ปิยณัฐ สร้อยคำ: ว่าด้วย 'จัณฑาลร่วมสมัย'

คนไทยรู้จักจัณฑาลมาอย่างยาวนาน เรารับรู้ว่ามูลเหตุของการเป็นจัณฑาลนั้นเกิดจากการแต่งงานข้ามวรรณะ เราเข้าใจว่าจัณฑาลเป็นกลุ่มคนที่ต่ำต้อย ไร้การศึกษา ทำงานเกลือกกลั้วกับสิ่งปฏิกูล ถูกกดขี่ข่มเหงและเป็นที่รังเกียจที่สุดในสังคมอินเดีย ความเข้าใจเรื่องจัณฑาลในสังคมไทยนั้น ถูกผลิตซ้ำส่งต่อ และถ่ายทอดในรูปแบบคำบอกเล่า เรื่องรางหนังสือเรียนวิชาพระพุทธศาสนา หรือแม้กระทั่งปรากฏในตำราทางประวัติศาสตร์สังคม อีกทั้งคำว่าจัณฑาลเองก็ถูกนำมาใช้เพื่อล้อเลียนดูหมิ่นผู้อื่นเช่นกัน  อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาเปลี่ยนแปลง สังคมเปลี่ยนไป จึงนำมาสู่คำถามที่ว่า "จัณฑาลร่วมสมัย" พวกเขาเป็นอย่างไรและต่างจากที่เรารับรู้มากน้อยแค่ไหน 

 

จัณฑาลหรือดาลิต?

ผู้เขียนขอเริ่มต้นด้วยการอภิปรายคำว่าจัณฑาล ซี่งเป็นคำที่มีพลวัตและไม่หยุดนิ่ง หากจัณฑาลนั้นหมายถึงกลุ่มคนที่ได้อธิบายไปข้างต้น เราจะพบว่าในอินเดียเองมีหลายคำที่สื่อความหมายถึงกลุ่มคนดังกล่าว โดยคำที่เราคุ้นเคยคือคำว่า "จัณฑาล" (Chandala) ซี่งทำงานที่เกี่ยวข้องกับซากศพและสิ่งปฏิกูล มีมลทินและไม่บริสุทธิ์ ไม่สามารถถูกเนื้อต้องตัว สบตา หรือแม้กระทั่งพาดผ่านรอยเงา ด้วยเหตุนี้จัณฑาล จึงถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า "Untouchable" ซี่งหมายถึงการไม่สามารถสัมผัสได้นั่นเอง 

 

อนี่ง มีความพยายามที่จะเรียกจัณฑาลในชื่ออื่นๆอย่างต่อเนื่อง เช่นรัฐบาลของเจ้าอาณานิคมอังกฤษ ได้เรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่าชนชั้นที่รันทด (Depressed Class) ในพระราชบัญญัติการปกครองอินเดียปี 1935 ต่อมา มหาตมาคานธีจึงได้รณรงค์เพื่อสร้างความเท่าเทียมและให้คุณค่าความเป็นมนุษย์ คานธีได้เสนอคำว่า "หริชน" (Harijan) ซี่งแปลว่าบุตรของพระเจ้า ในการเรียกขานกลุ่มคนเหล่านี้ แต่คำดังกล่าวไม่เป็นที่นิยมเท่าใดนัก เนื่องจากท้ายที่สุดแล้ว จัณฑาลบางส่วนเชื่อว่า เป็นเพียงคำหวานที่กลุ่มชนวรรณะสูงใช้หลอกพวกตนเท่านั้น

 

อีกทั้งพวกเขากลับเห็นว่า คำว่าดาลิต (Dalit) ซี่งมาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า "ผู้ถูกกดขี่" (Oppressed) นั้นเหมาะกับความเป็นจริงที่ตนเผชิญมากกว่า จึงเลือกใช้คำว่าดาลิตในการเรียกขานตนเอง Ramsharan ได้ ให้ความหมายว่า ดาลิตไม่ได้หมายถึงวรรณะหนี่งในอินเดีย แต่ดาลิตคือกลุ่มคนที่ถูกฉวยโอกาสจากความเชื่อทางศาสนาและวรรณะที่สูงกว่า (2012) อย่างไรก็ตาม คำดังกล่าวก็ยังไม่ใช่คำทางกฏหมาย เพราะในรัฐธรรมนูญของอินเดียได้เรียกขานผู้ถูกกดขี่เหล่านี้ว่า "Scheduled Caste" หรือ วรรณะที่ถูกกำหนด  (SC)

