"วิญญาณคือ ความทรงจำที่ตกค้าง ไม่ว่าจะเป็นความทรงจำที่ดีหรือเลวร้าย มันจะยังคงอยู่และปรากฏขึ้นเสมอ"
หากพูดถึงผู้กำกับไทยที่มีความโดดเด่นในวงการภาพยนตร์ไทยสักคนนั้น ชื่อของ วิศิษฐ์ ศาสนเที่ยง ย่อมเป็นหนึ่งในชื่อที่ถูกยกขึ้นมาทันทีในฐานะหนึ่งในผู้กำกับที่มีลายเซ็นต์ของตัวเองเด่นชัด และ มีผลงานที่ฉายถึงตัวตนและแนวคิดของเขาได้อย่างชัดเจน หากจะพูดก็คือ เขาคือ ผู้กำกับสาย Author หรือ ผู้กำกับที่สามารถจับต้องผลงานของเขาได้ไม่ว่าจะไปกำกับหนังเรื่องใด เราสามารถรู้ได้ทันทีว่า นี่คือ งานของผู้กำกับคนนี้ ซึ่งในไทยมีผู้กำกับไม่กี่คนที่จะถูกเรียกว่า Author แบบนี้
วิศิษฐ์ ศาสนเที่ยงเป็นผู้กำกับที่มีความน่าสนใจ เพราะ เขาไม่เคยทิ้งแนวทางของตัวเอง แถมไม่ใช่แค่งานที่ตัวเองกำกับเท่านั้น เขายังมีอิทธิพิลน่าสนใจไปยังหนังเรื่องอื่น ๆ ที่มีส่วนร่วมด้วยจนเรียกว่า เป็นจักรวาลของวิศิษฐ์ ศาสนเที่ยงก็ว่าได้
ไม่เว้นแม้กระทั่งหนังผี หนังสยองขวัญเองก็ไม่พ้นไปจากเรื่องราวนี้เหมือนกัน
สิงสู่ เป็นหนังผีเรื่อง 3 ของผู้กำกับท่านนี้ก็จริง แต่ก่อนหน้านี้เขามีส่วนร่วมกับบรรดาหนังสยองขวัญหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นนางนากที่เขามีส่วนร่วมในการเขียนบทภาพยนตร์และเขียนฉบับนิยายมาแล้ว หรือ หนังอย่าง เปรมมิกาป่าราบที่เขามีส่วนในฐานะโปรดิวเซอร์เองก็มีความเป็นงานของวิศิษฐ์อยู่มากไม่ใช่น้อยทีเดียว
และนี่คือ เรื่องราวของภูตผี ความทรงจำ และ สิ่งที่แฝงอยู่ในงานเขย่าขวัญของวิศิษฐ์ ศาสนเที่ยง
นางนาก
หากพูดหนังผีที่วิศิษฐ์ ศาสนเที่ยงเข้าไปมีส่วนร่วมและเหมือนจุดเริ่มต้นของการวนเวียนอยู่ในเรื่องราวของโลกหลังความตายแล้วนั้น คงไม่มีหนังเรื่องใดที่น่าสนใจไปกว่าการหยิบตำนานของแม่นาค พระโขนงมาทำใหม่ในแบบที่จริงจังขึ้นสมจริงขึ้นในชื่อของนางนาก
หนังหยิบเอาตำนานแม่นาคพระโขนงที่เราหลับตาก็สามารถจดจำเรื่องราวของผีสาวตายท้องกลมที่มายืนรอสามีอย่าง มาก ที่ท่าน้ำ จนเป็นเลื่องลือไปทั่ว ซึ่งหลายคนรู้ดีว่า ตำนานของแม่นาค พระโขนงนั้นมีมากมายเหลือเกินทั้งบทละครในรัชกาลที่ 6 ตำนานที่ถูกลือแล้วนำไปเล่าคู่กับตำนานของสมเด็จพระพุทธจารย์โต พรหมรังสี และอีกมากมายสารพัดเวอร์ชั่นที่หลายคนไม่รู้ว่า เรื่องราวของเธอจริงหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ หนังหรือสิ่งบันเทิงส่วนมากนำเสนอ นางนากไปในเชิงผีร้าย น่ากลัว และ ไม่มีมุมมองให้เห็นใจเธอมากนัก
