Skip to main content

            ย้อนเวลากลับไปเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานั้น เราคงได้เห็นนโยบายคืนความสุขให้กับประชาชนของ คสช อย่างการเปิดโรงภาพยนตร์เมเจอร์ให้ชมภาพยนตร์เรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชภาคที่ 5 กันไปบ้างแล้ว  แน่ล่ะว่า หลายคนคงจดจำภาพของบรรดาผู้คนที่พากันยื้อแย่งกระชากมีเรื่องกันเพื่อจะแย่งชิงจะชมภาพยนตร์เรื่องนี้กันอย่างบ้าคลั่ง ท่ามกลางสายตาของคนหลายคนที่มองต่างออกไป อย่างเช่น หน่วยงานรัฐที่มองว่า การจัดให้ชมภาพยนตร์นี้ทำให้คนไทยรักกันมากขึ้นและมีความรักชาติมากขึ้นและจะส่งเสริมให้มีภาพยนตร์แนวนี้ขึ้นมาอีกเรื่อย ๆ ในขณะที่หลายคนมองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนภาพการชอบของฟรีของบรรดาคนไทยทั้งหลายได้อย่างน่าสะพรึง เพราะแน่ล่ะว่า หลายคนก็ทราบดีว่า ตำนานสมเด็จพระนเรศวรภาคนี้คือภาคสุดท้ายที่ทำเงินได้ไม่ดีนักแถมยังถูกถล่มอย่างหนักจากนักวิจารณ์และคนดูถึงคุณภาพของมันเสียอีก แถมพฤติกรรมของบรรดาคนที่ไปดูหนังฟรีก็ถูกถ่ายทอดออกมาบนหน้าข่าว หน้าโซเชียลเน็ตเวิร์คอย่างตกใจว่า แค่ตั๋วหนังฟรี ยังมีทำได้ขนาดนี้ และถ้ามากกว่านี้มันขนาดไหนกัน แน่ล่ะว่า ภาพสะท้อนของบรรดาผู้คนนั้นทำให้เราได้แต่งุนงันว่า นี่มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่

                ทำไมคนรักชาติถึงต้องไปดูหนังอย่าง นเรศวร ทำไมการรักชาติคือการอยู่นิ่ง ๆ ไม่ตั้งคำถามหรือวิจารณ์กันล่ะ แน่ล่ะว่า คำถามเหล่านี้อยู่ในใจของใครหลายคนที่มองดูเหตุการณ์รอบตัวที่เกิดขึ้นด้วยความสงสัยอย่างที่สุด ราวกับเป็นเรื่องที่ลักลั่นย้อนแย้งที่แสนตลกร้ายยิ่ง

                แน่ล่ะว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศนี้นั้นก็เกิดขึ้นกับเด็กชายสี่คนที่พบว่า ชีวิตตัวเองกำลังมาถึงทางสามแพร่งที่อาจจะทำให้ชีวิตตัวเองหาไม่ หรืออย่างที่บอกว่า มันจะทำให้ชีวิตของเขาแย่ลงไปอีกก็เป็นได้

                เด็กชายสี่คนนั้นก็คือ ยอง เจ เอ็ม และ เบสท์ จากหนังยอดเยี่ยมรางวัลสุพรรณหงส์ทองคำครั้งล่าสุดอย่าง ตั้งวง (2013) (คงเดช จาตุรันต์รัศมี) ที่มีสื่อบางสื่อไปเขียนว่า หนังเรื่องนี้ไม่ควรได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเพียงเพราะ ไม่มีคนรู้จักหรือรอบฉายหนังน้อยเกินไปเสียด้วยซ้ำ

                แน่ล่ะว่า การกล่าวเช่นนี้เป็นการดูถูกตัวหนังอย่างรุนแรง กระนั้นก็เป็นความลักลั่นในการตั้งคำถามต่อมาตรฐานของบรรดาคนวงนอกทั้งหลายที่มองว่า หนังที่ดี หนังที่ควรได้ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ควรเป็นหนังที่คนรู้จักเยอะ ๆ หรือทำรายได้เยอะ ๆ หรืออย่างไร ซึ่งแค่นี้ก็สามารถบ่งบอกได้ถึงมาตรฐานคนทำสื่อนั้น ๆ ได้อย่างดีแล้วว่า วิธีคิดของพวกเขานั้นลักลั่นย้อนแย้งแค่ไหน

                เอาจริงแล้ว ตั้งวง เป็นหนังที่มีเรื่องราวแสนเรียบง่ายและไม่ได้ดึงดูดความสนใจแก่ใครสักเท่าไหร่นัก เพราะมันเล่าเรื่องของเพื่อนสี่คนที่ต้องมาปฏิบัติภารกิจในการรำแก้บนกับศาลหลวงปู่ด้วยความเชื่อและจุดประสงค์ที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นสองหนุ่ม ยอง กับ เจ ที่มาบนเพื่อให้ตัวเองชนะการแข่งขันการตอบวิทยาศาสตร์ เอ็ม หนุ่มเต้นโคฟเวอร์แดนซ์เกาหลีที่ไปบนบานให้แฟนของตัวเองรักเขาตลอดไป เบสท์ หนุ่มฐานะไม่ดีนักก็ถูกแฟนสาวของตัวเองไปบนบานให้ตัวเองติดการคัดตัวนักกีฬาเพื่อได้ทุนในการเรียนต่อ และแน่นอนว่า เมื่อไปบนปรากฏว่า พวกเขากลับสมหวังในสิ่งที่ได้ซะงั้น จนทำให้ทั้งหมดต้องรวมตัวไปจ้างพี่ที่รำแก้บนที่หน้าศาลของพ่อปู่ แต่ทว่ากว่าที่พวกเขาจะรวมตัวกันได้นั้นต้องผ่านเรื่องราวมากมาย พวกเขาจะสามารถรำแก้บนกันได้หรือไม่  

