Skip to main content

               “จูออน คือ คำสาปของผู้ที่ตายด้วยความเคียดแค้น ณ สถานที่ที่ตาย ผู้ที่เผชิญหน้ากับมันจะต้องตาย และ คำสาปแช่งใหม่จะถือกำเนิด”

                ปี 20XX ครอบครัวซาเอกิ อันประกอบด้วย ทาเคโอะ สามี ภรรยา คายาโกะ และ ลูกชายวัยประถมโทชิโอะย้ายเข้ามาอาศัยในบ้านหลังหนึ่งชานเมืองโตเกียว ก่อนที่เวลาต่อมา มีคนพบศพของทาเคโอะเสียชีวิตที่ถนนข้างทาง และ ตำรวจได้ไปที่บ้านของเขาก่อนจะพบศพของคายาโกะถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยม กระดูกหักทั่วทั้งร่าง และ ถูกหักคอจนเสียชีวิตก่อนซ่อนเอาไว้ใต้หลังคา เช่นเดียวกับลูกชายโทชิโอะที่ถูกจับกดกับน้ำจนตายเช่นกัน คดีนี้กลายเป็นคดีสะเทือนขวัญในชั่วขณะหนึ่งก่อนถูกลืมเลือน บ้านของพวกเขายังคงอยู่และมีผู้ย้ายเข้ามาทั้งซื้อและเช่าต่อมากมาย ทว่า พวกเขาเหล่านั้นกลับต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่เรียกว่า จูออน หรือ คำสาปมรณะ ที่ที่ใครผู้ใดย่างกรายเข้าไปในบ้าน จะตายหรือ หายสาบสูญ แทบทุกราย

                เนื้อหาด้านบนนี้คือ เรื่องราวของ Ju-On หรือ  the Grudge ภาพยนตร์สยองขวัญจากญี่ปุ่นที่สร้างชื่อให้กับผู้กำกับโนเนมที่ทำแต่หนังส่งลงวีดีโออย่าง ทาคาชิ ชิมิสุ ที่หยิบเรื่องราวของคำสาปแช่งของคนตายอันเป็น Theme หลักของเรื่องที่บอกเล่าเรื่องอันน่าสะพรึงกลัวของวิญญาณอาฆาตของสองแม่ลูกคายาโกะและโทชิโอะที่หลอกหลอนสร้างความหวาดกลัวจนกลายเป็นหนึ่งในหัวหอกสำคัญของ J-Horror หรือ ภาพยนตร์สยองขวัญจากญี่ปุ่นที่รุ่งเรืองจนกลายเป็นหนึ่งใน Genre ของหนังสยองขวัญไปชั่วขณะ โดยเฉพาะ Ju-On ที่โด่งดังเทียบเท่ากับ The Ring ภาพยนตร์สยองขวัญ J-Horror อีกเรื่องที่โด่งดังจนได้รีเมคใหม่เป็นหนังฮอลลีวู้ด และ มีภาคต่อตามมาอีกมากมาย ณ เวลาต่อมา

                Ju-on เองก็เช่นกัน หนังผีที่มีต้นกำเนิดมาจากหนังวีดีโอแนวสยองขวัญที่ถูกสร้างขึ้นเป็นล้ำเป็นสันในร้านเช่าวีดีโอของญี่ปุ่นเพื่อให้วัยรุ่นได้เช่าไปชมกันสนุกสนานในช่วงวันหยุด โดยตัวของ Ju-On นั้นมีกำเนิดมาจากหนังวีดีโอที่มีชื่อว่า Katasumi and 4444444444 ที่ตัวชิมิสุเองยอมรับว่า เขาไม่ได้คิดชื่อให้ผีสองตัวในเรื่องนี้เลย เพียงแต่ได้รับแรงบันดาลใจสำคัญมาจากตำนานผีโอคิวะ ซึ่งมีเรื่องว่าด้วยหญิงสาวที่เสียโฉมเนื่องจากสามีได้สังหารเธออย่างโหดเหี้ยมและหนีไปแต่งงานใหม่ วิญญาณของเธออาฆาตแค้นอย่างแสนสาหัส เธออกตามล่าและแก้แค้นสามีของเธอรวมทั้งคนที่เกี่ยวข้องอย่างโหดเหี้ยม ปัจจุบันหลุมศพของเธอยังคงอยู่ รวมทั้งการแต่งหน้าของละครโนที่มักจะแต่งหน้าตัวละครให้ขาวจนดูน่าขนลุก ขณะเดียวกันท่าทางอันน่าสะพรึงของผีสาวที่คืบคลานมานั้นเป็นการอิมโพรไวส์ตีความของ ทาคาโกะ ฟูจิ นักแสดงสาวโนเนมที่มองว่า การคืบคลานในสภาพงึกงักของคายาโกะนั้นอาจจะดูน่ากลัว แต่ มันแฝงไปด้วยความเจ็บปวดอันแสนสาหัส เธอจึงตีความตัวของผีสาวตนนี้ขึ้นมาและนำมาสู่เรื่องราวที่ขยายใหญ่ขึ้น ณ เวลาต่อมา

                จากหนังวีดีโอเล็ก ๆ กลายเป็นเรื่องยาว และ กลายเป็นตำนานที่ถูกเล่าขาน เรื่องราวของสองแม่ลูกคายาโกะและโทชิโอะ ถูกนำมาสร้างใหม่ รีบู้ท ตีความใหม่ และ บอกเล่าหลายเรื่องที่ที่ตัวของชิมิสุบอกว่า จูออนไปไกลจากตัวของเขามากแล้ว และ ตัวเขาทำหน้าบอกเล่าเรื่องราวของมันสมบูรณ์แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเวอร์ชั่นต้นฉบับหรือเวอร์ชั่นรีเมคที่เขากำกับเอง ซึ่งหลังจากนี้คือสิ่งที่คนดูและนักทำหนังรุ่นต่อไปจะตีความมันต่อ

                หลังจากภาครีเมคได้พยายามรีบู้ทเรื่องราวของ Ju-On ใหม่ให้ไม่เกี่ยวข้องหรือบอกเล่าเรื่องราวของสองแม่ลูกซาเอกิอีกใน the Grudge (บ้านผีดุ) (2020) แม้ว่าหนังจะทำเงินไปพอสมควร ทว่าเสียงตอบรับเรียกได้ว่า ย่ำแย่จนหลายคนส่ายหัว แม้กระทั่งแฟนพันธุ์แท้ของหนังชุดนี้ยังรู้สึกว่า หนังชุดนี้ไม่มีหนทางไปต่อแล้วเสียด้วยซ้ำ และ ควรปล่อยมันให้จบลงไปดี ๆ ยังดีกว่า

