Skip to main content

              คงไม่ใช่ความน่าแปลกหรือประหลาดใจอีกแล้วกับปรากฏการณ์หนังอีสานถล่มเมืองที่นับจากผู้บ่าวไทบ้านภาคแรกเข้าฉายในปี 2014 และทำเงินไปได้อย่างมากมายในแผ่นดินอีสานนั้นจะทำให้เกิดหนังลูกอีสานหน้าใหม่ขึ้นอย่างมากมาย และแน่นอนว่า ความสำเร็จนี้ได้ต่อยอดให้หนังอีสานเป็นเสมือนคลื่นลูกใหม่ของวงการภาพยนตร์ที่ทำให้ท้องถิ่นแห่งนี้คึกคักขึ้นมาแทบทันที เพราะ มันแสดงให้เห็นว่า ดินแดนแห่งนี้ยังเป็นขุมทรัพย์ของวงการภาพยนตร์ไทยอยู่ เมื่อเทียบกับบรรดาหนังท้องถิ่นนิยมยุคหลังไม่ว่าจะเป็นผู้บ่าวไทบ้านสองที่ทำเงินในอีสานไปไม่ต่ำกว่า 20 ล้าน หรือ กระทั่งล่าสุดอย่าง ไทบ้านซีรีย์เองก็เป็นหนังที่ทำเงินถล่มทลายในอีสานไม่ต่างกันจนกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ใครหลายคนพากันเลิกคิ้วด้วยความเข้าใจว่า หนังอีสานพวกนี้มีดีอะไรที่ทำให้สามารถทำเงินได้มากมายเช่นนี้ ทั้ง ๆ ที่บรรดาค่ายหนังใหญ่หลายค่ายพากันส่ายหน้าที่จะทำหนังเกี่ยวกับดินแดนแห่งนี้แล้ว แต่กลับเป็นคนอีสานรุ่นใหม่ที่ต่างก้าวเท้าขึ้นมารับไม้ต่อ และ สร้างเรื่องราวของอีสานในมุมมองของตัวเองขึ้น

                แถมยังประสบความสำเร็จอย่างมากอีกด้วย

                ฮักมั่น เองเป็นภาพยนตร์อีสานเรื่องใหม่ที่พึ่งเข้าฉายเมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมาด้วยดีกรีการคว้ารางวัล ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติมาได้ทั้งที่ก่อนหน้านี้มันถูกหมางเมินจากการฉายในโรงและเลื่อนฉายมาหลายครั้งแล้วและด้วยอานิสงค์ของความสำเร็จ ทำให้หนังเรื่องนี้มีโอกาสได้ฉายให้ชาวอีสานได้ชมกันในที่สุด

                รางวัลการันตีนี้ทำให้เราพอจะตั้งมั่นไว้ว่า หนังจะต้องมีดีอะไรอย่างแน่นอนถึงสามารถคว้ารางวัลนี้ไปได้และเมื่อได้รับชมหนังเรื่องนี้จนจบ สิ่งที่ผมได้คิดก็คือ นี่คือ หนังที่พาเราไปตอกย้ำความเป็นอีสานในสายตาคนอีสานแท้ ๆ ได้อย่างน่าสนใจและเป็นเสมือนหลักไมล์สำคัญในการสร้างความเข้าใจของคนเมืองที่จะมีต่อทัศนคติของอีสานและคนอีสานด้วยเหมือนกัน