 

ผู้เขียนขออภัยที่ใช้ชื่อเรื่องว่า "จัณฑาลร่วมสมัย" เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมและดึงดูดในลำดับแรก อนี่งเมื่อพิจารณาถึงสิทธิในการเรียกขานตนเอง ผู้เขียนจึงขอใช้คำว่าดาลิต รวมถึงเรื่องราวดาลิตร่วมสมัย ดังที่จะกล่าวในบทความต่อไป 

 

ดาลิต พระเจ้าหรือมนุษย์สร้าง ?

เมื่อพูดถึงอินเดีย ยากนักที่จะหลีกเลี่ยงการพูดถึงดาลิต เพราะกลุ่มคนเหล่านี้มีจำนวนกว่า 160 ล้านคน หรือคิดเป็นเกือบร้อยละ 17 ของประชากรอินเดียทั้งหมด การถือกำเนิดของดาลิตนั้นเกิดขึ้นภายใต้ระบบวรรณะและชาติ (Varna, Jati) ซี่งเป็นโครงสร้างทางสังคมแบบโบราณของอินเดีย โดยแบ่งคนออกเป็นวรรณะตามหน้าที่รับผิดชอบในสังคม ระบบดังกล่าวสืบต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน และมีอิทธิพลอย่างสูงในอินเดีย โดยดาลิตนั้นมีหน้าที่ต้องรับใช้วรรณะสูงกว่าอื่นๆ พวกเขาไม่ได้รับการอนุญาตให้พัฒนาขีดความสามารถทางสติปัญญาและระดับทางสังคม รวมถึงเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาเหมือนกับวรรณะอื่นๆ  ทำให้ดาลิตมีความเป็นอย่าที่ล้าหลังและถูกกดขี่เรื่อยมา

 

ความพยายามในการยกระดับคุณภาพชีวิตของดาลิต เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งภายในและภายนอกกลุ่มดาลิต ศาสนาพุทธก็ถูกเชื่อว่าเป็นหนี่งในการปฏิรูปทางสังคม ซี่งปฏิเสธระบบวรรณะ แต่ท้ายที่สุดเมื่อพราหมณ์ครองอำนาจในสังคมอีกครั้ง ชาวพุทธหากไม่ถูกกลืนกลายไปกับฮินดู บุตรชาวพุทธที่เกิดจากการแต่งงานข้ามวรรณะก็ถูกสังคมพิพากษาให้เป็นจัณฑาล 

 

ดร.อัมเบดการ์ ผู้นำการเคลื่อนไหวปฏิรูปทางสังคมเพื่อประโยชน์ของดาลิต

 

นอกจากนี้การปฏิรูปดาลิตยังเกิดขึ้นผ่านหลากหลายขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมนับแต่คริสตวรรษที่ 19  นำโดย Jyotiba Phule, E.K. Nayar, Mangoo Ram แต่มักจะเกิดขึ้นในช่วงระยะสั้นๆและไม่ต่อเนื่อง จนกระทั่งปี 1930 เป็นต้นมา ดร.อัมเบดการ์ ได้ต่อสู้เพื่อสิทธิของดาลิตอีกครั้ง โดยกล่าวถึงที่มาของดาลิตว่าเกิดจากสังคมฮินดูที่คำนึงถึงเพียงชาติกำเนิดวรรณะ แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญของความเป็นมนุษย์ ทำให้ดาลิตต้องถูกกีดกันทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง

 

อัมเบดการ์ให้ความสำคัญกับการสร้างอัตลักษณ์ดาลิต กระตุ้นเตือนให้ดาลิตตระหนักรู้ถึงการกดขี่ทางสังคมที่พวกตนได้รับ รวมถึงการสร้างพรรคแรงงานอิสระ (Independent Labour Party) ในปี 1936 เพื่อรักษาสิทธิ์และเสียงของดาลิตจากการกดขี่ของกลุ่มสังคมอื่นๆ ต่อมาในปี 1942 อัมเบดการ์ยังได้สร้างสหพันธ์วรรณะที่ถูกกำหนดแห่งอินเดีย (All India Scheduled Caste Federation) เพื่อผนึกกำลังดาลิตให้เป็นหนี่งเพื่อต่อรองอำนาจทางการเมืองอีกด้วย (Ganga, 2016)

