“เสียงปืนที่ดังขึ้นภายในงานเลี้ยงของกำนันผู้มีอิทธิพลในจังหวัดเชียงรายดังขึ้น ร่างของกำนันคนดังล้มลงกองกับพื้น หลังจากพึ่งรับตำแหน่งได้ไม่นาน เสียงหวีดร้องของผู้คนในงาน เสียงร่ำไห้ และ ความตื่นตะลึงเกิดขึ้น มือปืนยืนนิ่งอยู่ตรงหน้าของศพที่แน่นิ่งจมกองเลือดอย่างไร้ซึ่งอารมณ์ ข่าวนี้คงเป็นหนึ่งในข่าวที่เกิดขึ้นจนชาชินในประเทศนี้หากเสียว่า มือปืนคนนั้นคือ เด็กอายุแปดขวบที่เป็นลูกเลี้ยงของกำนันคนดังนั้นเอง
มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ และคดีนี้มีอะไรอยู่เบื้องหลังหรือไม่ ?”
แน่นอนว่า นี่คือ ส่วนหนึ่งของตอนต้นของภาพยนตร์ไทยทริลเลอร์ที่กำลังเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ ณ ตอนนี้อย่างเรื่อง Happy Birthday Father สุขสันต์วันเกิดครับ พ่อ ผลงานล่าสุดของ ธนาวุฒิ เกสโร อดีตสตั้นท์แมนชื่อดังและผู้กำกับหนัง สยามยุทธ ที่คราวนี้หันมาจับงานแนวระทึกขวัญการเมืองกันบ้าง ที่สำคัญตัวหนังนำเรื่องราวเค้าโครงจริงในอดีตเกี่ยวกับคดีสะเทือนขวัญนี้มาใช้เพื่อนำพาคนดูไปสู่เรื่องราวที่ซุกซ่อนอยู่หลังเหตุการณ์นี้ว่า มันเกิดขึ้นได้อย่างไร
ตรงนี้น่าสนใจมาก อย่างที่เรารู้ ๆ กันว่า ประเทศไทยนั้นไม่ค่อยมีหนังแนวระทึกขวัญออกมาสักเท่าไหร่นัก ถึงแม้จะมีการสร้างขึ้นมาเรื่อย ๆ ก็ตาม แต่ตัวหนังแนวนี้ก็ไม่เป็นที่ต้อนรับจากแฟน ๆ เท่าไหร่อยู่ดี แม้ว่า หลายคนจะคุ้นเคยกับหนังอย่าง บุญเพ็ง หีบเหล็ก , ซีอุย หรือกระทั่ง หนังอย่าง นวลฉวี หรือ ศยามล ที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในช่วงเวลาหนึ่ง แต่อย่างที่เรารู้คือ หนังพวกนี้ไม่ได้ทำเงินมากนักและเหมือนจะถูกถีบออกจากความสนใจของแฟนหนังไทยทำให้สุดท้ายแล้วหนังแนวนี้กับคนไทยเป็นเสมือนเส้นขนานที่นาน ๆ ทีจะได้เห็นด้วยซ้ำ
อย่างเช่น หนังเรื่องนี้ที่เรียกได้ว่า เป็นความกล้าหาญชาญชัยที่ทีมงานสร้างได้ทำหนังเรื่องนี้ขึ้นมา แม้ว่า โอกาสของหนังที่จะทำเงินจะยากยิ่ง (ยิ่งบวกกับการให้โรงของโรงภาพยนตร์แล้วยิ่งน่าเศร้าใจ) ต้องปรบมือและนับถืออย่างยิ่งที่อย่างน้อยเราก็มีหนังแนวนี้ออกมาและทำให้เราได้เห็นว่า วงการเรายังมีหนังมีความพยายามอยู่ที่จะสร้างความแตกต่างให้กับวงการของเราอยู่ดี
