Skip to main content

            ถ้าพูดประธานาธิบดีที่คนอเมริกันรักที่สุด และ เนื้อหอมที่สุดในฮอลลีวู้ดตอนนี้คงจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐอเมริกานาม อัมบราฮัม ลินคอล์น ผู้ซึ่งดำเนินการแผนเลิกทาสขึ้นครั้งใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกาจนก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า เสรีภาพขึ้นในประเทศนี้และเป็นแรงกระเพื่อมไปยังทั่วโลกให้มีการเลิกทาส ทว่าผลการเลิกทาสนั้นได้ส่งผลให้เกิดการแบ่งแยกประเทศขึ้นโดยแบ่งเป็นอเมริการัฐทางเหนือและอเมริการัฐทางใต้ที่ไม่สนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับเลิกทาสนี้จนส่งผลให้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นและมีผู้เสียชีวิตไปจำนวนมากก่อนที่ฝ่ายเหนือจะเอาชนะสงครามได้

                รัฐธรรมนูญที่แก้ไขแล้วจึงมีผล

                และทำให้การเลิกทาสเกิดขึ้น

                ทว่าท่ามกลางความยินดีของเหล่าประชาชนจำนวนมากนั้นก็มีคนบางกลุ่มไม่พอใจและวางแผนสังหารประธานาธิบดีคนนี้รวมทั้งโค่นล้มรัฐบาลสหรัฐอเมริกาไปพร้อม ๆ กันด้วย

                ในวันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1865

                แน่นอนว่าชีวประวัติและเรื่องราวของลินคอล์นอยู่ในความสนใจของประชาชนรวมทั้งคนทั่วโลกในฐานะประธานาธิบดีผู้ต่อสู้เพื่ออิสรภาพของคนผิวสีและทาสที่ทำให้สิ่งที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยนั้นได้เป็น ประชาธิปไตยเป็นการปกครองโดยประชาชนเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง” เรื่องราวของลินคอล์นถูกนำมาถ่ายทอดลงบนแผ่นฟิลม์หลายต่อหลายครั้งในหลายปีที่ผ่านมา ทั้งในรูปแบบหนังบล็อกบัสเตอร์แนวแฟนตาซีอย่าง abraham lincoln vampire hunter ที่นำชีวประวัติของลินคอล์นมายำรวมกับตำนานแวมไพร์ได้สะแด่วแห้วดีแท้ หรือกระทั่งหนังประวัติของ Lincoln ที่นำเรื่องราวของเขาในช่วงสุดท้ายมากล่าวถึง ซึ่งกำกับโดยพ่อมดแห่งฮอลลีวู้ด สตีเว่น สปีลเบิร์ก ที่รังสรรค์เรื่องราวออกมาแถมได้นำนักแสดงในตำนานอย่าง เดเนี่ยล เดย์ ลูอิส มารับบทลินคอล์นได้อย่างยอดเยี่ยมจนคว้ารางวัลออสการ์สาขาการแสดงกลับไปอีกหน แต่ทว่าเรื่องราวของลินคอล์นก็ไม่ได้มีเพียงแง่มุมด้านผลงานเท่านั้น เรื่องราวในคืนวันสังหารหรือการลอบสังหารของเขาก็ถูกนำมาเล่าเช่นกันโดยเฉพาะภาพยนตร์กึ่งสารคดีเรื่องนี้อย่าง Killing Lincoln ของช่องโทรทัศน์ national geographic ที่เผยให้เราเห็นว่า ในวันที่ 14 เมษายนนั้นไม่ได้มีเพียงลินคอล์นเพียงคนเดียวที่อยู่ในแผนลอบสังหาร แต่รวมไปถึงรองประธานาธิบดีแอนดรูว์ จอห์นสัน และ รัฐมนตรีต่างประเทศของเขาด้วย ทว่ามีเพียงลินคอล์นเพียงคนเดียวที่เสียชีวิตในวันนั้น

