Skip to main content

ขนิษฐา คันธะวิชัย

 

 

ปกติฉันทำงานที่ตึกประชาธิปก-รำไพพรรณี ซึ่งอยู่ติดกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จึงมักจะไปทานอาหารที่โรงอาหารของคณะเศรษฐศาสตร์ ในช่วงแรกๆ ที่ฉันมาเรียนที่จุฬาฯ ก็ได้ยินคนขายอาหารพูดกันเองว่า

 

คนเก็บจานที่มาใหม่น่ะ พูดอังกฤษคล่องเชียว เป็นคนพม่า พูดไทยไม่ได้ เวลาจะให้ทำอะไรแกต้องสั่งเขาเป็นภาษาอังกฤษนะ”


ฉันเลยรับรู้มาตั้งแต่นั้นว่า โรงอาหารแห่งนี้มีแรงงานข้ามชาติจากพม่าทำงานอยู่ (พอดีตอนนั้นเรียนเรื่องการย้ายถิ่นข้ามชาติอยู่ด้วย) หลังจากนั้นก็จะได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานพม่ามาตลอด ว่าที่เราเข้าใจว่าเป็น “แรงงานพม่า” นั้น แท้จริงแล้วอาจเป็นได้ทั้งพม่า มอญ กะเหรี่ยง ไทใหญ่ อาระกัน ฯลฯ คือมีความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์อยู่ข้างใน เพียงแต่โดนอัตลักษณ์ความเป็นรัฐชาติพม่าทับไว้ ซึ่งทั้งหมดนี้ฉันได้ตระหนักจากการลงภาคสนามที่จังหวัดสมุทรสาคร จำได้ว่าครั้งนั้นฉันและเพื่อนไปช่วยศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นทำ pilot แบบสอบถามเกี่ยวกับการทำงานของเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ซึ่งเวลาถามแบบสอบถามต้องใช้ล่ามภาษามอญเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้เพื่อนของฉันอีก 3 คนยังมีโอกาสไปลงภาคสนามเพื่อดูประเด็นเกี่ยวกับการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติที่สมุทรสาครอีกด้วย แต่เวลานำมารายงานในห้องเรียน เพื่อนร่วมชั้นก็ยังเรียกเขาว่า “แรงงานพม่า” อยู่ดี เพื่อความสะดวกปาก


เมื่อเดือนตุลาคม 2550 สถาบันเอเชียศึกษาได้จัดงานสัมมนาวิชาการนานาชาติ “ครบเครื่องเรื่องมอญ” ที่ตึกเดียวกับโรงอาหารคณะเศรษฐศาสตร์ และก็ได้จัดนิทรรศการเกี่ยวกับมอญที่ลานใต้ตึก โดยในแผ่นนิทรรศการนั้นก็มีภาษามอญอยู่ด้วย และในวันงานก็มีคนแต่งตัวมอญเดินกันทั่วงาน ทั้งแบบมอญเมืองไทย และมอญแบบโสร่งแดง ผ้าถุงแดง อันเป็นชุดประจำชาติมอญที่มอญเมืองมอญประดิษฐ์ขึ้นภายหลัง ในงานนั้นฉันเห็นคนที่ทำงานอยู่ที่โรงอาหารได้นำอาหารมาถวายพระ และกราบพระลงไปกับพื้น ซึ่งคนมอญเมืองไทยอธิบายว่า นี่คือวิธีการกราบพระแบบมอญ คือกราบลงไปกับพื้นไม่ว่าพื้นจะเป็นอย่างไร จากนั้นฉันจึงรับรู้ว่า แรงงานข้ามชาติที่ทำงานในโรงอาหารคณะเศรษฐศาสตร์นั้น มีชาวมอญอยู่หลายคน ไม่ได้มีแต่คนพม่า


วันหนึ่งฉันใส่เสื้อยืดตัวอักษรมอญไปที่โรงอาหารคณะเศรษฐศาสตร์ ขณะที่กำลังยืนคิดอยู่ว่าจะสั่งอะไรนั้น คนขายสาวน้อยหน้าแฉล้มก็ทำท่าตื่นเต้น ชี้มือมาที่เสื้อของฉันแล้วบอกกับเจ้าของร้านว่า


เนี่ย ภาษานี่หนูอ่านได้ ภาษามอญ (ว่าแล้วเธอก็อ่านโชว์เจ้าของร้านซะเลย) กะ ขะ ไก้ ไค้ ไง้ จะ ฉะ ไจ้ ไช้ ไญ้ (เหมือนกับการไล่เสียง ก ข ค ฆ ง จ ฉ ช ฌ ญ ของเรา)...”