            แน่นอนว่า ถ้าเราอาจจะเรื่องย่อนี้ เราคงจะคิดว่า หนังเรื่องนี้เป็นเพียงหนังวัยรุ่นเกรียนที่ถูกสร้างขึ้นมาจนเกร่อในช่วงเวลานี้ แน่ล่ะว่า มันคงเป็นหนังที่หาสาระอะไรไม่ได้หากเป็นแบบนั้น แต่กับ ตั้งวง แล้ว ไม่ใช่ หนังไม่ใช่หนังวัยรุ่นเกรียน ๆ ที่ไม่มีสาระอะไรพวกนั้น เพราะ เอาจริงแล้วนี่คือ หนังที่พาเราไปสำรวจความลักลั่นย้อนแยงของสังคมไทยในทุกอณู ตั้งแต่ สังคม วัฒนธรรมไปจนถึงกระทั่งการเมืองเองก็ตามชนิดที่เราได้แต่ขำไม่ออกเลยด้วยซ้ำ โดยอาศัยฉากหน้าอย่างการแก้บนที่ใครจะคิดว่า แค่เรื่องนี้เรื่องเดียวจะสามารถวิพากษ์ระบบต่าง ๆ ของเราได้ถึงขนาดนี้

                การบนบานศาลกล่าว คืออะไร ?

                ถ้าพูดถึงการบนบาน แน่นอนว่า คนไทยหลายคนย่อมรู้จักกันดี เพราะ มันคือ การขอสิ่งที่เราต้องการจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ตั้งแต่ภูตผีไปจนถึงพระพุทธรูป โดยมีการบอกกล่าวสิ่งตอบแทนเอาไว้ก่อน และเมื่อทำสำเร็จ คนที่บนก็นำสิ่งของเหล่านั้นมาถวายเป็นการตอบแทน นั่นคือการบนบานครับ แน่ล่ะว่า ถ้าถามว่า การบนบานนั้นมาจากไหน คำตอบคือ มันไม่ใช่วัฒนธรรมของชาวพุทธเป็นแน่แท้ (เพราะพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนเรื่องนี้) แต่มีการคาดการณ์ว่า น่าจะมาจากความเชื่อของชาวฮินดูนั่นเอง แต่หลายคนก็บอกว่า มันน่าจะมาจากศาสนาผีที่เป็นศาสนาที่ตั้งรกรากอยู่ก่อนสองศาสนานี้มากกว่า กระนั้นเองก็ต้องบอกว่า การบนนั้น ไม่ใช่วัฒนธรรมที่มีรากเหง้ามาจากความเป็นไทยเลยด้วยซ้ำ

                แน่ล่ะว่า การบนบานนั้นหากมองกันดีแล้วมันก็ไม่ต่างกับการให้อามิสสินจ้าง หรือ พูดง่าย ๆ คือ การติดสินบนนั่นเอง หรือ แปลไทยง่าย ๆ ก็คือ การโกงนั่นแหละ

                ตรงนี้ทำให้ผมรู้สึกว่า คนไทยนี่ตลกเหมือนกันนะครับที่สอนให้ลูกหลานต้านการโกง (อย่างการสร้างโครงการโตไปไม่โกง) แต่ ตัวเองกลับไปบนบานให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วย ซึ่งมันก็คือ การโกงอย่างหนึ่งนั่นแหละ

                แถมการช่วยเหลือของสิ่งศักดิ์สิทธิ์พวกนี้ก็ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่เหนือการคาดเดาเหมือนกัน เพราะ ใครจะคิดว่า พวกเขาจะทำได้ตั้งแต่ ช่วยให้ยอง กับ เจ ชนะการแข่งขันวิทยาศาสตร์ได้ หรือ ช่วยให้ติดทีมปิงปองโรงเรียนได้ หรือกระทั่ง การให้แฟนกลับมารักตัวเองตลอดไป แน่ล่ะว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นอะไรที่ฝรั่งคงบอกว่า  Impossible มาก ๆ เพราะใครจะคิดว่า การบนบานนั้นจะทำได้ทุกเรื่องเช่นนี้จนไม่แปลกใจว่า บรรดาสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายจึงคลาคล่ำไปด้วยบรรดาผู้คนที่เดินทางมาและบนบานให้ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ

                และเมื่อได้แล้วก็ต้องมีการแก้บนนั่นเอง

                ซึ่งการแก้บนนี่ล่ะที่เป็นสิ่งที่ทำให้เรามองเห็นภาพสะท้อนอันน่าสนใจของสังคมไทยเรานี้ไม่ต่างกับเขาวงกต ไม่สิ ต้องบอกว่า สังคมไทยของเรานั้นเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความลักลั่นอย่างสุดกู่จนไม่น่าเชื่อว่า นี่คือตัวตนของสิ่งที่สังคมไทยเป็นมาตลอดเสียด้วยซ้ำ

                แน่ล่ะว่า หนังพาเรากระโจนไปพบกับชีวิตของบรรดาเด็ก ๆ ทั้งสี่คนที่มีล้วนแล้วแต่มีความแตกต่างกันทั้งรูปร่างใบหน้า สีผิว และ ฐานะที่ต่างมีความคิด มีเรื่องราวของตัวเอง แต่ต้องมาถูกผูกกันด้วยการแก้บนนั่นเอง

