Skip to main content

ขนิษฐา คันธะวิชัย


ตอนเล็กๆ ผู้เขียนมักจะได้ยินคำกล่าวที่ว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” หรือ “ผีเสื้อขยับปีกทำให้เกิดพายุ” ซึ่งเป็นคำพูดที่ใช้เรียกทฤษฎีความอลวน (Chaos Theory) กระนั้นผู้เขียนก็ไม่ได้สนใจว่าทฤษฎีนี้มีเนื้อหาอย่างไร แต่ก็มีผู้อธิบายว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” นี้เป็นการอธิบายว่าการที่เราเริ่มทำสิ่งหนึ่งอาจส่งผลลัพธ์ไปถึงสิ่งที่อยู่ไกลๆ ได้ เพราะทุกสิ่งมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงซึ่งกันและกันเกินกว่าที่เราจะตระหนัก


ตอนนี้ผู้เขียนเปิดคอมพิวเตอร์ เปิดไฟ เปิดพัดลม การกระทำเหล่านี้จะส่งผลให้เกิดสิ่งใดในพื้นที่ที่ห่างออกไปได้หรือไม่


พักเรื่องนี้ไว้ก่อน เดี๋ยวค่อยว่ากัน


--------------------------------------------------



วันหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว ผู้เขียนตั้งชื่อออนไลน์ใน MSN ว่า พลังงานเป็นตัวแปรสำคัญในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเพื่อนบ้านจริงๆ ด้วย” ที่ตั้งชื่อเป็นข้อความนี้ก็เพราะว่าวันนั้นผู้เขียนไปฟังการบรรยายเรื่อง “ธรรมยาตราฝ่าทางปืน” ที่จัดโดยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากฟังการบรรยายแล้วผู้เขียนก็ทราบว่า รัฐบาลไทยคงจะไม่เข้าไปมีบทบาทเข้าไปกดดันรัฐบาลเพื่อนบ้านหรือดำเนินนโยบายใดๆ อย่างจริงจังในเรื่องการเมืองภายในพม่า แม้จะเป็นไปได้ว่ามีการปราบปราม ม๊อบพระสงฆ์ด้วยความรุนแรงก็ตาม และเหตุที่รัฐบาลไทยอันเป็น “เมืองพุทธ” ไม่ดำเนินการใดๆ อย่างจริงจังนั้นก็เพราะว่าไทยเองต้องพึ่งพิงเพื่อนบ้าน และมีผลประโยชน์ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างมหาศาล จนไม่กล้าที่จะไป “ขัดใจ” รัฐบาลเพื่อนบ้านนั่นเอง


ทุกวันนี้ไทยมีมูลค่าการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านเป็นจำนวนมาก เช่นกรณีของลาว ในปี 2549 นั้น ไทยเคยเข้าไปลงทุนถึง 655 ล้านเหรียญสหรัฐi สำหรับในพม่า ในปี 2550 ไทยเข้าไปลงทุนถึง 7,392 ล้านเหรียญสหรัฐii แค่โครงการเขื่อนท่าซางในพม่าอย่างเดียวก็มีมูลค่าถึง 6,000 ล้านเหรียญแล้ว


เห็นหรือไม่ว่า ไทยเข้าไปลงทุนในเพื่อนบ้านเยอะขนาดไหน

แต่การลงทุนของไทยก็ส่งผลกระทบต่อผู้คนในประเทศเพื่อนบ้านด้วย


ในกรณีสปป.ลาว ยังถือว่ารัฐบาลคอยให้ความคุ้มครองประชาชนอยู่ เนื่องจากไม่ได้ปล่อยให้นายทุนมายึดที่ดินหรือทำโน่น ทำนี่ได้ง่ายนัก หรือหากจะสร้างเขื่อน ก็ต้องมีการทำแบบประเมินสิ่งแวดล้อม แต่สำหรับพม่านั้นต่างกัน เนื่องจากผู้ที่ครองทรัพยากรเป็นชนกลุ่มน้อย ถ้าหากรัฐบาลต้องการที่ดิน ชาวบ้านก็ต้องไป ดังจะยกตัวอย่างสถานการณ์ของรัฐมอญ


