สวัสดีปีใหม่ครับ
และแล้วปี 2013 ก็ผ่านไปอย่างรวดเร็วครับ จะว่าไปช่วงเวลา 1 ปีผ่านมานี้มีอะไรหลายอย่างเกิดขึ้นมากมาย ทั้งสุขและทุกข์เรียกได้ว่า เป็นปีที่แสนวุ่นวายอีกปี และเมื่อผ่านไปหลายคนก็ต่างเฝ้ารอว่า ปีหน้าฟ้าใหม่นี้จะมีอะไรดี ๆ เกิดขึ้นกับตนหรือไม่ ซึ่งก็ต้องบอกว่า เป็นปีที่ทุกคนหวังว่าจะมีเรื่องดี ๆ เกิดขึ้นกับตัวเองไม่มากก็น้อย ในนามของคนเขียนคอลัมน์นี้ต้องขออวยพรทุกท่านที่เข้ามาอ่านบทความนี้ให้ประสบพบเจอกับความสุขความสำราญ เงินทองไหลมาเทมา โชคดีวิ่งเข้าหาตลอดทั้งปี สุขภาพแข็งแรงกันถ้วนหน้านะครับ
และฝากคอลัมน์ พะโล้ทุกเรื่องกับมิสเตอร์อเมริกันเอาไว้ในอ้อมใจด้วยอีกปีนะครับ
จะว่าไปในฐานะขึ้นปีใหม่แล้ว ผมเลยจัดคอลัมน์พิเศษ หนังปีใหม่ ขึ้นมาครับ ตอนแรกก็จะเขียนคนเดียว แต่ทำไปทำมาคิดว่า เฮ้ย ! ไหน ก็มีคอลัมน์พิเศษแบบนี้แล้ว ผมจะเขียนคนเดียวก็กระไรอยู่จึงเชิญเหล่าพรรคพวกพี่ ๆ น้อง ๆ นักเขียนรีวิวหนังจากแฟนเพจ หรือ เว็บไซต์ต่าง ๆ มาร่วมเขียนด้วยครับ ถือว่า เป็นคอลัมน์พิเศษเริ่มต้นปีใหม่นี้กันครับ มาดูกันนะครับว่า เหล่านักเขียนจะเลือกหนังเรื่องไหนดูในวันปีใหม่นี้ครับ
Groundhog Day
มีหนังสนุกที่น่าดูในวันปีใหม่ครับมาแนะนำครับ เป็นหนังเก่าที่หลายคนอาจเคยดูแล้ว แต่ผมรู้สึกว่านี่คือหนึ่งในหนังที่นอกเหนือกฎเกณฑ์ทั่วไป คือยิ่งดูยิ่งได้มุมคิด และที่สำคัญคือดูแล้วมีความสุข... นั่นคือเรื่อง Groundhog Day ครับ
Groundhog Day หรือชื่อไทย (ที่ตั้งได้เหมาะมาก) ว่า วันรักจงกลม เป็นเรื่องของ ฟิล (แสดงได้เทพสุดขีดโดย Bill Murray) นักพยากรณ์จอมจองหอง หลงตัวเอง และหงุดหงิดรำคาญกับอะไรรอบตัวได้ง่ายสุดๆ โดยเขาต้องไปทำข่าววันกราวน์ฮ็อกที่เมืองพังค์ซูทอว์นี่ย์ รัฐเพนซิลเวเนีย เมื่อไปถึงพี่แกก็ทำข่าวแบบให้มันเสร็จๆ จะได้ออกจากเมืองบ้านนอกนี่ซะที พร้อมทั้งแสดงกิริยาดูถูกใครต่อใครตลอดทั้งวัน แต่เมื่อยามเย็นมาถึงเขาและทีมงานกลับไม่สามารถออกจากเมืองได้ตามที่คิดเพราะติดพายุหิมะลูกใหญ่ เลยจำต้องค้างที่เมืองเล็กๆ ที่เขาเห็นว่าน่าเบื่อเหลือแสนนี่อีกหนึ่งคืน
แต่พอตื่นเช้ามา เขาพบว่านี่มันเช้าวันกราวน์ฮ็อกนี่หน่า! เขาตื่นมาวันเดิม และไม่ได้ซ้ำแค่รอบเดียวด้วย มันเกิดวนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตอนแรกเขาก็สนุกกับมันครับ เพราะจะทำบ้าทำบออะไรก็ได้โดยมันจะไม่มีผลสืบเนื่องไปถึงวันพรุ่งนี้ แต่เมื่อผ่านไปสักพัก เขาเริ่มสังเกตชีวิตแบบชัดๆ สังเกตเห็นนิสัยเสียอันน่ารังเกียจของตน ตามด้วยการตระหนักว่าความสุขที่แท้จริงนั้นเริ่มที่รู้จักพอใจในปัจจุบัน ทำดีต่อคนรอบตัว รู้จักเปลี่ยนตัวเองให้ดี เพียงเท่านี้ชีวิตที่เคยไร้สุขก็จะเปลี่ยนไป
นี่คือหนัง Feel Good ที่ดูกี่ทีก็อิ่มเอม จะดูเอาบันเทิงก็ได้ครับหรือจะดูเอาสาระหนังก็มีพร้อมเช่นกัน
Groundhog Day มาพร้อมแง่คิดง่ายๆ (ที่หลายคนชอบบอกว่า "รู้แล้ว" แต่ไม่ยักกะทำอะไร) นั่นคือการรู้จักมองตนเอง พิจารณาตัวเองให้เข้าใจว่าเราคือใคร เป็นคนยังไง ชีวิตทุกวันนี้เป็นอย่างไร มันมีอุปสรรคหรือเรื่องที่ทำให้เรารู้สึกไม่ดีหรือไม่ มันมีปัญหาชนิดใดชอบมาแวะทักบ่อยๆ หรือเปล่า เพราะส่วนมากแล้วปัญหาที่ชอบมาเกิดกับเราบ่อยๆ ก็เพราะเรานี่แหละครับชักนำทำให้มันเกิดขึ้น อาจเพราะนิสัย อาจเพราะวิธีคิด หรืออาจเพราะทำสิ่งผิดแต่ไม่ยอมแก้ไข
ฟิลถือว่าโชคดี แม้วันกราวน์ฮ็อกรอบแรกจะเป็นวันสุดเซ็ง แต่เมื่อเขาเปลี่ยนและแก้ไขตัวเองให้เป็นคนใหม่ เขาสามารถทำให้วันกราวน์ฮ็อกสุดท้ายกลายเป็นวันดีที่ทั้งเขาและคนรอบตัวไม่มีวันลืม แต่ในความจริงคือเราไม่มีโอกาสแบบนั้นครับ เวลามีแต่เดินหน้า มันผ่านไปเป็นวัน เป็นเดือน และเป็นปี ทุกสิ่งที่เราทำ (หรือไม่ทำ) เราไม่อาจย้อนไปแก้วันวานได้
แต่รู้อะไรไหมครับ... อย่างน้อยเรายังมีวันนี้ เราเริ่มทำสิ่งดีๆ ได้ เริ่มพิจารณาตนเองและเปลี่ยนแปลงได้ หรือถ้าเราอยากเริ่มทำอะไรสักอย่าง เช่น งานโบว์แดงสักชิ้น หรือสร้างความทรงจำดีๆ ร่วมกับคนที่คุณรักให้มากขึ้น คุณเริ่มได้ทันทีครับ
ผมแนะนำหนังเรื่องนี้ในวันปีใหม่ เพราะอยากให้ท่านตระหนักว่าเมื่อวันปีใหม่มาถึง แสดงว่าหนึ่งปีเต็มๆ เพิ่งผ่านไป เราทำอะไรกับมันบ้าง ใช้เวลาคุ้มหรือไม่ ผมอยากให้คุณนึกถึงตัวละครหนึ่งในหนังครับ... มันไม่มีวันพรุ่งนี้สำหรับเขา
ชีวิตดีๆ เริ่มจากสิ่งที่เรียบง่ายครับ แค่คำว่า "เข้าใจ" และ "รู้จักเปลี่ยนแปลง" จริงๆ เราทำมันได้ทุกวัน เพียงแต่วันปีใหม่มันจะมีบรรยากาศบางอย่าง มีกลิ่นอายบางประการที่กระตุ้นให้เรามากกว่าวันทั่วๆ ไปเล็กน้อย...
ไม่แน่ว่าคนโบราณอาจตั้งวันปีใหม่ขึ้น ไม่ใช่เพียงเพื่อให้มีการฉลองลัลล้า Countdown (ไม่รู้สมัยโรมันเขา Count กันหรือเปล่า) แต่มีไว้เผื่อว่าใครอยากทำอะไร อยากเปลี่ยนชีวิตใหม่ จะได้มีสักวันที่เป็นหลักไมล์ตั้งต้น... ว่าอย่างนั้นไหมครับ
หมื่นทิพ (https://www.facebook.com/10000tip)
Everyday
แปลกดีที่นาน ๆ ทีจะมีชื่อลิสต์ หนังดูปีใหม่ควรดูเรื่องอะไรดี ในใจแอบนึกถึงหนังวันคริสต์มาสต่าง ๆ นา ๆ เลยคิดว่า ขอหนังเบาๆไม่เครียด ๆ ช่วงปีใหม่คงดี แต่ไม่คิดว่า Everyday (2012) หนังของ ไมเคิล วิทเทอร์บอททอม จะติดอยู่ในหัวถึงเพียงนี้ ซึ่งโดยปกติแล้ว ไมเคิล ทำหนังเรื่องไหนมักออกมาฉาวเสมอ และดูหน้าหนังแล้ว มันไม่ใช่คริสมาส แต่มันเป็นเรื่องของการรอคอยเสียมากกว่า
ในส่วนของเนื้อหาว่าด้วย เรื่อง Everyday (2012) เรื่องเกี่ยวกับ ชีวิตประจำวันของครอบครัวหนึ่ง คาเรน ต้องดูแลลูกทั้ง 4 คน ประกอบด้วยชาย 2 หญิง 2 (สเตฟานนี่ , โรเบิร์ต , ชอร์น และคาทริน่า ตามลำดับ) ในขณะที่ สามีของเธอ เอียน ติดคุกด้วยข้อหายาเสพติด(อันที่จริงออกมาได้ แต่มีภาคทัณฑ์บนออกมาได้ แต่แค่ปีละครั้งเท่านั้น) หนังดำเนินด้วยกิจวัตรประจำวัน ของครอบครัวนี้ ไล่ตั้งแต่ ส่งโรงเรียน กินข้าว ไปเยี่ยมพ่อ พาไปชายหาดที่ทุกคนชอบเล่น เป็นกิจวัตรซ้ำๆกัน
ฟังดูเนื้อหาแล้วไม่น่ามีอะไรเชื่อมโยงกับ ‘ปีใหม่’ เลย เป็นแค่การติดตามชีวิตประจำวันของครอบครัวหนึ่งเท่านั้น อีกทั้งความฉาว ของ ไมเคิล คือเป็น ผู้มีชื่อเรื่องการใช้ประโยชน์จากนักแสดง ไม่ว่าจะ The Killer Inside Me ที่โดนต่อต้านข้อหาใช้ประโยชน์นักแสดง และ มีการใช้ความรุนแรงเกินความจำเป็นในหนัง, 9Songs ให้นักแสดงมีเพศสัมพันธ์จริงในหนัง และในกรณีของ Everyday คือการถ่ายนักแสดงมาตามเวลาจริงคือ 5ปี โดยเฉพาะนักแสดงโดยเฉพาะตัวเด็กเห็นได้อย่างชัดเจนผ่านสรีระ เช่น สเตฟานนี่ มีหน้าอก หรือ โรเบิร์ต ตัวยืดขึ้น เป็นต้น ซึ่งในจุดเบื้องต้นนี้จะแลเห็นได้ชัดว่า ไมเคิ่ลต้องการใช้รูปแบบการนำเสนอที่สมจริงผ่านถ่ายเเบบ สารคดี เพื่อบอกถึงความต้องการ หรือ การดำรงชีวิตแสนสามัญของมนุษย์ แม้มีเรื่องของฉาว (ตามที่บอกไว้ข้างต้นว่า ไมเคิ่ล เก่งกาจเรื่องการแสดงความปรารถนาของมนุษย์ได้อย่างสมจริง) อย่างใน 9 Songs ไมเคิ่ลสามารถขับความปรารถนาเพศสัมพันธ์ระหว่างตัวละครได้อย่างหนักหน่วงสอดรับกับรักและเสียรัก ได้อย่างอัดอัด เคล้าเศร้าอย่างน่าอัศจรรย์ ในเรื่อง Everyday หากมองข้ามเรื่องฉาวออกไปเกี่ยวกับเด็กไป จะพบความการเล่าเรื่อง 5ปี เป็นสิ่งเลี่ยงได้ยาก และการทำไม่ใช่เรื่องง่ายอีกทั้งประเด็นการรอมนุษย์มีความซับซ้อนมิใช่เรื่องง่ายๆที่จะทำได้เช่นกัน เเต่สิ่งที่ไมเคิ่ลเลือกใช้ได้อย่างถูกวิธีคือการ ‘ใช้ชีวิตซ้ำ ๆ ’ แบบเดิม ไม่ว่าพาลูกไปโรงเรียน กินข้าว พาเข้านอน ตัดกับภาพทิวทัศน์(Landscape)งดงาม ไปเรื่อยๆ แต่เราสามารถรับรู้ช่วงเวลาได้จากการเติบโตของเด็ก การเรียน(ลูกคนโตเปลี่ยนโรงเรียน) วันเกิด ฉลองปีใหม่ เป็นการบอกช่วงเวลาดังกล่าวได้อย่างชัดเจน และทรมานจากการรอได้ผลชะงัด
ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ การถ่ายเรื่องนี้ใช้เป็นกล้องสตาดีแคม (Stardecam) ส่ายไปมาเหมือน โฮมวิดีโอดูในบ้านไม่มีผิด เป็นการผลักคนดูเป็นคนที่3 ให้คนดูได้มีโอกาสสังเกตสถานการณ์ที่ตัวละครเป็นอยู่ ยิ่งโครงสร้างบทคือ ‘ให้นักแสดงด้นไปเอง’ เมื่อผนวกกันแล้วช่างน่าทึ่ง ราวกับ ‘ไม่ได้เเสดง’ แต่เป็น ‘ครอบครัวเอียนที่กำลังล้มสลายจากการรอที่ละนิดๆ’ หากรวมกับการเปลี่ยนทางกายภาพเด็กผ่านเวลามา5ปีด้วย ยิ่งเพิ่มความปวดร้าวให้เอียน ถึงเปลี่ยนแปลงลูกเป็นระยะๆ ให้ตัวละครได้ตระหนักถึง ‘กาลเวลาที่เปลี่ยนไป’ ช่างเจ็บและปวดร้าวยิ่งนัก
ภาพรวม ไมเคิ่ลสามารถสร้างบททดสอบการรอได้อย่างละเมียด รวมไปถึงการการสร้างสถานการณ์และแก้ปัญหาตามรายทางไม่ยืดเยื้อจนเกินไปและตรงไปตรงมา จนไปถึงจุดคลี่คลายของการรอได้อย่างประทับใจ อีกทั้งการเฝ้าติดตามเป็นบุคคลที่3 แม้ว่า รังมีแต่ความเจ็บปวด แต่หนังไม่เครียดและดราม่าอย่างหนังแนวรอจะเป็นกันเสมอ ถือได้ว่าหนังเรื่องนี้ได้ทำสำเร็จ สำหรับการตระหนักถึงคุณค่าทุกๆวันที่มีอยู่
พอถึงจุดนี้มันเกี่ยวอะไรกับปีใหม่น่ะเหรอ ขอบอกได้ว่า ชีวิตประจำวันของเรานั้น ใกล้เคียงกับหนังมาก ๆ คือการใช้ชีวิตประจำวันจากการทำซ้ำ การไปโรงเรียน การกินข้าวด้วยกัน กลับโรงเรียน ทำงานบ้าน ซักผ้า ทุกอย่างคือการทำซ้ำ ตามการไหลของกาลเวลา เราได้เห็นสิ่งต่างเปลี่ยนไป ลูกหลานโตขึ้นในแต่ละปี สถานที่เปลี่ยนไป ช่างกลายเป็นภาพสุดเหงาของชีวิต แต่ ณ จุดๆหนึ่ง มันต้องผ่านไป สิ่งที่เราทำอยู่หรือรอบางอย่างล้วนมีจุดประสงของชีวิต เหมือนหนังเรื่องนี้คือ คาเรนรอเอียนกลับมา หรือ เอียดออกมาจากคุก (แบบไม่ต้องเฝ้าระวางอีกต่อไป) Everyday จึงเป็นดั่งไฟส่องทางแห่งความหวังในแต่ละวัน ไม่ว่าจะรอหรือไม่ก็ตาม ในทุกๆวันที่เราอยู่ไม่ใช่เฉพาะปีใหม่เท่านั้น แต่เป็น ‘ทั้งชีวิตของคุณ”ก็ว่าได้’
เเล้ว
“ทุกวันของคุณ เป็นอย่างไรกันบ้างครับ ?”