                แน่ล่ะว่า ตัวละครที่เราควรจะพูดถึงคนแรกก็คือ ยอง เด็กหนุ่มใส่แว่นร่างผอมที่เป็นเพื่อนของเจ เด็กร่างอ้วนที่ชอบอ่านการ์ตูน ยอง นั้นเป็นเด็กชายชาวไทยเชื้อสายจีนที่มีพื้นฐานชีวิตปานกลางที่มีพ่อแม่เป็นข้าราชการ และมีพี่ชายที่ถูกส่งไปเรียนถึงเมืองนอกเป็นแรงกดดันที่ทำให้ทั้งพ่อแม่และครูที่โรงเรียนพยายามใช้เปรียบเทียบมาตลอดจนเขารู้สึกเหนื่อยหน่ายใจกับชีวิตตัวเองอย่างยิ่งยวดจนแทบทอดถอนหายใจ ชีวิตของยองนั้นแทบมองหาความสุขในชีวิตไม่ได้เลยด้วยซ้ำ และต้องพยายามสนองความคาดหวังนั้นด้วยการเอาชนะตอบแข่งขันวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนให้ได้ (ซึ่งพี่ชายของเขาเคยทำได้) แน่ล่ะว่า ยองนั้นทั้งอ่านหนังสือและทำอะไรหลายอย่าง แต่ก็รู้สึกไม่มั่นใจอยู่ดี เขาและเจจึงไปบนบานศาลกล่าวกับศาลพ่อปู่แถวบ้านเพื่อให้ตัวเองแข่งขันชนะ แน่ล่ะว่า ตัวของยองนั้นเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งกับเรื่องนี้ แต่ก็ต้องทำเพราะ เจ พาไป กระทั่งในที่สุดยองกับเจก็สามารถพาทีมโรงเรียนชนะการแข่งขันได้ซะงั้น ท่ามกลางความงุนงงของยองว่า เขาทำได้ยังไงกัน ซึ่งหลังจากนั้นยองที่มานั่งคิดถึงการแก้บนว่า เขาควรจะทำยังไงดี เขาจึงไปปรึกษาที่บ้านถึงเรื่องนี้ว่า เชื่อเรื่องการบนบานไหม คำตอบของพ่อแม่กลับเป็นท่าทีมองว่า มันไร้สาระเสียกระนั้น แต่เมื่อเขาบอกว่า เขาไปบนบานศาลพ่อปู่มานั้น ท่าทีของพ่อแม่กลับเป็นอีกเรื่องทันที แม่ของเขาถึงกับต่อว่าเลยว่า ทำไมทำเรื่องอันตรายแบบนี้ (อ้าว) และพอยองเล่าเรื่องความฝันให้ฟัง ท่าทีของพ่อแม่ของเขาที่บอกว่า การบนบานเป็นเรื่องเหลวไหลกลับกลายเป็นไล่ให้เขาไปแก้บนซะงั้น (อ้าว) เรียกได้ว่า เป็นสิ่งที่ยองไม่อยากจะเชื่อเลยว่า จะเห็นพ่อแม่ของเขาแสดงความลักลั่นออกมาได้ขนาดนี้

                แน่ล่ะว่า คำว่า ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ นั้น อาจจะเป็นภาพสะท้อนของคนไทยส่วนมากที่บอกไม่เชื่อ เรื่องเหลวไหล แต่กลับกลัวเกรงแม้กระทั่งสิ่งที่มองไม่เห็นแบบนี้

                ไม่เชื่อ เหลวไหล ไร้สาระ คำพวกนี้ไร้ความหมายไปทันทีเมื่อยองเอ่ยถึงสิ่งที่ทำ มันได้กลายเป็นคำว่า ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ไปโดยบัดดล

                และไม่เชื่ออย่าลบหลู่นี่ล่ะคือ คำที่ถูกสร้างขึ้นในความเป็นลักลั่นย้อนแยงอย่างที่สุด

                มันคือ คำที่สะท้อนถึงสภาพของเรื่องในหนังได้อย่างดีที่สุดจนหาคำอธิบายอื่นไม่ได้อีกแล้ว

                แน่ล่ะว่า ยอง คิดว่า การที่เขาชนะแข่งขันวิทยาศาสตร์ได้นั้นเป็นเพราะ การอ่านหนังสืออย่างหนักของเขาเอง (แน่ล่ะว่า มันได้ย้อนถามว่า ถ้าเขาไม่ได้อ่านหนังสือมาเลย แล้วไปบนกับพ่อปู่เขาจะชนะได้หรือไม่ ?) ตรงนี้เองทำให้ยองตั้งใจไม่ไปแก้บน ทว่า ด้วยคำพูดของบรรดาคนรอบข้างที่พูดใส่หูของเขานั้นทำให้เขาเกิดความหวั่นไหวจนเกิดความกลัวและตัดสินใจจะไปแก้บนเพียงลำพังคนเดียวด้วยการรำในกลางดึก ทว่าตัวเขากลับถูกใครบางคนถ่ายคลิปไว้และปล่อยมันในเน็ตจนทำให้เขากลายเป็นตัวตลกทางอินเตอร์เน็ตที่ทำให้ทั้งเพื่อน ๆ รอบข้างหัวเราะ แถมยังถูกอาจารย์ต่อว่าจนถอดออกจากเป็นตัวแทนแข่งขันอีกด้วย นั่นเองที่ทำให้ชีวิตของยองย่ำแย่ไปในที่สุด