 

ขบวนการดาลิตยุคใหม่ 

ภายหลังอัมเบดการ์แล้ว พรรคการเมืองดาลิต อาทิ พรรคสาธารณรัฐอินเดีย (Republican Party of India)  เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการผลักดันนโยบายและคุ้มครองสิทธิ์ของดาลิตให้ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งอินเดียที่ประกันความยุติธรรม ความเสมอภาค เสรีภาพและภราดรภาพของชาวอินเดีย 

 

นอกจากพรรคการเมืองแล้ว กลุ่มเยาวชนดาลิตรุ่นใหม่ยังรวมตัวกันภายใต้ชื่อ The Dalit Panther Movement ในช่วงปี 1970 เพื่อคุ้มครองดาลิตไม่ให้ถูกกดขี่โดยเฉพาะในชนบทที่ห่างไกลความเจริญ ขบวนการดังกล่าวนอกจากยึดถือแนวคิดของอัมเบดการ์แล้ว ยังผสานความคิดมาร์กซิสม์เข้ามาอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มสหพันธ์แรงงานชนกลุ่มน้อยและกลุ่มล้าหลังการพัฒนา (Backward and Minority Communities Employees Federation) และกลุ่ม Dalit Soshit Samaj Sangharash Samiti ที่รวบรวมดาลิตที่ได้รับการศึกษาและได้รับการจ้างงานให้ร่วมกันเป็นเครือข่ายเพื่อเคลื่อนไหวสร้างความตระหนักและส่งเสริมคุณค่าการเป็นดาลิตในช่วงปี 1980s

 

กระแสดังกล่าวทำให้พรรคการเมืองของดาลิตโดยเฉพาะพรรคพหุชนสมาช (Bahujan Samaj Party) ซี่งเป็นพรรคการเมืองของดาลิตก้าวขึ้นมาเป็นพรรคการเมืองระดับชาติ ที่มีอิทธิพลในการเลือกตั้งของอินเดียในหลายๆรัฐอาทิ อุตตรประเทศ มัธยประเทศ หิมาจัลประเทศ และราชสถาน เป็นต้น (Ganga, 2016)

 

สวนสาธารณะอัมเบดการ์ ตั้งอยู่ ณ เมืองลัคเนาว์ รัฐอุตรประเทศ เป็นสวนสาธารณะที่สร้างขึ้นภายใต้การบริหารงานของพรรคพหุชนสมาซ
เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของกลุ่มดาลิต

 

ปัจจุบันดาลิตไม่ใช่เรื่องแค่ภายในอินเดียอีกต่อไป กระแสสิทธิมนุษยชนที่เข้ามาในอินเดียช่วงปลายปี 1990 ทำให้้มีองค์กรเอกชนระหว่างประเทศ อาทิ กลุ่มจับตาสิทธิมนุษยชน (Human Right Watch) เข้ามาทำงานเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มดาลิต และพัฒนาจนเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวรณรงค์สิทธิมนุษยชนของดาลิตระดับชาติในปี 1999 เป็นต้นมา โครงข่ายของกลุ่มดาลิตไม่ได้จำกัดอยู่แค่ภายในอินเดียเท่านั้น วัฒนธรรมดาลิตที่ปรากฏอยู่ทั่วภูมิภาคเอเชียใต้รวมถึงดาลิตโพ้นทะเลที่ได้รับโอกาสทางการศึกษาและเดินทางไปเริ่มต้นที่ชีวิตใหม่ยังต่างประเทศ ยังได้ร่วมกันสร้างเครือข่ายความร่วมมือดาลิตนานาชาติ (International Dalit Solidarity Netwoek) ในปี 2000 และขยายจนสามารถนำประเด็นดาลิต การเลือกปฏิบัติและความไม่เท่าเทียมขึ้นสู่เวทีสหประชาชาติอีกด้วย (Hart, 2010) จากการขยายเรื่องราวของดาลิตในอินเดียไปสู่เวทีระหว่างประเทศ ทำให้เห็นว่านอกจากในอินเดียแล้ว ยังมีดาลิตในเนปาล รวมถึงกลุ่มบุระกุ (Buraku) ในญี่ปุ่นที่ประสบปัญหาการกีดกันทางสังคมเช่นเดียวกัน (Coyle 2006) 

