เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมานั้นวงการภาพยนตร์ไทย ไม่สิ ต้องบอกว่า วงการภาพยนตร์เมอร์เชียลอาร์ตของโลกนั้นต้องสูญเสียปรมาจารย์ สุดยอดนักสู้ของโลกไปอย่างไม่มีวันกลับ แม้ว่า ชื่อเสียงของชายคนนั้นจะแทบไม่เป็นที่สนใจของสื่อหรือคนไทยมากนัก หลายคนถึงกับงุนงงว่า เขาคือใคร และเหตุใดกันทำไมบรรดาผู้กำกับหรือนักแสดงขาบู้ทั้งหลายอย่าง Scott Adkin , Michael jai white ต่างโพสข้อความยกย่องและไว้อาลัยแถมเรียกชายคนนี้ว่า Master อันเป็นคำยกย่องที่มีต่อนักสู้ ผู้กำกับคิวบู้ ผู้กำกับหนังแอ็คชั่นแห่งที่ราบสูงผู้นี้อย่างที่สุดชนิดที่คนไทยหลายคนต่างสงสัยว่า เหตุใดชายคนนี้ที่คนไทยส่วนมากยังแทบไม่รู้ว่า ในอดีตเขาคือ พระเอกหนังบู้ต่อสู้ภูธรที่ดังที่สุดในสายหนังต่างจังหวัด ผู้ปลุกปั่นงานต่อสู้เสี่ยงตายแบบบ้าน ๆ แต่เต็มไปด้วยศิลปะที่แฟนหนังบู้ยกย่อง
นี่คือเรื่องราวของชายที่ชื่อว่า พันนา ฤทธิไกร เรื่องราวของเขาผ่านหนังบู้ภูธรที่ใครหลายคนมองข้ามมาตลอด แต่ใครจะรู้ว่า หนังบู้ของเขานั้นบอกเล่าเรื่องราวอะไรทิ้งเอาไว้บ้าง
เกิดมาลุย (2529)
พันนาเริ่มต้นเป็นพระเอกในหนังบู้ภูธรในชื่อของบริษัทเพชรพันนา ซึ่งทำหนังบู้แนวต่อสู้ออกมาเพื่อทำหนังบู้เกรดรองสำหรับฉายในต่างจังหวัดเสียส่วนมาก แน่นอนว่า โปรดักชั่นของหนังนั้นอาจจะดูบ้าน ๆ ไม่ยิ่งใหญ่แบบที่หนังในยุคนั้นทำกัน แต่สิ่งที่ทดแทนโปรดักชั่นหรืองานสร้างเหล่านั้นก็คือ คิวบู้ที่ดูสดใหม่และงานแอ็คชั่นเสี่ยงตายที่หลายฉากแสดงออกมาได้อย่างน่าตื่นตะลึง (หลายคนกล่าวขานกันเรื่องความบ้าของฉากแอ็คชั่นที่ไม่มีใครทำมาก่อน) นั่นเองที่ส่งชื่อให้ พันนา กลายเป็นสตันท์แมนและนักแสดงที่ใครหลายคนจับตามองในวงการนั้นไปในทีเดียว ส่งผลให้หนังที่มีพันนาแสดงนั้นได้รับความนิยมมากในหมู่นักดูหนังต่างจังหวัดในยุคที่ไม่มีโรงภาพยนตร์ หนังกลางแปลงส่วนมากจึงซื้อหนังของพันนาไปฉายกันและเก็บเงินกันได้อย่างเป็นล้ำเป็นสันจนเรียกว่า เป็นช่วงยุคทองของหนังบู้ภูธรเลยก็ว่าได้ครับ
ปลุกมันขึ้นมาฆ่า (2529)
ถ้าเกิดมาลุย คือ หลักไมล์ความสำเร็จของพันนาแล้ว ปลุกมันขึ้นมาฆ่าก็คือ ผลงานที่กล่าวกันว่า คัลท์ที่สุด มันที่สุดและเป็นผลงานที่พันนารักที่สุดเช่นกัน เรื่องราวว่าด้วย หมอผีได้ปลุกผีร้ายตนหนึ่งขึ้นมาอาละวาดในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ซึ่งเจ้าผีร้ายตนนี้ก็แข็งแกร่งเอามาก ๆ เพราะ มันเป็นผีที่มีวิชาต่อสู้สุดเทพเป็นทุกวิชาบนโลกอีกต่างหาก ทำให้บรรดาคนแปลกหน้าจากต่างถิ่นต้องมารวมตัวสู้กับเจ้าผีร้ายตนนี้ให้ได้