ที่จริงแล้วก็ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องนี้เท่านั้น แต่หนังไทยมีความพยายามจะสร้างหนังแนวนี้ขึ้นมามากมาย ดังนั้นก่อนจะพาไปสัมผัสความมืดมิดที่เชียงราย บทความนี้จะพาทุกท่านไปสำรวจโลกมืดของอาชญากรรมในหนังไทยกันว่า เราเคยเล่าเรื่องอะไรกันมาบ้าง
คืนบาปพรหมพิราม (2003)
“ศพของหญิงสาวถูกรถไฟชนจนขาดเป็นสามท่อน ที่จริงต้องบอกว่า เธอถูกทับเสียมากกว่า ร่างของเธอถูกพาดวางกับรถไฟ สภาพร่างกายของเธอบอบช้ำอย่างมาก อวัยวะเพศฉีกขาด มีน้ำอุสจิของผู้ชายหลายคนในช่องคลอด คดีนี้กลายเป็นคดีสะเทือนขวัญผู้คนเพราะ มีผู้ถูกจับกว่า 30 คน โดยมีอายุตั้งแต่ 9 ขวบจนถึง 65 ปี”
จากคดีที่ถูกกล่าวขานว่าเป็น อาชญากรรมทางเพศที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ในปี 2520 และถูกนำมาเขียนเป็นนิยายโดย นที สีทันดร หรือ สันติ เศวตวิมล ในชื่อ พรหมพิลาป บอกเล่าเรื่องราวของคดีนี้ที่อยู่ในความทรงจำของคนไทยมานาน ไม่ต่างกับซีอุย เพียงแต่นี่คือ คดีที่เปลี่ยนอำเภอเล็ก ๆ ที่แทบไม่มีใครรู้จักให้กลายเป็นตราบาปที่อยากลบเลือน เรื่องราวของการข่มขืนหญิงสาวคนหนึ่งอย่างบ้าคลั่ง โหดเหี้ยม อำมหิต ก่อนจะนำมาซึ่งจุดจบอันน่าเศร้าของเธอ และ กลายเป็นภาพสะท้อนของโลกอันน่าเศร้าของผู้หญิงในสังคมชายเป็นใหญ่ โดยที่เธอเพียงโชคดีที่คดีนี้ได้รับการดำเนินคดีอย่างถูกต้องตรงไปตรงมาทำให้จับกุมคนที่ทำกับเธอได้เป็นจำนวนมาก
กลายเป็นคดีที่มีผู้ต้องหามากที่สุดคดีหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย
ที่สำคัญกว่านั้นในช่วงที่หนังออกฉายนั้น หนังใช้ชื่อว่า คนบาปพรหมพิราม ก่อนจะถูกประท้วงให้เป็นเปลี่ยนชื่อหนังในภายหลังจากคนในพื้นที่ จนกลายเป็น คืนบาป พรหมพิรามไปในที่สุด
ตัวหนังเองสะท้อนภาพของสังคมไทยในช่วงปี 2520 ได้น่าสนใจ และ ถ่ายทอดความน่าสะพรึงของชนบทได้อย่างน่ากลัว โดยเฉพาะผู้ชายที่มีต่อหญิงสาวคนนั้นว่า พวกเขานั้นไม่ได้ต่างกับสัตว์ป่าเสมือนว่า เธอไม่ใช่คนด้วยซ้ำไป
แน่นอนว่าตัวหนังประสบความสำเร็จด้านรางวัลในปีนั้น แต่สำหรับรายได้ก็ถือว่าพอกล้อมแกล้มไปได้ อันเนื่องจากความโด่งดังจากข่าวอื้อฉาวของมันนั้นเอง
ซีอุย (2004)
