ผมไม่ค่อยแน่ใจเท่าใดนัก แต่ที่ผมทราบคือเมื่อผมเข้าไปเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยของอินเดีย ผมแทบจะไม่เห็นพิธีกรรมการรับน้องใหม่ การแปรอักษรชูพู่ชึ้นแสตนด์เชียร์ การแห่แหนด้วยขบวนพาเหรดแต่ละคณะ ฟุตบอลประเพณีระหว่างสถาบัน หรือแม้กระทั่งการคัดเลือกดาว เดือน และผู้นำเชียร์ของมหาวิทยาลัย
ใน "ความบันเทิงที่หายไป" นั้น กลับพบว่ามหาวิทยาลัยอินเดียช่วยให้นักศึกษาก้าวกระโดดจากเป็นเด็กมัธยมฯปลาย ไปสู่การเป็นผู้ใหญ่วัยทำงานตอนต้นได้เร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากกระบวนการเรียนรู้และการทดลองผิดถูก ในมหาวิทยาลัยนี้เอง ช่วยย่นระยะทาง ช่วยให้ประสบการณ์ และช่วยเตรียมความพร้อมของผู้เรียน ก่อนจะเข้าสู่สังเวียนตลาดแรงงานหรือระบบราชการต่อไป ฉะนั้น 3-4 ปีในรั้วสถาบันฯ จึงเป็นการผลักให้นักศึกษาพร้อมที่จะก้าวไปเป็นส่วนหนี่งของสังคม
เมื่อถึงตรงนี้ คำถามสำคัญคือแล้วมหาวิทยาลัยในอินเดียทำอย่างไร จริงๆแล้วผมเองก็ตอบไม่ได้ แต่ขอเล่าผ่าน 3 กรณีจาก 3 มหาวิทยาลัยเพื่อให้ท่านทั้งหลายลองจินตนาการไปด้วยกัน
กรณีแรก มหาวิทยาลัยยาวหราลเนห์รู
เมื่อปี 2005 นักศึกษากว่า 5000 คน รวมตัวกันเพื่อประท้วงระหว่างการมาเยือนของประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ แห่งเวเนซูเอลา พร้อมกับการร้องเพลงเป็นสัญญลักษณ์เพื่อบอกว่า หากประชาชนรวมตัวกันก็สามารถชนะทุกอย่างได้ ในอีกสามปีต่อมาก็เช่นเดียวกัน นักศึกษาหลายพันต่างรวมตัวเพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะของประธานาธิบดีบารัก โอบามาแห่งสหรัฐอเมริกา แต่ทั้งหมดนี้มิใช่เพราะพวกเขานิยมชมชอบพรรคเดโมแครต แต่เป็นเพราะพวกเขากำลังร่วมเฉลิมฉลองการที่คนผิวสีได้ขึ้นเป็นประชาชนหมายเลข 1 ของประเทศ …….ล่าสุดทั้งนักศึกษา ครูบาอาจารย์ และศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยยาวหราล เนห์รูกว่า 3,000 คน กำลังประท้วงรัฐบาลอินเดีย ที่จับกุมหัวหน้านักศึกษาในข้อหาก่อความไม่สงบต่ออำนาจอธิปไตย โดยการจับกุมนั้นเป็นไปเพราะข้อเรียกร้องของนักศึกษาเพื่อการให้เสรีในการตัดสินใจที่จะปกครองตนเองของชาวแคชเมียร์ (Kashmir Self Determination) การถูกพรากเสรีภาพในการวิจารณ์เช่นนี้ ทำให้ทั้งนักเรียนและบุคลากรของมหาวิทยาลัย ต้องออกมาแสดงพลังว่ามหาวิทยาลัยคือพื้นที่ในการโต้เถียง วิพากษ์ วิจารณ์ อันนำไปสู่การแก้ปัญหาของประเทศต่อไป
กรณีที่สอง มหาวิทยาลัยไฮเดอราบาด