แน่ล่ะว่า เนื้อหาของหนังอาจจะดูไร้สาระไปนิด แต่นี่ล่ะครับ คือหนังคัลท์ในตำนาน เพราะทั้งคิวบู้ของหนังและฉากเสี่ยงตายแบบบ้าน ๆ ยังคงอยู่ แถมดูเหมือนจะหนักขึ้นไปอีกขั้นกว่าเกิดมาลุยด้วยซ้ำ ไม่พอด้วยโครงเรื่องที่ไม่เหมือนใครทำให้นี่คือ หนังของพันนาในอดีตที่ใครต่อใครที่ได้ชมต่างยกนิ้วให้และบอกว่า นี่คือ ผลงานที่ดีที่สุดของเขาเลยด้วยซ้ำ และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับหนังบู้ทั่วโลกไปในที่สุด
ความสำเร็จของหนังสองเรื่องนี้เป็นหลักไมล์สำคัญของหนังบู้ยุคนี้และเป็นจุดเริ่มต้นความรุ่งเรืองกว่าสิบปีของพันนาและเพื่อน ๆ ของเขาที่สรรสร้างหนังเหล่านี้ขึ้นมา ยืนยันได้จากภาพยนตร์กว่า 100 เรื่องที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างเป็นล้ำเป็นสัน นี่ยังไม่รวมถึงภาคต่อของ เกิดมาลุย และ ปลุกมันขึ้นมาฆ่าที่ไม่ว่าจะสร้างกี่ครั้งก็ทำเงินได้เรื่อย ๆ ทว่า งานเลี้ยงย่อมมีเลิกรา เมื่อมีจุดสูงสุดก็ต้องมีต่ำสุดเมื่อหนังไทยเริ่มเสื่อมความนิยมลงในช่วงปี 2535-2540 อันส่งผลให้บรรดาหนังบู้ภูธรได้รับผลกระทบไปด้วยเหมือนกันและในที่สุดหลังหนังเรื่อง มังกรทมิฬ (2541) หนังบู้ภูธรได้หายไปในที่สุด
และตัวพันนาก็ขยับขยายตัวเองไปสู่วงการทีวีด้วยการกำกับคิวบู้ให้อินทรีแดงของช่อง 7 ที่ได้เจมส์ เรืองศักดิ์ มารับบทอินทรีแดง โดยมีตัวพันนานทำหน้าที่กำกับคิวบู้ให้และมีตัวของสตันท์หนุ่มโนเนมจากที่ราบสูงอย่าง จา พนม มาเป็นสตันท์ให้ด้วย
นั่นเองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดตำนานหนังบู้ใหม่อีกครั้งและได้เปลี่ยนแปลงวงการหนังต่อสู้ไปโดยตลอดกาล
องค์บาก (2546)
ห้าปีต่อมา ในยุคที่หนังไทยกลับมามีชีวิตอีกครั้งนั้น ใครจะคาดคิดว่า หนังบู้แบบไทยที่ผันตัวเองจากหนังบู้บ้าน ๆ ที่นำแสดงโดยนักแสดงที่ไม่มีใครรู้จักในตอนนั้นอย่าง จา พนม ยีรัมย์ และมีนักแสดงตลกชื่อดังอย่าง หม่ำ จ๊กม๊ก นั้นจะกลายเป็นหนึ่งในหนังแอ็คชั่นเมอร์เชียลอาร์ตระดับตำนานของโลกไปได้ แถมยังเป็นงานที่ทำให้หนังบู้ที่ตายไปแล้วในเวลานั้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง จนเรียกว่ามันคือ การปฏิวัติวงการเลยก็ว่าได้