ในการที่มีคนฆ่าเด็กแล้วผ่าท้องที่นครปฐมนั้นทราบข่าวเหมือนกัน โดยขณะนั้นอยู่ที่จังหวัดนครปฐม โดย ข้าฯ ค้างที่นครปฐม 1 คืน [...] ได้ยินชาวบ้านพูดกัน แต่ไม่ได้ไปดูเพราะรอรถไฟด่วนจะกลับทับสะแก แต่ใครจะเป็นคนฆ่า ข้าฯ ไม่ทราบ…" (คัดลอก จากบทความ “ซีอุย” มนุษย์กินคน หรือเหยื่อสังคม? นิตยสาร ศิลปและวัฒนธรรม)
คงไม่มีอาชญากรรมใดที่เรียกว่า ชื่อของผู้ต้องสงสัยหรือตัวฆาตกรจะโด่งดังสั่นประสาทประชาชนชาวไทยได้มากกว่า ฆาตกรมนุษย์กินเนื้อคน นามว่า ซีอุย ที่ก่อคดีฆาตกรรมเด็กกว่า 6 รายในช่วงปี 2497-2501 โดยเหยื่อที่ถูกฆ่ามักจะเป็นเด็ก และ มีอวัยวะภายในหายไป ทำให้ตัวของซีอุย หรือ มีชื่อจริงว่า หลีอุย แซ่อึ้ง โด่งดังหลังจากถูกจับกุมขณะที่อยู่กับศพของเด็กคนที่ 7 ที่เป็นหลักฐานคาตา และ ถูกตัดสินประหารชีวิตในเวลาต่อมา แม้ว่า ตัวคดีจะมีความพิรุธหลายอย่าง อาทิ การสอบสวนซีอุยที่ไม่มีการใช้ล่าม หรือ การจูงใจให้รับสารภาพเพื่อส่งตัวกลับประเทศ หรือ พยานอื่น ๆ ที่ยิ่งนานวันยิ่งแสดงให้เห็นถึงความพิลึกในคดีนี้ ทำให้สุดท้ายแล้วทำให้พอเชื่อได้ว่า ซีอุยอาจจะไม่ใช่ฆาตกรตัวจริงก็ได้
เรื่องราวของซีอุยถูกนำมาถ่ายทอดทั้งในแบบละครทีวี และ ภาพยนตร์ในปี 2547 ที่หยิบเรื่องราวของเขามาตีความใหม่ให้เห็นภาพของชายชาวจีนที่เก็บเสื้อผ้าเสื่อผืนหมอนใบเดินทางมายังประเทศไทยพร้อมกับบาดแผลอันเจ็บปวดของสงครามในอดีตที่เปลี่ยนจิตใจของเขาให้บิดเบี้ยวและผิดปกติ อันมาจากอาการป่วย ซึ่งส่งผลให้เขากลายเป็นมนุษย์กินคนในท้ายสุด เพราะ ความเชื่อผิด ๆ ที่พยายามจะเอาตัวรอดก็เป็นได้
กระนั้นเอง แม้ว่าตัวหนังจะพยายามให้ภาพอันน่าเห็นอกเห็นใจของเขาก็ตาม สิ่งที่หนังเพิ่มเติมและสะท้อนออกมาได้น่าสนใจคือ ภาพของสังคมไทยในยุคที่ปกครองด้วยเผด็จการ และ คำสั่ง 17 ของ จอมพลสฤษฏิ์ ธนะรัชต์ ที่ให้อำนาจเด็ดขาดสามารถประหารชีวิตได้โดยไม่มีการไต่สวนแต่อย่างใด อีกทั้งภาพของเจ้าหน้าที่ตั้งตัวเป็นศัตรูกับซีอุยที่เป็นคนจีนในช่วงเวลาที่รัฐบาลปราบปรามคอมมิวนิสต์ก็สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นยังไง เขาก็ไม่มีทางได้รับความบริสุทธิ์แน่นอน นี่ยังไม่รวมถึงภาพของสังคมมืดมนภายใต้เผด็จการที่ทำให้เราต้องเศร้าใจในชะตากรรมของเขาที่สุดก็ไม่ได้กลับบ้านอย่างที่เขาตั้งใจเอาไว้