ทว่าในนางนากที่วิศิษฐ์ทำหน้าที่เขียนบท เขาได้รีเสริชเรื่องราวของผีสาวตนนี้ใหม่ทั้งมองหาตรรกะที่สมจริงไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่เกิดขึ้น ทรงผม การแต่งกาย และ ที่สำคัญคือ การถ่ายทอดเรื่องราวของเธอให้ออกมาในเชิงดราม่าของมนุษย์คนหนึ่ง
ทำให้แม่นากในงานเขียนบทของเขานั้นสมจริงสมจังจนแทบจะเรียกว่า เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวของความรักของสตรีคนหนึ่งที่หวังว่าจะมีครอบครัวที่สมบูรณ์กับสามีในวันที่กำลังมีลูกและต้องถูกราชการพรากเขาไปในสงครามจนกระทั่งเธอต้องเสียชีวิตก่อนที่สามีจะกลับมา แต่จิตใจยังหวงหาเขาไม่ห่างและเป็น ผี รอคอยการกลับมาของสามีอยู่ด้วยความหวังจะต่อชีวิตคู่นี้ให้ยืนยาวต่อไป
บทภาพยนตร์ของวิศิษฐ์ได้เปลี่ยนมุมมองของเราที่มีต่อนางนากไปตลอดกาล จากผีสาวที่หลายคนกลัวกลายเป็นผู้หญิงที่ล่วงละเมิดชีวิตโดยอำนาจรัฐและคนรอบข้างไปโดยที่ตัวเธอมิอาจจะทำอะไรได้ เธอไม่สามารถขัดขวางไม่ให้ไอ้มากไปรบในสงครามได้ เธอไม่สามารถเรียกร้องความยุติธรรมตรงนี้ทั้งที่เธอมีสิทธิ แต่ในยุคสมัยที่ผู้หญิงไม่มีค่าใด ๆ นอกจากการอยู่บ้านเรือนนั้นทำให้นางนากต้องระทมทุกข์กับการพรากความรักของเธอไปตลอดกาล
ดังนั้น การปรากฏตัวในฐานะผีของเธอนั้นเป็นเหมือนการสำแดงพลังที่เหนือกฏเกณฑ์ ในโลกที่ผู้ชายเป็นใหญ่นั้น นางนากทำให้เหล่าบุรุษต้องขวัญกระเจิงและหวาดกลัวในพลังอำนาจนั้น ๆ ทั้งที่เธอไม่ได้ต้องการอะไรนอกจากแค่อยากอยู่กับสามีให้นานขึ้นเท่านั้น
ภาพของผีนางนากถูกลบทิ้งไปเหลือเพียงหญิงสาวคนหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกเห็นอกเห็นใจกับชะตากรรมของเธอ รู้สึกเจ็บปวดไปกับการลาจาก และ ความตายที่น่าสะพรึงยิ่ง
วิศิษฐ์ทำให้เรารู้สึกถึงการกระทำของชนชั้นบนที่มีต่อชนชั้นล่างอย่างไร้ความปราณี เช่นเดียวสะท้อนภาพของสตรีที่ต้องรับการกระทำจากฝ่ายชายโดยที่ไม่สามารถทำอะไรได้ ซึ่งสะท้อนค่านิยมของยุคสมัยในตอนนั้น ที่แม้ว่า นางนากจะเป็นผีร้ายเพียงใด สุดท้ายเธอก็ไม่อาจจะคงอยู่ตลอดไป และต้องยอมแพ้สยบยอมแด่อำนาจของผู้ชายนั้นคือ ในมือของสมเด็จพุทธจารย์ โต พรหมรังสี และ ศาสนาแบบเลี่ยงไม่ได้ แน่นอนว่า การพ่ายแพ้ของเธอสะท้อนภาพอันน่าเศร้ายุคสมัยที่ทำให้เราพอเข้าใจได้ว่า
ความตาย ไม่ใช่สิ่งจุดจบ
และ ผีไม่ใช่ความน่ากลัว แต่มีเรื่องราวที่ซ่อนอยู่