เรื่องราวขององค์บากนั้นกล่าวถึง บุญทิ้ง หนุ่มอีสานจากหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งที่ออกเดินทางมายังเมืองหลวงเพื่อตามหาเศียรขององค์บาก พระพุทธรูปโบราณที่ถูกคนใจชั่วตัดไป เมื่อเขาเดินทางมาในเมืองหลวงนั้น ตัวของบุญทิ้งได้พยายามหาคนรู้จักอย่าง อ้ายหำแหล่ ลูกชายของผู้ใหญ่บ้านเพื่อให้ช่วยเหลือในการตามหาองค์บาก ทว่าสิ่งที่บุญทิ้งได้พบในเมืองหลวงอันศรีวิไลนี้ก็คือ โลกมืดที่เต็มไปด้วยมาเฟีย ยาเสพติด การพนัน และ โลกแห่งการต่อสู้ไร้กฎหมาย ซึ่งทำให้เขาต้องพยายามฝ่าฝันมันไปให้ได้เพื่อตามหาองค์บากให้เจอ
หากมองกันเผิน ๆ องค์บากเป็นหนังต่อสู้แนวชาตินิยมธรรมดาที่หยิบยกเอาเรื่องที่คนไทยเข้าถึงได้อย่าง การตัดเศียรพระ หรือ เรื่องชาตินิยมมารับใช้กับหนังต่อสู้ได้อย่างแนบเนียนและช่วยให้คนไทยเข้าใจเรื่องราวเป็นอย่างดี ตัวหนังได้พาเราไปสำรวจเมืองไทยในอีกด้านที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน มันคือ ด้านมืดที่ซุกซ่อนอยู่ในความสวยงามของเมืองหลวงแห่งนี้ที่เต็มไปด้วยความโหดร้ายและอันตรายที่แผ่อยู่ทุกอณู ตัวของบุญทิ้งเป็นหนุ่มอีสานบ้านนอกที่เข้ากรุงมาด้วยฝีมือมวยทีเก่งกาจก็จริง แต่พอเขามาถึงที่เมืองหลวงนี้ เขาได้พบว่า กรุงเทพที่หลายคนบอกว่า เป็นเมืองสวรรค์นั้นกลับเต็มไปด้วยอันตรายที่พร้อมจะกระชากวิญญาณของเขาออกไปได้ทุกเมื่อ แน่ล่ะว่า หนังสะท้อนภาพของคนอีสานที่เข้ามาใช้ชีวิตในเมืองกรุงได้อย่างน่าสนใจ อาจจะเพราะความเจริญในเมืองนั้นมีมากเกินไปจนดูดบรรดาคนนอกเข้าไปในเมืองกันหมด และทุกคนก็ต้องต่อสู้ดิ้นรนกันอย่างสุดขีดเพื่อเอาชีวิตรอด
โดยไม่สนใจวิธีการใด ๆ ทั้งสิ้น
นั่นเองที่หนังสะท้อนให้ภาพว่า ในเมืองที่เต็มไปด้วยอันตรายนี้นั้นสิ่งที่เคยเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนอย่างพระพุทธรูปกลายเป็นเพียงเศษอิฐเศษปูนไร้ค่าไปในทันทีเมื่อถูกเปลี่ยนบริบทไป อันสะท้อนภาพความเสื่อมของคนเมือง ที่หนังพยายามสร้างให้เห็นว่า พวกเขานั้นน่ากลัว และ ไม่น่าไว้ใจเพียงใด ต่างจากภาพบรรยากาศของคนต่างจังหวัดที่ดูเป็นมิตรและมีความสามัคคีความรักซึ่งกันและกันมากกว่า
นี่อาจจะเป็นหนังที่สะท้อนถึงเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น ผู้คนร่ำรวยขึ้นก็จริง แต่จิตใจของพวกเขาไม่ได้เติบโตตามไปด้วย กลับกันมันยิ่งต่ำตมลงจนราวกับคนล่ะโลก
มันอาจจะเป็นภาพสะท้อนของชนบทที่มองมาในเมืองหลวงอันงดงามนี้ก็เป็นได้
เกิดมาลุย (2547)