ธนพัฒน์ วงษ์วิสิทธิ์
Cast Away
ถ้าจะหาหนังดูในวันปีใหม่ซักเรื่อง จะดูเรื่องอะไร ?
นี่นับว่าเป็นคำถามที่มีคำตอบที่มากมายหลายหลายและมีเหตุผลแตกต่างกันออกไป
แต่ถ้าใครยังไม่มีหนังที่เอาไว้ดูในวันส่งท้ายปีนี้ ผมก็มีหนังดีๆอยู่เรื่องนึงที่น่าหยิบเอามาดูมาแนะนำ
นั่นคือเรื่อง Cast Away (2000) (Robert Zemeckis)
บางคนอาจจะสงสัยว่าแล้วหนังเกี่ยวกับคนติดเกาะเรื่องนี้ทำไมมันถึงเหมาะสำหรับวันปีใหม่ล่ะ ? คำตอบอยู่ข้างล่างแล้วครับ
ชัค โนแลน (Tom Hanks) คือวิศวกรของบริษัทรับส่งพัสดุด่วน FedEx ซึ่งชีวิตของเขานั้นถูกควบคุมโดยเข็มนาฬิกา ทุกวินาทีของเขาต้องสร้างงานให้มากที่สุดในเวลาที่กำหนดเอาไว้ จนเขานั้นแทบไม่มีเวลาส่วนตัวให้ตัวเอง ตั้งแต่การไม่ไปหาหมอฟันจนไปถึงการแทบไม่มีเวลาให้คนรอบข้าง
มีคนเคยบอกผมมาเหมือนกันนะครับว่าการตรงต่อเวลาเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าเกิดชีวิตมายึดติดกับเวลาจนทำให้ไม่มีเวลาให้กับตัวเองหรือคนรอบข้างเลยมันก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีเท่าไรนัก เพราะมันจะทำให้คุณกลายเป็นคนบ้างานและห่างเหินกับคนรอบข้างและอาจทำให้เสียสิ่งที่คุณรักไปได้ง่ายๆ
จำคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ไหมครับที่ท่านตรัสว่า ‘ชีวิตควรดำเนินไปทางสายกลาง ไม่ควรตึงหรือหย่อนจนเกินไป’ ซึ่งชัคก็เข้าค่ายเป็นการใช้ชีวิตที่ตึงเกินไป นั่นคือจริงจังกับงานมาก ซึ่งในหนังก็มีฉากนึงที่ชัคไปส่งของไม่ทันจึงต้องแย่งจักรยานของเด็กเพื่อไปส่งของแทน
แต่ในหนังก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นเมื่อเครื่องบินที่เขานั่งไปเพื่อดูงาน เกิดอุบัติเหตุและเขาคือผู้รอดชีวิตคนเดียวของเครื่อง
การได้อยู่บนเกาะร้างเพียงคนเดียวก็ทำให้เขาได้รับรู้และเห็นคุณค่าของอะไรหลายๆอย่างมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจุดไฟที่ต้องใช้ไม้มาสีกันจนกว่าจะได้ควัน ซึ่งถ้าเกิดเลื่อนไปดูตอนท้ายเรื่องที่ชัคได้หวนคืนสู่อารยธรรมก็จะเห็นว่าชัคก็ได้หยิบไฟแช็คขึ้นมา ลองเปิดมันดู ซึ่งมันก็สามารถทำหน้าที่ได้ดีตามหน้าที่ของมัน หรือแม้แต่ในตอนท้ายที่เขาได้เห็นปูไซต์ยักษ์ตัวนึงบนโต๊ะอาหารซึ่งมันเป็นคนละไซต์ที่เขาพยายามเหลือเกินที่จะจับมันขณะอยู่บนเกาะ
หนังแสดงให้เห็นว่าปัจจุบันนี้อะไรหลายๆอย่างที่เราได้มาล้วนเป็นเรื่องง่ายจนเราแทบจะไม่เห็นคุณค่าของมันจริงๆ เอาง่ายๆครับเหมือนที่ผมเคยได้ยินในทอล์คโชว์ของท่านนึงได้กล่าวไว้ว่าสมัยนี้คนเรานั้นพบกันง่ายจนเกินไป แค่เจอหน้าใน facebook ก็รักกันได้แล้ว แต่ถ้าเป็นในสมัยก่อนอย่างน้อยๆก็ต้องเข้าไปคุยไปโทรศัพท์หากันหรืออย่างน้อยที่สุดก็อาจจะมีการใช้นกพิราบส่งจดหมายหากัน
อย่างน้อยๆการติดเกาะร้างของชัคก็ไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป เพราะหลังจากได้หวนคืนสู่อารยธรรมเขาก็ได้พบว่าเวลา 4 ปีนั้นได้พรากอะไรหลายๆอย่างไปจากเขา ตั้งแต่การที่เขาพลาดข่าวเรื่องรัฐเทนเนสซี่ซึ่งเป็นรัฐบ้านเกิดของเขาได้เป็นเจ้าของทีมอเมริกันฟุตบอลและไม่ได้ไปเชียร์ในเกมส์ชิงแชมป์ซูเปอร์โบวล์ (ถึงแม้จะแพ้แบบเฉียดชิวก็ตาม) เขาพลาดที่ไม่ได้ไปร่วมงานศพของภรรยาเพื่อนซึ่งเขาควรจะเป็นคนที่อยู่ปลอบเพื่อนในวันนั้น
แต่นั่นก็ไม่เท่าการที่เขาได้รู้ว่าเขาพลาดที่ทำให้เคลลี่ (Helen Hunt) คนที่น่าจะเป็นคู่ชีวิตของเขาหลุดมือไป จนเมื่อเขาได้พบเจอเธอเขาก็ถึงกับต้องพูดออกมาว่า “ผมควรไม่ขึ้นเครื่องบินลำนั้นเลย”
สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะเป็นใครก็ไม่อาจจะกลับไปแก้ไขอดีตให้มันเปลี่ยนไปได้ สิ่งที่เราพอจะทำได้ก็คือการที่จะเก็บมันไว้เป็นบทเรียนและเอามาใช้เป็นประสบการณ์เพื่อให้อนาคตในวันข้างหน้าเหตุการณ์แบบนี้จะได้ไม่เกิดขึ้นอีก
เคยได้ยินไหมครับ ปีใหม่ให้เปลี่ยนเป็นคนใหม่ สิ่งร้ายๆก็เอาทิ้งไว้ปีนู้นแล้วขอให้เกิดแต่สิ่งดีขึ้นมาในปีนี้แทน
ไม่ว่าปีที่ผ่านมาจะเกิดเรื่องอะไรเลวร้ายเพียงใดก็ขอให้รู้ว่ามันกำลังจะผ่านไปแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงอดีตให้เราจดจำเอาไว้ก็พอ ไม่จำเป็นต้องนำมันมาคิดให้ปวดหัว
แล้วปีใหม่ก็มาเริ่มต้นใหม่กันดีกว่า ^^