นางนากทำให้เรามองเห็นความงดงามของการมีชีวิต และ สะท้อนถึงความทรงจำที่ถูกเขียนขึ้นลบใหม่ตามใจชอบตามที่รัฐหรือผู้มีอำนาจต้องการทำให้ผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ต้องกลายเป็นผีร้ายทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรเลย
นี่คือ เหตุผลที่ทำให้นางนากเป็นงานมาตรฐานของหนังชุดนี้และทำให้ชื่อของวิศิษฐ์ ศาสนเที่ยงเป็นหนึ่งนักเขียนบทคิวทองและได้กำกับหนังอย่าง ฟ้าทะลายโจร และ หมานครที่มีภาพสะท้อนความทรงจำต่อยุคสมัยเช่นกัน
เป็นชู้กับผี
“ความตายคือฝันนิรันดร์ที่ไม่มีวันตื่น”
หากพูดถึงหนังสยองขวัญไทยที่หลายคนกล่าวขานและพูดถึงบ่อยครั้งในฐานะหนังผีไทยที่น่ากลัวที่สุดเรื่องหนึ่งชื่อของ เป็นชู้กับผี ผลงานกำกับหนังผีเรื่องแรกของวิศิษฐ์ ศาสนเที่ยงนั้นมักถูกหยิบยกโยงมาพูดเสมอว่า เป็นหนังผีไทยแท้ที่หลายคนจดจำ โดยเฉพาะการหยิบเอาองค์ประกอบของความทรงจำของคนไทยที่มีต่อเรื่องราวหนังสยองขวัญมาใช้ โดยเฉพาะงานของบรมครูอย่าง เหม เวชกร ที่เป็นต้นแบบของงานแนวนี้ ไม่ว่าจะเป็น บ้านริมน้ำ ,เรือ ,ชนบทอันลึกลับ, ตระกูลผู้ดีเก่า บรรยากาศเย็นยะเยือกในความมืดที่ยากจะจินตนาการ และ เรื่องเล่าของภูตผี จนกลายเป็นอิทธิพลสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่าของผู้คน, นวนิยาย ,ละคร ,ไปจนถึงภาพยนตร์ที่หลายต่อหลายเรื่องได้รับอิทธิพลมาจากเรื่องเล่าของครูเหม เวชกร ทั้ง นางนาก ,ผีหัวขาด ,ลองของ, พี่มากพระโขนง ฯลฯ
นอกจากความน่ากลัวของความเป็นผีไทยที่ถูกใช้อย่างคุ้มค่าชนิดไม่มีใครกล้ามองศาลเจ้าที่กันอีกเลยนั้น เป็นชู้กับผีโดดเด่นมากโดยเฉพาะการนำเสนอเรื่องโลกหลังความตาย
นวลจันทร์เป็นภาพของนางนากในยุคต่อมาที่เข้ามาตามหาสามีที่หายตัวไปในคฤหาสน์หลังนี้ก่อนจะได้พบว่า มีความลับบางอย่างซ่อนอยู่ในตระกูลผู้ดีเก่านี้ที่น่ากลัวยิ่งกว่าอะไรทั้งมวล วิศิษฐ์พาเราไปไกลกว่านางนาก เนื่องจากหนังดำเนินเรื่องอยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างยุคเปลี่ยนผ่านการปกครองปี 2475 จากสมบูรณอาญาสิทธิราช มาเป็น ประชาธิปไตย ในยุคที่บรรดาผู้ดีเก่ากำลังค่อย ๆ หมดความสำคัญลงพร้อมกับซากปรักอันพังทลายของพวกเขา
ชนชั้นล่างต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ที่กำลังเปลี่ยนผ่าน พวกเขาเข้ามาแทนที่ชนชั้นสูงที่กำลังเริ่มพังทลายและตายลงไป
แต่ความตายก็ไม่ใช่จุดจบ
พวกเขายังมีชีวิตอยู่ในโลกของพวกเขา
วิญญาณหรือภูตผีคือ ภาพสะท้อนถึงความทรงจำ ณ ช่วงเวลานั้น ความทรงจำของผู้คนที่พบเจอ มีทั้งความรัก ความสุข ความทรงจำ ความเจ็บปวด และ อีกมากมายที่ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นรูปแบบของตัวตนของสิ่งเหล่านั้นได้อย่างน่าสะพรึง
