ขนิษฐา คันธะวิชัย
ตอนเล็กๆ ผู้เขียนมักจะได้ยินคำกล่าวที่ว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” หรือ “ผีเสื้อขยับปีกทำให้เกิดพายุ” ซึ่งเป็นคำพูดที่ใช้เรียกทฤษฎีความอลวน (Chaos Theory) กระนั้นผู้เขียนก็ไม่ได้สนใจว่าทฤษฎีนี้มีเนื้อหาอย่างไร แต่ก็มีผู้อธิบายว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” นี้เป็นการอธิบายว่าการที่เราเริ่มทำสิ่งหนึ่งอาจส่งผลลัพธ์ไปถึงสิ่งที่อยู่ไกลๆ ได้ เพราะทุกสิ่งมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงซึ่งกันและกันเกินกว่าที่เราจะตระหนัก
ตอนนี้ผู้เขียนเปิดคอมพิวเตอร์ เปิดไฟ เปิดพัดลม การกระทำเหล่านี้จะส่งผลให้เกิดสิ่งใดในพื้นที่ที่ห่างออกไปได้หรือไม่
พักเรื่องนี้ไว้ก่อน เดี๋ยวค่อยว่ากัน
--------------------------------------------------
วันหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว ผู้เขียนตั้งชื่อออนไลน์ใน MSN ว่า “พลังงานเป็นตัวแปรสำคัญในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเพื่อนบ้านจริงๆ ด้วย” ที่ตั้งชื่อเป็นข้อความนี้ก็เพราะว่าวันนั้นผู้เขียนไปฟังการบรรยายเรื่อง “ธรรมยาตราฝ่าทางปืน” ที่จัดโดยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากฟังการบรรยายแล้วผู้เขียนก็ทราบว่า รัฐบาลไทยคงจะไม่เข้าไปมีบทบาทเข้าไปกดดันรัฐบาลเพื่อนบ้านหรือดำเนินนโยบายใดๆ อย่างจริงจังในเรื่องการเมืองภายในพม่า แม้จะเป็นไปได้ว่ามีการปราบปราม ม๊อบพระสงฆ์ด้วยความรุนแรงก็ตาม และเหตุที่รัฐบาลไทยอันเป็น “เมืองพุทธ” ไม่ดำเนินการใดๆ อย่างจริงจังนั้นก็เพราะว่าไทยเองต้องพึ่งพิงเพื่อนบ้าน และมีผลประโยชน์ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างมหาศาล จนไม่กล้าที่จะไป “ขัดใจ” รัฐบาลเพื่อนบ้านนั่นเอง
ทุกวันนี้ไทยมีมูลค่าการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านเป็นจำนวนมาก เช่นกรณีของลาว ในปี 2549 นั้น ไทยเคยเข้าไปลงทุนถึง 655 ล้านเหรียญสหรัฐi สำหรับในพม่า ในปี 2550 ไทยเข้าไปลงทุนถึง 7,392 ล้านเหรียญสหรัฐii แค่โครงการเขื่อนท่าซางในพม่าอย่างเดียวก็มีมูลค่าถึง 6,000 ล้านเหรียญแล้ว
เห็นหรือไม่ว่า ไทยเข้าไปลงทุนในเพื่อนบ้านเยอะขนาดไหน
แต่การลงทุนของไทยก็ส่งผลกระทบต่อผู้คนในประเทศเพื่อนบ้านด้วย
ในกรณีสปป.ลาว ยังถือว่ารัฐบาลคอยให้ความคุ้มครองประชาชนอยู่ เนื่องจากไม่ได้ปล่อยให้นายทุนมายึดที่ดินหรือทำโน่น ทำนี่ได้ง่ายนัก หรือหากจะสร้างเขื่อน ก็ต้องมีการทำแบบประเมินสิ่งแวดล้อม แต่สำหรับพม่านั้นต่างกัน เนื่องจากผู้ที่ครองทรัพยากรเป็นชนกลุ่มน้อย ถ้าหากรัฐบาลต้องการที่ดิน ชาวบ้านก็ต้องไป ดังจะยกตัวอย่างสถานการณ์ของรัฐมอญ
“นับตั้งแต่ปกครองโดยสล็อคและเอสพีดีซีเมื่อปี พ.ศ. 2541 เป็นต้นมา ผืนดินของรัฐมอญและพื้นที่อื่นๆ ซึ่งมีคนมอญอาศัยเป็นส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ใกล้ชายฝั่งทะเลอันดามันและพื้นที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การปลูกพืชผลตามฤดูกาลและไม่มีพื้นที่เป็นเทือกเขามากนัก เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้เข้าถึงได้ไม่ยากและกองทัพพม่าสามารถควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของรัฐมอญได้แล้ว กองทัพจึงสามารถบุกเข้ายึดครองที่ดินดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ได้โดยง่าย”
