Skip to main content

                คงไม่ต้องแปลกใจหาก KOE NO KATACHI หรือ รักไร้เสียง อนิเมชั่นเรื่องดังจากญี่ปุ่นโดยฝีมือผลงานของสตูดิโอ Kyoto Animation หรือที่เรียกติดปากนักดูอนิเมะว่า เกียวอนิเมะ ผู้ผลิตอนิเมชั่นชื่อดังอย่าง Clannad , Kanon , K-on  เป็นต้น จะกลายเป็นหนึ่งในอนิเมชั่นที่ได้รับการกล่าวขานเมื่อปี 2016 ที่ผ่านมาทั้งในด้านรายได้ที่แม้จะมีโรงในการฉายน้อยกว่า Kimi No Nawa ก็ตาม แต่ก็ทำเงินไปได้มหาศาล รวมทั้งคำวิจารณ์ที่ออกมาในทางด้านบวกเอามาก ๆ ทำให้มีเสียงเรียกร้องจากแฟน ๆ ชาวไทยที่ได้ชม Kimi No nawa พากันเรียกร้องให้นำเข้ามาฉาย และ ในที่สุดก็สมใจแฟน ๆ อนิเมชั่นที่ได้นำมาฉายให้แฟน ๆ ได้ชมจนได้

                แน่นอนว่า คงไม่แปลกใจหากในระหว่างที่เขียนบทความนี้ ผมไม่รู้ว่า รักไร้เสียงทำเงินได้ขนาดไหน แต่เสียงวิจารณ์และด้วยตัวเองที่ชมภาพยนตร์เรื่องนี้บอกได้ว่า นี่คือ หนึ่งในงานอนิเมชั่นสะท้อนสังคมที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งเท่าที่มีการสร้างกันมาทีเดียว

               เรื่องของรักไร้เสียงนั้นเป็นเรื่องราวของอิชิดะ โชยะ เด็กหนุ่มม.ปลายที่มีอดีตอันแสนมืดมน เขาเคยเป็นหัวโจกของเด็กในห้องในการกลั่นแกล้งเด็กสาวหูหนวกที่ชื่อว่า นิชิมิยะ โชโกะ จนบาดเจ็บต้องย้ายโรงเรียนไป นั้นทำให้เขาตกเป็นเป้าหมายของกลั่นแกล้งในโรงเรียนแทนทำให้โชยะหมดอาลัยตายอยาก อยากตายไปให้พ้น ๆ กระทั่งขึ้นม.ปลาย เขาถึงได้เจอกับโชโกะอีกครั้ง ครั้งนี้เขาตัดสินใจที่จะไถ่บาปในอดีตด้วยการขอเป็นเพื่อนกับเธอ เรื่องราวของชายหนุ่มผู้ถูกปฏิเสธจากสังคมกับสาวน้อยหูหนวกจึงเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง

                สิ่งที่น่าสนใจในอนิเมชั่นเรื่องนี้นั้นก็คือ การที่อนิเมชั่นไม่ใช่แนวรักใส ๆ แบบที่หลายคนเห็นในตัวอย่าง เพราะตามจริงแล้ว นี่คือ อนิเมชั่นแนว Coming of Age (ก้าวข้ามวัย) ที่นำเสนอเรื่องราวเกิดขึ้นรอบตัวของโชยะและโชโกะพร้อมกับแสดงให้ถึงสิ่งที่เรียกว่า ด้านมืดที่ซุกซ่อนอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า สังคมญี่ปุ่น ที่ส่งผลให้ตัวเรื่องนี้นำพาไปถึงความบิดเบี้ยวที่ทำให้ทั้งสองคนก้าวเท้าสู่ความมืดมิดไปทีล่ะน้อย

                เสียงในเรื่องนี้เล่าเรื่องอันใดบ้าง ผมจะพาทุกท่านไปชมกันครับ

1. การกลั่นแกล้ง ไม่ใช่แค่เรื่องของคนแกล้งและถูกแกล้งอีกต่อไป

                จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้มาจากการกลั่นแกล้งในห้องเรียน

                อย่างที่เรารู้ ๆ กัน ว่า ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีอัตราการกลั่นแกล้งในห้องเรียนในห้องเรียนสูงมากที่สุดประเทศหนึ่งจนแทบจะเรียกว่า การกลั่นแกล้งและฆ่าตัวตายแทบจะเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของชาตินี้ไปแล้ว การกลั่นแกล้งและฆ่าตัวตายเป็นเหมือนเรื่องใหญ่อย่างมากในญี่ปุ่นเสียด้วยซ้ำ

                อิชิดะ โชยะ พระเอกของเรื่องนี้กลั่นแกล้งโชโกะด้วยเหตุผลว่า รำคาญที่เธอเป็นคนพิการที่เข้ามาเรียนในห้อง ท่ามกลางความรู้สึกแปลกแยกของบรรดาคนในห้องที่ต่างพากันเอือมระอาและรำคาญเธออย่างมาก ทั้งการพูดไม่ได้ทำให้การร้องประสานเสียงของเธอเข้ากับคนอื่นไม่ได้ การจะต้องสนทนาผ่านทางภาษามือและการเขียนยิ่งทำให้หลายคนมองว่า เธอเป็นตัวถ่วงที่น่ารำคาญขึ้นมา แน่นอนว่า โชยะเป็นคนที่รู้สึกแบบนั้น เพราะ เขานี่ล่ะที่เตือนตัวของโชโกะว่า

