เมื่อวันที่ 11 กันยายน ที่ผ่านมา วงการลูกทุ่งได้สูญเสียนักร้องผู้เป็นขวัญใจมหาชนและราชาแห่งเพลงลูกทุ่งอย่าง สายันต์ สัญญา ไปอย่างไม่มีวันกลับด้วยโรคมะเร็งตับที่ได้พลัดพรากนำนักร้องเจ้าของฉายา แหบมหาเสน่ห์ ผู้นี้ไป ท่ามกลางความโศกเศร้าของมิตรรักแฟนเพลงนับล้านคนทั่วประเทศที่ต้องเศร้าโศกกับการจากไปของนักร้องผู้นี้ แน่นอนว่า การเสียชีวิตของสายันต์ สัญญานี้ได้เป็นเสมือนการปิดฉากของนักร้องในยุคสมัยรุ่งเรืองของเพลงลูกทุ่งอย่างเป็นทางการ ซึ่งก่อนหน้านี้วงการเพลงลูกทุ่งก็สูญเสียราชาเพลงลูกทุ่งอีกคนอย่าง ยอดรัก สลักใจ ไปเช่นกัน ซึงยิ่งตอกย้ำให้เราได้รู้ว่า ยุคของเพลงลูกทุ่งแบบเดิม ๆ ได้จบลงไปแล้ว
“เมื่อใบไม้ผลัดร่วงหล่นต้น ใบอ่อนยอดใหม่จะผลิขึ้นแทน” คำกล่าวนี้มิได้เกินเลยไปนัก เพราะ เมื่อวงการลูกทุ่งได้สูญเสียหรือปิดยุคสมัยหนึ่ง มันย่อมหมายความว่า ยุคสมัยใหม่กำลังจะเข้ามาแทนที่
ระหว่างที่สายันต์กำลังเข้ารักษาตัวอยู่นั้น ได้มีเพลงลูกทุ่งอีสานเพลงหนึ่งที่กำลังอยู่ในกระแสฮิตทั่วบ้านทั่วเมืองจนใคร ๆ ก็เอาไปลองได้แก่เพลง ขอใจแลกเบอร์โทร ของ หญิงลี ศรีจุมพล ที่ตอนนี้ยอดชมในยูทูปสูงถึง 32 ล้านวิวแล้ว ไม่พออัลบั้มของเธอยังขายดีเทน้ำเทท่าข้ามปีมาจนถึงวันนี้ย่อมแสดงให้เห็นถึงความนิยมของเธอได้อย่างดี เช่นเดียวกับ เพลง แน่นอก(ต้องยกออก) ของวง 3.2.1 ที่มีใบเตย อาร์สยาม ไปร่วมแจมเองก็มีผู้ชมในหลักสิบล้านเหมือนกัน ย่อมเป็นการบอกว่า นี่คือยุคที่เรียกว่า ยุคลูกทุ่งสมัยใหม่ที่เราแทบจะแยกความเป็นลูกทุ่งกับสตริงไม่ออก เนื่องจากบทเพลงทั้งสองนั้นซ้อนทับกันจนกันอย่างพร่าเลือนไปแล้ว
จนเราชักสงสัยว่า เพลงลูกทุ่งที่แท้จริงนั้นเป็นเช่นไรกันแน่
ยิ่งมีข่าวออกมาจะมีการสร้างภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับเพลงลูกทุ่ง ที่จะรวบรวมเหล่าคนเพลงลูกทุ่งขึ้นมาอีกครั้งยิ่งทำให้หลายคนเกิดคิดขึ้นมาว่า หรือนี่จะเป็นยุคทองของเพลงลูกทุ่งหรือเปล่า
อันที่จริงต้องพูดว่า เรื่องเช่นนี้ต้องให้เวลาพิสูจน์ไปว่า หลังความโด่งดังของสายันต์ สัญญา ยอดรัก สลักใจ และ พุ่มพวง ดวงจันทร์นั้น นี่คือยุคสมัยที่จะเรียกว่า ยุคทองอีกครั้งของเพลงลูกทุ่งได้หรือไม่
แน่นอนว่า สำหรับโลกภาพยนตร์แล้ว เพลงลูกทุ่งก็แทบจะเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย ไม่สิ อาจจะเรียกว่าเป็นสิ่งที่ต้องอยู่เคียงข้างกันมากกว่า เพราะ ภาพยนตร์หลายเรื่องก็มีการนำเพลงลูกทุ่งไปประกอบภาพยนตร์นั้น ๆ หรือแม้กระทั่งนำเรื่องราวในชีวิตของคนลูกทุ่งไปทำเป็นหนังด้วย อาทิ ภาพยนตร์เรื่อง มนต์รักลูกทุ่ง ที่น่าจะเป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับเพลงลูกทุ่งที่น่าจะโด่งดังที่สุดและอยู่ในความทรงจำของคนมากที่สุด หรือหนังอย่าง 16 ปีแห่งความหลัง ภาพยนตร์ที่นำชีวิตของราชาเพลงลูกทุ่งคนแรกอย่าง สุรพล สมบัติเจริญ มาสร้างหลังจากเขาเสียชีวิตไปไม่นานนัก หรือเรื่อง โทน ที่สร้างขึ้นในปี 2513 เองก็ตาม ย่อมบ่งบอกถึงความนิยมของเพลงลูกทุ่งได้อย่างดี แม้กระทั่งในช่วงปี 2525 เป็นต้นมา ในช่วงความดังของสายันต์ สัญญา , ยอดรัก สลักใจ จนไปถึง พุ่มพวง ดวงจันทร์ พวกเขาทั้งหมดก็ได้มีโอกาสได้เล่นภาพยนตร์กันหลายเรื่องเรียกว่า เป็นช่วงเวลาปีทองสำหรับเพลงลูกทุ่งอย่างแท้จริงกับผลงานอย่าง นักร้องนักเลง หรือ สงครามเพลง กระทั่งความนิยมของเพลงลูกทุ่งเสื่อมไปในช่วงประมาณปี 2531 ที่วงการหนังไทยกำลังอยู่ในภาวะที่เรียกว่า เปลี่ยนถ่าย เมื่อคนดูหนังในตอนนั้นเปลี่ยนจากคนทำงานไปเป็นวัยรุ่นเสียส่วนมากส่งผลให้หนังไทยในตอนนั้นมุ่งเน้นทำหนังแนวกระโปรงบานขาสั้นเสียส่วนมากส่งผลให้เพลงลูกทุ่งในหนังจางหายไปในที่สุด เช่นเดียวกับเพลงลูกทุ่งที่เริ่มจางหายไป
แต่ทุกอย่างมีมากเกินก็ย่อมมีเสื่อมสลาย การผลิตออกมาอย่างมากมายของหนังกระโปรงบานขาสั้นได้ทำให้หนังไทยค่อย ๆ ตายลงทีล่ะน้อย รายได้ของหนังเริ่มตกต่ำลงจนผู้สร้างหนังไทยเริ่มค่อย ๆ ตายไปจนมีหนังไทยเข้าฉายไม่กี่เรื่อง จนเข้าสู่ยุคที่เกือบจะเป็นจุดจบของหนังไทยอยู่รอมร่อ แต่เพราะการมาของหนังไทยสองเรื่องได้แก่ 2499 อันธพาลครองเมืองและนางนากที่กลายเป็นปรากฏการณ์ใหญ่ทำให้หนังไทยฟื้นขึ้นมาได้อีกครั้งราวกับนกฟินิกซ์ที่ฟื้นมาจากความตาย
เพลงลูกทุ่งเองก็เช่นกัน หลังการเสียชีวิตของพุ่มพวง ดวงจันทร์จะเรียกว่าเป็นช่วงที่เพลงลูกทุ่งซบเซาก็ว่าได้ เนื่องจากการเปลี่ยนถ่ายของยุคสมัย เมื่อคนที่ฟังเพลงส่วนมากแทบไม่ได้คุ้นชินกับความงดงามของท้องทุ่ง หรือ นา อีกแล้ว บทเพลงลูกทุ่งยุคเก่าจึงหมดความนิยมไป กระทั่งการมาของ เพลงรักน้องพรในปี 2540 ที่เกิดปรากฏการณ์ล้านตลับขึ้นในยุคนั้นส่งผลให้เป็นแรงกระตุ้นใหญ่ที่ทำให้เพลงลูกทุ่งกลับคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง พร้อม ๆ กับการมาของเหล่านักร้องรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นมาหลังจากนั้นมากมาย ที่ก็มีดังบ้าง ไม่ดังบ้าง คละเคล้ากันไป แต่ก็เป็นการบอกให้คนได้รับรู้ว่า เพลงลูกทุ่งได้กลับมาแล้ว
เมื่อเพลงลูกทุ่งกลับมาได้รับความนิยมเช่นนี้ก็ทำให้ภาพยนตร์เพลงลูกทุ่งได้กลับมาคืนมาอีกครั้ง ซึ่งได้บอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับเพลงลูกทุ่งและยุคสมัยในช่วงนั้นได้อย่างดี ด้วยเหตุนี้ผมจะขอพาทุกท่านไปพบกับหนังของเพลงลูกทุ่งเหล่านั้นกันในบทความนี้ครับ
มนต์รักทรานซิสเตอร์ (2544)
ถ้าให้พูดล่ะก็คือ นี่คือ หนึ่งในภาพยนตร์เกี่ยวกับเพลงลูกทุ่งที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่ง และ เป็นภาพยนตร์ที่ทำเงินและเข้าถึงคนมากที่สุดของผู้กำกับอย่าง เป็นเอก รัตนเรือง