                และลินคอล์นนั้นเสียชีวิตลงด้วยฝีมือของนักแสดงละครเวทีชื่อดังผู้ฝักใฝ่ฝ่ายใต้อย่าง จอห์น วิล บูธ

                ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้พาเราไปสำรวจเรื่องราวที่เกิดขึ้นก่อนหน้าหกเดือนในแผนลอบสังหารลินคอล์น ที่หนังได้ให้ข้อมูลเราว่า ก่อนการสังหารที่เกิดขึ้นในวันที่ 14 เมษายนนั้นมีความพยายามลักพาตัว จับกุม หรือกระทั่งทำร้ายประธานาธิบดีคนที่ 16 คนนี้อยู่เนื่อง ๆ โดยบูธและพรรคพวกที่พยายามอย่างยิ่งที่จะจับตัวลินคอล์นให้ได้เพื่อแลกกับการแลกตัวเชลยศึกชาวใต้คนอื่น ๆ ที่ถูกจับกุมตัว ทว่าหลังการล้มเหลวหลายครั้งเข้า จนกระทั่งฝ่ายใต้ที่ทำสงครามกับฝ้ายเหนือนั้นเริ่มเพลี่ยงพล้ำและพ่ายแพ้ การลักพาตัวก็เริ่มแปรเปลี่ยนไปเป็นการลอบสังหารแทน ซึ่งมีการบันทึกเอาไว้หลายครั้งถึงแผนสังหารประธานาธิบดีลินคอล์น ที่มีแต่ลอบยิงไปจนถึงวางระเบิด ซึ่งไม่รู้เหตุผลกลใดที่ลินคอล์นก็รอดไปได้ทุกครั้ง

                จนมาถึงแผนสังหารในวันที่ 14 เมษายนนี้เอง

                อันที่จริงลินคอล์นก็รับรู้อยู่แล้วถึงการลอบสังหารเขา แต่กระนั้นเขาก็ไม่ได้จัดวางกำลังหรือหน่วยคุ้มกันเพิ่มเติมใด ๆ เนื่องจากเขารู้ว่า ถ้าเกิดมีการจัดกำลังเพิ่มเติมล่ะก็บรรยากาศของบ้านเมืองที่เขากำลังพยายามสมานฉันท์ให้สองฝ่ายกลับมารวมตัวกันได้นั้นจะต้องสูญเปล่า

                เพราะในตอนนั้นมีแต่บรรยากาศของความเกลียดชังเกิดขึ้นไปทั่วแผ่นดินสหรัฐอเมริกา

                คนฝ่ายใต้ประกาศแยกดินแดนเนื่องจากไม่พอใจรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประกาศเลิกการค้าทาส ซึ่งแน่นอนว่ามันส่งผลกระทบต่อธุรกิจปลูกยาฝิ่น ธุรกิจไร่เกษตรกรรมของชาวใต้ผู้มีมั่งมีจำนวนมากที่ใช้แรงงานทาสผิวสีที่พวกเขาจับมาจากแผ่นดินอื่น การมีกฎหมายฉบับนี้ย่อมหมายความว่า พวกเขาจะไม่สามารถกดขี่แรงงานทาสเหล่านี้ในราคาที่ถูกแบบนี้ได้นั่นเอง และต้องไปจ้างแรงงานที่มีราคาแพงกว่าแทน

                ซึ่งย่อมหมายถึงกำไรหดหายไปนั่นเอง (ไม่ได้ขาดทุนนะ แค่กำไรหด)

                ส่งผลให้กลุ่มคนมั่งมีชาวใต้ตัดสินใจรวมตัวกันและก่อตั้งสมาพันธรัฐขึ้น โดยมีการลงขันทั้งด้านกำลังพล อาวุธ และเสบียงเพื่อโค่นล้มสหรัฐอเมริกา โดยจุดมุ่งหมายคือ โค่นล้มรัฐธรรมนูญฉบับนี้นั่นเอง