แม้กระทั่งสิ้นชีวิตร่างของเขาก็ยังคงอยู่ที่ศิริราช ไม่ได้กลับบ้านอย่างที่ตั้งใจไว้ เช่นเดียวกับชื่อของเขายังคงถูกพูดถึงในฐานะมนุษย์กินคนต่อไปในความทรงจำของคนต่อไป
ซีอุยปี 2547 ไม่ทำประสบความสำเร็จเท่าไหร่นักใน Box Office ประเทศไทย แม้จะได้รางวัลจากการแสดงมา แต่ก็เป็นหนึ่งในหนังที่ทำเงินได้น่าผิดหวังแห่งปีทีเดียว
เฉือน ฆาตกรรมรำลึก (2009)
“พบศพของชายไม่ทราบชื่ออยู่ภายในกระเป๋าเดินทางสีแดง สภาพของศพถูกแทงด้วยของมีคม และ อวัยวะเพศถูกตัดขาออกจากกัน โดยพบตัวอวัยวะเพศในปากของเหยื่อ คาดว่า น่าจะเป็นฝีมือของฆาตกรต่อเนื่องที่สวมเสื้อกันฝนสีแดง”
จากโครงเรื่องของ วิศิษฐ์ ศาสนเที่ยง มาสู่มือของผู้กำกับชั้นยอดอย่าง ก้องเกียรติ โขมศิริ นำมาสู่ภาพยนตร์สืบสวนสอบสวนระทึกขวัญที่พาเรากระโจนไปตามล่าฆาตกรในเสื้อกันฝนสีแดงที่อาจจะเป็นเพื่อนสมัยเด็กของ แทนไท ตำรวจสายสืบนอกเครื่องแบบหนุ่มที่ถูกปล่อยตัวออกมาล่าฆาตกรคนนี้โดยแลกกับอิสรภาพ เขากลับไปยังบ้านเกิดอีกครั้งเพื่อรำลึกถึงอดีตที่อาจจะเชื่อมโยงไปสู่ฆาตกรคนนี้ก็ได้
เฉือน เป็นหนังในภาพยนตร์สืบสวนระทึกขวัญที่มีหน้าฉากสะท้อนภาพความมืดมิดของสังคมไทย ตั้งแต่ การกลั่นแกล้งกันในโรงเรียนที่รุนแรงจนชวนอดสู การข่มเหงทางเพศจากคนใกล้ตัว อาทิ เพื่อน ครูบาอาจารย์ไปจนถึงพ่อแม่เองก็ตาม นี่ยังไม่รวมถึงภาพของเพศที่สามในเรื่องที่เป็นปมด้อยที่ชวนเจ็บปวดนำมาสู่ชะตากรรมอันระหกระเหินของเพื่อนสนิทสองคนที่เพียงแค่อยากหาที่อยู่ของตัวเอง แต่สุดท้ายกลับต้องแยกแตกกันไปคนละทาง
เฉือนเป็นหนังที่ได้รับคำยกย่องจากแฟนหนังว่า นี่คือ หนังแนวสืบสวนระทึกขวัญชั้นดีที่สะท้อนภาพความมิดมิดของสังคมไทยได้อย่างน่าสะพรึงชนิดว่า ฆาตกรในเรื่องอาจจะไม่ได้เลวร้ายเท่ากับสิ่งที่เขาเจอมาตลอดชีวิต หนังทำให้ภาพความสดใสของหนังไทยอย่าง แฟนฉันต้องพังพินาศไป เนื่องจากเรื่องราวสมัยเด็กในหนังเรื่องนี้มันไม่มีความสวยงามเลย มันเต็มไปด้วยเจ็บปวด ความเลวทรามที่ผู้ใหญ่กระทำต่อเด็กจนพวกเขาต้องหาทางเอาตัวรอดด้วยตัวเอง แม้ว่า จะต้องทำเรื่องเลวร้ายก็ตาม
เพียงเพื่อให้ที่ของเรายังคงอยู่
แม้จะได้รับคำชมมากมาย แต่เฉือนเป็นหนึ่งในงานที่ล้มเหลวในตารางหนังทำเงิน แม้ว่า จะได้รับการประเมิณค่าในภายหลังว่า นี่คือ หนังที่ดีมากเรื่องหนึ่งเท่าที่มีการสร้างมา แต่นั้นแหละว่า มันสายเกินไปแล้วน่ะเอง