ผีที่นวลจันทร์ได้เจอ ความลับของบ้านหลังนี้ และ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ต่างกับการดิ้นรนสุดท้าย แต่ก็ฝังรากหยั่งลึกลงไปไม่จางหาย
พวกเขายังคงวนเวียน ใช้ชีวิต เวียนว่าย เล่นบทของตัวเองและเล่นซ้ำไปซ้ำมาไม่จบสิ้น
จนกว่าความทรงจำจะจางหายไปและไม่มีตัวตนอีกต่อไป
ดังนั้นหากจะนิยามเป็นชู้กับผีแล้วไซร้มันคือ มรณกรรมและบทละครอันน่าเศร้าของผีที่วนเวียนไม่ยอมไปไหนเสียที
เฉือน ฆาตกรรมรำลึก
“หลายคนมีความทรงจำที่สวยงาม แต่ไม่ใช่สำหรับเรา”
แม้ว่าจะเป็นคนเขียนเรื่องให้เท่านั้นสำหรับหนังระทึกขวัญสืบสวนที่ว่าด้วยฆาตกรในชุดสีแดง การฆาตกรรมตัดอวัยวะเพศ และ การสืบสวนของตำรวจนอกเครื่องแบบหนุ่ม แต่ เฉือน ฆาตกรรมรำลึกก็เป็นงานที่หยิบจับเข้ากับการพูดถึงความทรงจำและความเจ็บปวดได้ไม่ยาก และ เป็นหนังที่ถูกนับเข้าจักรวาลของวิศิษฐ์ได้อย่างไม่ขัดเขิน
นอกจากการฆาตกรรมที่โหดสยองแล้วนั้นสิ่งที่หนังได้ทำคือ พาเราไปสำรวจความทรงจำของตัวเอกอย่างไท ที่มีต่อ น้อย เพื่อนสมัยเด็กของตัวเองที่ถูกรังแกจากกลุ่มเพื่อนเสมอจนเขาต้องปกป้อง เราได้เห็นภาพอันสวยงามของชนบทที่ช่างคอนทราสต์กับชีวิตของเด็กในเรื่องเหลือเกิน
เราได้รู้ว่า น้อยต้องเจอการข่มเหงทั้งกายและใจจากคนรอบข้าง เขามีพ่อขี้เหล้าที่ชอบทำร้ายเขาเป็นนิจ แถมยังพยายามข่มขืนเขาเสมอ ๆ นี่ยังไม่รวมทั้ง ครูที่โรงเรียน และ เพื่อนชายคนอื่นที่กระทำการข่มเหงเขาอย่างเจ็บปวด มีเพียงไทที่ยืนหยัดคอยช่วย แต่สุดท้ายพวกเขากลับไม่สามารถทนได้จนต้องหนีระหกระเหินมายังพัทยาแล้วแยกทางกันไป
หนังเรื่องนี้เป็นภาพสะท้อนลบความสวยงามในวัยเด็กแบบแฟนฉันที่หลายคนชมชอบมาเป็นชนบทและวัยเด็กอันเลวร้ายแทน และ แสดงให้เห็นภาพของคนตัวเล็กตัวน้อยที่ต้องถูกคนที่เหนือกว่ากดขี่และทำร้าย ผ่านตัวละครอย่าง น้อย และ ไท ที่ต่างเจอเรื่องเจ็บปวดในชีวิตกันมาทั้งนั้น และ ความทรงจำเองก็เป็นตัวเชื่อมให้ทั้งสองคนได้กลับมาเจอกันอีกครั้ง
แม้จะอยู่ในสถานะของนักสืบและผู้ร้ายก็ตาม
แต่กระนั้นเองสิ่งที่หนังย้ำคือ ภาพของระบบผู้ใหญ่ราชการที่เลวร้ายยิ่งกว่าฆาตกรเสียอีก หนังย้ำเสมอว่า ฆ่าไปหนึ่งก็มีมาใหม่อีก เพราะ คนจำยอมที่จะเป็นพวกมันมากกว่าที่จะรักษาความดีของตัวเองเอาไว้นั่นเอง
เฉือนจึงเป็นอีกครั้งที่วิศิษฐ์นำความน่ากลัวที่ยิ่งกว่าผีมาฉายให้ดูและทำให้เรากระโจนไปเจอกับเรื่องราวที่น่าสะพรึงและมืดมนเสียกว่าสายฝนในเมืองกรุงเสียอีก