 

กฏหมายและการคุ้มครองดาลิต 

เป็นที่น่ายินดีว่า รัฐธรรมนูญและกฏหมายของอินเดียได้พยายามคุ้มครองดาลิต โดยมีมาตราที่สำคัญอาทิ  มาตรา 4 เพื่อสร้างความเท่าเทียมกันก่อนกฏหมายเพื่อประกันความเท่าเทียมให้แก่พลเมืองอินเดีย มาตรา 15 เพื่อป้องกันการเลือกปฏิบัติจากพื้นฐานของศาสนา ชาติพันธุ์ วรรณะ เพศ และสถานที่กำเนิด  มาตรา 17 ได้ระบุชัดเจนในการยกเลิกคำว่า "จัณฑาล" ในสังคม  มาตรา 46 เพื่อส่งเสริมการศึกษาและเศรษฐกิจ โดยรัฐต้องจัดการศึกษาพิเศษเพื่อยกระดับดาลิตและกลุ่มชาติพันธุ์ 

 

ที่สำคัญรัฐบาลอินเดียยังออกนโยบายในการให้โควตาสำรอง (Reservation Quota) เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาและการทำงานของดาลิต หรือกลุ่ม SC กล่าวคือในการสอบคัดเลือกเข้าเรียนและการทำงาน จะมีโควตาเพื่อให้ SC สอบแข่งขันในกลุ่มของตนเอง  เนื่องจากรัฐบาลอินเดียเห็นว่าดาลิตถูกกดขี่และไม่ได้รับโอกาสมาอย่างยาวนานซี่งถือเป็นความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ฉะนั้นจึงไม่เป็นธรรมแก่ดาลิตนักหากต้องสอบแข่งขันร่วมกับกลุ่มวรรณะอื่นๆ จึงมีนโยบายการให้โควตาสำรองเพื่อให้กลุ่มดาลิตแข่งขันภายในกลุ่มของตน เพื่อที่จะได้มีโอกาสเข้ารับการศึกษา การทำงานในแวดวงต่างๆ และนำความรู้ที่ได้ยกระดับคุณภาพชีวิตของตน

 

อนี่งการกำหนดโควตาสำรองดังกล่าวรัฐบาลกลางให้สิทธิแก่รัฐบาลท้องถิ่นในระดับรัฐของอินเดียในการพิจารณาสัดส่วนที่เหมาะสมตามโครงสร้างประชากร ซี่งโดยมากดาลิตและกลุ่มชาติพันธุ์จะได้รับโควตาในสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 30-40 เลยทีเดียว แต่ทั้งนี้่เพื่อให้เข้าถึงสิทธิ์ พวกเขาจำต้องระบุว่าตนเองเป็นกลุ่ม SC เช่นกัน จึงทำให้ท้ายที่สุดเป็นการยากที่จะลบเลือนระบบวรรณะไปออกจากสังคมอินเดีย ตราบที่การเข้าถึงสิทธิ์ขึ้นอยู่กับชนชั้นวรรณะของตน (ปิยณัฐ สร้อยคำ, 2556) 

 

ดาลิตร่วมสมัย

เมื่อดาลิตในปัจจุบันมีการศึกษาและมีหน้าที่การงานที่ดีเพิ่มมากขึ้น อันเนื่องมาจากสิทธิที่ได้รับตามรัฐธรรมนูญ ความก้าวหน้าดังกล่าวกลับสร้างความตึงเครียดให้เกิดขึ้นในสังคมอินเดีย เนื่องจากในหลายรัฐกลุ่มวรรณะสูงเห็นว่าตนเองเสียผลประโยชน์ให้กับกลุ่มดาลิต จึงได้ประท้วงเรียกร้องให้รัฐเพิ่มโควต้าให้กับกลุ่มวรรณะทั่วไปของตน (General Scheme) และลดปริมาณโควตาของกลุ่มดาลิตลง หรือในบางรัฐดาลิตก็เรียกร้องผลประโยชน์ที่เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากตนเองยังรู้สึกไม่ได้รับการชดเชยที่เพียงพอ นำมาสู่การตอบโต้จากทั้งสองฝ่าย

 