Mr.DarkKnight (https://www.facebook.com/pages/MrDarkKnight/419809401410124)
The Way, Way Back
Trent : (สตีฟ คารเรล) : ในระดับ 1-10 เราคิดว่าตัวเองอยู่ระดับเท่าไหร่
Duncan : ไม่รู้สิครับ
Trent : อะไรไม่มีความคิดเลยเหรอ เลือกสักเบอร์สิ
Duncan : ……..6 แล้วกัน
Trent : อะไรนะ ชั้นให้เธอแค่ 3 รู้ไหมทำไม ตั้งแต่ชั้นคบกับแม่เธอ เห็นเธอคลุกอยู่แต่ในห้องไม่เห็นออกไปไหนเลย สำหรับชั้นนั่นล่ะ 3
นี่คือประโยคสนทนาระหว่างพ่อเลี้ยงกับดันแคนระหว่างเดินทางไปพักผ่อนซัมเมอร์กับแม่ของดันแคน(โทนี่ คอลเลท) และลูกติดของเขา ดันแคนเป็นเด็กชายอายุ 14 ปี เขาดูเหมือนแปลกแยกออกไปตั้งแต่พ่อและแม่เลิกกัน และยิ่งไปกว่านั้นตั้งแต่แม่เริ่มคบกับเทรนด์ เราสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน ตั้งแต่การนั่งรถสเตชั่นวาก้อนไปที่พัก ตัวเทรนด์กับแม่ของเขานั่งข้างหน้า ลูกสาวของเทรนด์นั่งตรงกลาง ส่วนเขานั่งข้างหลังสุดซึ่งปกติเป็นที่วางสัมภาระต่างแถมยังหันหลังให้กับทุกคนอีกต่างหาก
ดันแคนรู้สึกไม่สนุกอะไรเลยกับการมาครั้งนี้ เขาคิดว่าดูเหมือนผู้ใหญ่จะสนุกกันเองสะมากกว่า และรู้สึกอับอายจนแทบไม่อยากอยู่เมื่อทุกคนนั่งเรือออกไปทะเล เขาว่ายน้ำไม่เป็น และพ่อเลี้ยงของเขาก็บังคับให้เขาใส่เสื้อชูชีพอยู่คนเดียวบนเรือเพื่อความปลอดภัย ทั้งๆที่ไม่มีใครใส่กัน และทุกคนอยู่ในชุดว่ายน้ำพร้อมที่จะเล่นน้ำ แต่เขาอยู่ในชุดเสื้อเชิ้ต กางเกงขายาวพร้อมเสื้อชูชีพ
จนกระทั่งเขาได้มีโอกาสพบกับโอเวน (แซม ร๊อทเวลส์) ซึ่งมีอาชีพเป็นคนดูแลทุกอย่างในสวนน้ำ โอเวนเปิดโลกกว้างให้กับดันแคนได้เรียนรู้และไว้ใจในตัวเขา ทีละเล็กทีละน้อย เขาเริ่มมั่นใจตัวเองมากขึ้น
จริงๆแล้วธีมของเรื่องก็คล้ายกับหนัง Coming Of Age โดยทั่วไป แต่ต้องยอมรับว่าหนังดูสนุกมากทีเดียว ทั้งฝีมือการแสดงของ แซม สตีฟ(ซึ่งเรื่องนี้แสดงได้เลวจริงๆ) และ เลียม เจมส์ ที่แสดงเป็นดันแคน หนังไม่ได้แค่แสดงวิวัฒนการเฉพาะเด็ก แต่ก็รวมถึงของผู้ใหญ่ด้วย และตอนจบก็เป็นอะไรที่ดูดีมากเลยทีเดียว
นี่เป็นผลงานกำกับและเขียนบทของ Natt Faxon, Jim Rash ผู้เขียนบทรางวัลออสการ์จาก The Descendent ก็เลยไม่น่าแปลกใจที่หนังออกมาโทนนี้ และเขียนออกมาในแต่ละจังหวะแม่นมาก ถือว่าเป็นหนังเรื่องหนี่งที่เหมาะสมมากสำหรับการดูในวันปีใหม่ เพื่อที่จะได้รับสิ่งดีๆความรู้สึกดีๆ
Inception
Dead Poets Society
ใกล้วันปีใหม่ทั้งทีแล้ว ถ้าถามว่า "หนังเรื่องไหน เหมาะที่จะดูวันปีใหม่" แน่นอนว่าไม่ค่อยมีหนังเรื่องไหนที่เกิดขึ้นในวันปีใหม่ (New Year's Eve หนังรักในวันปีใหม่ที่ผมเองก็ไม่เคยดูหรอกครับ แต่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ปีใหม่) แต่ลองทวนคำถามอีกทีแล้ว คำว่า "ปีใหม่" ตีความได้ประมาณว่า "ปีใหม่ทั้งที จะต้องมีอะไรใหม่เข้ามาแน่ๆ"
ถ้าในคำถามที่เกิดขึ้นนั้น เราอาจจะตีความได้ว่า "หนังเรื่องไหนที่มีอะไรทำให้เราปรับปรุงตัวในวันปีใหม่บ้าง" ที่จริงคำถามนี้ มีหนังหลายๆเรื่องที่มีอิทธิพลต่อคนดูอย่างมาก หนังรุนแรง ๆ ก็มีอิทธิพลต่อคนดูบางคนที่ไม่มีสติ เผลอคลุ้มคลั่งมาแล้ว แต่หนังที่ผมจะมาแนะนำวันนี้ ไม่ใช่หนังผี หนังแอ็คชั่น หนังรุนแรงแต่อย่างใด
แต่มันเป็น "ชั้นครู" ที่ว่าด้วยเรื่องราวของ "คุณครู" ท่านหนึ่งต่างหาก
จะว่าไปจริงๆแล้ว หนังคุณครูเอง ไม่ได้แปลกใหม่อะไรนักในโลกของภาพยนตร์มากนัก เพราะหนังแนวนี้มาตามสูตรตลอด ครูคนใหม่ รับมือเด็กแสบ สุดท้ายก็เข้าใจกัน ซึ่งหนังแนวนี้มีหลายเรื่องมาก ยกตัวอย่าง Freedom Writers หนังครูหญิงแกร่งที่ใช้หนังสือแอนน์ แฟรงค์เป็นแรงบัลดาลใจ และสร้างจากเรื่องจริงด้วย และ The Class หนังฝรั่งเศสที่ได้รับรางวัลมาแล้ว เนื้อเรื่องไม่มีอะไรมาก แค่ชีวิตประจำวันของคุณครูคนหนึ่งและนักเรียนห้องหนึ่ง โดยที่ตัวหนังสมจริงและตึงเครียดมากๆ
แต่สำหรับเรื่องนี้ เป็นหนังเก่าเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว (เก่ากว่า 2 เรื่องนั้นอีก) โดยมีดาราชื่อดังในยุคนั้นอย่าง โรบิน วิลเลียม และ ดาราโนเนมในตอนนั้นอย่าง อีธาน ฮอล์ค เล่นอยู่ เป็นหนังที่ตามสูตรดราม่าครู-ลูกศิษย์ทั่วๆไป ถ้าหากว่าครูเป็นสิ่งมีชีวิตที่น่าเบื่อและน่ารำคาญ ครูคิตติ้งคงเป็นพวกครูที่พิลึกกึกกือมากกว่าครูทั่วๆไป !!!