มนต์รักทรานซิสเตอร์เป็นเรื่องของชายหนุ่มนามว่า ไอ้แผน ที่เป็นหนุ่มบ้านนอกอารมณ์ดีที่ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับเมียแสนสวยอย่างสะเดาในหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ไอ้แผนมีความฝันอยากเป็นนักร้อง ทว่ามันดันได้รับหมายเกณฑ์ทหารและต้องจากเมียไปฝึกทหารขณะที่เมียของมันยังท้องห้าเดือน แต่ความฝันของไอ้แผนทำให้มันหนีทหารเข้ากรุงเพื่อจะไปเป็นนักร้อง ทว่าชีวิตของมันก็ต้องผจญภัยหลายอย่าง แต่มันไม่เคยรู้เลยว่า เมียของมันได้คลอดลูกแล้วและเป็นลูกชายที่มันอาจจะไม่มีโอกาสได้เห็นหน้าก็ได้
เอาจริงแล้วมนต์รักทรานซิสเตอร์นั้นเป็นภาพยนตร์ที่พูดถึงความฝันและความเป็นจริงได้อย่างเย้ยหยันและแสนน่าเจ็บปวด หนังสร้างภาพของเมืองกรุงให้น่ากลัวและน่าหวาดหวั่นต่างจากบ้านนอกที่ไอ้แผนจากมาที่เป็นเมืองที่แสนสงบสุขและไม่มีความน่ากลัวเช่นนี้ ขณะเดียวกันหนังสะท้อนให้เห็นถึงความเจ็บปวดของผู้คนที่เข้ามาทำงานในเมืองกรุงว่า พวกเขาต้องพบเจอสิ่งใดบ้าง พวกเขาต้องทนทุกข์ทรมานกับสิ่งใดบ้าง แต่แน่นอนว่า โลกในกรุงอันแสนวุ่นวายนั้นไม่เหมาะกับไอ้แผนเลย นั่นเองที่ทำให้มันถูกกระทืบกระหน่ำซ้ำเติมจากคนกรุงอย่างไร้ความปราณีเสมือนจะฆ่ามันให้ตายเพราะไม่เจียมตัวที่เข้ามาเหยียบย่างในเมืองกรุงแห่งนี้ และแน่นอนว่าเมื่อไอ้แผนที่ร่างกายสะบักสะบอมกลับไปยังหมู่บ้านของมันนั้นมันก็ได้พบกับเมียรักที่มันทิ้งมานาน
แน่นอนว่า นี่คือหนังที่ถูกสร้างขึ้นหลังปี 2540 ช่วงหลังวิกกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งที่ทำให้ประเทศไทยในช่วงนั้นพบกับสภาพที่เรียกว่า ล้มจมทางเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัดก่อนจะมาฟื้นตัวที่หลังในปี 2544 อันเป็นการมาของพรรคการเมืองหน้าใหม่ที่ชื่อว่า ไทยรักไทย ในตอนนั้น มนต์รักทรานซิสเตอร์ได้สะท้อนให้เห็นถึงความบอบช้ำของคนต่างจังหวัดที่พบเจอในกรุงว่า ความฝันของพวกเขาจะไม่มีวันเป็นจริงในเมืองแห่งนี้ และพวกเขาก็จะต้องถูกถีบออกไปจากเมืองนี้อย่างบอบช้ำและซมซานกลับไปบ้านอย่างผู้แพ้
เพื่อจะเรียนรู้ว่า ไม่มีอะไรดีไปกว่าบ้านของพวกเขาในช่วงเวลาอันแสนวุ่นวายนี้
มนต์รักทรานซิสเตอร์จึงเป็นภาพของการถ่ายทอดความงดงามในอุดมคติของคนต่างจังหวัดที่ได้หลงลืมมันไปแล้วเมื่อย่างก้าวเข้ามาเมืองแห่งนี้ บทเพลงอย่าง คิดถึงพี่ไหม ก็เป็นบทเพลงที่ฟังแล้วรู้สึกชวนคะนึงหาความงามความฝันที่จางหายไปของคนบ้านนอกที่เข้ามาในกรุงนี้เสียจริง ๆ
มนต์เพลงลูกทุ่งเอฟเอ็ม (2545)
ถ้ามนต์รักทรานซิสเตอร์คือ ภาพยนตร์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเยียวยาจิตใจผู้คนหลังเหตุการณ์วิกกฤตเศรษฐกิจปี 2540 แล้วล่ะก็ มนต์เพลงลูกทุ่งเอฟเอ็มก็เสมือนเป็นแสงแห่งความหวังอันเรือนรองของผู้คนหลังการมาของรัฐบาลใหม่ที่ทุกอย่างมันเริ่มจะดีขึ้นจากเดิม เช่นเดียวกับวงการเพลงลูกทุ่งเริ่มมีการสร้างนักร้องรุ่นใหม่ขึ้นมาประดับวงการมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นเสมือนช่วงที่เพลงลูกทุ่งกำลังกลับมาเฟื่องฟู่อย่างที่สุด