                แน่ละว่า เวอร์ชั่นรีเมคของอเมริกาอาจจะน่าผิดหวัง ทว่า จูออนก็กลับมาเกิดใหม่อีกครั้งในฉบับซีรีย์ที่มีชื่อว่า Juon – Origin โดยที่หนังภาคนี้ได้ทุนสร้างมาจาก Netflix และ ออกฉายแบบสตรีมมิ่งไปทั่วโลก รวมประเทศไทยเองก็ได้สัมผัสเรื่องราวใหม่ของจูออนที่เหมือนจะกลับมาดุได้สำเร็จ

                สิ่งที่น่าสนใจในซีรีย์ความยาวเพียงหกตอนนี้คือ การบอกเล่าเรื่องราวก่อนหน้าเหตุการณ์ฆาตกรรมสยองขวัญของครอบครัวซาเอกิจะถือกำเนิด ณ บ้านหลังหนึ่งแถวชานเมืองโตเกียวที่นี่เป็นเรื่องเริ่มต้นทั้งหมดที่คนดูพบว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นน่ากลัวไม่ต่างกับจูออนที่เรารู้จักกันเลย

                ซีรีย์พาเรากระโจนไปสู่เรื่องราวของบรรดาผู้คนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับบ้านหลังนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนซื้อใหม่ นายหน้า ดารา นักข่าว นักเขียนเรื่องลึกลับ ตำรวจ ไปจนถึง เด็กนักเรียน ที่พวกเขาถูกดึงดูดให้มาที่นี่ก่อนจะต้องพบเจอกับสิ่งที่ผิดปกติในบ้านหลังนี้ที่จะเปลี่ยนชีวิตของพวกเขาไปตลอดกาล

                สิ่งที่น่าสนใจในซีรีย์รอบนี้นอกจากมันตั้งโจทย์เอาไว้ว่า จูออนคือ คำสาปแช่งที่เกิดจากคนตายและครอบงำสถานที่ที่พวกเขาตาย แล้ว มันยังพาเรากระโจนไปสำรวจเรื่องราวความป่วยจิตของผู้คนในญี่ปุ่นได้อย่างมีชั้นเชิง และ น่ากลัวกว่านั้นคือ มันกำลังพาเราไปสู่การวิพากษ์ระบบสังคมของประเทศแห่งนี้ได้อย่างถึงแก่นจนเรายังรู้สึกว่า ผีในเรื่องอาจจะน่ากลัวน้อยกว่าเสียด้วยซ้ำ

                และนี่คือ เรื่องราวที่จูออนบอกเล่าให้ฟัง

  1. ไม่มีอีกแล้ว ครอบครัวแบบโอซุ

         ไม่ต้องแปลกใจนัก หากจูออนและบรรดาหนังสยองขวัญ J-Horror ทั้งหลายจะบอกเล่าเรื่องราวน่าสะพรึงที่เกิดขึ้นกับสถาบันที่คนญี่ปุ่นและคนทั่วโลกเทิดทูนว่า สำคัญที่สุด อย่าง ครอบครัว ว่า เป็นต้นเหตุสำคัญที่เป็นจุดเริ่มต้นของคำสาปมรณะที่เล่นงานทุกคนอย่างไม่ไว้หน้า

          ซีรีย์พาเราไปพบกับความตายของครอบครัวต่าง ๆ ที่ต่างก่อเหตุฆาตกรรมอันน่าสะพรึงกันไม่เว้นแต่ล่ะวัน ทั้งสามีฆ่าภรรยาเพราะ คิดว่า ภรรยามีชู้ , ลูกสาวฆ่าแม่ที่มองว่าตัวเองเป็นแค่กาฝากที่ทำลายชีวิต , เด็กสาวผู้หลงทางผิดฆ่าสามีตัวเองเพื่อปลดปล่อยโซ่ที่มัดตัวเองเอาไว้ หรือ ชายวิกลจริตที่จับผู้หญิงมาข่มขืนจนท้องเนื่องจากถูกครอบครัวทอดทิ้ง นี่คือ เรื่องราวที่ซีรีย์บอกกับเราและให้เห็นภาพการล่มสลายของครอบครัวที่ที่เรารู้สึกว่า บ้านคือสิ่งที่ปลอดภัย ครอบครัวคือ คนที่ไว้ใจได้กลับกลายเป็นคนที่ฆ่าฉัน และ สร้างบาดแผลให้ทุกคนอย่างเลี่ยงไม่ได้

           หากจำกันได้ ครอบครัวซาเอกิคือ ตัวอย่างของครอบครัวที่ล่มสลาย คายาโกะแต่งงานกับทาเคโอะเพราะ ต้องการหนีจากอดีตอันเจ็บปวดซึ่งมาจากตระกูลคนทรงเจ้าของเธอ แม้ว่า จะมีลูกอยู่คนหนึ่งแล้ว เธอกลับไม่ได้รับการเอาใจใส่จากสามีที่ออกไปทำงานที่อื่น ไม่พอยังขี้หึงร้ายกาจจนทำร้ายเธอไม่เว้นแต่ล่ะวัน ส่งผลให้เธอเกิดความวิปริตขึ้นในใจจนหลงรักครูของโทชิโอะและนำไปสู่โศกนากฏกรรมที่เรารู้กันดี

           ภาพการฆาตกรรมของคายาโกะนั้นน่าสะพรึงกลัว เช่นเดียวกับ อีกครอบครัวหนึ่งในภาค White Ghost ที่ลูกชายก่อคดีฆาตกรรมคนทั้งครอบครัวอย่างโหดเหี้ยมก่อนฆ่าตัวตายบนเขาอย่างโดดเดี่ยว เป็นหนึ่งในภาพที่เรารู้ดีว่า ครอบครัวแสนสุขแบบหนังโอซุมันไม่มีอีกแล้ว

        มันมีแต่การล่มสลายและความเย็นชาที่มีให้กันและกันเท่านั้น

        คิโยชิ คุโรซาว่า ผู้กำกับหนังชื่อดังจาก Tokyo Sonata และ อาจารย์ผู้ดึงให้ทาคาชิ ชิมิสุ มาทำจูออนเคยกล่าวไว้ว่า หนังของโอซุนั้นเป็นแรงบันดาลใจในการทำหนังของเขาเสมอ และ ไม่แปลกที่หากจูออนของชิมิสุ ลูกศิษย์ของเขาจะเป็นหนังที่สะท้อนภาพการล่มสลายของสถาบันครอบครัวญี่ปุ่นได้อย่างน่าสะพรึง

        คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับครอบครัวเสมอ พวกเขามุ่งหมายจะสร้างครอบครัวที่อบอุ่น มีบ้าน มีภรรยา มีครอบครัวที่มีความสุข มีลูกเต็มบ้าน มีหลานเต็มเมือง มีชีวิตงานการที่ดี นั้นคือ มายาคติที่สังคมญี่ปุ่นมอบให้กับคนญี่ปุ่นว่า พวกเขาจะต้องตั้งเป้าหมายให้ได้เช่นนี้ โดยไม่รู้ว่า มายาคติที่ว่ากลับกลายเป็นคำสาปที่เล่นงานพวกเขาและชักนำทุกคนให้นำไปสู่ความพินาศที่รออยู่ไม่ไกลเสมอ