                “ถ้าไม่พยายามมากกว่านี้ พวกนั้นจะเบื่อเธอเอานะ”

                คำพูดของโชยะเหมือนบอกใบ้ให้รู้ว่า ต่อให้ไม่ใช่เขา โชโกะก็ต้องถูกคนอื่นแกล้งอยู่ดีในสักวันหนึ่งแน่นอน ถ้าไม่ใช่ตัวเขาเริ่มต้น

                แน่ล่ะว่า หลายคนสงสัยว่า ทำไมโชยะถึงแกล้งโชโกะกันเล่า

                คำตอบมาจากสถานะของโชยะในห้องเองที่เขาเริ่มสั่นคลอนเพราะ คนสนใจเขาน้อยลง บรรดาเพื่อนผู้ชายมองว่า เขาน่าเบื่อ ไม่มีอะไรโดดเด่นเลิกเรียนก็ไปโดดน้ำเล่น เที่ยวเตร่ไปวัน ๆ ความไม่มีอะไรน่าสนใจนี้แหละที่ทำให้โชยะรู้สึกว่า เขาจะต้องทำอะไรสักอย่างที่ทำให้คนในห้องพอใจ

                การมาของโชโกะทำให้เขาตัดสินใจว่าจะเป็นคนกลั่นแกล้งเธอ

                แน่ล่ะว่า ในช่วงแรกที่โชยะกลั่นแกล้งเธอนั้น ทุกคนในห้องก็พากันร่วมกันแกล้งเธอแทบทั้งนั้น บางคนเอาหูไปนานเอาตาไปไร่ไม่สนใจ บางคนหัวเราะเยาะ บางคนสนุกสนานกับสิ่งที่เกิดขึ้น บางคนทำท่าเหมือนเฉยเมยไม่รู้เรื่องอะไร แน่ล่ะว่า ในทางทฤษฏีนั้นมันทำให้โชยะรู้สึกว่า การกระทำนี้ควรจะทำเพราะ คนในห้องจะชื่นชอบ

                “ไม่มีใครอยากเป็นแกะดำหรอก ทุกคนก็ต้องเอาตัวรอดทั้งนั้น”

                ความเงียบงันอันเกิดจากฉันทามตินี้น่ากลัวมาก น่ากลัวจนทำให้การกลั่นแกล้งมันเลยเทอญไปทุกนาที จากแกล้งเอาสนุกเป็นแกล้งที่รุนแรงขึ้น โชยะเริ่มทำลายเครื่องช่วยฟังราคาแพงโชโกะถึง 5 เครื่องก่อนจะจับลงด้วยการกระชากออกจากหูของเธอจนบาดเจ็บนั้นเอง

                ตรงนี้คือ ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เรื่องราวมันเลวร้ายขึ้นทันที

                แน่นอนว่า มันปลอกเปลือกสังคมญี่ปุ่นอันสวยงามจนพังทลายไปเลย

                เมื่อโชโกะได้รับบาดเจ็บเรื่องทุกอย่างมันก็แดงขึ้นมา ทั้งการกลั่นแกล้งในห้องเรียน และ การทำลายเครื่องช่วยฟัง การสอบสวนในห้องเรียนเกิดขึ้น แน่ล่ะว่า หากทุกคนช่วยกันเงียบก็น่าจะผ่านไปได้แบบที่สังคมไทยชอบทำ แต่ที่ญี่ปุ่นไม่ใช่การกลั่นแกล้งในสังคมนั้นเลวร้ายและอาจจะทำให้ภาพลักษณ์ของโรงเรียน ห้อง และ ครูพังได้ ดังนั้นจำเป็นต้องหาใครรับบาปไป

                โชยะเองก็คือ คนที่ต้องรับผลกระทบกันนั้น

                แม้ว่า เขาจะเป็นคนแกล้งจริง ๆ แถมเป็นหัวโจกด้วย แต่สิ่งที่อนิเมะสะท้อนคือ การบูชายัญโยนความผิดทั้งหมดให้เขา ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนสนิทที่ร่วมกันกลั่นแกล้งก็ออกตัวว่า ห้ามแล้วแต่ไม่ฟัง อีกคนที่หัวเราะไปด้วยกลับทำเงียบ ขณะที่โชยะพยายามบอกว่า มันก็ร่วมกันทั้งห้องนั้นแหละ แต่ทุกคนกลับผลักไสไล่ส่งให้เขารับผิดชอบเพียงผู้เดียว แม้แต่อาจารย์ประจำห้องที่รู้ว่ามีการกลั่นแกล้งมาตลอด และแสดงท่าทีเฉยเมยกับการกลั่นแกล้งนั้นยังโยนเอาความผิดให้เขาไปด้วย ยิ่งทำให้เราเห็นภาพสังคมบูชายันต์ผู้อื่นในห้องเรียนนี้ได้อย่างดี

                การโยนทุกอย่างให้เขาคือ จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงสถานะของเขาจากเพื่อนร่วมชั้นเป็นเป้าหมายกลั่นแกล้งแทน