รุ่นพี่
“"ความยุติธรรม แม้แต่คนตายก็ยังต้องการ"
เป็นชู้กับผีคือ ความทรงจำของชนชั้นนำที่มีต่อการเปลี่ยนผ่านและไม่ยอมจากไปไหน ทว่า รุ่นพี่กลับเป็นการพาเรากลับไปอดีตและเรียนรู้เรื่องราวที่ผ่านมาของความทรงจำที่ซุกซ่อนอยู่ วิศิษฐ์ ศาสนเที่ยง หันมาสนใจเรื่องราวของเด็กรุ่นใหม่ที่มีต่อเรื่องราวครั้งเดิมของเหล่าภูตผีที่ที่พวกเขาไม่ได้มีส่วนจดจำ หรือ มีความคุ้นชิน หนังเรื่องนี้จึงเป็นภาพของการตั้งคำถามว่า อดีตเปลี่ยนแปลงได้ไหม และ เราจะเข้าใจถึงมันได้มากแค่ไหนในฐานะคนรุ่นต่อไป
หนังให้เราพบกับม่อน เด็กสาวหัวขบถที่มีความสามารถในการสัมผัสกลิ่นของคนตายได้ และต้องเข้าไปพัวพันกับคดีฆาตกรรมในอดีตที่มีรุ่นพี่ผู้ที่เธอสัมผัสกลิ่นกับเสียงของเขาได้เท่านั้นเป็นคู่หู และนำพาทั้งสองไปพบกับความลับอันน่าสยดสยองในโรงเรียนแห่งนี้
รุ่นพี่เป็นงานที่เรียกว่า ทำเงินสูงสุดของวิศิษฐ์แล้ว และ มีความเป็นวัยรุ่นอย่างมาก เนื่องจากตัวเอกเป็นเด็กสาวที่มีความสามารถพิเศษ แต่ที่พิเศษคือ เขาหยิบจับเรื่องราวความน่ากลัวที่ซ่อนอยู่ด้านหลังของชนชั้นนำมาเสนออีกรอบ แต่ครั้งนี้ที่หนักกว่าคือ การพาเราไปสัมผัสกับการถูกลืมและจดจำ
ผีของวิศิษฐ์มักจะวนเวียนไปมาในสถานที่หรือเรื่องราวที่ตัวเองผูกผัน แบบเดียวกับที่เราได้เห็นชะตากรรมอันน่าสยองของนวลจันทรท์ในเป็นชู้กับผีที่ยังวนเวียนไปมาไม่จบสิ้น หรือ นางนากที่ยังรอคอยสามีอยู่ตรงท่าน้ำ คราวนี้วิศิษฐ์พาเราไปสัมผัสของผีที่ตายในเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ มากมายในประวัติศาสตร์ชาติไทย
และ ผีเหล่านี้กำลังถูกหลงลืม
อย่างที่บอกก็คือ ความยุติธรรมแม้แต่คนตายก็ต้องคือ Theme หลักของเรื่องนี้ เช่นเดียวกับบรรดาผีที่ตายในเหตุการณ์ทางการเมืองทั้งหลาย หลายคนไม่ได้กลับบ้าน บางคนถูกหลงลืม บางคนไม่มีชื่อ ไม่มีเรื่องเล่า เป็นเพียงสิ่งที่หลงลืมตกค้าง
แม้แต่ความยุติธรรมที่ตัวเองต้องการยังไม่ได้มาเลยด้วยซ้ำไป
แน่นอนว่า หนังเรื่องนี้บอกเราว่า สิ่งที่น่ากลัวกว่าเรื่องนองเลือดในอดีต ก็การถูกลืมนั้นเอง
อย่างคำที่ว่า ประวัติศาสตร์อาจจะเต็มไปด้วยความเจ็บปวด แต่ที่เจ็บปวดกว่าคือการถูกลืม
เราถูกเลือกให้จำบางสิ่ง แต่ก็ถูกเลือกให้ลืมบางสิ่งไปเช่นกันนี่คือ สิ่งที่หนังให้เราได้เห็นและใช้ม่อน คนในปัจจุบันเดินเรื่องราวนี้นำพาอดีตและปัจจุบันมาบรรจบกัน