                และเขาก็เดินถอยห่างจากเพื่อน ๆ และมุ่งหน้าสู่เส้นทางของตัวเองแทน

                แน่ล่ะว่า เจ เพื่อนซี้ของเขานั้นคือ ขั้วตรงข้ามเขาอย่างสิ้นเชิง เขาเป็นเด็กชายในครอบครัวคนมีเงินที่มีแม่ตามใจแทบทุกอย่าง เขาชอบอ่านการ์ตูนและเพ้อฝันถึงสิ่งที่การ์ตูนให้มาตลอด และท่าทางหงิม ๆ นั้นทำให้เรารู้สึกดีกับเขาไม่ใช่น้อย ต่างจากยองที่ออกมาในสภาพของเด็กเรียนเนริ์ดแก่แดดที่ดูเห็นแก่ตัว เจ นี่เองที่เป็นคนชักนำยองไปบนบานศาลพ่อปู่ และรวบรวมทุกคนมารวมกันทำภารกิจนี้ด้วยกันเพราะ เชื่อว่า ถ้าทุกคนร่วมมือกันแล้ว ไม่ว่าอะไรก็ทำได้

                แม้กระทั่งการตั้งวงรำเองก็ตาม

                ครับ แน่ล่ะว่า ตัวละครอย่าง เจ นั้นดูจะเป็นตัวละครที่ออกแบบมาให้ดูน่ารักและดูไม่มีพิษภัยใด ๆ เลย เขาไม่ได้มีความทะเยอทะยานใด ๆ ไม่ได้มีฐานะยากจน ไม่ได้มีใครกดดันในชีวิต ทำให้ชีวิตของเขานั้นวนเวียนอยู่กับการเล่นเกมออนไลน์ อ่านการ์ตูนอย่างสุขสบายเท่านั้น แน่ล่ะว่า นั่นเองที่ทำให้ตัวของเจนั้นเติบโตขึ้นมาในฐานะเด็กหนุ่มแสนซื่อที่มองว่า โลกนี้ไม่ต่างกับเกมที่ผ่านได้ง่าย ๆ เขาไม่เคยคิดว่า การกระทำของเขาจะทำให้ชีวิตของคนอื่นย่ำแย่ ตั้งแต่การบอกแม่ตัวเองว่า ยองจะไปแก้บนคนเดียว (ทำให้ยองถูกถ่ายคลิปลงเน็ต) หรือการที่เขาแอบชอบพี่ที่มาฝึกรำให้และสารภาพรักไป แต่เมื่อรู้ว่า เธอเคยเป็นผู้ชายมาก่อนนั้นเอง เขากลับแสดงท่าทีรังเกียจออกมาอย่างชัดแจ้ง จนถึงกระทั่งเหยียบย้ำศักดิ์ศรีของมนุษย์ในทันที

                และที่แย่กว่านั้นก็ เขาไม่เคยคิดอะไรที่ต่างไปจากที่ถูกแม่สอนมาเลย (อย่างน้อยในหนังเราก็ไม่เคยเห็นเขาแสดงการตัดสินใจหรือการคิดต่างขึ้นมาเองเลย)  แน่ล่ะว่า ตัวของเจนั้นมีสภาพเหมือนไร้เดียงสาในสังคมอย่างยิ่งยวด (เพราะชีวิตถูกแม่กำหนดและไม่เคยคิดอะไรเอง) แต่ที่หนักกว่าคือ การที่เขาคือ ตัวละครที่แสดงความมืดมิดอันเลวร้ายออกมาอย่างที่สุด เมื่อเขาพูดจาเหยียดพี่ที่มาฝึกการรำให้เขาอย่างไร้น้ำใจ ทั้งการเหยียบย้ำเรื่องเพศหรือกระทั่งเรื่องเงิน (ทั้งที่ก่อนหน้านี้เอ็งพึ่งบอกรักเขานะ)และน่าตกใจว่า เด็กหนุ่มคนนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปกลายเป็นเด็กชายที่สังคมใหญ่ของเขาอย่าง แม่ (ที่ยืนคุมเชิงอยู่ห่าง ๆ ด้วยสายตาราวกับเจ้าชีวิตที่คุมชะตาของเด็กหนุ่มคนนี้เอาไว้) ต้องการให้เป็น

                อีกหนึ่งตัวละครที่คงไม่พูดถึงไม่ได้นั้นก็คงเป็น เอ็ม ชายหนุ่มลูกคนบ้านนอกที่เป็นกัปตันทีมเต้นโคลเวอร์เพลงเกาหลีและได้แชมป์มาเมื่อหลายปีก่อนและพยายามจะเข้าแข่งขันอีกพร้อมกับบริหารความรักของแฟนสาวตัวเองไปด้วย ทว่า แฟนสาวของเขากลับทิ้งไปเสียซะงั้น ก่อนจะกลับมาอีก ทำให้เขาต้องไปแก้บนพ่อปู่เรื่องนี้ กระนั้นเองการมาของเธอนั้นดันมาพร้อมกับการท้องนั่นเอง

                แน่ล่ะว่า เอ็ม เป็นภาพสะท้อนถึงความลักลั่นอีกอย่างที่น่าสนใจ เราได้เห็นว่า เขานั้นไม่ใช่คนกรุงเทพ แต่เป็นเด็กบ้านนอกที่เรียนพาณิชย์ที่มีฐานะไม่ค่อยดีนัก พ่อแม่ของเขาทำนา และมีพี่น้องทำงานในเมืองในขณะที่เขานั้นต้องทำงานเป็นพนักงานขายของในซุปเปอร์ไปด้วยเรียนไปด้วย แต่ที่เขาพยายามมากสุดก็คือ การมีความรักกับแฟนสาวและชนะการแข่งเต้นให้ได้ ทว่าสิ่งที่เขานั้นกลับเป็นสิ่งไร้สาระในสายตาของคนรอบข้าง (โดยเฉพาะครอบครัว) ด้วยเหตุผลว่า ชนะไปได้อะไร มันไม่ได้เงิน ภาพถ้วยรางวัลเมื่อหลายปีก่อนที่ตั้งไว้ก็เป็นอะไรที่บอกได้ถึงความไร้คุณค่าของมันแท้ ๆ

                สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เมื่อแฟนสาวของเอ็มจากไป ตัวเขาก็แทบเป็นบ้าไปเสียด้วยซ้ำ แต่พอเธอกลับมาพร้อมกับบอกว่า ท้องเขากลับแสดงท่าทีรังเกียจอย่างรุนแรง เพราะรู้ดีว่าตัวเองไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ ได้ แม้กระทั่งการถูกแนะนำให้รู้จักกับพ่อแม่ของฝ่ายสาว (ที่เป็นตำรวจ) เขาก็แทบจะเผ่นป่าราบด้วยซ้ำไป

                แต่ที่น่าตลกก็คือ เมื่อเขารู้ว่า แฟนของเขานั้นไม่ได้ท้อง ท่าทีรังเกียจของเขานั้นกลับเปลี่ยนไปราวกับหน้ามือเป็นหลังมือ จนเราคิดว่า เขารักเธอจริง ๆ หรือเพียงแค่คบเธอเอาไว้เพื่อมีเซ็กซ์เท่านั้น

                เช่นเดียวแฟนสาวของเขาที่ถูกถามย้อนกลับมาว่า ถ้าไม่ท้อง เธอจะรักเขาอย่างที่เป็นไหมล่ะ

                เอาจริง ตัวของเอ็มนั้นสะท้อนถึงมายาคติเรื่องความรักของวัยรุ่นออกมาได้อย่างน่าสนใจว่า ความรักที่พวกเขาทุ่มเทและหลงใหลนั้นคือ ความรักจริง ๆ หรือมันเป็นเพียงความอยากกระหายเซ็กซ์เท่านั้นเองหรือเปล่า

                แน่ว่า การตีความสิ่งที่เรียกว่า ความรักนั้นเป็นอะไรที่แสดงถึงความลักลั่นแล้ว มันยังแสดงถึงการให้การศึกษาเรื่องเพศได้ไม่ทั่วถึงเสียด้วย เพราะอย่างที่บอกว่า มนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาให้ กิน ขี้ นอน และ มีเซ็กซ์ อันเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว แต่คำถามที่ย้อนมาก็คือ สังคมไทยทำไมถึงให้เรื่องเพศนั้นเป็นเรื่องต่ำ เรื่องไม่ควรพูด เรื่องน่าอายทั้ง ๆ ที่ถ้ามีการให้การศึกษาดี ๆ หรือการสร้างจิตสำนึกด้านเพศสัมพันธ์มากกว่านี้อัตราการท้องวัยเรียนน่าจะลดลงเสียด้วยซ้ำ

                หากตัวละครทั้งสี่สะท้อนถึงความลักลั่นของสังคมไทยที่แตกต่างกันแล้ว ตัวละครอย่าง เบสท์ คือตัวละครที่สะท้อนถึงความลักลั่นด้านความเชื่อและการเมืองได้อย่างตื่นตะลึงยิ่งกว่าใครเสียอีก

                เบสท์ เป็นเด็กชายที่อาศัยอยู่กับพ่อและน้องชายแค่สามคนในอพาร์ทเม้นท์เล็ก ๆ แห่งหนึ่งที่ทุกวันนั้นเขาจะมีแฟนสาวจอมยุ่งเข้ามาช่วยเหลือและดูแลชีวิตราวกับแม่ตลอด เบสท์ เป็นเด็กหนุ่มที่ไม่เชื่ออะไรเลยตั้งแต่ความเชื่อเรื่องการบนบานไปจนถึงกระทั้งการเมืองที่เขาไม่เชื่ออุดมการณ์การเมืองไหน ๆ เลย ต่างกับพ่อของเขาที่เป็นคนเสื้อแดงและไปร่วมชุมนุมในการชุมนุมครั้งในปี 2553 จนแทบไม่อยู่บ้าน แน่ล่ะว่า ตัวของเบสท์ไม่พอใจในตัวพ่อมาก ๆ ที่เอาแต่ไปชุมนุมแต่ไม่ดูแลครอบครัวจนทำให้เบสท์ต้องทำทุกอย่างในบ้านทั้งหมด และที่สำคัญด้วยฐานะที่ไม่ดีนัก ทำให้เขาต้องพยายามที่จะติดทีมของโรงเรียนเพื่อเป้าหมายคือ ทุนการศึกษาของตัวเองในอนาคตด้วย แต่เมื่อเจออุปสรรคอย่างเด็กเส้นของโรงเรียนเข้า เขาก็ได้แต่ถอนใจด้วยความสิ้นหวังเพราะอาจจะไม่ติดทีมก็ได้ ทำให้แฟนสาวของเขาแอบไปบนบานศาลพ่อปู่ให้เขาได้ติดทีม ซึ่งปรากฏว่า เขาได้ติดทีมจริง  ๆ กระนั้นเบสท์ก็ไม่เชื่อว่า เขาได้เพราะ พ่อปู่อะไรนั้น แต่เป็นเพราะความสามารถของเขานั่นเอง ส่งผลให้เขาทะเลาะกับแฟนอย่างหนักจนต้องไปฝึกรำกับเพื่อน ๆ คนอื่น ท่ามกลางความคาใจ และถูกเหยียดหยามโดยคนรอบข้างตลอดมา เขาจึงตัดสินใจเผาศาลพ่อปู่ทิ้งเสียให้จบ ๆ เรื่อง นำไปสู่ฉากที่น่าตื่นตะลึงที่สุดในภาพยนตร์ไทย