นับตั้งแต่ปกครองโดยสล็อคและเอสพีดีซีเมื่อปี พ.. 2541 เป็นต้นมา ผืนดินของรัฐมอญและพื้นที่อื่นๆ ซึ่งมีคนมอญอาศัยเป็นส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ใกล้ชายฝั่งทะเลอันดามันและพื้นที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การปลูกพืชผลตามฤดูกาลและไม่มีพื้นที่เป็นเทือกเขามากนัก เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้เข้าถึงได้ไม่ยากและกองทัพพม่าสามารถควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของรัฐมอญได้แล้ว กองทัพจึงสามารถบุกเข้ายึดครองที่ดินดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ได้โดยง่าย”

ที่มา: มูลนิธิสิทธิมนุษยชนแห่งแผ่นดินมอญ “ปฏิบัติการยึดผืนนา” หน้า 26


ความเดือดร้อนของชาวมอญในพม่าอันเนื่องมาจากโครงการพัฒนาด้านพลังงานนั้นมีอยู่เรื่อยๆ ดังเช่นกรณีที่ชาวมอญในเขตเมืองด้าจก์ปุ (ตะนาวศรี) และเมืองเร (หรือเมืองเย รัฐมอญ) ต้องถูกบังคับให้ย้ายถิ่นฐานออกไปโดยไม่ได้รับเงินชดเชยใดๆ และไม่ได้รับอนุญาตให้เก็บผลผลิตของสวนก่อนที่จะต้องย้ายทั้งที่ลงทุนและเสียหยาดเหงื่อแรงกายไปมากมาย เนื่องจากรัฐบาลต้องการที่ดินไปสร้างสายส่งพลังงานจากท่อส่งก๊าซกานบอก-มยาญกาเล (Kanbauk-Myaingkalay) ไปยังเมืองเย ซึ่งทหารพม่าต้องรับผิดชอบในการเคลียร์เส้นทางเพื่อสร้างสายส่งพลังงานตามแนวถนนสาย เร (เย)-ทวาย ดังนั้นเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจึงทำการยึดที่ดินจำนวนมากจากประชาชนในท้องที่เพื่อสร้างสายส่งพลังงาน ถ้าสายส่งพลังงานผ่านที่ดินส่วนบุคคลของชาวบ้านคนใด ที่ดินนั้นจะถูกยึด นอกจากนี้ยังต้องถูกเกณฑ์เป็นแรงงานก่อสร้างอีกด้วยiii


ก๊าซเหล่านี้ รัฐบาลพม่าเอาไปขายใคร

ส่วนหนึ่งก็ขายให้ประเทศไทยไงคะ

 

http://blogazine.prachatai.com/upload/ong/ong_20080805-121624.jpg

แผนที่แสดงแนวท่อก๊าซที่ผ่านรัฐมอญ: ภาพโดยองค์กรมนุษยธรรมชายแดนไทย-พม่า
จากหนังสือ “การพลัดถิ่นฐานภายในประเทศพม่าแถบตะวันออก รายงานการสำรวจปี พ..2550”

 


การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้เซ็น MOU ในการซื้อก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยานาดา รวมมูลค่าซื้อขายประมาณปีละ 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะนำไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยiv นอกจากนี้ เหตุที่สร้างเขื่อนท่าซางขึ้นก็เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้กับไทยนั่นเอง ซึ่งเขื่อนท่าซางก็ได้ก่อให้พี่น้องไทใหญ่ได้รับความเดือดร้อนเช่นกัน (เรื่องนี้ก็เคยมีบทความลงในประชาไทแล้ว)


ถึงตอนนี้อาจมีผู้ถามว่า ในเมื่อไทยเอาเงินไปลงทุนมากขนาดนั้น ไทยก็ควรจะเป็นผู้มีอิทธิพลในพม่า เนื่องจากเราเป็นแหล่งรายได้ใหญ่ให้พม่าเช่นกัน


แต่ในสภาพความเป็นจริงแล้วผู้เขียนเห็นว่า ไทยต่างหากที่ต้องเกรงใจพม่า เนื่องจากก็มีตัวอย่างมาแล้วในสมัยรัฐบาลชวน ซึ่งดำเนินนโยบายเข้าไปลงทุนในพม่า แต่ก็เปิดช่องให้กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในพม่าและมีแนวนโยบายที่ไม่คล้อยตามพม่าในทุกเรื่องโดยเฉพาะการเข้มงวดกวดขันกับผู้ลี้ภัยทางการเมือง นอกจากนี้ยังอนุญาตให้คณะผู้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเดินทางมาประเทศไทยและเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าปล่อยตัว ออง ซาน ซูจี เป็นอิสระ และทางคณะฯยังเรียกร้องให้ปล่อยนักโทษทางการเมืองในพม่า และประณามรัฐบาลพม่าที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนอีกด้วย ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้รัฐบาลพม่าไม่พอใจ และไม่ต่อสัมปทานให้กับบริษัททำไม้จากประเทศไทย 47 บริษัท v


