Skip to main content

คิชิดะ จุน เป็นเด็กหนุ่มมัธยมปลายที่มองเห็นคนตายได้ และ ข้าง ๆ เขานั้นมี ฮายาคาวะ เคียวโกะ เพื่อนสมัยเด็กที่ถูกฆ่าตายและมาปรากฏตัวอยู่เคียงข้างเขา ท่ามกลางเรื่องราวสยองขวัญ ลึกลับที่เกิดขึ้นรอบตัวเขา

ภาพปก เสียงกระซิบจากคนตาย เล่ม 8

                เรียกว่าคงไม่มีการ์ตูนเรื่องใดที่ได้รับการพูดมากที่สุดในตอนนี้ในอินเตอร์เน็ตเท่ากับผลงานการ์ตูนสยองขวัญเรื่อง เสียงกระซิบจากคนตาย (Shibito no koe wo kiku ga yoi) ผลงานของ ซาชิโกะ ฮิโยโดริ ที่เคยวางจำหน่ายในบ้านเรามาแล้วกับสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ แต่ ก็ออกได้เพียงเล่มเดียวก่อนที่ทางสำนักพิมพ์จะมีปัญหาบางประการกับทางต้นสังกัดของการ์ตูนเรื่องนี้ และ ต้องยกเลิกการพิมพ์เล่มต่อไปในที่สุด  ทว่า หลังจากไม่มีค่ายใดในไทยนำมาแปลใหม่จึงทำให้มีเพจเฟสบุ๊คนำเรื่องนี้มาแปลไทยจนกลายเป็นที่พูดถึงกันอย่างมากมาย เนื่องด้วยเนื้อเรื่องแนวสยองขวัญที่มีทั้ง ผี ฆาตกรโรคจิต มนุษย์ต่างดาว สัตว์ประหลาด ที่บ่อยครั้งก็ไม่มีคำอธิบาย ไม่การบอกเล่าความเป็นมาใด ๆ จน ทำให้หลายตอนชวนหัว หักมุม จนเกือบเป็นอาการเมากาวด้วยซ้ำ แต่ด้วยบุคลิกของตัวละครทั้งชายและหญิงที่มีเอกลักษณ์ความน่ารักและเอกลักษณ์ รวมทั้งบรรดาสิ่งสยองขวัญทั้งหลายก็ออกแบบมาได้ติดตาจึงไม่แปลกที่บรรดาแฟนการ์ตูนจะชื่นชอบเรื่องนี้มากจนมียอดแฟนเพจ เสียงจากคนตาย ถึง 20945 ไลท์ (ระหว่างเขียนบทความนี้) ในระยะเพียงไม่กี่เดือน นี่แสดงให้เห็นว่า เนื้อหาของเรื่องนี้มีความน่าสนใจของบรรดานักอ่านอย่างยิ่งจนมีการรอคอยตอนต่อกันแทบทุกวัน

(Yamiyo ni Asobu na Kodomotachi  , Freud Stein no Futago สองผลงานเก่าของ ซาชิโกะ ฮิโยโดริ)

                แน่นอนว่า ความสำเร็จนี้มาจากปลายปากกาของ ซาชิโกะ ฮิโยโดริ หรือ อีกนามปากกาว่า อุงุอิสึ โยโกะ นักเขียนการ์ตูนสาวที่เคยมีผลงานแนวสยองขวัญแบบสั้น ๆ อย่าง Yamiyo ni Asobu na Kodomotachi  , Freud Stein no Futago  และ เรื่อง เสียงกระซิบจากคนตาย เป็นผลงานเรื่องยาวแรกของเธอ (ที่ไม่โดนตัดจบก่อน) โดยมีโทนที่ต่างจากงานเก่า ๆ ที่คราวนี้จะเน้นไปที่หนุ่ม ๆ แทน เนื่องจากลงให้อ่านกันในนิตยสา แชมเปี้ยน RED ของสำนักพิมพ์อาคิตะ

            “บ.ก บอกว่า อยากให้ชื่อเรื่องหวาน ๆ มีสาว ๆ เยอะ ๆ ก็เลยวาดเรื่องที่มีพระเอกเป็นเด็กหนุ่มแล้วก็มีวิญญาณของเพื่อนสมัยเด็กแล้วก็มีผู้หญิงอีกเยอะแยะคอยตามกรี้ดกราดพระเอกนี่ละคะ แต่ก็อยากลองวาดเรื่องสยองขวัญด้วย แต่บ.ก. กลับบอกว่า มันหวานตรงไหน ?”