                ที่ทุกคนแกล้งเขานั้นมาจากเหตุผลว่า เขากำลังจะลากคนอื่นไปซวย เนื่องจากไม่มีใครอยากได้ตราบาปเป็นคนแกล้งคนอื่นนักหรอก การโยนให้เขาไปนั้นคือ ความสบายใจของพวกเขาที่แสดงให้ความเย็นยะเยือกที่ทำให้เรารู้สึกจิตใจของคนในห้องนั้นต่ำช้าและน่ากลัวกว่าการกลั่นแกล้งของโชยะหลายเท่า

                แบบที่โชยะตะโกนบอกว่า ทุกคนก็ทำทั้งนั้น ถ้าทุกคนเอ่ยปากห้ามสักนิด ทุกอย่างก็คงไม่เป็นแบบนี้ เพราะ ทุกคนเงียบ ไม่มีใครกล้าพูด บางคนหัวเราะ นั้นแหละที่ทำให้ทุกอย่างเลวร้ายลง

                สุดท้ายโชยะก็กลายเป็นเด็กหนุ่มที่ปิดกลั่นตัวเองหลังจากนั้น เขารับรู้ความเข้าใจว่า การถูกแกล้งเป็นยังไง ขณะที่เขาเองก็ไม่กล้าคบหากับใครเพราะ กลัวโดนหักหลังแบบสมัยที่เป็นเด็กประถมนั้นเอง

                “ฉันมักจะก้มหน้าลงแล้วเดิน ฉันปิดกั่นหูของฉันไม่ให้ได้ยินเสียงคนอื่นพูด”

                โชยะบอกแบบนั้น เพราะนับจากนั้นเขาก็กลัวที่จะไปมีความสัมพันธ์กับใครทำได้แต่ก้มหน้าเท่านั้นด้วยความรู้สึกลัวความสัมพันธ์กับคนรอบข้างด้วยกลัวอดีตจะเปิดเผยและกลัวคนรอบข้างหักหลังจึงไม่แปลกหรอก หากว่า เขาจะได้พบกับโชโกะอีกครั้งในช่วงม.ปลาย และหวังว่า เขาจะสามารถไถ่บาปในอดีตที่กลั่นแกล้งเธอได้ โดยหารู้ไม่ว่า ก็ไม่ได้มีแต่เขาคนเดียวที่ต้องอยู่ด้วยความรู้สึกมืดมนอยากตายเท่านั้น

                เด็กสาวหูหนวกคนนี้ก็เช่นกัน

2. คนพิการ เท่าเทียมกับคนในสังคมปกติจริงเหรอ ?

                หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจในอนิเมชั่นเรื่องนี้ก็คือ การที่มันให้เราเห็นว่า ความพิการของโชโกะคือ จุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด แน่ล่ะว่า หนังออกแบบโชโกะออกมาน่ารักมาก ๆ แม้จะพูดไม่ได้ แต่เธอก็พยายามสื่อสารกับคนอื่นอย่างเต็มที่ ทว่า เอาจริงแล้ว ความพิการของเธอมีซ่อนอยู่กันแน่ ?

                หากเจาะเข้าไปที่ครอบครัวของโชโกะแล้ว นี่คือ สิ่งที่ทำให้รู้สึกว่า เด็กสาวคนนี้แบกอะไรเอาไว้หนักแค่ไหนกัน

                ครอบครัวของโชโกะประกอบไปด้วย ยาย แม่ และ น้องสาว พ่อของเธอหย่าขาดกับแม่ด้วยเหตุผลว่า มีลูกไม่สมประกอบ (ซึ่งเป็นการฟ้องหย่าทำให้แม่ได้รับเงินค่าเลี้ยงดูมามากโขทีเดียว) แน่นอนว่า แม่ของโชโกะพยายามจะให้ลูกเรียนโรงเรียนธรรมดาด้วยเหตุผลว่า ต้องการให้ลูกสาวมีความเท่าเทียมกันคนปกติทั่วไป แต่ทว่าการตัดสินใจนั้นผิดพลาดอย่างรุนแรงเพราะ ทันทีที่โชโกะย้ายเข้าไปเรียนในโรงเรียนคนธรรมดานั้น ครูประจำชั้นถามว่า ทำไมไม่ให้ไปเรียนโรงเรียนเฉพาะ แม่ของเธอก็ยืนกรานว่า ลูกของเธอควรจะเรียนในโรงเรียนปกติ เพราะ ลูกของเธอมีความปกตินั้นส่งผลให้เธอให้ลูกสาวมาเรียนที่นี่เพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตกับเด็กปกติโดยไม่รู้เลยว่า

                นั่นคือ จุดเริ่มต้นที่ทำให้ทุกอย่างเลวร้ายลง

                ทันทีที่โชโกะย้ายเข้ามา ทุกคนต่างเห็นใจเธอที่ผิดปกติ ทว่าไม่นานนักความเห็นใจก็เริ่มเป็นความน่ารำคาญเมื่อ โชโกะนั้นร้องเพลงไม่ได้ ทำให้คนในห้องพูดออกมาว่า

                “ยังงี้งานร้องเพลงประสานเสียงแพ้แน่ ๆ”