                และนั่นเองที่ทำให้ความเกลียดชังเกิดขึ้นไปทุกย่อมหญ้า

                คนผิวสีหรือทาสที่ได้รับอิสรภาพต่างชื่นชอบและชื่นชมลินคอล์นกันมากมาย และนั่นเองที่เป็นกุญแจความสำเร็จของเขาในการเอาชนะสงครามด้วยกำลังพลผสมผิวสีและขาวที่ช่วยกันจนสามารถเอาชนะฝ่ายใต้ได้สำเร็จ

                แน่นอนว่า ตรงนี้เองที่หนังได้พาเราไปสำรวจภาพของความเกลียดชังที่เกิดขึ้นผ่านตัวของบูธ ผู้สังหารประธานาธิบดีคนนี้ว่า เขานั้นคิดอย่างไร เขาคิดว่า ประเทศนี้เป็นของคนขาวมิใช่ของพวกผิวสี เขาอ้างถึงศาสนาว่า ไม่ได้กำหนดให้คนเท่าเทียมกัน และมองว่า การกระทำของลินคอล์นขัดต่อประสงค์ของพระเจ้า

                เขาจึงมองว่า ลินคอล์นคือปีศาจร้ายที่ควรจะถูกกำจัดนั่นเอง

                โดยที่เขาคงลืมไปว่า ก่อนคนขาวจะขึ้นมาครองประเทศนี้ ดินแดนของอเมริกานั้นเป็นของชาวอินเดียแดงไม่ใช่หรือ ?

                หนังให้เราเห็นทัศนคติของบูธและนิสัยของเขาว่า บูธเป็นคนอย่างไร เอาจริงแล้ว บูธเป็นคนที่เรียกว่า ดีคนหนึ่งก็ว่าได้ เขาไม่ถือโทษโกรธรุ่นน้องในวงการที่ทำผิดพลาดในการแสดง โอบอ้อมอารีแก่เพื่อนฝูง เรียกว่า เขาคือ คนดีก็ว่าได้

                ทว่าทัศนคติทางการเมืองกลับทำให้เขาเปลี่ยนไป บูธแสดงให้เห็นถึงความรังเกียจลินคอล์นอย่างเห็นชัด เขาคลั่งศาสนา และคลั่งความเป็นชาวใต้อย่างบ้าคลั่ง รวมทั้งทัศนคติเหยียดผิวที่แสดงให้เห็นออกมาตลอดย่อมแสดงให้เราเห็นว่า นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจากความแตกแยกและความเกลียดชัง

                ความเกลียดชังนี้เองที่ทำให้บูธ ผู้ล้มเหลวในการลอบสังหารหรือลักพาตัวหลายครั้งวางแผนสังหารลินคอล์นอีกครั้งในโรงละครในวอชิงตัน ดีซี

                กระนั้นเองหนังได้แสดงให้เห็นถึงภาพของลินคอล์นในเชิงประธานาธิบดีที่พยายามสมานรอยร้าวนี้ให้ได้ เพราะตอนนั้นสังคมของเขา ทั้งฝ่ายเหนือใต้แทบจะเรียกว่า อยู่ร่วมโลกกันไม่ได้ คนฝ่ายใต้ต้องการฆ่าคนฝ่ายเหนือ คนฝ่ายเหนือต้องการกระทำกับคนฝ่ายใต้ราวกับพวกเขาไม่ใช่ชาติเดียวกันมาก่อน นั่นเองที่ทำให้ลินคอล์นต้องใช้นโยบายที่อ่อนลงและไม่แข็งกร้าวนัก เขาเลือกปล่อยตัวนักโทษฝ่ายใต้กลับบ้าน โดยไม่ตั้งความผิดใด ๆ แม้ว่าจะมีการเสี้ยมโดยสื่อเลว ๆ บางประเภทที่ต้องการให้สงครามเกิดขึ้นอีกด้วยการปล่อยข่าวลือหรือออกข่าวแย่ ๆ ออกมาก็ตาม