ในหลายมหาวิทยาลัย เมื่อกลุ่มดาลิตเข้าไปศึกษามากขึ้น กลับพบว่าบุคลากรของมหาวิทยาลัยที่มาจากวรรณะสูงได้เลือกปฏิบัติและพยายามกีดกันกลุ่มนักศึกษาดาลิตไม่ให้ได้รับสิทธิ์ที่พึงได้ เช่นทุนการศึกษา ทำให้กลุ่มนักศึกษาดาลิตประท้วงตอบโต้ด้วยวิธีการต่างๆ จนนำมาสู่ความรุนแรงขึ้นในสถาบันการศึกษา

 

นอกจากนี้ความตระหนักในอัตลักษณ์ของดาลิตที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้กลุ่มดาลิตได้รื้อฟื้นความเชื่อและวัฒนธรรมของตนเอง นัยหนี่งเพื่อสร้างอัตลักษณ์ แต่อีกนัยหนี่งเพื่อเป็นแรงสะท้อนกลับการกดขี่จากวรรณะสูง อาทิ เมื่อไม่ได้รับอนุญาตจากพราหมณ์ให้ร่วมพิธิกรรมทางศาสนา ดาลิตจึงให้มีนักบวชเพื่อประกอบพิธีกรรมให้กับกลุ่มดาลิตของตนเอง อีกทั้งเมื่อการรับประทานเนื้อวัวเป็นสิ่งต้องห้ามของศาสนาฮินดู กลุ่มเยาวชนดาลิตได้จัดกิจกรรมการทานข้าวหมกเนื้อวัว (Beef Briyani) เพื่อสื่อว่าในอดีตนั้นเนื้อวัวเป็นอาหารของชาวดาลิตมาก่อน เนื่องจากเป็นเนื้อสัตว์ที่ไม่มีราคาสูงและสามารถหาซื้อรับประทานได้ ดังนั้นดาลิตจึงมีสิทธิที่จะรื้อฟื้นการกินเนื้อวัวอันเป็นอัตลักษณ์ของตนเองกลับมาอีกครั้ง ซี่งสร้างความไม่พอใจจากชาวฮินดูเคร่งศาสนามากขึ้น 

 

รูปกิจกรรมการรับประทานเนื้อวัวโดยนักศึกษาดาลิต จัดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยอุสมาเนีย เมืองไฮเดอราบาด
ซี่งผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมระหว่างการศึกษา ณ มหาวิทยาลัยดังกล่าว ระหว่างปี 2011-2013

 

นอกจากนี้ดาลิตของอินเดียจำนวนหนี่งพยายามเดินทางออกนอกประเทศเพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีให้กับตนเอง บางส่วนเปลี่ยนชื่อและนามสกุลของตนเอง ย้ายครอบครัวเข้ารีตศาสนาคริสต์ (Sietzema-Riemer, 2009) บางครอบครัวหันไปนับถือศาสนาอิสลาม หรือแม้กระทั่งการเข้าเป็นพุทธมามกะและนับถือพุทธศาสนานิกายนวยาน (ซี่งปัจจุบันชาวพุทธส่วนใหญ่ในอินเดียมาจากกลุ่มดาลิต) โดยหวังว่าจะได้รับการยอมรับในสังคมใหม่และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

 

ปัจจุบัน ดาลิตมีบทบาทสำคัญในอินเดียเพิ่มมากขึ้น และไม่ได้เป็นเพียงชนชั้นวรรณะที่ต้อยต่ำดังที่เป็นมา แต่พวกเขากลับมีส่วนสำคัญในการสร้างประวัติศาสตร์ของอินเดีย อาทิ ในวงการการเมืองการปกครอง ดร.อัมเบดการ์ ดาลิตผู้ได้รับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียและ London School of Economics เป็นผู้ร่างและได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาของรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐอินเดีย เค อาร์ นารายานัน (K R Narayanan) ดาลิตผู้ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอินเดีย ได้รับคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ร้อยละ 95 โดยมีนโยบายสำคัญคือการยุติความรุนแรงและการทุจริต และ มายาวตี กุมารี (Mayawati Kumari) ประธานพรรคพหุชนสมาช และมุขมนตรีแห่งรัฐอุตรประเทศ ซี่งพลิกโฉมการเมืองอินเดียเพราะเป็นทั้งสตรีและเป็นดาลิต เป็นต้น 

 

 

ประธานาธิดีนารายานัน และมุขมนตรีมายาวตี ที่มา the Economist และ news18

 