                นั่นคือ ฉากการสลายการชุมนุมเสื้อแดงในปี 2553 น่ะเอง

                เรื่องราวมันเกิดขึ้นเมื่อ เบสท์ ออกไปตามหาพ่อในคืนที่มีการเริ่มสลายชุมนุมที่ราชประสงค์ ท่ามกลางความมืด ควันไฟ และเสียงปืนที่ดังแทบจะตลอดเวลา  โดยไม่รู้ว่าใครเป็นใคร หนังไม่ได้บอกว่า ใครเป็นคนยิง ไม่ได้บอกว่า ใครตาย (พูดก็คือ มองด้วยสายตาที่เป็นกลางอย่างที่สุด) แต่บอกว่า มันเป็นคืนที่มืดมนและน่ากลัวที่สุดที่เด็กชายคนนี้ได้เจอ เขาถูกยิงแต่โชคดีที่ถูกไม้ปิงปองเท่านั้นเลยรอดมาได้ โดยที่ต้องกลัวไปตลอดชีวิต

                แน่ล่ะว่า เมื่อเบสท์รอดมาได้ ความคลางแคลงใจของเขาที่มีต่อพ่อปู่ก็หายไป เขาเชื่อว่า พ่อปู่ช่วยเขาเอาไว้จากความตาย เขาจึงเดินไปที่ศาลพ่อปู่ที่ไฟเผาไปแล้วพลางก้มกราบอย่างสำนึกผิดและยอมรับตัวพ่อปู่อย่างบริสุทธิ์ใจ

                อย่างที่บอกไปทั้งสี่คนนั้นมีเรื่องราวของตัวเองที่ล้วนแล้วแต่เป็นภาพสะท้อนของผู้คนในสังคมไทยแห่งนี้ออกมาได้อย่างน่าตื่นตะลึงยิ่ง เพราะ สิ่งที่ทั้งสี่คนสื่อออกมานั้นคือ การบอกว่า สังคมไทยนั้นเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความลักลั่นย้อนแยงทั้งด้านวัฒนธรรม การศึกษา เรื่องเพศไปจนถึงกระทั่ง การเมืองที่มองหาคำตอบไม่ได้ว่า อะไรคือ สาเหตุ ไม่สิ อะไรคือ ต้นตอของความลักลั่นนี้กันแน่ เพราะหนังได้ตั้งคำถามว่า ปัญหาต่าง ๆ ในเรื่องนั้นเกิดขึ้นและไม่สามารถหาคำตอบได้ ไม่ต่างกับคำถามที่ว่า อะไรคือความเป็นไทยกันแน่

                แน่นอนว่า หนังได้ทิ้งทุ่นเอาไว้ว่า ความเป็นไทยคืออะไรกันแน่ เพราะอย่างที่เห็นไม่ว่าจะเป็น การร่ายรำ การแต่งกาย เทพ พระพุทธรูป ศาสนา การศึกษา วิทยาศาสตร์ และอื่น ๆ ในเรื่องนั้นล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ของไทยแท้โดยกำเนิดแทบจะทั้งสิ้น  แม้กระทั่งนักแสดงในเรื่องก็ต่างไม่ได้มีเค้าหน้าของคนไทยเลยสักคน (เพราะล้วนแล้วแต่ผสมปนเปกันไปหมดสิ้น) ดังนั้น หากมีคนบอกว่า อะไรคือ ความเป็นไทยแล้วล่ะก็ เมื่อเราลองสำรวจหรือหาต้นตอของมันเราจะพบว่า มันล้วนไม่ใช่ของไทยเลยสักอย่าง

                ดังนั้นความเป็นไทยที่ผมสามารถอธิบายได้ดีที่สุดก็คือ ความวุ่นวาย ลักลั่น และ ไม่อาจจะเข้าใจหาสาเหตุที่แท้จริงได้ เหมือนเช่นวัฒนธรรมของเราที่รวบรวมทุกอย่างเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งวัฒนธรรมของฮินดู วัฒนธรรมของพุทธ วัฒนธรรมของตะวันตก รวมกันจนกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า นี่คือ วัฒนธรรมไทยไปเสียงั้นจนเราได้แต่หัวเราะออกมาอย่างบ้าบอเมื่อรู้ว่า ความเป็นไทยที่แท้จริงไม่ได้มีแต่ต้น แต่เกิดจากการสร้าง การหลอมรวมและการสร้างความเชื่ออย่างเป็นระบบที่สอดรับซึ่งกันและกันที่ทำให้ความเป็นไทยมีสภาพเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์แตะต้องไม่ได้ แต่ก็ย้อนแย้งไปตามบริบทยุคสมัยได้อย่างพิศวง

                เมื่อนิยามความเป็นไทยด้วยความลักลั่นแล้ว คงไม่แปลกที่ความลักลั่นนั่นจะสามารถอธิบายความวุ่นวายทางการเมืองของประเทศไทยและการศึกษาไปพร้อม ๆ กันด้วย เพราะ นอกจากหนังจะใส่ฉากการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 มาด้วยสายตาเป็นกลางอย่างยิ่งแล้ว มันยังสะท้อนให้ภาพความลักลั่นของผู้คนในเมืองออกมาได้อย่างน่าตะลึง เพราะ ฉากต่อคือ ภาพของคนกรุงที่พากันไปทำ Big Cleaning Day กวาดถนนด้วยใบหน้าอันแจ่มใสทั้งที่ก่อนหน้านั้นถนนสายนี้มีคนถูกยิงตายไปถึง 99 ศพเสียด้วยซ้ำไป และจากนั้นหนังก็ฉายเห็นภาพของถนนที่เต็มไปด้วยรถยนต์และผู้คนตามเดิมราวกับสิ่งที่เกิดขึ้นวันนั้นได้ถูกลบเลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คนชนิดว่า หลายคนคงจะถามว่า มันเคยมีอะไรเกิดขึ้นที่นี่ด้วยงั้นเหรอ ?