                แถมตัวโชโกะเองก็สื่อสารกับคนอื่นลำบาก เพราะต้องอาศัยการช่วยฟัง การให้เพื่อนสะกิดทุกครั้ง หรือกระทั่งต้องเขียนในสมุด ซึ่งเป็นการสื่อสารที่ยากลำบากจนทำให้อูเอโนะ หัวโจกของห้องเริ่มรำคาญบวกกับการเจ้าตัวพยายามจะตามติดยิ่งไปกันใหญ่สุดท้ายแล้วคนในห้องก็เบื่อหน่ายเธออย่างแท้จริง

                แถมผู้ใหญ่ในเรื่องก็ไม่มีใครมองเห็นปัญหาว่า มาจากไหน ครูประจำชั้นก็เลือกจะหาครูสอนภาษามือมาช่วยโชโกะยิ่งทำให้สถานะของเธอในห้องดูพิเศษมากขึ้นและขัดกับคำพูดของแม่โชโกะว่า อยากให้เธอเรียนเหมือนคนทั่วไป การทำแบบนั้นส่งผลให้เธอถูกคนในห้องรังเกียจมากขึ้น

                ตรงนี้นี่เองที่น่าสนใจว่า คนในห้องไม่ชอบโชโกะเพราะ ความพิเศษของเธอและน่าสงสารนั้นหรือเปล่า

                สุดท้ายก็อย่างที่เห็นว่า การกลั่นแกล้งเริ่มต้นจนได้

                จริง ๆ แล้ว การมาของโชโกะปลอกเปลือกสังคมอันสวยงามจนพังทลาย เพราะ เอาจริง คนเราน่ะมันไม่ได้จิตใจสวยงามเหมือนคำพูดหรอก เราทุกคนเกลียดความต่างที่ไม่เหมือนเราทั้งนั้น คนในห้องไม่ชอบโชโกะเพราะ เธอพูดไม่ได้ ฟังไม่ได้ยินส่งผลให้พวกเขามองเธอเป็นตัวน่ารำคาญไปเรียบร้อย แม้หลายคนบอกว่า คนในห้องผิด พระเอกผิด แต่คำถามคือ ถ้าเป็นในสถานการณ์แบบนั้น คุณจะกล้าเป็นพระเอกลุกขึ้นต่อต้านคนในห้องที่มีฉันทามติแบบนั้นได้ยังไงกันเล่า

                มันแรงมากเลยนะที่บอกว่า ความเท่าเทียมของคนพิการที่เท่ากับคนทั่วไป มันไม่มีจริง

                สังคมมันไม่สวยงามแบบนั้น เราทุกคนเห็นแก่ตัว เราทุกคนเป็นแบบนั้น และที่สำคัญการที่สังคมเป็นแบบนี้ทำให้โชโกะกลายเป็นตัวละครที่แบกรับความมืดมนในใจตลอดมา โชโกะไม่เคยได้เลือกเส้นทางการเดินตัวเองเลย แม้ของเธอคุมชีวิตและมองว่า เธอเป็นคนพิการนะ เพราะงั้นต้องดูแลให้มากทั้งที่เอาจริงแล้วเธอมีความคิดและสมองเหมือนคนทั่วไป ยิ่งทำเหมือนเธอช่วยตัวเองไม่ได้ยิ่งหนักมากขึ้น (ถึงขั้นให้น้องสาวประกบก็หนักแล้ว) ความน่าอึดอัดทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนทำให้เธอเป็นหนึ่งในตัวละครที่ซับซ้อนที่สุดคนหนึ่งเลยด้วยซ้ำ

                เราพบว่า ตั้งแต่เกิดมาโชโกะพบว่า การเกิดของตัวเองทำให้พ่อต้องหย่าขาด แม่ต้องเลี้ยงดูอย่างยากลำบาก แถมการตัดสินใจของแม่ทำให้เธอไปเรียนในโรงเรียนคนธรรมดาจนถูกแกล้งสารพัดต้องย้ายออกมาเรียนโรงเรียนพิเศษที่มีคลาสของคนหูหนวก ทว่าสิ่งที่เราเห็นคือ เธอไม่มีเพื่อน

                เธอปรารถนาเพียงเพื่อน หรือ ใครสักคนที่จะฟังคำพูดของเธอก็เท่านั้น

                จนกระทั่งโชยะในชั้นม.ปลายปรากฏตัวขึ้นพบเธอโดยบังเอิญ

                เขาที่เอ่ยปากอยากเป็นเพื่อนกับเธอเหมือนเช่นที่เธอเคยอยากเป็นเพื่อนกับเขานั้นได้เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดลง ณ ที่นี้

3. การฆ่าตัวตาย และ การยอมรับบาป

                สิ่งที่หนังพยายามนำเสนอคือ ภาพของจิตใจอันบิดเบี้ยวของตัวละครสองตัวอย่าง โชยะ และ โชโกะที่เราพบว่า ทั้งสองคนเป็นตัวละครที่ต้องปิดกลั่นเสียงทั้งหมดในชีวิตยกเว้นพวกเขาเอง แน่ล่ะว่า ก่อนหน้าที่ทั้งสองคนจะพบกันอีกครั้งนั้น พวกเขาต่างวนเวียนอยู่กับความรู้สึกว่า ตัวเองควรตาย ๆ ไปซะทั้งนั้น