เหมือนจะบอกว่าคนที่จะทำให้ทุกอย่างกระจ่างขึ้นมีแค่คนรุ่นใหม่แบบพวกเราก็เท่านั้นที่จะจุดไฟในสายลมออกมาได้
ไม่ให้ทุกอย่างถูกฝังเอาไว้และรอเวลาหลงลืม
เปรมมิกา ป่าราบ
“ยังคงคอยวนเวียนจะได้พ้นผ่าน วันคืนทรมานมีใครเข้าใจไหม รอคอยวันเวลาที่จะได้พ้นผ่านไป แล้วเมื่อไร อยากให้เธอรู้”
เป็นอีกครั้งที่วิศิษฐ์ ศาสนเที่ยงเขียนเรื่องที่น่าสนใจออกมา แม้ว่าจะไม่ได้กำกับเอง แต่การเขียนเรื่องนี้ออกมาก็ทำให้เข้าใจและมองว่านี่คือ งานที่น่าสนใจในการตั้งคำถามเกี่ยวกับความทรงจำอีกครั้ง
ตู้คาราโอเกะของเปรมิกาไม่ได้ต่างจากห้อง 1408 หรือกระจกผี Oculus ที่ทำหน้าที่เก็บความทรงจำของผู้คนที่ดีและเลวร้ายเอาไว้พร้อมกัน คำกล่าวว่า เพลงของเธอไม่ได้สวยงาม มันเป็นเพียงความอาฆาตแค้น และ ระบายซึ่งความทุกข์ของเธอ เป็นสิ่งที่ชัดเจนของหนังที่บอกเล่าความทุกข์ทนผ่านเสียงเพลงต่าง ๆ
ตัวละครอย่าง เปรมิกา สาวชาวเขาที่เดินทางมาทำงานในฐานะสาวบาร์คาราโอเกะด้วยความหวังอยากจะให้พ่อแม่มีชีวิตที่ดีขึ้น เป็นหนึ้งในตัวละครที่สะท้อนให้เห็นว่า โลกนี้ยังมีผู้หญิงที่ต้องเจอกับชีวิตที่เลวร้ายจากการถูกกดทับทางสังคม ถูกผู้ชายข่มเหง ถูกคนไทยรังเกียจและเบียดเบียนเธอในฐานะความไม่ใช่ไทย ทั้งภาษา แต่แน่ละว่า การร้องเพลงของเธอไม่ใช่แค่การฝึกภาษาไทยตามที่นายจ้างตัวร้ายแนะนำ แต่มันคือ การหาความสุขและระบายความทุกข์ลงไปในเสียเพลงนั้น
เหมือนที่หนังบอกว่า ชีวิตของมนุษย์เรามันก็เหมือนเสียงเพลง ทุกคนมีท่วงทำนองชีวิตที่ต่างกันอยู่ที่ว่าใครจะใช้ท่วงทำนองแบบไหนให้ใช้ชีวิต บางคนเริ่มใหม่ได้ บางคนเริ่มร้องผิดเพี้ยนก็ต้องร้องมันไปเรื่อยกลับไปไม่ได้เหมือนกัน
แน่ละ เปรมิกาเป็นผีผู้หญิงอีกตัวในสังคมไทยที่สะท้อนให้เห็นว่า กรณีอย่างบุปผาราตรีไม่ได้เป็นคนสุดท้ายที่ต้องตายเพราะ การกดทับของสังคมไทยที่เพศชายและสังคมไทยที่กดทับใส่พวกเธอ จนไม่มีทางเลือกนอกจากกลายเป็นผีที่มีอำนาจเหนือผู้ชายเหล่านั้นและเพื่อระบายความทุกข์ผ่านตำนานเมือง เรื่องราว และ บทเพลงของเธอ
ทัศนคติเหยียดของหนังในตัวอย่างอาจจะดูน่ารังเกียจ แต่ที่น่ารังเกียจกว่าคือ ภาพของสังคมที่เต็มไปด้วยทัศนคติเหยียดยามไปมาราวกับปกติ ทั้งการเหยียดเพศ เหยียดชนชั้น ชาติศาสนา หน้าตาไปจนถึงอื่น ๆ ที่แสดงถึงความปลอกลอกของเพศออกได้อย่างน่าตกใจมาก ๆ ว่า ในขณะที่เราหัวเราะกับหนัง เราก็กำลังตกลงไปในห้วงเดียวกับตัวละครในเรื่องคือ การมองเห็นการเหยียดเป็นเพียง เรื่อง ปกติธรรมดาของเรื่องเท่านั้น