                ก็ไม่แปลกหากฉากสลายการชุมนุมจะเป็นอะไรที่น่าตื่นตะลึงแล้ว ฉาก Big Cleaning day อย่างสดใสก่อนจะตัดไปยังภาพชีวิตปกติที่ผ่านไปรวดเร็วนั้น จะเป็นหนึ่งในฉากที่ตลกร้ายที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ไทยด้วยซ้ำ ราวกับต้องการจะบอกว่า

                สังคมเราไม่เคยเรียนรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นเลย เราแค่ออกมาแล้วทำให้เรื่องมันจบเสมือนกวาดฝุ่นลงใต้พรม ปิดความจริงไว้ในนั้นโดยไม่ได้ใช้เหตุการณ์นั้นเรียนรู้ร่วมกันเลย

                ก็ไม่แปลกที่ปัญหาต่าง ๆ ของประเทศจะมีสภาพเป็นเหมือนยางที่ยุ่งอีรุงตุงนังที่แก้ยังไงก็ไม่หายไปเสียที เพราะเราไม่เคยศึกษาและหาทางแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ แต่เราชอบที่จะแก้แบบชุ่ย ๆ ผ่านไป ๆ แบบไทย ๆ ที่สุดท้ายก็มีเรื่องราวย่ำแย่เกิดขึ้นตลอดไม่จบสิ้น

                นั่นเพราะ เราไม่เคยเรียนรู้อะไรเลย

                ต้องบอกว่า สังคมไทยไม่เคยตั้งคำถาม ไม่เคยคิดเป็นระบบใด ๆ ประดุจดั่งคำกล่าวเย้ยหยันที่ว่า สังคมไทยนั้นไม่ใช่สังคมที่อุดมไปด้วยปัญญา แต่เป็นสังคมที่อุดมไปด้วยความเชื่อต่างหากเล่า ?

                เหมือนเช่นที่ตอนจบของหนังเรื่องนี้ที่ตบหน้าคนดูที่ชมหนังเรื่องนี้อย่างเจ็บแสบชนิดที่เราได้แต่อึ้งกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะ คนที่เรามองว่า โคตรเห็นแก่ตัวอย่าง ยอง กับเป็นคนที่มองโลกได้กว้างที่คนอื่นในกลุ่มคิด เขามองว่า การแก้บนไม่ได้ทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นเลย แม้แต่น้อย เพราะสุดท้าย มันก็เพียงแค่เหตุการณ์หนึ่งในชีวิตที่ผ่านเข้ามาและผ่านไป ไม่มีใครได้อะไรกลับมาทั้งนั้น

                เพราะ ไม่ว่าเจ เบสท์ หรือกระทั่งเอ็ม พวกเขาก็กลับไปสู่วังวนชีวิตเดิม ๆ ที่ไม่ได้เปลี่ยนไป (แฟนของเบสท์ไม่ได้กลับมา พ่อของเขายังไปชุมนุมต่อ แฟนของเอ็มก็ไม่ได้กลับมา เขายังมุ่งมั่นกับการเต้นโคฟเวอร์เหมือนเดิม เช่นเดียวกับเจที่ยังคงใช้ชีวิตใต้เงาของแม่อย่างไม่ทุกข์ร้อนกับกระทำของตนเอง) ขณะที่ยองซึ่งสอบชิงทุนไปเรียนต่อสิงคโปร์ได้สำเร็จ (แม้จะมีเสียงบ่นด้วยความดูถูกเล็ก ๆ ของพ่อแม่ที่เขาไปอังกฤษไม่ได้แบบพี่ก็เถอะ) แต่เขาก็เลือกที่จะไปสิงคโปร์ ไปยังประเทศที่ไม่ได้วุ่นวายหรือลักลั่นแบบนี้ ไปยังประเทศที่รู้จักเรียนรู้จากเหตุการณ์ในอดีตและใช้มันเป็นกุญแจสู่อนาคต

                หลายคนบอกว่า ยอง เป็นพวกเห็นแก่ตัว แต่ถึงที่สุดแล้ว หนังมันถามย้อนกลับว่า เราทุกคนก็ทำเพื่อตัวเองทั้งนั้นไม่ใช่หรือยังไงกันเล่า

แน่ล่ะว่า บุคลิกของยองนั้นอาจจะเป็นเด็กหนุ่มเนิร์ดแก่แดดที่ไม่น่าคบแบบที่หลายคนเกลียดชังเนติวิทย์ที่ลุกขึ้นมาท้าทายระบบที่มีอยู่เดิมแล้ว ทั้งที่สิ่งที่เด็กคนนี้และยองได้ถามย้อนกลับนั้นกลับเป็นสิ่งที่คุ้นไม่อาจจะตอบได้และใช้อำนาจ อายุ หรือ สิ่งที่มองไม่เห็นมาอธิบาย ซึ่งแน่ล่ะว่า มันไม่ใช่เหตุผลที่ฟังขึ้น พูดง่าย ๆ ก็คือ แถนั่นล่ะ

                แล้วดังนั้นถ้าตัวเราตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับยองจะทำยังไงล่ะ ในเมื่อเรารู้อยู่แล้วว่า การแก้บนไม่ได้ช่วยให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นเลยสักหน่อย

                ยอมสยบยอมต่อสังคมนี้ หรือ ตั้งคำถามกับมันล่ะ ?