                โชยะมองว่า เขาทำให้แม่เดือดร้อนมาตลอดและไม่ควรมีชีวิตอยู่ เขาที่ไม่มีจุดหมายปลายทางของชีวิตจึงตัดสินใจจะฆ่าตัวตายจึงทำงานพิเศษ และเอาของของตัวเองไปขายทั้งหมดเพื่อเอาเงินมาใช้ที่แม่เคยเสียเงินก้อนใหญ่ให้กับแม่โชโกะเพราะ เขาทำให้ที่ช่วยฟังของเธอเสียถึง 5 เครื่องทีเดียว ทว่า แม่ของเขากลับไม่ยอมรับเงินนั้นและบอกให้เขาเลิกล้มความตั้งใจซะ เขาจึงทำตามแต่ก็ยังไม่เลิกคิดจะตายจนกระทั่งพบกับโชโกะอีกครั้ง

                เขาจึงตัดสินใจจะใช้ชีวิตทั้งหมดไถ่โทษด้วยการเป็นเพื่อนกับเธอ นำไปสู่เรื่องราวในนี้ที่พูดคือ การไถ่บาปของเด็กหนุ่มคนนี้น่ะเอง

                ทว่ากลับโชโกะที่น่าจะเป็นตัวละครบริสุทธิ์เหมือนนางฟ้านั้น ผมกล่าวไปแล้วว่า เธอเป็นตัวละครที่ซับซ้อนมาก เพราะ ปัญหาครอบครัวนั้นทำให้ต้องแบกรับทุกอย่างเอาไว้ และที่น่าตกใจคือ คำพูดของยูสึรุ น้องสาวของเธอที่มักจะชอบถ่ายรูปซากสัตว์ที่ตายมาติดในบ้านด้วยเหตุผลหลัก ๆ ก็คือ เธอต้องการจะบอกพี่สาวของเธอว่า ความตายเป็นยังไง กระทั่งคำพูดของเธอหลุดออกมาเมื่อพี่สาวของเธอพยายามจะฆ่าตัวตายอีกครั้งว่า

                “หนูคิดมาตลอดว่า รูปพวกนี้จะช่วยให้พี่ไม่อยากฆ่าตัวตายอีก”

                คำพูดนี้บอกเราว่า โชโกะพยายามจะฆ่าตัวตายหลายครั้ง แต่ก็ล้มเลิกหรือล้มเหลวเสมอมา อาจจะเพราะ มีน้องสาวหรือคนรอบข้างช่วย เธอถึงไม่สามารถทำได้ กระนั้นเองยิ่งพลาดยิ่งทำให้เธอคิดมาก เป็นตัวละครที่อยู่ไปวัน ๆ โดยมองหาเพียงที่ตายเท่านั้นเอง แม้กระทั่งรอยยิ้มนั้นเราแทบไม่เห็นโชโกะยิ้มแบบใจจริงเลยสักครั้ง

                เพราะ รอยยิ้มคือ การฝืนยิ้ม

                ยิ้มเพราะคนอื่นให้ยิ้ม

                ไม่ได้ยิ้ม เพราะ ตัวเองมีความสุขเลยสักนิดเดียว

                เสียงของเธอไม่เคยไปส่งใคร เสียงอยากตะโกนบอกว่า ใครก็ได้ฟังที่ฉันพูดทีนั้นเองที่ทำให้เธอไม่สามารถอยู่ในโลกใบนี้ได้ และ วางแผนฆ่าตัวตายอยู่เสมอ

                เนื่องจากเธอโทษตัวเองว่า ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ทำให้คนอื่นไม่มีความสุข เธอจึงรู้สึกว่า ควรจะตายไปให้พ้น ๆ

                นั้นคือ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากตัวของเธอนั้นเอง

                แบบที่เธอเห็นโชยะต้องเสียเพื่อนและมิตรภาพทั้งหมดเพราะ เธอ

                มันเป็นจิตใจด้านลบที่เรารับรู้และเข้าใจถึงความพ่ายแพ้ต่อความจริงนั้นนำไปสู่การฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นในเรื่อง ทว่า ครั้งนี้ โชยะช่วยเธอเอาไว้

                พร้อมกับความหมายของการอยู่ต่อไปให้เธอ

                ต้องบอกว่า อนิเมชั่นและมังงะเรื่องนี้ได้สื่อถึงการฆ่าตัวตายว่า มันไม่ใช่การหนีปัญหาหรือการแก้ไขที่ถูกต้องแต่อย่างใด มันเป็นอนิเมชั่นที่บอกว่า เราควรจะลุกขึ้นสู้เพื่อแก้ไขปัญหานี้แบบที่โชโกะที่คอยยอมแพ้มาตลอด ตัดสินใจลุกขึ้นมาเพื่อจะปกป้องสิ่งที่โชยะพยายามทำเอาไว้ให้ได้

                นั้นคือ ครั้งแรกที่ตัดสินใจก้าวเดิน

                จากเด็กสาวที่มืดมนและเชื่อว่าตัวเองไม่มีค่า เมื่อได้รับความหมายของชีวิตว่า เธอควรจะทำอะไร โชโกะตัดสินใจที่จะลุกขึ้นและเผชิญหน้ากับความจริงของตัวเองเสียที