หลังความสำเร็จขององค์บาก พันนาก็กลับมากำกับหนังอีกครั้ง โดยคราวหยิบเอาหนังสร้างชื่อของเขาในอดีตอย่าง เกิดมาลุย มารีเมคใหม่อีกครั้ง โดยเปลี่ยนแปลงเนื้อเรื่องใหม่ทั้งหมด รวมทั้งเปิดตัวนักบู้คนใหม่อย่าง เดี่ยว ชูพงษ์ ที่ขึ้นมารับบทนำบ้าง และแน่นอนว่า หนังประสบความสำเร็จไปพอสมควรด้วยโครงเรื่องที่คัลท์จนหลายคนจดจำกันแน่ ๆ ครับ
เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อ เดี่ยว ตำรวจหนุ่มมือดีได้เดินทางมาพร้อมกับบรรดานักกีฬาทีมชาติมาบริจาคให้กับหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลในเขาแห่งหนึ่ง ทว่าพวกเขากลับถูกกลุ่มโจรค้ายาเสพติดชาวกระเหรี่ยงบุกเข้ามาและจับตัวพวกเขาเอาไว้เพื่อแลกตัวกับหัวหน้าค้ายาเสพติดระดับชาติ นั่นเองที่ทำให้บรรดานักกีฬาและเดี่ยวต้องร่วมมือกับใช้ทักษะด้านกีฬาและการต่อสู้กับพวกค้ายาเสพติดข้ามชาตินั้น
ปฏิเสธไม่ได้ว่า นโยบายสงครามปราบยาเสพติดของรัฐบาลพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตรนั้น มีส่วนสำคัญในหนังเรื่องนี้อย่างอดไม่ได้ ต้องบอกว่า นี่คือนโยบายที่ประสบความสำเร็จและเรียกความนิยมให้กับรัฐบาลในเวลานั้นได้อย่างดีครับ ไม่แปลกที่หนังเรื่องนี้จะหยิบเรื่องราวของสังคมในยุคที่ยาเสพติดกลายเป็นภัยร้ายของผู้คนไปแล้ว ไม่แปลกครับที่หนังจะมีสภาพเหมือนเอาคำขวัญยาเสพติดมาขยายอย่าง เล่นกีฬาต้านยาเสพติด หนังเลยเลยเอาบรรดานักกีฬาดัง ๆ ในตอนนั้นจากหลายประเภทมาต่อสู้ครับ (หนึ่งในนั้นคือ พี่ตุ๊ก ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน) ซึ่งหนังก็ออกแบบคิวบู้ออกมาได้ดีครับ แถมยังโคตรบ้าบอจนน่าจดจำอย่าง การที่เราเห็นพี่ตุ๊กเตะฟุตบอลไซด์โค้งใส่ผู้ร้ายได้อย่างเมามันชนิดเบ็คแฮมยังอึ้งครับ นี่ยังไม่รวมบรรดาฉากแอ็คชั่นของหลาย ๆ คนที่ทำออกมาได้น่าปรบมือจนไม่แปลกที่หนังมันจะคัลท์และได้รับความนิยมจากผู้คนอย่างยิ่ง จนช่วยสานต่อหนังบู้ไทยที่กำลังรุ่งเรืองตอนนั้นให้หลายคนสนใจกันไปอีก
และเป็นการบอกคิวบู้ของพันนานั่นสดใหม่จริง ๆ ในวงการตอนนั้นครับ
ต้มยำกุ้ง (2548)
ความสำเร็จขององค์บากที่กลายเป็นหนึ่งในหนังต่อสู้ที่ดีที่สุดตลอดกาลของโลกเรื่องหนึ่งแถมยังทำให้จา พนม กลายเป็นนักแสดงที่ใครหลายคนต่างจับตามองได้ส่งผลให้มีหนังต่อสู้เรื่องใหม่ที่ได้ จา พนม มารับบทนำ เพื่อสานต่อความสำเร็จนั้น ซึ่งก็คือ ต้มยำกุ้ง หนังต่อสู้ที่ว่าด้วยชายหนุ่มคนหนึ่งที่ออกตามหาช้างของครอบครัวที่ถูกลักพาตัวไปไกลจนถึงออสเตรเลีย โดยต้องฝ่าฝันบรรดาสุดยอดนักสู้ต่าง ๆ ที่มาขัดขวางเขา ทำให้ไอ้ขาม ชายหนุ่มบ้านนอกต้องงัดวิชามวย คชสาร มวยโบราณออกมาต่อสู้กับบรรดานักสู้เหล่านั้น