                ฮักมั่นบอกเล่า อีสานในมุมมองของพวกเขาอย่างไรกันแน่

            1. อีสานของฮักมั่นคือ สิ่งที่ต่างจากความเข้าใจของคนเมือง

                ปกติแล้วเรามักจะคุ้นชินกับเรื่องราวของอีสานผ่านหนังหลาย ๆ เรื่องอย่าง ครูบ้านนอก บ้านหนองฮีใหญ่ที่บอกเล่าเรื่องราวของครูหนุ่มที่เข้ามาสอนพร้อมอุดมการณ์สวยหรูในโรงเรียนเล็ก ๆ แถวอีสาน หรือ หนังอย่าง อีนางเอ๊ย เขยฝรั่ง อันเป็นหนังที่ว่าด้วยเรื่องราวของอีสานในมุมมองคนเมือง ทั้งการมีเขยฝรั่ง การพูดถึงความยากจน ไทบ้านที่ใช้ไม่ได้ และ การพูดถึงท้องถิ่นและหลักศีลธรรมคนเมืองและความพอเพียงที่ทำให้เรามองเห็นอีสานในมุมมองที่สื่อของคนเมืองบอกเล่ามาเสมอจนกลายเป็นภาพจำของอีสานไปแล้ว คงต้องโทษการสร้างภาพจำเหล่านี้ทำให้กลายเป็นคนอีสาน โง่ จน เจ็บ และอยู่ด้วยความแร้นแค้นน่าสงสารไปเสียหมด

                ทว่าหนังท้องถิ่นในช่วง 3-4 ปีมานี้เริ่มเปลี่ยนทัศนคติของเรามีต่ออีสานไปทีล่ะนิด

                แม้ผู้บ่าวไทบ้านภาคแรกและสองจะนำเสนอภาพของอีสานในสภาพแร้นแค้น ความตายของหมู่บ้านที่เกิดขึ้นจากการสูบเลือดสูบเนื้อของเมืองใหญ่ที่ดึงบรรดาคนหนุ่มสาวไปหมดจนปล่อยให้หมู่บ้านตายไปอย่างช้า ๆ หรือกระทั่งไทบ้านซีรีย์เองก็นำเสนอหมู่บ้านแบบนั้น ทว่า สิ่งที่ต่างออกไปคือ ภาพของความเจริญที่บุกรุกเข้ามาในดินแดนแห่งนี้จนทำให้อีสานเริ่มพัฒนามากขึ้น

                ฮักมั่นเป็นหนังที่ดำเนินเรื่องในเมืองอุดรธานี อันเป็นเมืองที่ตั้งอย่างติดกับประเทศลาวอย่างใกล้ชิดทำให้ตัวเมืองนั้นมีความเจริญอย่างมากมาย และ ด้วยความที่เป็นจังหวัดใหญ่และเสมือนเมืองพ่อค้าทำให้ฮักมั่นมีลักษณะจำลองของความเป็นเมืองใหญ่สูงเอามาก ๆ จนเสมือนว่า มีจังหวัดซ้อนกันสองจังหวัดทีเดียว

                ตรงนี้เองนำสู่การเป็นหนังที่มีพล็อตสองส่วนในเรื่องเดียวและนำเสนอเรื่องราวที่ต่างกัน หนึ่งคือ เรื่องราวในเมืองที่เกิดขึ้นกับ จอย ที่ออกจากหมู่บ้านมาเรียนในตัวเมืองอุดรธานีที่เต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย ตั้งแต่ สวนน้ำใหญ่โต บึงอุดรธานีกับเป็ดสีเหลืองอันเป็นแลนด์มาร์คของเมืองนี้ รวมทั้งโรงหนัง ห้างสรรพสินค้า และ ที่สำคัญคือ การติดประเทศลาวทำให้เมืองนี้คึกคักและเต็มไปด้วยผู้คนราวกับเป็นศูนย์กลางความเจริญอย่างชัดแจ้ง

                เนื้อหาส่วนตรงนี้เป็นแนวรักวัยรุ่นที่ว่าด้วยความรักสามเส้าที่เราเห็นไปได้ด้วยทั่วไป หน้าที่ของมันทำให้เรามองเห็นอีสาน หรือ อุดรในมุมมองของเมืองที่มีการพัฒนาไปไกลมากกว่าหนังเรื่องอื่น ๆ เอาจริง ๆ แล้ว หนังอีสานหลายเรื่องแสดงให้เห็นถึงภาพของการเปลี่ยนแปลงในสังคมเมืองที่เกิดขึ้นแต่ท้องที่ ไม่ว่าจะเป็น ฮักนะสารคามที่ให้เห็นภาพของเมืองการศึกษาอย่าง มหาสารคามที่มีความเป็นเมืองแห่งอนาคตที่ทุกคนต้องมาเรียนที่นี่ หรือ ไทบ้านซีรีย์ที่แสดงให้เห็นสังคมเมืองศรีสะเกษที่ความเจริญเริ่มรุดเข้ามาในหมู่บ้าน ไม่ว่าจะโรงหนัง หรือ เทคโนโลยีสื่อสารอย่าง ไลน์ หรือ เฟสบุ๊คที่เข้ามาในชีวิตคนไทบ้านเหล่านี้ ฮักมั่นเองก็เป็นเช่นนั้น มันให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงในด้านความคิดของคนได้อย่างน่าสนใจโดยที่วิถีไทบ้านนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก

                พล็อตเรื่องในส่วนของ เพ็ญ แม่ของจอยนั้นจึงน่าสนใจ เพราะ มันเล่าเรื่องสิ่งที่หนังคนเมืองเล่ามาหลายครั้งในสภาพน่าขบขัน เย้ยหยันและอดสู การเป็นเมียฝรั่งในหนังคนเมืองเป็นสิ่งที่แปลกปลอมตลก เช่นเดียวกับที่ลอจิกหลายอย่างมองว่า พวกเธอหิวเงินและจ้องมองหาฝรั่งพวกนี้ทำสามีอย่างเดียว (สิ่งนี้สะท้อนจากหนังอย่าง อีนางเอ๊ย เขยฝรั่งหรือกระทั่ง หลวงพี่เท่งภาค 2) ทว่าหนังอย่างผู้บ่าวไทบ้าน และ ฮักมั่นกลับให้เห็นภาพนี้ในมุมมองที่แปลกออกไป จากความคิดของคนเมือง

                นั้นคือ การบอกว่า คนอีสานไม่ได้โง่ที่จะยอมเป็นเมียฝรั่ง แต่สิ่งที่พวกเขาคือ การเลือกอนาคตที่ดีให้ตัวเอง แม้ว่า ใน ผู้บ่าวไทบ้าน การตัดสินใจของนางเอกที่ทิ้งบักทองคำ ไทบ้านตัวเอกของเรื่องไปได้กับไมเคิ่ลที่เป็นฝรั่งแทนด้วยเหตุผลว่า คบกับฝรั่งรวยกว่าและน่าจะทำให้ตัวเองไปให้พ้นความยากแค้นนี้ได้ ทว่า ฮักมั่นได้แสดงให้เห็นว่า การตัดสินนี้ไม่ได้ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะ ฮักมั่นบอกเล่าว่า หากไม่ได้รักกันก็ไม่อาจจะอยู่ร่วมได้ ต่อให้รวยแค่ไหน ไม่มีใครอยากทิ้งบ้านไปหรอก หากไม่มีความรู้สึกดี ๆ ให้กัน

                มันจะดีหรือหากจะต้องทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนไปอยู่กับคนอื่นเพียงเพื่อเงินเท่านั้น ทุกอย่างมันอธิบายส่วนนี้ว่า ไม่รักคงไม่ทำแบบนี้

                ในขณะที่หนังรักไทยพูดถึงรักแท้ต่างชนชั้น พูดถึงความรักของที่ไม่สมฐานะมาบ่อยครั้ง จนหลายมองเป็นโรแมนติค ทำไมกันหน่อ เวลาสาวอีสานมีแฟนมีผัวเป็นฝรั่งถึงถูกมองว่า โง่เง่า เห็นแก่เงินได้ หากไม่เกิดจากทัศนคติคนเมืองที่ตราหน้าพวกเธอไม่มีสมองผ่านหนังหรือละครต่าง ๆ กันเล่า

                การมีผัวฝรั่งก็ไม่ต่างกับการหาแฟนเป็นหนุ่มเมืองนั้นแหละ นอกจากการหวังว่าจะถีบตัวเองจากฐานะอันน่าเบื่อหน่ายแล้วสิ่งที่สำคัญคือ ความรักนั้นเอง