ที่มา: มูลนิธิสิทธิมนุษยชนแห่งแผ่นดินมอญ “ปฏิบัติการยึดผืนนา” หน้า 26
ความเดือดร้อนของชาวมอญในพม่าอันเนื่องมาจากโครงการพัฒนาด้านพลังงานนั้นมีอยู่เรื่อยๆ ดังเช่นกรณีที่ชาวมอญในเขตเมืองด้าจก์ปุ (ตะนาวศรี) และเมืองเร (หรือเมืองเย รัฐมอญ) ต้องถูกบังคับให้ย้ายถิ่นฐานออกไปโดยไม่ได้รับเงินชดเชยใดๆ และไม่ได้รับอนุญาตให้เก็บผลผลิตของสวนก่อนที่จะต้องย้ายทั้งที่ลงทุนและเสียหยาดเหงื่อแรงกายไปมากมาย เนื่องจากรัฐบาลต้องการที่ดินไปสร้างสายส่งพลังงานจากท่อส่งก๊าซกานบอก-มยาญกาเล (Kanbauk-Myaingkalay) ไปยังเมืองเย ซึ่งทหารพม่าต้องรับผิดชอบในการเคลียร์เส้นทางเพื่อสร้างสายส่งพลังงานตามแนวถนนสาย เร (เย)-ทวาย ดังนั้นเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจึงทำการยึดที่ดินจำนวนมากจากประชาชนในท้องที่เพื่อสร้างสายส่งพลังงาน ถ้าสายส่งพลังงานผ่านที่ดินส่วนบุคคลของชาวบ้านคนใด ที่ดินนั้นจะถูกยึด นอกจากนี้ยังต้องถูกเกณฑ์เป็นแรงงานก่อสร้างอีกด้วยiii
ก๊าซเหล่านี้ รัฐบาลพม่าเอาไปขายใคร
ส่วนหนึ่งก็ขายให้ประเทศไทยไงคะ
แผนที่แสดงแนวท่อก๊าซที่ผ่านรัฐมอญ: ภาพโดยองค์กรมนุษยธรรมชายแดนไทย-พม่า
จากหนังสือ “การพลัดถิ่นฐานภายในประเทศพม่าแถบตะวันออก รายงานการสำรวจปี พ.ศ.2550”
การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้เซ็น MOU ในการซื้อก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยานาดา รวมมูลค่าซื้อขายประมาณปีละ 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะนำไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยiv นอกจากนี้ เหตุที่สร้างเขื่อนท่าซางขึ้นก็เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้กับไทยนั่นเอง ซึ่งเขื่อนท่าซางก็ได้ก่อให้พี่น้องไทใหญ่ได้รับความเดือดร้อนเช่นกัน (เรื่องนี้ก็เคยมีบทความลงในประชาไทแล้ว)
ถึงตอนนี้อาจมีผู้ถามว่า ในเมื่อไทยเอาเงินไปลงทุนมากขนาดนั้น ไทยก็ควรจะเป็นผู้มีอิทธิพลในพม่า เนื่องจากเราเป็นแหล่งรายได้ใหญ่ให้พม่าเช่นกัน
แต่ในสภาพความเป็นจริงแล้วผู้เขียนเห็นว่า ไทยต่างหากที่ต้องเกรงใจพม่า เนื่องจากก็มีตัวอย่างมาแล้วในสมัยรัฐบาลชวน ซึ่งดำเนินนโยบายเข้าไปลงทุนในพม่า แต่ก็เปิดช่องให้กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในพม่าและมีแนวนโยบายที่ไม่คล้อยตามพม่าในทุกเรื่องโดยเฉพาะการเข้มงวดกวดขันกับผู้ลี้ภัยทางการเมือง นอกจากนี้ยังอนุญาตให้คณะผู้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเดินทางมาประเทศไทยและเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าปล่อยตัว ออง ซาน ซูจี เป็นอิสระ และทางคณะฯยังเรียกร้องให้ปล่อยนักโทษทางการเมืองในพม่า และประณามรัฐบาลพม่าที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนอีกด้วย ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้รัฐบาลพม่าไม่พอใจ และไม่ต่อสัมปทานให้กับบริษัททำไม้จากประเทศไทย 47 บริษัท v
