ประโยคชื่อเรื่องนั้นเป็นคำพูดคำแรก ๆ ที่ใช้สอนหนังสือ เวลาสี่เดือน ทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์ วันละชั่วโมง เนื้อหาทั้งหมดทั้งมวลสรุปได้ประโยคเดียวคือ ภาษาเป็นเครื่องมือของการสื่อสาร คนส่งสารจะใช้ภาษาอย่างไรนั้น มีหลายอย่างเป็นปัจจัย
ปีสองปีมานี้ มีคำพูดของคนอยู่สองสามประโยคที่ฟังแล้วทนไม่ได้ ต่อมความอดทนจะระเบิด ต้องรีบปิดการสื่อสารทันที เพื่อสวัสดิภาพของอารมณ์
เช่นคำว่า “แดงประจำเดือน” ที่ใช้เป็นคำเรียกแทนคนเสื้อแดงนั้น คนเขียนก็ไม่น่าจะโง่ง่าวถึงขนาดไม่รู้ว่าประจำเดือนคืออะไร บอกให้อีกครั้งว่า ประจำเดือนคือ “ไข่” ของผู้หญิงที่ไม่ได้รับการผสมพันธุ์โดยอสุจิ ไข่จะฝังตัวในผนังมดลูก กลายเป็นพังผืดแล้วออกมาเป็นประจำเดือนทุกเดือน โดยไข่จะตกทุกเดือน เมื่อผสมพันธุ์ถูกเวลาก็จะกลายเป็นคน คือ เรา ๆ ท่าน ๆ นี่แหละ นั่นแปลว่า หากเราไม่ใช่ “คน” ในวันนี้ เราก็คือ “ประจำเดือน” ในวันนั้นในอดีตของแม่
ฉะนั้น การเรียกคนเสื้อแดงว่า “แดงประจำเดือน” ด้วยนัยยะว่า ประจำเดือนเป็นเลือด เป็นของสกปรก จึงเป็นการเปรียบที่สะท้อนความไร้รสนิยม การเหยียดเลือดเนื้อของแม่ทุกคนในโลกใบนี้ ที่สำคัญคือเหยียดหยามอดีตของตัวเอง
คนเขียน คนคิดคำนี้ และคนที่ยินดีปรีดากับคำ ๆ นี้ ก็คือคนที่ดูถูกตัวเอง เพราะถ้าคุณไม่ใช่คน คุณก็คือประจำเดือนในผ้าอนามัยของแม่
ด่ากัน เปรียบกัน ด้วยคำอื่นที่สร้างสรรค์ดีกว่าว่าไปเรื่อยแบบนี้จะดีกว่า
อีกประโยคหนึ่งที่ทนไม่ได้ ฟังเมื่อไรก็รู้สึกอยากกลับไปเป็นประจำเดือนให้แม่ คำนั้นคือ “อาหารดี ดนตรีไพเราะ” คำง่าย ๆ ไม่หยาบคาย ทุกอย่างธรรมดา แต่คำพูดประโยคนี้เมื่อพูดออกมาแล้ว ในสถานการณ์นั้น จึงกลายเป็นวาจาสาธารณะ และทำให้จำจนตายกับประโยคนี้
ช่วงนี้บ้านเรากลับเข้าสู่สภาวะสงครามอีกรอบหนึ่ง การเสพข่าวสารบางทีอาจทำให้หัวใจเต้นแรงขึ้นได้ แม้ว่าจะพยายามรู้เท่าทันและดูอ่านอย่างมีสติก็ตาม
เมื่อผู้ส่งสารกับผู้รับสารจูนกันไม่ได้ เราในฐานะผู้รับสารก็ปิดสื่อนั้นเสีย เพราะตราบใดที่หาความเป็นกลางไม่ได้ ทุกคำพูดเต็มไปด้วยหอกดาบหยาบคายพ่นออกมาตามหน้าเวบ เราก็ไม่จำเป็นต้องอ่านมันอีกต่อไป