ครูคิตติ้งเป็นคุณครูหน้าใหม่ที่มาสอนเด็กๆในโรงเรียนประจำที่มีแต่นักเรียนชายล้วน ซึ่งครูคิตติ้งเองก็เป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนนี้ด้วย ซึ่งการมาของเขาเองนั้นก็ไม่ธรรมดาเหมือนคุณครูทั่วไป เมื่อคาบแรกของเขานั้น เด็กๆต่างโวยวายแหกปากคุยกันเสียงดังเหมือนกับโรงเรียนอื่นทั่วๆไป ซึ่งการมาของเขานั้น ค่อนข้างที่จะ "แปลกใหม่" สำหรับนักเรียนห้องนี้มาก
‘กวี คือ ชีวิต’ อาจจะเป็นจริงได้สำหรับคุณครูคิตติ้ง เพราะการสอนของเขานั้นใช้ ‘กวี’ ในการสอนด้วย แต่ก็ไม่เชิงวะ "กวี" คือคำสอนของเขา คาบแรกของเขานั้นก็ทำนักเรียนแปลกใจอย่างมาก เพราะการที่ให้นักเรียนออกจากห้อง และสอนนอกสถานที่โดยที่คุณครูคิตติ้งให้นักเรียนได้อ่าน ‘บทกวี และ ปรัชญา’ ไปทั่วๆห้อง และคุณครูคิตติ้งเองก็อ่านบทกวีท่อนหนึ่งว่า
"แด่พรหมจารีย์ที่รู้จักใช้เวลา
เก็บดอกไม้แรกแย้มบามหวานชื่น
เพราะวันคืนบินหายไม่หวนกลับ
บุฟผางามวันนี้สีวาววับ
พรุ่งนี้ดับอับเฉาโรยรา"
จอห์น คีตติ้ง: จงฉวยวันเวลาไว้ เร่งเก็บดอกไม้แรกแย้ม ทำไมเขาเขียนอย่างนั้น
นักเรียน: คงรีบร้อนทำมั้งครับ
จอห์น คีตติ้ง: ผิด ขอบคุณที่ร่วมแสดงความคิดเห็น พวกเราเป็นอาหารของหนอน เชื่อหรือไม่ว่า ทุกคนในห้องนี้สักวันต้องหยุดหายใจ ตัวเย็นซีดแล้วก็ตาย
ขอให้นักเรียนก้าวมาตรงนี้ พิจารณาหน้าบุคคลในอดีต พวกเธอเดินผ่านวันละหลายหนแต่ก็แค่มองผ่านไป พวกเขามิได้แตกต่างจากพวกเธอ ผมทรงเดียวกัน ฮอร์โมนเปี่ยมล้นเช่นกัน ยิ่งทะนงเหมือนพวกเธอที่รู้สึกเหมือนโลกอยู่ใต้แทบเท้า มั่นใจว่าอนาคตจะโชติช่วง ตาเป็นประกายของความหวังไม่แตกต่างกันจากพวกเธอ
พวกเขาคอยจนสายไปที่จะใช้ชีวิตให้สมกับความสามารถ เพราะบัดนี้สังขารพวกเขาร่วงโรยแล้ว ถ้าเงี่ยหูฟังพวกเธอจะได้ยินเสียงกระซิบเอียงหูเข้าไป ฟังดู ได้ยินไหม คาร์เป...อะไรนะ คาร์เปเดี้ยม จงฉวยวันเวลาไว้ ใช้ชีวิตให้สุดพิเศษ
คาเปเดียม มาจากภาษาละตินแปลว่า ฉวยวันเวลาไว้ งั้นฉวยวันเวลาไว้ ทำชีวิตให้พิเศษเหนือใคร.... จบหละ คาบแรกของนักเรียนวันนี้
เอาจริงๆแล้ว นี่อาจเป็นบทเรียนที่หลายๆคนได้ดูครั้งแรกก็มึนว่า "มันคืออะไรว่ะ" ซึ่งผมเองนั้นก็ไม่ค่อยเก่งกับบทกวีเลยซักนิด (เอาแค่ว่า กลอนไทย ผมยังแต่งไม่ได้เลย 555555) แต่ถ้าเราตั้งใจดูเรื่อยๆ ท่านเองจะเข้าใจความหมายของคำว่า "คาเปเดียม" อย่างถ่องแท้และบรรลุถึงบทกวีเลยก็ได้
จริงๆแล้วบทเรียนของหนังเรื่องนี้มีเยอะมากๆ แต่แนะนำว่าให้ไปหาดูกันเอาเอง เพราะถ้านำมาอ่านมากไป เดี๋ยวหาว่าสปอยล์อีก ก็แนะนำว่าลองหามาดูครับ (ถ้าใครโชคดีหน่อย ThaiPBS เคยนำมาฉายด้วยแหละ คงมีหลายคนคงดูทันนะ)
ถึงแม้ว่าบทเรียนของครูคนนี้จะสปอยล์จนไม่นำมาลงในบทความนี้ แต่ข้อคิดที่ได้จากหนังเรื่องนี้ก็ "เยอะอื้อ" ไม่แพ้กับบทเรียนของครูคนนี้เลยหละ ข้อคิดต่างๆหลังจากที่ผมได้ดูหนังเรื่องนี้มา ค่อนข้างที่ "เห้ย จริงว่ะ" กับ "แอบน้ำตาปริมนิดๆ” เพราะ มีฉากหนึ่งที่ครูคิตติ้งสั่งให้นักเรียน "ลองยืนบนโต๊ะ” เอาจริงๆนะ นี่คือไม่ใช่บทเรียนเลยแม้แต่นิด แต่นี่คือข้อคิดๆนิดๆสำหรับ "คนที่อยู่ใต้อำนาจมาตลอด" ว่า "เราเองก็มีอิสระไม่แพ้คนมีอำนาจเหมือนกันนะ" เหมือนกับเป็นการเสียดสีอำนาจนิดๆ
นอกจากนี้ ยังมีฉากหนึ่ง ที่มีนักเรียนคนหนึ่งไม่กล้าแสดงออก ขี้อาย และไม่มั่นใจตนเอง โดนคุณครูคิตติ้งให้ออกมาพูดอะไรก็ได้หน้าห้องเรียน แน่นอนว่านักเรียนคนนี้ ก็เขินอายนิดๆก่อนที่จะลุกขึ้นมาและยืนเป็นต้นไม้ (เริ่มเหมือนชีวิตจริงของใครหลายๆคนแล้วหละเนี่ย 5555555) ครูหลายๆคนเห็นอย่างนี้มีดุมีด่ามีว่ามีตีแน่นอน แต่สำหรับครูคิตติ้งนั้น เขากลับยิ้มและกระชากตัวนักเรียนคนนั้นและสั่งสอนให้เขาพูดอะไรก็ได้มาบ้าง คิตติ้วก็เริ่มกดดันไปเรื่อยๆจนเขาเองพูดเหมือนแร็ปใส่เป็นไฟ นั้นเองเหมือนเป็นข้อคิดสำหรับพวกขี้แพ้ที่ต้องปรับปรุงตัวซะบ้าง !!
และสุดท้าย นี่เป็นข้อคิดที่หลายๆคนจ้องน้ำตาปริมๆ และพูดอย่างใจจริงว่า "แมร่งโครตทรู สตอรี่วะ" เนื่องจากฉากนี้ เป็นฉากที่สะเทือนใจหลายๆคน และสำหรับคนที่ยังไม่เคยดูขอให้ข้ามเส้น + ไปเลยนะครับ เพราะเนื้อหาด้านล่างต่อไปนี้ สปอยล์ขั้นรุนแรงมากๆ
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ยังจำฉากการตายของนักเรียนคนหนึ่งไปไหม จริงๆแล้วการตายของเขานั้น ค่อนข้างน่าสงสารอย่างมาก เพียงเพราะการที่เขาจะทำตามความฝัน แต่ก็โดนอุปสรรคขัดขวางซึ่งอุปสรรคที่ว่านั้นคือ "พ่อแม่" นั้นเอง เพราะพ่อแม่ไม่เห็นด้วยที่ลูกของเขาจะประกอบอาชีพเป็นนักแสดง แถมยังให้ลูกของเขานั้นไปเป็นทหารอีกต่างหาก ซึ่งที่มาของการตายของเด็กคนนี้ ทำให้เกิดประเด็นขัดแย้งต่างๆนาๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงลูก ซึ่งหนังเองก็ไม่ได้ดูถูกว่า "พ่อแม่" เป็นตัวร้าย แต่ "การหวังดีแบบผิด ๆ " นี่ทำให้เกิดเรื่องน่าสลดได้หลาย ๆ อย่าง ทำให้นึกถึงข่าวที่ลูกเศรษฐีผูกคอตาย เครียดเพราะการหวังดีของพ่อแม่แท้ ๆ (ประเด็นในข่าวนี้ น่าสนใจมาก ๆ เพราะพ่อแม่หวังให้ลูกเรียนหนังสือไป และดูแลธุรกิจครอบครัวไป ทั้ง ๆ ที่อายุเขาแค่ 16 เอง !! และที่น่าสนใจกว่า สื่อไทยใช้คำว่า "ติดเกมจนตาย" มาใช้ในข่าวนี้ ทั้ง ๆ ที่เขาได้เล่นเกมน้อยมาก ๆ )
