          ถ้าใครได้อ่านนิยายต้นฉบับของ World War Z แล้วก็คงพบว่า ตัวหนังกับนิยายค่อนข้างแตกต่างกันมากเลยทีเดียว เพราะในขณะที่ World War Z ของภาคหนังนั้นเป็นหนังบล็อกบัสเตอร์ที่เน้นความยิ่งใหญ่ถล่มทลายจนแฟน ๆ หนังสือที่เคยอ่าน World War Z แล้วต่างก็งุนงงว่า ทำไมหนังถึงกลายเป็นเช่นนี้ไปได้ เพราะเอาจริงแล้ว ในฉบับนิยายนั้น World War Z เป็นนิยายที่เล่นกับสื่ออย่างชัดเจน

                อันที่จริงแล้วหนังซอมบี้ก็เล่าเรื่องสื่อมาตั้งแต่แล้วด้วยซ้ำไป ตั้งแต่ต้นกำเนิดของมันในหนังสือของวิลเลี่ยม ซีบรู๊ค จนกระทั่ง Night Of living dead ของจอร์จ เอ โรเมโร่เองก็มีฉากที่คนที่รอดชีวิตในบ้านนั่งฟังวิทยุถกเถียงกันนักวิทยาศาสตร์และคนของรัฐบาลท่ามกลางความสับสน ที่เป็นภาพตัวแทนความไม่รู้ของคนในช่วงสงครามเวียดนาม หรือ ภาพคนที่มองดู TV ใน Dawn of the dead ย่อมแสดงภาพอำนาจของสื่อที่มีต่อการรับรู้ของคนได้เป็นอย่างดียิ่งว่า มนุษย์ทุกคนย่อมต้องพึ่งพาพิงสื่อในยามที่ไม่รู้จะทำเช่นไรดี หรือ สับสนกับเหตุการณ์สักอย่าง พอขาดสื่อ พวกเขาก็เหมือนตาบอด หูหนวก คิดอะไรไม่เป็น นั่นทำให้สื่อมีสภาพเป็นเสมือนสารที่ทำให้เกิดผลบางอย่างกับคนดูได้ราวกับเชื้อไวรัสได้เลยทีเดียว

                Demons หนังซอมบี้ของแลมเบอร์โต้ บาวา เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ เพราะ การระบาดของเชื้อนั้นเกิดขึ้นในโรงหนังสยองขวัญเกรดบีแห่งหนึ่งที่กำลังฉายหนังเรื่องหนึ่งอยู่ก่อนที่จะพบว่า คนที่ดูหนังเรื่องนี้กำลังกลายพันธุ์ปีศาจร้ายไล่ฆ่าคนทั้งโรงหนังอย่างบ้าคลั่งส่งผลให้คนในเรื่องที่เหลือต้องหาทางหนีเอาตัวรอด ซึ่งแน่นอนว่า หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จมากจนมีภาคสองตามมาในไม่นาน โดยครั้งนี้หนังย้ายสื่อที่ทำให้ติดเชื้อไปเป็นทีวีและเกิดขึ้นในตึกระฟ้าแทน แม้ว่าจะภาคสองจะไม่ประสบความสำเร็จมาก แต่ หนังทั้งสองเรื่องก็มีประเด็นที่น่าสนใจโดยเฉพาะเรื่องสื่อที่หนังบอกเราว่า ทั้งภาพยนตร์และทีวีนั้นสามารถทำให้คนกลายเป็นผีดิบได้ (ซึ่งนัยยะหนึ่งคือ การเสพความรุนแรง) แน่นอนว่า เมื่อเราเสพความรุนแรงมากเข้าไปเรื่อย จิตใจของเราก็ด้านชาและมองเห็นทุกอย่างด้วยความเย็นชา อย่างการมองเห็นความตายในหนังบ่อย ๆ เราก็จะรู้สึกว่า คนตายเป็นเรื่องธรรมดาจนไม่ตื่นกลัวใด ๆ ด้วยซ้ำ แน่นอนว่า เมื่อภาคสองเปลี่ยนมาเป็นทีวี หนังมันได้ตั้งคำถามว่า ทีวีที่แพร่ระบาดนั้นมีส่วนทำให้คนกลายพันธุ์เป็นปีศาจได้หรือไม่ และหนังก็ทำให้เห็นว่า สื่อที่เข้าถึงคนง่ายกว่าอย่างทีวีได้สร้างหายนะอะไรให้กับโลกบ้าง เราจึงเห็นซอมบี้เด็กไล่ฆ่าคนในภาคนี้เนื่องจากเด็กคนนี้มองดูทีวีรายการเกี่ยวกับหนังสยองขวัญไปนั่นเอง