                เพราะ ไม่มีใครไปแก้อดีตได้ ยกเว้นเพียงยอมรับอดีตและบาปของตัวเองเท่านั้น

                เพื่อจะก้าวเดินต่อไป

                แบบที่พระเอกที่เคยคิดฆ่าตัวตายมาตลอดได้รับรู้ว่า ความตายมันเป็นเช่นไร มันโดดเดี่ยว น่ากลัวและเศร้าหมองมากแค่ไหน เขาได้รู้ว่าคนรอบข้างรักเขามากเพียงใด และ รู้ตัวเองควรจะมีชีวิตอยู่อย่างไรกันแน่

                นี่คือ เหตุผลที่ทำให้ทั้งโชโกะและโชยะต่างมองหาใครสักคนมาตลอด

                ใครสักคนที่จะรับฟังบาปกรรมของพวกเขา

                ใครสักคนที่จะได้ยินเสียงตะโกนกันนั้น

4. ครอบครัว แม่เลี้ยงเดี่ยวในสังคมญี่ปุ่นอันโหดร้าย

                สิ่งที่โดดเด่นเอามาก ๆ ในอนิเมชั่นเรื่องนี้นอกจากการพูดถึงปัญหาสังคมและความมืดมนในจิตใจตัวเอกสองคนแล้วนั้น สิ่งที่ยอดเยี่ยมคือการพูดถึงระบบครอบครัวและสังคมญี่ปุ่นโดยระบบแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เราไม่ค่อยเห็นกันนัก อาจจะเพราะ ตัวผู้กำกับในเรื่องเป็นผู้หญิงด้วยทำให้การขับเน้นเรื่องราวนี้ค่อนข้างน่าสนใจขึ้นด้วย อย่างที่รู้กันว่า หนังให้เห็นว่า ครอบครัวของโชยะ และ โชโกะ ต่างถูกเลี้ยงด้วยแม่ที่ต้องเลี้ยงลูกเพียงลำพัง ทว่า ทั้งสองคนกลับมีองค์ประกอบต่างกันโดยสิ้นเชิง

                แม่ของโชยะ เป็นแม่เลี้ยงเด็กลูกสองคนที่เปิดร้านตัดผมในเมือง ลูกสาวคนโตของเธอเป็นจิ๊กกี๋ที่สร้างแต่เรื่องมาให้ไม่เว้นแต่ล่ะวัน แถมยังเปลี่ยนแฟนเป็นว่าเล่นจนมาถึงเปโดร ชาวบราซิลที่มีลูกด้วยกันคือ มาเรียผู้แสนน่ารัก แน่นอนว่า แม่ของเขาต้องขับเคลื่อนครอบครัวไปพร้อมกับตัวโชยะที่มักจะหาเรื่องปวดมาให้บ่อย (ไม่ต่างกับพี่สาวหรอกนะ) แต่เธอก็เป็นแม่ที่ดีและใจเย็นกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดี พร้อมกับตั้งสติได้ดีที่สุดจนเรียกว่า เป็นตัวละครที่มีสติมากที่สุดในเรื่องเสียด้วยซ้ำ

                แน่นอนว่า ลองคิดสภาพในสังคมญี่ปุ่นการเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวโดยไม่มีสามีนั้นยากมาก นอกจากจะต้องรับภาระการเลี้ยงดูลูกแล้วยังต้องเผชิญหน้าภาพลักษณ์ของสังคมผู้ชายเป็นใหญ่อีกด้วย ซึ่งแม่ของโชยะทำได้ดีในการเผชิญหน้ากับสิ่งเหล่านี้และพูดง่าย ๆ ว่า เจ้าตัวประสบความสำเร็จในการยืนหยัดในสังคมนี้ได้อย่างชัดเจน

                ขณะที่แม่ของโชโกะกลับเรียกว่าอยู่ในสถานะที่น่าเหนื่อยหน่ายใจ เพราะ นับจากโชโกะเกิดมา เธอต้องเลิกกับสามีเพราะ ลูกป่วยไม่สมประกอบ แม้ว่าจะชนะได้เงินค่าเลี้ยงดูมาเยอะ แต่อย่างที่เห็น เธอไม่สามารถแบกรับความหนักหน่วงในสังคมได้เพียงลำพัง แม้จะมียายคอยช่วย แต่การเลี้ยงดูลูกสาวที่ผิดปกตินั้นยากมาก แถมยังต้องแสดงให้เห็นว่า ลูกสาวเท่าเทียมกับคนทั่วไปอีกนั้นส่งผลให้เธอนั้นอยู่ในสภาพบิดเบี้ยวไปไม่ต่างกัน สุดท้ายเธอก็มองว่า ลูกทำอะไรไม่ได้ด้วยตัวเองแทนจนมองว่า ลูกตัดสินใจเองไม่ได้ไปในทีสุด

                สภาพนี้แหละที่ทำให้โชโกะกลายเป็นคนคิดมากเก็บกดไม่สามารถพูดอะไรกับใครได้อีก แม้แต่ใจจริงและความคิดของเธอก็ตาม แม้แต่ยูสึรุที่พยายามพูดแทนพี่สาว แต่ก็อีกล่ะ แม่ที่น่าจะเป็นเข้าใจในตัวของเธอมากที่สุดกลับไม่เคยได้ยินเสียงของเธอเลยสักครั้ง