        “ไปทำงานแล้วน้า”

        “ไปดีมาดีนะคะ”

        “กลับมาต้มน้ำให้อาบด้วยนะ”

        “ค่ะ”

        ผู้ชายถือกระเป๋าออกจากบ้าน โดยมีภรรยาโบกมือให้คือ ภาพที่เหมือนจำลองมาจากความคิดแบบอเมริกันดรีมที่ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า ผู้หญิงช้างเท้าหลัง พวกเธอมีหน้าที่ทำงานบ้าน ดูแลลูก ทำอาหารให้สามี ต้มน้ำ มีเซ็กซ์ในฐานะภรรยาที่ดี วนเวียนซ้ำซากไปมาแบบนี้ แม้แต่ตอนที่ตาย วิญญาณของพวกเธอก็ไม่ได้หลุดพ้นไปจากตรงนี้เช่นกัน

        ซีรีย์นี้พาเราไปเห็นภาพของครอบครัวที่ค่อย ๆ พังทลายไปทีละนิด สามีทำงานดึกดื่นด้วยความคาดหวังจะสร้างชีวิตอันราบรื่นกับภรรยา โดยไม่รู้ว่า สิ่งที่เขาทำทำให้ภรรยากับเหินห่างไปทุกทีทุกที ชีวิตอันน่าเบื่อทำให้ภรรยาไปพบกับชายอื่นที่มอบความสุขให้เธอได้มากกว่าสามีที่ไม่เข้าใจความต้องการของเธอ สุดท้ายสามีฆ่าภรรยาและฆ่าตัวตายตาม กลายเป็นอีกหนึ่งคดีในบ้านหลังนี้ก่อนถูกลบเลือนหายไปตามกาลเวลา

        และนี่ไม่ใช่คดีเดียว

        อีกครอบครัว สามีกับภรรยาท้องแก่ย้ายเข้ามาในบ้านหลังนี้ด้วยความรู้แก่ใจว่า บ้านหลังนี้มีเหตุการณ์ฆาตกรรมเกิดขึ้น แต่สามีไม่สนใจและไม่ได้บอกภรรยาภึงเรื่องนี้ แต่อย่างใด เหตุผลไม่ใช่เพราะ ภรรยาจะหวาดกลัว อันที่จริงแล้วมาจากเขาต้องปกปิดเรื่องราคาของบ้านหลังนี้ที่ถูกแสนถูกอันเนื่องจากมีคดีฆาตกรรมเกิดขึ้นหลายคดีทำให้บ้านมีราคาถูกมากเมื่อเทียบกับที่ดินของบ้านอื่น ๆ ในโตเกียว สามีซื้อมันด้วยความคาดหวังว่า มันจะเป็นการแสดงความเป็นช้างเท้าหน้าของเขาได้ดี นั้นทำให้เขาไม่พอใจที่นักเขียนเรื่องสยองขวัญมาเตือนว่า บ้านหลังนี้ไม่ควรอยู่อย่างเห็นได้ชัด ก่อนที่เขาจะต้องชดใช้ความผิดพลาดนี้ด้วยชีวิตของเขาเอง

                หรือ แฟนของฮารุกะ ดาราสาวในเรื่องที่วางแผนจะแต่งงานกับเธอ หลังจากอาชีพการงานของเขาเริ่มมั่นคง เขาตัดสินใจไปซื้อบ้านหลังนี้ ก่อนจะต้องพบกับความตายอันน่าเวทนาที่ซ้ำร้อยกับคนอื่น ๆ ที่จบลงด้วยความตาย อาทิ สามีฆ่าภรรยา ภรรยาฆ่าสามี ลูกฆ่าแม่ พ่อฆ่าลูก ทุกอย่างวนเวียนไปมาในบ้านหลังนี้ ไม่มีวันสิ้นสุด

                เหมือนนายหน้าซื้อบ้านพูดว่า ราคาบ้านมันถูกใครก็อยากได้

                ความล้มเหลวของสถาบันครอบครัวที่มาพร้อมกับความน่าสะพรึงของระบบทุนนิยมทำให้เรานึกถึงหนังไทยอย่าง ลัดดาแลนด์ ที่มีเรื่องราวคล้ายคลึงกันตรงที่มันบอกเล่าเรื่องราวของชายผู้พยายามแสดงให้เห็นว่า เขาสามารถเลี้ยงดูภรรยา และ ลูกทั้งสองคนได้ เพื่อที่แม่ยายของเขาที่รังเกียจและดูถูกมาตลอดจะยอมรับในตัวเขา ไม่แปลกที่ตัวของเขาจะเข้าสู่วังวนของค่านิยมสังคมที่หากจะประสบความสำเร็จ คุณต้องมีบ้าน มีรถ มีของหรู ๆ ใช้ แม้ว่า มันจะต้องทำงานหนักหนาสาหัสก็ตาม สิ่งเหล่านี้คือ ตัวกำหนดคุณค่าของผู้ชายที่สุดท้ายแล้วต้องดิ้นรนหาทางทำให้ตัวเองมีสิ่งนั้นให้ได้ แม้จะต้องพบกับหนี้มหาศาลที่กองอยู่ก็ตาม

                ทุกอย่างก็ยังคงดีกระทั่งการปรากฏตัวของผีในเรื่องที่ทำให้ระเบิดเวลามันเดินเร็วขึ้นอย่างไม่คาดคิด และ นำไปสู่โศกนาฏกรรมในช่วงท้ายที่ที่เราได้ยินกันผ่านหน้าข่าวอันแสนคุ้นชิน

                ทั้งที่เอาจริงแล้วทุกอย่างมันสรุปผ่านคำพูดของหญิงสาวที่ย้ายมาอยู่ในบ้านหลังนี้ เธอไม่เห็นความจำเป็นว่า ทำไมต้องซื้อบ้านด้วย เธอมีความสุขที่อพาร์ทเม้นท์เล็ก ๆ มากกว่า ขณะที่บ้านหลังนี้กลับทำให้ความสำคัญของเธอกับสามีเปลี่ยนไปกลายเป็นความเย็นชาที่นำไปสู่จุดจบในที่สุด

            ความคาดหวังว่า จะทำให้ชีวิตดีขึ้น ครอบครัวดีขึ้น แม้ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตามกลับกลายเป็นคำสาปที่สืบทอดต่อกันมาและไม่เห็นหนทางเลยว่า มันจะหยุดเมื่อใด

                เพราะ ศพแล้วศพเล่าก็ยังคงเกิดขึ้น ไม่มีวันจบสิ้นอยู่ดีา

  1. ผู้หญิง ผี และ คำสาปที่เรียกว่า ความรัก

ทำไมผีที่โด่งดังของเอเชีย ถึง เป็นผู้หญิง ?