                นั่นเองที่ทำให้หนังซอมบี้ของแลมเบอร์โต้ บาวา สองเรื่องนี้มีความคมคายน่าสนใจกว่าการสร้างภาพแหวะขายแบบหนังสยองขวัญอิตาลีทั่วไป เพราะมันได้ตั้งคำถามถึงความรุนแรงของสื่อที่เกิดขึ้นว่า มันเกิดเพราะอะไรกันแน่อย่างตรงไปตรงมาและ อุปมาปีศาจเป็นดั่งความรุนแรงที่สถิตอยู่ในตัวมนุษย์

                สื่อยังมีอิทธิพลต่อเรามากจนเราสังเกตได้และ Diary of the dead ก็เป็นหนังซอมบี้ที่วิพากษ์สื่อได้น่าสนใจที่สุด เพราะ ครั้งนี้โรเมโร่หยิบจับสื่อยุคปัจจุบันอย่าง กล้องวีดีโอ คลิป และ อินเตอร์เน็ตมาใช้วิพากษ์สังคมอย่างสนุกมือ ผ่านตัวละครวัยรุ่นนักทำหนังกลุ่มหนึ่งที่ต้องเอาตัวรอดให้ได้ในวันที่ซอมบี้กำลังอาละวาดไปทั่ว หนังจึงได้เห็นตัวละครในเรื่องถือกล้องถ่ายสิ่งต่าง ๆ ในเรื่องอย่างสนุกสนาน ท่ามกลางสถานการณ์บีบอย่างแรง ทั้งคนในกลุ่มที่ค่อย ๆ ตายไปทีล่ะคนสองคน แต่ตัวละครหลักก็ไม่วางกล้องลงเลย ทั้งที่คนอื่นบอกว่า ให้วางกล้องและเลิกถ่ายได้แล้ว แต่ตัวละครที่ถือกล้องกลับตอบมาว่า

                “เพราะมีคนอยากดูเลยถ่ายไว้ไง”

          แน่นอนว่า หนังมันสอดคล้องกับฉากที่พวกเขาเอาคลิปไปลงในเว็บพร้อมกับยอดคนดูที่พุ่งถล่มทลายจนตัวคนถ่ายดีใจอย่างมากที่ในที่สุดเขาก็ดัง ทั้ง ๆ ในสถานการณ์แบบนี้เขาควรจะคิดเรื่องเอาตัวรอดมากกว่าไม่ใช่หรืออย่างไรกัน

                นี่เองที่ทำให้โรเมโร่เอาถาดมาตีหัวเราฉาดใหญ่ว่า มนุษย์เรานั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่ชอบความพินาศมากเพียงใด

                เมื่อเราเข้าไปดูในเว็บ Youtube เราจะพบว่า มีคลิปต่าง ๆ มากมายปรากฏในนี้ตั้งแต่คลิปตลก ๆ คลิปคนร้องเลพงไปจนถึงคลิปโหด ๆ อย่างภาพอุบัติเหตุไฟไหม้ จี้ตัวประกัน หรืออื่น ๆ รวมทั้งภาพการประหารหรือฆ่าคนที่ฉายสดให้ดูมากมาย