ด้วยเหตุนี้ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงถูกกล่าวขานในฐานะภาพยนตร์ที่รวบรวมคนเพลงลูกทุ่งมารวมกันไว้ได้มากที่สุดตั้งแต่รุ่นเก่ารุ่นใหม่ชนิดที่คงไม่มีภาพยนตร์เรื่องใดจะรวบรวมพวกเขาเอาไว้ได้มากมายเช่นนี้ได้
หนังบอกเล่าเรื่องราวของหนุ่มสาวคนลูกทุ่งที่มีความฝัน พรสวรรค์ที่จะก้าวเดินไปในความฝันตัวเองผ่านการประกวดร้องเพลงลูกทุ่งที่ชิงเงินรางวัลถึง 1,000,000 บาท ที่ทำให้หนุ่มสาวเหล่านี้มารวมตัวกันด้วยเหตุผลที่ต่างกันไปตามแต่ความฝันและความจำเป็นของพวกเขานั่นเอง
แน่นอนว่าหนังมีบทสรุปที่ไม่มีใครได้รางวัลไปเลย หนังอาจจะแสดงให้เห็นวิธีแก้ไขปัญหาที่ง่ายดายและน่าขบขัน แต่กระนั้นหนังก็แสดงให้เห็นภาพของความซื่อแบบคนลูกทุ่ง และ การมองโลกในแง่ดีแบบสุดกู่ออกมาจนเรารู้สึกได้ นั่นย่อมหมายถึงการสะท้อนภาพของคนต่างจังหวัดไม่สิคนลูกทุ่งทั้งหลายว่า แม้จะไม่มีเงิน แต่พวกเขาก็มีความสุขที่จะใช้ชีวิตอยู่ในสิ่งเขารัก ซึ่งเป็นการให้กำลังใจคนที่กำลังฟังหรือดูเรื่องนี้ว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นจงอย่าทิ้งความฝันและความสัตย์ซื่อของพวกเขาไปเป็นอันขาดน่ะเอง
ฟอร์มาลีนแมน รักเธอเท่าฟ้า (2547)
ถ้าให้ผมนิยามเรื่องนี้ก็คือ มันคือ หนังที่เกี่ยวข้องกับเพลงลูกทุ่งที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งที่คนไทยหลายคนหลงลืมมันไปเสียแล้ว
เรื่องราวของวงดนตรี ฉัตรทอง มงคลทอง นักร้องหนุ่มผู้เป็นที่รักและนิสัยดีชอบช่วยเหลือผู้คนที่ใช้ชีวิตด้วยการออกวงไปเล่นคอนเสริ์ตตามที่ต่าง ๆ มานาน ทว่าจากช่วงยุคทองที่เคยทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ ฉัตรทองก็ต้องพบว่า ปัจจุบันนี้วงดนตรีของเขาก็เริ่มมีสภาพขัดสนเงินทอง งานเริ่มน้อยลง ลูกวงเริ่มแยกตัวออกไปบ้าง จนกระทั่งเงินของเขาเริ่มหรอยหรอจนต้องไปกู้เงินพ่อค้าหน้าเลือดเพื่อรักษาวงเอาไว้ แต่ทว่าฉัตรทองกลับถูกรถชนจนเสียชีวิต แต่วิญญาณของเขายังมีห่วงและความรักในวงของเขาทำให้วิญญาณของเขาไม่ยอมออกจากร่างและกลับมาในสภาพซอมบี้ต่อไปจน มือขวา ในวงของเขาเริ่มเอะใจจนรู้ว่า หัวหน้าของเขาตายไปแล้ว แต่เพราะรู้ว่า วิญญาณของฉัตรทองจะไม่ไปไหนหากวงดนตรีของเขายังอยู่ในสภาพใกล้จมน้ำแบบนี้ เขาจึงช่วยเหลือหัวหน้าด้วยการหายาฟอร์มาลีนมาฉีดให้กับเขาเพื่อให้ร่างของฉัตรทองเน่าช้าที่สุด
สิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นความยอดเยี่ยมของหนังก็คือ การแสดงภาพให้เห็นถึงการล่มสลายของวงดนตรีลูกทุ่งในช่วงผ่านยุคทองของตัวเองออกได้อย่างน่าสนใจ เราจะเห็นภาพของวงของฉัตรทองที่เคยยิ่งใหญ่มีลูกวงจำนวนมากค่อย ๆ ล่มสลายลงทีล่ะน้อยล่ะน้อยจนในที่สุดก็มีสภาพอย่างที่เห็น ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่ไม่มีหนังเรื่องไหนทำมาก่อนในการพาเราไปสำรวจโลกของวงดนตรีลูกทุ่งวงหนึ่งในวันที่ใกล้จะล่มสลาย