นอกจากนี้หลังจากการตายสุดสะเทือนขวัญแล้ว คุณครูในโรงเรียนเองก็เช่นกัน ที่ดูแล้วรู้สึกว่า "เรามองครูในสายตาของคนร้ายที่แท้จริง" เพราะ หลังจากการตายนี้ พรรคพวกของคนที่ตายไปก็ดันมีส่วนผิดแบบไม่รู้เรื่องเลย เพราะ ครูใหญ่ของเรื่องไม่ชอบพฤติกรรมของครูคิตติ้งมาตั้งแต่การสอนของเขาแล้ว ซึ่งครูใหญ่ก็ทำการให้พรรคพวกของเด็กคนนี้ให้เซ็นใบที่จะทำให้ครูคิตติ้งลาออกจากโรงเรียนนี้ ซึ่งมันเหมือนเป็นกดดันให้นักเรียนโยนความผิดให้ครูคิตติ้ง ซึ่งการกระทำครั้งนี้ ไม่น่าเป็นคนที่เรียกว่า "ครูใหญ่" ได้เลยนะ การกระทำแบบนี้ไม่น่าเป็นคนที่เคารพมาตลอด ซึ่งไม่รู้ว่าสังคมแบบนี้ มันยังมีไหมในประเทศไทย แต่เราก็ไม่รู้หรอกว่า มันยังมีแอบอยู่แน่นอน
จากเรื่องราวสุดสะเทือนขวัญนั้น มันทำให้รู้สึกว่าการศึกษาทุก ๆ ประเทศ มีการแข่งขันกันมากมายทุก ๆ ประเทศ และประเทศไทยนับว่าการศึกษาห่วยที่สุดในอาเซียนเลยก็ได้ ส่วนหนึ่งมันมาจากการศึกษาที่เคร่งครัด เข้มข้น และหนักหน่วงจนนักเรียนทุก ๆ คนรู้สึกเซ็งได้ ทำให้การเรียนของไทยนั้นแย่ลงไปเรื่อย ๆ จนบางครั้งเองการสอบมันก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลย ถ้าเรียนแล้วเซ็งแบบนี้ (เว้นแต่ว่าจะลอกข้อสอบก็ว่าไปอย่าง 55555)
หนังเรื่องนี้ เสมือนกับเป็นคู่มือของคุณครูคนใหม่ที่อยากทำให้เด็ก ๆ ชื่นชอบ และคู่มือสำหรับนักเรียนเองก็ด้วย ไม่ได้หมายความครูและนักเรียนทุกคนที่ดูเรื่องนี้แล้วจะใช้กวีเป็นบทเรียนนะครับ ถ้าใช้จริง มีหวังมึนแน่นอน แต่หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่เหมาะกับคุณครูและนักเรียน เพราะ ตัวหนังมีทั้งคำสอนใหม่ๆนอกบทเรียนหนังสือแล้ว ยังมีข้อคิดอะไรใหม่ ๆ ที่เราเองไม่ได้พบเจอที่ไหนในโรงเรียนแน่ ๆ
ซึ่งนั่นคงเป็นไปได้ยากถ้าหากประเทศไทยมีคุณครูอย่าง "ครูคิตติ้ง" อยู่ในโลกแห่งนี้ ซึ่งเราก็ต้องทำใจว่า "ในโลกนี้อาจมีครูคิตติ้งในประเทศไทยแน่ๆ เพียงแต่ว่าคนอย่างเขานั้นท่าจะน้อยมากๆ"
ถ้าคุณเป็นคนที่อยากหาประสบการณ์ใหม่ ๆ อยากหาความรู้ใหม่ แม้กระทั่งเรื่องใกล้ตัวอย่าง การเรียนนั้น ผมแนะนำเรื่องนี้ไปเลยครับ เนื้อหาจะไม่แปลกใหม่ แต่ด้วยที่เนื้อหาไม่แปลกใหม่นี่แหละ ทำให้ตัวหนังมีอิสระที่จะทำ จะยัดบทเรียน สร้างมิติตัวละคร ใส่ฉากปลุกใจ ความสะเทือนใจ และการเสียดสี มีครบหมดในหนังชั้นครูเรื่องนี้
และเราจะรู้ว่า "ความแปลกใหม่ ไม่จำเป็นต้องเป็นหนังเนื้อหาใหม่"
นพธีรา เดอะ โปรเซียนเพ้นท์ (https://www.facebook.com/ReviewMovieMaiPhen)
2 Guns
ช่วงหลัง ๆ ผู้กำกับฮอลลีวู้ดเหมือนหมดวิสัยทัศน์ ใหม่ ๆ เลยต้องไปหาผู้กำกับจากฝั่งยุโรปบ้างเอเชียบ้างให้มาโชว์ฝีมือกันเป็นว่าเล่น ใครทำบุญมาดีก็จะเจ็บตัวน้อยหน่อยหนังอาจไม่ค่อยทำเงิน แต่คำวิจารณ์ดี ก็ยังพอเชิดหน้าหลบตาได้ หรือถ้าชาติที่แล้วบุญไม่ได้สร้างมา ก็เตรียมตัวรับชะตากรรม บางคนแค่มาทำหนังที่ฮอลลีวู้ดเรื่องเดียวก็ขุดหลุมฝังตัวเองไปเป็นที่เรียบร้อย ดูตัวอย่างได้ที่ Niels Arden Oplev ผู้กำกับThe Girl with the Dragon Tattoo เวอร์ชั่นสวีเดน แต่มาตกม้าตายกับ Dead Man Down
แต่ถ้าให้พูดว่า 2 Guns อยู่ในระดับไหน เปรียบเป็นทีมฟุตบอลก็คงเป็นพวกกลางตาราง ชนะแบบหืดขึ้นคอ แต่ถ้าแพ้ก็แพ้แบบเสียประตูไม่เยอะ ความดีความชอบก็ต้องยกให้ผู้กำกับที่ไม่ได้ทำตัวเป็นพวกท่าเยอะหรือลีลามาก เพราะแกเล่นจับจุดเด่นของหนังแอ็คชั่นคู่หูออกมาได้กำลังดี มีทั้งส่วนประสมของแอ็คชั่น ตลก ไม่ได้ทำให้คนดูง่วงหงวา หาวนอนแต่ประการใด
เรื่องราวก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไรมากมาย หนังว่าด้วยเรื่องของตัวเองทั้งสองคนเข้าไปพัวพันกับแก๊งค้ายารายใหญ่ และดันไปปล้นเงินของเจ้าพ่อค้ายาเข้า เลยกลายเป็นแบบฝนตกขี้หมูไหล ทำให้เกิดการพบปะของเหล่าร้าย ตำรวจ ซีไอเอ ยันกองทัพ ตามสไตล์ฮอลลีวู้ด แต่จะหาความน่าเชื่อถือหรือพวกเหตุผลต่างๆนาๆก็ขอให้มองข้ามหนังเรื่องนี้ไป ไม่นับว่าทำไมโจรยิงพระเอกไม่เคยโดน 2 Guns ก็เต็มไปด้วยความบันเทิงเต็มเปี่ยม ไม่ได้ทำตัวชั้นสูง เดินเรื่องรวดเร็วทันใจ ฟังเสียงลูกปืนทุกๆ5นาที (อันนี้หมายถึงคนชอบหนังแอ็คชั่นนะ ใครไม่ชอบเป็นทุนเดิมก็อาจยิ่งสงสัยหนักว่า ทำไมพระเอกบุกเข้ากองทัพเรือง่ายยิ่งกว่าปล้นร้านทองซะอีก) และที่ทำให้หนังเรื่องนี้ดูดีขึ้นมาอีกหน่อยก็คือ นักแสดงหลักทั้งสองคน อย่าง Washington และ Wahlberg ที่มีเคมีของการเป็นคู่หูกำลังดี ต่างคนต่างมีบุคลิกที่น่าสนใจ เวลาที่หนังไม่ได้ยิงกันหรือขับรถชนกันฉิบหายวายวอด ทั้งสองก็ยังทำให้หนังไม่น่าเบื่อแต่อย่างใด
ใครที่ชอบหนังแอ็คชั่นคู่หูหรือไม่คู่หูก็ได้ ก็ถือว่าเป็นตัวเลือกน่าสนใจที่จะหากันมาดูเล่น ฆ่าเวลาอะไรก็ว่ากันไป อย่างน้อยๆมันก็ทำหน้าที่ของการเป็นหนังบันเทิงอย่างไม่อายใคร
เอกภพ ไป๋อารีย์
The Village Album