                แน่นอนว่า การที่คลิปพวกนี้มากมายย่อมหมายถึงว่า มนุษย์นั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่นิยมชมชอบความชิบหายของชาวบ้านเป็นเนื่องนิจ และเขาตบหัวเราว่า เพราะเราอยากเห็นความพินาศเราถึงมาดูหนังเรื่องกันไงยังไงล่ะ

                มีคำเปรียบเปรยที่น่าสนใจพูดถึงเรื่องความบ้าความชิบหายของมนุษย์ว่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุ คนส่วนมากมักจะจอดรถดู แต่ไม่ใช่ดูเพราะ อยากจะเข้าไปช่วยคนที่เกิดอุบัติเหตุ แต่จอดเพราะอยากดูว่า รถชนกันหนักไหม มีคนตายไหม และ วอดวายมากขนาดไหนต่างหาก

                แน่นอนว่า หนังของโรเมโร่ในเรื่องนี้เลือดเย็นน่าขนลุก เพราะ มันไม่มีความหวังใด ๆ เหลืออยู่เลย ตัวละครในเรื่องค่อย ๆ ตายไปล่ะคนสองคน แม้กระทั่งตากล้องยังตาคอกล้องทั้งที่ยังถ่ายอยู่ นี่เองที่ทำให้หนังมีภาพฟุตเตจต่าง ๆ ยัดเข้าให้เห็นภาพการฆ่ากันของคน ของทหารในทุกมุมโลกที่ช่วยยืนยันว่า สิ่งมีชีวิตที่น่ากลัวที่สุดมิใช่ซอมบี้

                แต่เป็นคนทั้งหลายต่างหาก

                และสื่อพวกนี้ก็เป็นภาพสะท้อนของความเลือดเย็นและไร้ความเป็นมนุษย์ของเหล่าซากดิบมีชีวิตทั้งหลายน่ะเอง ดั่งคำพูดที่ว่า คนเราทุกคนมีเวลาดังเพียง 15 นาที

                นั่นคือ โลกแห่งสื่อที่เรากำลังนั่งอยู่ตอนนี้น่ะเอง

                Love , Comedy And Drama Zombies

                ความโด่งดังของซีรีย์ทางทีวีเรื่อง The Walking Dead นั้นช่วยทำให้โลกของซอมบี้กว้างใหญ่ขึ้นไปกว่าเดิม หลังจากซอมบี้เป็นสัญลักษณ์ของหนังสยองขวัญชั้นต่ำเกรด Z มานมนาน เวลาได้ผันแปรให้พวกมันได้ลุกขึ้นคืนชีพในรูปแบบที่ต่างออกไปจากเดิม แน่นอนว่า The Walking Dead เป็นภาพที่สะท้อนให้ซอมบี้ก็สามารถเล่าเรื่องดราม่าได้เช่นกัน โดยเฉพาะดราม่าความชิบหายในครอบครัวที่เกิดขึ้นกับริก นายตำรวจหนุ่มที่ฟื้นหลังจากนอนโคม่ามาตั้งนานและพบว่า โลกได้ถูกยึดครองโดยผีดิบไปแล้ว เขาจึงออกเดินทางตามหาครอบครัวที่คิดว่าเขาตายไปแล้วฝ่าฝูงผีดิบนับพันในเมืองจนได้พบว่า ครอบครัวของเขาได้หนีไปอยู่ในป่าที่ห่างไกลผู้คน โดยที่เพื่อนของเขากำลังแทะโลมเมียของเขาอยู่ แต่การมาของริกกลับทำให้เพื่อนและเมียของเขาเกิดบางอย่างขึ้นในใจ ขณะที่ริกต้องพยายามจูนตัวเองให้ติดกับความสัมพันธ์ที่ทิ้งค้างเอาไว้ท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยผีดิบนี้