เอาจริงแล้วในประเทศไทยในช่วงยุคทองของลูกทุ่งนั้นนอกจากวงดนตรีชื่อดังอย่าง สายันต์ สัญญา เพลิน พรหมแดน ยอดรัก สลักใจ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ก็ยังมีวงดนตรีอีกมากมายเกิดขึ้นในช่วงนี้และวิ่งรอบไปตามที่ต่าง ๆ ทั่วไทย ซึ่งแน่นอนว่า ในช่วงที่ลูกทุ่งเฟื่องฟูพวกเขาต่างเก็บเงินได้เป็นกอบเป็นกำ แต่ทว่าเมื่อเวลาผ่านไปพวกเขาก็ต้องพบเจอกับปัญหางานน้อยลง ลูกวงย้ายไปที่อื่น หรือสารพัดปัญหาที่ทำให้ในที่สุดวงดนตรีนั้นก็แตกสลายไป
เหมือนเช่นที่ฉัตรทองกำลังจะเจอ ด้วยเหตุนี้วิญญาณของเขาจึงไม่ยอมออกจากร่างไปและยังคงอยู่เพื่อจะรักษาวงของเขาให้อยู่ตลอดไป
แน่นอนว่า สิ่งที่หนังอยากจะพูดก็คือ คำสอนทางศาสนาที่มีว่า ไม่มีสิ่งใดเที่ยงแท้และอยู่คงทนตลอดไป จงอย่าได้ยึดติด
หนังเรื่องนี้ได้ให้เราได้เห็นถึงความยึดติดของฉัตรทองที่มีต่อวงดนตรีของเขา โดยไม่ได้เข้าใจว่า ทุกสิ่งย่อมมีเวลาและการพรากจากมีเกิดก็ต้องมีดับเป็นของธรรมดา เหมือนเช่นร่างกายของเขาที่นับวันก็ยิ่งเน่าเปื่อยลงไปทุกทีแม้ว่าวิญญาณจะไม่ยอมออกไปจากร่างก็เถอะ
แต่สักวันร่างของเขาก็ต้องจากไปเช่นกัน
ซีนที่ดีที่สุดในหนังก็คือ ฉากที่ฉัตรทองไปเล่นในงานศพของแฟนคลับของเขาและได้ฟังพระสวดจนขึ้นใจและรับรู้ได้ว่า ทุกสิ่งย่อมมีเวลาและสังขารนั้นไม่เที่ยง
วงดนตรีของเขาก็เช่นกันมีเกิดย่อมมีดับไม่ต่างกัน เขาไม่ควรฝืนธรรมชาตินั้นและควรปล่อยวางเสียให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ
และหลังจากงานศพนั้นเองที่ในที่สุดฉัตรทอง มงคลทองได้จากไปอย่างสงบ
หรือนี่จะเป็นหนังที่ต้องการบอกเล่าถึงการเปลี่ยนผ่านของเพลงลูกทุ่ง ไม่สิ อาจจะทุกสิ่งรอบตัวว่า ทุกสิ่งย่อมมีเวลาของมันเหมือนเช่นเพลงลูกทุ่งที่เมื่อจบยุคหนึ่งก็จะเข้าสู่ยุคใหม่ต่อไป
อีส้ม สมหวัง (2550)
ฟอร์มาลีน แมน รักเธอเท่าฟ้า คือการถ่ายทอดช่วงเวลาตกต่ำของเพลงลูกทุ่งแล้วล่ะก็ อีส้ม สมหวัง คือ ภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดช่วงเวลาที่เรียกได้ว่า ยุคทองของเพลงลูกทุ่งก็ว่าได้
หนังได้นำพาคนดูไปสู่ยุคที่ยอดรัก สลักใจ เป็นนักร้องดังชนิดที่ไม่มีใครไม่รู้จัก เมื่อยอดรักไปแสดงที่ใดคนจะตื่นเต้นชนิดเมืองทั้งเมืองแทบคลั่งเลยก็ว่าได้ และหนึ่งในแฟนคลับของยอดรักนั้นก็คือ สมหวัง เด็กหนุ่มบ้านนอกที่หวังจะเป็นนักร้องดังแบบยอดรักบ้าง และเมื่อเขาเข้ามาอยู่ในวงของยอดรัก สลักใจ เขาได้พบรักกับหางเครื่องสาวอย่าง ส้ม เข้าทำให้เรื่องราวความรักและความฝันของสมหวังจึงเริ่มขึ้น