ต้มยำกุ้งกลายเป็นหนังไทยที่ทำเงินถล่มทลายอย่างยิ่งในตลาดต่างประเทศ มันถูกซื้อไปฉายโดย ลุค เบซอง ผู้กำกับชื่อดังของค่ายยูโรป้าค๊อปจากฝรั่งเศสที่ส่งหนังไปฉายในอเมริกาจนทำเงินขึ้นอันดับสี่ของ Box office เลยทีเดียว แม้ว่า จะมีบทภาพยนตร์อ่อนด้อยก็ตาม แต่หนังก็ทดแทนด้วยคิวบู้ที่ดุดัน บ้าระห่ำตามสไตล์ของพันนาที่หายไปนานเลยทีเดียวจึงไม่แปลกว่า นี่คือ หนังที่ใครหลายคนกล่าวถึงหากจะยกหนังต่อสู้สักเรื่องมาพูดถึง
กระนั้นหนังก็ดำเนินเรื่องเหมือนกับองค์บาก โดยเฉพาะเนื้อหาที่ยังไม่พ้นจากเรื่องชาตินิยมแบบที่หนังต่อสู้ทั้งหลายในโลกทำกัน เพราะมันพูดถึงการปกป้องความเป็นไทย ในที่นี้คือ ช้าง และเหล่าฝรั่งชั่วร้ายที่พยายามขัดขวางและทำร้ายช้างเหล่านี้ หนังจึงมีสภาพเป็นชาตินิยมอยู่ไม่ใช่น้อยด้วยบทบาทของตัวละครคนไทยที่เป็นคนดี มีน้ำใจ และช่วยเหลือตัวเอกแทบทั้งเรื่อง ต่างจากคนต่างชาติที่ดูชั่วร้าย และไม่มีความเป็นมนุษย์อยู่เลย จึงไม่แปลกว่า หนังจะทำสำเร็จในการสร้างความอินในด้านชาตินิยม แต่ขณะเดียวกันก็อ่อนด้อยด้านความน่าเชื่อถือของเรื่องราวไปพอควร
แต่ที่น่าปรบมือก็คือ หนังได้รับการยกย่องให้เป็นหนังคัลท์ในตำนานอีกเรื่องไปแล้วนั่นเอง ด้วยเหตุผลว่า ฉากสู้ของเรื่องนี้สนุกและน่าจดจำจริง ๆ
คนไฟบิน (2549)
ถ้าพูดถึงหนังต่อสู้ของพันนายุคหลังที่หลายคนจดจำนั้นย่อมมีชื่อของ คนไฟบิน หนังต่อสู้ที่ถ่ายทอดภาพวัฒนธรรมของคนอีสานผ่านหนังเรื่องนี้จนหลายคนบอกว่า มันคือ หนังบู้ที่ทุกคนมองข้ามอย่างสิ้นเชิงเลยทีเดียว
โจรบั้งไฟ นายฮ้อยขมังเวทย์ ปอบ โจรลักควาย ลิงลม และ เจ้าเมืองกร่าง ๆ ไร้ความสามารถ นี่คือการรวบรวมเรื่องราวของคนอีสานที่ถูกจับเล็กผสมน้อยมาจนกลายเป็นหนังแอ็คชั่นที่สะท้อนให้เห็นเรื่องราวของที่ราบสูงแห่งนี้ได้อย่างน่าสนใจเลยทีเดียว ราวกับเป็นสมุดบันทึกประมวลประวัติศาสตร์ของอีสานว่า กว่าจะมาถึงตรงนี้พวกเขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง
หนังพาเรากระโจนไปในอีสานในยุคที่ทุ่งกุลายังคงร้องไห้ พื้นที่แห่งนี้เต็มไปด้วยความแห้งแล้ง ยากจนข้นแค้นอย่างที่สุด แน่ล่ะว่า ภาพความแห้งแล้งนี้เกิดขึ้นจาก การที่ภาครัฐในยุคนั้นไม่ได้สนใจหรือเข้ามาพัฒนาอะไรบ้านเมืองนัก มีเจ้าเมืองก็ไร้ความสามารถคิดหาผลประโยชน์กอบโกยกันท่าเดียว นั่นเองที่ทำให้คนอีสานในตอนนั้นต้องตัดสินใจนำควายไปขายในเมืองเพื่อแลกกับเงินในช่วงเวลาที่ไม่มีข้าวให้ทำกิน จนเกิดเป็นอาชีพ นายฮ้อย หรือ คนคุมควายไปขาย ขึ้นนั่นเอง แน่ล่ะว่า อาชีพนี้เต็มไปด้วยอันตรายอย่างยิ่งยวด เพราะ นอกจากการเดินทางที่ไกลมากแล้ว ยังมีทั้งโจรลักควาย โรคภัยไข้เจ็บอีกมากที่พร้อมคร่าชีวิตพวกเขาด้วยเหมือนกัน ดังนั้นไม่แปลกที่นายฮ้อยส่วนมากมักจะเก่งกาจทั้งเรื่องการคุมคนและการต่อสู้จนเสมือนฮีโร่ของคนจนในตอนนั้นก็ได้
ขณะที่รัฐมีสภาพเป็นเสมือนกลไกปัญญาอ่อนที่ไม่ได้เข้าใจคนจนเลย แถมยังมีสภาพเป็นตัวร้ายที่ไร้สาระอีกต่างหาก ยิ่งตอกย้ำถึงความล้มเหลวของรัฐในอดีตต่อการพัฒนาประชาชนหรือการเข้าถึงประชาชนได้อย่างดียิ่ง
จึงไม่แปลกที่วีรบุรุษนอกกฎหมายอย่าง โจรบั้งไฟหรือนายฮ้อยจะเป็นเหมือนวีรบุรุษของคนจนมากกว่ารัฐที่ดีแต่สร้างภาพและความมั่งคั่งให้ตัวเอง
ก็ไม่แปลกที่รัฐหรือศูนย์กลางแบบนั้นจะล่มสลายลงด้วยการกระทำของตัวเองในที่สุด
โคตรสู้ โคตรโส (2553)
มีรุ่งเรืองย่อมมีตกต่ำครับ หลังจากหนังต่อสู้ของไทยรุ่งเรืองมาเป็นเวลานานเกือบสิบปีจนมีหนังแนวนี้ออกมาฉายกันมากมาย ทว่าด้วยสภาพของเศรษฐกิจและความไม่สดใหม่ของหนังที่มาพร้อม ๆ กับการมาของหนังบู้จากประเทศอื่นทั้ง ฮ่องกง (กับ SPL) ทั้งเกาหลี (กับ The Man From Nowhere) ทั้งฝรั่งเศส (B13) ทั้งอินโดนีเซีย (The Raids) ทำให้หนังบู้ไทยแบบเดิมนั้นล้าสมัยไปแล้ว แม้จะมีความพยายามจะกลับมาในหลายเรื่องแต่ก็ไม่สามารถกลับมาเป็นพุแตกได้เสียที (ความล้มเหลวนั้นเกิดจากหนังต่อสู้ไทยหลายเรื่องที่ออกมาจนนำไปสู่ความน่าเบื่อหน่าย ทั้ง ส้มตำ ห้าพลังหัวใจฮีโร่ มนุษย์เหล็กไหล รวมทั้งองค์บาก 3) กระนั้นความเป็นนักสู้ของพันนานั้นก็ยังคงมีอยู่ เขาตัดสินใจนำบรรดาสตันท์ดาวรุ่งของเขามาเล่นหนังร่วมกันในหนังบู้ที่เขากำกับเองอย่าง โคตรสู้โคตรโส ที่เป็นเสมือนการนำแอ็คชั่นดิบ ๆ แบบพันนาให้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง
แน่ล่ะว่า เรื่องราวของกลุ่มนักสู้นาม Fighting Club กลุ่มหนึ่งที่หลังจากเลี้ยงฉลองการได้ไปแสดงหนังฮอลลีวู้ดแล้ว พวกเขาก็ตื่นขึ้นมาในตึกร้างแห่งหนึ่ง ก่อนจะพบว่า พวกเขาเข้ามาอยู่ในเกมพนันของชาวต่างชาติที่จับคนมาสู้กับพวกสู้คนอื่น ๆ เพื่อเล่นพนันกัน แน่นอนว่า นั่นเองที่ทำให้พวกเขาต้องใช้ความสามารถของตัวเองสู้กับพวกนักฆ่าเหล่านั้นแล้วหนีไปจากที่นี่ให้ได้