                ถ้าไม่มีความรักคงไม่มีใครกล้าทำอะไรแบบนี้แน่ ๆ

                ความเข้าใจของคนเมืองที่เกิดจากการทับสร้างของสื่อต่าง ๆ มานานหลายสิบปีดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ยากต่อการแก้ไข ทว่า สิ่งที่หนังอีสานในยุคใหม่สรรสร้างขึ้นมานั้นไม่ใช่การแก้ตัว แต่เป็นการแก้ไขความเข้าใจผิด เพราะนี่คือ หนังที่คนอีสานสร้างขึ้นโดยคนพื้นที่เอง ดังนั้นก็ไม่แปลกที่จะมองเห็นอะไรเป็นธรรมชาติและไม่ยัดเยียดความเป็นคนเมืองกลับไปให้

                พูดคือ เพราะ เราคือ อีสาน เราจึงเข้าใจอีสานมากกว่าคนเมืองหลายเท่านัก

                ความล้มเหลวของหนังอีสานที่คนเมืองสร้างอย่าง ครูบ้านนอก บ้านหนองฮีใหญ่ (ฉบับรีเมค) , ปัญญาเรณู หรือกระทั่ง อีนางเอ๊ย เขยฝรั่ง ซึ่งมีทัศนคติแบบนี้เป็นเสมือนการบอกว่า อีสานในคนเมืองเป็นเพียงภาพมายาคติที่ล้าสมัยและรอวันถูกทำลายในสักวันหนึ่ง

            2.  ฝรั่งไทบ้าน สิ่งที่หนังคนเมืองไม่มีตัวตน

                คงปฏิเสธไม่ได้ว่า หนึ่งในเป้าการโจมตีของหนังคนเมืองที่มีต่ออีสานมาตลอดคือ บรรดาทัศนคติว่าด้วยเขยฝรั่งที่มักถูกสร้างภาพว่า รวย และทำให้สาวอีสานหลงรักเพราะอยากได้ผัวรวย ๆ นำไปสู่ทัศนคติโง่จนเจ็บที่หนังหลายเรื่องนำมาใช้เพื่อด่าทอและเยาะเย้ยบรรดาสาวเหล่านั้น รวมทั้ง ตัวของผู้บ่าวไทบ้านทั้งหลายที่ดูไม่มีอนาคตเลยต่างจากบรรดาฝรั่งยิ่งเป็นการสร้างทัศนคติย่ำแย่ให้กับคนอีสานมานานนม

                เอาจริงแล้วหากเรามองกันลึก ๆ นับตั้งแต่ผู้บ่าวไทบ้านปรากฏตัวขึ้น เราได้รู้จักกับฝรั่งไทบ้านที่ชื่อว่า มาร์ติน วีลเลอร์ ฝรั่งที่ปรากฏตัวในฐานะ ฝรั่งอีสานที่ชื่อ ไมเคิ่ลเป็นลูกเขยของแม่ใหญ่แดงที่เป็นผู้กำกับหนังและเดินกลับมาบ้านกับลูกสาวแม่ใหญ่แดงที่ทำงานอยู่กรุงเทพ สิ่งที่น่าสนใจก็คือ บทบาทไมเคิ่ลนั้นเป็นตัวแทนภาพการสร้างความสวยหรูของคนอีสานที่มีต่อฝรั่งว่าจะสามารถทำให้ลูกหลานของตัวเองสบายได้ ทั้งที่เอาจริงฝรั่งเองก็ไม่ได้รวยไปทุกคนแบบที่ภรรยาของไมเคิ่ลบอกแม่ตัวเองว่า

                “อ้ายไมเคิ่ลไม่ได้รวยนะ แม่”

                มันเป็นการเย้ยหยันทัศนคติว่า แต่งงานกับฝรั่งแล้วรวยอย่างรุนแรง แม้ว่า ชีวิตรักของทั้งสองคนจะยืนหยงจนมีลูกกันในช่วงท้ายของภาคสอง แต่ก็แสดงให้เห็นว่า ทัศนคติแต่งงานกับฝรั่งรวยนั้นเป็นเพียงค่านิยมที่ถูกสั่งสมกันแบบผิด ๆ เท่านั้น และบ่อยครั้งฝรั่งพวกนี้ก็ไม่สามารถประครองชีวิตรักของตัวเองให้รอดไปได้เหมือนกันทำให้สุดท้ายพวกเขาก็กลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและเรียกว่า หาได้ยากในหนังอีสานจากคนเมือง