ในตอนนั้นฉันเริ่มเข้ามาทำงานกับชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพแล้ว และได้รับปฏิทินปี 2551 เป็นรูปกษัตริย์มอญองค์สำคัญในประวัติศาสตร์มาหลายแผ่นจึงนำมาแบ่งให้น้องหน้าแฉล้มคนนั้น เธอดีใจมากแล้วก็ชี้ให้ดิฉันกับเจ้าของร้านดู “นี่ไง พระเจ้าราชาธิราช” นัยว่าน้องหน้าแฉล้มคงรู้ว่ากษัตริย์มอญที่ไทยรู้จักก็คือพระเจ้าราชาธิราช หลังจากนั้นเมื่อใดที่ฉันไปซื้อข้าวแกงหรืออาหารตามสั่งที่ร้านนั้น ฉันจะได้รับอาหารในปริมาณมากกว่าคนอื่นเสมอ เช่น เมื่อสั่งข้าวผัดกุ้ง หากเธอเป็นคนจัดเตรียมของ เธอก็จะให้กุ้งประมาณ 7-8 ตัว ซึ่งปกติแล้วจะได้ 3 ตัว เท่านั้น


น้องหน้าแฉล้มเล่าว่า เธอชื่อ จอนเตรี่ย แปลเป็นไทยว่า จันทรา ฉันแอบเรียกเธอว่า มณีจันทร์ บ้านของมณีจันทร์อยู่ในรัฐมอญ อ่านเขียนภาษามอญพอได้ มาอยู่เมืองไทยตั้งแต่อายุ 14 ปี โดยเริ่มจากการมาเป็นพี่เลี้ยงเด็กที่พระประแดง แม้จะมีคนมอญอยู่เยอะแต่เธอก็ไม่ได้เจอใครเลย เพราะอยู่กับเด็กตลอดเวลา พอมีคนชวนมาขายอาหาร เธอจึงมา และในโรงอาหารคณะเศรษฐศาสตร์นี้ก็มีคนมอญทำงานอยู่ประมาณ 5-6 คน แต่จำนวนนี้ก็ไม่แน่นอนเพราะบางทีก็มีการเปลี่ยนงาน หน้าเก่าหายไป หน้าใหม่เข้ามา (ณ วันที่เขียนบล๊อกอยู่นี้น้องมณีจันทร์ก็ไม่อยู่ที่โรงอาหารคณะเศรษฐศาสตร์แล้ว)


แถวๆ สามย่านที่ทำงานของฉันไม่ได้มีมอญแรงงานเฉพาะที่คณะเศรษฐศาสตร์เท่านั้น ตอนแรกฉันเองก็ไม่รู้ แต่หากใครได้อ่านสารคดีชื่อ “ต้นทางจากมะละแหม่ง” อาจจะเคยได้ยินชื่อ “นายวีทอ” มอญจากมะละแหม่ง พระรองของสารคดีเล่มนี้ พี่วีทอนี่เองที่บอกฉันว่า “บัวเผื่อนอยู่แถวจุฬา สามย่านเนี่ย ไปดูเลย ใครที่ขายไข่นกกระทาทอด ชานมไข่มุก ไอติม ให้บัวเผื่อนลองถามเขาเป็นภาษามอญเลยว่า ขายดีไหม พวกนี้มอญทั้งนั้น” แม้ฉันจะพอรู้ว่ามีชาวมอญที่เข้ามาเป็นแรงงานในฐานะ “แรงงานพม่า” อยู่เยอะ แต่ก็ไม่คิดว่าจะเยอะขนาดที่ว่าคนไหนๆ ก็ใช่ทั้งนั้น


และวันหนึ่งฉันก็ได้เห็นว่าคำพูดพี่วีทอนั้นไม่ได้เกินความจริงเลย


วันนั้นฉันใส่เสื้ออักษรมอญตัวเดิม ที่ป้ายรถเมล์หน้าจุฬาฯ มีรถเข็นขายผลไม้ ฉันไปซื้อสัปปะรดซีกหนึ่ง คนขายบอกว่า “สิบบาท” ฉันฟังดูก็ไม่แปร่งหูอะไร เขาถามต่อว่า “เอาอย่างอื่นอีกไหม” สำเนียงนั้นแม้ไม่ใช่สำเนียงกรุงเทพฯ แต่ฉันก็คิดว่าเป็นสำเนียงคนต่างจังหวัดทั่วๆ ไป สักพักเขาก็ถามว่า “เสื้อมอญตัวนี้ซื้อมาจากไหน” คุยไปคุยมาจึงรู้ว่าคนขายผลไม้ก็เป็นคนมอญ และคนที่ขายไข่นกกระทาทอดที่อยู่อีกด้านของฟุตบาทก็เป็นคนมอญจากเมืองมอญเช่นกัน


ฉันมันเป็นพวกชอบทำอะไรให้สุดๆ จึงทดลองทฤษฏีของพี่วีทออีก โดยการไปซื้อชานมไข่มุกที่ประตูเล็กใกล้คณะวิทยาศาสตร์ คนขายก็มองเสื้อฉัน มองแล้วมองอีก สุดท้ายฉันเลยถามว่า “นี่ภาษาอะไร รู้ไหม” เขาก็ตอบมาทันทีว่า “ภาษามอญ”


วันนั้นฉันเลยมีของกินติดมือไปที่โต๊ะทำงานเพียบ เนื่องจากพิสูจน์ความเป็นมอญตามทฤษฎีของพี่วีทอเยอะไปหน่อย