ในปี 2013 กลุ่มนักศึกษาดาลิต (กลุ่มจัณฑาลและวรรณะล่างในสังคมอินเดีย) ได้เรียกร้องให้อมาตยะ เซน นักเขียนรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ซี่งเดินทางมารับปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ยุติการกล่าวปาฐกถาเรื่อง "ความสำคัญของร้านกาแฟต่อระบบการศึกษา" โดยผู้ชุมนุมเรียกร้องให้เปลี่ยนหัวข้อเป็น "การเลือกปฏิบัติทางวรรณะและความเท่าเทียมในสังคมอินเดีย" เพื่อเปิดพื้นที่สนทนาต่อปัญหาความไม่เท่าเทียมกัน …. 3 ปีให้หลังปัญหานี้ก็ยังคงอยู่ ทำให้มีนักศึกษาปริญญาเอกฆ่าตัวตาย เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมทางการศึกษา การเข้าถึงทรัพยากร และทุนการศึกษาที่พวกเขาควรได้รับอย่างเท่าเทียม การตายของนักศึกษาท่านนี้ นำมาสู่การเคลื่อนไหวของนักศึกษาดาลิตในมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วประเทศ ข้อเรียกร้องเพื่อความเป็นธรรมเหล่านี้ ก็เพื่อการปูทางไปสู่การสร้างสังคมและอนาคตที่ดีของทั้งเหล่าดาลิตและสังคมอินเดียต่อไป
กรณีสุดท้าย มหาวิทยาลัยออสมาเนีย
นับแต่ปี 1956 มหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้กลายเป็นศูนย์กลาง ในการเรียกร้องเพื่อแบ่งแยกเตลังกานา ออกเป็นรัฐใหม่ ภายในอินเดีย ทั้งนี้เพราะเหล่านักศึกษาและประชาชนเห็นว่า การมีรัฐเตลังกาเป็นของตนเอง น่าจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขา …. กว่า 60 ปีในการเรียกร้อง นักศึกษาต่างรวมตัวประท้วง อดอาหาร เดินขบวน หรือแม้กระทั่งจัดเทศกาลประเพณี ที่รวมศิลปินท้องถิ่น การแสดงพื้นบ้าน มาสร้างความบันเทิงไปพร้อมๆกับการชุมนุมเรียกร้องต่อรัฐ จนในที่สุดความพยายามของพวกเขาบรรลุผล เตลังกาน่าได้กลายมาเป็นรัฐที่ 29 ของอินเดีย ในปี 2014… แม้จะได้รัฐเป็นที่เรียบร้อย แต่มหาวิทยาลัยออสมาเนียก็ไม่ได้ยุติหน้าที่กระบอกเสียง แต่กลายเป็นเวทีสนทนาเกี่ยวกับโครงการพัฒนาของรัฐต่อไป
จากที่เล่ามาทั้งสามกรณีนี้ ผมพยายามจะลงท้ายให้เบาที่สุด เพราะในใจลึกๆ ยังยินดีที่จะให้เห็นกิจกรรมในมหาวิทยาลัยแบบไทยๆ เพราะอย่างน้อยก็ทำให้นิสิตนักศึกษาได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ และไม่เครียดจนเกินไป อีกอย่างผมเองก็ผ่านการทำกิจกรรมแบบนิสิตในกรอบคิดแบบไทยๆ มาบ้าง
แต่ในขณะเดียวกันในใจที่ลึกกว่า ก็อยากให้มีพื้นที่การแลกเปลี่ยน เสรีภาพในการวิพากษ์ หรือการให้มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ทดลองผิดถูก และเตรียมความพร้อมสู่การเป็นผู้ใหญ่ให้แก่เยาวชนของเราบ้าง … อาจไม่ต้องถีงขั้นให้นักศึกษาฆ่าตัวตายประท้วง … เพียงแค่ให้พวกเขาได้ "ทดลองคิด" ก็เพียงพอแล้ว
ปล. ข้อความนี้เป็นหนี่งในปัญหาการเขียนของผมที่พอรู้ตัวมาสักพักใหญ่แล้วครับ โดยเฉพาะการเขียนแบบมีอคติชนิดที่ว่าอินเดียนิยม (Pro-India) จนเกินไป ซี่งในความเป็นจริงแล้ว แม้จะมีเสรีภาพและมหาวิทยาลัยมีบทบาทอย่างยิ่งในกิจกรรมทางการเมืองและสังคม แต่มันก็มีความรุนแรง มีผลเสีย และมีข้อขัดแย้งอยู่มากมายที่ผมสมควรจะกล่าวถึง ผมคงจะชดเชยด้วยการเล่าเรื่องในอีกมุมหนี่งในโอกาสต่อไป ซี่งให้ข้อมูลหลายๆด้าน และให้โอกาสผู้อ่านเป็นผู้ตัดสินใจแล้วกันนะครับ