                เสน่ห์สำคัญของการ์ตูนเรื่องนี้ นอกจาก บรรดาตัวละครชายหนุ่มหญิงสาวที่มีเอกลักษณ์ความป่วยและผิดแปลกไปจากปกติแล้ว ตัวเรื่องราวยังได้รับอิทธิพลมาจากสื่อต่าง ๆ มากมาย อาทิ ภาพยนตร์สยองขวัญดัง ๆ เกมดัง ๆ ไปจนถึงการ์ตูนเรื่องอื่นถูกนำมาบิด Plot ใหม่จนมีความตลก ความชวนหัว หักมุมได้อย่างน่าสนใจ แม้ว่าหลายคนจะมองว่า เรื่องไม่มีที่มาที่ไปหน่อย ทว่า หลายคนก็บอกว่า นี่คือ ผลงานที่เป็นเหมือนมรดกของงานการ์ตูนสยองขวัญเรื่องเก่า ๆ อย่าง ผลงานของอาจารย์คาซูโอะ อูเมซุ , จุนจิ อิโต้ไปจนถึง โยสุเกะ ทาคาฮาชิ ที่มีพวกเขาล้วนแล้วมีส่วนคล้ายคลึงกันโดยเฉพาะการหยิบเอาสิ่งที่เรียกว่า เรื่องใกล้ตัวมาใช้

                “ผมอาศัยไอเดียจากชีวิตประจำวัน บางครั้งก็เอามาจากวิทยุ ถ้าฟังดูน่าสนใจก็จะลองหยิบมามองแบบกลับหัวกลับหาง ผมพยายามไม่เค้นความสยอง หากคิดว่า อันไหนเข้าท่าก็ขยายเรื่องและเพิ่มส่วนที่สยองเข้าไปทีหลัง โดยวางแนวทางของเรื่องเอาไว้แล้วค่อยวางพล็อต”

(อ.จุนจิ อิโต้)

                จุนจิ อิโต้ นักเขียนการ์ตูนสยองขวัญในตำนานยอดฮิตที่บ้านเราคุ้นเคยกันดี เอ่ยถึงแนวคิดหลัก ๆ ของเขาก่อนจะเขียนงานขึ้นมา ซึ่ง เนื้อหาของเขาเองก็หยิบสิ่งที่ใกล้ ๆ ตัวเขามาทำใหม่ให้ดูน่าขนลุกและไม่มีที่มาที่ไป อาทิ Tomie ที่เล่าเรื่องเด็กสาวที่ถูกฆ่าตายแล้วกลับมาเรียนหนังสือปกติในวันต่อมา หรือ Gyo (ปลามรณะ) ที่เล่าเรื่อง ปลามีขาเหล็กที่ขึ้นมาจากทะเลแล้วเล่นงานภูเขาจนทั้งเมืองเหม็นไปทั่ว อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ ก้นหอยมรณะ ที่อิโต้บิดเอาแนวคิดสยองขวัญนี้มาใช้เช่นกัน โดย เขาบอกว่า เขียนการ์ตูนเรื่องนี้ขึ้น เนื่องจากจ้องก้นหอยนาน ๆ แล้วเกิดรู้สึกว่า มันต้องมีอะไรแน่ ๆ ยิ่งจ้องยิ่งคิดยิ่งเลิดเทอญไปทุกที