ศพไม่เงียบ (2011)
“พบศพของเด็กวัดคนหนึ่งเสียชีวิตอยู่ในโอ่งใบใหญ่ สภาพศพมีร่องรอยบางอย่างคล้ายกับการทำร้าย เพียงแต่ตำรวจรีบปิดคดีนี้เนื่องจากมองว่า แค่เด็กวัดคนเดียวและปิดคดีไป ทำให้หลวงพ่ออนันดา อดีตตำรวจสายสืบต้องเข้ามาสืบคดีนี้ด้วยตัวเองก่อนจะพบว่า คดีนี้อาจจะเกี่ยวข้องกับโลกมืดในพระพุทธศาสนา การค้ายาเสพติด อำนาจของพระ ที่ทำให้หลายคนต้องตื่นตะลึงยิ่ง”
ผลงานภาพยนตร์แนวสืบสวนที่คราวนี้มาแปลกด้วยการให้ตัวนักสืบเป็นพระ อดีตตำรวจสายสืบที่เข้ามาสืบคดีนี้ก่อนจะพบว่า มันมีเงื่อนงำบางอย่างที่ซ่อนอยู่ในการฆาตกรรมครั้งนี้ ซึ่งเรื่องนี้เรียกว่าพาเรากระโจนไปสู่โลกมืดของข้าราชการ โดยเฉพาะตำรวจ และ พระกันบ้าง ซึ่งเราจะเห็นว่า การสืบคดีนี้ไม่ง่ายเลย และ มันช่างน่าเหนื่อยหน่ายราวกับว่า ไม่สามารถมองหาแสงสว่างอันใดได้เลย ซึ่งตัวหนังแม้ว่าจะกำกับโดยฝรั่งอย่าง ทอม วอลเลอร์ ที่เขียนบทขึ้นมา แน่นอนว่า ตัวบทมีความประดักประเดิดใหญ่โตทั้งการเรียกชื่อพระ และ ความไม่เนียนในหลายฉากที่ทำให้คนไทยหลายคนหลุดขำ (ทั้งการเรียกชื่อพระแบบชื่อพระ ไม่ใช่ชื่อ พระโต้ง พระเอม เป็นต้น) รวมทั้ง การสร้างภาพทัศนคติของหนังสือพิมพ์ที่พยายามตีแผ่เรื่องนี้ในฐานะกระบอกเสียงประชาชน (เราเองก็รุ้ว่ามันไม่เคยเป็นกระบอกเสียงจริง ๆ หรอก) ทำให้หนังดูเหนือจริงไปไม่ใช่น้อยทีเดียว
กระนั้นเอง หนังก็ไม่ได้ย่ำแย่อะไรนัก เพราะ สิ่งที่หนังมันสะท้อนคือ ไม่ว่าจะเป็นวงการไหนก็มีความมืดมืด ความเลวร้ายซ่อนอยู่ แม้แต่วงการผ้าเหลืองก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น ตำรวจ หรือ พระเป็นเพียงเครื่องแบบที่หุ้มไว้เท่านั้น สิ่งสำคัญคือ ความดีที่อยู่ข้างในต่างหาก
แม้แต่มหาโจรก็เป็นพระอรหันต์ได้หากรู้จักความดีและศรัทธายึดมั่น เหมือนเช่น พระอนันดาที่สืบคดีจนถึงที่สุดและเปิดเผยเรื่องราวเพื่อรักษาความดีนี้เอาไว้
ศพไม่เงียบก็เป็นหนังอีกเรื่องที่ล้มเหลวตารางหนังทำเงินเช่นกัน มันได้โรงฉายน้อยมาก ๆ ก่อนจะออกแผ่นแบบเงียบ ๆ ซึ่งน่าเสียดายสำหรับหนังเรื่องนี้อย่างยิ่ง
Happy Birthday Father สุขสันต์วันเกิดครับ พ่อ (2019)