                นั้นคือสิ่งที่เรียกว่า ฝรั่งไทบ้าน

                เราคงไม่เห็นภาพของฝรั่งที่เดินถือจอบเสียบเดินไปมาบนเถียงนา หาปูหาปลาล่านก กินเห็ดจนแทบอ้วกแตกตาย เมาเหล้าขาว ร้องเพลงหมอลำ ขี่รถเครื่องในหนังอื่นแน่ ๆ ฮักมั่นนำเสนอภาพนี้ซึ่งเป็นสิ่งที่ปกติในสายตาคนทั่วไปในอีสานที่ได้เห็นฝรั่งปักหลักฐานสร้างครอบครัว สร้างบ้านในหมู่บ้าน มีชีวิตแบบคนอีสานทั่วไป ตรงนี้แหละ เราไม่ค่อยได้เห็นในหนังอีสานอื่นอยู่แล้ว สำคัญกว่านั้นคือ การได้ตัวมาร์ติน วีลเลอร์ ฝรั่งที่เล่นผู้บ่าวไทบ้านมารับบทนี้ยิ่งชัดแจ้งว่า ฮักมั่นมีความเป็นเสมือนภาคต่อทางจิตวิญญาณของผู้บ่าวไทบ้านแบบชัดเจน โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า ถ้าเกิดบักไมเคิ่ลไม่สามารถประครองชีวิตคู่ได้ เขาคงมีชีวิตเป็นแบบตัวละครที่ชื่อมาร์ตินคนนี้อย่างแน่นอน

                มาร์ตินเป็นตัวละครที่น่าสนใจเอามาก ๆ ในหนังเรื่องนี้น่าจะเป็นตัวละครที่แบกเอาเรื่องราวของฮักมั่นเอาไว้ทั้งหมด และเสมือนสารที่หนังต้องการจะสื่อให้ผู้ชมก็ผ่านทางตัวมาร์ตินด้วยเช่นกัน

                เรารู้จากสิ่งหนังเล่ามาว่า มาร์ตินเป็นฝรั่งที่อยู่เมืองไทยมานานแล้ว เขามีภรรยาหนึ่งคนที่สุดท้ายไม่สามารถทนการอยู่แบบไทบ้านที่เขาอยู่ได้และหนีไปไม่กลับมาทิ้งให้เขาเป็นเพียงฝรั่งไทบ้านคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตไปวัน ๆ โดยไม่มีจุดหมายใด ๆ นอกจากทำมาหากินพอประทังชีวิตเท่านั้น

                หลายคนในหมู่บ้านเรียกเขาว่า ผู้เฒ่าเสียอีกยิ่งเสมือนว่า เขาอยู่ที่นี่จนเรียกว่า ลูกอีสานไปแล้วแม้จะไม่ได้เกิดจากที่นี่

                ด้วยสายนี้เองทำให้มาร์ตินมีความใคร่และอยากใช้ชีวิตสร้างครอบครัวอีกครั้ง เขาสนิทสนมกับเด็ก ๆ และ เด็กหนุ่มที่คอยมาเป็นเพื่อนเล่นและเพื่อนช่วยจับปลาจับนี่ด้วยกัน

                เขาเป็นตัวละครที่มองรู้เลยว่ากำลังรู้สึกโหยหาการใช้ชีวิตคู่

                โหยหาที่อยากจะมีครอบครัว

                เราไม่รู้ว่าเหตุใดชีวิตคู่ของเขาไปไม่รอด แต่มันช่วยยืนยันว่า การแต่งงานกับฝรั่งไม่ได้ช่วยชีวิตคู่ของสาวไทบ้านทั้งหลายดีขึ้นแต่อย่างใด เพราะ มาร์ตินไม่ได้ทำให้ชีวิตของพวกเธอดีขึ้น แถมต้องใช้ชีวิตแบบเหงาหงอยอยู่เพียงแบบนี้ด้วย