แม้ว่าอีส้ม สมหวัง จะถูกจดจำในฐานะหนังตลกฝืด ๆ ที่ทำรายได้แบบกลาง ๆ ของโน้ต เชิญยิ้มก็ตาม แต่สิ่งที่หนังเรียกว่า โดดเด่นมากก็คือ หนังมีสภาพเป็นหนังประเภท Nostalgia คือ หนังประเภทรำลึกย้อนถึงอดีต ซึ่งหนังทำได้อย่างซื่อตรง เพราะ มันได้ถ่ายทอดให้เห็นช่วงรุ่งเรืองของวงลูกทุ่งออกมาได้อย่างตรงไปตรงมา เราจึงได้เห็นภาพวงดนตรีของยอดรัก สลักใจที่ยิ่งใหญ่อย่างยิ่งแบบที่คงไม่ได้เห็นกันแล้ว ภาพของชาวบ้านร้านตลาดที่ต่างตื่นเต้นกับการมาของราชาเพลงลูกทุ่งคนนี้จนต้องขนกันไปดู ภาพบรรยากาศงานวัดแบบโบราณที่แทบไม่มีโอกาสได้เห็น รวมทั้งเรื่องราวสนุกครื้นเครงแบบชาวบ้านที่เรียกได้ว่า เป็นสิ่งที่หนังจงใจทำออกมาให้โดดเด่นอย่างยิ่งและทำให้ใครหลายคนที่มีประสบการณ์ร่วมกับหนังเรื่องนี้อาจจะชื่นชอบหรือนึกย้อนไปในสมัยอดีต
แน่นอนว่าหนังมีสภาพบอกใบ้ให้เห็นถึงปัญหาสังคมในช่วงนั้นทั้งสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ การเมืองที่แสนวุ่นวายหลังการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน ได้ทำให้คนหลายคนรู้สึกเหนื่อยหน่ายใจจนอยากจะหนีกลับไปในอดีตที่ไม่วุ่นวายแบบนี้ก็เป็นได้
ดังนั้นอีส้ม สมหวัง จึงไม่ได้ต่างอะไรกับจดหมายเหตุหนึ่งที่บันทึกภาพอดีตอันแสนน่าคิดถึงของเพลงลูกทุ่งที่ไม่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกแล้ว
อีส้ม สมหวัง ชะชะช่า (2552)
แต่แล้วในปี 2551 ยอดรัก สลักใจ ก็เสียชีวิตลงท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจลงของผู้คนในวงการ รวมทั้งโน้ต เชิญยิ้มที่ประกาศสร้างอีส้ม สมหวัง ภาคสองต่อเพื่ออุทิศให้ยอดรักและวงการลูกทุ่ง โดยคราวนี้เขามอบหน้าที่กำกับภาพยนตร์ให้กับลูกชายของเขาแทน
เรื่องราวเริ่มต้นหลังการเสียชีวิต ยอดรัก สลักใจ ทำให้วงดนตรีของเขาแตกเป็นเสี่ยง ๆ สมหวังและส้มได้เข้ามาทำงานกันในเมืองกรุงกัน แต่ทว่าสมหวังได้พบกับเศรษฐีนีคนหนึ่งที่ชอบเขาและหนุนให้เขาเป็นนักร้องดังอีกครั้งส่งผลให้สมหวังลืมตัวและทิ้งส้มที่กำลังท้องไป สมหวังจะกลับมารักกับส้มอีกหรือไม่
หากอีส้มในภาคแรกคือ เรื่องราวที่ถ่ายทอดความรุ่งเรืองของเพลงลูกทุ่ง อีส้ม สมหวังในภาคสองนี้ก็ถ่ายทอดเรื่องราวของเพลงลูกทุ่งในการเปลี่ยนแปลงได้อย่างน่าสนใจด้วยการถ่ายทอดมันออกมาในเชิงการเปลี่ยนเชิงบริบทเมื่อเพลงลูกทุ่งไม่ได้ถูกเล่าขานถึงความรักในชนบท ความรักอันแสนบริสุทธิ์หรือบรรยายความงดงามในบ้านนอกคอกนาอีกแล้ว แต่เพลงลูกทุ่งได้กลายสภาพเป็นบทเพลงที่ให้กำลังใจแก่คนชนบทที่เข้ามาสู่เมืองกรุง ในฐานะแรงงานตั้งแต่ คนขับรถแท็กซี่ไปจนกระทั่งนักร้องในร้านอาหาร
แน่นอนว่าการเสียชีวิตของยอดรักเป็นเสมือนการปิดฉากยุคสมัยของเพลงลูกทุ่งแบบเดิมไปและเข้าสู่ยุคสมัยของเพลงลูกทุ่งชนชั้นแรงงานที่ถูกผลิตออกมาอย่างมากมายเพื่อให้กำลังใจเหล่าคนทำงานเหล่านั้นให้มีกำลังใจอยากจะสู้กับชีวิตอันแสนโหดร้ายนี้ต่อไป และ มอบความหวังว่า ชีวิตของพวกเขาจะต้องดีอย่างเก่า