                ซึ่งจะว่ามันก็เหมือนสถานการณ์ของบางประเทศดีนะครับ

                ลินคอล์นได้ไปยังเมืองหลวงของฝ่ายใต้และได้รับการต้อนรับจากคนผิวสีที่ได้รับอิสรภาพที่นั้นรวมทั้งคำขอบคุณ แต่ลินคอล์นกลับไม่รับคำขอบคุณนั้น แต่ให้คนผิวสีขอบคุณพระเจ้าแทนที่สร้างพวกเขาเป็นคนแบบเดียวกัน

                และมนุษย์ไม่ควรแบ่งแยกสี หรือ มีทาส

                ทุกคนมีสิทธิในชีวิตของตัวเองเหมือนกัน

                ทว่าการกระทำของลินคอล์นที่พยายามจะสมานฉันท์ประเทศกลับไม่ทำให้บูธแปรเปลี่ยนความเกลียดลงเลย เขากลับคิดว่า ถ้าจะพลิกสถานการณ์ให้ฝ่ายใต้ที่พ่ายแพ้ไปประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์แล้วกลับมาชนะได้ก็จำเป็นต้องฆ่าลินคอล์นและล้มรัฐบาลให้ได้เท่านั้น

                และแล้วแผนการสังหารก็เกิดขึ้น

                จะพูดได้ว่า สิ่งที่สังหารลินคอล์นนั้นไม่ใช่ กระสุนปืนที่ยิงออกมาจากปลายกระบอกปืนของบูธ แต่เป็น ความเกลียดชังต่างหากที่ฆ่าเขา

                ถ้ามีคนได้เจอลินคอล์นแล้วถามเขาว่า สิ่งที่เขาทำลงไปนั้นคุ้มค่าหรือไม่กับการตายลินคอล์นคงหัวเราะแล้วบอกเราว่า

                “The true rule, in determining to embrace, or reject any thing, is not whether it have any evil in it; but whether it have more of evil, than of good. There are few things wholly evil, or wholly good.Almost everything, especially of governmental policy, is an inseparable compound of the two; so that our best judgment of the preponderance between them is continually demanded” (กฎที่แท้จริง ในการตัดสินใจว่าจะเลือกรับหรือไม่รับอะไรก็ตาม ไม่ใช่เพียงเพราะว่า "มันไม่ดี" แต่ต้องดูว่า "ส่วนที่ไม่ดี" นั้น มากกว่า"ส่วนที่ดี"หรือเปล่า "จุดที่ดี"หรือ"ไม่ดี"มีกี่จุด กฎนี้ใช้ได้กับทุกอย่าง โดยเฉพาะนโยบายรัฐบาล ทุกอย่างประกอบด้วยสององค์ประกอบที่แยกกันไม่ออก เพราะฉะนั้นเราก็ต้องชั่งน้ำหนักเอาเอง)

อัมบราฮัม ลินคอล์น.

                นั่นคือคำตอบที่ประธานาธิบดีคนนี้ได้เลือกทำลงไปและผลของมันคือ แม้ว่ามันจะทำให้คนตายในสงครามไปมากมาย แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้ประเทศแห่งนี้ไม่สิ อาจจะโลกใบนี้ได้รู้จักซึ่งคำว่า เสรีภาพ น่ะเอง

                แต่หนังก็ยังไม่ได้จบเพียงเท่านี้ หนังพาเราไปดูจุดจบสุดท้ายของชายผู้ได้ชื่อ มือสังหารลินคอล์นอย่าง บูธ ว่าจะมีจุดจบอย่างไร หลังการสังหารลินคอล์นนั้น บูธ ได้รับบาดเจ็บที่ขาและหนีไปพร้อมกับพรรคพวกลงไปยังรัฐทางใต้ด้วยจิตใจหมายมั่นว่า การกระทำของเขาจะช่วยพลิกสถานการณ์ให้ฝ่ายใต้ได้

                และเขาจะถูกยกย่องให้เป็นวีรบุรุษผู้สังหารทรราชผู้ชั่วร้ายไปตลอดกาล

                แบบเดียวกับที่ บรูตัส สังหารซีซาร์ในบทละครเช็คสเปียร์ที่เขาชื่นชอบ

                โดยเขาคงลืมไปว่า

                จุดจบของบรูตัสเป็นแบบใด ?