                ความโดดเด่นของ The Walking Dead นั้นได้สะท้อนให้เราเห็นว่า หนังซอมบี้ไม่จำเป็นต้องมีฉากโหดสยองนัก เพราะ เอาจริง Theme เรื่องครอบครัวที่กำลังล่มสลายก็แทบสะท้อนนัยยะสังคมออกมาได้ ด้วยคำพูดที่ว่า ครอบครัวหน่วยเล็ก ๆ ที่สำคัญที่สุดในสังคม และหากหน่วยเล็ก ๆ สุดสำคัญนี้กำลังพินาศล่ะ มันจะเป็นอย่างไร

                ดังนั้นจุดสำคัญของซีรีย์จึงพูดถึงเรื่องมนุษย์มากกว่าซอมบี้ เพราะ ยิ่งมันลงลึกสำรวจจิตตัวละครตัวต่าง ๆ มากเท่าใด เรายิ่งรู้สึกว่า ซอมบี้ที่คิดจะกินนั้นยังน่ารักและน่าคบกว่าคนพวกนี้บางคนเป็นกอง

                การเปลี่ยนแปลงของซอมบี้เกิดขึ้นหลายครั้งอย่างซอมบี้แนวตลกอย่าง Shaun of the dead กับ ZombieLand ก็เป็นตัวตั้งในการนำซอมบี้มาใช้เสียดสีสังคม อย่าง Shaun ก็เป็นหนังตลกเสียดสีทุนนิยมและคนอังกฤษแบบเจ็บแสบ ขณะที่ Zombieland ที่ก็เป็นหนังซอมบี้ในคราบโร๊ดมูฟวี่ที่ตีแสกหน้าเรื่องความสยองจนเละเทะ เราคงไม่ต้องไปพูดถึงการ์ตูนซอมบี้จากญี่ปุ่นอย่าง HighSchool of the dead ที่นำความโมเอะมาผสมกับความสยองขวัญและแอ็คชั่นได้อย่างลงตัวจนโด่งดังไปทั่วเอเชียแล้ว

                จนกระทั่งซอมบี้พัฒนามาสู่หนังรักจากนิยายเรื่อง Worm Bodies ที่พึ่งดัดแปลงไปเป็นหนังและประสบความสำเร็จพอสมควรในการเปลี่ยนภาพลักษณ์ซอมบี้จากศพเดินได้สุดแหวะเป็นหนุ่มหล่อน่ารักกระชากใจสาว ซึ่งทำให้เราและหลายคนรู้สึกว่า ซอมบี้มาไกลกว่าที่เราคาดคิดเอาไว้เสียอีกตอนนี้

                และต่อไปเราจะเห็นอะไรล่ะ ซอมบี้อวกาศหรือว่าจะเป็นหน่วยรบซอมบี้ แต่ที่ผมอย่างก็คือ ต่อจากนี้ไปซอมบี้คงมีการพัฒนา ปรับเปลี่ยนรูปแบบตัวตนไปตามยุคสมัย เหมือนครั้งที่โรเมโร่เคยเปลี่ยนพวกมันจากซากศพวูดูไปเป็นซอมบี้กระหายเลือด บริบทก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน

                แต่มีสิ่งหนึ่งที่หนังพวกนี้ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

                นั่นก็คือ การบอกว่า มนุษย์นั้นคือ สิ่งมีชีวิตที่เลวร้ายที่สุดยิ่งกว่าซอมบี้ก็ไม่ปาน

                คิดว่าจริงไหมล่ะครับ

…..