เห็นไหม ทำให้เขาโกรธแล้ว เราก็ค้าขายกับเขาไม่ได้
ปัจจุบันไทยเข้าไปลงทุนในพม่าก็ด้วยเรื่องที่เกี่ยวกับพลังงาน ซึ่งตอนนี้ราคาน้ำมันในประเทศไทยถีบตัวสูงขึ้นมาก ถ้าอยู่ๆ พม่าเกิดไม่พอใจ ไม่ขายก๊าซ ไม่ขายไฟให้ แม้จะเซ็น MOU กันแล้ว เราก็อาจจะขาดแคลนแหล่งพลังงานแหล่งใหญ่ไป
ในเมื่อเราต้อง “โอ๋” รัฐบาลพม่าขนาดนี้ ผู้เขียน ในฐานะที่รู้จักกับคนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า และได้รับฟังถึงปัญหาของคนเหล่านั้นมาบ้าง ก็รู้สึกอ่อนใจยิ่งนัก แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ด้วยเห็นว่านี่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่มีความยุ่งยากซับซ้อนในการแก้ปัญหา ทั้งปัจจัยภายในพม่าและปัจจัยภายในไทยเอง
เนื่องจากว่าเราอยู่ในยุคที่เกือบๆ จะถึงขั้น “สังคมอุดมโภคา” ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรอย่างมากในการขึ้นมาสู่จุดนี้ ไฟฟ้า น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ นับเป็นสิ่งจำเป็น และถ้าหากความต้องการพลังงานของประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาชนในพม่าได้รับความเดือดร้อน ผู้เขียนคิดว่าผู้ที่รณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชนก็ควรที่จะรณรงค์เรื่องการลดการบริโภคด้วย เพราะคนไทยเราเองไม่ได้ตระหนักว่าการบริโภคอย่างสิ้นเปลืองของเราส่งผลโดยอ้อมให้สตรีในรัฐฉานโดนข่มขืน คนในรัฐมอญโดนไล่ที่ โดนเกณฑ์มาเป็นแรงงาน คนกระเหรี่ยงต้องทิ้งถิ่นฐานเข้าสู่ศูนย์อพยพในประเทศไทย หรือบางส่วนกลายมาเป็น “แรงงานต่างด้าว”
เหตุการณ์เช่นนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงคำกล่าวที่ว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” ขึ้นมา
คนไทย (โดยเฉพาะคนในเมืองหรือภาคอุตสาหกรรม) บริโภคอย่างสิ้นเปลือง เปิดแอร์เย็นฉ่ำ นักศึกษามีโน๊ตบุคมามหาวิทยาลัยคนละเครื่อง แถมเปิดคอมพ์พิวเตอร์ทิ้งไว้ ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตของไทยจึงต้องหาไฟฟ้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน รัฐบาลพม่าต้องการขายก๊าซธรรมชาติให้ไทยนำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า จึงไปไล่ที่ชาวบ้านในที่ๆ มีท่อส่งก๊าซผ่าน อย่างที่รัฐมอญหรือแถบตะนาวศรีเองก็โดนไป
อย่างนี้เราจะเรียกว่า “บริโภคสิ้นเปลืองสะเทือนถึงเมืองมอญ” ได้ไหม
i ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลลาว มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ii ข้อมูลจากกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพานิชย์
iii มูลนิธิสิทธิมนุษยชนแห่งแผ่นดินมอญ.ปฏิบัติการยึดผืนนา. พิมพ์ครั้งที่ 1,2547
iv พรพิมล ตรีโชติ.ไร้แผ่นดิน เส้นทางจากพม่าสุ่ไทย. กรุงทพฯ : หน่วยปฏิบัติการวิจัยแม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ; สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2548
v เพิ่งอ้าง