                และบูธก็ถูกทีมไล่ล่าของประธานาธิบดีแอนดรูว์ จอห์นสันออกไล่ล่าและสังหารลงในที่สุดก่อนที่เขาจะตายอย่างทรมานในอีกไม่กี่วันต่อมา

                ไม่ต่างกับที่ลินคอล์นตายเลยแม้แต่น้อย

                สิ่งที่เราได้รับรู้อีกอย่างเกี่ยวกับความเกลียดชังในยุคนั้นว่า เรื่องราวเกี่ยวกับบูธและวันสังหารส่วนมากนั้นถูกเขียนขึ้นอย่างไม่ครบถ้วนและมีอคติอย่างรุนแรงทำให้ไม่อาจจะเชื่อถือได้เลยด้วยซ้ำไป ซึ่งบ่งบอกบรรยากาศของความแตกแยกในสังคมได้ดี

                ก็ไม่น่าแปลกใจที่บูธในหนังหลายเรื่องจะมีสภาพเป็นไอ้ขี้ขลาดหรือปีศาจ ต่างจากประธานาธิบดีลินคอล์นผู้เปรียบเสมือนพระเจ้าคนนี้

                ราวกับสีขาวและดำ

                เอาจริงแล้วเมื่อเรามานั่งวิเคราะห์ดูอีกครั้งจะพบว่า ถ้าฝ่ายใต้ชนะจริง บูธอาจจะเป็นวีรบุรุษที่ยกย่องและมีชื่อเสียงมาก ๆ ในฐานะผู้ฆ่าทรราชก็เป็นได้ ดีไม่ดี ลินคอล์นเสียเองอาจจะเป็นคนที่ถูกใส่สีตีไข่เสียจนไม่เหลือชิ้นดีและกลายเป็นปีศาจร้ายไปก็ได้กระมัง

                บูธก็แค่มนุษย์คนหนึ่งที่มีความรัก โลภ โกรธ หลง เป็นธรรมดาของเรา การกระทำของเขาอาจจะชั่วร้ายในการฆ่าประธานาธิบดีคนนี้ แต่ถามจริงว่า บูธก็เป็นคนที่แสดงให้เห็นว่า เขารักชาติของเขามากเพียงใด เขาอาจจะคิดไม่เหมือนกับเราเท่านั้น

                แต่ถามว่า ถ้าคุณจะมองหาใครสักคนที่ผิดในเรื่องนี้ล่ะก็ ผมตอบได้ว่าไม่มีใครผิดทั้งนั้น

                แต่ถ้าจะหาความผิดให้ใครสักคนล่ะก็ สิ่งที่ผิดในเรื่องนี้คือ ความเกลียดชัง ความไม่เท่าเทียมกันของมนุษย์ และ การกดขี่ข่มเหงกันของมนุษย์ด้วยกันต่างหาก

                ที่ผิด

…..

                “When I do good, I feel good. When I do bad, I feel bad. That's my religion.”

                (เมื่อข้าพเจ้าทำดี ข้าพเจ้าจะรู้สึกดี เมื่อทำเลว ก็จะรู้สึกไม่ดี นั่นแหละ ศาสนาของข้าพเจ้า)

อัมบราฮัม ลินคอล์น.