ต้องบอกว่า ถ้าคุณคิดถึงคิวบู้ของพันนาในยุคเก่า ๆ ที่เต็มไปด้วย เทคนิคแบบบ้าน ๆ การแสดงเสี่ยงตายผาดโผนชวนให้กลั่นหายใจแล้วล่ะก็ นี่คือหนังเรื่องนั้นที่ให้คุณได้อย่างเต็มเปี่ยมครับ ด้วยเหตุผลว่า นี่คือ การรวมทุกสิ่งที่พันนาเคยทำทั้งหมดในหนังทุกเรื่องมารวมกัน ไม่แปลกที่หนังจะมีสภาพทุนต่ำคล้ายกับหนังส่งลงแผ่น แต่กลับเต็มไปด้วยฉากแอ็คชั่นบ้า ๆ ที่ให้เราตกใจว่า เล่นยังงี้เลยเหรอตลอดทาง แม้ว่าบทหนังจะยังไม่ดีมากนัก บวกกับเสน่ห์นักแสดงที่ยังไม่เชิดฉายนักก็ทำให้หนังถูกมองข้าม ทั้งที่เอาจริงเป็นหนังแอ็คชั่นที่น่าพอใจมาก ๆ เสียด้วยซ้ำ
หนังมีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ว่า มันยังคงเป็นหนังที่หยิบจับเรื่องชาตินิยมมาใช้เหมือนเดิม เพราะคนที่อยู่เบื้องหลังเกมนี้คือ พวกเศรษฐีต่างชาติที่เข้ามาสร้างเกมให้คนไทยฆ่ากันเพื่อความสนุกและการพนัน อันหมายความว่า หนังมันมีสภาพเหมือนแอนตี้ต่างชาติไปในตัวด้วย แต่ที่น่าตกใจคือ หนังมีฉากแอบด่าระบบกฎหมายไทยว่า มันเน่าหนอนและทำให้คนพวกนี้เข้ามาสร้างเรื่องวุ่นวายได้โดยที่ไม่มีวันถูกจับ
เพราะ กฎหมายก็เป็นพรรคพวกของเขาด้วยเช่นกัน
หนังเรื่องนี้จึงสะท้อนภาพความไม่มั่นใจในระบบกฎหมายของไทยที่มีต่อประชาชน พวกเขามองว่า กฎหมายไม่สามารถให้ความยุติธรรมกับประชาชนตัวเล็ก ๆ ได้เลย จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะต้องหาทางทำอะไรสักอย่างเอง แม้จะต้องเป็นโจร เป็นผู้ร้ายหรือศาลเตี้ยก็ตาม
อย่างน้อยก็ขอให้ได้ความยุติธรรมกลับมาก็ยังดี
หรือนี่คือ สารที่พันนาส่งถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2553 กันแน่ ?
แน่ล่ะว่า โคตรสู้โคตรโส กลายเป็นผลงานเรื่องสุดท้ายที่ออกฉายของพันนาก่อนที่เขาจะเสียชีวิตลงโดยที่ยังเหลือผลงานเรื่องสุดท้ายที่ยังอยู่ในช่วงถ่ายทำอย่าง เร็วทะลุเร็ว อยู่อีก นั่นเองที่ทำให้แฟน ๆ หลายคนตั้งตารอว่า ผลงานสุดท้ายของนักสู้ผู้นี้จะเป็นเช่นไร
นี่คือส่วนหนึ่งของในชีวิตและผลงานชายคนหนึ่งจากดินแดนที่ราบสูงที่ใครหลายคนอาจจะไม่รู้จักเขา แต่สำหรับแฟนหนังแล้วเขาคือ สุดยอดของวงการนี้ตลอดมา
หากจะมองหาคำใดที่นิยามตัวตนของสุดยอดปรมาจารย์ผู้นี้ได้ล่ะก็คงเป็นชื่อหนังแจ้งเกิดของเขา
เกิดมาลุย !!
ป.ล. บทความนี้ขอไว้อาลัยการจากไปของ คุณอาพันนา ฤทธิไกร ที่ได้สรรสร้างหนังต่อสู้ชั้นยอดเอาไว้มากมาย ทุกผลงานจะอยู่ในความทรงจำของนักดูหนังทุกคนตลอดไปครับ