                นี่คือสิ่งที่หนังให้เราไว้ครับ

                จึงไม่แปลกที่ตั้งวงจะเป็นหนังที่ท้าทาย ยั่วล้อ ทุกสิ่งรอบตัวเราอย่างชาญฉลาดโดยให้เราไปตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัวเองเอาเองว่า มันเป็นยังไงได้อย่างน่าสนใจ ขณะเดียวกันก็ตบหน้าบรรดาผู้คนในสังคมรวมทั้งตัวเราไปพร้อม ๆ กันอย่างโหดร้าย แต่นั่นก็ยังไม่มากเท่ากับการที่มันแสดงถึงความวกวนหาจุดสิ้นสุดไม่ได้ของความเป็นไทยที่สุดท้ายก็จบด้วยคำถามที่ว่า

                อะไรคือ ความเป็นไทยที่แท้จริงกันแน่ ?

                และคุณล่ะได้คำตอบนั้นหรือยัง ?

......

บล็อกของ Mister American

Mister American
ปี 2515 ณ หมู่บ้านห่างไกลผู้คนในจังหวัดกาญจนบุรี แย้ม เด็กสาวผู้เคยป่วยหนักจนเกือบตายได้มีอาการแปลก ๆ เกิดขึ้น เธอเริ่มพูดจาด้วยคำหยาบคายกับคนในครอบครัวอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เริ่มโกหกและยุแยงให้คนในบ้านแตกคอกัน รวมทั้งลุกขึ้นมาตอนกลางคืนเพื่อนกินของสดทำให้คนในครอบครัวโดยเฉพาะ หยาด เกิดความสงสัยขึ
Mister American
สัปเหร่อ : คนตายคือ ครู และ คนอยู่คือ นักเรียน           “ความตาย...มันฆ่าเฮาได้แค่ครั้งเดียว แต่ความฮัก มันฆ่าเฉาไปเรื่อยๆๆ จนกว่าเฮาสิตายพุ่นเด้”บักมืด 
Mister American
                ระหว่างที่เขียนต้นฉบับบทความนี้อยู่นั้น การโหวตประธานรัฐสภาและรองประธานสองคนการประชุมสภาวันแรกได้จบลงแล้ว และ ผลคือ คุณวันมูหะมัดนอร์ มะทา จากพรรคประชาชาติ ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาคนใหม่ ร่วมกับ รองประธานสภาสองท่านจากพรรคก้าวไกล และ พรรคเพื่อ
Mister American
            คงไม่มีอนิเมชั่นเรื่องใดในซีซั่นนี้ที่เรียกว่า สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับบรรดาคนดูอนิเมชั่น และ คนดูหนังหลายคนได้เท่ากับ อนิเมชั่นซีรีย์เรื่อง Oshi no Ko หรือ ชื่อไทยว่า เกิดใหม่เป็นลูกโอชิ ผลงานดัดแปลงจากมังงะขายดีของ อากะ อาคาซากะ ที่ได้ฤกษ์ออกฉายไปเมื่อ
Mister American
                "พรมนิ้วลงไป หวังให้อัสนีกึกก้องด้วยละอองแสง                   กระหน่ำตีเข้าไปให้ถึงปลายทางของความเจ็บปวด
Mister American
                พอ Hellraiser ภาคใหม่จะลงฉายใน Hulu กันในวันที่ 7 ตุลาคมนี้ (ซึ่งไทยจะได้ดูกันใน Disney Plus) นับว่าเป็นการกลับมาอีกครั้งของพินเฮดและเหล่าซีโนไบร์ต หนึ่งในไอค่อนของโลกสยองขวัญที่โด่งดังไม่แพ้ เฟรดดี้ ครูเกอร์ แห่ง Nightmare of elm street , เ
Mister American
พึ่งจบกันไปหมาด ๆ สำหรับอนิเมชั่นเรื่องดังประจำซีซั่นนี้อย่าง Lycoris  Recoli จากค่าย A-1 Picture ที่นอกจากจะเป็นม้ามืดประจำซีซั่นนี้ที่ได้รับความนิยมแบบถล่มทลายจนแซงหน้าบรรดาอนิเมชั่นฟอร์มยักษ์เรื่องอื่น ๆ ไปแบบไม่มีกังขา โดผลโหวตจากสำนักอนิเมชั่นต่าง ๆ โหวตให้เรื่องนี้อยู่
Mister American
“ทำไมถึงไม่มีหนังสัตว์ประหลาดไทยดี ๆ ออกมาสักทีวะ ?”
Mister American
คงไม่ต้องบอกว่า ณ ช่วงเวลานี้ หลาย ๆ คนคงให้ความสนใจกับการชุมนุมของบรรดาหนุ่มสาววัยรุ่นที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มเยาวชนปลดแอก หรือ กลุ่มนักเรียน นักศึกษาคนรุ่นใหม่ที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ขับไล่เผด็จการ และ เปลี่ยนแปลงประเทศใหม่ กันอย่างแน่นอน โดยเฉพาะปรากฏการณ์ของการชุมนุมที่เกิ