หลังห่างหายจากจอภาพยนตร์มานาน สำหรับหนังแนวระทึกขวัญสืบสวนสอบสวน ในที่สุดก็มาถึงคราวของหนังเรื่องนี้ที่แน่นอนว่าถือกำเนิดโดยสตูดิโอเล็ก ๆ ที่ได้รับทุนสร้างจาก อเมริกา จีน และ ไทย ซึ่งตัวหนังนั้นได้นำเรื่องราวเหตุการณ์จริงในอดีตอย่าง คดีลูกเลี้ยงวัย 8 ขวบ ฆ่าพ่อเลี้ยงตัวเองตายในงานวันเกิดและรับตำแหน่ง ซึ่งตัวหนังได้พาเราไปสำรวจเรื่องราวนี้ว่า มันอาจจะมีอะไรมากกว่านี้ก็ได้ ผ่าน หมวดตุลย์ ตำรวจหนุ่มที่ถูกสั่งให้มาเคลียร์คดีนี้ ท่ามกลางความไม่ชอบมาพากลหลาย ๆ อย่าง เมื่อยิ่งสืบสวนลงไป เขาได้พบกับเรื่องราวที่น่าปวดหัว ทั้ง ความรักความแค้นของสองกำนันที่เคยเป็นเพื่อนรักกันก่อนจะหักดิบด้วยผลประโยชน์ และ นำมาสู่เรื่องเศร้าที่เต็มไปด้วยเลือดและคาบน้ำตา
หนังเรื่องนี้เรียกว่า พาเรากระโจนไปสู่เชียงรายเมื่อสิบปีก่อน ที่ที่เกิดเรื่องทั้งหมดได้อย่างน่าสนใจ ภาพของเชียงรายอันเวิ้งว้าง ชนบทที่ไร้ซึ่งผู้คน ดูน่ากลัวไม่ต่างกับบรรดาผู้คนในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นกำนันโชติ กำนันอิน หรือตัวละครอื่นที่เรารู้สึกภาพของความมืดมืดที่ซ่อนอยู่ในตัวพวกเขา ไม่เว้น แม้แต่ มินต์กับไม้ ลูกของกำนันอินที่ต่างเป็นภาพสะท้อนของผู้ใหญ่ในเรื่องแทบทั้งสิ้น
สิ่งที่น่าสนใจนอกจากเรื่องราวการสืบสวนว่า ใครเป็นคนที่อยู่เบื้องหลังครั้งนี้ หรือ ไม้ เด็กวัย 8 ขวบจะเป็นคนทำด้วยตัวเองกันแน่นอนนั้น ตัวหนังพาเราไปพบกับการเมืองท้องถิ่นที่มีการต่อสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตาย ผ่านผลประโยชน์ อำนาจมืด และ การวางแผนกันไปทีละขั้นชนิดที่ว่า อำนาจที่ประชาชนมีมันอาจจะไม่มีจริง มันเป็นเพียงเกมที่คนมีอำนาจวางแผนเอาไว้ก็เป็นไปได้
หนังให้เรารู้ว่า กำนันโชติยอมไปเป็นลูกน้อง สส กังฉินตัวแสบในเรื่องเพื่อหาทางขึ้นสู่อำนาจ แม้ว่า การหลวมตัวเข้าไปในวังวนอำนาจจะทำให้เขาต้องทำทุกอย่างเพื่อเอาชนะให้ได้ มันสะท้อนว่า เกมนี้ไม่มีใครอยู่ได้แน่นอนถึงจะเป็นเพื่อนกัน มีบุญคุณกัน แต่เกมอำนาจและผลประโยชน์นั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอในวงการเมือง
นำไปสู่การล่มสลายของสองอาณาจักรในคราวต่อมา