        มีคนตั้งคำถามถึงเรื่องนี้มากมาย แม้ว่า จะมีพวกผีผู้ชายในตำนานบ้าง อาทิ วิญญาณของซามูไรสามคนที่ฆ่ากันตายแล้ววนเวียนทะเลาะกันไม่มีวันจบสิ้น แถวทะเลที่อิซุ หรือ วิญญาณของตระกูลไทระที่ถูกโยชิสึเนะสังหารและยังคงวนเวียนอยู่ (ซึ่งเรื่องนี้ปรากฏในหนังเรื่อง Kwaidan ของ MASAKI KOBAYASHI ปี 1965 และ หนังสือของเลฟคาดิโอ้ เอริ์น อย่าง ผีญี่ปุ่น) กระนั้นเองก็เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น เพราะ ในวัฒนธรรมเอเชียแล้ว ผีที่โด่งดังมักเป็นสตรี

        หลักปีศาจวิทยากล่าวไว้ว่า ผีคือ สิ่งที่ตายไปแล้ว และ เป็นสิ่งที่เหนือธรรมชาติ และ กฎเกณฑ์ทั้งมวล บ่อยครั้งผีคือ ภาพสะท้อนของสังคมและผู้คน ณ ช่วงเวลานั้น โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่มีเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับวิญญาณชั่วร้ายของสตรีที่เอาจริงแล้วพวกเธอก็เป็นเพียงเหยื่ออันน่าเศร้าเท่านั้น

         ยกตัวอย่าง ตำนานเทพอิซานามิ และ อิซานางิ ที่สามีอุตส่าห์ดั้นด้นไปตามหาภรรยาถึงยมโลก แต่กลับพบว่า ภรรยาได้กลายเป็นเทพแห่งความตายไปเสียแล้ว เขาจึงทิ้งเธอแล้วหนีกลับสู่โลกเหลือเพียงคำสาปแช่งที่มีต่อสามีเอาไว้ในฐานะฤดูกาลในตำนานของญี่ปุ่น

          หรือ ตำนานของยูกิอนนะ หรือ เจ้าหญิงหิมะ ที่ถูกเล่าสืบต่อกันมาและใน Kwaidan ของ MASAKI KOBAYASHI ปี 1965 ที่ว่าด้วยเรื่องราวของชายตัดไม้ที่กำลังจะตายเพราะความหนาวเย็น นั้นเองทำให้เขาได้เจอเจ้าหญิงหิมะ วิญญาณหญิงสาวที่งดงาม เธอถูกใจเขาจึงไว้ชีวิตเขาโดยต้องสัญญาว่าห้ามบอกเล่าเรื่องราวคืนนี้ให้ใครรู้เด็ดขาด หลายปีต่อมา ชายหนุ่มตัดไม้ได้แต่งงานอยู่กินกับสาวพเนจรนามว่า ยูกิ และมีชีวิตอย่างมีความสุขพร้อมกับลูกสามคน ทว่า เขากลับเผลอเล่าเรื่องคืนนั้นให้เธอฟัง นั่นเองทำให้ยุกิคืนร่างกลับไปเป็นสาวหิมะอีกครั้งด้วยความโกรธแค้นที่ละเมิดสัญญา เธอพยายามจะฆ่าเขาแต่เพราะลูก เธอจึงสั่งเสียให้เขาเลี้ยงลุกให้ดีมิฉะนั้นเธอจะกลับมาฆ่าเขาก่อนจะหนีหายไปท่ามกลางหิมะ

        เรื่องเล่าทั้งสองนี้สะท้อนภาพของลิทธิบุรุษเป็นใหญ่ ที่ผู้หญิงมีภาพเหมือนกับเป็นเพียงสิ่งของ พวกเธอไม่สามารถคิดอะไรเองได้ นอกจากหลงไปในกฎงมงายอย่าง เป็นภรรยาต้องดูแลสามีไปจนตาย ต้องเป็นแม่ที่ดีของลูก ทว่าตัวเรื่องทั้งสองกลับสะท้อนให้เห็นความทุกข์ระทมของพวกเธอได้อย่างชัดเจน เจ้าหญิงหิมะก็เป็นภาพความรักที่ไม่มีวันสมหวัง หากเปลี่ยนเจ้าหญิงหิมะเป็นใครสักคน เราจะพบว่า พวกเธอนั้นไม่ได้ต้องการอะไรนอกจากความรักและความซื่อสัตย์ที่สามีมีให้ ลองคิดว่า ถ้าหากสามีกล้าละเมิดความซื่อสัตย์นี้ เธอจะเชื่อใจอะไรพวกเขาได้อีกไหม ?

       Ju-ON นั้นได้รับอิทธิพลมาจากเรื่องเล่าและตำนานเมืองต่าง ๆ ที่ถูกเล่าต่อ ๆ กันมาในยุคสมัยใหม่ ทว่า ภายใต้เรื่องเล่านั้นกลับมีภาพความระทมทุกข์ของเหล่าหญิงสาวที่ค้นพบว่า ตัวเองติดกับดักของความเป็นหญิงที่สังคมนิยามเอาไว้ว่า ผู้หญิงที่ดีคืออะไร ทว่า พวกเธอกลับไม่สามารถทานทนความเป็นผู้หญิงที่ว่านั้นได้ และ แปรเปลี่ยนไปก่อนจะพบจุดจบของชีวิตในที่สุด

                นอกจากคายาโกะแล้ว ตัวละครที่เรียกได้ว่า เป็นอีกคนที่เจ็บปวดที่สุดในเรื่องนี้ คือ คิโยมิ

                หลังพ่อเสียชีวิต แม่ของคิโยมิทำให้เธอต้องย้ายโรงเรียนมายังโตเกียวด้วยความไม่เต็มใจเท่าไหร่นัก เธอเกลียดแม่ตัวเองที่ชอบมีอะไรกับคนไปทั่วไม่เลือกหน้า โดยเฉพาะอาจารย์ในโรงเรียนใหม่ที่ที่แม่ของเธอใช้ร่างกายพลีให้เขาเพื่อให้เธอเข้าเรียน ทว่า สำหรับคิโยมินั้น เธอเกลียดแม่ที่ทำให้เธอต้องกลายเป็นแบบนี้ และ ตัวเธอโหยหาครอบครัว หรือ ชีวิตที่ดีกว่านี้อยู่ตลอดเวลา กระทั่งตัวเธอไปได้ไปที่บ้านร้างหลังนี้ และ ถูกชายหนุ่มร่วมห้องข่มขืนเธออย่างไม่เต็มใจ กระนั้นเองตัวของคิโยมิก็คิดได้ว่า จะใช้ประโยชน์จากเขา เธอวางแผนฆ่าแม่ โยนความผิดให้อาจารย์ จากนั้นก็หนีออกจากบ้านไปพร้อมกับชายหนุ่มด้วยความคาดหวังว่าจะมีครอบครัวที่ดี และ บ้านที่ดีกว่านี้