      ในวงการบันเทิง ดาลิตเริ่มได้รับการยอมรับและมีผลงานทั้งการแสดง การกำกับ นักเขียน นางงามและนางแบบ อาทิ Poonam Mehmi Miss India UK 2009 ปัจจุบันเป็นนางแบบในอังกฤษ

Poonam Mehmi และ Nagraj Manjule ที่มา http://indpaedia.com/ind/index.php/Scheduled_caste_talents_in_Indian_cinema และ http://poonammehmi.blogspot.co.uk

 

Pinki Soonkar นักแสดงเรื่อง Smile Pinki 2012 ซี่งได้รับรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์สารคดี Usha Jadhav นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์แห่งชาติครั้งที่ 60 และ Nagraj Manjule ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Sairat ซี่งเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงที่สุดในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมภาพยนตร์อินเดีย เป็นต้น 

 

 

คุณ Pippal ดาลิตผู้ประสบความสำเร็จทางธุรกิจ: ที่มา http://www.thenational.ae/news/world/south-asia/i-was-one-of-indias-uncl...

 

ดาลิตจำนวนหนี่งประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจ และมีสถานะทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าวรรณะสูงอื่นๆ อาทิ Hari Kishan Pippal ดาลิตวัย 60 ปี เจ้าของโรงพยาบาล โรงงานรองเท้า นายหน้าขายรถ และเจ้าของสำนักพิมพ์ ซี่งเขากล่าวว่าครั้งหนี่งเขาคือ 'ดาลิต' แต่ปัจจุบันเขาคือคนที่ร่ำรวย (ปิยณัฐ สร้อยคำ 2015: Editor Encyclopedia Britanica, 2011: Viplav 2015: Associated Press, 2011)

 

บทเรียนจากดาลิต

บทความนี้มิได้ละเลยถึงปัญหาความยากจน การขาดแคลนทางโอกาส หรือการกีดกันทางสังคมที่ดาลิตได้รับ แต่ต้องการนำเสนอในมุมมองร่วมสมัยว่าว่า ดาลิต หรือ จัณฑาลนั้น มิได้ถูกทำให้หยุดนิ่งในฐานะกลุ่มชนที่ถูกกดขี่ทางสังคมและไร้ซี่งพัฒนาการแต่เพียงภาพเดียวเท่านั้น แต่ภายใต้การคุ้มครองโดยรัฐ การยกระดับคุณภาพชีวิต และการเคลื่อนไหวเพื่อให้ได้สิทธิ์ของตนเอง ทำให้ดาลิตค่อยๆก้าวข้ามโชคชะตาที่ถูกเขียนไว้โดยบรรทัดฐานของสังคมผ่านการสร้างอัตลักษณ์และการตระหนักรู้ร่วม ฉะนั้นอนาคตของดาลิตย่อมเปลี่ยนแปลงและมีพลวัตที่น่าติดตามศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพื่ออย่างน้อยที่สุด กลุ่มคนที่ได้รับการกดขี่และละเมิดในสังคมต่างๆ รวมถึงประเทศไทย จะได้มีแรงเคลื่อนไหวเพื่อรักษาสิทธิ์ในความเป็นมนุษย์ของตนเอง
 

 

บรรณานุกรม

Associated Press, I was one of India's unclean Dalits.. now I am a millionaire, http://www.thenational.ae/news/world/south-asia/i-was-one-of-indias-uncl...

Christine Hart, Untouchability Today: The Rise of Dalit Activism, http://www.du.edu/korbel/hrhw/researchdigest/minority/Dalit.pdf

Elze Sietzema-Riemer, Christian Dalits: A Research on Christian Dalits in India, 2009

Encyclopedia Britanica, Kocheril Raman Narayanan: President of India, Encyclopedia Britanica, https://www.britannica.com/biography/Kocheril-Raman-Narayanan

Katelyn Coyle, A History of Untouchable: the Buraku and the Dalits, Agora Journal, 2006.

Ramsharan, Dalits in India: in Historical Perspective of Caste System, International Journal of Advance Research in Management and Social Science, Vol. 1 No.5, 2012. 