                ความแตกต่างนี้ทำให้เรารู้สึกว่า หนังที่มีความเฟมินิสต์สูงมากโดยเฉพาะการสะท้อนภาพความทรหดของแม่สองคนที่ต่างกัน และต้องแบกรับอนาคตของคนทั้งบ้านเอาไว้ด้วย ซึ่งอย่างเห็นแหละว่า การมาของโชยะและโชโกะทำให้ครอบครัวสองครอบครัวที่แทบไม่หันหน้าใส่กันเข้าหากันและได้เรียนรู้ทุกอย่างไปพร้อมกัน

                เหมือนดั่งคำที่ว่า อดีตที่เลวร้ายมันไม่สามารถแก้ไข ได้มีเพียงการเรียนรู้จากสิ่งนั้นและทำให้ปัจจุบันให้ดีที่สุด

                ใครจะคิดว่า แม่ของโชยะและโชโกะจะเป็นเพื่อนกันหลังจากนี้ และทำให้สองครอบครัวติดต่อหาสู่กันได้อย่างไม่ต้องหลบ ๆ ซ่อนอีกต่อไป

                การเผชิญหน้ากับปัญหาและมีคนแบกรับปรึกษาเรื่องนี้ได้อย่างแท้จริง คือสิ่งที่หนังมันบอกเรา

                ไม่มีใครอยู่คนเดียวได้หรอกนอกเสียจากการพูดเปิดอกให้ได้ยินก็เท่านั้นเอง

5. Coming of Age

                นี่ไม่ใช่หนังรักไร้สาระ ไม่ใช่อนิเมชั่นที่นั่งเพ้อรำพันถึงความรักแต่มันคือ อนิเมชั่นที่พาเราไปให้รู้จักถึงสิ่งที่เรียกว่า การก้าวข้ามอดีตเพื่อความเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต

                หลังข้ามผ่านเรื่องราวทั้งหมดแล้วตัวละครอย่าง โชยะและโชโกะต่างได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันในการที่จะประครองตัวเองให้สามารถข้ามพ้นเรื่องราวต่าง ๆ ไปได้

                โชโกะกล้าที่จะยืนหยัดเผชิญหน้ากับความอ่อนแอของตัวเองเพื่อรักษาเสียงที่จะฟังตัวเองอย่าง โชยะเอาไว้พร้อมกับพยายามรักษามิตรภาพและเรียนรู้ว่า ตัวเองควรจะเป็นเช่นไร เธอไม่จำเป็นเด็กสาวแสนซื่อแสนดีอีกแล้ว เธอแค่แสดงออกทุกอย่างไปที่คิดก็พอ ไม่แปลกที่เธอจะสามารถว่า อูเอโนะ อดีตเพื่อนเก่าว่า ยัยบ้าแบบเต็มปาก (ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอสมัยก่อนไม่เคยทำมาก่อน)

                 ตัวของอูเอโนะก็แสดงให้เห็นว่า เธอมีความสนใจในตัวโชยะและเกลียดโชโกะที่เข้ามาในชีวิตของเขา เธอจึงตัดสินใจเป็นศัตรูแบบตรง ๆ (โชโกะก็ตัดสินใจจเป็นศัตรูด้วย) แต่ถึงงั้นก็อูเอโนะเป็นตัวละครที่เข้าใจเรื่องราวทั้งหมดและทุกอย่างบิดเบี้ยวไปได้อย่างไร และเธอก็ได้ก้าวข้ามอดีตมาสู่ปัจจุบันที่เธอสามารถเดินเคียงข้างโชยะเช่นกัน

                ยูสึรุ น้องสาวของโชโกะเองก็ตัดสินใจจะกลับไปเรียนอีกครั้งเพื่อเริ่มต้นใหม่แบบที่พระเอกทำให้พี่สาวของเธอก้าวเดินต่อไปได้ เธอมีฝีมือในการถ่ายภาพและคิดว่าจะบันทึกเรื่องราวนี้ต่อ

                เช่นเดียวกันคนอื่น ๆ ที่ก้าวผ่านความเจ็บปวด ความมืดมน ความผิดพลาดในอดีตแล้วเดินต่อไป

                โชยะเองก็เหมือน เขาคงประหลาดใจที่ตัวเขาซึ่งไม่คิดว่า ตัวเองจะได้มีเพื่อน จะได้ยืนอยู่ข้าง ๆ คนรอบข้างแบบนี้ เขาค่อย ๆ เอามือที่ปิดหูของตัวเองออกอย่างช้า ๆ แล้วเงยหน้าขึ้นมองไปยังเบื้องหน้า มองไปยังใบหน้าของคนรอบข้างแบบเต็มตาเสียที

                ใช่แล้ว เขารู้ตัวแล้วว่า ตัวเองก็ได้เวลาต้องก้าวข้ามอดีตเหมือนกัน

                เพราะสิ่งสำคัญคือ ปัจจุบันที่เขาเลือกเดินอยู่ต่างหาก

                วินาทีที่เขามองเห็นหน้าคนรอบข้างที่ยิ้มส่งให้เขา เดินเคียงข้างเขา รวมทั้งรอยยิ้มอันแท้จริงของโชโกะนั้นบ่งบอกว่า สิ่งที่พระเอกตั้งใจทำมาตลอดได้สัมฤทธิ์ผลแล้ว