                แต่มันไม่ได้เกิดขึ้น

                คิโยมิมีลูกหนึ่งคนกับชายหนุ่ม ทว่า ชายหนุ่มกลับไม่เอาถ่าน ทำงานไม่เอา เบาไม่สู้ จนติดยา และ การพนันจนถูกพวกยากูซ่าไล่ฆ่า ส่วนคิโยมิที่เลิกเรียนกลางคันก็กลายสาวขายตัว ใช้ร่างกายแลกกับเงินเพื่อจุนเจือครอบครัว ขณะที่เธอมองลูกชายเป็นเพียงส่วนเกินที่ทำให้ชีวิตของเธอพินาศ หลังสามีทำร้ายลูกจนกลายเป็นเจ้าชายนิทรา คิโยมิหนีจากอพาร์ทเม้นท์หลังเล็ก ๆ นี้ไปเพื่อเริ่มต้นใหม่ แต่ สามียังคงตามไปรังควาญเธออยู่ เธอจึงฆ่าเขา และ กลับไปที่บ้านหลังนั้นอีกครั้ง

                ที่ที่ทุกอย่างเริ่มต้น

                “ขอให้ฉันได้เลือกใหม่ ขอให้ฉันได้กลับไปตอนม.ปลายอีกรอบเถอะ”

                คิโยมิตะโกนลั่นหวังว่าจะได้เลือกทางเดินใหม่ หลังจากครอบครัวที่เธอพยายามตามหามันไม่ได้เกิดขึ้น และ ไม่มีความสุขเลยสักนิดเดียว

                คายาโกะเองก็เช่นกัน เธอเกิดในครอบครัวคนทรงที่แม่ใช้เธอในฐานะสิ่งกักเก็บวิญญาณร้ายจนทำให้เธอต้องรับบาดเจ็บทั้งกายและใจ แม่ไม่เคยรักเธอ เธอจึงปรารถนาที่จะได้รับความรักจากใครสักคน เธอได้พบกับทาเคโอะด้วยความหวัง่วาจะได้พบกับความรักแท้จริง แต่ไม่ใช่ ทาเคโอะไม่ได้รักเธอแม้จะลูกชายวัยประถมอย่าง โทชิโอะขึ้นมาก็ตาม เธอไม่เคยได้รับความรักจากเขา แถมยังอิจฉาคนอื่นที่มีความรักอันสวยงามตลอดมาจนกระทั่งลมหายใจสุดท้ายของชีวิต

주문/주술] 이름을 이용한 저주 방법 : 네이버 블로그

                คายาโกะกลายเป็นวิญญาณร้ายที่ฆ่าคนไม่เลือกหน้า ทว่า เหมือนฟ้าหลังฝน เธอได้เกิดใหม่ในร่างลูกสาวของเคียวโกะ นักแสดงสาว และ ฆ่าแม่ตัวเองอย่างโหดเหี้ยม เธอคาดหวังว่า คำสาปใหม่จะเกิดขึ้น แต่ที่น่าตกใจคือ เคียวโกะกลับไม่โกรธแค้นลูกสาวคนนี้ เธอยิ้มและยื่นผ้าพันคอให้กับเด็กหญิง ก่อนที่สิ้นใจ ส่วนเด็กคนนั้นวิ่งหายไปท่ามกลางฝูงชนที่มาดู

                นั้นคือ สิ่งที่คายาโกะสัมผัส แต่มิอาจจะเข้าใจมันได้ว่า ความรักและห่วงหาในฐานะแม่ที่เธอปรารถนามาตลอดคือ อะไร ?

Tokyo Filming Locations #11 – Ju-on: The Grudge 2 (2006) | Tokyo ...

                ไม่ใช่แค่นี้ ทั้งซาดาโกะแห่ง Rings , หญิงสาวใน Kaidan , ผีสาวใน Dark Water , วิญญาณในอุโมงค์ผีสิง หรือ กระทั่งบุปผา ราตรี กระทั่ง แม่นาก พระโขนง ล้วนแล้วแต่เป็น

                เหมือนที่เราเห็นแหละว่า ครอบครัว และ มายาคติที่ครอบงำเอาไว้ของคนญี่ปุ่นทำให้บ้านหลังนี้ยังคงสำแดงคำสาปของมันอยู่ตลอดเวลา และ ไม่เสื่อมคลายแม้จะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม

                ขนาดเป็นผีไปแล้ว พวกเธอยังมิอาจจะหลุดพ้นไปได้

                ความรักจึงเป็นอาวุธและคำสาปอีกอย่างที่พวกผู้หญิงมิอาจจะแก้ไขได้ และ ต้องหลงมัวเมาในความรัก ไม่มีวันสิ้นสุด

  1. ผีไม่น่ากลัวหรอก คนสิ น่ากลัวกว่า

           สำหรับ Ju-On ภาคนี้นั้นต้องบอกว่า มีความพิเศษกว่าภาคหลักตรงที่มันดำเนินเรื่องก่อนจะที่ครอบครัวซาเอกิจะย้ายเข้ามา โดยเริ่มต้นจากปี 1987 และมาจบที่ปี 1995 และ ผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมาย อาทิ คดีฆาตกรรมและกักขัง Junko Furuta, แผ่นดินไหวที่โกเบ, ลัทธิโอมชินริเกียวปล่อยแก๊สซาริน, คดีเด็กมัธยมฆ่าตัดหัวที่โกเบ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคดีและเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นควบคู่ไปกับเหตุการณ์สยองขวัญในบ้านหลังนี้ ขณะเดียวกันก็บ่งบอกถึงความยืนยาวของบ้านที่ไม่ว่าจะเกิดสิ่งใดขึ้น มันยังคงตั้งตะหง่านอยู่ ณ ตรงนั้น ราวกับรอให้เหยื่อรายต่อไปเข้ามาและเกิดเรื่องเลวร้ายขึ้นอีกครั้ง

คดีฆาตกรรม จุนโกะ ฟุราดะ ที่หนังอ้างอิงถึง

พ่อของเด็กที่ถูกตัดคอในคดีฆาตกรรรมเด็กชายเอที่โกเบ

           อย่างที่ตำรวจพูดกับนายหน้าค้าบ้านว่า มันเกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมา คนจะสนใจแค่ชั่วขณะที่ถูกลืมไป

            เหมือนคำสาปหนึ่งจางหาย คำสาปใหม่จะบังเกิดขึ้น

            เช่นเดียวกับบรรดาเรื่องเลวร้ายทั้งหลายนอกบ้าน ที่สะท้อนให้เห็นว่า สิ่งที่น่ากลัวไม่ใช่ผีในเรื่องหรอก แต่เป็นมนุษย์จิตป่วยทั้งหลายที่กระทำสิ่งเลวร้ายพวกนั้นอย่างไม่รู้สึกรู้สาอะไร ขณะเดียวกันเวรกรรมก็ไม่มีจริง เช่นเดียวกับ กฏหมายที่ทำอะไรไม่ได้นอกจากปล่อยให้ทุกอย่างถูกลืมเลือนไป