                แนวคิดของอิโต้ก็คล้ายกับอาจารย์ของเขาอย่าง คาซูโอะ อูเมซุ นักเขียนการ์ตูนสยองขวัญในตำนานจากผลงานอย่าง ฝ่ามิตินรก ที่ได้รับความนิยมอย่างมากจนได้รับการตีพิมพ์หลายครั้ง รวมทั้งงานอื่น ๆ อาทิ Senrei ที่เล่าเรื่องน่าสยองขวัญของอาจารย์หนุ่มรูปหล่อที่ถูกเด็กสาวคนหนึ่งหลงใหลโดยไม่รู้ว่า ในร่างกายอันน่ารักนั้นมีอะไรบางอย่างซ่อนอยู่ หรือ งานเรื่องสั้นของเขาอย่าง Hebi shoujo ก็เล่าเรื่องของงูผีที่วางแผนสังหารเด็กสาวชาวกรุงคนหนึ่งเพื่อจะสวมรอยเป็นเธอเข้าไปอาศัยอยู่ในเมืองแทน แนวคิดเหล่านี้มาจากการหยิบยกเรื่องธรรมดาใกล้ตัวมาใช้ แล้วบิดมันใหม่แบบที่อิโต้เป็นแล้วนำไปสู่เรื่องราวสยองที่ยากแก่การอธิบาย

(อ. คาสึโอะ อูเมซุ)

                ซึ่งอาจารย์ อูเมซุกล่าวถึงแนวคิดที่ทำให้งานสยองขวัญของเขาได้รับความนิยมและกลายเป็นพิมพ์เขียวของงานสยองขวัญเรื่องต่าง ๆ ยุคหลังว่า

(บรรดางานสยองขวัญ อ. อูเมซุ)

                “ผมขับเน้นความกลัวจากที่สิ่งที่มองเห็นและมองไม่เห็นในบรรยากาศทะมึนไม่สามารถไว้วางใจสิ่งใด ๆ ได้แม้แต่คนใกล้ตัว พ่อ แม่ ครู อาจารย์ แม้แต่คนรัก ขณะที่โครงสร้างของเรื่องจะซ่อนความหมายของความหมายบางประการอันจะนำไปสู่ บทจบแบบหักมุมและปลายเปิด”

                การเล่าแบบปลายเปิดนี้ได้รับความนิยมมากและส่งอิทธิพลมายังนักเขียนการ์ตูนรุ่นหลัง ๆ อาทิ Eko Eko Azarak (มนต์ดำมรณะ) ผลงานอาจารย์ซานิจิ โคกะ (ที่พึ่งเสียชีวิตไปไม่นานนี้) ที่เล่าเรื่องเด็กสาวแม่มดที่มีชื่อว่า คุโรอิ มิสะ ที่เป็นทายาทแม่มดแล้วเดินทางไปยังโรงเรียนต่าง ๆ แล้วบ่อยครั้งต้องเผชิญหน้ากับเรื่องราวลึกลับที่แฝงอยู่ รวมทั้งเผชิญหน้ากับจิตใจอันดำมืดของมนุษย์ไปด้วย ซึ่งเรื่องนี้โด่งดังมากจนมีฉบับรวมเล่มถึง 20 เล่มจบ และ ตัวของมิสะก็กลายเป็นต้นแบบของแนวสยองขวัญที่มี Theme ว่า ด้วยตัวเอกที่ย้ายโรงเรียนไปที่อื่น ๆ แล้วไปเจอเรื่องสยอง และจบในตอนนี้แบบนี้

                “ผมมองว่า เรื่องสยองขวัญมักสะท้อนจิตใจของมนุษย์เอง”

                อาจารย์ซานิจิ โคกะ เอ่ยสัมภาษณ์กับนิตยสารในวาระที่การ์ตูนเรื่องนี้เป็นภาพยนตร์คนแสดง และ มองว่า คุโรอิ มิสะ เป็นเหมือนตัวแทนของคนดูที่เข้าไปเผชิญหน้ากับเรื่องราวสยองขวัญที่บ่อยครั้งเกิดจากตัวของมนุษย์ด้วยกันทำให้เกิดขึ้น

                “มิสะเป็นเด็กผู้หญิง ถึงเธอจะเป็นแม่มด ผมก็คิดว่า เธอเลือกก็อยากจะเป็นเด็กธรรมดา อยากมีเพื่อน ไปโรงเรียน มีคนรัก และ ไม่ต้องมายุ่งกับเรื่องราวแบบนี้ นี่คือสิ่งผมอยากให้คนดูได้เห็นจากเรื่องนี้