บล็อกของ Mister American

Mister American
ปี 2515 ณ หมู่บ้านห่างไกลผู้คนในจังหวัดกาญจนบุรี แย้ม เด็กสาวผู้เคยป่วยหนักจนเกือบตายได้มีอาการแปลก ๆ เกิดขึ้น เธอเริ่มพูดจาด้วยคำหยาบคายกับคนในครอบครัวอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เริ่มโกหกและยุแยงให้คนในบ้านแตกคอกัน รวมทั้งลุกขึ้นมาตอนกลางคืนเพื่อนกินของสดทำให้คนในครอบครัวโดยเฉพาะ หยาด เกิดความสงสัยขึ
Mister American
สัปเหร่อ : คนตายคือ ครู และ คนอยู่คือ นักเรียน           “ความตาย...มันฆ่าเฮาได้แค่ครั้งเดียว แต่ความฮัก มันฆ่าเฉาไปเรื่อยๆๆ จนกว่าเฮาสิตายพุ่นเด้”บักมืด 
Mister American
                ระหว่างที่เขียนต้นฉบับบทความนี้อยู่นั้น การโหวตประธานรัฐสภาและรองประธานสองคนการประชุมสภาวันแรกได้จบลงแล้ว และ ผลคือ คุณวันมูหะมัดนอร์ มะทา จากพรรคประชาชาติ ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาคนใหม่ ร่วมกับ รองประธานสภาสองท่านจากพรรคก้าวไกล และ พรรคเพื่อ
Mister American
            คงไม่มีอนิเมชั่นเรื่องใดในซีซั่นนี้ที่เรียกว่า สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับบรรดาคนดูอนิเมชั่น และ คนดูหนังหลายคนได้เท่ากับ อนิเมชั่นซีรีย์เรื่อง Oshi no Ko หรือ ชื่อไทยว่า เกิดใหม่เป็นลูกโอชิ ผลงานดัดแปลงจากมังงะขายดีของ อากะ อาคาซากะ ที่ได้ฤกษ์ออกฉายไปเมื่อ
Mister American
                "พรมนิ้วลงไป หวังให้อัสนีกึกก้องด้วยละอองแสง                   กระหน่ำตีเข้าไปให้ถึงปลายทางของความเจ็บปวด
Mister American
                พอ Hellraiser ภาคใหม่จะลงฉายใน Hulu กันในวันที่ 7 ตุลาคมนี้ (ซึ่งไทยจะได้ดูกันใน Disney Plus) นับว่าเป็นการกลับมาอีกครั้งของพินเฮดและเหล่าซีโนไบร์ต หนึ่งในไอค่อนของโลกสยองขวัญที่โด่งดังไม่แพ้ เฟรดดี้ ครูเกอร์ แห่ง Nightmare of elm street , เ
Mister American
พึ่งจบกันไปหมาด ๆ สำหรับอนิเมชั่นเรื่องดังประจำซีซั่นนี้อย่าง Lycoris  Recoli จากค่าย A-1 Picture ที่นอกจากจะเป็นม้ามืดประจำซีซั่นนี้ที่ได้รับความนิยมแบบถล่มทลายจนแซงหน้าบรรดาอนิเมชั่นฟอร์มยักษ์เรื่องอื่น ๆ ไปแบบไม่มีกังขา โดผลโหวตจากสำนักอนิเมชั่นต่าง ๆ โหวตให้เรื่องนี้อยู่
Mister American
“ทำไมถึงไม่มีหนังสัตว์ประหลาดไทยดี ๆ ออกมาสักทีวะ ?”
Mister American
คงไม่ต้องบอกว่า ณ ช่วงเวลานี้ หลาย ๆ คนคงให้ความสนใจกับการชุมนุมของบรรดาหนุ่มสาววัยรุ่นที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มเยาวชนปลดแอก หรือ กลุ่มนักเรียน นักศึกษาคนรุ่นใหม่ที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ขับไล่เผด็จการ และ เปลี่ยนแปลงประเทศใหม่ กันอย่างแน่นอน โดยเฉพาะปรากฏการณ์ของการชุมนุมที่เกิ