             จนกว่าผีตัวใหม่จะเกิดขึ้น

ลัทธิโอมชินริเคียวปล่อยแก๊สพิษโจมตีรถไฟใต้ดินที่กรุงโตเกียว

 

             ในซีรีย์นี้เราจึงเห็นการกระทำเลวร้ายของคนมากกว่าผีที่ทำได้แค่ยืนอยู่นิ่ง ๆ มองดูมนุษย์ทำลายกันเอง หากมนุษย์ที่ตายเป็นคนเลวทรามต่ำช้าผีที่สิงสู่อยู่ในบ้านหลังนี้ก็คงเป็นผีร้ายจิตป่วยวิปริตที่พร้อมกระทำทุกสิ่งเพื่อความสนุกของตัวเองต่อไปเหมือนกับที่หนังชุดนี้ให้เห็นแล้วว่า ตัวของผีสาวในชุดสีขาวก็แทบไม่ได้ทำอะไรเลย

        มีแต่คนที่ฆ่ากันเอง

        คนที่ทำร้ายกันเอง

        จูออนในภาคนี้จึงมีความคล้ายคลึงกับหนังสยองขวัญอย่าง KAIRO (คิโยชิ คุโรซาว่า) ตรงที่มันให้เห็นว่า ผีในเรื่องคือ ผีจริง ๆ พวกมันแทบไม่ได้ทำอะไร นอกจากทำให้คนเร่งจิตด้านมืดของตัวเองออกมาและทำลายทุกอย่างด้วยตัวเอง

        การข่มขืน

        การฆาตกรรม

        คบชู้สู่ชาย

        นอกใจภรรยา

        ขโมย

        ใส่ร้าย

        การกลั่นแกล้งในโรงเรียน

        การล่วงละเมิดทางเพศของอาจารย์กับนักเรียน

                และอีกมากมายเหล่านี้คือ สิ่งที่มนุษย์กระทำกันเอง โดยที่ผีในบ้านหลังนี้เพียงแค่ยืนอยู่เงียบมองดูความตายเหล่านี้ด้วยอารมณ์หม่นเศร้าราวกับรู้ดีว่า คำสาปมันยังไม่จบสิ้น

                อย่างเช่น จุนโกะที่ความตายของเธอเกิดขึ้นจากความไว้ใจต่อมนุษย์ด้วยกันนำไปสู่ความเลวร้ายที่สุดในยิ่งกว่าตาย

                ความตายอาจจะทำให้หลุดพ้นจากความเจ็บปวด แต่ความตายไม่ใช่จุดจบ

                มันคือ จุดเริ่มต้นต่างหาก

  1. โลกวิญญาณไร้ซึ่งกาลเวลา

         ก่อนหน้านี้ผมได้ฟังเรื่องเล่าหนึ่งจากรายการ The Ghost Radio ของพี่แจ็ค ที่มีผู้มาเล่าเรื่องเล่าเกี่ยวกับตัวเองและเพื่อนที่เดินทางไปทำงานที่ต่างจังหวัด ก่อนจะพบเจอกับร่างหนึ่งใต้ต้นไม้ต้นหนึ่ง ร่างนั้นคือ ตัวเพื่อนที่อยู่ในสภาพผมเผ้ากระเซิงรุงรัง เสื้อผ้าขาดจนเห็นหน้าอกและอวัยวะเพศได้ชัดจน ที่สำคัญมีเนื้อตัวที่เต็มไปด้วยร่องรอยของการถูกทำร้ายมา ทำเอาทั้งเจ้าตัวและเพื่อนงุนงงก่อนจะไม่คิดอะไร ทว่า หลายปีจากนั้นเพื่อนคนนั้นกลับเสียชีวิตในสภาพเดียวกับที่พวกเขาได้เห็นกันในวันนั้นทำให้ตัวของผู้เล่างุนงงว่า มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ?

 

         แน่นอนว่า Ju-On นั้นแตกต่างจากงาน J-Horror หลายเรื่องก็ตรงที่มันเล่าเรื่องสลับไปมาไม่ลำดับตามเวลาด้วยวิธีการเล่าแบบราโชมอนที่เล่าในหลากมุมมองกันไป เราจึงเห็นเรื่องราวของเหยื่อแต่ละคนรวมทั้งผีในเรื่องว่า ทำอะไรและมาบรรจบกันเช่นไร ขณะเดียวกันก็สะท้อนภาพของสิ่งที่หนังชุดนี้ทำมาตลอดนั้นก็คือ โลกวิญญาณไม่มีสิ่งที่เรียกว่า กาลเวลา

          อย่างที่เขียนไปก่อนหน้านี้ว่า บ้านหลังนี้ตั้งตะหง่านอยู่ในโตเกียว ผ่านครอบครัวจำนวนมากที่เข้ามาซื้อ เช่า และ อาศัยอยู่ที่นี่ตามวาระตามกรรมแตกต่างกันไป เช่นเดียวกับด้านนอกบ้านที่ที่เกิดเรื่องราวมากมาย ขณะที่ผู้คนเติบโตและล้มหายตายใจกันไป บ้านยังคงอยู่และถูกสตาร์ฟเอาไว้ราวกับไม่เปลี่ยนแปลง

           ทำให้บ้านหลังนี้อยู่เหนือกาลเวลา เช่นเดียวเหล่าภูตผีที่ต่างใช้ชีวิตกันในบ้านหลังนี้โดยไม่สนใจเวลาใด ๆ ทำให้ไม่แปลกที่เราจะได้เห็นคนจากอดีตเผชิญหน้ากับอนาคต หรือ คนจากอนาคตไปทำให้อดีตเกิดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ Ju-On ทำทุกภาค การเล่าสลับเวลาบวกกับการเชื่อมโยงระหว่างโลกสองโลกเมื่อร่วมกับความเชื่อของคนญี่ปุ่นหรือชินโตที่มองว่า โลกแห่งความตายนั้นไม่มีเวลา ผู้คนจากอดีตและอนาคตตายไปก็จะรวมกันอยู่ ณ ที่นั้น เป็นความเท่าเทียมเพียงหนึ่งเดียวที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