                เช่นเดียวกับเรื่องราวของยามางิชิ เด็กหนุ่มดวงซวยที่มักจะเจอเรื่องราวสยองขวัญตลอดเวลา ซึ่งบ่อยครั้งก็หาคำอธิบายใด ๆ ไม่ได้ อย่างตอนดัง ๆ ที่เขาถูกคนทั้งโรงเรียนไล่ฆ่าตามคำสั่งใครสักคนให้ฆ่ายามางิชิ เป็นต้น ซึ่งมาจากมังงะที่มีชื่อว่า ชั่วโมงเรียนพิศวง (Gakkō no Kaidan) (จำนวน 15 เล่มจบ)ของ โยสุเกะ ทากาฮาชิ

                “นี่เป็นเรื่องสยองขวัญที่ผมเขียนขึ้นมาจากการแต่งเอง ผมชอบเรื่องเล่าสยองขวัญ บ่อยครั้งฟังมันตอนแคมป์ไฟ มันน่ากลัวและบ่อยครั้งก็ไม่มีที่มา แค่น่ากลัวก็พอแล้ว ถ้ามีสิ่งที่อธิบายได้ มันก็ไม่น่ากลัว”

                โยสุเกะ ทาคาฮาชิกล่าวถึงเนื้อหาในช่วงแรกเป็นเรื่องสั้นสยองขวัญจบในตอนที่มีทั้งหักมุมบ้างจนคนดูตามไม่ทัน หรือ โรแมนติคและโศกเศร้า ผ่าน ตัวเอกอย่าง ยามางิชิที่มักซวยถูกฆ่าตายบ่อย ๆ จนได้รับความนิยมและได้มีเรื่องยาวต่อเนื่องตั้งแต่เล่ม 6 เป็นต้นมาที่มีการเพิ่มบทของคุณครูแม่มดผู้มีพลังอย่าง คุด้ง คุกิโกะมา ให้เนื้อหาซอฟลง แม้จะยังน่ากลัวอยู่ เนื่องจากอยากให้เด็ก ๆ อ่านได้ง่ายขึ้น จึงไม่แปลกที่ญี่ปุ่นจะมีหนังสือการ์ตูนแนวสยองขวัญตาหวานออกมาวางจำหน่ายมากมาย แต่ละเรื่องก็มักจะเล่าเรื่องของครอบครัว เด็ก โรงเรียน ผสมผสานไปกับความสยองขวัญนั้น โดยเรื่องที่ดัง ๆ นั้นก็ได้แก่ Zekkyo Gakkai (คลาสเรียนหวีดผวา) ของสำนักพิมพ์ บงกชคอมมิค ที่มีศูนย์กลางของเรื่องคือ วิญญาณเด็กสาวที่ชื่อว่า โยมิ ที่จะคอยมาเล่าเรื่องสยองขวัญในแต่ละตอน โดยมากมักเป็นเรื่องเขย่าขวัญที่หยิบเอาสิ่งที่เรารู้กันในสังคมญี่ปุ่น อย่าง การกลั่นแกล้งในโรงเรียน , การทำร้ายในครอบครัว , ความมืดมิดในใจของเด็กและตัวละครในเรื่อง แน่ละว่า แต่ละเรื่องมีบทสรุปในเชิงสั่งสอนศีลธรรม และ เพื่อให้ข้อคิดแก่เด็ก

                “เรื่องสยองขวัญมักมาจากผู้ใหญ่ที่เล่าเรื่องให้เด็กฟัง เรื่องเล่าพวกนี้เลยมีลักษณะใช้สั่งสอนให้เด็กไม่ทำ หรือ ทำตามที่ต้องการ ไม่เช่นนั้นจะเกิดเรื่อง การ์ตูนของฉันจะนำเรื่องพวกนี้มาเล่าและตั้งคำถามว่า เด็ก ๆ จะเอาตัวรอดจากสถานการณ์นี้ยังไงค่ะ บ่อยครั้งพวกเขาก็ตกลงสู่หลุมดำมืดของจิตใจและเอาตัวไม่รอด”