และเหมือนเรื่องอื่น ๆ หนังสะท้อนภาพความเลวร้ายชนชั้นบน ข้าราชการ และ คนที่ใหญ่โตจนน่าอดสูและไม่มีทางเห็นแสงสว่างใด ๆ ในอนาคตเลย
เรามีคนมากมายแบบเปรมมิกาที่หายตัวไป และ ไม่มีใครตามหาเธอ มีคนมากมายถูกลืมและไม่มีใครจดจำ เหมือนที่เรารู้ก็คือ การถูกลืมเจ็บปวดมากกว่าจดจำเสียอีก
โชคดีที่เปรมิกายังเป็นผีที่สำแดงตัวเองออกมาให้คนได้รับรู้ถึงตัวตนของตัวเองที่ซ่อนอยู่ในมุมมืดนี้ได้เสียที
สิงสู่
"ความตายเป็นการจบของสิ่งหนึ่ง เพื่อเป็นการเริ่มต้นต่ออีกสิ่งหนึ่ง ความตายจึงไม่ใช่สิ่งน่ากลัวเสมอไป"
งานล่าสุดของวิศิษฐ์ ศาสนเที่ยงที่หยิบจับเอาโครงสร้างของหนังผียุค 80-90 มาใช้ได้อย่างเต็มตัว โดยเฉพาะหนังอย่าง The Exorcist , Evil dead หรือ งานแนวปราสาทสยองขวัญของ Hammer เองก็ตาม มาผสมผสานกันจนออกมาเป็นหนังผีสิงแบบไทย ๆ ที่เรียกว่า กลมกล่อมและบ้าพลังมากที่สุดของปีทีเดียว
ครั้งนี้วิศิษฐ์พาเราไปยังสถานสำนักจิตต์อสงไขยที่ตั้งอยู่กลางเขาที่ที่พวกเขากำลังทำพิธีเชิญวิญญาณกลับเข้าร่างศพที่อยู่ตรงกลางพิธี ทว่า พวกเขากลับไปปลุกเอาวิญญาณร้ายขึ้นมาและทำให้มันบุกเข้ามาจะสิงสู่พวกเขา เอาร่างกายไปให้ครบ และ แน่นอนว่า ทุกคนต้องตาย
แน่นอนว่า ตัวหนังเรื่องนี้มีความต่างกับหนังสยองขวัญทั่วไปตรงที่มันเป็น Body Horror หรือหนังผีแบบฝรั่ง แต่ถูกนำประสมประสานจนกลายเป็นหนังผีที่มีความบ้าพลังและใหญ่โตจนหลายคนต้องอ้าปากค้างทีเดียว
สิงสู่เป็นภาพจำลองของสังคมไทยที่มีสภาพไม่ต่างกับโรงพยาบาลโรคจิต หรือ สถานทรงเจ้าหรือลัทธิอะไรพวกนี้ ซึ่งจะเห็นว่า ชีวิตของทุกคนถูกกำกับด้วยพลังอำนาจของหญิงชราที่ชื่อนายแม่ที่บงการทุกคนแม้จะเป็นใครก็ตาม แม้กระทั่งผีเองก็มิอาจจะฝืนพลังของนายแม่ได้ นายแม่อยากให้ใครตายก็ต้องตาย อยากให้รอดก็รอด เป็นภาพอันน่าสนใจถึงความน่ารังเกียจของอำนาจนิยมที่มีต่อคนในกำมือของตัวเอง
ภาพของเหล่าผีที่พยายามต่อกรและเข้าสิงสู่บรรดาตัวละครในเรื่องมีนัยยะน่าสนใจ เมื่อหนังให้เราเห็นภาพของตัวละครที่มีลักษณะไม่ต่างชนชั้นกลางหรือบนที่มีชีวิตเลือดเนื้อ ท่ามกลางการเหยียบย้ำที่มีต่อชนชั้นล่างหรือผีอื่น การพยายามจะสิงสู่คนเหล่านี้ก็เหมือนการบอกว่า ทางเดียวที่จะเป็นคนได้ คุณต้องสิงร่างคนพวกนี้ให้ได้เท่านั้น
มันน่าสนใจว่า หนังเรื่องนี้เราไม่ได้รู้จักเลยว่า ผีเป็นใคร แต่เรารับรู้ถึงความเจ็บปวด ความอยากมีชีวิต และ ความพลัดพรากที่แฝงออกมาได้ ซึ่งหากดูก็จะรู้ว่า มันคือ ภาพของคนที่ถูกลืมไปจากความทรงจำของผู้คน