        ยิ่งเราดูงานที่เล่าถึงความตายหรือโลกหลังความตาย อย่าง Hell Girl ที่บอกเล่าเรื่องราวของเว็บไซต์จากนรกที่เพียงเขียนชื่อคนที่อยากสาปแช่งลงไป พวกเขาจะได้พบเจอกับสาวน้อยจากนรก ผู้ที่จะมอบตุ๊กตาสาปแช่งให้กับคนที่ต้องการสาปแช่งโดยมีข้อแม้ว่า คนที่สาปแช่งจะต้องตกนรกไปด้วยหลังจากเสียชีวิต และ โลกของเธอเวลาไม่เคยเปลี่ยนจากยามสนธยา เช่นเดียวกับคนที่ใช้บริการเว็บไซส์ของเธอก็มาจากหลากหลายยุคอันหมายถึง เวลาในโลกวิญญาณที่ไม่ได้เคลื่อนไปไหนเลย แม้จะเป็นอนาคตหรืออดีตเองก็ตาม เช่นเดียว อนิเมชั่นเรื่อง Angel Beat ที่บอกเล่าโลกแห่งความตายที่มีสภาพเหมือนโรงเรียนม.ปลายที่ที่ให้คนที่เสียชีวิตทั้งที่ยังมีห่วงได้ใช้ชีวิตสุดท้ายอย่างเต็มที่ก่อนจะไปสู่สุคติและเวียนวายตายเกิดกันต่อไป สิ่งที่แตกต่างคือ บรรดาคนที่อยู่ในโรงเรียนมาจากหลากหลายช่วงเวลา ทั้งอดีตไกลโพ้นหรือ อนาคตเองก็ตาม

(HELL GIRL LIVE ACTION)

(Angel Beat)

           One Miss Call (ทาเคชิ มิกิเอะ) ก็บอกเล่าเรื่องราวคำสาปผ่านมือถือที่จะบอกเล่าความตายในอนาคตที่ส่งโดยตัวเองในอีกสามวันข้างหน้า เวลาจึงเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงในโลกของวิญญาณ จึงไม่แปลก หากเราจะได้ล่วงรู้ถึงความตายตัวเองจากอนาคตได้

           หรืออุโมงค์ใน Howling Village (ทาคาชิ ชิมิสุปี 2020) ที่เชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้านร้างกับโลกปัจจุบัน ที่ที่คนสองยุคได้ข้ามเวลาไปมาพร้อมกับแสดงภาพอันน่าสะพรึงของหมู่บ้านกลางเขาแห่งนี้ที่บ่งบอกว่า เวลาของโลกความตายไม่เคยแปรเปลี่ยน

           เช่นเดียวกับ The Grudge 2020 ที่บอกเล่าเรื่องราวของ ฟีโอน่า แรนเดอร์ ผู้ดูแลชาวอเมริกันของครอบครัวโรเบริ์ตในญี่ปุ่นที่ต้องคำสาปของบ้านหลังนี้ ก่อนจะเดินทางกลับสู่บ้านเกิดอีกครั้ง ทว่า เธอกลับกลายเป็นคำสาปใหม่ที่ทำให้คนที่เกี่ยวข้องกับบ้านนี้พบกับความพินาศไม่ต่างกัน ตัวหนังยังเล่นกับการย้อนแย้งทางเวลาเหมือนเดิม และ ทำให้อดีตและอนาคตบรรจบกันอีกครั้ง

            จึงไม่แปลกหากภาค Origin เราจะเห็นว่า เวลาคือสิ่งที่หนังใช้เวลาเป็นเหมือนหนึ่งในตัวละครต่าง ๆ มาเจอกัน ณ ต่างกรรมต่างวาระ ที่สุดท้ายแล้วโลกของวิญญาณคือ การแปรเปลี่ยนสสารจากตัวตนหนึ่งไปเป็นอีกสิ่ง คงอยู่ และ เหนือซึ่งกฏฟิสิกส์ แบบที่เราพูดว่า

          พระเจ้ายากจะหยั่งรู้

           โลกแห่งความตายก็เช่นกัน

  1. โทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต และ ม้วนวีดีโอ การเปลี่ยนและเชื่อมโยงของเหล่าภูตผี

       คงไม่ต้องบอกว่า หนังผีอย่าง Ju-On นั้นได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากหนังสยองขวัญรุ่นพี่ อาทิ Kairo ของ คิโยชิ คุโรซาว่า หรือ Ringu ของ ฮิเดโอะ นาคาตะ หรือ แม้กระทั่งหนังรุ่นหลังอย่าง 6644 ผีอาฆาต , 99 ต่อติดตาย หรือ One Miss Call ที่บอกเล่าถึงการเชื่อมโยงของวิญญาณและเทคโนโลยีในฐานะสื่อที่เชื่อมโยงเข้ากันประดุจไวรัสที่ต้องการติดต่อหากันและแพร่ระบาดออกไป

        คำสาปและแรงอาฆาตเองก็เช่นกัน มันอาศัยสื่อและพาหะเพื่อนำพาความตายไปสู่ผู้คน อย่าง ซาดาโกะอัดพลังจิตของเธอลงในม้วนวีดีโอเกิดเป็นคำสาปมรณะที่ทำให้ใครก็ตามที่ดูต้องตายในเจ็ดวัน หากอยากจะรอดต้องส่งต่อม้วนวีดีโอให้คนอื่นเท่านั้น เช่นเดียวกับผีเด็กหญิงใน One Miss Call ที่ส่งต่อคำสาปผ่านมือถือ หากไม่ส่งต่อจะต้องตาย รวมทั้ง Kairo ที่บอกเล่าเรื่องราวผีที่เชื่อมต่อผ่านทางอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์ที่ทางเดียวจะรอดต้องปิดกั่นทุกสิ่งแล้วหนีไปจากเทคโนโลยีเท่านั้น

Vanessa Cassidy | Ju-On Wiki | Fandom

        แม้ว่า จูออนจะใช้บ้านเป็นเหมือนสื่อกลางในการส่งต่อคำสาปต่อไปเหมือนไวรัส แต่หนังเรื่องนี้ก็ใช้โทรศัพท์ในการเชื่อมต่อกันและกันของเหยื่อ ไม่ว่าจะเป็นภาคแรกที่คายาโกะใช้มือถือในไล่ล่าเหยื่อในครอบครัวหนึ่ง หรือ ในภาค Origin ที่ที่เหยื่อรายหนึ่งถูกฆ่าแล้วยัดโทรศัพท์ไว้ในท้องอย่างน่าสยดสยอง

          ไม่พอ โทรศัพท์ยังเป็นอุปกรณ์ในการสังหารทั้งแม่ของคิโยมิ หรือ กระทั่งลูกชายของเธอก็ถูกทำร้ายด้วยโทรศัพท์เหมือนกัน

            จุดประสงค์ของโทรศัพท์คือการติดต่อสื่อสารของคนที่อยู่ห่างไกลได้พูดคุยกันและกัน เป็นตัวเชื่อมของสิ่งที่สานสัมพันธ์เอาไว้ผ่านสายโทรศัพท์ ขณะเดียวกันสายโทรศัพท์ที่ยึดโยง ม้วนวีดีโอ และ มือถือ ก็เป็นเหมือนบ่วงกรรมที่ผูกติดผู้คนเอาไว้