เพลงที่ถูกนำมาใช้ขับร้องในเรื่องนี้ย่อมไม่พ้นเพลง คนบ้านเดียวกัน ของไผ่ พงศธร ที่มีเนื้อหาบอกเล่าถึงมิตรภาพของคนภาคอีสานที่เข้ามาขายแรงงาน ใช้ชีวิตเพื่อตั้งต้นกันในเมืองกรุงนี้ บทเพลงนี้จึงเป็นเสมือนภาพสะท้อนถึงความหวัง ชีวิตของพวกเขาในเมืองหลวงอันแสนวุ่นวายที่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น พวกเขาก็ต้องสู้ชีวิตกันต่อไปอย่างมีความหวังเล็ก ๆ กัน แม้ว่าจะเป็นแค่การที่พวกเขาได้มาพูดคุยปรับทุกข์ความรู้สึกกันในสถานที่หนึ่งก็ตามที
พวกเขาก็ยังมีความสุข
แน่นอนว่า เพลงลูกทุ่งในยุคสมัยนี้จึงมีลักษณะเป็นบทเพลงที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้กำลังใจ และ บอกเล่าชีวิตของคนงานในภาคส่วนต่าง ๆ ตั้งแต่กรรมกร สาวโรงงาน คนขับรถแท็กซี่ คนขับรถมอเตอร์ไซด์รับจ้าง ไปจนถึงกระทั่งพนักงานออฟฟิก หรือ พนักงานขายของในเซเว่นหรือร้านสะดวกซื้อก็ตาม
แน่นอนว่า นักร้องในยุคปัจจุบันนี้จึงมีลักษณะคาแรคเตอร์ที่มีบทเพลงที่จะสื่อสารไปยังกลุ่มคนต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะไมค์ ภิรมย์พร ที่เป็นตัวแทนแรงงานกรรมกร ต่าย อรทัย กับตัวแทนสาวโรงงานอีสาน ตั๊กแตน ชลดา ที่เป็นตัวแทนของสาวออฟฟิกในกรุง หรือแม้กระทั่งไผ่ พงศธรที่เป็นตัวแทนแรงงานตัวเล็ก ๆ ที่เป็นพวกช่าง หรืออื่น ๆ ซึ่งบทเพลงของพวกเขาสะท้อนถึงกลุ่มผู้ฟังและสภาพของสังคมในปัจจุบันได้ดีกว่าเพลงลูกทุ่งแบบเดิมที่ห่างไกลจนกลายเป็นเพียงความฝันของพวกเขาไปแล้ว
อีส้มหวังภาคนี้จึงเป็นภาคที่มีเนื้อหาไปไกลที่สุด และ น่าสนใจที่สุดอีกเรื่องหนึ่ง ที่เพลงลูกทุ่งสามารถบอกเล่าเรื่องราวการเปลี่ยนของสังคมไทยออกมาได้อย่างตรงไปตรงมาและที่สำคัญมันสะท้อนความจริงที่ว่า หลังเหตุการณ์รัฐประหารวันที่ 19 กันยายน สังคมไทยไม่มีอะไรเปลี่ยนหรือดีขึ้นไปจากเดิมเลย คนยังต้องพึ่งพาตัวเองกันต่อไปหรือแม้กระทั่งทำได้เพียงช่วยเหลือตัวเองได้เท่านั้น
โดยที่พวกเขายังคงมีความหวังในใจว่า พรุ่งนี้จะต้องดีกว่าวันนี้ก็เท่านั้น
พุ่มพวง (2554)
แน่นอนว่าถ้าพูดถึงราชินีเพลงลูกทุ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและคนรักที่สุดและเป็นที่จดจำที่สุดย่อมไม่มีใครไม่นึกถึงชื่อของนักร้องสาวจากสุพรรณบุรีนามว่า พุ่มพวง ดวงจันทร์ ที่ชีวิตของเธอได้ถูกนำมาเล่าขานในรูปแบบของภาพยนตร์เป็นครั้งแรก โดยเล่าเรื่องตั้งแต่เธอเข้ามาสู่วงการผ่านวงดนตรีไวพจน์ เพชรสุพรรณ ได้พบรักกับนักดนตรีหนุ่มอย่าง ธีระพล แสนสุข จนต้องออกจากวงดนตรีของไวพจน์ไป และไปพบกับครูมนต์ เมืองเหนือที่เปลี่ยนชื่อของเธอให้เป็นพุ่มพวง ดวงจันทร์ที่เรารู้จักกัน
แน่นอนว่า นี่คือการนำเสนอเรื่องราวชีวิตของพุ่มพวง ดวงจันทร์ในรูปแบบภาพยนตร์เป็นครั้งแรกหลังจากเคยถูกนำเสนอในรูปแบบละครมาแล้ว ซึ่งหนังเรื่องนี้ได้พาเราไปพบแง่มุมชีวิตของหญิงสาวคนหนึ่งว่า กว่าที่เธอจะมาถึงตรงนี้จะต้องผ่านอะไรมาบ้าง