หากจะหยิบหนังสักเรื่องหนึ่งขึ้นมาดูในวันปีใหม่จะเลือกเรื่องไหนมาดูดี ? ด้วยเหตุนี้ผมจึงเริ่มสำรวจตัวเองว่าในบรรดาหนังมากมายมีเรื่องไหนบ้างที่จะผลักดันให้ตัวเราก้าวเข้าสู่ปีใหม่อย่างเข้มแข็งและมีกำลังใจในการใช้ชีวิตบ้าง แต่ในขณะที่กำลังสำรวจตัวเองอยู่นั้นก็พบว่าความทรงจำเราขาดหายไปเยอะมาก เอาแค่ช่วงระยะเวลา 1 ปีที่พึ่งผ่านพ้นไปตัวเราก็แทบจะจำอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันเป็นเรื่องเป็นราวชัดเจนไม่ค่อยจะได้เลย มันเลยทำให้เรานึกกลัวว่าถ้าหากวันใดวันหนึ่งเราไม่มีความทรงจำให้ระลึกถึง ไม่มีภาพให้จดจำ ทุกสิ่งคงเหมือนไม่เคยดำรงอยู่ แม้แต่ตัวเราเอง มันเลยทำให้เรานึกถึงหนังญี่ปุ่นเรื่องหนึ่งขึ้นมา ซึ่งถ้าจะว่ากล่าวกันตามตรงหนังเรื่องนี้ก็ไม่ใช่หนังที่โดดเด่นออกมาเป็นพิเศษ แต่บางสิ่งบางอย่างที่หนังฝากไว้ในความทรงจำมันยังคงชัดเจนอยู่ เพราะว่าหนังได้ให้ความหมายเกี่ยวกับการดำรงอยู่ในความทรงจำได้ดีทีเดียว และหนังเรื่องนั้นก็คือ "The Village Album" (Mitsuhiro Mihara , 2004)
ในลำดับต่อไปที่ผมจะกล่าวถึงหนังเรื่องนี้ไม่ใช่การหยิบหนังเรื่องนี้ขึ้นมาดูใหม่และกลั่นกรองออกมาเป็นตัวหนังสือ แต่ผมจะเขียนมันออกมาจาความรู้สึกบางอย่างที่หนังเรื่องนี้ทิ้งไว้ในความทรงจำ มันดูจะมีคุณค่าต่อสิ่งที่หนังเรื่องนี้ปรารถนามากกว่า
"การเดินไปทำให้ผมเห็นสิ่งต่าง ๆ"
สำหรับตัวผมแล้วมีอยู่สิ่งหนึ่งที่ "หนังญี่ปุ่น" (โดยเฉพาะแนวดราม่าครอบครัว) มักจะสร้างให้แก่ตัวผมก็คือความรู้สึก "ลุ่มลึก" บนความเรียบง่าย เรื่องราวของหนังมักจะไม่ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างหวือหวา ไม่มีมีลูกเล่นมากมาย แต่หนังกลับสร้าง "ความรู้สึก" อะไรบางอย่างให้แก่เราได้เสมอ ในกรณีของ The Village Album ก็เช่นกัน
ตัวเรื่องของหนังเล่าเรื่องราวของพ่อลูกชายที่ไม่ลงรอยกันแต่แล้ววันหนึ่งลูกชายก็ได้ถูกจ้างวานให้มาเป็นผู้ช่วยของพ่อในการถ่ายรูปของทุกคนในหมู่บ้านและรอยร้าวในครอบครัวก็ค่อย ๆ กลับมาเชื่อมกันดังเดิม ซึ่งเอาเข้าจริงเรื่องก็ดูจะเป็นเรื่องราวที่ดูเชยมาก แต่สุดท้ายตัวหนังก็ค่อย ๆ สร้างคุณค่าบางอย่างขึ้นมาทีละเล็กทีละน้อยผ่านการเดินทางไปถ่ายรูปของคนในหมู่บ้านทีละคน ๆ
ในการเดินทางไปถ่ายรูปคนในหมู่บ้านแต่ละครั้งตัวละครพ่อจะปฏิเสธการเดินทางที่สะดวกสบายและรวดเร็วด้วยรถยนต์ แต่จะเลือกเดินทางด้วยการเดินเท้าแทน ค่อยๆ เดินผ่านสถานที่ต่างๆ ในหมู่บ้านเพื่อไปยังที่หมาย ด้วยเหตุนี้ผมจึงมีความรู้สึกว่าการที่หนังเลือกที่จะเล่าเรื่องไม่รีบเร่งหวือหวาเพื่อสร้างอารมณ์ร่วม แต่เลือกการเล่าที่เนิบช้ามันเลยทำให้ให้คนดูอย่างเรามีเวลาที่จะค่อยๆ ซึมซับบางสิ่งบางอย่างระหว่างทางที่ตัวละครเดินไปเป็นการเลือกเส้นทางที่ถูกต้อง เพราะด้วยความที่ช้ากว่า ก็ทำให้คนดูเห็นอะไรได้นานกว่าและเก็บรายละเอียดได้เยอะกว่า
และทุกครั้งที่ตัวละครและหนังพาเราเดินไปจนถึงจุดหมายปลายทางและตั้งกล้องเตรียมทำการถ่ายรูป ความรู้สึกที่ผมยังจำได้แม่นคือผมจะอินกับมันไปในทันทีอย่างหาสาเหตุไม่ได้ เหมือนมีพลังงานบางอย่างดึงเราเข้าไปสู่ความอบอุ่น สู่สิ่ง ๆ หนึ่งที่กำลังแปรเปลี่ยนรอยยิ้มบนใบหน้าสู่ภาพความทรงจำ
อย่างที่ได้กล่าวไปในตอนต้น ในฐานะของภาพยนตร์แล้วหนังเรื่องนี้อาจจะไม่ได้ดีและโดดเด่นในทุกๆ องค์ประกอบ แต่สิ่งหนึ่งที่หนังเรื่องนี้มีคือหนังได้สร้าง "คุณค่า" และ "ความหมาย" ที่เต็มไปด้วยความรู้สึกให้กับ "ภาพถ่าย" ที่จะกลายเป็นความทรงจำของเราก่อนที่สิ่งต่างๆ จะแปรเปลี่ยนไปจนไม่เหมือนกับในรูป
"และที่สำคัญคือการบ่งบอกว่ามันเคยดำรงอยู่"
อานันท์ รอดประเสริฐ
บุญชู 2 น้องใหม่
ถ้าจะให้เลือกหนังสักเรื่องมาชมในวันปีใหม่แบบนี้ นับว่าเป็นโจทย์ที่ยากพอสมควร เพราะเอาจริงแล้วมีหนังหลายเรื่องที่ผมอยากจะชมในช่วงปีใหม่ที่ว่านี้เสียเหลือเกิน แต่ถ้าจะให้เลือกหนังสักเรื่องขึ้นมา มันคงเป็นหนังที่อย่างน้อยก็ทำให้รู้สึกว่า ชีวิตนี้ยังมีอะไรดี ๆ รออยู่ อย่างน้อยก็ทำให้หลงลืมไปว่า ปีที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นบ้างไปได้
เพราะงั้นก็ตัดหนังสยองออกไปได้เลยครับ
นั่นเองที่ทำให้ผมเลือกหนังเรื่องหนึ่งขึ้นมาว่า ในวันปีใหม่ ผมคิดว่าจะดูเรื่องนี้
ครับ เรื่องนั้นก็คือ บุญชู 2 น้องใหม่ ครับ
หลายคนคงเลิกคิ้วขึ้นด้วยความสงสัยว่า เหตุใดผมจึงเลือกหนังไทยเก่าเก็บเรื่องนี้ขึ้นมามาดูในช่วงเวลาแบบนี้ เอาจริงผมต้องบอกว่า บุญชู 2 น่าจะเป็นหนังไทยที่จริงใจและน่าจะเป็นหนึ่งในหนังไทยที่ดีที่สุดเท่าที่มีการสร้างมากันจนจบปัจจุบัน และต้องบอกว่าเป็นหนังภาคต่อที่ดีกว่าภาคแรกและเป็นที่จดจำของใครต่อหลายคน
ถ้าพูดกันแบบไม่เกินเลย ตัวละคร บุญชู บ้านโข้ง ที่แสดงโดย สันติสุข พรหมสิริ นั้นเป็นหนึ่งในตัวละครที่เป็นที่รักยิ่งสำหรับแฟน ๆ หนังชาวไทยหลายคนไม่ต่างกับตัวละครฟอร์เรสต์ กัมป์ของ ทอม แฮงค์ เลยก็ว่าได้ ต้องพูดว่า บุญชูคือ ภาพจำของสันติสุข เช่นเดียวฟอร์เรสต์ คือ ภาพจำของทอม แฮงค์ เช่นเดียวกัน