เช่นเดียวกับสิ่งที่หนังบอกเราว่า ผีคือความทรงจำที่ยังคงอยู่ไม่ว่าจะดีหรือร้าย มันจะอยู่ที่นั้น เพียงแต่ความทรงจำก็ถูกบิดเบือนได้ตามที่คนที่เป็นผู้ใหญ่ต้องการ
แบบเดียวกับเด็กสร้อยเจอ มันคือนัยยะที่เจ็บปวดและน่ากลัวยิ่งกว่าผีในเรื่องซะอีก
"ผีไม่น่ากลัวหรอก คนต่างหากที่น่ากลัว"
คำพูดนี้เป็นหนึ่งใน Theme ที่น่ากลัวยิ่ง เนื่องจากว่า เราได้เห็นเบื้องหลังดำมืดของคนเหล่านี้ในภายหลัง มันทำให้เรารู้สึกว่า คนพวกนี้น่าขนลุกยิ่งกว่าผีด้วยซ้ำ
ความโสมมของชนชั้นบนถูกบอกเล่าผ่านเรื่องราวของผีหลาย ๆ เรื่องของคุณวิศิษฐ์ที่ทำให้เรารู้สึกว่า ผีในเรื่องเล่าของแกนั้นมีสภาพอันน่าเจ็บปวด อดสูและถูกลืมไปหากไม่แสดงอิทธิฤิทธิใด ๆ เลย
ประวัติศาสตร์ของไทยเองก็มีผีมากมายเกิดขึ้นจากชนชั้นล่าง หลายคนถูกลืม และ ถูกลบให้หาย บางก็หายความยุติธรรมไม่ได้ บางก็ต้องวนเวียนไปมาไม่มีที่สิ้นสุด
ทางเดียวที่พวกเขาจะอยู่ได้คือ ยังคงถูกจดจำและอยู่ในความทรงจำของคน ได้สิงสู่ ได้อยู่ในร่างคนเป็นเท่านั้น
แน่นอนว่า ไม่ว่าจะเป็นผีในเป็นชู้กับผี ความทรงจำของน้อยในเฉือน กลิ่นของคนตายในรุ่นพี่ หรือ บทเพลงของเปรมิกาต่างเป็นภาพทดแทนสิ่งเรียกว่า ความทรงจำ
วิญญาณคือ ความทรงจำที่ตกค้าง
เหมือนควันที่บางควันก็หายไป บางควันก็ควบแน่นเอาไว้ในความทรงจำไม่จางหายไป
หากพูดคือ สิ่งสู่การบันทึกบทประวัติศาสตร์ของผีทั้งหมด มันไม่เคยเปลี่ยนแปลง ไม่หายไป แต่ยังคงอยู่และหลอกหลอนสิงสู่ผู้คนเอาไว้ไม่มีวันจางหายไป
เหมือนเช่นตอนจบที่ภูตผียังคงรอคอย
รอคอยผีตัวพ่อที่ตายไปในสงครามให้กลับมา
แม้ว่าจะนานสักเท่าไหร่ พวกเขาจะรอที่ต้นไม้ต้นนี้ที่ตายของต่อไป
ไม่ต่างกับวิญญาณของนวลจันทร์ที่วนเวียนไม่จบสิ้นในบ่วงของตัวเอง
ไม่ต่างกับนางนากที่รอคอยสามีที่ท่าน้ำ
ไม่ต่างกับรุ่นพี่ที่วิ่งไปตามกระแสอดีตเพื่อค้นหาความจริงของตัวเอง แม้ต้องติดบ่วงในอดีตไม่อาจจะไปไหนได้
ไม่ต่างกับเปรมิกาที่ร้องเพลงขับร้องความเจ็บปวดต่อไป
นี่คือเรื่องราวของภูตผีที่ไม่ใช่แค่เรื่องสยองขวัญก่อนนอน แต่คือ เรื่องราวของความทรงจำ การถูกหลงลืมและความมืดมิดที่ซุกซ่อนอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า สังคมไทยนั้นเอง
เรื่องผีจึงไม่มีวันตายตราบใดที่ยังไม่มีแสงสว่าง
ตราบใดที่ยังไม่มีความยุติธรรม ก็ยังคงมีผีในสังคมไทยอีกตราบนานเท่านาน
++++++++++++++++++++++
ป.ล. สิงสู่ฉายอยู่ในโรงภาพยนตร์ตอนนี้ และ มีฉบับนิยายให้สะสมกันโดยสำนักพิมพ์สถาพร
ลิงค์สั่งซื้อหนังสือครับ