บล็อกของ ปิยณัฐ สร้อยคำ
ปิยณัฐ สร้อยคำ
กระแสการแยกตัวเป็นเอกราชของสกอตแลนด์ออกจากสหราชอาณาจักร (United Kingdom) ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด การเรียกร้องดังกล่าวมีมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง จนนำไปสู่การลงประชามติในปี 2014 แม้ผลจะออกมาว่า ประชาชนร้อยละ 55 ยังคงเลือกที่จะอยู่รวมกับสหราชอาณาจักรต่อไป แต่ที่เหลือกว่าร้อยละ 45 นั้นต้องก
ปิยณัฐ สร้อยคำ
ผมไม่ใช่คอการเมืองอเมริกา แต่ก็พอรู้ว่าประธานาธิบดีของประเทศนี้ชื่อบารัก โอบามา และแม้ผมไม่ได้ติดตามการเลือกตั้งอเมริกาอย่างใกล้ชิด แต่ก็พอรู้ว่าวาระ 2 สมัย ใน 8 ปีข
ปิยณัฐ สร้อยคำ
ดาลิต หรือ จัณฑาลนั้น มิได้ถูกทำให้หยุดนิ่งในฐานะกลุ่มชนที่ถูกกดขี่ทางสังคมและไร้ซี่งพัฒนาการแต่เพียงภาพเดียวเท่านั้น แต่ภายใต้การคุ้มครองโดยรัฐ การยกระดับคุณภาพชีวิต และการเคลื่อนไหวเพื่อให้ได้สิทธิ์ของตนเอง ทำให้ดาลิตค่อยๆก้าวข้ามโชคชะตาที่ถูกเขียนไว้โดยบรรทัดฐานของสังคมผ่านการสร้างอัตลักษณ์และการตระหนักรู้ร่วม ฉะนั้นอนาคตของดาลิตย่อมเปลี่ยนแปลงและมีพลวัตที่น่าติดตามศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพื่ออย่างน้อยที่สุด กลุ่มคนที่ได้รับการกดขี่และละเมิดในสังคมต่างๆ รวมถึงประเทศไทย จะได้มีแรงเคลื่อนไหวเพื่อรักษาสิทธิ์ในความเป็นมนุษย์ของตนเอง
ปิยณัฐ สร้อยคำ
เราพูดคุยกันเป็นอย่างมากถึงการเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียนในฐานะองค์กรความร่วมมือระดับภูมิภาค แต่ในขั้นตอนการนำนโยบายมาปฏิบัติในแต่ละประเทศนั้น หน่วยงานของรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับกระทรวง มีบทบาทสำคัญและเป็นตัวแสดงหลักในการประสานงานดังกล่าว นอกจากนี้การพิจารณาโครงสร้างของแต่ละรัฐผ่านการมีอยู่ของกระทรวงต่างๆนั้น ทำให้เห็นว่าบรรดาชาติสมาชิกอาเซียนให้ความสำคัญกับเรื่องใดบ้าง จนนำมาสู่การจัดแบ่งองค์กรบริหารราชการแผ่นดิน บทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลจากเว็บไซต์รัฐบาลกลางของแต่ละรัฐ นำมาสู่การจัดทำสังเขปหน่วยงานระดับกระทรวงของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และได้ข้อสรุปที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
ปิยณัฐ สร้อยคำ
ผมไม่ค่อยแน่ใจเท่าใดนัก แต่ที่ผมทราบคือเมื่อผมเข้าไปเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยของอินเดีย ผมแทบจะไม่เห็นพิธีกรรมการรั
ปิยณัฐ สร้อยคำ
เรื่องราวของการอพยพ การพลัดถิ่น มิใช่เรื่องใหม่และไม่ได้เกิดขึ้นในระดับโลก หรือภูมิภาคเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นประเด็