เห็นไหม ทำให้เขาโกรธแล้ว เราก็ค้าขายกับเขาไม่ได้


ปัจจุบันไทยเข้าไปลงทุนในพม่าก็ด้วยเรื่องที่เกี่ยวกับพลังงาน ซึ่งตอนนี้ราคาน้ำมันในประเทศไทยถีบตัวสูงขึ้นมาก ถ้าอยู่ๆ พม่าเกิดไม่พอใจ ไม่ขายก๊าซ ไม่ขายไฟให้ แม้จะเซ็น MOU กันแล้ว เราก็อาจจะขาดแคลนแหล่งพลังงานแหล่งใหญ่ไป


ในเมื่อเราต้อง “โอ๋” รัฐบาลพม่าขนาดนี้ ผู้เขียน ในฐานะที่รู้จักกับคนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า และได้รับฟังถึงปัญหาของคนเหล่านั้นมาบ้าง ก็รู้สึกอ่อนใจยิ่งนัก แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ด้วยเห็นว่านี่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่มีความยุ่งยากซับซ้อนในการแก้ปัญหา ทั้งปัจจัยภายในพม่าและปัจจัยภายในไทยเอง


เนื่องจากว่าเราอยู่ในยุคที่เกือบๆ จะถึงขั้น “สังคมอุดมโภคา” ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรอย่างมากในการขึ้นมาสู่จุดนี้ ไฟฟ้า น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ นับเป็นสิ่งจำเป็น และถ้าหากความต้องการพลังงานของประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาชนในพม่าได้รับความเดือดร้อน ผู้เขียนคิดว่าผู้ที่รณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชนก็ควรที่จะรณรงค์เรื่องการลดการบริโภคด้วย เพราะคนไทยเราเองไม่ได้ตระหนักว่าการบริโภคอย่างสิ้นเปลืองของเราส่งผลโดยอ้อมให้สตรีในรัฐฉานโดนข่มขืน คนในรัฐมอญโดนไล่ที่ โดนเกณฑ์มาเป็นแรงงาน คนกระเหรี่ยงต้องทิ้งถิ่นฐานเข้าสู่ศูนย์อพยพในประเทศไทย หรือบางส่วนกลายมาเป็น “แรงงานต่างด้าว”


เหตุการณ์เช่นนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงคำกล่าวที่ว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” ขึ้นมา


คนไทย (โดยเฉพาะคนในเมืองหรือภาคอุตสาหกรรม) บริโภคอย่างสิ้นเปลือง เปิดแอร์เย็นฉ่ำ นักศึกษามีโน๊ตบุคมามหาวิทยาลัยคนละเครื่อง แถมเปิดคอมพ์พิวเตอร์ทิ้งไว้ ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตของไทยจึงต้องหาไฟฟ้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน รัฐบาลพม่าต้องการขายก๊าซธรรมชาติให้ไทยนำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า จึงไปไล่ที่ชาวบ้านในที่ๆ มีท่อส่งก๊าซผ่าน อย่างที่รัฐมอญหรือแถบตะนาวศรีเองก็โดนไป


อย่างนี้เราจะเรียกว่า “บริโภคสิ้นเปลืองสะเทือนถึงเมืองมอญ” ได้ไหม

 

i ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลลาว มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ii
ข้อมูลจากกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพานิชย์
iii
มูลนิธิสิทธิมนุษยชนแห่งแผ่นดินมอญ.ปฏิบัติการยึดผืนนา. พิมพ์ครั้งที่ 1,2547
iv
พรพิมล ตรีโชติ.ไร้แผ่นดิน เส้นทางจากพม่าสุ่ไทย. กรุงทพฯ : หน่วยปฏิบัติการวิจัยแม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ; สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2548
v
เพิ่งอ้าง


บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
การบริภาษผู้ที่มาทำให้เราไม่พอใจนั้นมีอยู่ด้วยกันทุกชนชาติ หากแต่ถ้อยคำที่ก่นด่ากันนั้นมีนัยยะสำคัญอย่างไร เหตุใดคนที่เลือกสรรถ้อยคำนั้นขึ้นมาจึงคิดว่าจะเป็นคำที่เจ็บแสบ สามารถระบายอารมณ์พลุ่งพล่านนั้นลงได้ ว่าแต่ว่า คำที่คนชาติหนึ่งด่ากันแล้วนำเอาไปด่าใส่คนอีกชาติหนึ่งมันจะเจ็บแสบอย่างเดียวกันหรือไม่ หรือคนด่าจะเป็นฝ่ายเจ็บเสียเอง
องค์ บรรจุน
บางท่านอาจเคยรู้มาบ้างแล้วว่า นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซียมีเลือดเนื้อเชื้อไขไทยสยาม แต่บรรดาคนเกือบทั้งหมดในจำนวนนี้อาจจะยังไม่รู้ว่า เชื้อสายไทยสยามของท่านนั้นแท้จริงแล้วคือ มอญ ด้วยสายเลือดข้างมารดานั้นคือ คุณหญิงเนื่อง (คุณหญิงฤทธิสงครามรามภักดี) หลานลุงของหลวงรามัญนนทเขตคดี อดีตนายอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีคนแรก ต้นสกุล นนทนาคร
องค์ บรรจุน
แม้พุทธศาสนาจะมีต้นกำเนิดมาจากชมพูทวีป แต่ชนชาติต่างๆ ได้มีการแลกรับปรับใช้ในแบบของตนเอง เกิดลัทธินิกายผิดแผกแตกต่างกันไป สำหรับพุทธศาสนาในเมืองไทยนั้นเป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า ได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิเถรวาทของมอญ ซึ่งเลื่องชื่อเรื่องความเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติของสงฆ์และความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแน่นแฟ้นของพุทธศาสนิกชนมอญ ข้อหนึ่งที่จะกล่าวถึงต่อจากนี้คือ พุทธประวัติตอนที่พระนางพิมพาสยายผมลงเช็ดพระบาทองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธประวัติตอนนี้มีกล่าวถึงเฉพาะในส่วนของมอญเท่านั้น นอกจากนี้ชาวมอญยังได้นำมาใช้ในชีวิตจริงกับกษัตริย์และราชวงศ์อีกด้วย…
องค์ บรรจุน
ตลาดน้ำเกิดใหม่ใกล้กรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางเพียงชั่วอึดใจ ท่ามกลางธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์ ผู้คนให้การต้อนรับแบบน้ำใสใจจริง และเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์รายรอบที่น่าสนใจ แม้จะเป็นตลาดน้ำเกิดใหม่เมื่อไม่นานแต่ก็ไม่มีการเสริมแต่งอย่างฝืนธรรมชาติ ซ้ำยังโดดเด่นด้วยของกินของใช้และของฝากหลากหลายโดยพ่อค้าแม่ขายคนในท้องถิ่น เปิดขายทุกวันเสาร์อาทิตย์ ตั้งแต่เช้าตรู่เรื่อยไปจนแดดร่มลมตก จากนั้นตลาดก็จะวายไปเองตามวิถีทางของมัน  
องค์ บรรจุน
ป้าขจี (สงวนนามสกุล) เป็นคนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในหลายวัฒนธรรม คลุกคลีกับผู้คนตั้งแต่เหนือสุดจนเกือบใต้สุดแดนสยาม อีกทั้งยังมีการผสมผสานหลายชาติพันธุ์ในตัวของป้า กับวัยที่ผ่านสุขทุกข์มาแล้วกว่า ๗๖ ปี จิตใจที่โน้มเอียงเลือกจะอยู่ข้างวัฒนธรรมแบบใดหรือยอมรับการผสมผสานของสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตมากน้อยเพียงใดนั้น คงเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่หล่อหลอมป้าขจีมาตั้งแต่วัยเด็ก
องค์ บรรจุน