จริง ๆ แล้วเรื่องราวของบุญชูนั้นต้องเรียกว่า เป็นเรื่องราวที่เล่าเรื่องของคนตัวเล็ก ๆ ต่างจังหวัดคนหนึ่งที่เดินทางเข้ามาในเมืองหลวงเพื่อสอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยในกรุง บุญชูเดินทางมาจากสุพรรณบุรีเพื่อติวหนังสือไปสอบให้ได้ แต่นั้นเองที่ทำให้เขาได้พบกับเพื่อนร่วมเป็นร่วมตายที่สุดท้ายก็กลายเป็นเพื่อนสนิทที่อยู่ทุกข์สุขกับเขาหลายคน รวมทั้งได้หลงรัก หญิงสาวสุดสวยนาม โมลี ด้วย และภาคแรกก็จบลงที่บุญชูไม่สามารถสอบเข้ามหาลัยได้แล้วเดินทางกลับบ้านเกิดไป
ก่อนที่เรื่องราวภาคสองจะเกิดขึ้น
หลังจากที่พ้องเพื่อนของบุญชูต่างสอบติดมหาวิทยาลัยกันถ้วนหน้านั้น บุญชูก็กลับมาที่กรุงเทพอีกครั้งเพื่อเตรียมตัวสอบใหม่อีกหน ทว่าเรื่องยุ่ง ๆ ก็เข้ามาป่วนชีวิตของบุญชูและพ้องเพื่อนอีกครั้ง เช่นเดียวกับเรื่องรักของบุญชูและโมลีที่เริ่มกระชับความสัมพันธ์กันมากขึ้น
ครับ ต้องบอกว่า บุญชู เป็นหนังที่บอกเล่าถึงความเป็นไปในสังคมไทยในช่วงยุคปีพ.ศ. 2530 ได้อย่างน่าสนใจ ตัวคาแรคเตอร์ของบุญชูนั้นต้องบอกว่า เขาเป็นตัวละครที่เป็นภาพลักษณ์จดจำของคนต่างจังหวัดที่มีภาพลักษณ์ซื่อ จริงใจ ไม่เอาเปรียบใคร ยิ้มแย้มแจ่มใส และช่วยเหลือผู้คนอย่างสุดความสามารถ ภาพลักษณ์ของบุญชูจึงเป็นขั้วตรงข้ามกับสังคมเมืองหรือคนเมืองที่บุญชูได้พบเจอ เราจะเห็นว่า คนเมือง ในหนังเรื่องนี้ดูช่าง โหดร้าย เห็นแก่ตัวไม่น่าคบหา มองเห็นแต่ประโยชน์ของตัวเองเป็นสำคัญ ที่สำคัญยังขี้โกง ขี้โกหก ขี้ขโมยอีกต่างหาก
แน่นอนว่า ภาพความเป็นขั้วตรงข้ามนี้ทำให้คนดูเห็นอกเห็นใจบุญชูมากขึ้น และแน่นอนว่า บุญชูไม่ได้เผชิญหน้ากับความโหดร้ายนี้เพียงลำพัง แต่การมากรุงเทพนี้ทำให้เขาได้พบกับเพื่อน ๆ ของเขาที่ล้วนแล้วแต่ช่วยเหลือและหนุนเสริมให้เขาประสบความสำเร็จทั้งด้านการเรียน ชีวิต รวมกระทั่งถึงความรักด้วย
ปฏิเสธไม่ได้ว่า บุญชู เป็นหนังที่ให้ความสัมพันธ์กับมิตรภาพระหว่างเพื่อนเป็นสำคัญ เราไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่า การที่เรื่องราวต่าง ๆ คลี่คลายไปได้ด้วยดีนั้นเกิดขึ้นเพราะ การร่วมแรงร่วมใจสามัคคีกันของเพื่อน ๆ ในกลุ่มบุญชูนั้นเอง
แต่นั้นยังไม่ร่วมที่บุญชูนั้นเป็นคนดีที่ทำความดีโดยไม่ได้หวังผลตอบแทนอันใด เราจึงเห็นฉากที่เขาซื้อข้าวกล่องกับน้ำโอเลี้ยงไปให้กับบุญมา เพื่อนอีกคนของเขาที่ถูกจับเพราะขโมยเงินไปเพียงลำพังโดยที่ไม่มีใครรู้นอกจากคนดูและโมลีที่กำลังจะทำแบบเดียวกันและเห็นบุญชูทำแบบนั้น นั่นต้องบอกว่า บุญชูเป็นคนที่ทำอะไรไม่เคยหวังผลตอบแทนเลย แม้ว่ามันจะทำให้คนอื่นมองเขาผิด ๆ ก็ตาม แต่เขาก็ไม่เคยสนใจเพราะ เขาเชื่อว่า เขากำลังทำเรื่องที่ดีอยู่แม้ว่าจะต้องแลกกับการถูกมองผิด ๆ เขาก็ไม่สนใจ
นั่นแหละครับที่ทำให้เราหลงรักตัวละครตัวนี้อย่างยิ่งยวด และผูกผัน ที่สำคัญตัวไม่เพียงแค่บุญชูและโมลีเท่านั้น ตัวละครเพื่อน ๆ ของ บุญชูอย่าง หยอย ประพันธ์ นรา ไวยากรณ์ เฉื่อย คำมูล นั้นก็เป็นที่รักของคนดูไม่ต่างกัน แถมการแสดงของนักแสดงเรื่องนี้ก็เข้าขั้นเรียกว่า เข้าขาจนรู้สึกเป็นตัวละครตัวนั้นจริง รู้สึกว่าพวกเขาเป็นเพื่อนกันจริง ๆ มันไม่มีแง่ของการแสดงเลย มันดูเหมือนความจริงมากกว่าที่เราเห็นซะอีก
และนั่นเองที่เรารู้สึกว่า ถ้ามีเพื่อนดี ๆ อย่างกลุ่มบุญชูบ้างก็คงดีเหมือนกัน
แน่นอนว่า เพราะหนังต้องการสอนให้เรารู้ว่า การทำความดีต้องได้ดี ถึงแม้ว่าความดีจะตอบแทนมาช้าเพียงใดก็ตาม ตอนจบของบุญชูจึงมักจบลงด้วยสิ่งตอบแทนที่บุญชูและพ้องเพื่อนได้รับ
สำหรับภาคสองนั้นเรียกได้คือ จุดที่เรียกว่าน่าซาบซึ้งกับการตอบแทนความดีของชายหนุ่มแสนซื่อคนนี้เหลือเกิน ฉากนี้เป็นฉากบุญชูที่กลับมาจากกรุงเทพเพราะ คิดว่าตัวเองสอบไม่ติดมหาวิทยาลัย และคิดว่า ตัวเองคงไม่เหมาะกับเมืองที่แสนวุ่นวายเฉกเช่นเมืองกรุง กลับพบว่า ตัวเองสอบติดสำรองของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะเกษตร และได้ข่าวดีซ้ำว่า ตัวจริงที่สอบติดได้สละสิทธิไปส่งผลให้บุญชูสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้สำเร็จ
ภาพที่เพื่อน ๆ ทุกคนเอาข่าวมาบอกกับบุญชูและแสดงความยินดีกับบุญชูอย่างถ้วนหน้า ฉากเป็นฉากที่คนดูทุกคนต่างได้รับสารและเข้าใจสิ่งที่คนทำหนังต้องการจะสื่อบอกเราได้ชัดแจ้งว่า
จงอย่าสิ้นหวังในการทำดี
ถ้า It’s a Wonderful Life คือภาพยนตร์ที่คนอเมริกันรักที่สุดเรื่องหนึ่งแล้วก็ บุญชู 2 น้องใหม่ก็คือ ภาพยนตร์ที่คนรักที่สุดเรื่องหนึ่งเช่นกัน
ภาพของบุญชูที่ถูกเพื่อน ๆ โยนขึ้นกลางอากาศยังอยู่ในความทรงจำ
และบอกว่า ความดียังไม่ตาย
เมื่อเราตั้งใจทำดี มันย่อมตอบสนองกับเราในสักวันหนึ่งอย่างแน่นอน
มิสเตอร์ อเมริกัน
และแล้วก็มาถึงช่วงเวลาสุดท้ายครับ ต้องขอขอบคุณเหล่านักเขียนทุกคนที่มาร่วมกันเขียนบทความนี้กันมาก ๆ นะครับ และช่วยให้เราได้เห็นมุมมองที่แตกต่างจากหนังปีใหม่ที่ทุกเลือกมาได้ชัดแจ้งครับ และหวังว่า ปี 2014 นี้ อะไรอะไรมันจะดีกว่าเดิมครับ
สวัสดีปีใหม่ 2014 ครับ
…..