แน่นอนว่า แม้พุ่มพวงจะมีพรสวรรค์ที่ฟ้าประทานมาให้มากมายเพียงใด แต่กว่าที่เธอจะประสบความสำเร็จได้นั้น เธอต้องพึ่งพาผู้ชายหลายคนอย่างยิ่ง นับตั้งแต่พ่อผู้พาเธอไปฝากวง ไวพจน์ เพชรสุพรรณ
เริ่มต้นจากไวพจน์ เพชรสุพรรณ ผู้เปรียบเหมือนพ่อคนที่สองของเธอ
ครู มนต์เมืองเหนือ ผู้ตั้งชื่อให้เธอแบบที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้
และอีกคนที่ลืมไม่ได้นั้นก็คือ ธีระพล สามีและผู้ชายที่คอยหนุนหลังเธอ
วัฒน์ วรรลยางกูร เขียนในหนังสือพิมพ์ข่าวสดฉบับวันอาทิตย์ว่า ถ้าไม่มีธีระพล พุ่มพวงก็ไม่มีวันนี้ ผมคิดว่าน่าจะจริง เพราะเราจะเห็นว่า ธีรพลนั้นเป็นคนที่คอยหนุนและคอยช่วยเหลือเธอมาตลอด จนมีคนเอาเธอไปเปรียบเทียบกับนักร้องพรสวรรค์คนหนึ่งที่เป็นเพื่อนซี้ของพีระพล และยังทั้งร้องทั้งแต่งเพลงเองได้ แถมยังเป็นหัวหน้าวงตั้งแต่อายุยี่สิบเท่านั้น
ครับ ผมกำลังพูดถึง นักร้องจากเมืองชลบุรี นามว่า ชาตรี ศรีชล
วัฒน์ได้บอกว่า พุ่มพวงโชคดีที่มีธีระพลคอยช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ทำให้ชีวิตของเธอไม่พบกับความย่ำแย่แบบที่ชาตรี ศรีชลได้เจอก่อนที่ชีวิตของชาตรีจะจบลงในภายหลัง
นั่นเองที่ทำให้หนังภาคนี้ขับเน้นตัวธีระพลให้น่าสนใจมากขึ้นกว่าที่เรารับรู้มาตลอดเสียอีก
และสิ่งที่หนังเรื่องนี้ทำได้ดีที่สุดคือ การสร้างตัวตนของชายคนหนึ่งที่เคยถูกตราหน้าว่า เป็นคนเลวของสังคมมาตลอดอย่าง ธีระพลให้กลายเป็นมนุษย์ธรรมดาที่น่าเห็นอกเห็นใจแล้วเข้าใจเหตุผลอย่างยิ่ง ต่างจากธีระพลในละครหลายเวอร์ชั่นที่มองเขาเป็นดั่งปีศาจ หนังสร้างความเป็นมนุษย์ให้ธีระพลได้จนทำให้เขาน่าจะเป็นบทบาทที่ดีที่สุดของ ณัฐวุฒิ สกิดใจ ผู้แสดงเป็นตัวของชายคนนี้เลยทีเดียว
แน่นอนว่า หนังต้องการจะให้กำลังใจเราทุกคนให้มองหญิงสาวคนนี้เป็นแรงบันดาลใจและลุกขึ้นสู่ต่อไปเพื่อความฝันของเราเอง เหมือนเช่นเด็กหญิงตัวน้อยจากสุพรรณที่กลายเป็นราชินีลูกทุ่งในที่สุด
และหนังก็จบลงด้วยภาพการแสดงของพุ่มพวงในสถานที่ที่เหมือนสุดยอดของเธอเท่าที่หาได้และภาพความอาลัยต่อแฟนๆที่มีต่อนักร้องหญิงคนนี้ในงานศพของเธออย่างสุดหานักร้องคนใดเทียบเคียงได้
และนี่คือเรื่องราวการปิดตำนานหนึ่งที่แสนยิ่งใหญ่ของพุ่มพวง ดวงจันทร์ ที่โปสเตอร์ของเธอเขียนว่า
บทเพลงของเธอ มันง่ายที่จะจำ แต่ชีวิตของเธอมันยากที่จะลืม
และเช่นเดียวกับบทเพลงของสายันต์ สัญญา เรื่องราวการเดินทางของเขาอาจจะสิ้นสุดลงไปแล้ว แต่เรื่องราวของเขา บทเพลงของเขา เสียงร้องของเขา รวมทั้งภาพความทรงจำของชายคนนี้ที่ไม่มีใครลืมเลือนไปจนชั่วกาลนาน บทเพลงและเพลงลูกทุ่งจักยังคงอยู่เคียงคู่ชาวไทยตลอดไป
ไม่มีสิ่งใดจีรังคงทน สังขารไม่เที่ยง ทุกสิ่งมีเกิดย่อมมีดับ คงอยู่ไว้แต่คุณความดีและบทเพลงให้คนรุ่นหลังได้หวลรำลึกถึงเท่านั้น
ผมขออุทิศบทความนี้แด่ชาวลูกทุ่งทุกคนที่ลาลับทั้งมวลบนโลกใบนี้ เรื่องราวของพวกคุณจะถูกจดจำและไม่มีวันลืมในหัวใจของแฟนเพลงไปตราบนานเท่านาน
…..