          เหมือนคิโยมิกับแม่ของเธอที่สุดท้ายแล้วกรรมมันก็ตกทอดต่อกันและกันราวกับสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันเอาไว้

          บ้านหลังนี้ก็เช่นกัน

          หากมันเป็นเรื่องของเวรกรรม มันก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ผู้คนจะพากันมาตายที่นี่

         แม้จะตัดสายไปแล้ว สายสัมพันธ์และเวรกรรมก็ไม่อาจจะหลุดพ้นไปได้

         คำสาป เวรกรรม บางครั้งก็คล้ายกัน

  1. บทสรุปสุดท้าย

          บทสรุปของซีรีย์นี้จบลงในปี 1998 หลังการฆาตกรรมครอบครัวสุดท้ายได้จบลง ยาซูโอะ นักเขียนเรื่องสยองขวัญตีพิมพ์เรื่องบ้านหลังนี้ และ ไขข้อข้องใจในเรื่องอดีตของเขาที่หลงลืมเมื่อครั้งอดีต และ คำตอบว่า ทำไมเขาถึงหลงใหลและวนเวียนอยู่กับเรื่องราวพวกนี้ เขาบอกกับตำรวจหนุ่มว่า เขาต้องทำหน้าที่เผยแพร่เรื่องของบ้านหลังนี้ออกไป นี่คือ เหตุผลที่เขายังไม่ตายจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

           ขณะที่ตำรวจหนุ่มเองก็รู้ดีว่า ตัวเองอาจจะติดกับคำสาปของบ้านหลังนี้และตัดสินใจถอยออกไป เขารู้ดีว่า เขาอาจจะเจอคำสาปแล้ว ซึ่งต่างจากนายหน้าขายบ้านอีกคนที่ยังรอดชีวิต เนื่องจากบ้านมันต้องการให้เขาหาเหยื่อมาให้จนถึงปัจจุบัน

                เรารู้ดีกันว่า ทุกอย่างมันยังไม่จบ

                วิญญาณไม่ได้หายไป

                พวกมันแค่หลบเงียบอยู่ในมุมมืดและรอวันเวลาที่จะมีใครจะเข้ามาอยู่บ้านหลังนี้อีก

                เมื่อสิ่งพร้อม

                คำสาปมรณะจะบังเกิดอีกครั้ง

Saeki House | Ju-On Wiki | Fandom

ข้อมูลการเขียน
                หนังสือ คิโยชิ คุโรซาวะ หนังผี ไซไฟ และ เมืองใหญ่ชื่อโตเกียว : วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา
                หนังสือ ซึเนมารุ เรือโดยสารชื่อภาพยนตร์ : อนุสรณ์ ติปยานนท์
                เว็บไซต์ Imdb , Wikipedia และ Asia Wiki    

 

 

บล็อกของ Mister American

Mister American
ปี 2515 ณ หมู่บ้านห่างไกลผู้คนในจังหวัดกาญจนบุรี แย้ม เด็กสาวผู้เคยป่วยหนักจนเกือบตายได้มีอาการแปลก ๆ เกิดขึ้น เธอเริ่มพูดจาด้วยคำหยาบคายกับคนในครอบครัวอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เริ่มโกหกและยุแยงให้คนในบ้านแตกคอกัน รวมทั้งลุกขึ้นมาตอนกลางคืนเพื่อนกินของสดทำให้คนในครอบครัวโดยเฉพาะ หยาด เกิดความสงสัยขึ
Mister American
สัปเหร่อ : คนตายคือ ครู และ คนอยู่คือ นักเรียน           “ความตาย...มันฆ่าเฮาได้แค่ครั้งเดียว แต่ความฮัก มันฆ่าเฉาไปเรื่อยๆๆ จนกว่าเฮาสิตายพุ่นเด้”บักมืด 
Mister American
                ระหว่างที่เขียนต้นฉบับบทความนี้อยู่นั้น การโหวตประธานรัฐสภาและรองประธานสองคนการประชุมสภาวันแรกได้จบลงแล้ว และ ผลคือ คุณวันมูหะมัดนอร์ มะทา จากพรรคประชาชาติ ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาคนใหม่ ร่วมกับ รองประธานสภาสองท่านจากพรรคก้าวไกล และ พรรคเพื่อ
Mister American
            คงไม่มีอนิเมชั่นเรื่องใดในซีซั่นนี้ที่เรียกว่า สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับบรรดาคนดูอนิเมชั่น และ คนดูหนังหลายคนได้เท่ากับ อนิเมชั่นซีรีย์เรื่อง Oshi no Ko หรือ ชื่อไทยว่า เกิดใหม่เป็นลูกโอชิ ผลงานดัดแปลงจากมังงะขายดีของ อากะ อาคาซากะ ที่ได้ฤกษ์ออกฉายไปเมื่อ
Mister American
                "พรมนิ้วลงไป หวังให้อัสนีกึกก้องด้วยละอองแสง                   กระหน่ำตีเข้าไปให้ถึงปลายทางของความเจ็บปวด
Mister American
                พอ Hellraiser ภาคใหม่จะลงฉายใน Hulu กันในวันที่ 7 ตุลาคมนี้ (ซึ่งไทยจะได้ดูกันใน Disney Plus) นับว่าเป็นการกลับมาอีกครั้งของพินเฮดและเหล่าซีโนไบร์ต หนึ่งในไอค่อนของโลกสยองขวัญที่โด่งดังไม่แพ้ เฟรดดี้ ครูเกอร์ แห่ง Nightmare of elm street , เ
Mister American
พึ่งจบกันไปหมาด ๆ สำหรับอนิเมชั่นเรื่องดังประจำซีซั่นนี้อย่าง Lycoris  Recoli จากค่าย A-1 Picture ที่นอกจากจะเป็นม้ามืดประจำซีซั่นนี้ที่ได้รับความนิยมแบบถล่มทลายจนแซงหน้าบรรดาอนิเมชั่นฟอร์มยักษ์เรื่องอื่น ๆ ไปแบบไม่มีกังขา โดผลโหวตจากสำนักอนิเมชั่นต่าง ๆ โหวตให้เรื่องนี้อยู่
Mister American
“ทำไมถึงไม่มีหนังสัตว์ประหลาดไทยดี ๆ ออกมาสักทีวะ ?”
Mister American
คงไม่ต้องบอกว่า ณ ช่วงเวลานี้ หลาย ๆ คนคงให้ความสนใจกับการชุมนุมของบรรดาหนุ่มสาววัยรุ่นที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มเยาวชนปลดแอก หรือ กลุ่มนักเรียน นักศึกษาคนรุ่นใหม่ที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ขับไล่เผด็จการ และ เปลี่ยนแปลงประเทศใหม่ กันอย่างแน่นอน โดยเฉพาะปรากฏการณ์ของการชุมนุมที่เกิ