Shodh Ganga, Historical Background of Dalits, http://shodhganga.inflibnet.ac.in/bitstream/10603/3691/9/09_chapter%202.pdf

ปิยณัฐ สร้อยคำ โควต้าสำรองและสิทธิของพลเมืองชายขอบ: กรณีศึกษาอินเดีย, เอกสารประกอบการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ปี 2556 ณ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 

ปิยณัฐ สร้อยคำ ทุกข์ของจัณฑาล เมื่อต้องมาร่างรัฐธรรมนูญ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1445157467

Vinod Viplav, How Inclusive is Indian Cinema, https://www.forwardpress.in/2015/10/how-inclusive-is-indian-cinema/

ปิยณัฐ สร้อยคำ: ก่อนสกอตแลนด์จะมีอธิปไตย (อีกครั้ง)

กระแสการแยกตัวเป็นเอกราชของสกอตแลนด์ออกจากสหราชอาณาจักร (United Kingdom) ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด การเรียกร้องดังกล่าวมีมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง จนนำไปสู่การลงประชามติในปี 2014 แม้ผลจะออกมาว่า ประชาชนร้อยละ 55 ยังคงเลือกที่จะอยู่รวมกับสหราชอาณาจักรต่อไป  แต่ที่เหลือกว่าร้อยละ 45 นั้นต้องการเอก

สัมภาษณ์ครั้งสุดท้ายของนายและนางโอบามา (The Final Interview with the Obamas): ปิยณัฐ สร้อยคำ

ผมไม่ใช่คอการเมืองอเมริกา แต่ก็พอรู้ว่าประธานาธิบดีของประเทศนี้ชื่อบารัก โอบามา และแม้ผมไม่ได้ติดตามการเลือกตั้งอเมริกาอย่างใกล้ชิด แต่ก็พอรู้ว่าวาระ 2 สมัย ใน 8 ปีข

ปิยณัฐ สร้อยคำ: ว่าด้วย 'จัณฑาลร่วมสมัย'

ดาลิต หรือ จัณฑาลนั้น มิได้ถูกทำให้หยุดนิ่งในฐานะกลุ่มชนที่ถูกกดขี่ทางสังคมและไร้ซี่งพัฒนาการแต่เพียงภาพเดียวเท่านั้น แต่ภายใต้การคุ้มครองโดยรัฐ การยกระดับคุณภาพชีวิต และการเคลื่อนไหวเพื่อให้ได้สิทธิ์ของตนเอง ทำให้ดาลิตค่อยๆก้าวข้ามโชคชะตาที่ถูกเขียนไว้โดยบรรทัดฐานของสังคมผ่านการสร้างอัตลักษณ์และการตระหนักรู้ร่วม ฉะนั้นอนาคตของดาลิตย่อมเปลี่ยนแปลงและมีพลวัตที่น่าติดตามศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพื่ออย่างน้อยที่สุด กลุ่มคนที่ได้รับการกดขี่และละเมิดในสังคมต่างๆ รวมถึงประเทศไทย จะได้มีแรงเคลื่อนไหวเพื่อรักษาสิทธิ์ในความเป็นมนุษย์ของตนเอง

ปิยณัฐ สร้อยคำ: มีกระทรวงอะไรในกลุ่มประเทศอาเซียนบ้าง?

เราพูดคุยกันเป็นอย่างมากถึงการเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียนในฐานะองค์กรความร่วมมือระดับภูมิภาค แต่ในขั้นตอนการนำนโยบายมาปฏิบัติในแต่ละประเทศนั้น หน่วยงานของรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับกระทรวง มีบทบาทสำคัญและเป็นตัวแสดงหลักในการประสานงานดังกล่าว นอกจากนี้การพิจารณาโครงสร้างของแต่ละรัฐผ่านการมีอยู่ของกระทรวงต่างๆนั้น ทำให้เห็นว่าบรรดาชาติสมาชิกอาเซียนให้ความสำคัญกับเรื่องใดบ้าง จนนำมาสู่การจัดแบ่งองค์กรบริหารราชการแผ่นดิน บทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลจากเว็บไซต์รัฐบาลกลางของแต่ละรัฐ นำมาสู่การจัดทำสังเขปหน่วยงานระดับกระทรวงของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และได้ข้อสรุปที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

ปิยณัฐ สร้อยคำ: บทบาทของมหาวิทยาลัยในอินเดีย (ตอนที่ 1)

ผมไม่ค่อยแน่ใจเท่าใดนัก แต่ที่ผมทราบคือเมื่อผมเข้าไปเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยของอินเดีย ผมแทบจะไม่เห็นพิธีกรรมการรั