          ดัดแปลงและปรับปรุงจากบทความ มองโลกผ่านหนัง ตอน หนังสยองขวัญกับคนชายขอบ โดย มิสเตอร์อเมริกัน ตีพิมพ์ในนิตยสาร Crop Magazine ฉบับที่ 2 

บล็อกของ Mister American

Mister American
ปี 2515 ณ หมู่บ้านห่างไกลผู้คนในจังหวัดกาญจนบุรี แย้ม เด็กสาวผู้เคยป่วยหนักจนเกือบตายได้มีอาการแปลก ๆ เกิดขึ้น เธอเริ่มพูดจาด้วยคำหยาบคายกับคนในครอบครัวอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เริ่มโกหกและยุแยงให้คนในบ้านแตกคอกัน รวมทั้งลุกขึ้นมาตอนกลางคืนเพื่อนกินของสดทำให้คนในครอบครัวโดยเฉพาะ หยาด เกิดความสงสัยขึ
Mister American
สัปเหร่อ : คนตายคือ ครู และ คนอยู่คือ นักเรียน           “ความตาย...มันฆ่าเฮาได้แค่ครั้งเดียว แต่ความฮัก มันฆ่าเฉาไปเรื่อยๆๆ จนกว่าเฮาสิตายพุ่นเด้”บักมืด 
Mister American
                ระหว่างที่เขียนต้นฉบับบทความนี้อยู่นั้น การโหวตประธานรัฐสภาและรองประธานสองคนการประชุมสภาวันแรกได้จบลงแล้ว และ ผลคือ คุณวันมูหะมัดนอร์ มะทา จากพรรคประชาชาติ ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาคนใหม่ ร่วมกับ รองประธานสภาสองท่านจากพรรคก้าวไกล และ พรรคเพื่อ
Mister American
            คงไม่มีอนิเมชั่นเรื่องใดในซีซั่นนี้ที่เรียกว่า สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับบรรดาคนดูอนิเมชั่น และ คนดูหนังหลายคนได้เท่ากับ อนิเมชั่นซีรีย์เรื่อง Oshi no Ko หรือ ชื่อไทยว่า เกิดใหม่เป็นลูกโอชิ ผลงานดัดแปลงจากมังงะขายดีของ อากะ อาคาซากะ ที่ได้ฤกษ์ออกฉายไปเมื่อ
Mister American
                "พรมนิ้วลงไป หวังให้อัสนีกึกก้องด้วยละอองแสง                   กระหน่ำตีเข้าไปให้ถึงปลายทางของความเจ็บปวด
Mister American
                พอ Hellraiser ภาคใหม่จะลงฉายใน Hulu กันในวันที่ 7 ตุลาคมนี้ (ซึ่งไทยจะได้ดูกันใน Disney Plus) นับว่าเป็นการกลับมาอีกครั้งของพินเฮดและเหล่าซีโนไบร์ต หนึ่งในไอค่อนของโลกสยองขวัญที่โด่งดังไม่แพ้ เฟรดดี้ ครูเกอร์ แห่ง Nightmare of elm street , เ
Mister American
พึ่งจบกันไปหมาด ๆ สำหรับอนิเมชั่นเรื่องดังประจำซีซั่นนี้อย่าง Lycoris  Recoli จากค่าย A-1 Picture ที่นอกจากจะเป็นม้ามืดประจำซีซั่นนี้ที่ได้รับความนิยมแบบถล่มทลายจนแซงหน้าบรรดาอนิเมชั่นฟอร์มยักษ์เรื่องอื่น ๆ ไปแบบไม่มีกังขา โดผลโหวตจากสำนักอนิเมชั่นต่าง ๆ โหวตให้เรื่องนี้อยู่
Mister American
“ทำไมถึงไม่มีหนังสัตว์ประหลาดไทยดี ๆ ออกมาสักทีวะ ?”
Mister American
คงไม่ต้องบอกว่า ณ ช่วงเวลานี้ หลาย ๆ คนคงให้ความสนใจกับการชุมนุมของบรรดาหนุ่มสาววัยรุ่นที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มเยาวชนปลดแอก หรือ กลุ่มนักเรียน นักศึกษาคนรุ่นใหม่ที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ขับไล่เผด็จการ และ เปลี่ยนแปลงประเทศใหม่ กันอย่างแน่นอน โดยเฉพาะปรากฏการณ์ของการชุมนุมที่เกิ