                แม้อดีตจะลบเลือนไม่ได้ แต่เราก็ใช้มันเรียนรู้แล้วเดินต่อไปสู่อนาคตได้

               แน่นอนว่า นี่คือ เรื่องราวของรักไร้เสียง อนิเมชั่นก้าวข้ามวัยที่ยอดเยี่ยมที่สุดเรื่องหนึ่งในรอบหลายปีที่ทุกคนควรหาโอกาสไปชมในโรงภาพยนตร์กันครับ 

+++++++++++++++

บล็อกของ Mister American

Mister American
ปี 2515 ณ หมู่บ้านห่างไกลผู้คนในจังหวัดกาญจนบุรี แย้ม เด็กสาวผู้เคยป่วยหนักจนเกือบตายได้มีอาการแปลก ๆ เกิดขึ้น เธอเริ่มพูดจาด้วยคำหยาบคายกับคนในครอบครัวอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เริ่มโกหกและยุแยงให้คนในบ้านแตกคอกัน รวมทั้งลุกขึ้นมาตอนกลางคืนเพื่อนกินของสดทำให้คนในครอบครัวโดยเฉพาะ หยาด เกิดความสงสัยขึ
Mister American
สัปเหร่อ : คนตายคือ ครู และ คนอยู่คือ นักเรียน           “ความตาย...มันฆ่าเฮาได้แค่ครั้งเดียว แต่ความฮัก มันฆ่าเฉาไปเรื่อยๆๆ จนกว่าเฮาสิตายพุ่นเด้”บักมืด 
Mister American
                ระหว่างที่เขียนต้นฉบับบทความนี้อยู่นั้น การโหวตประธานรัฐสภาและรองประธานสองคนการประชุมสภาวันแรกได้จบลงแล้ว และ ผลคือ คุณวันมูหะมัดนอร์ มะทา จากพรรคประชาชาติ ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาคนใหม่ ร่วมกับ รองประธานสภาสองท่านจากพรรคก้าวไกล และ พรรคเพื่อ
Mister American
            คงไม่มีอนิเมชั่นเรื่องใดในซีซั่นนี้ที่เรียกว่า สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับบรรดาคนดูอนิเมชั่น และ คนดูหนังหลายคนได้เท่ากับ อนิเมชั่นซีรีย์เรื่อง Oshi no Ko หรือ ชื่อไทยว่า เกิดใหม่เป็นลูกโอชิ ผลงานดัดแปลงจากมังงะขายดีของ อากะ อาคาซากะ ที่ได้ฤกษ์ออกฉายไปเมื่อ
Mister American
                "พรมนิ้วลงไป หวังให้อัสนีกึกก้องด้วยละอองแสง                   กระหน่ำตีเข้าไปให้ถึงปลายทางของความเจ็บปวด
Mister American
                พอ Hellraiser ภาคใหม่จะลงฉายใน Hulu กันในวันที่ 7 ตุลาคมนี้ (ซึ่งไทยจะได้ดูกันใน Disney Plus) นับว่าเป็นการกลับมาอีกครั้งของพินเฮดและเหล่าซีโนไบร์ต หนึ่งในไอค่อนของโลกสยองขวัญที่โด่งดังไม่แพ้ เฟรดดี้ ครูเกอร์ แห่ง Nightmare of elm street , เ
Mister American
พึ่งจบกันไปหมาด ๆ สำหรับอนิเมชั่นเรื่องดังประจำซีซั่นนี้อย่าง Lycoris  Recoli จากค่าย A-1 Picture ที่นอกจากจะเป็นม้ามืดประจำซีซั่นนี้ที่ได้รับความนิยมแบบถล่มทลายจนแซงหน้าบรรดาอนิเมชั่นฟอร์มยักษ์เรื่องอื่น ๆ ไปแบบไม่มีกังขา โดผลโหวตจากสำนักอนิเมชั่นต่าง ๆ โหวตให้เรื่องนี้อยู่
Mister American
“ทำไมถึงไม่มีหนังสัตว์ประหลาดไทยดี ๆ ออกมาสักทีวะ ?”
Mister American
คงไม่ต้องบอกว่า ณ ช่วงเวลานี้ หลาย ๆ คนคงให้ความสนใจกับการชุมนุมของบรรดาหนุ่มสาววัยรุ่นที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มเยาวชนปลดแอก หรือ กลุ่มนักเรียน นักศึกษาคนรุ่นใหม่ที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ขับไล่เผด็จการ และ เปลี่ยนแปลงประเทศใหม่ กันอย่างแน่นอน โดยเฉพาะปรากฏการณ์ของการชุมนุมที่เกิ
Mister American
               “จูออน คือ คำสาปของผู้ที่ตายด้วยความเคียดแค้น ณ สถานที่ที่ตาย ผู้ที่เผชิญหน้ากับมันจะต้องตาย และ คำสาปแช่งใหม่จะถือกำเนิด”
Mister American
“เสียงปืนที่ดังขึ้นภายในงานเลี้ยงของกำนันผู้มีอิทธิพลในจังหวัดเชียงรายดังขึ้น ร่างของกำนันคนดังล้มลงกองกับพื้น หลังจากพึ่งรับตำแหน่งได้ไม่นาน เสียงหวีดร้องของผู้คนในงาน เสียงร่ำไห้ และ ความตื่นตะลึงเกิดขึ้น มือปืนยืนนิ่งอยู่ตรงหน้าของศพที่แน่นิ่งจมกองเลือดอย่างไร้ซึ่งอารมณ์ ข