                ความรักของมาร์ตินที่มีต่อเจ๊เพ็ญนั้นอาจจะเกิดความเหงาที่มี เขาโหยหาครอบครัวอย่างที่สุด และ พยายามเข้าไปแทรกในชีวิตของเธอที่มีสามีอยู่แล้ว โดยไม่รู้ว่า ความรักของเขานั้นทำลายมิตรภาพที่มีต่อเขาและเธอไปจนเกือบหวนคืนไม่ได้ และ โชคดีที่ทุกอย่างปรับความเข้าใจได้เมื่อมาร์ตินเรียนรู้ว่า ชีวิตของเขาโหยหาสิ่งใด

                ในช่วงท้ายที่เพ็ญกำลังจะไปอยู่กับสามีที่เมืองนอกนั้น เขามาพบกับเธอและขอโทษในสิ่งที่ทำลงไปก่อนได้อภัยจากเธอ

                นั้นทำให้มาร์ตินได้เรียนรู้เรื่องความรักที่เขาโหยหาอยู่

                เขาไม่ได้โหยหาเธอ

                เขาโหยหาครอบครัวต่างหาก

                ดังนั้นไม่แปลกในช่วงท้ายของเรื่อง หลังจากมาร์ตินลากับเพ็ญแล้ว เขาได้ใช้ชีวิตเพียงคนเดียว จนเด็กในหมู่บ้านคนหนึ่งวิ่งมาตามเขาไปให้งานประชุมผู้ปกครองด้วยในฐานะพ่อ แม้ว่า มาร์ตินจะปฏิเสธว่า เฮ้ย ตูไม่ใช่พ่อมึง หน้าก็คนล่ะเบ้าแล้ว แต่เด็กน้อยก็บอกว่า เขาอยากให้มาร์ตินไปแทนพ่อของเขา

                เพราะทั้งเรื่องเราเห็นมาร์ตินสนิทกับเด็กคนนี้มาก

                ไปหาเห็ดกินด้วยกัน แบ่งของกินด้วยกัน  ความสนิทสนมของพวกเขามากเหลือเกินจนทำเอาเรารู้สึกว่า ถ้าหนังมุ่งเน้นเรื่องราวความสัมพันธ์ของตัวละครสองคนต่างรุ่นอย่างมาร์ตินและเด็กน้อยคนนี้มากขึ้นคงทำให้เราได้หนังต่างวัยที่น่าสนใจขึ้นทันทีนี่คือ สิ่งน่าเสียดายเล็กน้อย แต่ความน้อยก็ยังทำให้ช่วงท้ายจบลงด้วยรอยยิ้มที่มาร์ตินเดินทางไปยังงานประชุมผู้ปกครองด้วยรถมอไซด์ของเขาพร้อมรอยยิ้ม

                อย่างที่บอกเขาไม่ได้โหยหาเพ็ญ

                แต่โหยหาครอบครัว

                และสิ่งที่เรียกว่า ครอบครัวก็อยู่เคียงเขามาตลอด

                คราวนี้เขาก็ต้องรักษามันเอาไว้ให้ได้

                ไม่ใช่แค่ฮักมั่น ฝรั่งไทบ้านใน ไทบ้านซีรีย์เองเป็นภาพสะท้อนว่า ฝรั่งนั้นไม่ได้มีมุมมองรวยเลิศหรูอลังการมีเงินอะไรแบบที่หนังไทยเรื่องอื่นชอบทำ ซึ่งถ้าพูดจากคนที่รู้จักเรื่องราวนี้นั้น เรื่องราวของฝรั่งไทบ้านนั้นคือสิ่งที่เกิดขึ้นแทบจะธรรมดาอยู่แล้ว

                ฮักมั่นไม่ได้แก้ไขอะไรนอกเสียจากบอกว่า ที่เห็นนี่มันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วก็เท่านั้นเอง