ฉันคิดว่าเขาคงดีใจที่เห็นภาษาของตนเองในเมืองไทย แต่ฉันก็เห็นใจเขาตรงที่ว่า คนมอญเหล่านี้ไม่สามารถจะใส่เสื้อที่แสดงอัตลักษณ์ความเป็นมอญได้ เนื่องจากอาจมีปัญหากับตำรวจ หรืออาจโดนเพ่งเล็งเรื่องจะมาทำลายความมั่นคงของชาติไทย จากที่เห็นมา มอญแรงงานจะใส่เสื้อภาษามอญเฉพาะเมื่อมีงานพิธีหรือเมื่ออยู่ในแหล่งชุมชนที่มีชาวมอญอยู่กันมากๆ เท่านั้น ในขณะที่มอญเมืองไทยสามารถแสดงอัตลักษณ์ตนเองได้อย่างอิสระ


หวนนึกถึงอาจารย์สอนภาษามอญของฉันคนหนึ่ง ที่อุตส่าห์เสียค่ารถมาสอนให้ฉันฟรีถึงที่จุฬาฯด้วยความอยากถ่ายทอดภาษามอญ เขาได้ยินฉันพูดกับพี่คนหนึ่งเรื่องตัวเขียนภาษาล้านนา เพราะเรามีพื้นเพอยู่ทางภาคเหนือเหมือนกัน อาจารย์ฉัน (ที่ยังหนุ่มอยู่มาก) ก็พูดขึ้นมาว่า “คนไทยนี่ดีเนอะ จะเรียนภาษาอะไรก็ได้ อย่างนี้ที่พม่าเรียนไม่ได้” อาจารย์คนนี้เป็นนักศึกษามอญมาเรียนปริญญาโทที่ราม ได้เรียนหนังสือสูงแต่เรียนเป็นภาษาพม่า ทำให้ได้ใช้ภาษาพม่ามากกว่ามอญ จนกระทั่งลืมภาษามอญพื้นๆ บางคำ เช่น น้า (น้องแม่) แต่ที่เขียนภาษามอญได้ก็เพราะแอบเรียนในบ้านโดยมีพ่อแม่สอนให้


เมื่อมองย้อนกลับมาที่ตัวฉันเอง ก็เห็นว่าถ้าเปรียบฉันกับคนมอญเหล่านั้นแล้ว ฉันก็โชคดีกว่าที่สามารถแสดงอัตลักษณ์ประกาศความเป็นชาวเขา ประกาศความเป็นคนเหนือ หรือใส่ชุดมอญเดินไปกินข้าวที่สามย่านได้ไม่อายใคร และไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ ยุคนี้เป็นยุคที่เรากำลังฟื้นฟูวัฒนธรรมท้องถิ่น การเป็นคนที่ “ไม่ใช่ไทย” ไม่ใช่เรื่องน่าอายอีกต่อไป กลับเป็นจุดเด่นเสียอีก ฉันก็ได้แต่เอาใจช่วยว่าสักวันหนึ่งพี่น้องชาวมอญในเมืองมอญจะสามารถแสดงอัตลักษณ์ของตัวเองออกมาอย่างเต็มที่ ไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ อย่างที่เป็นอยู่


ว่าแล้วก็เดินไปอุดหนุนชานมไข่มุกที่สามย่านอีกดีกว่า...



บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
ภาสกร  อินทุมาร เหตุการณ์ที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ลงบทความเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติที่มหาชัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่มาจากประเทศพม่า กล่าวว่าแรงงานเหล่านี้จะเข้ามายึดครองพื้นที่ รวมทั้งคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่ห้ามมิให้แรงงานเหล่านี้จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม เพราะเกรงว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติสิ่งที่สื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ซึ่งอ้างว่า “รักชาติ” แต่เป็นการรักชาติแบบ “มองไม่เห็นความเป็นมนุษย์” และได้ส่งผลสะเทือนอย่างกว้างขวางต่อความรู้สึกนึกคิดของคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคนไทยเชื้อสายมอญในมหาชัย…
องค์ บรรจุน
สุกัญญา เบาเนิด (นัด)ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีวันสำคัญวันหนึ่งของคนมอญไม่ว่าจะอยู่ไหนทั้งในประเทศไทย พม่า และต่างประเทศก็จะรวมตัวร่วมใจในการจัดงานสำคัญนี้ นั่นก็คือ “วันชาติมอญ” และในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ นี้  วันชาติมอญก็จะเวียนมาบรรจบครบรอบเป็นครั้งที่ ๖๑ ถึงแม้ว่าวันชาติมอญถือกำเนิดเกิดขึ้นในกลุ่มคนมอญเมืองมอญ (ประเทศพม่า) ก็ตาม จะด้วยเป้าหมายทางการเมือง หรือ อุดมการณ์ชาตินิยมมอญ มันก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า “วันชาติมอญ” ได้สะท้อนความรู้สึกและสำนึกถึงรากเหง้าและจุดกำเนิด  ซึ่งก็ไม่ต่างจากผู้คนเชื้อชาติอื่น ภาษาอื่นที่พึงจะพูดถึงที่ไปที่มาของตนเอง  ยิ่งไปกว่านั้น “วันชาติมอญ”…