ไม่รู้ว่าทำไมนักวิชาการที่ชอบใช้ทฤษฎีเมืองนอกเมืองนา ประเภทท่องจำขี้ปากฝรั่งมาพูด (สังเกตดูจากบทความวิชาการที่มักมีวงเล็บภาษาอังกฤษ มีเชิงอรรถในแต่ละหน้าเกือบครึ่งหน้ากระดาษ ฉันไม่ได้รังเกียจหลักการวิชาการของต่างชาติที่มีมาก่อนเรา เพียงแต่สงสัยว่า ตรงไหนกันหนอคือความคิดสร้างสรรค์ที่มาจากสมองของคนเขียน...?) ชอบเอาทฤษฎีมาทดสอบพฤติกรรมเอากับคนเล็กคนน้อย คนที่ไม่ค่อยมีปากมีเสียงในสังคม โดยมักมีคำถามและ “คำพิพากษา” ต่อคนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ เมื่อพบเจอคนชาติพันธุ์นุ่งห่มชุดประจำชาติของเขาในกิจกรรมสำคัญ ก็ล้วนมีคำพูดถากถางเสียดสี และพูดคุยกันในกลุ่มของตัวเองแบบเห็นเป็นเรื่องขำ
องค์ บรรจุน
ถึงทุกวันนี้คนส่วนใหญ่คงรู้กันแล้วว่า พม่าย้ายเมืองหลวงจาก ร่างกุ้ง (Rangoon) ไปยังเมืองเนปิดอว์ (Naypyitaw หรือ Naypyidaw) หลายคนอาจไม่รู้ว่าทำไม เหตุผลที่คาดเดากันไปก็มีหลายอย่าง ทั้งความเชื่อถือของนายพลตานฉ่วยตามคำทำนายของโหรส่วนตัว ภัยคุกคามจากอเมริกา หรือข่าวล่าสุดเรื่องการสะสมอาวุธ สร้างอุโมงค์ใต้ดินซึ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเกาหลีเหนือเมื่อไม่นาน เพื่อลำเลียงพลและสรรพาวุธป้องกันตนเองและควบคุมชนกลุ่มน้อยต่างๆ
องค์ บรรจุน
เม้ยเผื่อน เล่าว่า ตนเองเกิดที่ย่านวัดน่วมกานนท์ ตำบลชัยมงคล อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับบ้านปากบ่อและอยู่ภายในตำบลเดียวกันและเป็นหมู่บ้านของสามีและเครือญาติทางสามี
องค์ บรรจุน
  ผมไม่ได้คิดฝันว่าจะเป็นนักวิชาการมาแต่ต้น สู้เรียนเพิ่มจากระดับปริญญาตรีในศาสตร์คนละแขนงต่างขั้ว แค่หวังเพียงจะได้รับฟังและพูดคุยอธิบายความกับนักวิชาการทั้งหลายให้รู้เรื่องบ้างเท่านั้น
องค์ บรรจุน
ผมเป็นคนมหาชัย แม้ว่ามหาชัยเป็นเพียงแค่ชื่อตำบลหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร แต่คนทั่วไปกลับรู้จักคุ้นเคยมากกว่าชื่อจังหวัด เช่นเดียวกับ แม่กลอง ซึ่งเปรียบเหมือนชื่อเล่นที่คนเคยปากมากกว่าชื่อสมุทรสงคราม ทั้งที่เป็นเพียงชื่อตำบลเล็กๆ เท่านั้น ทั้งสองจังหวัดนี้อยู่ชายทะเลอ่าวไทย สมุทรสาครมีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านท่าจีน ไม่ต่างจากสมุทรสงครามที่มีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านแม่กลอง
องค์ บรรจุน
มอญ เป็นชนชาติเก่าแก่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยมีรัฐเอกราชปกครองตนเองอยู่ตอนใต้ของประเทศพม่า ปัจจุบันอยู่ในฐานะชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า ขณะที่มอญส่วนหนึ่งได้อพยพเข้ามายังดินแดนไทย และมีฐานะเป็นชนกลุ่มน้อยเช่นเดียวกัน ชนชาติมอญ มีประวัติศาสตร์และอารยธรรมสืบเนื่องมายาวนาน แม้ปัจจุบันจะไม่มีรัฐปกครองตนเอง แต่วัฒนธรรมมอญทางด้านศาสนา ภาษา วรรณคดี สถาปัตยกรรม นาฏศิลป์ ดนตรี ความเชื่อและประเพณีพิธีกรรมของชนชาติในภูมิภาคนี้ ล้วนได้รับอิทธิพลจากมอญ
องค์ บรรจุน
ราชาธิราช คือ วรรณคดีไทยที่แปลมาจากพงศาวดารมอญ โดยมีการแต่งเติมรายละเอียดบางอย่าง จึงไม่ใช่ประวัติศาสตร์หรือพงศาวดารมอญ แม้คนมอญจำนวนมากเชื่อว่า “ราชาธิราช” เป็นพงศาวดารชาติมอญก็ตาม เพราะได้รับอิทธิพลจากการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดฯให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) และคณะ แปลขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ นำมาสู่การจัดพิมพ์จำหน่ายโดยหมอบรัดเลย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ และอีกหลายสำนักพิมพ์มากกว่า ๒๒ ครั้ง ไม่นับแบบเรียน การแสดงลิเก ละครพันทาง ละครเวที และละครโทรทัศน์