            3. ถึงเวลาที่คนรุ่นใหม่จะเล่าอีสานด้วยตัวเอง

                นับจากหนังเรื่อง ลูกอีสานเรื่อยมาจนถึงหนังอย่าง ครูบ้านนอก บ้านหนองฮีใหญ่ , 15 ค่ำ เดือน 11 หรือกระทั่งหนังอย่าง แหยมยโสธร เองจะเป็นหนังอีสานที่มีการเล่าเรื่องด้วยคนอีสาน หรือคนเมืองก็ตาม อีสานถูกสร้างภาพด้วยสายตาเก่า ๆ ไม่ได้อยู่ท้องถิ่นนี้มานานแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่า หม่ำ จ๊กม๊กไม่ได้กลับมายโสธรกี่ปีแล้ว สายตาของเขาผ่านแหยมยโสธรคือ ช่วงเวลาอีสานในยุคก่อนที่เขาจะแบกเสื่อกับหมอนเข้าไปแสวงโชคในกรุงเทพพร้อมกับภรรยา ครูบ้านนอกก็เป็นหนังอีสานที่ตอบสนองรสนิยมและอุดมการณ์ของคนยุค 6 ตุลาที่สุดท้ายแม้นำมารีเมคสร้างใหม่ในช่วงเวลาปัจจุบัน มันกลับล้าสมัยแม้จะนำบทเดิมมาสร้างโดยเปลี่ยนแปลงใด ยกเว้นตัวคนเล่นก็ตาม ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความล้าสมัยในสายตาคนทำหนังอีสานยุคเก่าที่ไม่สามารถเล่าเรื่องอีสานในยุคปัจจุบันได้อีกแล้ว ทว่า ท่ามกลางคลื่นหนังอีสานที่ถาโถมนั้น เรื่องราวของอีสานร่วมสมัยได้ถูกเล่าแล้วโดยคนอีสานรุ่นใหม่แทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ผู้บ่าวไทบ้าน ฮักนะสารคาม หรือ กระทั่ง ไทบ้านซีรีย์ก็ล้วนแต่มีผู้กำกับที่อายุไม่ถึง 40 เล่าเรื่องอีสานในมุมมองตัวเอง ซึ่งนับว่า เป็นคนรุ่นใหม่ของอีสานแทบทั้งนั้น

                ฮักมั่นเองก็มีผู้กำกับหน้าใหม่และเป็นคนอีสานที่มองเห็นความเข้าใจและเป็นไปจากพื้นที่และการทำงานของตัวเองอยู่แล้ว ดังนั้นไม่แปลกหาก ฮักมั่นจะเป็นหนึ่งในหนังอีสานที่บอกเล่าเรื่องราวของตัวเองในมุมมองที่ไม่ได้เย้ยหยัน เหยียดหยามแบบที่หนังคนเมืองชอบทำกัน ขณะเดียวก็ไม่ได้แสดงความสิ้นหวังในท้องที่แต่อย่างใด

                มันเต็มไปด้วยความเข้าใจต่อท้องถิ่นตัวเองและแผ่นดินอีสานมากแค่ไหน

                เพราะแบบนี้จึงไม่แปลกที่หนังจะตรงและนำเสนอสิ่งเรื่องราวทั้งหมดได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่คนเมืองไม่อาจจะทำได้

                แผ่นดินอีสานก็ควรปล่อยให้คนอีสานเล่าเรื่องนี้เองเถอะ

                คงไม่ต้องประหลาดใจอีกแล้วหากว่า หนังแนวท้องถิ่นนิยมกำลังจะเป็นกระแสที่จะเกิดขึ้นในประเทศนี้ เมื่อไม่ใช่แค่อีสาน แต่ทั้งใต้ รวมทั้ง เหนือเองก็เริ่มมีการทำหนังเพื่อบอกเล่าเรื่องของตัวเองด้วยคนในท้องถิ่นของตัวเองแล้ว