                เอมิ อิชิคาว่า ผู้เขียนมังงะเรื่องนี้เขียนถึงความคิดในการนำเรื่องราวเขย่าขวัญนี้มาเป็นการ์ตูน ซึ่งแน่นอนว่า เธอก็เป็นหนึ่งในนักเขียนสยองขวัญตาหวานชั้นนำที่เข้าใจดีว่า เรื่องรางสยองขวัญนั้นมีคุณค่าในเชิงสังคมมากเพียงใด เช่นเดียวกับอาจารย์ โช คามาคุระ ผู้แต่ง นูเบ มืออสูรล่าปีศาจ ที่หยิบเอาตำนานผี เรื่องเล่าต่าง ๆ มาตีความใหม่พร้อมกับใส่มุมมองในเชิงสายตาผู้ใหญ่ว่า เรื่องเล่าพวกนี้มีมานานแล้ว และถูกดัดแปลงไปตามกาลเวลา แต่จุดหมายของมันไม่เคยเปลี่ยนนั้นคือ การใช้เรื่องเล่าสะท้อนสังคมและสะท้อนถึงภัยรอบตัวที่มีต่อเด็ก ๆ ซึ่งนูเบเองก็เป็นหนึ่งในงานสยองขวัญที่มีอิทธิพลต่อหลายคนในยุค 90 และโด่งดังจนมีอนิเมชั่นและภาคต่อออกมาในตอนนี้ด้วย

                จึงไม่แปลกหากว่า เสียงกระซิบจากคนตายนี้จะเป็นเหมือนมรดกสำคัญของงานชั้นครูเหล่านี้และมันได้ต่อยอดพัฒนาขึ้นมาจนกลายเป็นงานสยองขวัญที่โดดเด่นมาก ๆ  และ ที่สำคัญมันเต็มไปด้วยการคารวะงานชั้นครูอื่น ๆ อาทิ การคารวะนอสเฟอราตู หนังแวมไพร์เรื่องแรกของโลก หรือ การคารวะงานของ HP Lovecraft ในตอนที่ 34 (โลกที่เปลี่ยนไป) หรือ ผีที่ล้อเอ็กโซซิสต์แบบเต็ม ๆ ,ครอบครัวประหลาดที่อธิบายไม่ได้ว่าเป็นตัวอะไรในตอนที่ 5  จึงไม่แปลกที่นอกจากเนื้อหาของเรื่องที่ต้องลุ้นว่า จะเล่นอะไรแล้ว ตัวเนื้อหายังทำให้เราสนุกกับการถ่ายทอดงานชั้นครูเหล่านี้ไปพร้อมกันว่าจะตีความหรือนำมาใช้ใหม่ได้อย่างไร

                แต่เหนือสิ่งอื่นใด ตัวมังงะสยองขวัญเรื่องนี้ก็มีแง่มุมในการสะท้อนจิตใจอันดำมืดของมนุษย์ ภาพความเลวร้าย สิ้นหวัง และ ความเจ็บปวดอันเกิดขึ้นความโศกเศร้า ผิดหวัง โกรธแค้น ที่บ่อยครั้งวิญญาณก็ไม่ได้ทำอะไรนอกจากลอยไปลอยมารอดูคนชิบหายกันไปแค่นั้น เพราะ สุดท้ายแล้วสิ่งที่น่ากลัวที่สุดไม่ใช่สิ่งที่มองไม่เห็นหรือสัตว์ประหลาด มนุษย์ต่างดาว พวกนั้น

                แต่เป็นจิตใจของมนุษย์เอง

                และเชื่อว่า หลายคนคงกำลังจดจ่อรอชมเรื่องราวของคิชิดะและฮายาคาวะต่อไปว่า พวกเขาจะเผชิญหน้ากับเรื่องเล่าเขย่าขวัญนี้เรื่องใดอีก

* ปัจจุบัน Shibito no koe wo kiku ga yoi ยังไม่มีสำนักพิมพ์ไทยใดนำมาจัดพิมพ์ใหม่จึงสามารถอ่านฉบับแปลไทยได้ที่เพจเสียงคนตาย ซึ่งปัจจุบันแปลไปถึงตอนที่ 38 แล้ว และ ขณะที่ต้นฉบับออกมาทั้งหมด 9 เล่ม และ เล่มที่ 10 กำลังจะวางจำหน่ายในเร็ว ๆ นี้