น่าแปลกใจว่า เราจะมองเห็นเรื่องราวการเมืองเหล่านี้แค่เพียงในหนังต่างจังหวัดเท่านั้นราวกับบอกว่า คนต่างจังหวัดนั้นมีสำนึกด้านประชาธิปไตยหรือการเมืองมากกว่าคนเมืองหรือเปล่า ถ้าหากมองย้อนกลับยังหนังในช่วงสองปีมานี้อย่าง ผู้บ่าวไทบ้านภาค 3 , ไทบ้านซีรีย์ 1-2 หรือล่าสุดกับ Where we Belong เอง ทั้งหมดเป็นหนังที่สร้างขึ้นโดยสตูดิโอเล็ก ๆ ขณะเดียวกันก็มีพื้นที่ในเรื่องเป็นต่างจังหวัดแทบทั้งหมด ไม่ว่าจะ ขอนแก่น ศีรษะเกษ ไปจนถึง จันทบุรี นี่ หากไม่นับย้อนไปยังหนังอย่าง เฉือน คืนบาปพรหมพิราม ไปจนถึง ซีอุย หนังเหล่านี้มีพื้นเรื่องอยู่ต่างจังหวัดทั้งนั้น
ราวกับการเมืองจะถูกบอกเล่าได้ในพื้นที่ของต่างจังหวัดเท่านั้น
แล้วเมืองกรุงละ ?
มันน่าแปลกใจที่หนังที่บอกเล่าการเมืองเกี่ยวกับกรุงเทพที่ชัดเจนเรื่องท้าย ๆ คือ ตั้งวง ซึ่งเป็นหนังเล็ก ๆ ของสตูดิโอเล็ก ๆ เท่านั้นเอง ในขณะที่หนังไทยส่วนใหญ่ที่สร้างสตูดิโอพยายามเลี่ยงเรื่องราวพวกนี้เสมือนว่า มันไม่มีจริงด้วยซ้ำไป
ยิ่งหนังค่ายมหาชนที่ชนชาวเมืองต้อนรับเสมอนั้นแทบจะเรียกว่า มองข้ามทุกอย่างเสมือนการเมืองเป็นแค่ภาพลวงตาด้วยซ้ำไป
จึงไม่แปลกที่หนังเรื่องนี้จะมีความกล้าหาญมากที่นำเสนอเรื่องราวนี้ บวกกับเนื้อหาที่เรียกว่า รุนแรงอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็น ฉากเด็กยิงปืนจนหัวทะลุ หรือ ฉากโม้กกันกลางสวนผลไม้ กระทั่ง ฉากเหยียบกบตาย และ อีกหลายฉากที่เราเห็นภาพความมืดมิดในหนังเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน
มันคือ ภาพความเป็นไปของสังคมไทยว่า ใช่ว่า ทุกคนจะเกิดมาสบายมีความสุข วิ่งไปขึ้นรถไฟฟ้าไปเรียนกลับบ้าน เด็กบางคนอาจจะต้องเจอกับความเลวร้ายหรือเจ็บปวดยิ่งกว่าอะไรเสียอีก
ดังนั้น Happy Birthday Father สุขสันต์วันเกิดครับ พ่อ จึงเป็นหนังไทยที่ทำออกมาเพื่อให้เราเข้าใจว่า โลกใบนี้มันเป็นเช่นไร
เพราะทุกอย่างของเรื่องนี้มันเริ่มต้นมาจากสิ่งใด
การเมือง ความอิจฉาริษยา ความรัก หรือกระทั่งผลประโยชน์
สิ่งเหล่านี้ทำให้มนุษย์ทำสิ่งเลวร้ายได้เสมอเมื่อไม่เหลือความดีอยู่ในใจ
ดังเช่น ตำรวจหนุ่มอย่าง ตุลย์ ได้พบเจอ ณ ช่วงเวลาสุดท้าย
Happy Birthday Father สุขสันต์วันเกิดครับ พ่อ กำลังฉายโรงอยู่ ณ เวลานี้ ใครสนใจ ลองเข้าไปชมกับเรื่องนี้ดีพอจะให้ทุกคนได้ชมแน่นอน
+++++++++++++++