                ฮักมั่นจึงเป็นหนึ่งในหนังเรื่องหนึ่งที่ออกมาแล้วบอกเราว่า

                อีสานเปลี่ยนแปลงไปแล้ว

                และนี่ไม่ใช่เรื่องสุดท้ายอย่างแน่นอน

                เพราะเรายังมีอนาคตและเรื่องเล่าที่จะบอกส่งต่อกันไปอีกนานแสนนาน

                นี่คือเรื่องราวของฮักมั่น หนังอีสานที่ควรชมที่สุดในตอนนี้ครับ

บล็อกของ Mister American

Mister American
ปี 2515 ณ หมู่บ้านห่างไกลผู้คนในจังหวัดกาญจนบุรี แย้ม เด็กสาวผู้เคยป่วยหนักจนเกือบตายได้มีอาการแปลก ๆ เกิดขึ้น เธอเริ่มพูดจาด้วยคำหยาบคายกับคนในครอบครัวอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เริ่มโกหกและยุแยงให้คนในบ้านแตกคอกัน รวมทั้งลุกขึ้นมาตอนกลางคืนเพื่อนกินของสดทำให้คนในครอบครัวโดยเฉพาะ หยาด เกิดความสงสัยขึ
Mister American
สัปเหร่อ : คนตายคือ ครู และ คนอยู่คือ นักเรียน           “ความตาย...มันฆ่าเฮาได้แค่ครั้งเดียว แต่ความฮัก มันฆ่าเฉาไปเรื่อยๆๆ จนกว่าเฮาสิตายพุ่นเด้”บักมืด 
Mister American
                ระหว่างที่เขียนต้นฉบับบทความนี้อยู่นั้น การโหวตประธานรัฐสภาและรองประธานสองคนการประชุมสภาวันแรกได้จบลงแล้ว และ ผลคือ คุณวันมูหะมัดนอร์ มะทา จากพรรคประชาชาติ ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาคนใหม่ ร่วมกับ รองประธานสภาสองท่านจากพรรคก้าวไกล และ พรรคเพื่อ
Mister American
            คงไม่มีอนิเมชั่นเรื่องใดในซีซั่นนี้ที่เรียกว่า สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับบรรดาคนดูอนิเมชั่น และ คนดูหนังหลายคนได้เท่ากับ อนิเมชั่นซีรีย์เรื่อง Oshi no Ko หรือ ชื่อไทยว่า เกิดใหม่เป็นลูกโอชิ ผลงานดัดแปลงจากมังงะขายดีของ อากะ อาคาซากะ ที่ได้ฤกษ์ออกฉายไปเมื่อ
Mister American
                "พรมนิ้วลงไป หวังให้อัสนีกึกก้องด้วยละอองแสง                   กระหน่ำตีเข้าไปให้ถึงปลายทางของความเจ็บปวด
Mister American
                พอ Hellraiser ภาคใหม่จะลงฉายใน Hulu กันในวันที่ 7 ตุลาคมนี้ (ซึ่งไทยจะได้ดูกันใน Disney Plus) นับว่าเป็นการกลับมาอีกครั้งของพินเฮดและเหล่าซีโนไบร์ต หนึ่งในไอค่อนของโลกสยองขวัญที่โด่งดังไม่แพ้ เฟรดดี้ ครูเกอร์ แห่ง Nightmare of elm street , เ
Mister American
พึ่งจบกันไปหมาด ๆ สำหรับอนิเมชั่นเรื่องดังประจำซีซั่นนี้อย่าง Lycoris  Recoli จากค่าย A-1 Picture ที่นอกจากจะเป็นม้ามืดประจำซีซั่นนี้ที่ได้รับความนิยมแบบถล่มทลายจนแซงหน้าบรรดาอนิเมชั่นฟอร์มยักษ์เรื่องอื่น ๆ ไปแบบไม่มีกังขา โดผลโหวตจากสำนักอนิเมชั่นต่าง ๆ โหวตให้เรื่องนี้อยู่
Mister American
“ทำไมถึงไม่มีหนังสัตว์ประหลาดไทยดี ๆ ออกมาสักทีวะ ?”
Mister American
คงไม่ต้องบอกว่า ณ ช่วงเวลานี้ หลาย ๆ คนคงให้ความสนใจกับการชุมนุมของบรรดาหนุ่มสาววัยรุ่นที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มเยาวชนปลดแอก หรือ กลุ่มนักเรียน นักศึกษาคนรุ่นใหม่ที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ขับไล่เผด็จการ และ เปลี่ยนแปลงประเทศใหม่ กันอย่างแน่นอน โดยเฉพาะปรากฏการณ์ของการชุมนุมที่เกิ