 

บล็อกของ Mister American

Mister American
ปี 2515 ณ หมู่บ้านห่างไกลผู้คนในจังหวัดกาญจนบุรี แย้ม เด็กสาวผู้เคยป่วยหนักจนเกือบตายได้มีอาการแปลก ๆ เกิดขึ้น เธอเริ่มพูดจาด้วยคำหยาบคายกับคนในครอบครัวอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เริ่มโกหกและยุแยงให้คนในบ้านแตกคอกัน รวมทั้งลุกขึ้นมาตอนกลางคืนเพื่อนกินของสดทำให้คนในครอบครัวโดยเฉพาะ หยาด เกิดความสงสัยขึ
Mister American
สัปเหร่อ : คนตายคือ ครู และ คนอยู่คือ นักเรียน           “ความตาย...มันฆ่าเฮาได้แค่ครั้งเดียว แต่ความฮัก มันฆ่าเฉาไปเรื่อยๆๆ จนกว่าเฮาสิตายพุ่นเด้”บักมืด 
Mister American
                ระหว่างที่เขียนต้นฉบับบทความนี้อยู่นั้น การโหวตประธานรัฐสภาและรองประธานสองคนการประชุมสภาวันแรกได้จบลงแล้ว และ ผลคือ คุณวันมูหะมัดนอร์ มะทา จากพรรคประชาชาติ ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาคนใหม่ ร่วมกับ รองประธานสภาสองท่านจากพรรคก้าวไกล และ พรรคเพื่อ
Mister American
            คงไม่มีอนิเมชั่นเรื่องใดในซีซั่นนี้ที่เรียกว่า สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับบรรดาคนดูอนิเมชั่น และ คนดูหนังหลายคนได้เท่ากับ อนิเมชั่นซีรีย์เรื่อง Oshi no Ko หรือ ชื่อไทยว่า เกิดใหม่เป็นลูกโอชิ ผลงานดัดแปลงจากมังงะขายดีของ อากะ อาคาซากะ ที่ได้ฤกษ์ออกฉายไปเมื่อ
Mister American
                "พรมนิ้วลงไป หวังให้อัสนีกึกก้องด้วยละอองแสง                   กระหน่ำตีเข้าไปให้ถึงปลายทางของความเจ็บปวด
Mister American
                พอ Hellraiser ภาคใหม่จะลงฉายใน Hulu กันในวันที่ 7 ตุลาคมนี้ (ซึ่งไทยจะได้ดูกันใน Disney Plus) นับว่าเป็นการกลับมาอีกครั้งของพินเฮดและเหล่าซีโนไบร์ต หนึ่งในไอค่อนของโลกสยองขวัญที่โด่งดังไม่แพ้ เฟรดดี้ ครูเกอร์ แห่ง Nightmare of elm street , เ
Mister American
พึ่งจบกันไปหมาด ๆ สำหรับอนิเมชั่นเรื่องดังประจำซีซั่นนี้อย่าง Lycoris  Recoli จากค่าย A-1 Picture ที่นอกจากจะเป็นม้ามืดประจำซีซั่นนี้ที่ได้รับความนิยมแบบถล่มทลายจนแซงหน้าบรรดาอนิเมชั่นฟอร์มยักษ์เรื่องอื่น ๆ ไปแบบไม่มีกังขา โดผลโหวตจากสำนักอนิเมชั่นต่าง ๆ โหวตให้เรื่องนี้อยู่
Mister American
“ทำไมถึงไม่มีหนังสัตว์ประหลาดไทยดี ๆ ออกมาสักทีวะ ?”
Mister American
คงไม่ต้องบอกว่า ณ ช่วงเวลานี้ หลาย ๆ คนคงให้ความสนใจกับการชุมนุมของบรรดาหนุ่มสาววัยรุ่นที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มเยาวชนปลดแอก หรือ กลุ่มนักเรียน นักศึกษาคนรุ่นใหม่ที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ขับไล่เผด็จการ และ เปลี่ยนแปลงประเทศใหม่ กันอย่างแน่นอน โดยเฉพาะปรากฏการณ์ของการชุมนุมที่เกิ